“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 4) “รู้เขา รู้เรา” การสร้างโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

“การชนะทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีการอันวิเศษยิ่ง” และ “หากรู้เขา รู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขารู้แต่เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล” หลาย ๆ ท่านคงไม่คุ้นเคยกับประโยคนี้เท่าใดนัก แต่ถ้าได้ยินคำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” คิดว่าคงจะคุ้นเคยมากกว่า จากประโยคดังกล่าวเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาของซุนวู ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวู ได้ให้ข้อคิดและผู้เขียนได้นำมาเป็นแนวทางสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า ไม่ว่าเราจะกระทำการใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีการเรียนรู้ที่จะรู้จักตนเองและฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจากความเดิมจากตอนที่ 3 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ โดยการทำ SWOT analysis เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใหม่พิจารณาสภาพแวดล้อมภายในองค์การที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน และสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อประเมินโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ขององค์การ ถือเป็นการประเมินการ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อสร้างโอกาสและความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการใหม่

สำหรับผู้ประกอบการใหม่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) คงพิจารณาได้แล้วสำหรับวิธีการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) การก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship) การซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover) หรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) โดยในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการนั้นควรมีการตรวจสอบความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น ความพร้อมด้านตนเองโดยการประเมินคุณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ การยอมรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเลือกประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงการสำรวจฐานะทางการเงินมีเพียงพอเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่

ดังนั้น การบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะการดำเนินธุรกิจ แต่โดยทั่วไปการบริหารงานของผู้ประกอบการจะมีหน้าที่การบริหารงานที่สำคัญเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแนวทางทฤษฎีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ของ Peter F. Drucker (2005) ดังต่อไปนี้

1.) การวางแผน (Planning)

2.) การจัดองค์การ (Organizing)

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)

4.) การควบคุม (Controlling)

ที่มา : https://www.pinterest.com/njbusinessbuild/management/

สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

1.) การวางแผน (Planning) 

การวางแผนถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญขององค์การ โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานหรือควบคุมให้องค์การดำเนินงานในอนาคต ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย (Goal) หรือวัตถุประสงค์ (Objectives) ขององค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การวางแผนจึงเป็นการผสมผสานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในบรรดาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ ประกอบด้วย

1.1.) กำลังคน (Man)
คนงาน พนักงาน หรือบุคลากรภายในและภายนอกองค์กรถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด องค์การจะต้องมีการบริหารกำลังคนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับงานมากที่สุด

1.2.) เงินทุน (Money)
เงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจถือเป็นหัวใจของการบริหารงานในทุกระบบขององค์การ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไม่สามารถดำเนินได้ดีหากขาดเงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและปัจจัยต่าง ๆ ให้ดำเนินการไปได้

1.3.) วัสดุ (Material)
วัสดุ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่ ผลิตภัณฑ์ บริการหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการนำไปใช้ผลิตสินค้าหรือจำหน่าย ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการใช้ในการผลิตและจำหน่าย มีคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนขาย

1.4.) การบริหารจัดการ (Management)
การบริหารจัดการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกระบวนการจัดการบริหารควบคุม เพื่อให้งานทั้งหมดภายในองค์การมีระบบที่ชัดเจนตลอดจนมีระเบียบขั้นตอน วิธีการต่าง ๆ ในการทำงานที่ส่งให้องค์การประสบความสำเร็จ มีการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ธุรกิจบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.twenty20.com/photos/91bcfe00-556f-4a52-ad05-f7d95c9b31ab
สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

2.) การจัดองค์การ (Organizing)
การจัดองค์การเกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์กรประกอบด้วย การแบ่งส่วนงานย่อยภายในกิจการให้เป็นหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานให้ชัดเจน และการกำหนดคำบรรยายลักษณะงาน (Job description) เป็นลายลักษณ์อักษร การจัดองค์การเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากการวางแผนและการควบคุมของกิจการขึ้นอยู่กับระดับของโครงสร้างองค์การ (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2555) ดังนั้น ผู้ประกอบการใหม่ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรกำหนดรูปแบบการตัดสินใจและควบคุมว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ (Decentralize) หรือ การรวมอำนาจ (Centralize) กำหนดจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานตามขนาดของกิจการ รวมถึงความรู้ความสามารถของพนักงานให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานภายในองค์การ 

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)
การชี้นำและการจูงใจเกี่ยวข้องกับการมอบหมายงานให้บุคคลนำไปปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งต้องอาศัยการประสานงาน การมอบหมายงานด้วยการสื่อสาร (Communication) ที่ทั่วถึงทั้งองค์การ ผู้ประกอบการใหม่ในฐานะผู้บริหารต้องจัดองค์การ โดยการจัดทำผังองค์การ (Organization chart) ที่ระบุอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตลอดจนสายการบังคับบัญชาและควรมีการจูงใจอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้พนักงานตั้งใจและกระตือรือร้นและเต็มใจทำงานให้แก่องค์การ

4.) การควบคุม (Controlling)
การควบคุมถือเป็นขั้นตอนการดำเนินงานขั้นสุดท้าย เป็นกิจกรรมการติดตามผลและการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้งานบรรลุตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแผนงานจะนำไปปฏิบัติอย่างประสบความสำเร็จ การควบคุมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะบรรลุผลได้นั้นจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการในฐานะผู้บริหาร (Management control) และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน (Operational control) โดยการควบคุมจะมีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน (Performance report) เพื่อประเมินผลโดยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานจริงกับแผนงานที่วางไว้ (เมธสิทธิ์ พูลดี, 2550) 

จากที่กล่าวมา ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการใหม่ในกิจการขนาดใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ก็คือ “หน้าที่การบริหาร” เพื่อนำพาให้องค์การอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตเริ่มต้นจากการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับกำลังคน เงินทุน วัสดุ และการบริหารจัดการ หรือ ที่เรารู้จักในคำว่า “4 M” การจัดองค์การ เพื่อออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์การในการใช้ประโยชน์ในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ การชี้นำและการจูงใจ ในการมอบหมายงานให้บุคลากรนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด และท้ายที่สุดคือ การควบคุม เป็นการติดตามและประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานที่วางไว้ได้นำไปปฏิบัติและประสบผลสำเร็จ

 

เอกสารอ้างอิง 
เมธสิทธิ์  พูลดี. การบัญชีบริหาร. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น, 2550.
ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. การวางแผนและควบคุมทางการบัญชี. กรุงเทพฯ : ทีพีเอ็น เพรส, 2555. 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9