Monday, 20 May 2024
ECONBIZ NEWS

Swap & Go - Stallions Group ผนึกกำลังส่งเสริมประเทศใช้งานจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายพิกัดสับเปลี่ยนแบตฯ ดันสังคมไทยไร้มลพิษ

Swap & Go จับมือ Stallions Group เดินหน้าส่งเสริมการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายเครือข่าย Battery Swapping ทางเลือกใหม่เพื่อสังคมไร้มลพิษ

(8 ธ.ค. 65) นางสาวอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) และนายธีรเจต ลาภจตุรพิธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาเลียน มอเตอร์ไซค์เคิล จำกัด (Stallions) เปิดตัวโครงการความร่วมมือส่งเสริมการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายเครือข่าย Battery Swapping หรือสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ สร้างทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย ถือเป็นกลไกสำคัญที่สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศ และเป็นการขยายผลจากต้นแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ต้องรอชาร์จของ Swap & Go ที่ได้พัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่มีพลังงานสูงขึ้น รองรับการขยายตัวของผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

‘เสี่ยเฮ้ง’ ส่งตัวแทนเยี่ยมแรงงานไทยในสิงคโปร์ พร้อมกำชับดูแล ‘สิทธิประโยชน์แรงงาน’ อย่างเป็นธรรม

(8 ธ.ค. 65) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) และนางดัชนี คูหาทอง ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) รักษาการในตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจและมอบข้าวสารแก่แรงงานไทยในสิงคโปร์ที่ไซต์งานของบริษัท Ed.Zublin AG Singapore ซึ่งเป็นบริษัทของเยอรมัน ประกอบธุรกิจสร้างท่อและวางท่อน้ำเสียขนาดใหญ่และเล็ก ที่ผลิตและนำเข้ามาจากสาขาของบริษัทในประเทศไทย ปัจจุบันมีโครงการวางท่อน้ำเสียในประเทศสิงคโปร์อยู่ 5 โครงการ โดยไซต์งาน F3C3 อยู่ที่ Jalan Buroh เป็นโครงการวางท่อน้ำใหญ่ มีหัวหน้าคนงานไทยเป็นคนผู้ควบคุมงาน มีคนงานไทยทำงานในบริษัทประมาณ 100 คน 

นายบุญชอบ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายจ้างพบว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานถือใบอนุญาตการทำงานประเภท Work Permit ในภาคก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และภาคกระบวนการผลิต เนื่องจากประเทศไทยได้ถูดจัดให้อยู่ในกลุ่ม Non-Traditional Sources (NTS) ที่ประกอบด้วย ไทย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา ฟิลิปปินส์ แต่ไม่สามารถทำงานในภาคบริการ และอุตสาหกรรมได้ ปัจจุบันสิงคโปร์เปิดประเทศภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมการผลิตจึงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสิงคโปร์พึ่งพาแรงงานต่างชาติ จากจีน และมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนโยบายของประเทศดังกล่าวทำให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์น้อยลง รัฐบาลจึงอนุญาตเป็นกรณีเฉพาะสำหรับการจ้างงานแรงงานจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงแรงงานจากประเทศไทยด้วย จึงส่งผลให้มีแรงงานไทยเข้ามาทำงานในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ต่างสนใจที่จะจ้างแรงงานไทยเพราะคนไทยมีความอดทน อุปนิสัยอ่อนโยน มีบุคลิกภาพที่เหมาะกับงานบริการ 

อีกทั้งในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมีความละเอียด รอบคอบ มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และรวมถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นายจ้างภาคอุตสาหกรรมจึงได้จ้างคนไทยมาประมาณ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ยังไม่มีปัญหาที่จะส่งผลกระทบกับการจ้างงานคนไทยในอนาคต 

ส่วนภาคบริการได้มีการเริ่มจ้างตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะเป็นการเปิดตลาดแรงงานอาชีพใหม่ ๆ ได้ในอนาคต ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า มีจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ที่มีการรับรองเอกสารการจ้างงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 - 2566 แล้วจำนวนเกือบ 5,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาช่างกึ่งฝีมือ เช่น ช่างเชื่อม ช่าง PCM ช่างในอู่ต่อเรือ รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง ช่างฝีมือ และภาคบริการ เป็นต้น

'อลงกรณ์' ปาฐกถานานาชาติชูนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 ยกระดับการผลิตภาคเกษตรของไทยสู่เป้าหมาย 3 สูง 'ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง' ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจใหม่ BCG โมเดล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 ได้ให้เกียรติ เป็นองค์ปาฐกในงานการอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วย 'การจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะอย่างยั่งยืน' (Sustainable Smart Farming Workshop) จัดโดย SUNSpACe ERASMUS+ CBHE Project ณ Bamboo Whisper Garden เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยมี นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร CTPI, Professor Yacine Ouzrout, Director of IUT, University Lumiere Lyon 2 และ Professor  Aicha SEKHARI SEKLOULI, ผู้ประสานงานโครงการ SUN Space ให้การต้อนรับ นายอลงกรณ์ ได้กล่าวปาฐกถาว่า ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ภาคเอกชน ภาควิชาการ นานาชาติ ให้ความสนใจและขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน และมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 'การจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะอย่างยั่งยืน' เป็นแนวทางหรือเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวิสัยทัศน์ 'เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้ขับเคลื่อนนโยบาย '3S' คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงของภาคเกษตรและอาหาร (Security) และความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) สนับสนุนการเปิดตลาดต่างประเทศใหม่ ๆ โดยกำหนด Model การค้าเพื่อให้เกิดระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) รวมถึงการนำเทคโนโลยี Smart Farming มาใช้ในการพัฒนา Packaging และสร้างแบรนด์อีกด้วย โดย ได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (Agritech and Innovation Center: AIC) ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นศูนย์การศึกษา การวิจัยและพัฒนา การอบรมบ่มเพาะและ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร รวมทั้งยังจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Execellence: CoE) จำนวน 23 ศูนย์ ที่มีการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานการเกษตร ตั้งแต่ ต้นน้ำด้านการวิจัยและพัฒนา กลางน้ำ ด้านการแปรรูป และปลายน้ำ ด้านการตลาด การขาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคี เครือข่ายทั้งภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม  นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมช่องทางการตลาด 'ตามนโยบายการตลาด นำการผลิต' ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนทั้งการค้าออนไลน์และออฟไลน์

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG Model (the Bio-Circular and Green Economic Model) ภายใต้เป้าหมายและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนซึ่งเป็นไฮไลต์ในการจัดประชุมAPECที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตภาคเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และ รายได้สูง ซึ่งประสิทธิภาพสูง คือการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมยกระดับผลผลิตเกษตร มาตรฐานสูง ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพผลผลิต โภชนาการมีความปลอดภัย ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และ รายได้สูง ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมียม หรือตลาดเฉพาะ และสามรถกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร เพื่อให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคง

‘อลงกรณ์’ ไอเดียกระฉูด!! มุ่งพัฒนาเกษตรวิถีเมือง สอดรับ BCG Model ช่วยยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว

วันนี้ (7 ธันวาคม 2565) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง ‘เกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง สู่ BCG Model’ ในงานสัมมนาออนไลน์ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนวิถีในเมือง ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาตระหนักถึงนโยบายและความสำคัญของเกษตรกรรมยั่งยืนโดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง รวมถึงสนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนมีรายได้ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

นายอลงกรณ์ ได้กล่าวถึง 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการกำหนดแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยเป็นครัวของโลกมีศักยภาพและเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเกษตรปลอดภัย และอาหารปลอดภัยท็อปเทนของโลก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ 3 s (Safety-Security-Sustainability )เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน 

โดยยกตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศ ๆ เช่น จีน สวีเดน สิงคโปร์ อัลบาเนีย เกาหลี ญี่ปุ่นที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เข้ากับพื้นที่ในประเทศไทย

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางหมุดหมายการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนทั้ง 5 สาขา คือ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสานครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและทำการเกษตร เป็นการพัฒนาแบบคู่ขนานทั้งในเมืองและชนบท

'เสี่ยเฮ้ง' เดินหน้า!! หารือ รัฐมนตรีออสเตรเลีย เจรจาเร่งขยายตลาดแรงงานในออสเตรเลีย

(7 ธ.ค. 65) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ หารือทวิภาคีกับ ฯพณฯ เบรนดัน โอคอนเนอร์ (H.E.The Hon Brendan O’ Connor MP) รัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ ประเทศออสเตรเลีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia - Pacific Regional Meeting : APRM) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 17 และหารือความร่วมมือเปิดตลาดแรงงานในออสเตรเลีย โดยมี นายชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม Ord Meeting Room, Stamford Meeting Rooms ชั้น 4 Raffles City Convention Centre สาธารณรัฐสิงคโปร์

นายสุชาติ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนไทยได้ไปทำงานในต่างประเทศ รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น และนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีสถานศึกษาที่มีศักยภาพ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน มีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีความพร้อมในการฝึกทักษะให้คนไทยก่อนที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ดังนั้น การหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับออสเตรเลียในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ รวมทั้งฟื้นความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถจัดส่งแรงงานในสาขาภาคเกษตร ช่างฝีมือ และธุรกิจบริการ ตามที่ออสเตรเลียต้องการได้ 

จากการหารือในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในโอกาสต่อ ๆ ไป ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำคณะไปพบกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันถึงรายละเอียดความต้องการแรงงานไทยในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งการลงนามความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในออสเตรเลียในโอกาสต่อไปด้วย

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 พ.ย. - 2 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 5 - 9 ธ.ค. 65

สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 พ.ย. - 2 ธ.ค. 65 และแนวโน้ม 5 - 9 ธ.ค. 65

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากความไม่แน่นอนของมาตรการ Zero-COVID ในจีน ของประธานาธิบดี Xi Jinping ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ดี ในวันพุธที่ 7 ธ.ค. 65 รัฐบาลจีนอาจผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ซึ่งบังคับใช้ทั่วประเทศเพื่อลดแรงกดดันจากการประท้วง

ทางด้านอุปทาน ที่ประชุม The OPEC and non-OPEC Ministerial Meeting ครั้งที่ 34 ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) มีมติคงแผนลดการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 65 จนถึงอย่างน้อยในเดือน มิ.ย. 66 (สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า OPEC+ จะตัดสินใจลดการผลิตเพิ่มอีก 0.25 - 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดย OPEC+ จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 มิ.ย. 66 

ขณะที่กลุ่ม G7 พร้อมด้วยออสเตรเลียและสหภาพยุโรป (EU) ตกลงการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) ของน้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลไว้ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เริ่มบังคับใช้วันที่ 5 ธ.ค. 65 ทั้งนี้ น้ำมันดิบที่ขนจากท่าเรือรัสเซียก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 65 และถึงท่าเรือปลายทางก่อนวันที่ 19 ม.ค. 66 ไม่อยู่ในข้อกำหนด Price Cap อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาลรัสเซีย นาย Dmitry Peskov ชี้ว่ารัสเซียพร้อมที่จะตอบโต้และจะไม่ยอมรับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าว ที่ผ่านมารัสเซียเน้นย้ำว่าจะไม่จัดส่งน้ำมันให้กับประเทศที่ดำเนินการตามข้อตกลง Price Cap 

ผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์จาก Reuters คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในปี 65 จะเฉลี่ยที่ 100.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และในปี 66 จะเฉลี่ยที่ 95.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 80 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

หอการค้าฯ เอือมนักการเมืองหาเสียงเพิ่มค่าแรง ชี้ ประเทศพังแน่ ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทุกจว.

(6 ธ.ค. 65) ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีนโยบายจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป ว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่สนับสนุนให้ทุกพรรคการเมืองนำเรื่องนี้มาหาเสียงในทางการเมือง เพราะเป็นเศรษฐกิจมหภาคเกี่ยวพันไปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นขบวนการผลิต การส่งออก กระบวนการท่องเที่ยวบริการ ก่อสร้าง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับแรงงาน

“เมื่อปี 54 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้โครงสร้างค่าแรงบิดเบี้ยวและกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานอย่างมหาศาล การหาเสียงโดยไม่มีตรรกะ ไม่มีหลักการและวิชาการรองรับเป็นไปไม่ได้ อย่าลืมว่าการขึ้นค่าแรงมีระบบระเบียบอยู่แล้ว ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอ แอล โอ สำหรับกระทรวงแรงงานของเราเอง ก็ใช้มาตรฐานนี้ และมีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัด นำเสนอค่าแรง อย่าลืมว่าทุกจังหวัดมีสภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน บางจังหวัดไม่มีอุตสาหกรรม บางจังหวัดเป็นจังหวัดท่องเที่ยว บางจังหวัดทำเกษตร เพราะฉะนั้นการขึ้นค่าแรงเหมือนกันหมดจึงเป็นไปไม่ได้ ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันเมื่อใดพังทั้งประเทศ” ดร.พจน์ ระบุ

'INTERLINK' นำเทรนด์การเรียนรู้แนวใหม่ จัดสัมมนาที่ตอบโจทย์แห่งยุค 'DIGITAL INFRASTRUCTURE'

(6 ธ.ค. 65) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา 'HOW TO INSTALL WI-FI ACCESSPOINT' ที่ตอบโจทย์การเลือกใช้อุปกรณ์ WIFI และ WIRELESS ให้พร้อมรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในยุคของเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเรียนรู้เรื่องการเลือกใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อที่ถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย โดยมีคุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ กล่าวเปิดงาน และพูดถึงบทบาทสำคัญของ WIRELESS WIFI ACCESSPOINT และเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจัดการติดตั้งมาแชร์ความรู้ และมาตรฐานของ WIFI ACCESSPOINT

เปิดให้ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ รองรับรถไฟทางไกล รวม สายเหนือ-อีสาน-ใต้ 52 ขบวน เริ่ม 19 ม.ค. 66

ยืนยันแล้ว!!! 19 มกราคม 2566 นี้ เตรียมเปิดให้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ( #สถานีกลางบางซื่อ ) รองรับรถไฟทางไกล เหนือ-อีสาน-ใต้ 52 ขบวน

โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสข้อความว่า ข่าวล่ามาแรง จากการรถไฟ ซึ่งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ได้มีมติให้ เปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกลจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป 

โดยจะมีการจัดเดินรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ จาก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - สถานีอยุธยา ด้วยขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA

โดยรถไฟทางไกลที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 19 มกราคม 2566 จะมีทั้งหมด 52 ขบวนทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่

- สายเหนือมี 18 ขบวน ได้แก่
3 4 7 8 9 10 13 14 51 52 109 102 105 106
107 108 111 และ 112

รถไฟทางไกลสายใต้ มี 24 ขบวน ได้แก่
31 32 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46
83 84 85 86 167 168 169 170 171 172
173 และ 174

รถไฟทางไกลสายอีสาน มี 24 ขบวน ได้แก่
21 22 23 24 25 26 67 68 71 72 75 76
77 78 133 134 135 136 139 140
141 142 145 และ 146 

กาฬสินธุ์ตลาดไหมแพรวาสุดเฟื่องส่งต่อรุ่นใหม่ขายออนไลน์ยอดพุ่ง

บรรยากาศการจำหน่ายผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวาทอมือบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังเฟื่องฟูและลื่นไหล ผู้ประกอบการยุคบุกเบิกยังดำเนินกิจการต่อเนื่อง ขณะที่หลายรายส่งไม้ต่อให้ลูกหลานสืบสาน เป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาล้ำค่า จำหน่ายทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ รายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 4 ล้านบาท

(6 ธ.ค. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการจำหน่ายผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวา ที่ได้จากการทอด้วยมือชาวผู้ไทบ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ยังได้รับความนิยมจากลูกค้าใกล้ไกลไม่เสื่อมคลาย ซึ่งพบว่าในทุก ๆ วัน มีทั้งเดินทางมาเลือกซื้อด้วยตนเอง และติดต่อซื้อขายทางออนไลน์ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ 8 ราย ได้เปิดช่องทางการตลาดผ่านโซเชียลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เฟซบุค กลุ่มไลน์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังระบุว่ายอดจำหน่ายสูงกว่าขายหน้าร้านหลายเท่าตัว รายได้รวมวันละ 1 แสนถึง 1 แสน 5 หมื่นบาท หรือเดือนละ 3 ล้านถึง 4 ล้าน 5 แสนบาท

นางสาวอุมาพร ลามุล อายุ 31 ปี เจ้าของร้านมรดกภูไท เลขที่ 149 หมู่ 2 บ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนเปิดร้านขายอุปกรณ์และสินค้าทางการเกษตร ควบคู่กับปลูกพุทราและผลไม้ ต่อมาเห็นตลาดผ้าไหมแพรวาเฟื่องฟูมาก ประกอบกับตนเป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีแนวคิดว่าผ้าไหมแพรวา ต้องไม่ใช่แค่ผ้าซิ่นหรือสไบ ผ้าไหมแพรวาต้องไปไกลกว่านี้ ตลาดต้องกว้างไกลกว่าที่ผ่านมา ทุกเพศ ทุกวัย สามารถตัดเย็บเป็นเดรสสูท หรือเสื้อผ้าสวมใส่ได้ทุกโอกาส ในปี 2561 จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายมาจำหน่ายผ้าไหมแพรวา รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวา เพียงระยะเวลา 4 ปี ประสบผลสำเร็จทั้งยอดขาย จำหน่ายทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ สามารถพูดได้ว่าถึงแม้ที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจจะอย่างไร หรือประสบสถานการณ์โควิด-19 ยังไง แต่การค้าขายผ้าไหมแพรวาไม่กระทบ ยังไปได้เรื่อย ๆ ภูมิใจที่ผ้าไหมแพรวา สามารถสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ไม่ต่างจากเปลี่ยนอาชีพจากไร่นาสู่ผ้าทอ ทำให้ชาวบ้านโพนมีรายได้ยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top