‘อลงกรณ์’ ชู 10 นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมประมงครบวงจร ภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีฟ้า หวังดันไทย สู่ ‘ผู้นำด้านประมง’

(5 พ.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี เขต 1 ในฐานะทีมเศรษฐกิจกล่าวในเวทีดีเบต ‘อนาคตประมงไทยหลัง
การเลือกตั้ง’ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 66 ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) ว่า พรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในศักยภาพประมงไทยโดยยกระดับนโยบายประมงเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ บนแนวทางการพัฒนาประมงอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายประเทศผู้นำประมงโลกภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีฟ้า (Blue Economy) สร้างมูลค่า 6 แสนล้าน สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ 5 แนวทาง ได้แก่

1. เร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมประมง กระจายการลงทุน 18 กลุ่มจังหวัด 
2. สร้างฐานใหม่ เขตเศรษฐกิจพิเศษประมง อ่าวตัว ก., อันดามัน, อ่าวไทย, 4 จังหวัดใต้สุด และทุกภาค 
3. ส่งเสริมการลงทุนประมงไทยในต่างประเทศ 
4. ฟื้นฟูพัฒนาประมงสู่ศักยภาพใหม่ ทั้งประมงนอกน่านน้ำ ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน อุตสาหกรรมกุ้งไทย และประมงเพาะเลี้ยงรวมถึงอุตสาหกรรมประมงแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารแห่งอนาคต (สาหร่าย โปรตีนทางเลือกใหม่) ประมงอินทรีย์ ประมงมูลค่าสูง (เวชสำอาง วิตามิน ยา อาหารเสริม) และประมงท่องเที่ยว
5. เดินหน้าการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก

สำหรับ 10 นโยบายประมงเร่งด่วน ที่พรรคประชาธิปัตย์มุ่งดำเนินการสร้างอนาคตประมงไทย ได้แก่ 

1. การปลดล็อกกฎหมายประมงภายใต้ IUU 
2. การเริ่มต้นใหม่ (Set Zero) จัดประชาพิจารณ์ ประเด็นนิรโทษกรรมเรือประมง
3. โครงการเรือประมงออกนอกระบบจบใน 90 วันเฟส 1 จำนวน 1,007 ลำ และ 120 วัน เฟส 2 จำนวน 792 ลำ 
4. การประกันราคากุ้งขั้นต่ำและสัตว์น้ำอื่น ๆ โดยภาคเอกชนในระบบไตรภาคี โดยมีการขับเคลื่อนมาแล้วโดยบอร์ดกุ้ง
5. เติมทุนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น 1 แสนต่อปี
6. น้ำมันประมงราคาถูกสำหรับประมงพื้นบ้าน 5 หมื่นลำ 
7. จัดตั้งธนาคารหมู่บ้านประมง ธนาคารชุมชนประมง 2 ล้าน
8. จัดตั้งสภาการประมงแห่งประเทศไทยและกองทุนประมงแห่งชาติ
9. ต่อยอดศูนย์ AIC ประมง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาการประมงและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ 
10. บริการดิจิทัลเสร็จภายใน 4 ปี สานต่อโครงการ E-Fisheries NSW

“พรรคประชาธิปัตย์ดูแลกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทยสามารถสร้างเงินเข้าประเทศในปี 2565 จากการส่งออกสินค้าประมง 2.3 แสนล้านบาท สูงสุดใน 9 ปี ในขณะที่นำเข้า 1.5 แสนล้านบาท โดยได้เปรียบดุลการค้ากว่า 8 หมื่นล้านบาท แยกเป็นการส่งออกทูน่ากระป๋อง 5 แสนตัน มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 7 ปี ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ 1.5 แสนตัน มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน สูงสุดในรอบ 3 ปี และส่งออกอาหารกระป๋องสำหรับสุนัขและแมว 1.4 แสนตัน มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์” นายอลงกรณ์กล่าว