(3 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ไว้ว่า...
หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีเงินฝืด (Deflation) ติดต่อกันมา 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในไม่ช้า
ประเด็นนี้ได้ลุกลามใหญ่โตเป็นวิวาทะทางการเมืองระดับชาติระหว่างรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทยและลิ่วล้อที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์แบงก์ชาติ
วิวาทะหรือความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และน่าจะมีข้อยุติได้หากเราเข้าใจธรรมชาติของธนาคารกลางและบทบาทที่ควรจะเป็น
ในโลกปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) แต่บางทีรัฐบาลบางประเทศก็มอบหน้าที่รองให้ ซึ่งรวมถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน เป็นต้น
ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือเป็นหลักการว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยึดหลัก Inflation Targeting ซึ่งมีความเป็นอิสระในเชิงเครื่องมือ (Instrumental Independence) แต่ต้องอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล หากเงินเฟ้อจริงเบี่ยงเบนไปจากกรอบนี้ ต้องถือว่าความเป็นอิสระนั้นจบลง
ส่วนบทบาทอื่น โดยเฉพาะการกำกับดูแลและพัฒนาสถาบันการเงินนั้น หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และอยู่นอกบทบาทหลักตามกฎหมายของธนาคารกลาง
ดังนั้นความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และป้องกันความขัดแย้งกับนโยบายการคลังได้เป็นอย่างดี
ฉะนั้น จึงสามารถตอบคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ...
ประการแรก แบงก์ชาติกลัวหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ในหลายประเทศการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน
ประการที่สอง การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความสนิทสนมในฐานะผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ ความสนิทสนมดังกล่าวนานเข้าจะนำไปสู่ความเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น ๆ แน่นอนการลดดอกเบี้ยนโยบายย่อมนำไปสู่การลดดอกเบี้ยแบงก์ ซึ่งจะทำให้แบงก์มีกำไรลดลง
ประการสุดท้าย กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายกว่า 20 ปีมาแล้วภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้มีการนำเป้าหมายทางการเงินหลายอย่างมากระจุกรวมไว้ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ดังนั้น การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดไปรับใช้เป้าหมายหลาย ๆ เป้าหมาย ย่อมทำให้งานหลักของธนาคารกลางขาดประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าว
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างรีบด่วน โดยลดบทบาทของแบงก์ชาติ และให้มุ่งเน้นในเรื่องนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเพียงเรื่องเดียว จนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จในระหว่างนี้ก็ขอให้แบงก์ชาติและลิ่วล้อยุติการเรียกร้องความเป็นอิสระ และหยุดการโยนความผิดของตนไปให้ผู้อื่น รวมทั้งหยุดวิวาทะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย