Friday, 19 April 2024
ECONBIZ NEWS

สวนดุสิตโพล สำรวจท่องเที่ยวหลังโควิดส่วนใหญ่มองว่าดีขึ้น สิ้นปี – ปีใหม่มอง ‘เชียงใหม่’ น่าไปที่สุด เน้นพักผ่อนนอนรร. มองปัจจัยค่าใช้จ่ายเหมาะสมเที่ยวในประเทศ แนะรัฐกระตุ้นท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้ (30 ต.ค.) หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนสามารถเดินทาง ไปเที่ยวใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการเปิดประเทศและการกระตุ้นเรื่องท่องเที่ยวในช่วงปลายปีน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้บรรยากาศในประเทศกลับมาคึกคัก เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องคำตอบท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,148 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้

1. หลังจากประกาศยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในช่วงสิ้นปีนี้จะเป็นอย่างไร

ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 79.88% เหมือนเดิม 17.94% แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา 2.18%

2. ในช่วงสิ้นปี-ปีใหม่นี้ ประชาชนคิดว่าจังหวัดใดน่าท่องเที่ยวมากที่สุด
อันดับ 1 เชียงใหม่ 38.85%
อันดับ 2 เชียงราย 19.30%
อันดับ 3 น่าน 15.79%
อันดับ 4 ภูเก็ต13.28%
อันดับ 5 ประจวบคีรีขันธ์ 12.78%

3. ประชาชนสนใจการท่องเที่ยวแบบใด
อันดับ 1 เน้นการพักผ่อน พักโรงแรมที่สวยงาม สะดวกสบาย 55.62%
อันดับ 2 ไปทะเล ชายหาด 51.41%
อันดับ 3 เที่ยววัด ทำบุญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 45.43%

4. ปัจจัยใดที่จะทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
อันดับ 1 ค่าใช้จ่ายเหมาะสม คุ้มค่า 71.65%
อันดับ 2 ความสะดวกในการเดินทาง 68.50%
อันดับ 3 มีโปรโมชั่น ส่วนลดต่างๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น 46.98%

มาตรการกระตุ้นศก.ภาครัฐ ดันอสังหาฯ พลิกฟื้น ยอดใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศพุ่ง

‘ทิพานัน’ เผยการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในไตรมาส 2 ปี 2565 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยครึ่งปีแรกพุ่งกว่า มูลค่า 480,510 ล้านบาท สะท้อนผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และประชาชนให้ความเชื่อมั่นมาตรการรัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์' เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องและเศรษฐกิจฐานราก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องประกอบกับการเร่งตัวของภาคบริการหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมากขึ้น  

จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งประเภท บ้านที่ประชาชนสร้างเอง และบ้านในโครงการจัดสรร มีจำนวนประมาณ 80,704 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีจำนวน 75,803 หน่วย และหากเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง พบว่า มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสแรก หลังจากที่ลดลงติดต่อกันมาถึง 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ ไตรมาส 1 ปี 2563 

ขณะที่ในด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ จำนวน 95,316 หน่วย มูลค่า 257,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ 9.0 และ 7.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 และในภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 2565 มีการโอนกรรมสิทธิทั่วประเทศจำนวน 180,636 หน่วย มูลค่า 480,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและมูลค่าร้อยละ 6.4และ 3.1 ตามลำดับ

สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ที่ 5 อาจพาบึงกาฬทะยาน สู่จุดยุทธศาสตร์ เชื่อมโยง ‘ไทย-ลาว-เวียดนาม’

(29 ต.ค. 65) เพจ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้ Update ความคืบหน้าของสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งเป็นประตูเชื่อมเพื่อนบ้านแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมโยง ไทย-ลาว-เวียดนาม ไว้ว่า...

สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) คืบหน้าแล้วกว่า 57% อีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงภูมิภาค ไทย-ลาว-เวียดนาม

อย่างที่หลายๆ คนทราบว่า ตอนนี้บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่เนื้อหอมมาก เพราะเป็นทั้งจังหวัดใหม่ที่ยังขาดการพัฒนา และพัฒนาได้ง่าย พร้อมกับทรัพยากร ที่สดใหม่พร้อมพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมใหม่ๆ และที่สำคัญเป็นเมืองชายแดนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ทำให้ รัฐบาลมีการวางแผน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในบึงกาฬ เพื่อเชื่อมโยงบึงกาฬ กับจังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเต็มที่ แบ่งเป็น 

>> โครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้ว...
- โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)
- โครงการเลี่ยงเมืองบึงกาฬ เชื่อมสะพานมิตรภาพ

>> สะพานที่อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบ...
- ทางหลวงสายใหม่ อุดรธานี-บึงกาฬ
- สนามบินบึงกาฬ 

(ลิงก์รายละเอียดการศึกษา ตามนี้ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1535116113593529&id=491766874595130)

>> โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บท...
- มอเตอร์เวย์+รถไฟ MR3 บึงกาฬ-สุรินทร์

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเห็นเลยว่า ตอนนี้บึงกาฬกำลังเป็นจังหวัดที่น่าจับตามองมากๆ

มาดูรายละเอียด สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) กันหน่อย

จริงๆ ผมเคยโพสต์รายละเอียดสะพานมิตรภาพนี้มาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ตามลิงก์นี้ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=598828117222338&id=491766874595130&mibextid=nJa2DX

ซึ่งช่วงนั้นผมมีงานอยู่ที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ตรงข้ามกับจังหวัดบึงกาฬ เลยทำให้เข้าใจสภาพพื้นที่ และความน่าดึงดูดของจังหวัดนี้เลย

>> สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) 

- สะพานเป็นรูปแบบ สะพานคานขึง (Extradose Bridge) ซึ่งช่วยให้ลดจำนวนเสา กลางแม่น้ำเพียง 4 ต้น ระยะห่างระหว่างเสา 150 เมตร 
- ความยาว สะพาน 1.35 กิโลเมตร
- ความยาวถนน รวมเลี่ยงเมือง 15 กิโลเมตร 
- พร้อมอาคารด่าน ตม. 2 ฝั่ง
- อัตลักษณ์ สะพาน เป็นรูปแคน 

***มูลค่าก่อสร้างรวม 3,640 ล้านบาท

ซึ่งด่านนี้จะเน้นการขนส่งสินค้าทางเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา เพื่อมาแปรรูปที่ฝั่งไทย

(ปัจจุบัน การเดินทางข้ามฝากด้วยแพขนานยนต์ ซึ่งเป็นจุดข้ามสำคัญ เช่น รถไฟที่ใช้ในการก่อสร้างรถไฟ ลาว-จีน ก่อนหน้านี้)

'ทิพานัน' มั่น 'บิ๊กตู่' พาไทยฮับผลิตอีวีแห่งอาเซียนได้แน่ หลังผู้ผลิตสนร่วมมาตรการส่งเสริมลงทุนเพียบ

'ทิพานัน' โชว์ยอดใช้รถอีวีเติบโต 7 เดือนแรก ปี 65 กว่า 2 หมื่นคัน ชี้ 'พล.อ.ประยุทธ์' นำไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวีใหญ่ในภูมิภาคได้แน่นอน หลังผู้ผลิตรถอีวีสนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมลงทุนเพียบ เกิดการจ้างงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหญ่

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากแผนพลังงานแห่งชาติที่กำหนดกรอบให้ไทยมียานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าให้ ปี 2030 ต้องมีการใช้รถอีวีเพิ่มมากกว่า 50% เพื่อให้ปี 2040 สามารถทดแทนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันได้ 100% ในกลุ่มรถใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถลดการใช้พลังงานน้ำมัน และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการเกิดฝุ่น pm 2.5 ด้วย โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566 และยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์อีวี จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบอีวีในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้รถอีวีของไทยเพิ่มสูงขึ้น

'กรณ์' ไม่ขัด!! ปลดล็อกต่างชาติซื้อที่ดิน-ที่อยู่อาศัย เชื่อ!! ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้!! ทดลอง 5 ปี ไม่ดีเลิก

'อดีตรมว.คลัง' เห็นด้วย ปลดล็อกต่างชาติซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัยได้ ชี้!! กระตุ้นเศรษฐกิจ ทดลอง 5 ปี ไม่ดีเลิก แต่ต้องออกมาตรการภาษีอย่างรัดกุม ชี้แจงประชาชนให้คลายความกังวล  

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมหาดไทย ปลดล็อกต่างชาติ ให้สามารถซื้อบ้าน-ถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ แลกการลงทุนในไทยขั้นต่ำ 40 ล้านบาท ว่า โดยรวมมองว่าเป็นนโยบายที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นจุดดึงดูดทุนจากต่างประเทศเข้าในประเทศไทย และตัวคนต่างชาติเองก็จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ดังนั้นมุมทางเศรษฐกิจ ในระยะสั้นก็จะมีเงินเข้ามาจากการซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย และในระยะยาวกว่านั้นก็มาจากการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งการใช้ทักษะ ความรู้ความสามารถของเขา มาสร้างงาน สร้างโอกาสในบ้านเราด้วย 

อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ ระบุว่า เป็นธรรมดาที่หลายคนอาจจะกังวล ในแง่ของผลข้างเคียง ว่าต่างชาติจะมาแย่งซื้อที่ซื้อบ้านจากคนไทยหรือไม่ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ ครม.ได้วางกรอบกติกา เพื่อที่จะจำกัดผลค้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การที่ระบุว่า ต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาซื้อที่ดิน หรือที่อยู่อาศัย ต้องมีเงินลงทุนผูกพัน ในประเทศไทย อย่างน้อย 3 ปี เป็นวงเงิน 40 ล้าน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ตัวมูลค่าสินค้า บ้านและที่ดิน ในราคาค่อนข้างสูง จะเป็นคนละตลาดกับการซื้อขายบ้านทั่วไป 

นอกจากนี้ กฎหมายยังจำกัดพื้นที่ในการซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัยเฉพาะในเขตเทศบาลเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แย่งซื้อกับชาวบ้าน เกษตรกร ที่อยู่นอกเขตเทศบาล และการที่รัฐบาลจำกัดเวลาการทบทวนใน 5 ปี ก็ชี้ให้เห็นหลักคิดในเชิงแซนด์บ๊อกซ์ คือ ทำทดลองดู เรื่องนี้พูดกันมานานมาก ถกเถียงกันมาไม่มีข้อสรุป รัฐบาลเลยให้ลองดู 5 ปี มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ก็สามารถยกเลิกกฎหมายได้ตามความเหมาะสม ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า เป็นแนวทางที่ดี แต่ก็ต้องคอยดู จะเป็นอย่างไร 

ฟรุ๊ตบอร์ด เห็นชอบโครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืนพร้อมรับทราบรายงานผลการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้-ภาคเหนือ 1 ล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ตบอร์ด-Fruit Board)ผ่านระบบการประชุมทางไกล (ZOOM ฝMeeting) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ“โครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน “เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตลำไยในฤดูและนอกฤดู เป็นสัดส่วนร้อยละ 60 : 40 ภายในปี 2567 ตามความต้องการของตลาดสอดคล้องกับแผนพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570 และรายงานการศึกษาวิเคราะห์เสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย รวมทั้งยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโดยบูรณาการการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจเกษตรกรที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับให้กระทรวงพาณิชย์จัดหาตลาดล่วงหน้า

เพื่อรองรับผลผลิตนอกฤดูตามเป้าหมายของโครงการและมอบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอหลักการและคุณสมบัติเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ และอัตราดอกเบี้ยในการเข้าร่วมโครงการ

ประชุมยังได้รับทราบผลการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ประจำฤดูกาลผลิตที่ 2/2565 (กรกฎาคม – ตุลาคม) โดยสถานการณ์ลำไย ภาคเหนือ สามารถดำเนินการได้ตามแผนบริหารจัดการ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 742,563 ตัน แบ่งเป็น กระจายผลผลิตภายในประเทศ จำนวน 138,677 ตัน หรือร้อยละ 18.68 ผ่านวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ตลาดออนไลน์ และตลาดผลไม้ภายในจังหวัด เป็นต้น

อีกทั้งยังมีการแปรรูป ทั้งลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และอื่น ๆ เช่น ลำไยกระป๋อง และน้ำลำไยสกัดเข้มข้น จำนวน 511,434 ตัน หรือร้อยละ 68.87 และส่งออก จำนวน 92,451 ตัน หรือร้อยละ 12.45 สถานการณ์ทุเรียน ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 328,818 ตัน แบ่งเป็น กระจายภายในประเทศ จำนวน 116,868 ตัน หรือร้อยละ 35.54 การแปรรูป ทั้งแช่แข็ง อบแห้ง ฟรีซดราย กวน และอื่น ๆ จำนวน 18,191 ตัน หรือร้อยละ 5.53 และส่งออก จำนวน 193,760 ตัน หรือร้อยละ 58.93

สถานการณ์มังคุด ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 19,536 ตัน แบ่งเป็น กระจายภายในประเทศ 15,416 ตัน หรือร้อยละ 78.91 การแปรรูป ทั้งอบแห้ง ฟรีซดราย กวน และอื่น เช่น ไอศกรีม และน้ำมังคุด จำนวน 78 ตัน หรือร้อยละ 0.40 และการส่งออก (ผลสด) จำนวน 4,042 ตัน หรือร้อยละ 20.69

สถานการณ์เงาะ ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 25,956 ตัน และสถานการณ์ลองกอง ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 2,007 ตัน ซึ่งมีบริหารจัดการโดยการกระจายภายในประเทศทั้งหมด ผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน Modern Trade ตลาดออนไลน์ และจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง เป็นต้น

สำหรับความก้าวหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 ฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอแนวทางให้มีขนาดพื้นที่ปลูกรายละไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 บาทต่อไร่ กรอบวงเงิน 3,821.54 ล้านบาท รอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

'ชัยวุฒิ' โชว์ 41 โครงการเจ๋งรับทุนต่อยอดบิ๊กโปรเจกต์ ขับเคลื่อนดิจิทัลไทยทัดเทียมระดับดิจิทัลโลก

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดย กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

(27 ต.ค. 65) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดย กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดงานแถลงข่าวประกาศผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์

งานนี้ได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เป็นประธานฯ 

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นี้ มีโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ได้รับการสนับสนุน รวมทั้งสิ้นจำนวน 41 โครงการ

โครงการที่ได้รับอนุมัติในปีนี้เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ และต่อการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศมีการพัฒนาด้านดิจิทัลทัดเทียมระดับเวทีโลกต่อไป 

สำหรับตัวอย่างโครงการตามกรอบนโยบายการให้ทุนทั้ง 4 ด้าน ประกอบไปด้วย...

>> กรอบนโยบาย Digital Agriculture ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเกษตรแบบเชิงรุก จำนวน 4 โครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้วยการวิเคราะห์ภาพเนื้อเยื่อเพื่อการวินิจฉัยและประเมินการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อสำคัญในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งเศรษฐกิจของไทย ของมหาวิทยาลัยมหิดล ​

>> กรอบนโยบาย Digital Government & Infrastructure ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบบริการภาครัฐ จำนวน 21 โครงการ ตัวอย่าง เช่น 1) โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) ของ กรมการปกครอง 2) โครงการ e-Service เพื่อการบริการประชาชนและการบริหารจัดการสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

>> กรอบนโยบาย Digital Manpower ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการวางแผน การจัดการศึกษาตลอดช่วงชีวิต จำนวน 9 โครงการ ตัวอย่างเช่น 1) โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 2) โครงการศูนย์ฝึกอบรมกำลังคนด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะโดยใช้ Mixed Reality Simulation เพื่อรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของเพื่อเชื่อมโยง GMS ของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

‘บิ๊กตู่’ หวัง ‘LTR Visa’ ช่วยดูดกลุ่มทุน - ดันศก.ไทยโต เชื่อ!! ประเทศไทยมีเสน่ห์หลายด้าน ต่างชาติสนใจมาเยือน

‘นายกฯ’ หวัง ‘วีซ่าระยะยาว’ ดึงดูดกลุ่มนักลงทุน ผู้มีความพร้อม มีทักษะ ความเชี่ยวชาญสูง ให้เข้ามาพำนัก-ลงทุน ในไทย

เมื่อวันที่ (27 ต.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รายงานตัวเลขผู้ขอยื่นขอใบสมัครวีซ่าระยะยาว (Long - Term Resident Visa) หรือ ‘LTR Visa’ ของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีผู้สมัครกว่าหนึ่งพันคน 

นายอนุชา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ น่าลงทุน และเป็นที่นิยม โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ให้วีซ่าระยะยาวแก่ชาวต่างชาติมีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม พำนักในประเทศไทยในระยะยาว โดยมีเป้าหมายดึงดูด 1 ล้านคน ใน 5 ปี โดยได้เริ่มรับสมัครชาวต่างชาติในกลุ่มนี้แล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติ ประเทศที่มีการยื่นขอใบสมัครมากที่สุดได้แก่ สหรัฐฯ 232 ราย จีน 140 ราย สหราชอาณาจักร 109 ราย เยอรมนี 68 ราย และออสเตรเลีย 51 ราย ตามลำดับ

ซีพี สร้างโรงงานแปรรูปไก่ใหญ่สุดในอาเซียน ค่าแรงถูกช่วยลดต้นทุน 10% ส่งออกหลักไปญี่ปุ่น

CP Vietnam ทุ่มเม็ดเงินลงทุนเฉียด 1 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานแปรรูปไก่ใหญ่สุดในอาเซียน กำลังการผลิต 50 ล้านตัวต่อปี ลุยส่งออกไปยังญี่ปุ่น 60% พร้อมเป้าหมายอีก 20 ประเทศ

บริษัท CPV Food Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CP Vietnam Corporation ได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานแปรรูปไก่ครบวงจรใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสวนอุตสาหกรรม Becamex Binh Phuong จังหวัด Binh Phuoc ด้วยเงินลงทุนมากถึง 250 ล้านดอลลาร์ หรือ 9,625 ล้านบาท และได้จัดสังไก่ล็อตแรกไปยังประเทศญี่ปุ่นภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากจัดการเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและการกักกันอาหารทั้งหมด

โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตถึง 5,000 ตันต่อเดือน พร้อมกับการจ้างงาน 2,500 คนและกำลังจะขยายเพิ่มตามกำลังการผลิต โดยจะใช้เป็นฐานการผลิตเนื้อไก่แปรรูปเพื่อส่งออกไปอีกกว่า 20 ประเทศ โดยสัดส่วนที่ส่งออกไก่ไปยังญี่ปุ่นคือ 60%

เปิดใจจักรวาล ‘แอน จักรพงษ์’ คนไทยคนแรกที่เป็นเจ้าของ MISS UNIVERSE 100%

📍แอน - จักรพงษ์ ออกมาเปิดเผยการซื้อกิจการ MISS UNIVERSE ORGANIZATION (MUO) โดยเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นคนที่ไม่ได้มีสัญชาติอเมริกันคนแรก ที่เป็นเจ้าของ MUO โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการเจรจาต่อรอง

📍คว้า 3 แบรนด์อย่าง Miss Universe, Miss USA และ Miss Teen USA มีอำนาจในการควบคุมกิจการดูแลดำเนินการ สร้างสรรค์ รวมถึงโครงสร้างใหม่ทั้งหมด 

📍Miss Universe จัดประกวดครั้งแรกปี 1952 โดย PACIFIC MILLS จากนั้นปี 1996 Miss Universe ได้ถูกครอบครองจากอภิมหาเศรษฐีและอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา DONALD TRUMP และปัจจุบัน บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดย คุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ เป็นเจ้าของ 100%

📍JKN ได้กลายเป็นเจ้าของ MISS UNIVERSE ORGANIZATION (MUO) รวมถึงธุรกิจ ตราสินค้า และเครื่องหมายการค้าทั้งหมดของแต่เพียงผู้เดียว 

📍JKN มีเป้าหมายในการขยายธุรกิจให้เป็นมากกว่าการประกวดนางงาม โดยกำหนดโครงสร้างรายรับไว้ 9 ด้านของธุรกิจ MISS UNIVERSE ORGANIZATION (MUO) และนี่คือการกำเนิด JKN Metaverse อย่างเป็นทางการ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top