Friday, 3 May 2024
COLUMNIST

‘แผนการ Z’ จุดจบ! ‘กองทัพเรือเยอรมัน’ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (Plan Z : The End of the Kriegsmarine in WWII)

Kriegsmarine คือ กองทัพเรือเยอรมัน ระหว่างปี ค.ศ. 1935-1945 อันเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติ เป็นเหล่าทัพที่สืบทอดมาจากกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมัน และ Reichsmarine ของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) Kriegsmarine เป็นหนึ่งในสามเหล่าทัพเยอรมันควบคู่กับ The Heer (กองทัพบก) และ The Luftwaffe (กองทัพอากาศ) ซึ่งประกอบกันเป็นกองทัพแห่งชาติที่เรียกว่า “แวร์มัคท์” (Wehrmacht) 

ในปี ค.ศ. 1939 “Hitler” ได้สั่งจัดทำแผนการพัฒนาแผนการที่จะจัดหากองเรือผิวน้ำให้กับกองทัพเรือเยอรมันเพื่อแข่งขันกับกองทัพเรือสหราชอาณาจักร เป็นที่รู้จักในชื่อว่า “แผนการ Z” โดยคาดว่า กองทัพเรือเยอรมันจะแข็งแกร่งเต็มที่ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

แผนการ Z กองทัพเรือเยอรมันเห็นว่า ภารกิจหลักของกองทัพฯ คือ การควบคุมทะเลบอลติก และเอาชนะกองทัพเรือฝรั่งเศสในสงคราม เพราะฝรั่งเศสถูกมองว่า เป็นศัตรูที่มีศักยภาพมากที่สุดหากเกิดสงครามขึ้น แต่ในปี ค.ศ. 1938 Hitler ต้องการที่จะชนะกองทัพเรือสหราชอาณาจักรในสงครามทางทะเลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นเขาจึงสั่งให้จัดทำแผนการพัฒนาสำหรับกองทัพเรือเยอรมัน จากแผนการที่เสนอทั้งสาม (X, Y และ Z) 

“Hitler” ได้อนุมัติแผนการ Z ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1939 แผนการ Z จะเป็นโครงการสร้างกองทัพเรือของเยอรมันใหม่ คาดว่าจะสร้างเรือรบประมาณ 800 ลำในช่วงปี ค.ศ. 1939-1947 ซึ่ง Hitler ต้องการให้โครงการตามแผนการนี้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 1945 

กำลังหลักของแผน Z คือเรือประจัญบาน ชั้น H จำนวน 6 ลำ ตามแผนการ Z ที่ร่างขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 กองเรือเยอรมันได้รับการวางแผนภายในปี ค.ศ. 1945 ให้มีเรือรบประเภทและจำนวนต่อไปนี้

เรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ
เรือประจัญบาน 10 ลำ
เรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ 15 ลำ (Panzerschiffe)
เรือลาดตระเวน 3 ลำ
เรือลาดตระเวนหนัก 5 ลำ
เรือลาดตระเวนเบา 44 ลำ
เรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโด 158 ลำ
เรือดำน้ำ 249 ลำ
เรือรบขนาดเล็กอีกจำนวนมาก
แผนการเพิ่มกำลังพลอีกกว่า 200,000 นาย

เรือประจัญบาน Tirpitz คุ้มกันโดยเรือพิฆาตหลายลำ ใน Bogenfjord ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1942

โครงการสร้างกองทัพเรือของเยอรมันใหม่ที่วางแผนไว้กลับไม่ก้าวหน้ามากนัก เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น ในปี ค.ศ. 1939 ความแข็งแกร่งของกองเรือเยอรมันในช่วงเริ่มต้นของสงครามนั้นไม่ถึง 20% ที่ได้กำหนดไว้ตามแผนการ Z เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 กองทัพเรือเยอรมันยังคงมีกำลังพลรวมเพียง 78,000 นาย และไม่พร้อมสำหรับบทบาทสำคัญในสงคราม 

เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการทำให้กองเรือรบตามแผนการ Z พร้อมสำหรับการดำเนินการ ทั้งยังขาดแคลนแรงงานและวัสดุในยามสงคราม แผนการ Z ถูกระงับในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 และทรัพยากรที่จัดสรรสำหรับการแผนการนี้ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนไปสร้าง เรือดำน้ำ U-Boat ซึ่งพร้อมสำหรับการทำสงครามทางเรือกับสหราชอาณาจักรได้รวดเร็วกว่า เยอรมนีเข้าสู่สงครามด้วยเรือลาดตระเวนและเรือประจัญบานสมัยใหม่ประมาณ 16 ลำ และเรือพิฆาตอีก 20 ลำ เมื่อเยอรมนีบุกนอร์เวย์ในต้นปี ค.ศ.1940 กองทัพเรือเยอรมันเสียเรือลาดตระเวนเบาสองลำ และเรือพิฆาตอีกสิบลำ เรือรบอีกสองลำทำการโจมตีเรือลำเลียงแบบยิงแล้วหนี แต่กลับถูกตามล่า และทำลายโดยกองเรือสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีความเสียหายกับเรือรบลำอื่น ๆ อีกด้วย

เรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมัน

กองทัพเรือเยอรมัน กลับมุ่งความสนใจไปที่เรือดำน้ำแทนเนื่องจากการผลิตเรือดำน้ำเหล่านี้ถูกและเร็วกว่า ทั้งสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับได้ ดังนั้นจึงมีความได้เปรียบในการรบ ในขณะที่เรือดำน้ำสามารถตัดการลำเลียงขนส่งทางทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างได้ผล แต่เรือประจัญบานและเรือลาดตระเวนของเยอรมันส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้จอดอยู่ตามท่าเรือต่าง ๆ 

วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1942 เรือดำน้ำของเยอรมันตรวจพบขบวนเรือลำเลียงขนาดใหญ่ของสัมพันธมิตร ที่ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงที่จำเป็นอย่างยิ่งให้กับกองทัพโซเวียต ฝ่ายเยอรมันวางแผนที่จะโจมตีขบวนเรือดังกล่าวโดยใช้ส่วนหนึ่งของกองเรือดำน้ำเพื่อล่อให้เรือคุ้มกันเข้าสู่การรบ ในขณะที่ขบวนเรือลำเลียงจะมุ่งตรงไปยังกองเรือดำน้ำที่เหลือของเยอรมัน

U-459 เรือดำน้ำสนับสนุนแบบ XIV (รู้จักกันในชื่อ “Milch cow (วัวนม)”) จมลงหลังจากถูกโจมตีโดยเรือหลวง Vickers Wellington

แม้ว่าแผนการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในการแยกขบวนเรือของอังกฤษ แต่ด้วยทัศนวิสัยไม่ดีและคำสั่งจาก Hitler ให้หลบหนีเมื่อฝ่ายศัตรูมีจำนวนที่มากกว่านั้นนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของเยอรมัน กองเรือลำเลียงของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมดไปถึงรัสเซียโดยที่อาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงที่จำเป็นไม่เสียหาย เนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาด Hitler จึงได้รับแจ้งว่ากองทัพเรือเยอรมันประสบความสำเร็จในการโจมตีขบวนเรือดังกล่าว Hitler จึงได้ปราศรัยในโอกาสวันปีใหม่ทางวิทยุโดยประกาศว่า ขบวนเรือลำเลียงของอังกฤษถูกทำลายอย่างเสร็จสมบูรณ์ 

‘อ้วน’ ไม่หนักหัวใคร…แต่เสี่ยงภัยโควิด!!

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อและเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่มักจะมี “โรคอ้วน” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีรายงานว่า คนอ้วนมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลจากการติดเชื้อได้มากกว่าคนผอมถึงร้อยละ 113 นอกจากนี้คนอ้วนยังมีอัตราการเข้ารับการรักษาใน ICU สูงกว่าคนผอมถึงร้อยละ 74 และคนอ้วนพบอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่าคนผอมถึงร้อยละ 48

ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถิติชี้ว่าประเทศไทยมีประชากรที่เป็น “โรคอ้วน” เป็นอันดับสอง รองจากประเทศมาเลเซีย โดยในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนประชากรคนอ้วนสูงถึงร้อยละ 35 คิดเป็นเพศหญิงร้อยละ 38 และเพศชายร้อยละ 31 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเด็กและวัยรุ่นไทยเป็นโรคอ้วน เพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม อายุ ฮอร์โมน โรคประจำตัวและยาที่รับประทาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การ work from home เป็นระยะเวลานาน พฤติกรรม การรับประทานอาหาร การทำกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ความเครียด การนอนหลับ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ ประสบการณ์ และสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

>> โรคอ้วน หรือ ภาวะน้ำหนักเกิน คืออะไร?
ภาวะที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ากำหนดเมื่อเปรียบเทียบกับความสูง โดยการคำนวณ ดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) โดยนำน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยความสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร2) เช่น น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ความสูง 165 เซนติเมตร จะได้ BMI = 65 / (1.65 x 1.65) = 23.9 kg/m2 

โดยค่า BMI ปกติอยู่ระหว่าง 18.5-24.9 kg/m2 หาก BMI น้อยกว่า 18.5 kg/m2 ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ หาก BMI ระหว่าง 25-29.9 kg/m2 ถือว่าน้ำหนักเกิน แต่หาก BMI มากกว่า 30 kg/m2 ขึ้นไปถือว่าเป็นโรคอ้วน

นอกจากนี้การวัดเส้นรอบเอว (ระดับสะดือ) สามารถประเมินภาวะอ้วนลงพุงหรือความเสี่ยงต่อไขมันในช่องท้องมากเกินไป โดยเพศชายควรมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และเพศหญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร หากเส้นรอบเอวมากเกินกว่าค่าดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ สูงขึ้นเช่นกัน

>> โรคอ้วนกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง ไขมันภายในช่องท้องจะดันกล้ามเนื้อกะบังลมขึ้นไปในทรวงอกมากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อกะบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาตรของอากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง กล้ามเนื้อหายใจต้องออกแรงเพิ่มมากขึ้น การแลกเปลี่ยนของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง หลอดลมตีบแคบ ถุงลมของปอดส่วนล่างอาจแฟบ เกิดภาวะออกซิเจนต่ำโดยเฉพาะเวลานอนหงาย

นอกจากนี้ไขมันยังส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลงและมีการอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น เมื่อคนอ้วนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวในระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เกิดการอักเสบของปอดมากขึ้น พบการทำลายของเนื้อปอดมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เนื่องจากความจุของปอดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจลดลง เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ 

‘Project Bojinka’ แผนสังหาร! ‘พระสันตะปาปา’ และระเบิดเครื่องบินโดยสาร 11 ลำ

6 มกราคม พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) เกิดเหตุเพลิงไหม้ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ นำไปสู่การค้นพบแผนการก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า “Project Bojinka” ซึ่งถือเป็นแผนการที่ทดลองซ้อมการก่อเหตุ ก่อนเหตุวินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544

Project Bojinka เป็นแผนสังหารพระสันตะปาปา John Pal ที่ 2 พร้อมกับสร้างความตื่นกลัวให้ธุรกิจการบินทั่วโลกด้วยการระเบิดเครื่องบินโดยสารที่เดินทางระหว่างเอเชียและสหรัฐฯ พร้อมกันถึง 11 ลำ และขั้นตอนสุดท้ายของแผนนี้คือ การส่งเครื่องบินเล็กพร้อมระเบิดเต็มลำถล่มสำนักงานใหญ่ CIA โดยกลุ่ม Al Qaeda ที่ Bin Laden เป็นผู้นำ

พระสันตะปาปา John Pal ที่ 2 ขณะเสด็จเยือนกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งแรก เมื่อ ค.ศ.1981 ซึ่งขณะนั้นอดีตประธานาธิบดี Ferdinand Marcos ยังอยู่ในอำนาจ

พระสันตะปาปา John Pal ที่ 2 ขณะเสด็จเยือนกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งที่สอง เมื่อ ค.ศ.1995 อดีตประธานาธิบดี Fidel V. Ramos (ประธานาธิบดีในขณะนั้น) เชิญเสด็จตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ

>> 1.) แผนสังหารพระสันตะปาปา John Pal ที่ 2 ซึ่งผู้ก่อการวางแผนจะสังหารพระสันตะปาปา ขณะเสด็จเยือนกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2538 (ค.ศ.1995)

>> 2.) ระเบิดเครื่องบินโดยสารที่เดินทางระหว่างเอเชียและสหรัฐฯ พร้อมกัน 11 ลำ เพื่อสร้างความตื่นกลัวและผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงแก่ธุรกิจการบินทั่วโลก (ประมาณการว่า หากทำการสำเร็จยอดผู้เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ราว 4,000 คน) ประกอบด้วย

- เที่ยวบินจากกรุงโตเกียวไปสหรัฐฯ จำนวน 4 เที่ยวบิน 
- เที่ยวบินจากกรุงโซลไปสหรัฐฯ จำนวน 1 เที่ยวบิน 
- เที่ยวบินจากกรุงไทเปไปสหรัฐฯ จำนวน 3 เที่ยวบิน 
- เที่ยวบินจากกรุงไทเปไปกรุงเทพฯ และต่อไปสหรัฐฯ จำนวน 1 เที่ยวบิน 
- เที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปสหรัฐฯ จำนวน 1 เที่ยวบิน
- เที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปสหรัฐฯ จำนวน 1 เที่ยวบิน

** สำนักงานใหญ่ CIA Fairfax County มลรัฐ Verginia

>> 3.) ส่งเครื่องบินพร้อมระเบิดเต็มลำถล่มสำนักงานใหญ่ CIA

Project Bojinka เป็นแผนที่ผู้ช่วยคนสำคัญของ บิน ลาเดน คือ รัมซี ยูเซฟ และคาลิก ชีค โมฮัมเหม็ด ร่วมกันคิดและก่อการ แต่ผลของแผนการนี้คือ การทดสอบโดย รัมซี ยูเซฟ เอง ซึ่งทำให้เกิดไฟไหม้ในเที่ยวบิน 434 ของ Philippine Airlines ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 10 ราย โดย รัมซี ยูเซฟ เดินทางโดยเที่ยวบินในประเทศจาก มะนิลา ไป เซบู ซ่อนระเบิดในกระเป๋าเครื่องใช้ส่วนตัว แบตเตอรี่ และตัวจุดชนวนในส้นรองเท้า และใช้นาฬิกาข้อมือดิจิทัลซึ่งตั้งเวลาไว้ 4 ชั่วโมง เป็นตัวจุดชนวน ก่อนจะซ่อนไว้ในเสื้อชูชีพใต้ที่นั่งหมายเลข 26K หลังจากเครื่องลงจอดที่สนามบินเซบู และ รัมซี ยูเซฟ ออกจากเครื่องบินแล้ว นักธุรกิจเกี่ยวกับจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมชาวญี่ปุ่น ฮารุกิ อาเมกามิ (Haruki Ikegami) อายุ 24 ปีก็เข้ามานั่งแทนที่ ซึ่งเครื่องบินเกิดความล่าช้าราว 38 นาที แล้วจึงออกบินไปยังกรุงโตเกียว 

การระเบิดทำให้ ฮารุกิ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่กี่นาที ผู้โดยสารในที่นั่งใกล้เคียงบาดเจ็บ 10 คน แต่กัปตัน Eduardo "Ed" Reyes นักบินสามารถนำเครื่องลงฉุกเฉินที่สนามบินนาฮา เกาะโอกินาวา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดระเบิดไปทางตะวันตกราว 74 กิโลเมตรได้อย่างปลอดภัย

สภาพห้องโดยสารหลังเกิดเหตุระเบิดในเหตุการณ์ดังกล่าว

เครื่องบิน Boeing 747-200 ลำดังกล่าวของ Philippine Airlines

กัปตัน Eduardo "Ed" Reyes นักบินผู้สามารถนำเครื่องลงได้อย่างปลอดภัย

แผนการของยูซุฟคือ ทำระเบิดด้วยการบรรจุ Nitroglycerin ลงในขวดน้ำยาล้าง Contact Len จำนวน 14 ขวด (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุกสายการบินห้ามนำขวดบรรจุน้ำหรือของเหลวขึ้นเครื่องจนทุกวันนี้) ส่วนผสมอื่น ๆ ได้แก่ nitrate, sulfuric acid, และ nitrobenzene, silver azide (silver trinitride), และ acetone เหลว 9-volt batteries 2 ก้อนในระเบิดแต่ละลูกเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ใช้นาฬิกาดิจิทัลเป็นตัวตั้งเวลาจุดระเบิด

สำหรับการลอบสังหารพระสันตะปาปา John Pal ที่ 2 ขณะเสด็จเยือนกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งที่สอง แผนคือ ให้มือระเบิดฆ่าตัวตายแต่งตัวเป็นพระคาทอลิก เมื่อสบโอกาสอยู่ใกล้พระสันตะปาปาก็กดระเบิดทันที โดยยูซุฟฝึกมือระเบิดไว้ราว 20 คน

ส่วนการส่งเครื่องบินเล็กพร้อมระเบิดเต็มลำถล่มสำนักงานใหญ่ CIA นั้น มีแผนที่จะซื้อหรือจี้เครื่องบินเล็กโดยเฉพาะแบบ Cessna เพื่อบรรทุกระเบิดเต็มลำเพื่อใช้บินโจมตีสำนักงานใหญ่ CIA ด้วยนักบินพลีชีพที่ได้รับการฝึกในมลรัฐ North Carolina 
 

‘เหมา’ สู่ ‘สี’ ตำนานบทใหม่ที่ไม่เทียบเท่า แต่ยิ่งใหญ่กว่า!! 

หากมองการเมืองโลก และสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน คงมิพ้นต้องกล่าวถึงการคัดค้านกันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลยุทธ์การเดินเกมของทั้งสองชาติในระยะหลังนั้นเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางฝ่ายจีน

ต้องยอมรับว่าตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกตั้งคำถามกับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาโดยรัฐบาลจีน ภายใต้นโยบาย 共同富裕 (ก้งถงฟู่ยวี่) ของจีน ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ (Socio-Economic Reform) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Common Prosperity” หรือคำที่ใกล้เคียงในภาษาไทยก็คือ “ความเจริญถ้วนหน้า” กล่าวคือ เป็นความเจริญที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั่นเอง

การบังคับใช้ในหลายมาตรการเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นการ “หักดิบ” ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิในการเล่นเกมออนไลน์ของเด็ก ๆ และวัยรุ่น ไปจนถึงการออกคำสั่งควบคุมการดำเนินกิจการของโรงเรียนกวดวิชา การออกกฎเกณฑ์ห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.2 มีการจัดสอบข้อเขียน รวมทั้งบรรจุกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นทักษะทางสังคมและกีฬาเพิ่มเติม สำหรับเหล่าแฟนคลับดารา นักแสดง และคนดังทั้งหลาย พวกเขาถูกจำกัดสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการของดาราที่ตนเองชื่นชอบ เนื่องจากทางการมองว่าไม่ควรเสียเงินใช้จ่ายกับ “เรื่องพวกนี้” มากจนเกินไป ทั้งยังมีการสั่งแบนดารา นักร้อง และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีพฤติกรรมทางสังคมไม่เหมาะสม (ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่าไม่เหมาะสม)

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการสั่งห้ามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การห้ามกิจการขนาดยักษ์ทำกิจกรรมทางธุรกิจบางอย่าง หรือการออกมารวมกลุ่มของบริษัทขนาดยักษ์ของจีนเพื่อสร้างกองทุนเพื่อการพัฒนาและลดความยากจนของประชาชน 

ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนอย่าง ‘สี จิ้นผิง’ กำลังนำประเทศกลับสู่ยุคของการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในยุคของ ‘เหมา เจ๋อตง’ อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และประธานาธิบดีคนแรกหลังจากที่จีนเปลี่ยนมาปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์

สื่อมากมายประโคมข่าวยกระดับและเปรียบเทียบ สี จิ้นผิง เทียบเท่ากับ เหมา เจ๋อตง ในยุคหลังปฏิวัติคอมมิวนิสต์ปี 1949 ที่มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ควบคุมและปกครองแบบแยกตัว (isolate) จากโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้วิกฤตกาลโควิด-19 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทางการจีนยังไม่มีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักศึกษาต่างชาติเข้าประเทศ

สำหรับแง่มุมทางการเมือง จีนได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านอย่างแข็งกร้าว ไม่ยินยอมให้ผู้นำจากโลกตะวันตกใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” และคำว่า “สิทธิมนุษยชน” เข้ามาแทรกแซงการปกครองภายในประเทศจีน ไม่สนใจคำวิจารณ์ต่าง ๆ และแม้ว่าจะมีการคว่ำบาตรจากทั่วโลกอย่างไร แต่ทางการจีนก็แสดงให้เห็น ว่าประเทศจีนเพียงลำพัง ก็สามารถอยู่ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องง้อโลกตะวันตก

นี่ยังไม่นับเรื่อง “มติครั้งประวัติศาสตร์” ที่จะทำให้ สี จิ้นผิง สามารถเป็นประธานาธิบดีไปเรื่อย ๆ ได้จนกว่าจะสิ้นชีพ นับว่าเป็นครั้งที่ 3 นับแต่มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยครั้งแรกมีขึ้นในยุคของประธานเหมา และครั้งที่ 2 มีขึ้นในยุคของนายเติ้ง เสี่ยวผิง

ผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์และการเมืองจีนหลายคนคงจะเห็นตรงกันว่า สถานภาพทางอำนาจของนายสี จิ้นผิงในวันนี้ใกล้เคียงกับ เหมา เจ๋อตง เข้าไปทุกที

หากถามตัวผมว่าประธานสี แตกต่างจากประธานเหมาหรือไม่ สำหรับผม ผมว่ายังมีความต่างอยู่บ้าง เพราะหากย้อนกลับไปในยุคประธานเหมา ก็คงต้องพูดถึงผลงานโดดเด่น (ในด้านที่ไม่ดี) ของประธานเหมา ทั้ง “The Great Leap Forward” การสร้างลัทธิบูชาบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วย “ยุวชนแดง” (Red Guard) และการตีพิมพ์ “หนังสือปกแดงเล่มเล็ก” (Little Red Book) ใช่ ช่วงเวลาของการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งคร่าชีวิตชาวจีนไปมากกว่า 30 ล้านชีวิต

หนังสือปกแดงเล่มเล็ก (Little Red Book)

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การปกครองที่เป็นลัทธิบูชาบุคคล (Cult of Personality) ซึ่งลัทธิบูชาประธานเหมานั้น หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไอเดียของประธานเหมาเพียงลำพัง แต่มีกลุ่มผู้ที่ส่งเสริม ยุยง และสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือ “แก๊ง 4 คน / แก๊งออฟโฟร์” (Gang of Four) นำโดย เจียงชิง (江青) ภรรยาของประธานเหมา และ หลินเปียว (林彪) ผู้มีส่วนสำคัญในชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์

ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น คำว่า “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เป็นเพียงแค่แนวคิดและแบบแผนของประธานเหมาในการจะนำสังคมจีนไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ก้าวหน้าสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็คือการ Reset ประเทศใหม่แบบหักดิบ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามภาพประเทศในฝันของเหล่าผู้นำพรรค

ท้ายที่สุด การประกาศปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นได้กลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของทั้งตัวประธานเหมาเอง รวมไปถึงแก๊งออฟโฟร์ ส่งผลให้ผู้มีความสามารถ นักการเมือง ปัญญาชน และนายทุนมากมายที่ไม่ได้ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ต้องถูกกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยกลไกที่มียุวชนแดงในการขับเคลื่อน และเนื้อหาของกฎเกณฑ์ในหนังสือปกแดงเล่มเล็ก ส่งผลให้ประเทศจีนเสียหายอย่างหนักหน่วง

หากจะกล่าวว่า สี จิ้นผิง กำลังจะกลายร่างกลายเป็น เหมา เจ๋อตง นั้น ตัวผมมองว่าคงจะเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนภายใต้ สี จิ้นผิง กำลังขับเคลื่อนประเทศด้วยการปฏิรูป ที่หลายคนมองว่าคือการปฏิวัติวัฒนธรรมภาค 2 แต่ในอีกมุมหนึ่ง จีนกำลังพิสูจน์ และแสดงให้โลกเห็นเป็นตัวอย่างว่าความศิวิไลซ์ (civilization) ไม่จำเป็นต้องเจริญแบบตะวันตก (westernization) แต่เพียงอย่างเดียว ประเทศไหน ๆ ก็สามารถเติบโตในแบบของตัวเองได้

นับตั้งแต่หมดยุคประธานเหมา เข้าสู่ยุคผู้นำ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายที่แตกต่างออกไปโดยลดความเป็นคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เปิดใจค้าขายกับต่างชาติอย่างเสรีมากขึ้น มีการใช้ระบบตลาดแบบทุนนิยม ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก จนถึงยุคสมัยของประธานสี ที่มีการใช้นโยบายขยายการแลกเปลี่ยนทางการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมด้วยการใช้ Soft Power ภายใต้นโยบาย “หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ซึ่งปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การเป็นประเทศด้อยพัฒนาของจีน นักวิเคราะห์ทั่วโลกถึงกับเห็นตรงกันว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกใหม่

ในตอนนั้นเอง ที่คำว่า “สงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกา” ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็น “สงครามเทคโนโลยี” บ้างก็ว่าเป็น “สงครามความมั่นคง” ซึ่งจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ โดยภาพรวมแล้วมันคือความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาในการช่วงชิงการเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก

ในช่วงหลังมานี้ ฝ่ายจีนได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ดุดันยิ่งขึ้นโดยหันมาเดินเกมด้วย Hard Power ในการจัดระเบียบภายในประเทศด้วยนโยบาย Common Prosperity และในขณะเดียวกัน ก็จัดการกับเสี้ยนหนามทางการเมืองที่จีนมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายสหรัฐฯ ในการทิ่มแทงจีนจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน หรือฮ่องกง ซึ่งนอกเหนือจากสองเกาะนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ยังรวบรวมพันธมิตรจากทั่วโลก ทั้งในโซนยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการกดดันประเทศจีน โดยใช้ประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง ซึ่งล่าสุดก็มีประเด็นร้อนไปเมื่อ ‘โจ ไบเดน’ จัดการประชุม “ซัมมิตประชาธิปไตย” (Summit for Democracy) โดยไม่มีจีนอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกรับเชิญ

‘อินเดีย’ ยืนหนึ่ง!! ประเทศให้บริการ “Outsourcing Call Centers” ดีที่สุดในโลก!! 

ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์และการแชตกลายเป็นเรื่องจำเป็นของบริษัทธุรกิจชั้นนำของโลก หมายเลขติดต่อโทรแบบลูกค้าไม่เสียเงิน (Call free) และการตอบ Chat สำหรับลูกค้ากลายเป็นเรื่องของการแข่งขันที่สำคัญและจำเป็นในโลกธุรกิจปัจจุบัน

บ้านเราก็เช่นเดียวกัน โชคดีที่ทุกจังหวัดของบ้านเราอยู่ในเขตเวลา (Time zone) เดียวกัน แต่ในประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นทวีปเหมือนสหรัฐฯ ทำให้มีเขตเวลา (Time zone) ต่างกันถึง 3 เขต เวลาเริ่มธุรกิจจึงแตกต่างกัน กอปรกับค่าแรงในสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง ทั้งมีสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่แข็งแกร่ง จึงทำให้เกิดบริษัทในอินเดียที่ให้บริการ Outsourcing Call Centers สำหรับลูกค้าของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยเบอร์โทรหรือ Chat ของบริษัทต่าง ๆ ที่บริษัท Outsourcing ในอินเดียรับงาน จะถูกโอนการติดต่อมายังพนักงานของบริษัท Outsourcing ในอินเดียโดยอัตโนมัติ

บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมักเลือกใช้บริการ Outsourcing Call Centers ในอินเดียมากกว่า เมื่อเทียบกับการจ้างบริษัท Outsourcing Call Centers ใน จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อินเดียเป็นสถานที่ Outsourcing Call Centers เป็นเลิศมาโดยตลอด เนื่องจากศูนย์บริการในอินเดียมีข้อได้เปรียบมากมายที่ประเทศอื่นไม่มี ทุกวันนี้การใช้บริการศูนย์บริการ Outsourcing Call Centers ในอินเดียได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับบริษัทระดับโลกหลายแห่ง องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็กำลังจัดตั้งศูนย์บริการทางโทรศัพท์ในอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีพนักงานที่มีคุณภาพจำนวนมาก และยังสามารถให้บริการ Outsourcing Call Centers ที่คุ้มค่าใช้จ่ายได้อีก ด้วยเหตุผลทางธุรกิจดังต่อไปนี้

>> ทำไมต้องใช้บริษัทในอินเดียเป็น Outsourcing Call Centers? ด้วยพนักงานชาวอินเดียจำนวนมาก และมีการศึกษา มีความชำนาญ และสันทัดในการใช้ภาษาอังกฤษ ศูนย์บริการ Outsourcing Call Centers ในอินเดียมีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรองความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีความรู้ด้าน IT ได้รับการฝึกอบรม มีทักษะและประสบการณ์มากที่สุด อินเดียมีประชากรที่พูดภาษาอังกฤษมากที่สุดรองจากสหรัฐอเมริกา ตลาดแรงงานที่มีขนาดใหญ่และพื้นฐานการศึกษาที่ดีของอินเดียเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบหลักเหนือประเทศอื่น ๆ อินเดียจะมีจำนวนแรงงานที่มีการศึกษาดี ซึ่งมีจำนวนที่มากตลอดไป เนื่องจากอินเดียมีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอุตสาหกรรมด้านการฝึกอบรมที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากด้วย

>> พนักงานจำนวนมากของอินเดียเต็มใจที่จะทำงานในราคาที่ถูกกว่า ในการดำเนินงานของศูนย์บริการ Outsourcing Call Centers โดยทั่วไปค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 55 ถึง 60% ของต้นทุนทั้งหมด สำหรับอินเดียแล้วมีต้นทุนค่าแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ

>> มีบริการ Outsourcing Call Centers เฉพาะทาง บริษัทฯ ที่ให้บริการลักษณะนี้ ในอินเดียมีประสบการณ์ในการให้บริการ Outsourcing Call Centers เช่น บริการ Call Centers เรียกเข้า บริการการตลาดทางโทรศัพท์ บริการสนับสนุนด้านเทคนิค บริการกู้คืนข้อมูลหลังภัยพิบัติ บริการสนับสนุน E-mail และบริการสนับสนุนการ Chat เป็นต้น

‘Metaverse’ เทคโนโลยีที่ทำให้ความฝัน...กลายเป็นจริง!! 

เมื่อไม่นานมานี้หลาย ๆ ท่านคงได้ยินคำศัพท์ที่เป็นกระแสฮิตในโลกโซเชียลมีเดีย นั่นก็คือคำว่า “Metaverse” (เมตาเวิร์ส) กันครับ สำหรับวันนี้จะพาทุกท่านมาพบกับเรื่องราวของ Metaverse ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างเรื่องราวต่าง ๆ จากความฝันหรือจินตนาการให้กลายเป็นจริงได้ 

เทคโนโลยี Metaverse คือแนวคิดในการสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้าด้วยกัน จนผสมผสานกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลายเป็นชุมชนแห่งโลกเสมือนจริง ที่สามารถสร้างวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมที่มีอยู่จริงให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวกับสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่สร้างขึ้นมา จนทำให้เหมือนว่าเราได้ออกไปใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมภายนอก และสร้างกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเดินทางไปยังสถานที่ที่เราไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสไป ได้แก่ เดินทางท่องเที่ยวอวกาศ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นจินตนาการ หรือการดูคอนเสิร์ต เป็นต้น 

โดยลักษณะความรู้สึกจะเสมือนกับว่าเราอยู่ในสถานที่แห่งนั้นจริง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจกำลังทำกิจกรรมทั้งหมดอยู่ภายในบ้านของตัวเอง ทั้งนี้ ถ้าใครเคยเข้าไปดูหนัง 4 มิติในโรงหนังขนาดใหญ่ก็อาจจะเคยได้สัมผัสเทคโนโลยี Metaverse กันบ้างแล้ว นั่นคือในขณะที่เรากำลังนั่งดูหนังอยู่ในโรงหนัง ลักษณะความรู้สึกจะเหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ

คำว่า Metaverse มีที่มาจากนวนิยายในแนว Sci-Fi เรื่อง “Snow Crash” ซึ่งลักษณะเนื้อหาของนิยายจะเป็นการพูดถึงโลกอีกใบหนึ่ง ที่ให้ผู้คนได้เข้ามามีกิจกรรม หรือปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นผ่านการจำลองเป็นตัวละครต่าง ๆ (Avatar) เมื่อเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามแต่ละยุค จนถึงปัจจุบันเป็นยุค 5G ก็ได้มีการพัฒนารายละเอียดเทคโนโลยี Metaverse เพิ่มขึ้นมาด้วย

นวนิยายเรื่อง “Snow Crash”

ขอบเขตของ Metaverse จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่โลก หรือจักรวาลแห่งหนึ่ง แต่เป็นอะไรก็ได้ ที่เกิดจากเทคโนโลยีและช่วยเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถสื่อสารและทำกิจกรรมกันได้ โดยคำว่า Metaverse เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นหลังจาก “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “Meta” โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องโลกดิจิทัล ที่ผู้คนสามารถโต้ตอบและใช้พื้นที่เสมือนจริงร่วมกันได้ ทำให้เทคโนโลยี Metaverse เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น 

วีรกรรม!! เรือ PT-109 ของเรือโท ‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีคนที่ 35 แห่งสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำนวน 46 คน จนถึงประธานาธิบดี “Joe Biden” ผ่านการเป็นทหารถึง 33 คน เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 12 คน และ 8 คนร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 สังกัดกองทัพเรือ 6 นาย (John F. Kennedy, Lyndon B. Johnson, Richard Nixon, Gerald Ford, Jimmy Carter และ George H. W. Bush) และกองทัพบก 2 นาย (Dwight D. Eisenhower และ Ronald Reagan)

เรือโท “Kennedy”

ประธานาธิบดี “Kennedy” ไม่สามารถผ่านการฝึกในโรงเรียนนายทหารของกองทัพบก ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ (จากอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง) วันที่ 24 กันยายน 1941 ด้วยความช่วยเหลือของนาวาเอก Allan Goodrich Kirk ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรอง กองทัพเรือ (the Office of Naval Intelligence : ONI) และผู้ซึ่งเป็นทูตทหารเรือในขณะที่ “Joseph Kennedy” บิดาของประธานาธิบดี “Kennedy” เป็นเอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักร โดยแพทย์เอกชนได้รับรองสุขภาพของประธานาธิบดี “Kennedy” ว่า มีสุขภาพปกติดี จนสามารถเข้าร่วมกองกำลังสำรอง สังกัดกองทัพเรือ โดยได้รับการบรรจุเป็นเรือตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1941

Inga Arvad นักข่าวสาวชาวเดนมาร์ก ผู้ที่เป็นข่าวกับประธานาธิบดี “Kennedy”

งานในกองทัพเรือของประธานาธิบดี “Kennedy” เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคมปี 1941 เป็นเรือตรีทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงานข่าวกรอง กองทัพเรือ ฐานทัพเรือ Pearl Harbor และต่อมาถูกย้ายไปยัง South Carolina เดือนมกราคม 1943 เพราะข่าวความสัมพันธ์กับนักข่าวสาวชาวเดนมาร์ก Inga Arvad ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1942 เรือตรี “Kennedy” เข้ารับการฝึกที่โรงเรียนนายทหารกำลังสำรอง กองทัพเรือ ในนครชิคาโก

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกในวันที่ 27 กันยายน เรือตรี “Kennedy” เข้ารับการฝึกต่อที่ศูนย์ฝึกกองเรือยนต์ตอร์ปิโด (PT) ในเมือง Melville มลรัฐ Rhode Island ซึ่งเขาได้รับการเลื่อนยศให้เป็นเรือโท หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 1942 “Joseph Kennedy” ผู้เป็นบิดาได้พบกับ (อย่างไม่เปิดเผย) นาวาตรี “John Bulkeley” (อดีตผบ.หมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 3 ผู้พาพลเอก Douglas MacArthur และครอบครัวออกจากเกาะ Corregidor ไปยังมินดาเนา) ผบ.กองเรือยนต์ตอร์ปิโด ที่โรงแรมพลาซ่า นครนิวยอร์ก เพื่อขอให้ช่วยเรือโท “Kennedy” ได้เป็นผบ.เรือ PT  

เรือ PT  

อย่างไรก็ตามนาวาโท “Bulkeley” กล่าวว่า จะไม่เสนอเรือโท “Kennedy” ให้ได้เข้ารับการฝึกกับเรือ PT หากไม่มั่นใจว่า เรือโท “Kennedy” มีคุณสมบัติที่จะเป็นผบ. PT ในการสัมภาษณ์เรือโท “Kennedy” นาวาตรี “Bulkeley” รู้สึกประทับใจใน รูปร่าง หน้าตา ทักษะการสื่อสาร ผลการเรียนที่ Harvard และรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันเรือเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สมาชิกทีมเรือใบของ Harvard การอ้างเกินจริงของนาวาตรี “Bulkeley” เกี่ยวกับศักยภาพของเรือ PT ในการสู้รบกับเรือขนาดใหญ่ ทำให้เขาสามารถรับสมัครผู้มีความสามารถระดับสูง และสามารถยกระดับพันธบัตรสงคราม และสร้างความมั่นใจในหมู่ผู้บัญชาการกองเรือที่ยังเห็นด้วยกับการใช้เรือ PT สู้รบกับเรือรบที่มีขนาดใหญ่กว่า 

แต่ในหมู่นายทหารจำนวนมากของกองทัพเรือต่างก็รู้ความจริงที่นาวาตรี “Bulkeley” อ้างว่า เรือ PT สามารถจมเรือลาดตระเวน เรือลำเลียงพล และยิงเครื่องบินรบของญี่ปุ่นตกในฟิลิปปินส์นั้นไม่เป็นความจริง เมื่อเรือโท “Kennedy” จบการฝึกกับเรือ PT ในมลรัฐ Rhode Island วันที่ 2 ธันวาคม ด้วยคะแนนที่สูงมาก และถูกขอร้องเป็นครูฝึกเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ จากนั้นเขาได้รับคำสั่งให้ฝึกหมู่เรือตอร์ปิโดที่ 4 เพื่อบังคับการเรือ PT-101 ขนาด 78 ฟุต

มกราคม 1943 เรือ PT-101 พร้อมกับเรือ PT อีก 4 ลำ ได้รับคำสั่งให้ไปสังกัดหมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 14 (RON 14) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ลาดตระเวนในคลองปานามา เรือ PT-101 แยกตัวออกจาก RON 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1943 ในขณะที่หมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 14 กำลังประจำอยู่เมือง Jacksonville มลรัฐ Florida เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย้ายไปยังเขตคลองปานามา ด้วยความตั้งใจของเขาเอง เรือโท “Kennedy” จึงติดต่อขอให้เพื่อน ครอบครัว และเพื่อนสนิทของ “David I. Walsh” วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐ Massachusetts ประธานคณะกรรมการกิจการทหารเรือ ช่วยจัดการเปลี่ยนคำสั่งการมอบภารกิจให้เขาจากไปปานามา เป็นส่งเขาไปประจำเรือ PT ในหมู่เกาะโซโลมอนแทน และคำขอ "เปลี่ยนคำสั่งมอบหมาย" ถูกส่งไปยังหมู่เรือในแปซิฟิกใต้ การกระทำของเรือโท “Kennedy” ขัดกับความปรารถนาของบิดาที่ต้องการให้เขาประจำการในที่ปลอดภัย แต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเองของเรือโท “Kennedy” และความกล้าหาญอันเยี่ยมยอดของเขา

เรือ USS Rochambeau

เรือโท “Kennedy” ถูกย้ายเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 1943 ในฐานะนายทหารสังกัดหมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 2 ซึ่งอยู่ที่เกาะ Tulagi ในหมู่เกาะโซโลมอน ระหว่างเดินทางในมหาสมุทรแปซิฟิกบน เรือลำเลียง USS Rochambeau ก็เจอการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง กระทั่งผบ.เรือ USS Rochambeau และเรือโท “Kennedy” ต้องช่วยส่งกระสุนปืนให้กับปืนใหญ่ประจำเรือ อันเป็นประสบการณ์การรบครั้งแรกของเขา ถึงเกาะ Tulagi ในวันที่ 14 เมษายน และบังคับการเรือ PT-109 เมื่อ 23 เมษายน จำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงเรืออย่างหนัก และเรือโท “Kennedy” สั่งการให้ลูกเรือซ่อมเรือให้ใช้การได้ 30 พฤษภาคม หมู่เรือ PT รวมทั้งเรือ PT-109 ได้รับคำสั่งให้ไปยังหมู่เกาะ Russel เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบุกเขต New Georgia-Rendova

หลังจากเข้ายึดเกาะ Rendova แล้ว หมู่เรือ PT ก็ถูกย้ายให้ขึ้นไปทางเหนือ ไปประจำยังสถานีเรือ Rendova ในวันที่ 16 มิถุนายน สถานีเรือ Rendova ที่จัดตั้งขึ้นเต็มไปด้วยโรคภัยที่ไม่พึงประสงค์ เช่น มาลาเรีย, โรคไข้เลือดออก, โรคบิด และโรคเท้าช้าง ทหารเรือประจำการอยู่ที่นั่นยังบ่นในเรื่อง แมลงสาบ, หนู, โรคเกี่ยวกับเท้า, เชื้อราในหู และการขาดสารอาหารที่ไม่รุนแรงจากการทานอาหารซ้ำซากจำเจ และอาหารกระป๋องจากบันทึกกองทัพเรือของเรือโท “Kennedy” หลังจากกลับไปยังสหรัฐฯ เรือโท “Kennedy” ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย, ลำไส้ใหญ่, และอาการปวดหลังเรื้อรังทั้งหมดที่เกิดระหว่างประสบการณ์รบของเขา หรือกำเริบในระหว่างประจำการอยู่ที่สถานีเรือ Rendova

จากสถานีเรือ Rendova อยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะ Rendova บนพื้นที่เล็ก ๆ ที่รู้จักกันในชื่อ Lumbari เรือ PT ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญ และเสี่ยงอันตรายทุกค่ำคืน ทั้งการรบกวนการแล่นไปมาของเรือรบญี่ปุ่นขนาดใหญ่ส่งกำลังบำรุงให้แก่ญี่ปุ่นในเขต New Georgia-Rendova และลาดตระเวนในช่องแคบ Ferguson และ Blackett เพื่อตรวจการณ์ และแจ้งเตือนเมื่อเรือรบ Tokyo Express (ฉายาของเรือส่งกำลังบำรุงญี่ปุ่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้ง) ของญี่ปุ่น ที่เข้ามาในช่องแคบ เพื่อส่งกำลังบำรุงกองทัพญี่ปุ่นในเขต New Georgia-Rendova

1 สิงหาคม เครื่องบินทิ้งระเบิดญี่ปุ่น 18 ลำ ได้เข้าโจมตีสถานีเรือ Rendova ทำลายเรือ PT-117 และ PT-164 จนจมลง ตอร์ปิโดสองลูกยิงออกเองจากเรือ PT-164 และวิ่งไปรอบ ๆ อ่าวจนกระทั่งพุ่งขึ้นฝั่งบนชายหาดโดยไม่ระเบิดแต่อย่างใด

ลูกเรือของเรือ PT-109

ลูกเรือในภารกิจสุดท้ายของเรือ PT-109 ได้แก่ ผบ.เรือ เรือโท “John F. Kennedy”, ต้นเรือ เรือตรี “Leonard J. Thom”, ต้นหน เรือตรี George H. R. "Barney" Ross, พลปืน พลฯ ระดับสอง Raymond Albert, พลปืน พลฯ ระดับสาม Charles A. "Bucky" Harris, ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับสอง William Johnston, พลปืน พลฯ ระดับสอง ผู้ช่วยพลตอร์ปิโด “Andrew Jackson Kirksey” (เสียชีวิตระหว่างชน), พลวิทยุ พลฯ ระดับสอง John E. Maguire, ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับสอง Harold William Marney (เสียชีวิตระหว่างชน), ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พลาธิการ/จุมโพ่ พลฯ ระดับสาม Edman Edgar Mauer, ช่างเครื่อง พลฯ ระดับหนึ่ง Patrick H. "Pappy" McMahon, ผู้ช่วยพลตอร์ปิโด พลฯ ระดับสอง Ray L. Starkey และ ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับหนึ่ง Gerard E. Zinser, (ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของเรือ PT-109 เสียชีวิตเมื่อปี 2001)

ปลายเดือนกรกฎาคม 1943 รายงานข่าวกรองได้รับและถอดรหัสโดยเจ้าหน้าที่ทหารเรือที่สถานีเรือ Rendova ของเกาะ Tulagi ได้ความว่า เรือรบญี่ปุ่น 5 ลำมีแผนจะปฏิบัติการในคืนวันที่ 1-2 สิงหาคม โดยเรือพิฆาตญี่ปุ่นจะแล่นจากเกาะ Bougainville ของโซโลมอนผ่านช่องแคบ Blackett เพื่อนำส่งเสบียงและทหารไปที่กองทหารญี่ปุ่นในพื้นที่เพาะปลูก Vila บนปลายส่วนใต้ของเกาะ เกาะ Kolombangara การถอดรหัสที่ซับซ้อนของกองทัพเรือญี่ปุ่นช่วยให้สัมพันธมิตรได้รับชัยชนะในการรบที่ Midway เมื่อ 10 เดือนก่อน และเทคโนโลยีเดียวกันนี้ถูกใช้เพื่อถอดรหัส และรายงานเรื่องเรือพิฆาตญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 1-2 สิงหาคม แม้จะสูญเสียเรือ 2 ลำและลูกเรือ 2 นายจากการโจมตีทางอากาศของญี่ปุ่น แต่ผบ.เรือ PT-109 และเรือลำอื่น ๆ อีก 14 ลำ ได้หารือกับนาวาโท Thomas G. Warfield เกี่ยวกับรายละเอียดของภารกิจ Ferguson Passage การรบที่เกิดขึ้นจะเป็นการรบด้วยเรือ PT ครั้งใหญ่ที่สุดในสงคราม และผลลัพธ์จะทำให้การใช้ PT ไม่เหมาะกับการรบกับเรือพิฆาตญี่ปุ่นในอนาคต

ความล้มเหลวในการยิงตอร์ปิโดจากเรือ PT วันที่ 1 สิงหาคม เรือ PT 15 ลำ ออกจากสถานีเรือ Rendova เวลาประมาณ 18.30 น. ตามคำสั่งที่เคร่งครัดของนาวาโท Thomas Warfield แบ่งเรือ PT เป็น 4 ชุด ชุดละ 4 ลำ ชุด "B" ประกอบด้วยเรือ PT-109, PT-162, PT-159 และ PT-157 ถูกส่งไปประจำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสถานี ระยะทางเกือบครึ่งทางไปชายฝั่งตะวันตกของเกาะ Kolombongara และประมาณ 6 ไมล์ (9.7 กม.) ทางทิศตะวันตก เรือส่วนใหญ่มาถึงสถานีในเวลา 20.30 น. เรือ PT 15 ลำ แต่ละลำติดท่อตอร์ปิโด 4 ท่อ ตอร์ปิโดแบบ Mark 8 รวม 60 ลูก ราวครึ่งหนึ่งถูกยิงใส่เรือพิฆาตญี่ปุ่นซึ่งมีเครื่องบินทะเลคุ้มกัน รายงานอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือระบุถึงการระเบิดของตอร์ปิโด 5-6 ลูกเมื่อกระทบเป้าคือเรือพิฆาต แต่ในความเป็นจริงไม่มีตอร์ปิโดทำงานเลย ตอร์ปิโด 24 ลูกถูกยิงจากเรือ PT 8 ลำ ไม่มีลูกไหนเลยที่ระเบิดเมื่อกระทบเรือพิฆาต แม้ว่าเรือ PT แต่ละลำจะได้รับมอบหมายให้ประจำตำแหน่งที่น่าจะสกัดเรือพิฆาตได้ แต่หลายลำไม่มีเรดาร์แล่นไปในหมอกและความมืดอย่างไร้จุดหมาย โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งเรือรบข้าศึกได้เลย

เรือเอก Brantingham ผบ.เรือ PT-159 หัวหน้าชุด "B" และแล่นอยู่ใกล้เรือ PT-109 เห็นเรดาร์ระบุว่า เรือพิฆาตญี่ปุ่นมุ่งไปทางใต้ เมื่อมาถึงที่จุดดังกล่าวได้ยิงตอร์ปิโดในระยะราวหนึ่งไมล์ ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งนำ แต่ไม่ได้วิทยุแจ้งเรือ PT-109 ที่แล่นตาม ปล่อยให้เรือ PT-109 แล่นต่อในความมืด ซ้ำตอร์ปิโดที่ยิงจากเรือ PT-109 ของเรือเอก Brantingham ทุกลูกพลาดเป้า และตัวท่อตอร์ปิโดเกิดไฟไหม้ขนาดเล็ก ซึ่งเรือโท Liebenow ในชุดเดียวกันต้องนำเรือ PT-157 สลับตำแหน่งด้านหน้าบังแสงไฟไหม้ของเรือ PT-159 เรือ PT-157 ยิงตอร์ปิโดอีกสองลูกซึ่งก็พลาดเป้าหมายเช่นกัน จากนั้นเรือทั้งสองก็ปล่อยควันจากเครื่องกำเนิดควันและแล่นแบบซิกแซ็กเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากเรือพิฆาต เมื่อพบการปรากฏของเรือพิฆาตญี่ปุ่น และสัญญาณวิทยุจากเรือ PT-109 หรือเรือลำอื่นในชุดปฏิบัติการก็มุ่งหน้าไปทางตะวันตกไปยังเกาะกิโซและห่างออกไปจากทั้งเรือพิฆาตญี่ปุ่นและเรือ PT-109 ของเรือโท “Kennedy”

ตอร์ปิโดแบบ Mark 8 ส่วนมากระเบิดก่อนกระทบเป้า หรือวิ่งในระดับความลึกที่ไม่ถูกต้อง อัตราที่ตอร์ปิโด Mark 8 จะสามารถระเบิดทำลายเรือพิฆาตน้อยกว่า 50% เนื่องจากการปรับเทียบที่ผิดพลาดของชนวนกระทบของตอร์ปิโดแบบ Mark 8 ซึ่งเป็นปัญหาที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่รู้ และไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งสงครามจบ เรือ PT อื่น ๆ อีก 2-3 ลำ รวมถึงหัวหน้าชุด "A" ทางใต้ของเรือ PT-109 ได้ตรวจพบเรือพิฆาตที่อยู่ทางใต้ใกล้กับ เกาะ Kolombangara แต่เรือทุกลำที่เหลือได้รับวิทยุจากนาวาโท Warfield ให้กลับเมื่อยิงตอร์ปิโดแล้ว แต่เรือทั้งสี่ลำที่ที่มีเรดาร์ยิงตอร์ปิโดก่อน และได้รับคำสั่งให้กลับฐาน แนวคิดของนาวาโท Warfield ในการออกคำสั่งไปยังเรือ PT ท่ามกลางความมืดทางวิทยุจากสถานีเรือ ซึ่งออกไป 40 ไมล์โดยที่ไม่เห็นการรบนั้นไม่มีประสิทธิภาพเลย เรดาร์ของเรือทั้ง 4 ลำเก่า และบางครั้งก็ทำงานผิดพลาด เมื่อเรือ 4 ลำซึ่งมีเรดาร์ออกจากพื้นที่การรบ เรือที่เหลือรวมถึงเรือ PT-109 ก็ถูกลิดรอนความสามารถในการระบุตำแหน่ง หรือการเคลื่อนที่ของเรือพิฆาตญี่ปุ่นที่กำลังแล่นมา และไม่ได้รับแจ้งเตือนว่าเรือลำอื่นได้ตรวจพบหรือปะทะกับศัตรูแล้ว 

ในช่วงดึกเรือ PT-109 และเรือ PT ที่แล่นตามมาพร้อมกันอีก 2 ลำ กลายเป็นชุดสุดท้ายที่เห็นเรือพิฆาตญี่ปุ่นแล่นกลับมาที่เส้นทางเหนือมุ่งไป Rabaul, New Britain, New Guinea หลังจากเสร็จสิ้นการส่งเสบียงและกำลังทหารเมื่อเวลา 01.45 น. ทางส่วนปลายของ เกาะ Kolombangara บันทึกเหตุการณ์อย่างเป็นทางการของกองทัพเรือระบุว่า การสื่อสารทางวิทยุนั้นยังเป็นปกติ แต่ผู้บังคับการเรือ PT ได้รับการบอกให้รักษาความเงียบทางวิทยุจนกระทั่งได้รับแจ้งจากการพบเห็นข้าศึก ทำให้ผู้บังคับการหลายคนปิดวิทยุหรือไม่ติดตามการสื่อสารทางวิทยุอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเรือโท “Kennedy” ด้วย

เวลา 14.00 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม 1943 เมื่อใกล้จะสิ้นสุดภารกิจ เรือ PT-109, PT-162, และ PT-169 ได้รับคำสั่งให้ลาดตระเวนในพื้นที่ต่อไปตามคำสั่งก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับคำสั่งทางวิทยุจากนาวาโท Warfield คืนนั้นมีเมฆมาก และไร้แสงจันทร์และอยู่ท่ามกลางหมอก เรือ PT-109 ทำงานด้วยเครื่องยนต์เดียวเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ การเห็นแสงฟลูออเรสเซนซ์โดยเครื่องบินญี่ปุ่น เมื่อลูกเรือตระหนักว่าพวกเขาอยู่ในเส้นทางของเรือพิฆาตญี่ปุ่น Amagiri ซึ่งมุ่งหน้าไปทางเหนือยัง Rabaul จากพื้นที่เพาะปลูก Vila, เกาะ Kolombangara เพื่อส่งเสบียงและทหาร 902 นาย

บันทึกเหตุการณ์ไม่สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุของการชนกันคือ การเดินเครื่องยนต์รอบต่ำของเรือ PT-109 เรือโท “Kennedy”  เชื่อว่าการยิงที่เขาได้ยินมาจากกองทหารบนฝั่ง เกาะ Kolombangara ไม่ใช่เรือพิฆาต และหลีกเลี่ยงการตรวจจับโดยการเดินเครื่องยนต์รอบต่ำ และลดความเสี่ยงต่อการตรวจพบ

ภาพวาดขณะเรือพิฆาต Amagiri ชนเรือ PT-109

เรือโท “Kennedy” บอกว่า เขาพยายามที่จะเลี้ยวเรือ PT-109 เพื่อยิงตอร์ปิโด และให้เรือตรี Ross ยิงปืนต่อสู้รถถังขนาด 37 มม. ที่พึ่งติดตั้งใหม่ไปยังเรือพิฆาต Amagiri ที่กำลังแล่นจะมาถึง เรือตรี Ross ถือกระสุน แต่ยังไม่ทันได้บรรจุกระสุน เรือโท “Kennedy” หวังว่า อาจสกัดเรือ Amagiri ที่แล่นด้วยความเร็วค่อนข้างสูงระหว่าง 23 ถึง 40 Knott (43-74 กม. / ชม. หรือ 26-46 ไมล์ต่อชั่วโมง) เพื่อกลับไปยังท่าเรือ ด้วยเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วเครื่องบินลาดตระเวนของสัมพันธมิตรอาจจะตรวจพบได้

เรือโท “Kennedy” และลูกเรือมีเวลาน้อยกว่าสิบวินาทีที่จะเร่งเครื่องยนต์เพื่อหลบหลีกเรือพิฆาตที่กำลังจะมาถึงแล่นโดยพรางไฟ เมื่อเรือ PT แล่นมาถึงก็ถูกชนจนแตกเป็น 2 ส่วน ที่พิกัดจุดระหว่างเกาะ เกาะ Kolombangara และเกาะ Ghizo ใกล้ 8 ° 3′S 156 ° 56'E ถ้อยแถลงที่ขัดแย้งกันเกิดขึ้นว่า เรือพิฆาตเห็นและตั้งใจชนเรือ PT-​​109 หรือไม่ ผู้เขียนส่วนใหญ่เขียนว่า ผบ.เรือ Amagiri ตั้งใจแล่นชนกับเรือพิฆาต Amagiri ซึ่งผบ.เรือพิฆาต Amagiri นาวาตรี Kohei Hanami ยอมรับเองในภายหลัง และระบุด้วยว่า เห็นเรือ PT-109 กำลังแล่นพุ่งมายังเรือพิฆาต Amagiri 

เรือ PT-109 ถูกชนเป็นสองส่วน เวลาประมาณ 02.27 น. ลูกไฟจากการระเบิดของเชื้อเพลิงพุ่งสูงกว่า 100 ฟุต พื้นที่การชน และทะเลรอบ ๆ ซากเรือลุกเป็นไฟ พลทหาร Kirksey และ Marney เสียชีวิตทันที และสมาชิกอีกสองคนของเรือถูกไฟคลอกและได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อพวกเขาตกลงไปในทะเลเพลิงที่ล้อมรอบเรือ สำหรับการชนที่รุนแรง การระเบิด และไฟไหม้ การสูญเสียของลูกเรือเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือ PT อื่น ๆ ที่ถูกยิงด้วยปืนแล้ว นับว่า เรือ PT-109 สูญเสียกำลังพลน้อยกว่า 

ยอดนักบริจาคแห่งโลกมุสลิม ‘มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด’ ในซาอุดีอาระเบีย!! (Sheikh Sulaiman bin Abdulaziz Al Rajhi)

เคยเขียนถึงคุณลุง Chuck Feeney (ชัก ฟีนีย์) ชายชราที่มัธยัสถ์และสุดแสนที่จะธรรมดา แต่สิ่งที่เขาลงมือทำกลายเป็นแบบอย่างให้อภิมหาเศรษฐีของโลกอย่าง Warren Buffett และ Bill Gates ยอมรับ ยกย่อง ชื่นชม นับถือ และนำมาเป็นแบบอย่าง คุณลุง Chuck เป็นชาวคริสต์ครับ วันนี้เขียนถึงมหาเศรษฐี นักบริจาคชาวมุสลิมบ้างครับ

คุณปู่ Sheikh Sulaiman bin Abdulaziz Al Rajhi มาจากครอบครัวยากจนชนิดที่ครอบครัวไม่มีเงินแม้แต่เหรียญเดียว แต่ปัจจุบันกลายเป็น 1 ใน 20 ผู้บริจาคเงินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก (ชาวซาอุดีอาระเบียไม่มีนามสกุล แต่จะใช้ชื่อของบิดาเป็นนามสกุล bin แปลว่า “บุตรของ” ดังนั้น Sulaiman bin Abdulaziz จึงหมายถึง  Sulaiman ผู้เป็นบุตรของ Abdulaziz

คุณปู่ Sheikh Sulaiman เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่ Al Bukairiyah ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด Al Qassim ในซาอุดีอาระเบีย ย้ายไปกรุงริยาดตั้งแต่ยังเป็นเด็กกับพ่อ และเติบโตขึ้นมาในทะเลทราย Najd ที่ซึ่งเขาและคุณปู่ Saleh น้องชายเริ่มต้นธุรกิจด้วยการรับแลกเปลี่ยนเงินสำหรับผู้แสวงบุญที่นำคาราวานอูฐข้ามทะเลทรายไปยังเมืองต่าง ๆ ของนครมักกะห์ และนครเมดินาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 เขาย้ายไปอยู่ยังนครเจดดาห์ ซึ่งเขาเริ่มธุรกิจของตัวเองในการแลกเปลี่ยนเงินตรากับผู้แสวงบุญ เขาได้พบกับความสำเร็จอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในธุรกิจของเขา ความมั่งคั่งและการลงทุนของเขาเติบโตขึ้นและขยายตัวอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

ปัจจุบันเขาเป็นผู้ถือหุ้นหลักและเป็นประธานธนาคาร Al-Rajhi บริษัทยักษ์ใหญ่ในซาอุดีอาระเบีย และเป็นธนาคารอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ เขาเป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ที่ลงทุนในการเกษตร การผลิตสัตว์ อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง วันนี้ความมั่งคั่งของเขาอยู่ที่ประมาณ 7.7 พันล้านดอลลาร์ (ข่าวบางกระแสประมาณการว่า 8.8 พันล้านดอลลาร์) ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 120 คนแรกจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes

คุณปู่ Sheikh Sulaiman เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดใน Al Rajhi Bank ของครอบครัว ซึ่งรายงานการดำเนินงานที่ทำกำไรได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มธนาคารของซาอุดีอาระเบีย ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารกับน้องชายชื่อ คุณปู่ Saleh ปัจจุบันเขาเป็นประธานของธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศว่า เป็นสถาบันทางการเงินที่น่าเชื่อถือที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ของซาอุดีอาระเบีย (Tadawul)

การเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจของพี่น้อง Al Rajhi มาจากการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติไปยังซาอุดีอาระเบียในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในยุคที่น้ำมันเฟื่องฟู Al Rajhi Bank ช่วยให้พวกเขาส่งรายได้กลับบ้านไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย และปากีสถาน ในปี พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) สองพี่น้องได้รับอนุญาตให้เปิดธนาคารอิสลามแห่งแรกของซาอุดีอาระเบีย โดยจะปฏิบัติตามหลักศาสนา เช่น การห้ามรับและจ่ายดอกเบี้ย

ครอบครัว Al Rajhi ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Al Rajhi Bank แม้ว่า คุณปู่ Sheikh Sulaiman และพี่น้องจะได้กระจายการลงทุนของครอบครัวไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ยิปซั่ม เกษตรกรรม เหล็กกล้า และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ระดับการศึกษาที่สูงสุดของเขาคือระดับประถมศึกษา ยังคงอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียและมีลูก ๆ ถึง 23 คน

สวนปาล์มแห่งหนึ่งในเมือง Al Qassim ซาอุดีอาระเบีย มีต้นปาล์มมากกว่า 200,000 ต้น พร้อมอินทผลัม 45 สายพันธุ์ ผลผลิตปีละ 10,000 ตัน รายได้จากสวนนี้นำไปใช้งานการกุศล สวนแห่งนี้ได้รับการบันทึกใน Guinness Book of World Records ว่าเป็นสวนอินทผลัมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นของชายที่ร่ำรวยที่สุดของซาอุดีอาระเบีย ที่ชื่อว่า "Sheikh Sulaiman bin Abdulaziz Al Rajhi" ผู้ซึ่งนิตยสาร Forbes ได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 20 ผู้บริจาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

ความยากจนของครอบครัวของ คุณปู่ Sheikh Sulaiman มากจนครั้งหนึ่งที่โรงเรียนจัดทัศนศึกษาและเก็บเงินนักเรียนคนละหนึ่งเหรียญ แต่พ่อแม่ของเขาไม่มีเงินเลยแม้แต่เหรียญเดียว เขาร้องไห้หนักมาก เมื่อคุณครูชาวปาเลสไตน์รู้ข่าวจึงให้เงินเขา 1 เหรียญ เขาวิ่งด้วยความดีใจไปจ่ายเงินให้ผู้รับผิดชอบงานทัศนศึกษาดังกล่าว

เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา และเริ่มทำงาน โดยเปิดธนาคารด้วยห้องเล็ก ๆ ในนครเจดดาห์ เขาเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยความทุ่มเทและทำงานหนัก อัลลอฮ์ทรงอวยพรการงานของเขา ในช่วงเวลาสั้น ๆ เครือข่ายธนาคารที่เรียกว่า 'Al-Rajhi' ได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศซาอุดีอาระเบีย

แล้ววันหนึ่ง คุณปู่ Sheikh Sulaiman ได้ไปหาคุณครูชาวปาเลสไตน์ของเขา ครูของเขาเกษียณแล้ว และยังคงอยู่ในสภาพที่อัตคัดขัดสนเป็นอย่างมาก คุณปู่ Sheikh Sulaiman ได้เชิญคุณครูของเขาเข้าไปในรถ บอกคุณครูของเขาว่า "ผมเป็นหนี้คุณครู" คุณครูได้ตอบว่า "ใครเป็นหนี้คนยากจนได้บ้าง” คุณปู่ Sheikh Sulaiman บอกกับคุณครูของเขาว่า “เมื่อหลายปีก่อนครูได้ให้เงินผม 1 เหรียญ” คุณครูยิ้มและกล่าวต่อไปว่า "เธอมาที่นี่เพื่อคืนเงิน 1 เหรียญให้ครูหรือ?"

คุณปู่ Sheikh Sulaiman ได้ขับรถพาคุณครูไปจอดหน้าบ้านหรูหลังหนึ่ง แล้วบอกกับคุณครูว่า บ้านและรถเป็นของคุณครูแล้ว โดย คุณปู่ Sheikh Sulaiman จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด คุณครูชาวปาเลสไตน์ได้ยิน ก็น้ำตาซึม และตอบว่า บ้านสุดอลังการ รถยนต์ราคาแพงคันนี้ มันมากเกินไป คุณปู่ Sheikh Sulaiman กล่าวตอบว่า ความสุขของผมในวันนั้นมากกว่าความสุขของคุณครูในวันนี้เสียอีก คุณครูเป็นคนมีเมตตากรุณา อัลลอฮ์ไม่ทรงทำให้ความดีงามเหล่านั้นของคุณครูต้องสูญเปล่า

Random ชีวิตที่ ‘ซานฟรานซิสโก’ (San Francisco) 

เมืองดังที่ใคร ๆ ก็รู้จัก!! อยู่ในฉากหนังมากมาย โดดเด่นสุดเห็นจะเป็นแลนด์มาร์ก “The Must” ที่ทุกคนต้องถ่ายรูปด้วยเมื่อไปถึงก็คือ “สะพานแดง Golden Gate” ทอดตัวยาวแข็งแรงอยู่ในเวิ้งอ่าวนั่นเอง แล้วก็ถ้ามีโอกาสก็นั่งรถรางทรงวินเทจเล่นชมเมือง ขึ้นลงตามถนนซึ่งบางช่วงชันมาก ต้องเรียกว่า mighty hill เลยแหละ เพราะบางจุดชันมาก แต่ก็ยังอุตส่าห์เห็นคนเมืองนี้บางคนวิ่งออกกำลังกายขึ้นลงทรมานสังขารตนเอง ประหนึ่งซ้อมขาไว้ลงแข่งมาราธอนระดับชาติก็ไม่ปาน บ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกสร้างบนเนินและไหล่เขา เรียงรายกันไป ความสูงไม่เกินห้าหกชั้น ยกเว้นใจกลางเมืองจริง ๆ ที่มีตึกสูงเกินสิบชั้นขึ้นไปกระจุกกันอยู่ เมืองงามเห็นวิวสวยจากหลายมุม เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองนี่ล่ะ

ครั้งหนึ่งเคยไปเยือนอิสตันบูล แล้วเผลอไปคิดถึงความคล้ายกับซานฟรานซิสโก คราวนี้ได้มาเห็นกับตาตัวเอง ก็ยังคงยืนยันความรู้สึกถึงความเหมือนที่แตกต่างของสองเมืองนี้อยู่ดี... 

ผมปั่นจักรยานเดินทางท่องเที่ยว รอนแรมแล้วร่วมเดือน เมื่อถึงซานฟรานจึงถือโอกาสพักน่อง ใช้เวลาที่เมืองนี้ห้าวัน โดยสองวันแรกพักที่บ้านเพื่อนของเพื่อน อีกสามวันย้ายไปพักที่ Adelaide hostel ถือว่าเป็นโฮสเทลราคาถูกย่านใจกลางเมือง (“ถูก” ในที่นี้ก็คือเทียบเป็นเงินไทยก็ยังตกวันละพันบาท) ได้เตียงล่างในห้องพักแบบรวมสิบเตียง ชื่อห้องนั้นคือ Alcatraz พนักงาน Reception บอกแบบนั้นตอนเช็กอิน ผมหัวเราะร่าขบขัน เพราะมันคือชื่อคุกเก่ากลางอ่าวซานฟรานนั่นเอง 

ตามสไตล์โฮสเทลโดยทั่วไป คือเขาจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางให้ใช้สอยร่วมกัน มีห้องนั่งเล่นนั่งทำงาน ห้องครัวที่สามารถซื้ออาหารสดมาทำเมนูโปรด ห้องน้ำห้องส้วมก็รวมเช่นกัน เพื่อนร่วมโฮสเทลประกอบด้วยคนหลายวัยหลากสัญชาติ ดูเหมือนบางคนเพิ่งมาถึงประเทศนี้และกำลังหางานทำอยู่ก็มี บ้างมาพักเพื่อออกไปปาร์ตี้ตอนกลางคืนโดยเฉพาะก็มี บางคนมาพักเพื่อรอเดินทาง ต่างคนต่างมีวัตถุประสงค์ของการเดินทางที่แตกต่างกัน  

เนื่องจากไม่ได้มีเวลาถมถืด แถมค่าครองชีพในเมืองใหญ่เช่นนี้ก็แพงหูฉี่ ผมจึงพยายามใช้เวลาให้คุ้ม ทำตัวเป็น “ทัวร์ลิสต์” เก็บรายละเอียดเมืองเท่าที่ทำได้ รู้ว่ายังไม่เข้าถึง “หัวใจ” ของเมืองนี้หรอก เพราะเมืองใหญ่แบบนี้จำเป็นต้องอยู่ให้นานมากพอจึงจะเข้าใจเขา 

การสำรวจเมืองทำแบบ Random ไม่ได้เจาะจงลงไปว่าต้องการไปไหนบ้าง แค่ “ปักหมุด” ต่าง ๆ ว่าจะไปไหนแล้วก็ปั่นจักรยานเที่ยวแบบบางทีหลงทิศหลงทางบ้าง จนถึงจุดที่ปักหมุดไว้นั่นแหละ เช่น จะไปร้านจักรยานเพราะต้องหาอะไหล่สำรอง ก็หาพิกัดใน Google Maps เอา (เจ้า Google Maps พาหลงบ้างอยู่เหมือนกัน) หรือไป Grocery Outlet เพื่อซื้ออาหารสดแห้ง หรือไปสะพาน Golden gate เพื่อหามุมถ่ายรูป หรือไป Dutch windmill ซึ่งอยู่ริมหาดสุดเมือง ประมาณนั้น 

ทำแบบนี้ก็สนุกดี เพราะไม่ต้องกะเกณฑ์กิจกรรมมากเกินจำเป็น ไปเดินแกร่วเล่นแถว Chinatown ก็สนุกดีครับ หายคิดถึงอะไรต่อมิอะไรแบบเอเชียได้เยอะเลย เอกลักษณ์ของความเป็นโลกตะวันออกยังคงโดดเด่นแม้จะมาลงหลักปักฐานฝั่งตะวันตกแล้วก็ตาม 

อย่างคุณตานั่งสีซอริมทางเท้า สินค้าประดามีล้วนแตกต่างจากสิ่งของแบบฝรั่ง ผักบุ้งผักกระเฉด สารพัดพืชผัก ปลาดุกปลาช่อน ปลาแห้งหมึกแห้งก็มี บะหมี่หลากสัญชาติ ข้าวหอมมะลิ น้ำปลา ปลาร้า พะเรอเกวียน ร้านอาหารจีน ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนามกระจุกกันอยู่ในย่านนี้ นักท่องเที่ยวเดินเบียดเสียดปะปนกับอาซิ้มอาม่าอากงทั้งหลาย เด็กหน้าตาตี๋หมวยเดินพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันปร๋อเพราะเกิดและเติบโตที่นี่  

‘Marine One’ เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากมีเครื่องบิน  Air Force One เป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งแล้ว ยังมี “Marine One” เป็นเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งสำหรับการเดินทางระยะสั้น ๆ อีกด้วย วันนี้จึงขอนำมาเล่าให้อ่านกันครับ

เฮลิคอปเตอร์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แบบแรก Bell UH-13J Sioux

การใช้เฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เมื่อประธานาธิบดี “ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์” เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์แบบ Bell UH-13J Sioux โดยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ต้องการวิธีที่รวดเร็วในการไปบ้านพักฤดูร้อนในมลรัฐเพนซิลเวเนีย การใช้เครื่องบิน Air Force One คงเป็นไปไม่ได้ในระยะทางสั้น ๆ เช่นนี้ และไม่มีสนามบินใกล้บ้านของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ที่ต้องมีรันเวย์ปูพื้นเพื่อรองรับการขึ้น-ลงของเครื่องบินปีกตรึง (Fix wing) 

ดังนั้นประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรูปแบบการเดินทางแบบอื่น ๆ และเฮลิคอปเตอร์แบบ Sikorsky UH-34 (Sea Horse : ม้าน้ำ) ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นแบบแรก โดยกองบินของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจนกระทั่งปัจจุบัน เฮลิคอปเตอร์แบบแรกขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่สำหรับการเดินทาง เช่น เครื่องปรับอากาศ และห้องสุขา

HH-34 เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ใช้งานโดยประธานาธิบดีฯ มีนามเรียกขานว่า Army One

ไม่นานหลังจากใช้งานเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดี คณะทำงานของประธานาธิบดีฯ ได้ขอให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินทำการสำรวจตรวจสอบ เพื่อใช้สนามหญ้าด้านทิศใต้ของทำเนียบขาวในการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งพบว่า มีพื้นที่ว่างเพียงพอ และมีการออกระเบียบการขึ้น-ลง จนถึงปี พ.ศ. 2519 หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้ร่วมรับผิดชอบในการเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีฯ ร่วมกับกองทัพบกสหรัฐฯ เฮลิคอปเตอร์ฯของกองทัพบกใช้สัญญาณเรียกขาน Army One ขณะที่ประธานาธิบดีอยู่บนเครื่อง

เฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2521 (ลำบน)
และเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-60N เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2530 (ลำล่าง)

เฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2521 และเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-60N เข้าประจำการในปี พ.ศ. 2530 และประจำการคู่กับเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D หลังจากใช้งานเฮลิคอปเตอร์ทั้งสองรุ่นแล้ว ได้มีการปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีและเพื่อตอบสนองความต้องการภารกิจใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2544 ได้มีการเพิ่มน้ำหนักในเฮลิคอปเตอร์มากด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ จนทำให้ความสามารถในการปฏิบัติภารกิจลดลง และมีการปรับปรุงใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

พันตรี Sarah Deal Burrow นักบินหญิงคนแรกที่ทำการบินกับขึ้นบิน Marine One

ปี พ.ศ. 2552 มีเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-3D 11 ลำและเฮลิคอปเตอร์แบบ VH-60N อีก 8 ลำ ในฝูงบินเฮลิคอปเตอร์นาวิกโยธินที่ 1 (Marine Helicopter Squadron One (HMX-1)) สำหรับประธานาธิบดีและบุคคลสำคัญอื่น ๆ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 Marine One ได้ทำการบินด้วยลูกเรือหญิงล้วนเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของพันตรี Sarah Deal Burrow นักบินหญิงคนแรกที่ทำการบินกับขึ้นบิน Marine One

จนถึงปี พ.ศ. 2552 Marine One ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุหรือถูกโจมตี อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2549 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ขึ้น Marine One พร้อมกับเลขาฯ ด้านสื่อมวลชน แต่เฮลิคอปเตอร์ "เกิดขัดข้อง" ดังนั้นประธานาธิบดีจึงต้องเดินทางออกจากทำเนียบขาวด้วยขบวนรถแทน

เหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2545 (เหตุการณ์ 911) ทำให้ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ Marine One จำเป็นต้อง Up grade ระบบการสื่อสาร การขนส่ง และระบบรักษาความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ข้อจำกัดด้านน้ำหนักทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 กระทรวงกลาโหมได้เริ่มโครงการ VXX ซึ่งมอบหมายให้กองทัพเรือกำหนดแบบเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ภายในปี พ.ศ. 2554 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ทำเนียบขาวขอให้กระทรวงกลาโหมเร่งพัฒนาเฮลิคอปเตอร์ Marine One รุ่นใหม่ กระทรวงกลาโหมแถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ Marine One รุ่นใหม่จะพร้อมใช้งานภายในสิ้นปี พ.ศ. 2551 และขอให้บริษัทที่ชนะการเสนอราคาโครงการนี้เริ่มพัฒนาและผลิตไปพร้อมกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top