Friday, 3 May 2024
ECONBIZ NEWS

‘เทมส์ ไกรทัศน์’ วอนอย่าทำเสียบรรยากาศเอเปค ชี้ เป็นโอกาสสำคัญฟื้นท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด

นายเทมส์ ไกรทัศน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ต  พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า วันนี้เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า เรากำลังเข้าสู่ห้วงเวลาสัปดาห์การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค #APEC2022THAILAND เป็นเวลาและโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะได้แสดงศักยภาพของประเทศ รวมถึงการเน้นย้ำความเป็นผู้นำโลกในเรื่องของการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองระดับสำคัญและผู้มาเยือนจากทั่วโลก 

ขณะเดียวกัน ห้วงเวลานี้ของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและโดยเฉพาะชาวภูเก็ตที่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและบริการทั้งจังหวัดเกือบ 100% เรากำลังมีการเปิดฤดูการท่องเที่ยว ที่จะเป็น High Season แรกที่เราจะทำมาหากินกันได้อย่างเต็มที่ หลังวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

'จุรินทร์' โชว์วิชั่นกลางวงผู้นำเข้าข้าวโลกกว่า 1,000 ราย ดันข้าวไทยเป็นแหล่งผลิตแปรรูป-ส่งออก สร้างความมั่นคงทางอาหารคุณภาพโลก พร้อมย้ำ!ไทยส่งเสริมการค้าข้าวเสรีทั้งตลาดในและต่างประเทศ

(16 พ.ย.65) เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษการประชุมข้าวโลก ครั้งที่ 14 (14th World Rice Conference) พร้อมด้วย Mr.Jeremy Zwinger ประธานกรรมการบริหารนิตยสาร The Rice Trader นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้ประกอบการค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศ ที่โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต โดยในงานนายจุรินทร์ได้กล่าวว่า ขอบคุณ Mr.Jeremy Zwinger และนิตยสาร The Rice Trader ที่ให้เกียรติกับประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3  เพราะเคยจัดที่ไทยมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ปี 2016 ครั้งที่สองที่จังหวัดภูเก็ตปี 2010 และครั้งนี้ครั้งที่สาม 2022 จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะเชื่อมกับจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของตน การที่มาจัดการประชุมข้าวโลกที่ภูเก็ต หวังว่าทุกท่านจะได้มีโอกาสข้ามสะพานท้าวเทพกระษัตรีไปยังจังหวัดพังงาและจังหวัดอื่นในอันดามัน ทั้งภูเก็ตและกระบี่ ขอต้อนรับผู้ประกอบการข้าวจากทั่วโลกที่ได้มีโอกาสมาเยือนภูเก็ต

สำหรับสถานการณ์ข้าว ถือเป็นธัญพืชที่เพาะปลูกมากเป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากข้าวโพด และข้าวสาลี ภูมิภาคที่บริโภคข้าวมากที่สุดในโลกคือทวีปเอเชีย มากกว่า 90% ของผลผลิตทั้งโลก ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่าปีนี้ 2022  ความต้องการข้าวโลกจะมากขึ้นประมาณ 3.5% เทียบจากปีที่แล้วที่ 517 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 10 ปี เพราะปัญหาความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจโลกและความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ ส่งผลให้หลายประเทศที่เป็นผู้นำเข้าข้าวหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น เช่น อินโดนีเซียเซเนกัล ออสเตรเลีย ทั้งที่เป็นผู้นำข้าวมาก่อน ทำให้เกิดการแข่งขันด้านการตลาดข้าวรุนแรงตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ผลิตข้าวรายสำคัญของโลกปีนี้ ประเทศไทยผลิตข้าวเป็นลำดับ 4 ของโลก ประเทศที่ผลิตมากที่สุดในโลกคือ จีน 147 ล้านตัน อินเดีย 124 ล้านตัน เวียดนาม 27 ล้านตันและไทยผลิตได้ 20 ล้านตัน สำหรับการส่งออก 9 เดือนแรกของปีนี้ ม.ค.-ก.ย.ประเทศไทยส่งออกข้าวแล้ว 2,796 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.5% ปีที่แล้วส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน ปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ถึง 7.5 ล้านตันโดยประมาณ  ด้านคุณภาพในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ขอยืนยันว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกชนิดหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง ดูจากผลการประกวดข้าวโลกของนิตยสาร The Rice Trader ซึ่งจัดมา 13 ครั้งประเทศไทยได้แชมป์ข้าวโลกถึง 7 ครั้ง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของการจัดประกวด คือเครื่องการันตีว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง สำหรับนโยบายของรัฐบาลไทย 1. ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ข้าวไทย ว่า 5 ปีตั้งแต่ปี 2020-2024 มีเป้าหมายสำคัญทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตด้าน การตลาดและด้านผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพของโลกใช้ยุทธศาสตร์ 'ตลาดนำการผลิต' เพื่อสนองความต้องการของตลาดโลก กำหนดเป้าหมายแต่ละด้านชัดเจน เช่น ภายใน 5 ปี จะเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ วันนี้ปี 2022 มีข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการรับรองแล้ว 6 พันธุ์ และคาดว่าไม่เกินปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 6 พันธุ์ รวมเป็น 12 พันธุ์ใหม่สนองความต้องการของตลาดโลกต่อไป 

ข้าวพันธุ์ใหม่ประกอบด้วยข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ รวมทั้งข้าวคุณสมบัติพิเศษ เช่น ข้าวสี ข้าวเพื่อการบริโภค ข้าว Functional Food อีก 2 พันธุ์ วันนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกับกระทรวงพาณิชย์นำมาแสดงและให้ทุกท่านได้ชิม 2. นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ดำเนินการมา 3 ปีเต็ม และปีนี้เป็นปีที่ 4 ปลายอายุของรัฐบาลนี้ จะหมดวาระประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า  เมื่อวานคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเดินหน้าต่อนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้เงิน 81,200 ล้านบาท ให้ชาวนาในประเทศไทยมีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ ถ้าราคาตกต่ำกว่ารายได้ที่ประกันจะมีเงินส่วนต่างช่วยชดเชยให้สามารถเลี้ยงชีพได้ ไม่เลิกอาชีพปลูกข้าวเพื่อทำให้ประเทศไทยมีข้าวบริโภคและเป็นส่วนหนึ่งด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกดำรงอยู่ต่อไปได้ ด้วยฝีมือชาวนาไทยที่มีส่วนสำคัญ และทำให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกหรือ Kitchen of the World เป็นแหล่งสำรองอาหารให้กับโลกโดยเฉพาะข้าวได้ต่อไป

‘สุริยะ’ ผนึก METI สานต่อความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ยัน ‘โซนี่กรุป’ ปักหมุดไทย ขยายรง.เซมิคอนดัคเตอร์

รมว.อุตสาหกรรรม ผนึก METI ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นลงทุนในไทยเพิ่ม ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เสริมศักยภาพเศรษฐกิจไทย ยัน ‘โซนี่กรุปคอร์ปอเรชัน’ เตรียมขยายโรงงานการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ในไทย ส่วนโตโยต้า ลุย EV

(16 พ.ย. 65) กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ประเทศญี่ปุ่น หารือกรอบความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรม 2 ประเทศ หวังดึงกลุ่มทุนข้ามชาติร่วมพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทย กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยศักยภาพต่างแดน พร้อมเร่งสร้างบุคลากรเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันตลอดจนพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเพื่อรองรับบุคลากรที่ผ่านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากโครงการต่าง ๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Digitalization เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการสร้าง System Integrator ตลอดจนยกระดับภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียน ล่าสุดข้อมูลต้นปี 2565 ญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นการลงทุนไทย ผ่านการลงทุนโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนร้อยละ 23 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry, METI) ได้ร่วมมือกันในด้านการพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมประชุมกับ นายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และ อุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ผ่านการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและกำหนดแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือในอนาคต ระหว่างการประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 

โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม พร้อมกำหนดความร่วมมือในอนาคต ภายใต้ กรอบการทำงาน Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 ผ่าน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2. การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-creation) และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น 

“การแลกเปลี่ยนกรอบความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นการสร้างโอกาสด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ผ่านการถอดบทเรียนหลังการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG Model ของไทย” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม และ METI ร่วมกันยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับภาคการผลิตตามเป้าประสงค์ต่าง ๆ อาทิ โครงการ Lean Automation and System Integrators (LASI) และการใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือ โมโนซึกุริ ที่ใช้พลังกลที่มีอยู่ในธรรมชาติแก้ปัญหาซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าพลังงาน ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน โดยกรอบการทำงานที่ทั้งสองกระทรวง ได้มีการแลกเปลี่ยนกันไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 และจะได้รับการยกระดับไปอีกขั้น โดยเฉพาะในด้านการสร้างบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยการแลกเปลี่ยนกรอบความร่วมมือในวันนี้ 

ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเพื่อรองรับบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากโครงการต่าง ๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Digitalization เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการสร้าง System Integrator เพื่อยกระดับภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียน

รู้จัก ‘Supercomputer’ ของไทย ที่แรงติดอันดับโลก กับประโยชน์มหาศาล ช่วยหนุนงานวิจัยเชิงลึก

จากที่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงข่าวการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ TOP500 ซึ่งเป็นการจัดอันดับเพื่อจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติของระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากทั่วโลก รวมทั้งยังถูกนำไปใช้ในการแสดงศักยภาพด้านการคำนวณ 

หลายคนคงจะสงสัยว่า Supercomputer มันคืออะไร แล้วไทยจำเป็นต้องซื้อมาด้วยหรือ แล้วคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เหล่านั้น มันจะซื้อมาทำไม มันจะทำงานอย่างไร มันจะเหมือนที่เราเห็นในหนังไซไฟหรือไม่ แล้วในโลกของความเป็นจริง Supercomputer จะทำได้เหมือนในหนังหรือ แค่เพียงดีดนิ้วปุ๊บ ทุกอย่างก็จะประมวลผลออกมาเลยหรือ 

คำตอบก็คือ มันยังไม่ล้ำถึงขนาดในหนังหรอก แต่ Supercomputer นั้นก็จะถูกนำไปใช้งานในเรื่องต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยพันธุกรรมดีเอ็นเอต่าง ๆ เรื่องยา การแพทย์ การเกษตร โดยทีมนักวิจัยนั้นก็จะใช้ Supercomputer ในการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะรวดเร็วขึ้นมาก 

นอกจากนั้นก็จะนำไปใช้จำลองสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ภัยพิบัติสึนามิ ถ้าจะเกิดขึ้นอีกจะเกิดขึ้นในลักษณะไหน และเราควรจะอพยพกันแบบใด Supercomputer ก็จะช่วยเราประมวลผลได้ล่วงหน้า หรือ นำ Supercomputer มาใช้ร่วมกันกับ Ai ซึ่ง Ai นั้นก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ช่วยเราประมวลผล แต่ก่อนที่มันจะประมวลผลได้ มันก็จะต้องทำงานโดยมีฐานข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัย Supercomputer นั่นเอง 

และที่จริงนั้น ประเทศไทย เรามี Supercomputer กันตั้งนานแล้ว มีมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดย Supercomputer เครื่องแรกในไทยนั้น คือ IBM RS/6000 ซึ่งใช้พยากรณ์อากาศอยู่ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา เครื่องนี้มีความเร็วอยู่ที่ 12.96 GFLOP

ซึ่งคอมพิวเตอร์ทั่วไปความเร็วจะไม่ถึง 0.5  GFLOP ด้วยซ้ำไป และต่อมา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ก็ได้ซื้อ  Supercomputer มาใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ เช่น การจัดการข้อมูลน้ำของประเทศ ออกมาเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการจัดการน้ำของประเทศ ให้สามารถขึ้นมาดูได้ในหน้าเดียว ในคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้ 

และในปัจจุบันก็ได้พัฒนาเป็นแอป Thai water ต่อมา TNGC ก็นำ Supercomputer มาใช้ความเร็วอยู่ที่ 2.5 Teraflop แรงกว่า Supercomputer เครื่องแรกที่กรมอุตุนิยมวิทยา 200 เท่า ต่อมาก็เป็นระบบอิคลิปส์คลัสเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ศูนย์ไบโอเทค และก็มีเครื่องศิลาคลัสเตอร์ ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ก็มีอีกเครื่องชื่อว่า ชาละวัน ในปี 2016 เครื่องนี้ความเร็วอยูที่ 16 Teraflop และในปี 2019 ประเทศไทยก็ได้จัดตั้งศูนย์ Supercomputer ขึ้นมา มีระบบชื่อว่า ธารา เป็น CPU 4,320 cores โดยทางจุฬาฯ เคยใช้เครื่องนี้ช่วยประมวลผลการวิจัยสารต้านโควิด จากที่เคยต้องประมวลผลประมาณ 1 สัปดาห์  เจ้าเครื่องนี้ก็ประมวลผลให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง  

นอกจากนี้ก็ยังใช้เครื่องนี้ในการวิจัย คาดการณ์ P.M. 2.5 จากที่เคยใช้เวลา 12 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 45 นาที และบอกเตือนล่วงหน้าได้ถึง 3 วัน และตัวที่แรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีชื่อว่า ลันตา นั้นความเร็วอยู่ที่ 13 Petaflop มี CPU 31,744 cores แรงขึ้นกว่าระบบ ธารา 30 เท่า หรือเทียบได้กับ iPhone 14 pro max 6,500 เครื่อง

ททท.เปิดตัวเลขนักท่องเที่ยวทะลุ 7.3 ล้านคน คาดสิ้นปีเป้า 10 ล้าน ไม่พลาดแน่นอน

(16 พ.ย. 65) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 26 ตุลาคม 65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว 7,349,843 ล้านคน และตั้งเป้าไว้ทั้งหมดในปีนี้ราว 10 ล้านคน โดยจำแนกจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรายเดือนได้ดังนี้...

• มกราคม 133,903 คน

• กุมภาพันธ์ 152,954 คน

• มีนาคม 210,836 คน 

• เมษายน 293,350 คน 

• พฤษภาคม 521,410 คน

หอการค้า มั่นใจ ศักยภาพไทยจัดเอเปก เชื่อ!! เม็ดเงินสะพัดมากถึง 2 หมื่นล้านบาท

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของประเทศไทยในสัปดาห์นี้ ซึ่งภาคเอกชนได้มีการประชุมและจัดการสัมมนาที่สำคัญเช่นเดียวกันกับภาครัฐ โดยในส่วนของภาคเอกชน ที่ กกร. เป็นเจ้าภาพ คือ การประชุม APEC CEO Summit ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยจะมีการเชิญผู้นำ และบุคคลสำคัญระดับโลก ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับจากผู้นำเป็นจำนวนมาก โดยเป้าหมายหลักในการจัดงานครั้งนี้ คือ การส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ

สำหรับโอกาสของคนไทยและเศรษฐกิจไทยนั้น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 จะช่วยให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาระบบเพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การลดและยกเลิกปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ เป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค นอกจากนั้น ยังจะช่วยเปิดโอกาสด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ให้แก่ผู้ประกอบการ และคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวของผู้นำ บุคคลสำคัญ รวมทั้งซีอีโอ จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับโลก ที่ได้รับการเรียนเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางธุรกิจในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลก

Kyocera AVX ทุ่มหมื่นล้าน ปักหมุดผุดรง. ที่โคราช ผลิตตัวเก็บประจุเซรามิก – แทนทาลัม ป้อนอุตฯอิล็กทรอนิกส์

ไทยเนื้อหอมไม่หยุด Kyocera AVX ทุ่ม 10,000 ล้าน สร้างโรงงานผลิตตัวเก็บประจุเซรามิกและแทนทาลัมที่โคราช ตอบสนองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงเติบโต

Kyocera AVX บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกและแทนทาลัม ซึ่งเป็นชิ้นในตัวเก็บประจุด้วยไฟฟ้า ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเทคโนโลยีการสื่อสาร การบิน อวกาศ และอุตสาหกรรมการทหาร ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยโรงงานแห่งใหม่มีพื้นที่การผลิตและคลังสินค้าที่ทันสมัยขนาด 111,400 ตารางเมตร

โดยออกแบบและตั้งเป้าหมายให้เป็นโรงงานระดับโลกที่ปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับการผลิตตัวเก็บประจุเซรามิกและแทนทาลัม

โรงงานผลิต Kyocera AVX แห่งใหม่ประกอบด้วยอาคาร 3 หลังที่แยกจากกันซึ่งเป็นที่ตั้งของส่วนการผลิตและพื้นที่สำนักงาน พื้นที่พักผ่อน สนามกีฬา ศาลา และศูนย์วัฒนธรรมสำหรับพนักงาน

สำหรับโรงงานในนครราชสีมาจะมุ่งเน้นไปที่ตัวเก็บประจุเซรามิกและแทนทาลัมที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานด้านอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ การทหาร การบินและอวกาศ การป้องกันประเทศ โทรคมนาคม พลังงานทดแทน อุตสาหกรรม การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค อุตสาหกรรมเครือข่ายและการขนส่ง

เปิดตลาดนัดข้าวเปลือก ช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

ที่บริเวณสหกรณ์การเกษตรเพชรบูรณ์ จำกัด ตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในการเปิดตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2565/2566 โดยมี นายสุพล ศรีทับทิม พาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร เข้าร่วม

นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ และให้เกิดกลไกการแข่งขันการรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกร โดยจัดหาผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือก และมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกกิจกรรมขั้นตอนการรับซื้อ ซึ่งนอกจากใช้เป็นแหล่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรทั่วไปในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังสามารถเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร เพื่อพัฒนาระบบการซื้อขายแบบตลาดกลางอีกด้วย

'รมว.เฉลิมชัย' มุ่งขับเคลื่อนพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก พอใจผลงาน สศก. โชว์ความสำเร็จ 3 ปี ยกระดับกลุ่มเป้าหมาย 1.32 ล้านราย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เกิดมูลค่า 7.8 แสนล้านบาท

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบาย '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย' ที่มุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินโครงการตามแผนงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไวที่สุด โดยมี สศก. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2563 และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1 การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการชุมชน (กลางทาง) และแนวทางที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) จนปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 22 โครงการ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2563 โดย สศก. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการขับเคลื่อนแผนงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1 การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการชุมชน (กลางทาง) และแนวทางที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) จนปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 22 โครงการ

ทั้งนี้ สศก. ได้ติดตามผลการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 -2565) พบว่า สามารถช่วยยกระดับกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการได้มากกว่า 1.32 ล้านราย รวม 4,337 กลุ่ม เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า 15,137 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนมากถึง 781,066 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมของผลสำเร็จที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สศก. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทั้งสิ้น 15 โครงการ อาทิ โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส สามารถช่วยเข้าถึงที่ดินทำกิน และได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 และเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 (ช) ได้ตามเป้าหมาย โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เฉลี่ยครัวเรือนละ 6,298 บาท/รอบการผลิต และโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน 729 แห่ง

ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ ขออภัยตอบกลับช้าลูกค้าล้น ยัน!! ตัวแทนหน่วยงานรัฐสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์

ดรามาปลากุเลาเค็มตากใบทำร้านปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบผลตอบรับเกินคาด แอดมินต้องออกมาขอโทษที่ตอบกลับช้าเพราะลูกค้าติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก พบราคา 1 กิโลกรัม 1,700 บาท ซื้อน้อยๆ เริ่มต้นที่ 3 ขีด 560 บาท รวมค่าส่งแล้ว แถมมีน้ำพริกปลากุเลา ปลากุเลาเค็มหย็อง และสมันปลากุเลาเค็มกินกับข้าวสวยขายอีกต่างหาก

วันนี้ (15 พ.ย.) จากกรณีที่ เฟซบุ๊ก ‘Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้’ ของศูนย์ข่าวภาคใต้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า ผู้ประกอบการปลากุเลาเค็มตากใบจังหวัดนราธิวาสหลายรายโวย เมื่อรู้ว่าปลากุเลาเค็มตากใบที่ถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก 2022 กลับเป็นปลามาจากพื้นที่อื่นที่ถูกนำไปจัดเลี้ยง ไม่เข้าใจว่าทำไมเอาปลาจากที่อื่นมา ไม่ใช่ร้านของตน จึงไม่อยากให้นำชื่อของปลากุเลาเค็มตากใบไปใช้ รวมทั้งมีการนำภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จังหวัดปัตตานี ไปใช้โปรโมต จึงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดว่าสั่งซื้อมาจากกลุ่มนี้ กลายเป็นที่วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ

ต่อมาเฟซบุ๊ก ‘ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ’ โพสต์ข้อความระบุว่า จากกรณีดรามาในโลกออนไลน์เรื่องปลากุเลาปลอม ยืนยันว่ามาจากร้านของตน เพราะเป็นร้านจำหน่ายปลากุเลาเค็มเพียงรายเดียวในอำเภอตากใบที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสมกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าเชื่อถือ (มผช.) ในระดับ 5 ดาว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ได้มาซื้อปลากุเลาเค็มไปจำนวน 1 ตัวเพื่อนำไปชิม กระทั่งมีการสั่งซื้อผ่านออนไลน์ แต่เนื่องจากมีการซื้อวันละหลายหมื่นบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาหลังจากมีกระแสข่าวเอเปก ทำให้ร้านไม่ได้ทันได้ตรวจสอบ ซึ่งยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐ โดยตัวแทนได้สั่งผ่านระบบออนไลน์ไป จึงเกิดข้อผิดพลาดกันในกลุ่มผู้ค้าปลากุเลาเค็มตากใบ

สอดคล้องกับนายชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลินสตาร์ชื่อดังของไทย ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าเชฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำเอเปก 2022 ยืนยันว่า กระแสโซเชียลมีเดียที่ระบุว่าเมนูปลากุเลาตากใบเป็นปลากุเลาปลอมนั้นไม่เป็นความจริง เพราะได้สั่งปลากุเลาตากใบจากร้าน ‘ปลากุเลาเค็มตากใบป้าอ้วน’ ซึ่งเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มอื่นไม่ได้ทราบในข้อมูลตรงนี้ จึงเกิดความเข้าใจผิด โดยจะใช้เป็นส่วนประกอบในเซตอาหารจานหลักเพื่อเพิ่มความโดดเด่นในเรื่องของกลิ่นในซอสราดมัสมั่นเนื้อน่องโคขุนจากสหกรณ์โพนยางคำ จ.สกลนคร และข้าวกล้อง 9 ชนิดอบตะไคร้หอม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top