สวนกระแสโลก!! เมื่ออินเดีย เพาะพันธุ์ 'ยูนิคอร์น' ไล่กวด 'สหรัฐฯ-จีน' ภายใต้ 'คนเก่ง - รัฐเร่ง Go - โควิดหนุน'

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยมีข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นที่กล่าวขวัญและฮือฮาที่สุด นั่นก็คือ กรณีที่กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ชสัญชาติไทยแบบครบวงจรที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักบริษัทในเครือคือ แฟลชเอ็กซ์เพรส (Flash Express) ได้รับเงินระดมทุนล่าสุดซึ่งเป็นการระดมทุนรอบซีรีส์ D+ เป็นเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจแฟลชขึ้นแท่นเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ไต่สู่ระดับ “ยูนิคอร์น (Unicorn)” ด้วยมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีเท่านั้น

แต่ว่าในช่วงไล่เลี่ยกันที่ประเทศอินเดียที่คนส่วนใหญ่อาจจะคาดไม่ถึง ปรากฏว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง กลับมีการแจ้งเกิดของ “ยูนิคอร์น” รายใหม่มากถึง 11 บริษัท ส่งผลทำให้ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 อินเดียมีบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับ “ยูนิคอร์น” รวมทั้งสิ้นจำนวนมากถึง 48 บริษัท มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวน 288 บริษัทและประเทศจีนที่มีจำนวน 133 บริษัท ตามลำดับ


สำหรับผู้ที่รู้จักประเทศอินเดียดีก็จะไม่รู้สึกแปลกใจกับการที่อินเดียติดอันดับ 3 ของโลกที่มีจำนวน “ยูนิคอร์น” มากที่สุดถึง 48 บริษัทและมี “ยูนิคอร์น” เกิดใหม่ถึง 11 บริษัทภายใน 6 เดือนแรกของปี 2564 หรือโดยเฉลี่ยมี “ยูนิคอร์น” เกิดใหม่ในอินเดียเกือบ 2 บริษัทต่อเดือนเลยทีเดียว ซึ่งความสำเร็จนี้ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือได้มาง่าย ๆ เพียงแค่ชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากการทำงานหนักของทั้งภาครัฐและเอกชนของอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของท่านนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) ตั้งแต่ในสมัยแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ  (ปัจจุบันเป็นสมัยที่สอง) ที่มีการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนประเทศอินเดียให้เป็น “อินเดียใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย “Digital India” ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพของประเทศในระยะยาวที่ยั่งยืนรวมทั้งเป็นการสร้างแบรนด์ India ไปทั่วโลกด้วย

สำหรับคำว่า “ยูนิคอร์น” (Unicorn) ซึ่งหมายถึงสัตว์ในตำนานของยุโรปที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนได้เกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป ก็เพราะการที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะสามารถระดมทุนได้สูงขนาดนี้ถือเป็นสิ่งที่ยากมา ถ้าหากทำได้ก็จะกลายเป็น “ตำนาน” เช่นเดียวกับ “ยูนิคอร์น” นั่นเอง ทั้งนี้ ทางฝั่งอินเดียเองก็พบว่ามีสัตว์ประเภทนี้อยู่ในตำนานโบราณของอินเดียด้วยเช่นกัน ซึ่งในภาษาฮินดีซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตจะเรียกสัตว์ในตำนานนี้ว่า “Ekshringa” ซึ่งน่าสนใจมาก ผมเลยสอบถามไปที่กัลยาณมิตรทางด้านอินเดียของผมคือ อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด ผู้เชี่ยวชาญภาษาฮินดี แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Northeastern Hill University ที่เมืองชิลลอง รัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย โดยท่านได้กรุณาให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า คำว่า Ekshringa หรือ “เอกศฤงค์” (อ่านว่า เอก-สะ-ริง) แยกออกได้เป็นคำว่า Eka หรือ “เอกะ” แปลว่า หนึ่ง ส่วนคำว่า Shringa หรือ “ศฤงคะ” แปลว่า เขาสัตว์ เพราะฉะนั้น คำว่า Ekshringa หรือ เอกศฤงค์ จึงแปลว่า “ผู้มีเขาเดียว” นั่นก็คือ “ยูนิคอร์น” นั่นเอง

จากข้อมูลของ India Today ฉบับประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พบว่านอกจากยูนิคอร์นของอินเดียจะมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว ปรากฏว่าธุรกิจสตาร์ทอัพของอินเดียที่เป็น Tech Start-Ups ก็มีจำนวนอยู่ที่อันดับ 3 ของโลกด้วยเช่นกันด้วยจำนวนมากกว่า 12,500 ราย แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ เฉพาะในปี 2563 (ค.ศ. 2020) แค่ปีเดียวซึ่งเป็นปีแห่งวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสที่สุดของทั้งโลกโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย แต่ปรากฏว่าจำนวน Tech Start-Ups ในอินเดียกลับเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,600 รายภายใน 1 ปี สวนกระแสวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าทุกวิกฤติย่อมนำมาซึ่งโอกาสดี ๆ เสมอ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นเติบโตอย่างมากในอินเดียหรือในโลกในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง อย่างบริษัท Razorpay ซึ่งเป็น Payment Gateway ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออย่างบริษัท Swiggy ซึ่งเป็น Food Delivery Platform ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เช่นกัน ปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

นอกจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นในอินเดียแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ของประชากรอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งการพัฒนาความเร็วในการสื่อสารหรือการถ่ายโอนข้อมูล รวมทั้งการเชื่อมต่อของระบบอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจากรายงานของสมาคมอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์เคลื่อนที่แห่งอินเดีย (Internet and Mobile Association of India หรือ IAMAI) เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาพบว่า 43% ของประชากรอินเดียหรือคิดเป็นจำนวนประชากรอินเดียประมาณ 622 ล้านคนเป็นผู้ที่ใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต (Active Internet Users) อยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราการขยายตัวของการใช้อินเตอร์เน็ตในพื้นที่เขตชนบทสูงกว่าพื้นที่ในเขตเมือง ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวเปิดเผยว่าในปี 2563 อัตราการใช้อินเตอร์เน็ตในพื้นที่เขตชนบทของอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 13% ในขณะที่ในพื้นที่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น โดยการใช้งานอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ทั้งในพื้นที่ในเขตชนบทและในพื้นที่ในเขตเมืองจะใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนเป็นหลัก นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาร่วมระหว่าง ICEA (Indian Cellular and Electronics Association) กับบริษัทที่ปรึกษา KPMG เมื่อปีที่แล้วพบว่า ภายในอีก 2 ปีข้างหน้าอินเดียจะมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนจำนวน 820 ล้านคน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดผลดีต่อบรรดาบริษัท Tech Start-Ups และยูนิคอร์นของอินเดียอย่างแน่นอน และจะยิ่งส่งผลให้เกิดบริษัท Tech Start-Ups และยูนิคอร์นในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ Tech Start-Ups และยูนิคอร์นจำนวนมากในอินเดียมิได้เป็นผลมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้นเพราะวิกฤติเป็นเพียงปัจจัยเสริมปลายน้ำ แต่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ การเกิดขึ้นของบริษัททางด้าน Info-Tech ชั้นดีของอินเดียในช่วงทศวรรษที่ 1990 อย่างเช่นบริษัท Infosys และบริษัท TCS (Tata Consultancy Services) เป็นต้น พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Hub) ที่เมืองบังกาลอร์ (หรือเบงกาลูรูในปัจจุบัน) และมาได้พลังเสริมจากนโยบายของรัฐบาลของท่านนเรนทรา โมดีตั้งแต่สมัยแรกที่มีความชัดเจนในเรื่องของดิจิตอล ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของอินเดียที่มีความฝันและความมุ่งมั่นที่จะเป็นยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญสองเหตุการณ์ที่ส่งผลมาถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน โดยจุดเปลี่ยนแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องลดจำนวนพนักงานลงจำนวนมาก โดยในอดีตที่ผ่านมาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เหล่านี้มักจะจ้างคนอินเดียที่เก่ง ๆ และฉลาด ๆ ไปทำงานอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อต้องเลิกการจ้างงานก็เลยทำให้เกิดปรากฏการณ์สมองไหลกลับหรือ Brain Drain ของคนอินเดียที่เก่ง ๆ และฉลาด ๆ เหล่านี้ที่เดินทางกลับไปแสวงหาโอกาสในบ้านเกิด ทำให้เกิดธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกขึ้นที่เมืองบังกาลอร์จำนวนมาก ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันคือ การพัฒนาและขยายระบบอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบันซึ่งส่งผลทำให้เกิดการขยายต้วของธุรกิจสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นในอัตราสูงในปัจจุบัน

            สำหรับยูนิคอร์นของอินเดียจำนวน 48 บริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจด้าน Fintech ด้านบริการซอฟท์แวร์ (Saas: Software as a Service) และ E-Commerce แต่ทั้ง 48 บริษัทมีมูลค่าบริษัทรวมกันสูงถึง 139,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4.47 ล้านล้านบาท

เห็นจำนวนยูนิคอร์นของอินเดียและมูลค่าบริษัทแล้วก็ถึงกับอึ้งกันเลยทีเดียว แต่อินเดียมีเรื่องให้อึ้งมากกว่านี้ ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าจากจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 12,500 บริษัท อินเดียมียูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึง 48 บริษัทมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและจีน แต่อินเดียยังเหนือชั้นกว่านี้อีกเพราะในปัจจุบันอินเดียมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เรียกกันว่า “Decacorn” ถึง 3 บริษัทซึ่งได้แก่ บริษัท PayTM  บริษัท OYO และล่าสุดหมาดๆคือ บริษัท Byju ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพทางด้าน Edtech ชื่อดังของอินเดียที่มีมูลค่าพุ่งขึ้นเป็น 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน 2564 ทำให้ Byju กลายเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

มาถึงจุดนี้ ผมคิดว่าเราคงต้องหันมา “มองอินเดียใหม่” กันแล้วครับ !!