Tuesday, 1 July 2025
COLUMNIST

เปิดมุมมองการลงทุนอย่างยั่งยืน ในโลก ‘การเงินสีเขียว’

ในมุมมองของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม การตัดสินใจลงทุนและการพิจารณาผลตอบแทนที่ต้องการจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในรูปของตัวเงินและความมั่งคั่งสูงสุดเท่านั้น หากแต่มีวัตถุประสงค์ของการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวก หรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ด้วยการลงทุนตามแนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investment) ผ่านการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ หุ้นกู้สีเขียว หรือ กรีนบอนด์ (Green Bond) 

ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นตราสารทางการเงินที่มุ่งเน้นระดมเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การส่งเสริมจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 

(1) ลดและแก้ไขปัญหามลภาวะ 

(2) ส่งเสริมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 

(3) ลดและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 

โดยมีมาตรฐานตราสารหนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.0 (Climate Bond Standard) เพื่อรับรองว่าตราสารหนี้จะให้เงินทุนสำหรับโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกันโดยสมบูรณ์กับหลักการตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond Principles)

ประเภทของกรีนบอนด์ ประกอบด้วย 

1.) Standard Green Bond ได้แก่ Green Bond ที่มุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ถือตราสารหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกตราสารหนี้ชําระหนี้และจ่ายผลตอบแทนตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกัน

2.) Green Revenue Bond ได้แก่ Green Bond ที่มีกระแสเงินสดเป็นหลักประกันการชําระหนี้ เช่น รายได้ ค่าธรรมเนียม ภาษีจากโครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เงินที่จะได้รับจากการออกตราสารหนี้ลักษณะนี้จะนําไปใช้ในโครงการที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดนั้นเองหรือโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยก็ได้

3.) Green Project Bond ได้แก่ Green Bond ที่ออกเพื่อระดมทุนให้แก่โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะโครงการเดียวหรือหลายโครงการซึ่งผู้ลงทุนเป็นผู้รับความเสี่ยงโดยตรงในผลสำเร็จของโครงการนั้น

4.) Green Securitized Bond ได้แก่ Green Bond ที่มีการนําโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมโครงการเดียว หรือหลายโครงการมาเป็นหลักประกัน เช่น Covered Bonds Asset-Backed Securities และ Mortgage-Backed Securities โดยการออกตราสารหนี้ดังกล่าวนั้นต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่มุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วย

ตลาดกรีนบอนด์ในไทยในปีนับจากปี 2562 มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านบริษัทมหาชนจำกัดที่ประสบความสำเร็จจากการจำหน่ายกรีนบอนด์ อาทิเช่น 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี มูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงการเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน เพื่อดูแลป่าในระยะยาว และศูนย์เรียนรู้ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. 

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ ชนิดไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน มูลค่าของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในพัฒนาโครงการไฟฟ้าสะอาดสู่ความยั่งยืน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Waste-to-Energy) 

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไป ใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ และจะช่วยลดการปล่อยมลภาวะในเขตกรุงเทพมหานคร

โดยการประเมินผลตอบแทนในกรีนบอนด์ จะคำนึงถึง “Greenium” (การผสมคำระหว่าง Green และ Premium) หรือผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (Conventional Bond) ทั้งนี้ผลจากศึกษาที่ผ่านมา พบว่ามีทั้งในกรณีที่ที่สูงกว่า และ ต่ำกว่า) ตราสารหนี้ทั่วไป


ข้อมูลอ้างอิง 

https://www.setsustainability.com/page/sustainable-investment

http://www.pddf.or.th/upload/article/file_200921095754.pdf


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เมื่อ​ 'ประกันชีวิต'​ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

เชื่อเถอะครับว่า​ นาทีนี้คำว่าประกันชีวิต คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราอีกต่อไป 

หลาย ๆ​ คนมีวัตถุประสงค์ ในการทำประกันชีวิตแตกต่างกัน เช่น... 

- เพื่อคุ้มครองเวลาจากไป​ คนข้างหลังจะได้ไม่ลำบาก 
- เพื่อออมเงิน 
- เพื่อลดหย่อนภาษี 
- เพื่อลงทุน 
- หรือเพื่อช่วยเหลือเพื่อน 

สำหรับผมแล้ว การได้เข้ามาสู่ธุรกิจประกันชีวิตเมื่อ​ 20​ ปีก่อน ภาพลักษณ์ของธุรกิจช่างแตกต่างกับตอนนี้มาก 

สมัยนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ​ ก็ไม่มีอะไรมา​ Support มากนัก หลาย ๆ​ ครั้งต้องอธิบายแบบประกันด้วยการวาดแบบบนกระดาษ​ A4 พกเอกสารนำเสนอเป็นตั้ง 

แต่สมัยนี้ ipad เครื่องเดียวสามารถทำได้ทุกอย่าง 

การพบลูกค้าสมัยนั้นก็ต้องโทรนัด เปิดกระบวนการขาย แต่สมัยนี้ส่งเอกสารทางไลน์ ลูกค้าตัดสินใจ ตัวแทนส่งเอกสารไปให้เซ็น ลูกค้าถ่ายรูปบัตรประชาชน กับ เซลฟี่รูปตัวเอง และเซ็นเอกสารกลับมา แล้วรอรับกรมธรรม์ที่บ้านได้เลย 

ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเข้ามาแทน คนเข้าถึงความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น ​ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ 

แน่นอนว่าหลาย ๆ​ คนอาจถามว่า แล้วจะหาลูกค้าจากไหน? 

คำตอบสมัยก่อน กับสมัยนี้ คงไม่ต่างกัน คือ เริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน คนในครอบครัว คนรู้จัก เพื่อน และลูกค้าแนะนำ หรือถ้าใครรู้จักคนเยอะ​ ก็ยิ่งง่าย

เช่นเดียวกันกับตัวผม ด้วยความที่ตัวเราเองเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เรารู้จักคนเยอะ และท่านผู้อ่านก็คงคิดว่า งานง่ายละสิ...แต่เปล่าเลยครับ!! อาชีพนี้แปลก!!

หลาย ๆ​ ครั้งเราไม่กล้าเปิดปากว่าเราทำอะไรอยู่ จึงทำให้พลาดอะไรไปหลาย ๆ​ อย่าง ซึ่งในส่วนของผมนั้น​ จำนวนลูกค้ากลุ่มแรก คือ​ กลุ่มเพื่อนที่เป็นนักกิจกรรมต่างมหาวิทยาลัยที่พวกเรารวมตัวกัน และได้สนิทติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

เราตั้งชื่อว่า​ 'กลุ่มหัวจุก'​ ครับ แต่ผมคงไม่ขอลงรายละเอียด​ เพราะว่าถ้าบอกชื่อไปท่านผู้อ่านคงรู้แน่ ๆ​ ว่าเป็นใครบ้าง เพราะหลาย ๆ​ ท่านตอนนี้ เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมครับ (^^)​

เพื่อนกลุ่มนี้ เราได้​ Support ซึ่งกันและกันมาตลอดครับ เอาเป็นว่าในตอนถัดไป ผมจะเล่าประสบการณ์ขายประกันให้กับเพื่อน หรือคนที่รู้จักให้อ่านกันครับ ว่ามีอะไรน่าตื่นเต้นบ้าง

หลาย ๆ​ ครั้งได้รับการตอบรับดี แต่หลายๆ​ ครั้งก็โดนปฏิเสธ 

พบกันตอนหน้าครับ กับเรื่องเล่าสนุก ๆ ของคนขายประกัน

ส่วนครั้งนี้ขออนุญาตมาแนะนำตัวก่อนครับ


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ความจริงอีกครึ่ง!! เผย​ราคาจริง 'วัคซีน​ Moderna'​ เมื่อ​ 584 บาท​ คือ​ ราคาขายในสหรัฐฯ

มีคำกล่าวว่า...

"ข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียวนั้น น่ากลัวกว่าข่าวเท็จ"

เพราะคนที่กระจายข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียวนั้น มักไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้กระจายความเข้าใจผิดเหล่านั้นไป 

ยิ่งเป็นคนมีชื่อเสียง​ ยิ่งทำให้ข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียวนั้นมีความน่าเชื่อถือขึ้น จนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสังคมมาก 

วันนี้ผมจะขอนำ​ 'ความจริง'​ อีก 'ครึ่งหนึ่ง'​ มานำเสนอให้ลองคิดพิจารณาดูครับ

จากกระแสข่าวที่ว่าวัคซีนโมเดอร์นา​ (Moderna)​ ควรจะมีราคา 584 บาทต่อโดส แต่องค์การเภสัชฯ ได้นำเข้ามาขายในราคา 1,100 บาทต่อโดส >> นี่คือการเก็บภาษี 100% ของรัฐตามที่ผู้ให้ข่าวบอกนั้น!!

ตัวผมเองไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งกาจเหมือนกับท่าน แต่ก็เห็นความผิดปกติ จากที่ท่านทำคลิปวีดีโอบอกว่า "มันเป็นราคาที่ส่งในประเทศอเมริกาเอง และส่งภายในยุโรป เป็นราคารวมค่าขนส่งแล้ว" 

ผมเลยลองหาข่าวยืนยันข้อความอันกล่าวโดยท่าน แต่จะหาข่าวภาษาไทย ก็คงจะยากเพราะสื่อไทยเองก็มีปัญหาเลือกข้าง เลยขอหาจากสื่อญี่ปุ่น ประเทศที่นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาใช้เป็น 1 ใน 3 วัคซีนหลักของประเทศ และตัวผมสามารถอ่านรู้เรื่อง

จากเนื้อข่าว (https://www.businessinsider.jp/post-233036)​ พบว่า...ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ถึงเดือนมีนาคม 2021 ระยะเวลา 4 เดือน บริษัทโมเดอร์นาได้ขายวัคซีนไปแล้ว 116 ล้านโดส (ไม่รวมส่งไปทดสองกับสถานวิจัย BARDA อีก 4 ล้านโดส) 

โดยเป็นการส่งมอบวัคซีนในประเทศอเมริกา 102 ล้านโดส และส่งออกต่างประเทศไป 14 ล้านโดส ทั้งที่เดือนกุมภาพันธ์ เพิ่งส่งออกเพียง 3 ล้านโดส มีอัตราส่วนระหว่างส่งในประเทศกับส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 4 ต่อ 1

จากเอกสารบอกอีกว่า ราคาวัคซีนของโมเดอร์นาที่ขายในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 88 ล้านโดสมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15.4 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,650 เยน) ในขณะที่บริษัทคู่แข่งที่ทำสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ​ อย่างบริษัทไบโอเอ็นเทคกับวัคซีนไฟเซอร์ที่ขายในราคา 2 โดส 39 ดอลลาร์ ราคาของวัคซีนโมเดอร์นา​ 

>> จึงถูกกว่าที่ราคา 2 โดส 32 ดอลลาร์ 

และในเอกสารยังบอกอีกว่า ในไตรมาสแรกของปี 2021 ราคาขายในอเมริกาเฉลี่ยต่ำสุดที่ 2 โดส 30.8 ดอลลาร์

ในขณะที่ราคาสำหรับการส่งออก 14 ล้านโดสนั้น มีราคาอยู่ระหว่าง 22-37 ดอลลาร์ต่อโดส ขึ้นอยู่กับปริมาณสั่งซื้อในแต่ละสัญญา ส่วนราคาขายในยุโรปนั้น จากสื่อของเบลเยี่ยม (เป็นข้อมูลหลุดจากทวิตเตอร์) ได้บอกราคาไว้ที่ 1 โดส 18 ดอลลาร์

จากข่าวที่ผมหาได้ ก็ทำให้ได้ทราบว่า การขายวัคซีนโมเดอร์นา​ ถูกแบ่งออกเป็นสามรูปแบบ​ ดังนี้... 

>> ขายในประเทศอเมริกาเอง จะถูกสุดถึง 15.4 ดอลลาร์ต่อโดส (504.5 บาท) 
>> ขายในยุโรปที่ 22 ดอลลาร์ต่อโดส (589.7 บาท) 
>> และขายประเทศอื่น ๆ 22-37 ดอลลาร์ต่อโดส (720 - 1212 บาท) ขึ้นอยู่กับปริมาณที่สั่งต่อสัญญา 

เพราะฉะนั้นแล้ว​ ราคาขายในไทยคงไม่สามารถขายได้ในราคา 22 ดอลลาร์อย่างแน่นอน เนื่องจากเขาขายแต่ในยุโรปเท่านั้น!! 

ปัญหา คือ องค์การเภสัชทำสัญญากับโมเดอร์นา อยู่ที่เท่าไหร่ เพราะถ้าอิงจากราคาที่ตั้งคือ 1,100 บาทแล้ว องค์การเภสัชน่าจะซื้อมาด้วยราคา 32 ดอลลาร์ บวกกับภาษี 7% จะได้ใกล้เคียงกับ 1,100 บาทที่สุด 

แค่นี้แหละครับที่ผมอยากจะบอก!! 

ความจริงอีกครึ่ง!! 


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.businessinsider.jp/post-233036


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คนเราจะมี ‘เพื่อน’ ได้มากที่สุดกี่คน ? “Dunbar’s Number” (ตัวเลขของดันบาร์) ความสัมพันธ์ที่จำกัดจากสมองมนุษย์

มนุษย์คนหนึ่ง ๆ จะสามารถมีเพื่อนจำนวนเท่าใดจึงพอเหมาะต่อการที่จะรู้จักคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันจนสนิทชิดเชื้อ และสามารถรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้เป็นอย่างดี ? คำตอบนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Dunbar’s Number ขึ้น และตัวเลขจำนวนนี้มีความหมายโยงใยไปถึงหลายเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นขนาดของธุรกิจ ขนาดของกลุ่มออกค่าย ขนาดของหน่วยรบ ขนาด Network ของ Social Media ฯลฯ 

ในปี พ.ศ. 2535 ‘Robin Dunbar’ ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Oxford ได้นำเสนอตัวเลขจำนวนนี้ต่อสาธารณะ จากการศึกษาทั้ง การแพทย์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา เพื่อหาจำนวนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สมองของมนุษย์คนหนึ่งสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี Dunbar พบว่ามนุษย์มีทางโน้มที่สามารถจัดการกลุ่มของตน (Self-organize) เองได้ดีเมื่อกลุ่มของตนมีจำนวนไม่เกิน 150 คน ดังนั้นตัวเลข 150 นี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการและถูกเรียกว่า Dunbar’s Number 

Robin Dunbar ปัจจุบันอายุ 74 ปี ชาวอังกฤษ จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Oxford และเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่ง Bristol จากนั้นทำงานวิจัยและสอนให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอังกฤษก่อนที่จะมีชื่อเสียงเพราะการการนำเสนอทฤษฏี Dunbar’s Number

คำจำกัดความอย่างเป็นทางการของ Dunbar’s Number คือ “ตัวเลขของจำนวนคนที่ทำให้เกิดข้อจำกัดเชิงการใช้ความคิดที่บุคคลหนึ่งสามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้” พูดง่าย ๆ คือ จำนวนตัวเลขที่สร้างข้อจำกัดในการทำงานของสมองของมนุษย์คนหนึ่ง ที่จะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

Dunbar ไม่ได้ยกเมฆตัวเลขจำนวนนี้ขึ้นเอง หากแต่ได้ทำการศึกษาในเชิงสังคมวิทยาอย่างรอบคอบ บทความของเขาใน Journal of Human Evolution ในปี พ.ศ. 2535 ได้อธิบายว่า การที่คนเรามีสมองขนาดใหญ่ขึ้นทำให้สามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ดียิ่งขึ้น การอยู่อาศัยเป็นกลุ่มของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันภัยจากศัตรู อย่างไรก็ดีการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องยากเพราะสมาชิกมักแย่งชิงอาหารและเพศตรงข้ามกัน ต่างต้องระวังการถูกโกงและการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ในขณะเดียวกันต่างก็หาช่องทางที่จะข่มขู่และกดขี่คนอื่นเพื่อการอยู่รอดอีกด้วย 

สัตว์เผ่าพันธุ์ Primates

เมื่อขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้น ขนาดของข้อมูลที่สมองของสัตว์เผ่าพันธุ์ Primates ซึ่งครอบคลุมลิงและมนุษย์จะต้องประมวลก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว กลุ่มที่มีคน 5 คน มี 10 คู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ถ้ากลุ่มเป็น 20 ก็มี 190 ถ้ากลุ่มเพิ่มเป็น 50 ก็มี 1,225 เมื่อความซับซ้อนของความสัมพันธ์มากขึ้นเช่นนี้สมองก็จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีหลากหลายชั้นของเซลล์สมองเพื่อจัดการความสัมพันธ์ซึ่งสมองเป็นเครื่องมือสำคัญ Dunbar ใช้โมเดลคณิตศาสตร์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของ Neocortex (ส่วนสำคัญของสมอง) ของแต่ละประเภท Primates กับขนาดของกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน ยิ่ง Neocortex ใหญ่เท่าใดขนาดของกลุ่มที่สามารถจัดการปัญหาของตนเองได้ก็ใหญ่ขึ้น แม้แต่มนุษย์ซึ่งเป็น Primate ที่ฉลาดที่สุด ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ 

Dunbar พบว่า สำหรับลิงประเภทต่าง ๆ มีขนาดของกลุ่มที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ 5 ถึง 80 ตัว ส่วนลิงเอป (Ape) หรือลิงไม่มีหาง มีขนาดของกลุ่มประมาณ 5 ตัว และขนาดของกลุ่มของมนุษย์คือ 147.8 คน และ Dunbar ยังพบข้อมูลจากประวัติศาสตร์ว่า ขนาดของกลุ่มทหารโรมัน กลุ่มทหารในศตวรรษที่ 16 กลุ่มชนที่เดินทางเร่ร่อนในสมัยโบราณ กลุ่มชนที่อาศัยในถิ่นต่าง ๆ ล้วนมีจำนวนประมาณ 150 คน เช่นเดียวกับที่เขาคำนวณได้จากโมเดลทางคณิตศาสตร์ งานศึกษาของ Dunbar จนได้ตัวเลข 150 สร้างความฮือฮาในทางวิชาการในทศวรรษ 1990’s จนถึงปัจจุบัน มีคนนำไปประยุกต์ใช้ในทางการทหาร ทางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Social Media

กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ลองผิดลองถูกกับขนาดของหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพที่สุดมายาวนานและใช้ตัวเลข 150 เป็นจำนวนของทหารหนึ่งกองร้อยของหน่วยรบในปัจจุบัน สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น Gore-Tex นั้น หากสาขามีจำนวนลูกจ้างถึง 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกสาขาหนึ่ง และสำหรับชุมชนปกครองตนเองในสหรัฐอเมริกา (เช่น พวก Hutterites ซึ่งคล้ายพวก Amish ซึ่งยึดการใช้ชีวิตแบบโบราณดั้งเดิม) หากสมาชิกเกิน 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกชุมชนหนึ่ง

ชาว Hutterites

ในโลกของ Social Media นั้น Dunbar’s Number ถูกนำมาทดสอบเพื่อยืนยันจำนวนเพื่อนที่สมาชิกคนหนึ่งสามารถมีความสัมพันธ์ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลขนี้มีความสำคัญเพราะเป็นขนาดของ Network ที่จะต้องนำเอามาออกแบบเชิงธุรกิจ Facebook สนใจ Dunbar’s Number เช่นเดียวกับ Path ซึ่งช่วยให้สมาชิกโพสต์รูปและความเห็นผ่านสมาร์ทโฟนตลอดจนบอกเวลานอนและตื่นได้อีกด้วย ผู้บริหาร Path พบว่า แต่ละ Network ไม่ควรมีขนาดใหญ่กว่า 150 คน Path ประสบความสำเร็จจากการใช้จำนวนนี้จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ Dunbar’s Number ปัจจุบัน มีนักวิชาการ/นักวิจัยซึ่งทำการวิจัยได้โต้แย้งการสังเกตเชิงประจักษ์ของขนาดกลุ่มมนุษย์พบว่า มีจำนวนประมาณ 150 คนโดยเฉลี่ย โดยนำเสนอการสังเกตเชิงประจักษ์ของขนาดกลุ่ม ซึ่งบ่งชี้ถึงจำนวนอื่น ๆ ที่หลากหลาย (กลุ่มอายุ 46-53) ดังนั้นการวิจัยเชิงนิเวศวิทยาเกี่ยวกับสังคมของ ความเป็นเอกลักษณ์ของความคิดของมนุษย์และการสังเกตเชิงประจักษ์ ล้วนบ่งชี้ว่าไม่มีข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ การวิเคราะห์ใหม่ของเราให้หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่จำเป็นต่อการเพิกเฉยต่อ 'Dunbar's number' โดยสรุปการอนุมานขีดจำกัดการรับรู้ของมนุษย์จากการถดถอยของข้อมูล Primates ที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นมีค่าจำกัด ด้วยเหตุผลทั้งทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ เป็นความหวังของเรา แม้ว่าอาจจะไร้ประโยชน์ แต่การศึกษาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการยุติการใช้ 'Dunbar’s Number' ในวิทยาศาสตร์ และในสื่อยอดนิยมต่าง ๆ ว่า 'Dunbar's number' เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานทางทฤษฎีที่จำกัด ซึ่งยังคงขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ในการสนับสนุน ด้วยมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความต่อเนื่องกับมนุษย์คนอื่น ๆ ถ้ามีจำนวนน้อยเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ แต่หากมีมากจนเกินไปก็ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อย่างดีไว้ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลข 150 ของ Dunbar จึงอาจเหมาะสมพอดีกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีลักษณะเฉพาะในการรักษาความสัมพันธ์อันแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็เป็นได้ ในสังคมตะวันออกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมเป็นพิเศษเพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย (เช่น ของฝาก การไปร่วมงานพิธีต่าง ๆ ของขวัญฯ) จึงมีความเป็นไปได้ที่จำนวนตัวเลข 150 นี้อาจไม่ถูกต้องตามบริบทของสังคมตะวันออกก็เป็นได้


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

สวนกระแสโลก!! เมื่ออินเดีย เพาะพันธุ์ 'ยูนิคอร์น' ไล่กวด 'สหรัฐฯ-จีน' ภายใต้ 'คนเก่ง - รัฐเร่ง Go - โควิดหนุน'

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยมีข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นที่กล่าวขวัญและฮือฮาที่สุด นั่นก็คือ กรณีที่กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ชสัญชาติไทยแบบครบวงจรที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักบริษัทในเครือคือ แฟลชเอ็กซ์เพรส (Flash Express) ได้รับเงินระดมทุนล่าสุดซึ่งเป็นการระดมทุนรอบซีรีส์ D+ เป็นเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจแฟลชขึ้นแท่นเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ไต่สู่ระดับ “ยูนิคอร์น (Unicorn)” ด้วยมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีเท่านั้น

แต่ว่าในช่วงไล่เลี่ยกันที่ประเทศอินเดียที่คนส่วนใหญ่อาจจะคาดไม่ถึง ปรากฏว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง กลับมีการแจ้งเกิดของ “ยูนิคอร์น” รายใหม่มากถึง 11 บริษัท ส่งผลทำให้ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 อินเดียมีบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับ “ยูนิคอร์น” รวมทั้งสิ้นจำนวนมากถึง 48 บริษัท มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวน 288 บริษัทและประเทศจีนที่มีจำนวน 133 บริษัท ตามลำดับ


สำหรับผู้ที่รู้จักประเทศอินเดียดีก็จะไม่รู้สึกแปลกใจกับการที่อินเดียติดอันดับ 3 ของโลกที่มีจำนวน “ยูนิคอร์น” มากที่สุดถึง 48 บริษัทและมี “ยูนิคอร์น” เกิดใหม่ถึง 11 บริษัทภายใน 6 เดือนแรกของปี 2564 หรือโดยเฉลี่ยมี “ยูนิคอร์น” เกิดใหม่ในอินเดียเกือบ 2 บริษัทต่อเดือนเลยทีเดียว ซึ่งความสำเร็จนี้ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือได้มาง่าย ๆ เพียงแค่ชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากการทำงานหนักของทั้งภาครัฐและเอกชนของอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของท่านนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) ตั้งแต่ในสมัยแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ  (ปัจจุบันเป็นสมัยที่สอง) ที่มีการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนประเทศอินเดียให้เป็น “อินเดียใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย “Digital India” ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพของประเทศในระยะยาวที่ยั่งยืนรวมทั้งเป็นการสร้างแบรนด์ India ไปทั่วโลกด้วย

สำหรับคำว่า “ยูนิคอร์น” (Unicorn) ซึ่งหมายถึงสัตว์ในตำนานของยุโรปที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนได้เกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป ก็เพราะการที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะสามารถระดมทุนได้สูงขนาดนี้ถือเป็นสิ่งที่ยากมา ถ้าหากทำได้ก็จะกลายเป็น “ตำนาน” เช่นเดียวกับ “ยูนิคอร์น” นั่นเอง ทั้งนี้ ทางฝั่งอินเดียเองก็พบว่ามีสัตว์ประเภทนี้อยู่ในตำนานโบราณของอินเดียด้วยเช่นกัน ซึ่งในภาษาฮินดีซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตจะเรียกสัตว์ในตำนานนี้ว่า “Ekshringa” ซึ่งน่าสนใจมาก ผมเลยสอบถามไปที่กัลยาณมิตรทางด้านอินเดียของผมคือ อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด ผู้เชี่ยวชาญภาษาฮินดี แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Northeastern Hill University ที่เมืองชิลลอง รัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย โดยท่านได้กรุณาให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า คำว่า Ekshringa หรือ “เอกศฤงค์” (อ่านว่า เอก-สะ-ริง) แยกออกได้เป็นคำว่า Eka หรือ “เอกะ” แปลว่า หนึ่ง ส่วนคำว่า Shringa หรือ “ศฤงคะ” แปลว่า เขาสัตว์ เพราะฉะนั้น คำว่า Ekshringa หรือ เอกศฤงค์ จึงแปลว่า “ผู้มีเขาเดียว” นั่นก็คือ “ยูนิคอร์น” นั่นเอง

จากข้อมูลของ India Today ฉบับประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พบว่านอกจากยูนิคอร์นของอินเดียจะมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว ปรากฏว่าธุรกิจสตาร์ทอัพของอินเดียที่เป็น Tech Start-Ups ก็มีจำนวนอยู่ที่อันดับ 3 ของโลกด้วยเช่นกันด้วยจำนวนมากกว่า 12,500 ราย แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ เฉพาะในปี 2563 (ค.ศ. 2020) แค่ปีเดียวซึ่งเป็นปีแห่งวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสที่สุดของทั้งโลกโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย แต่ปรากฏว่าจำนวน Tech Start-Ups ในอินเดียกลับเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,600 รายภายใน 1 ปี สวนกระแสวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าทุกวิกฤติย่อมนำมาซึ่งโอกาสดี ๆ เสมอ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นเติบโตอย่างมากในอินเดียหรือในโลกในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง อย่างบริษัท Razorpay ซึ่งเป็น Payment Gateway ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออย่างบริษัท Swiggy ซึ่งเป็น Food Delivery Platform ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เช่นกัน ปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

นอกจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นในอินเดียแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ของประชากรอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งการพัฒนาความเร็วในการสื่อสารหรือการถ่ายโอนข้อมูล รวมทั้งการเชื่อมต่อของระบบอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจากรายงานของสมาคมอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์เคลื่อนที่แห่งอินเดีย (Internet and Mobile Association of India หรือ IAMAI) เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาพบว่า 43% ของประชากรอินเดียหรือคิดเป็นจำนวนประชากรอินเดียประมาณ 622 ล้านคนเป็นผู้ที่ใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต (Active Internet Users) อยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราการขยายตัวของการใช้อินเตอร์เน็ตในพื้นที่เขตชนบทสูงกว่าพื้นที่ในเขตเมือง ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวเปิดเผยว่าในปี 2563 อัตราการใช้อินเตอร์เน็ตในพื้นที่เขตชนบทของอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 13% ในขณะที่ในพื้นที่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น โดยการใช้งานอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ทั้งในพื้นที่ในเขตชนบทและในพื้นที่ในเขตเมืองจะใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนเป็นหลัก นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาร่วมระหว่าง ICEA (Indian Cellular and Electronics Association) กับบริษัทที่ปรึกษา KPMG เมื่อปีที่แล้วพบว่า ภายในอีก 2 ปีข้างหน้าอินเดียจะมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนจำนวน 820 ล้านคน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดผลดีต่อบรรดาบริษัท Tech Start-Ups และยูนิคอร์นของอินเดียอย่างแน่นอน และจะยิ่งส่งผลให้เกิดบริษัท Tech Start-Ups และยูนิคอร์นในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ Tech Start-Ups และยูนิคอร์นจำนวนมากในอินเดียมิได้เป็นผลมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้นเพราะวิกฤติเป็นเพียงปัจจัยเสริมปลายน้ำ แต่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ การเกิดขึ้นของบริษัททางด้าน Info-Tech ชั้นดีของอินเดียในช่วงทศวรรษที่ 1990 อย่างเช่นบริษัท Infosys และบริษัท TCS (Tata Consultancy Services) เป็นต้น พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Hub) ที่เมืองบังกาลอร์ (หรือเบงกาลูรูในปัจจุบัน) และมาได้พลังเสริมจากนโยบายของรัฐบาลของท่านนเรนทรา โมดีตั้งแต่สมัยแรกที่มีความชัดเจนในเรื่องของดิจิตอล ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของอินเดียที่มีความฝันและความมุ่งมั่นที่จะเป็นยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญสองเหตุการณ์ที่ส่งผลมาถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน โดยจุดเปลี่ยนแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องลดจำนวนพนักงานลงจำนวนมาก โดยในอดีตที่ผ่านมาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เหล่านี้มักจะจ้างคนอินเดียที่เก่ง ๆ และฉลาด ๆ ไปทำงานอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อต้องเลิกการจ้างงานก็เลยทำให้เกิดปรากฏการณ์สมองไหลกลับหรือ Brain Drain ของคนอินเดียที่เก่ง ๆ และฉลาด ๆ เหล่านี้ที่เดินทางกลับไปแสวงหาโอกาสในบ้านเกิด ทำให้เกิดธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกขึ้นที่เมืองบังกาลอร์จำนวนมาก ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันคือ การพัฒนาและขยายระบบอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบันซึ่งส่งผลทำให้เกิดการขยายต้วของธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นในอัตราสูงในปัจจุบัน

            สำหรับยูนิคอร์นของอินเดียจำนวน 48 บริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจด้าน Fintech ด้านบริการซอฟท์แวร์ (Saas: Software as a Service) และ E-Commerce แต่ทั้ง 48 บริษัทมีมูลค่าบริษัทรวมกันสูงถึง 139,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4.47 ล้านล้านบาท

เห็นจำนวนยูนิคอร์นของอินเดียและมูลค่าบริษัทแล้วก็ถึงกับอึ้งกันเลยทีเดียว แต่อินเดียมีเรื่องให้อึ้งมากกว่านี้ ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าจากจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 12,500 บริษัท อินเดียมียูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึง 48 บริษัทมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและจีน แต่อินเดียยังเหนือชั้นกว่านี้อีกเพราะในปัจจุบันอินเดียมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เรียกกันว่า “Decacorn” ถึง 3 บริษัทซึ่งได้แก่ บริษัท PayTM  บริษัท OYO และล่าสุดหมาดๆคือ บริษัท Byju ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพทางด้าน Edtech ชื่อดังของอินเดียที่มีมูลค่าพุ่งขึ้นเป็น 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน 2564 ทำให้ Byju กลายเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

มาถึงจุดนี้ ผมคิดว่าเราคงต้องหันมา “มองอินเดียใหม่” กันแล้วครับ !!

 

‘ฟ้าทะลายโจร’ ทางออกของโควิด-19 ??

ในช่วงนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีแนวโน้มที่ไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายอีกด้วยครับ ท่ามกลางการโจมตีผลงานรัฐบาลในเรื่องของการใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีน จนชาวบ้านระดับรากหญ้าหลาย ๆ ราย ไม่กล้าที่จะฉีดวัคซีน ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มให้มีการเปิดจองไปแล้ว 

ในส่วนของการจัดการ พอรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากไปยังต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ในต่างจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้วกลับมารุนแรงขึ้นอีก และมีคลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพิ่มขึ้นมาคือคลัสเตอร์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการกระจายลงไปสู่เด็กเล็กที่ค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของการดูแลตัวเอง 

ท่ามกลางกระแสอันเลวร้ายของโควิด-19 ก็มีอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมา นั้นคือกระแสที่ว่าด้วยแพทย์ทางเลือก คือ การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน อาจจะมีสรรพคุณในการป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ได้ สำหรับวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเรื่องนี้กันครับ 

ก่อนอื่นเรามารู้จักพืชสมุนไพรที่ว่าด้วยฟ้าทะลายโจรกันก่อน ฟ้าทะลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees และชื่อสามัญคือ Kariyat , The Creat ทั้งนี้นอกจากชื่อฟ้าทะลายโจร แล้วยัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ตามแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วน ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว ลักษณะส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) สาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) 

โดยสรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังคือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยถึงกลไกในการต้านโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอดในมนุษย์ได้ โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Journal of  Natural Products ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติชนิดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมา ในการพัฒนายาที่มาใช้ในการรักษานั้น จะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้มีความลึกซึ้งมากกว่านี้ และอาจใช้ระยะเวลาในการศึกษา เพราะการใช้ยาแต่ละชนิดในการรักษาหรือป้องกันโรคนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วคือการรับประทานฟ้าทะลายโจรจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้ ส่วนจะใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ คงต้องมีการศึกษากันในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

แต่แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน 100% ยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็เป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้ว ในเรื่องของการป้องกันการเป็นหวัดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะหาพืชสมุนไพรที่ชื่อฟ้าทะลายโจรมารับประทาน ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร นอกจากจะป้องกันการเป็นหวัดได้แล้ว เผลอ ๆ อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราในการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของการใช้วัคซีน ได้อีกด้วยก็เป็นได้ครับ


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

อิทธิพลของการสื่อสารแบบปากต่อปาก “Word - of - Mouth” บอกต่อไว้ให้จำอีกนาน

การบอกต่อ (word-of-mouth) เป็นการตลาดภาคพลเมือง (citizen marketing) คือการที่ผู้บริโภครีวิวสินค้าและบริการด้วยความสมัครใจ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนเอง โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าด้วยความคิดเห็น บทวิเคราะห์ รูปภาพ วิดิโอ หรือจัดทำเป็นโพสต์ในโซเชียลมีเดีย หรือในเว็บไซต์ แต่ความหมายของ “การตลาดภาคพลเมือง” ไม่ได้หมายถึง การชักชวนให้ซื้อสินค้าและบริการเท่านั้น เพราะการรีวิวสินค้าโดยกลุ่มผู้บริโภค อาจจะนำไปสู่การปฎิเสธ หรือการต่อต้านสินค้าและบริการได้เช่นกัน 

การตลาดภาคพลเมือง มีพลัง และมีอิทธิพลอย่างมาก เพราะมาจากคนทั่วไปที่ใช้สินค้าและบริการ ความคิดเห็นต่าง ๆ จึงมีความเป็นอิสระ ไม่ได้มาจากชุดคำพูดที่เอเจนซีโฆษณาสร้างสรรค์ให้ หรือไม่ได้มาจากนักเขียนรีวิว ที่ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของสินค้าและบริการ

เมื่อมีการรีวิวจากผู้ซื้อหลาย ๆ ราย ที่ให้รายละเอียดต่าง ๆ โดยมีเจตนาที่จะแจ้งให้ผู้คนทั่วไปที่กำลังสนใจในสินค้าหรือบริการได้ทราบถึง ข้อดี ข้อเสีย ความพึงพอใจ ความผิดหวังในคุณภาพและการใช้งาน

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้น สินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในตลาดมายาวนาน ผู้ใช้จำนวนมากอาจมีความภักดีในสินค้า (brand loyalty) ในระดับระดับหนึ่ง จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พอใจในคุณภาพ จึงไม่มีการรีวิวตัวผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดมานานหลายปีมากนัก แต่หากเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่เพิ่งปรากฎในตลาด จะมีการรีวิวมากมาย จากผู้ที่ได้ลองซื้อมาใช้ รีวิวเหล่านี้ มีผลต่อความสำเร็จของสินค้า

ผู้ที่รีวิวสินค้าและบริการเหล่านี้ ใช้สิทธิของผู้บริโภคในการวิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ โดยอาจแชร์ความไม่พอใจ ความแตกต่างจากความคาดหวังและกฎเกณฑ์ส่วนตัว ลักษณะสินค้าที่ไม่ตรงปก บางครั้งมีการแนะให้ปรับปรุงสินค้าราวกับเป็นผู้มีส่วนในการออกแบบและวางแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์ จนถือว่าเป็นผู้บริโภคที่เรียกว่า proactive consumer หรือผู้บริโภคเชิงรุก หรือ prosumer (producer+consumer)

การรีวิวสินค้านั้น เป็นการบอกต่อ (word-of-mouth) ชนิดหนึ่ง ในอดีต การบอกต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน จนเกิดการรับรู้ในกลุ่มใหญ่ขึ้นนั้นใช้เวลานาน จากหนึ่งคนกว่าจะรู้กันทั้งหมู่บ้าน จนรู้กันทั่วจังหวัดและประเทศอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ในยุคดิจิทัล การสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต ทำให้การบอกต่อ ในลักษณะของการรีวิว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่จะรับรู้กันได้ทั้งโลก !!

การทำการตลาดภาคพลเมือง โดยผู้บริโภคเชิงรุกนั้น สร้างผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบได้รุนแรง มีพลังไม่แพ้การโฆษณาที่ใช้งบประมาณมหาศาล

เหตุการณ์ที่แสดงถึงผลกระทบด้านลบต่อสินค้าและบริการ ที่เริ่มต้นโดย citizen marketing มีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่สังคมแตกแยก แบ่งฟาก และนำการเมืองเข้ามาปนกับนโยบายการดำเนินธุรกิจ เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ผลิตภัณฑ์ขนมปัง ฟาร์มนมสด ร้านสุกี้ ร้านชาไต้หวัน และสินค้าอื่น ๆ ที่ประกาศตัวว่า ไม่ยินดีให้บริการ “สลิ่ม” ไม่ว่านโยบายที่เชื่อมธุรกิจเข้ากับจุดยืนทางการเมืองดังกล่าว จะมาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง หรือคนอื่นถือวิสาสะจัดชุดข้อมูลให้เอง การบอกต่อของสังคมและกลุ่มผู้บริโภค ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน สินค้าเหลือค้างบนชั้นวางในร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายนมและไอศครีม ซึ่งเคยเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม กลายเป็นลูกค้าลดฮวบ 

Citizen marketing ทำโดยผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ และไม่แคร์ว่า ยอดขายจะลด หรือลูกค้าจะหดหาย เพราะไม่ใช่ปัญหาของนักการตลาดภาคพลเมือง ซึ่งโฟกัสไปที่การกระจายข้อมูลให้กว้างที่สุด แรงที่สุด และเร็วที่สุด 

ในขณะที่นักการตลาดมืออาชีพ จะต้องเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายในมิติต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ การศึกษา รายได้ รสนิยม ไลฟสไตล์ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคอย่างรอบคอบ นักการตลาดพลเมืองมองสินค้าและบริการแบบแบน ๆ เท่านั้นคือ “เชียร์” หรือ “ต่อต้าน”

การทำการตลาดโดยแสดงการกีดกัน หรือเลือกผู้บริโภค (discriminatory marketing) มีอยู่รอบตัวแต่เราไม่ได้สร้างประเด็น เช่น การตั้งราคาสินค้าให้สูงย่อมเป็นการแบ่งชนชั้น การที่ร้านอาหารตั้งราคาอาหารสูงลิ่ว แม้ว่าคุณภาพและปริมาณอาหารจะไม่ได้ต่างจากร้านทั่วไปมากนัก ถือว่าเป็นการคัดเลือกลูกค้า ร้านกาแฟก็เช่นกัน การทำการตลาดแบบกีดกัน เป็นการเลือกอย่างเต็มใจของผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ การตั้งราคาสินค้าแพงย่อมมียอดขายน้อยกว่าสินค้าราคาถูกกว่า ร้านอาหารราคาแพง ได้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากกว่า แต่ต้องรับแรงกดดันและการคาดหวังของผู้จ่ายเงินเช่นกัน

ในยุคที่บรรยากาศของสังคมเต็มไปด้วยความคับข้องใจทางการเมือง จุดยืนทางการเมืองถูกนำมาใช้ในลักษณะ การตลาดแบบกีดกันมากขึ้น เช่น
>> โรงแรมที่เชียงใหม่ ประกาศตัวว่าไม่ต้อนรับสลิ่ม 
>> ร้านอาหารย่านซอยอารีย์ในกรุงเทพฯ ประกาศตัวว่าพนักงานที่ร้านไม่พูด “นะจ๊ะ” เพื่อเหน็บนายกรัฐมนตรี ถ้าลูกค้าได้ยินขอให้แจ้งทางร้าน จะไล่พนักงานออก 
>> แท็กซี่ติดสติกเกอร์ด้านข้างรถว่า “ไม่รับตำรวจและทหาร” 
>> ร้านขายเนื้อสัตว์และผักสดในตลาด แขวนป้ายประกาศไว้ว่า “ไม่ขายให้ทหารและตำรวจในเครื่องแบบ”

การประกาศแบบกีดกันกลุ่มลูกค้า เป็นสิทธิที่เจ้าของธุรกิจทำได้โดยไม่มีข้อห้าม และเมื่อมี citizen marketing เข้าร่วมช่วยทำการตลาด โดยการบอกต่อ ความต้องการที่จะกีดกันลูกค้ากลุ่มที่ไม่ชอบก็ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ในขณะที่การกีดกันด้วยราคานั้น สามารถปรับเปลี่ยน แก้ไขไปตามสถานการณ์โดยรอบ เช่น สภาพเศรษฐกิจ โดยการลดราคาให้ถูกกว่าเดิม หรือออกสินค้ารุ่นใหม่ในราคาใหม่

แต่การกีดกันกลุ่มผู้บริโภคด้วยทัศนคติทางการเมือง นอกจากกลุ่มที่ระบุแล้ว ยังมีผลทำให้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด เลี่ยงที่จะใช้บริการนั้นด้วย เพราะความรู้สึกว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่รู้จักแยกแยะ และกังวลว่า การไปใช้บริการทั้งในร้านอาหาร พักในโรงแรม หรือขึ้นแท็กซี่ อาจไม่รื่นรมย์ ต้องระวังตัวทั้งคำพูด การแต่งกาย และพฤติกรรมต่าง ๆ จึงขอตัดปัญหาโดยการเลือกผู้ให้บริการรายอื่น และการตีตราให้ธุรกิจนั้นจะเป็นที่จดจำไปอีกนาน แม้จะกลับลำภายหลัง ก็ยากที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้

ผู้ประกอบธุรกิจ เชื่อมั่นว่าจะดำเนินธุรกิจเชิงกีดกันกลุ่มผู้บริโภค ควรตั้งชื่อร้านอาหาร โรงแรม และสินค้าต่าง ๆ ให้ชัดเจนไปเลยว่าต้องการลูกค้ากลุ่มไหน สีไหน วัยไหน นอกจากจะให้ความสะดวกแก่กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ต้องการแล้ว ยังช่วยเรียกกลุ่มที่ต้องการให้มาสนับสนุนธุรกิจด้วย

ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยร้านอาหารไม่สามารถปฎิเสธลูกค้าด้วยพื้นฐานของ เพศสภาพ เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนา แต่ร้านอาหารมีสิทธิปฎิเสธลูกค้าที่แต่งกายไม่เหมาะสม หรือมีลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อลูกค้าอื่น ๆ ได้ และมีการฟ้องร้องระหว่างร้านอาหารและลูกค้าที่ถูกปฎิเสธ มากมายตลอดมา

การปฎิเสธกลุ่มลูกค้าในเมืองไทย คงไม่ถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาล แต่น่าจับตามองเป็นกรณีศึกษา ว่าจะไปต่อได้ตลอดไปจนกลายเป็นแนวทางการตลาดที่ได้รับความนิยมหรือไม่


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ประชาชน “ฟ้อง” รัฐบาล ได้หรือไม่ ?

ช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องนอนรอรับการรักษาอยู่ที่บ้าน เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเตียงว่างมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ติดเชื้อและครอบครัวของผู้ติดเชื้อต่างใช้ความพยายามในการติดต่อโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงโทรเข้าไปที่เบอร์สายด่วนโควิดที่หน่วยงานรัฐแจ้งไว้เพื่อหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ

แต่ก็ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทุกรายจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ผู้ติดเชื้อบางรายนอนรอเตียงอยู่เป็นสัปดาห์ สุดท้ายร่างกายก็ไม่สามารถต้านทานความร้ายกาจของเจ้าไวรัสโควิดนี้ได้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องจากไปโดยที่ไม่มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลตามที่ควรจะเป็น

มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสะเทือนใจมาก คือ พลเมืองดีรายหนึ่งได้ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ประสบอุบัติเหตุนั้นมาทราบในภายหลังว่ามีเชื้อโควิดอยู่ จึงได้แจ้งให้พลเมืองดีที่ลงไปช่วยเหลือตนทราบ หลังจากทราบเรื่องเพื่อน ๆ และครอบครัวของพลเมืองรายดังกล่าวได้พยายามติดต่อโรงพยาบาล โทรสายด่วนต่าง ๆ จนผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์กว่าก่อนที่จะมีรถพยายาลมารับตัวเขาไปรักษา แต่เนื่องจากการที่ได้รับการรักษาที่ล่าช้าทำให้อาการของเขาทรุดหนัก ผ่านไปเพียง 2 วัน พลเมืองดีท่านนี้ก็ต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร

หลายคนที่ได้ฟังเรื่องนี้แล้วอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของความโชคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน สถานการณ์โรคระบาดเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด 

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของพลเมืองดีรายดังกล่าวกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น โชคชะตาอาจเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ แต่การบริหารจัดการที่ดี ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ครอบครัวดังกล่าวจึงได้ตัดสินใจยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยมี 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ

1.) การที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดสถานบันเทิง จนนำมาซึ่งคลัสเตอร์ทองหล่อ และ
.
2.) การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน รวมถึงการให้ข้อมูลหรือข้อแนะนำของผู้ติดเชื้อที่ให้กักตัวรอการมารับของเจ้าหน้าที่จนนำมาซึ่งการเสียชีวิต

โดยทางครอบครัวได้เรียกร้องให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 4,530,000 บาท แบ่งเป็นค่าปลงศพ 30,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูบุพการี อีกเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 25 ปี 

หากมองที่ตัวเงินแล้ว คดีนี้ถือว่าเป็นคดีที่เล็กมาก แต่ถ้าเราพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์ คดีนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิฟ้องรัฐที่บริหารจัดการผิดพลาด ปล่อยปละละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วปกติประชาชนธรรมดาอย่างเรานี้ จะสามารถลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานรัฐได้หรือไม่

แม้ว่าผมจะไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าคดีที่ผมกล่าวถึงข้างต้นศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หรือว่ารับพิจารณาไปแล้วจะมีคำพิพากษาออกมาแบบใด 

แต่ผมก็ขอเล่าถึงอุทาหรณ์จากคดีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และแนวทางการวินิจฉัยของศาลปกครองที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

คดีแรก เป็นกรณีที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หลายหนึ่งเมาสุรา แล้วปรากฏว่าขับรถไปประสบอุบัติเหตุตกช่องเปิดท่อระบายน้ำข้างทางที่ไม่มีฝาปิด จนทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ โดยมีอาการอวัยวะซีกซ้ายไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เนื่องจากการที่สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง รวมถึงรถจักรยานยนต์ที่ขับมานั้นเสียหายไปด้วย

หลังจากที่ได้รับการรักษาตัวแล้ว ผู้ขับขี่ที่ประสบเหตุคนดังกล่าวได้ออกมาฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่าไม่มีการดูแลและตรวจสอบฝาบ่อพักท่อระบายน้ำที่ตั้งอยู่ริมขอบทางของถนนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย จึงถือว่า อบต. ดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับตนด้วย

อ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะสงสัยว่า คนฟ้องคดีขับรถจักรยานยนต์ไปตกท่อเอง แถมยังตอนขับยังเมาด้วย แล้วแบบนี้เขาจะไปเรียกร้องให้ อบต. รับผิดชอบได้อย่างไร ?

แต่ศาลปกครองท่านไม่ได้คิดแบบนั้นครับ ในคดีดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า อบต. และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาบำรุงทางในเขตพื้นที่ของตนเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการตรวจตราฝาท่อระบายนำหรือสิ่งใด ๆ ที่อยู่บนถนนหนทางให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง หากละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ผู้ใช้ทางสัญจรประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่า อบต. จะละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราฝาท่อระบายน้ำให้ดี แต่ในส่วนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวก็มีส่วนประมาทที่ขับขี่ขณะเมาสุรา ศาลจึงละค่าสินไหมทดแทนที่จะได้ลงร้อยละ 50 ของค่าสินไหมทดแทนที่พึงจะได้

สรุปสุดท้าย คดีนี้ศาลได้ตัดสินให้ อบต. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มาฟ้องคดี แต่ลดจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีส่วนประมาทที่เมาแล้วขับด้วย

อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คดีที่คุณพ่อท่านหนึ่งพาลูกไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำของเทศบาล ปรากฏว่าลูกของเขาจมน้ำเสียชีวิต พ่อของเด็กที่เสียชีวิตจึงไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเทศบาลไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมสระ จึงไม่สามารถช่วยลูกของเขาได้อย่างทันท่วงที ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำ

ฝ่ายของเทศบาลก็ต่อสู้ว่า สระได้เขียนระเบียบว่าด้วยการใช้สระน้ำไว้แล้วว่า ผู้ที่มาใช้บริการสระว่ายน้ำจะต้องระมัดระวังในการใช้สระว่ายน้ำ และหากเกิดเหตุสุดวิสัยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทางเทศบาลจะไม่รับผิดชอบทุกกรณี 

อ่านดูแล้วก็เหมือนว่ามีเหตุผลทั้งสองฝ่าย แต่มาลองดูกันครับว่าในเคสนี้ ศาลปกครองท่านวินิจฉัยเอาไว้ว่าอย่างไร

ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาว่า ขณะเกิดเหตุมีเด็กมาใช้บริการจำนวนมาก เทศบาลย่อมคาดหมายได้ว่าอาจเกิดกรณีเด็กจมน้ำได้ง่าย จึงต้องควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณที่สามารถสอดส่องดูแลผู้ใช้บริการได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมสระว่ายน้ำได้ ถือได้ว่ามาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำนั้นยังไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เด็กจมน้ำเสียชีวิต เทศบาลจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียไหมทดแทนให้กับพ่อของเด็ก

จากอุทาหรณ์ทั้งสองคดีดังกล่าว เราไม่สามารถเทียบเคียงได้ว่าครอบครัวของพลเมืองดีที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะชนะคดีนะครับ

ผมต้องการแต่เพียงชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ หากได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายจากการที่หน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นสิทธิของเราที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ครับ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

เรามารอติดตามกันนะครับว่าในคดีครอบครัวของพลเมืองดีฟ้องรัฐว่าปล่อยปละละเลยจนทำให้โควิดระบาด และการบริหารจัดการที่ล่าช้าจนทำให้ผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น ศาลท่านจะพิพากษาออกอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าคำพิพากษาในคดีนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานของประเทศไทยเราอย่างแน่นอนครับ 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy)” ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก หนามยอกเอาหนามบ่ง !!

การระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนักในบ้านในเมืองของเราเวลานี้ การรักษาโดยกระบวนการทางการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียวคงจะไม่พอเพียงและทันต่อเหตุการณ์แล้ว การรักษาด้วยกระบวนการแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ด้วยวิธีการรักษาแบบผสมผสาน (Complementary Medicine) จึงเป็นทางเลือกอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งน่าสนใจ และควรที่จะนำมาใช้ในการรักษาภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

National Center of Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการจำแนกตามกลุ่มของการแพทย์ทางเลือกออกเป็น 5 กลุ่ม

การแพทย์ทางเลือกที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า “Complementary Medicine” ส่วนการแพทย์ทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า “Alternative Medicine” โดย ศูนย์สุขภาพเสริมและสุขภาพเชิงบูรณาการแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กำกับดูแลการแพทย์ทางเลือก ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในชื่อว่า สำนักงานการแพทย์ทางเลือก (Office of Alternative Medicine : OAM) และเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การแพทย์ผมผสานและการแพทย์ทางเลือก (National Center for Complementary and Alternative Medicine : NCCAM) 

ก่อนที่จะได้รับชื่อปัจจุบันคือ ศูนย์สุขภาพเสริมและสุขภาพเชิงบูรณาการแห่งชาติ (The National Center for Complementary and Integrative Health : NCCIH) เป็นหนึ่งใน 27 ศูนย์และสถาบันที่ประกอบเป็น สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (National Institutes of Health : NIH) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ (Department of Health and Human Services) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้จำแนกออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้ 

Alternative Medical Systems คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจรักษาวินิจฉัยและการบำบัดรักษาที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการให้ยา การใช้เครื่องมือมาช่วยในการบำบัดรักษาและหัตถการต่าง ๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese  Medicine) การแพทย์แบบอายุรเวชของอินเดีย เป็นต้น

Mind-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กายและใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง เป็นต้น

Biologically Based Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ สารชีวภาพ สารเคมีต่าง ๆ เช่น สมุนไพร วิตามิน Chelation Therapy Ozone Therapy หรือแม้กระทั่งอาหารสุขภาพ เป็นต้น โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) จัดอยู่ในอยู่ในกลุ่มนี้

Manipulative and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ หัตถการต่าง ๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteopathy Chiropractic เป็นต้น

Energy Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาที่ใช้พลังงานในการบำบัดรักษาที่สามารถวัดได้และไม่สามารถวัดได้ในการบำบัดรักษา เช่น การสวดมนต์บำบัด พลังกายทิพย์ พลังจักรวาล เรกิ โยเร เป็นต้น

ในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือก ต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ

ความน่าเชื่อถือ (Rational) โดยดูจากวิธีการหรือองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกชนิดนั้น ประเทศต้นกำเนิดให้การยอมรับหรือไม่ หรือมีการใช้แพร่หลายหรือไม่ ใช้มาเป็นเวลานานเพียงใด มีการบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

ความปลอดภัย (Safety) เป็นเรื่องสำคัญมากว่า จะส่งผลกับสุขภาพของผู้ใช้อย่างไร การเป็นพิษแบบเฉียบพลันมีหรือไม่ พิษแบบเรื้อรังมีเพียงใด อันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมีหรือไม่ หรือวิธีการนั้นทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ เป็นต้น

การมีประสิทธิผล (Efficacy) เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์หรือมีข้อพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถใช้ได้จริง มีข้อมูลยืนยันได้ว่าใช้แล้วได้ผล ซึ่งอาจต้องมีจำนวนมากพอหรือใช้มาเป็นเวลานานจนเป็นที่ยอมรับจากการศึกษาวิจัยหลากหลายวิธีการ เป็นต้น

ความคุ้มค่า (Cost - Benefit - Effectiveness) โดยเทียบว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดด้วยวิธีนั้น ๆ คุ้มค่ากับการรักษาโรคที่ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานหรือไม่ โดยอาจเทียบกับฐานะทางการเงินของผู้ป่วยแต่ละคน เป็นต้น

โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) เป็นการแพทย์ทางเลือกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2339 โดย Christian Friedrich Samuel Hahnemann แพทย์ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งเชื่อว่าสารที่ทำให้เกิดอาการของโรคในคนที่มีสุขภาพดีสามารถรักษาอาการคล้ายคลึงกันในคนป่วย ความเชื่อพื้นฐานตามหลักการนี้เรียกว่า similia similibus curentur หรือ "เหมือนการรักษาเหมือน" (like cures like) หรืออาจจะเปรียบได้ว่า เป็นการรักษาแบบ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยในคนที่มีสุขภาพดี สามารถรักษาด้วยการใช้เชื้อของโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันได้ในขนาดที่เล็กมาก สิ่งนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกาย การเตรียม Homeopathic เรียกว่าการเยียวยา และทำโดยการเจือจาง Homeopathic ในกระบวนการนี้ สารที่เลือกจะถูกเจือจางซ้ำ ๆ จนกว่าผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจะแยกไม่ออกจากตัวเจือจางทางเคมี มักไม่มีแม้แต่โมเลกุลเดียวของสารดั้งเดิมที่สามารถคาดหวังให้คงอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้ ระหว่าง Homeopaths การเจือจางแต่ละครั้งอาจกระทบและ/หรือเขย่าผลิตภัณฑ์ โดยอ้างว่าสิ่งนี้ทำให้ตัวเจือจางจำสารเดิมได้หลังจากกำจัด 

ทฤษฏีนี้กล่าวว่า การเตรียมการดังกล่าวเมื่อรับประทานเข้าไปสามารถรักษาหรือรักษาโรคได้ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้ : หลักการโฮมีโอพาธีย์ในการผลิตยาปกติสำหรับบำบัด รักษาผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วยในอาการเดียวกัน โดยใช้สารที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในคนหนึ่งส่วนมาเจือจางกับน้ำหรือแอลกอฮอล์อีก 9 หรือ 99 ส่วน พร้อมทั้งเขย่าขึ้นลงในแนวตั้ง 10 หรือ 100 ครั้งตามสัดส่วนที่เจือจางซึ่งเรียก ขนาดความแรง เป็น 1D หรือ 1C จากนั้นนำสาร 1D หรือ 1C มาเจือจางต่ออีก 1:10 หรือ 1:100 พร้อมเขย่าเช่นเดิม 10 หรือ 100 ครั้ง จะเรียก ขนาดความแรง 2D หรือ 2C ทำไปเรื่อย ๆ จะมีความแรงในการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นตามความแรงที่เพิ่มขึ้น อันที่จริง ยาเหล่านี้จำนวนมากไม่มีโมเลกุลของสารดั้งเดิมเหลืออยู่อีกต่อไป ยาโฮมีโอพาธีย์มีอยู่ในหลายรูปแบบลักษณะ เช่น ของเหลว ครีม เจล และยาเม็ด โดยระหว่างการรักษา แพทย์ Homeopathic (Homeopaths)จะถามคำถามหลายข้อเกี่ยวกับสุขภาพจิต อารมณ์ และร่างกายของคนไข้ เพื่อจะกำหนดวิธีการรักษาที่ตรงกับอาการของคนไข้มากที่สุด จากนั้นจะมีการปรับแต่งกระบวนการรักษาสำหรับคนไข้ตามแต่อาการเฉพาะราย

อาร์นิกา (ARNICA) เป็นสมุนไพร ดอกสีเหลือง มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อโรค และช่วยการฟื้นฟูของเนื้อเยื่อ

ตัวอย่างเช่น หอมแดงทำให้ดวงตามีน้ำ นั่นเป็นเหตุผลที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางชีวจิต การรักษาโรคอื่น ๆ ด้วยตัวยาจากไม้เลื้อยพิษ สารหนูสีขาว ผึ้งทั้งตัวบด และสมุนไพรที่เรียกว่า อาร์นิกา (ARNICA) เป็นดอกสีเหลือง มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อโรค และช่วยการฟื้นฟูของเนื้อเยื่อ เป็นที่นิยมสำหรับบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากรอยฟกช้ำหรืออักเสบ นอกจากนั้นยังมีคนไข้สมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ (anti-aging) และช่วยลดอาการบวมอีกด้วย

การรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) สามารถแก้ปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย รวมถึงโรคเรื้อรังบางอย่าง 
>> โรคภูมิแพ้
>> ไมเกรน
>> อาการซึมเศร้า
>> โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
>> ข้ออักเสบรูมาตอยด์
>> อาการลำไส้แปรปรวน
>> กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน
นอกจากนี้ยังสามารถใช้สำหรับปัญหาเล็กน้อย เช่น รอยฟกช้ำ รอยถลอก ปวดฟัน ปวดหัว คลื่นไส้ ไอ และหวัด

ร้านขายยาสไตล์ละตินอเมริกันคาริเบียน (การแพทย์สเปนและโปรตุเกสแบบดั้งเดิม) ซึ่งอาจมีลักษณะเหมือนร้านขายยาที่มีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่ปรากฏ แต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า ยามีผลต่อการรักษา

การทำงาน ? การวิจัยมีความหลากหลาย การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) มีประโยชน์ด้วยการรักษาที่การรักษาแบบอื่นไม่ทำกัน นักวิจารณ์กล่าวถึงประโยชน์ของยาหลอก นั่นคือเวลาที่อาการดีขึ้นเพราะคนไข้เชื่อว่าการรักษานั้นได้ผล ไม่ใช่เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ สิ่งนี้สามารถกระตุ้นสมองให้ปล่อยสารเคมีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออาการอื่น ๆ ได้ชั่วครู่ แต่ทฤษฎีบางอย่างที่โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) นำมาใช้อ้างอิงนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการของเคมีและฟิสิกส์ โดยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์คือ ยาที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ (ยาหลอก) ไม่ควรมีผลกับร่างกาย

ความเสี่ยงคืออะไร ? สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (U.S Food & Drug Administration (FDA) ได้กำกับดูแลการรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) แต่จะไม่ตรวจสอบเพื่อดูว่าปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วพบว่า ส่วนใหญ่รับยาและดื่มน้ำน้อยจนไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ แต่มีข้อยกเว้น กรณียาที่อาจมีสารออกฤทธิ์จำนวนมาก เช่น โลหะหนัก ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ กรณีตัวอย่าง : ในปี พ.ศ. 2559 FDA ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการใช้ยาเม็ดและเจลสำหรับการรักษาตามกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) เนื่องจากความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับทารกและเด็ก หากคนไข้กำลังพิจารณาที่จะลองใช้วิธีการรักษาทางเลือกเหล่านี้  ต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อความมั่นใจว่า ปลอดภัยและจะไม่มีผลต่อยาอื่น ๆ ที่คนไข้กำลังใช้อยู่

จากการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์ทางเลือกในบ้านเราพบว่า ศาสตร์ที่คนไทยรู้จัก และให้ความศรัทธาและมีความนิยมใช้จำนวน 25 ศาสตร์ ดังนี้ 

1.) สมุนไพร 2.) การนวด 3.) สมาธิ/โยคะ 4.) การนวดศีรษะ 5.) การรำมวยจีน/ไทเก็ก 6.) พลังรังสีธรรม 7.) สมาธิหมุน 8.) ชีวจิต 9.) พลังจักรวาล/โยเร 10.) การฝังเข็ม 11.) การฟังดนตรี 12.) การสวดมนต์/ภาวนา 13.) อบสมุนไพร 14.) การใช้เครื่องหอม/ยาดม 15.) การใช้วิตามิน/เกลือแร่/อาหารปลอดสารพิษ 16.) ดื่มน้ำผัก/ผลไม้ 17.) การสวนล้างพิษ 18.) การดูหมอ/รดนำมนต์ 19.) ศิลปะบำบัด 20.) การผ่อนคลายแบบ Biofeedback 21.) การใช้คาถา/เวทมนต์ 22.) การเพ่งโดยการใช้แสง สี เสียง 23.) การเข้าทรงนั่งทางใน 24.) การใช้เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า 25.) การใช้วิชาธรรมจักร 

นอกจากนี้ยังมีการนำศาสตร์การแพทย์ทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ ไปใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังต่าง ๆ ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น มีการนำเอาการแพทย์ทางเลือกทั้งในรูปแบบของอาหารสุขภาพ การนั่งสมาธิ การใช้หินบำบัด ฯลฯ มาใช้ร่วมกันในการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเป็นต้น

ภาพรวมจากรายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ จะพบว่า การแพทย์ทางเลือกในบ้านเรามีอัตราการขยายตัวสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง ดังกระทรวงสาธารณสุขจึงมีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งจัดการและทำการศึกษาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป โดยเฉพาะการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนักในบ้านเมืองของเราเวลานี้ จำเป็นต้องเร่งให้ทำการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการใช้สมุนไพรต่าง ๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว สมุนไพรต่าง ๆ ตลอดจนศาสตร์ทางเลือกต่าง ๆ รวมทั้งการรักษาด้วยกระบวนการโฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) ด้วย ซึ่งต่อทำคู่ขนานกันไปในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่รับการรักษาด้วยวิธีการตามกระบวนการแพทย์ทางเลือกจะเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์มากที่สุดในอันที่จะพัฒนาต่อยอดการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลต่อแนวทางการรักษาด้วยศาสตร์ของการแพทย์ทางเลือกต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 4) “รู้เขา รู้เรา” การสร้างโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

“การชนะทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีการอันวิเศษยิ่ง” และ “หากรู้เขา รู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขารู้แต่เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล” หลาย ๆ ท่านคงไม่คุ้นเคยกับประโยคนี้เท่าใดนัก แต่ถ้าได้ยินคำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” คิดว่าคงจะคุ้นเคยมากกว่า จากประโยคดังกล่าวเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาของซุนวู ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวู ได้ให้ข้อคิดและผู้เขียนได้นำมาเป็นแนวทางสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า ไม่ว่าเราจะกระทำการใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีการเรียนรู้ที่จะรู้จักตนเองและฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจากความเดิมจากตอนที่ 3 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ โดยการทำ SWOT analysis เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใหม่พิจารณาสภาพแวดล้อมภายในองค์การที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน และสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อประเมินโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ขององค์การ ถือเป็นการประเมินการ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อสร้างโอกาสและความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการใหม่

สำหรับผู้ประกอบการใหม่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) คงพิจารณาได้แล้วสำหรับวิธีการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) การก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship) การซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover) หรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) โดยในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการนั้นควรมีการตรวจสอบความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น ความพร้อมด้านตนเองโดยการประเมินคุณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ การยอมรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเลือกประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงการสำรวจฐานะทางการเงินมีเพียงพอเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่

ดังนั้น การบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะการดำเนินธุรกิจ แต่โดยทั่วไปการบริหารงานของผู้ประกอบการจะมีหน้าที่การบริหารงานที่สำคัญเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแนวทางทฤษฎีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ของ Peter F. Drucker (2005) ดังต่อไปนี้

1.) การวางแผน (Planning)

2.) การจัดองค์การ (Organizing)

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)

4.) การควบคุม (Controlling)

ที่มา : https://www.pinterest.com/njbusinessbuild/management/

สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

1.) การวางแผน (Planning) 

การวางแผนถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญขององค์การ โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานหรือควบคุมให้องค์การดำเนินงานในอนาคต ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย (Goal) หรือวัตถุประสงค์ (Objectives) ขององค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การวางแผนจึงเป็นการผสมผสานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในบรรดาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ ประกอบด้วย

1.1.) กำลังคน (Man)
คนงาน พนักงาน หรือบุคลากรภายในและภายนอกองค์กรถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด องค์การจะต้องมีการบริหารกำลังคนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับงานมากที่สุด

1.2.) เงินทุน (Money)
เงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจถือเป็นหัวใจของการบริหารงานในทุกระบบขององค์การ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไม่สามารถดำเนินได้ดีหากขาดเงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและปัจจัยต่าง ๆ ให้ดำเนินการไปได้

1.3.) วัสดุ (Material)
วัสดุ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่ ผลิตภัณฑ์ บริการหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการนำไปใช้ผลิตสินค้าหรือจำหน่าย ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการใช้ในการผลิตและจำหน่าย มีคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนขาย

1.4.) การบริหารจัดการ (Management)
การบริหารจัดการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกระบวนการจัดการบริหารควบคุม เพื่อให้งานทั้งหมดภายในองค์การมีระบบที่ชัดเจนตลอดจนมีระเบียบขั้นตอน วิธีการต่าง ๆ ในการทำงานที่ส่งให้องค์การประสบความสำเร็จ มีการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ธุรกิจบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.twenty20.com/photos/91bcfe00-556f-4a52-ad05-f7d95c9b31ab
สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

2.) การจัดองค์การ (Organizing)
การจัดองค์การเกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์กรประกอบด้วย การแบ่งส่วนงานย่อยภายในกิจการให้เป็นหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานให้ชัดเจน และการกำหนดคำบรรยายลักษณะงาน (Job description) เป็นลายลักษณ์อักษร การจัดองค์การเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากการวางแผนและการควบคุมของกิจการขึ้นอยู่กับระดับของโครงสร้างองค์การ (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2555) ดังนั้น ผู้ประกอบการใหม่ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรกำหนดรูปแบบการตัดสินใจและควบคุมว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ (Decentralize) หรือ การรวมอำนาจ (Centralize) กำหนดจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานตามขนาดของกิจการ รวมถึงความรู้ความสามารถของพนักงานให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานภายในองค์การ 

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)
การชี้นำและการจูงใจเกี่ยวข้องกับการมอบหมายงานให้บุคคลนำไปปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งต้องอาศัยการประสานงาน การมอบหมายงานด้วยการสื่อสาร (Communication) ที่ทั่วถึงทั้งองค์การ ผู้ประกอบการใหม่ในฐานะผู้บริหารต้องจัดองค์การ โดยการจัดทำผังองค์การ (Organization chart) ที่ระบุอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตลอดจนสายการบังคับบัญชาและควรมีการจูงใจอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้พนักงานตั้งใจและกระตือรือร้นและเต็มใจทำงานให้แก่องค์การ

4.) การควบคุม (Controlling)
การควบคุมถือเป็นขั้นตอนการดำเนินงานขั้นสุดท้าย เป็นกิจกรรมการติดตามผลและการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้งานบรรลุตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแผนงานจะนำไปปฏิบัติอย่างประสบความสำเร็จ การควบคุมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะบรรลุผลได้นั้นจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการในฐานะผู้บริหาร (Management control) และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน (Operational control) โดยการควบคุมจะมีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน (Performance report) เพื่อประเมินผลโดยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานจริงกับแผนงานที่วางไว้ (เมธสิทธิ์ พูลดี, 2550) 

จากที่กล่าวมา ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการใหม่ในกิจการขนาดใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ก็คือ “หน้าที่การบริหาร” เพื่อนำพาให้องค์การอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตเริ่มต้นจากการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับกำลังคน เงินทุน วัสดุ และการบริหารจัดการ หรือ ที่เรารู้จักในคำว่า “4 M” การจัดองค์การ เพื่อออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์การในการใช้ประโยชน์ในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ การชี้นำและการจูงใจ ในการมอบหมายงานให้บุคลากรนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด และท้ายที่สุดคือ การควบคุม เป็นการติดตามและประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานที่วางไว้ได้นำไปปฏิบัติและประสบผลสำเร็จ

 

เอกสารอ้างอิง 
เมธสิทธิ์  พูลดี. การบัญชีบริหาร. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น, 2550.
ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. การวางแผนและควบคุมทางการบัญชี. กรุงเทพฯ : ทีพีเอ็น เพรส, 2555. 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top