Thursday, 9 May 2024
Hard News Team

‘พีระพันธุ์’ จ่อคลอดกฎหมายใหม่ เคาะราคาน้ำมันเดือนละครั้ง  ชดเชยราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ลดภาระให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

(7 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการโครงสร้างราคาพลังงานว่า หลังจากเข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ภายในกระทรวงพลังงานมีปัญหาที่ถูกหมักหมมมาเยอะมาก และแน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีคนเสนอให้ปรับโครงสร้าง แต่เมื่อทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จึงพบว่า ปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง แต่เป็นระบบเกี่ยวกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะฉะนั้น จึงต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อที่จะรื้อระบบน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย

นอกจากการออกกฎหมายแล้ว ทางกระทรวงฯ ยังเร่งเดินหน้าสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมี และจำเป็นต้องมี นั่นคือ การสร้างระบบสำรองน้ำมันทางด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ซึ่งหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีระบบนี้อยู่ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมัน และในกรณีเกิดวิกฤตสงคราม ซึ่งจะทำให้น้ำมันขาดแคลนและราคาผันผวน 

ทั้งนี้ ระบบการสำรองน้ำมันในประเทศไทยที่มีอยู่นั้น เป็นการสำรองน้ำมัน เพื่อการค้าของผู้ประกอบการ หรือภาคเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล และมีปริมาณสำรองเพียงแค่ 20 กว่าวันเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศ จะต้องมีปริมาณขั้นต่ำตามมาตรฐานอยู่ที่ 90 วัน และเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ 100% ซึ่งระบบสำรองน้ำมันที่ใช้อยู่วันนี้เป็นการสำรองน้ำมันตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ใช่สำรองเพื่อยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะฉะนั้น เมื่อประเทศต้องใช้น้ำมัน คนที่รับผิดชอบ คือ รัฐบาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในประเทศหรือต่างประเทศ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ระบบใหม่ที่กำลังจะนำมาใช้ จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลกระทบกับคนไทย โดยราคาตลาดโลกจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการกับรัฐบาล ส่วนราคาในประเทศจะขายเท่าไร รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด โดยจะเอาระบบ SPR ของประเทศมาเป็นกลไกแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการรักษาระดับราคาน้ำมัน ด้วยน้ำมัน ไม่ใช่เงินกองทุนฯ สำหรับน้ำมันที่จะนำมาใช้ ก็คือน้ำมันที่สำรองไว้ 90 วันนั่นเอง

“เรื่องนี้คนที่ประสบการณ์เยอะ รู้เยอะ ก็จะบอกทำไม่ได้ ต้องใช้เงินเป็นแสนล้าน ผมบอกไม่ต้อง ผมจะไม่ใช้เงินเลย แต่ผมจะเก็บภาษีเป็นน้ำมัน ซึ่งเก็บภาษีเป็นน้ำมันหมายความว่า เวลานี้ถ้าคิดคร่าว ๆ เงินกองทุนน้ำมันเก็บจากผู้ค้า แต่เก็บเป็นเงิน ต่อไปผมจะไม่เก็บเป็นเงิน แต่เก็บเป็นน้ำมันแทน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะได้น้ำมันวันละ 10 ล้านลิตร เมื่อผมมีน้ำมันเป็นทุนสำรอง ผมก็จะแก้ปัญหาน้ำมัน ซึ่งน้ำมันนี้เป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันสำรองของประเทศ และขณะเดียวกันผมจะใช้น้ำมันตรงนี้ที่มันจะหมุนเวียน เอามารักษาระดับราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ผมจะยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงิน เปลี่ยนเป็นกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นน้ำมันจริง ๆ นี่ก็เป็นการรื้ออย่างหนึ่ง”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า ระบบใหม่นี้สามารถทำได้แน่นอน ถ้าไม่มีคนขวาง เพราะหากจะรักษาระดับราคาน้ำมันคุณก็ต้องเอาน้ำมันไปรักษา ยกตัวอย่างสมัยตนเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ยังไปช่วยรักษาระดับราคาผลไม้เลย ผลไม้ราคาตกต่ำ ในยุคนั้นราคามังคุดตกต่ำจากกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหลือกิโลกรัมละ 4-5 บาท ก็ไปกวาดซื้อมาหมดเลย จากนั้นเอาไปให้นักโทษกิน เมื่อพ่อค้าไม่มีจะขาย คนก็ต้องกลับมาซื้อกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหมือนเดิม แต่ต้องซื้อจากเกษตรกร ไม่ได้ซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เช่นเดียวกันกับน้ำมัน ซึ่งเป็นระบบที่ IEA (International Energy Agency) ที่มีสมาชิกอยู่ร้อยกว่าประเทศในโลก เขาก็ลงขันหาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นทุนสำรองเอาไว้ เวลาที่เกิดวิกฤติในตลาดโลกแพงเกินไป หรือว่าน้ำมันขาดแคลน ก็จะนำน้ำมันในสต็อกตรงนี้เข้าไปอัดในตลาดโลก ทำให้รักษาระดับราคาน้ำมันได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการวางระบบใหม่ จะมีองค์กรพิเศษใหม่มาคอยกำกับเรื่องราคาน้ำมันโดยเฉพาะ และความมั่นคงพลังงาน อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เป็นองค์กรที่ไม่ได้ค้ากำไร ไม่ได้มาแข่งกับผู้ค้า แต่เป็นองค์กรกำกับให้อยู่ในระบบเฉย ๆ เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังทำอยู่ และพยายามจะให้แล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือนนี้ 

“เมื่อระบบ SPR สำเร็จ 100% จะช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันและกองทุนฯ ได้อย่างยั่งยืน และเป็นระบบที่ถูกต้อง โดยยืนยันว่าไม่กระทบกับเอกชนแน่นอน และจะไม่ให้ปรับราคาขึ้นลงทุกวันตามอำเภอใจแบบนี้อีก จะให้ปรับได้เดือนละครั้ง ต้องเอาต้นทุนมาเคลียร์กับกระทรวงแล้วมาหาราคาเฉลี่ยกันว่าจะปรับขึ้นลงยังไง กฎหมายผมจะไม่มีตารางส้ม (ตารางต้นทุนผู้ค้าน้ำมันของสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน) แบบนี้อีกแล้ว ผมจะใช้ต้นทุนจริง ไม่ใช่ต้นทุนอ้างอิงสิงคโปร์อะไรกันอีก ทุกอย่างต้องเป็นของจริง ในกฎหมายที่ผมจะออกใหม่จะชัดเจนดูแลได้ทั้งหมด”

‘หลาน’ สานฝัน!! ‘ปู่วัย 102 ปี’ พาเที่ยวทะเลครั้งแรกในชีวิต พร้อมเผยสาเหตุที่ไม่เคยไป เพราะลูกหลานทำงานกันหมด

(7 พ.ค. 67) จากกรณีผู้ใช้ติ๊กต็อก @userreepij10o4 โพสต์ข้อความสุดน่าประทับใจของคุณปู่ ระบุข้อความว่า “ในเมื่อปู่ของฉันอายุ 102 ปี อยากไปทะเล ลูกหลานก็จัดให้”

ต่อมาล่าสุด นางกนกพิชญ์ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นหลานสาว ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม หลาน ๆ กลับมาจากกรุงเทพฯ มาที่บ้านใน อ.ดงเจริญ จ.พิจิตร จึงมาถามปู่ว่า “อยากไปเที่ยวระยองไหม ไปเที่ยวทะเล” ปู่ก็บอกว่า “กูจะไปเที่ยวไหวไหม ชีวิตนี้กูยังไม่เคยเห็นทะเลสักทีเลย” พวกตนเลยพาปู่ไปเที่ยวทะเลที่อ่าวไข่ จ.ระยอง

เมื่อไปถึงทะเลปู่ก็บอกว่า “คิดว่ามันจะเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาแถวพิจิตรบ้านเรา” แล้วก็ตกใจว่าทำไมทะเลถึงใหญ่ขนาดนี้ แล้วก็ค่อย ๆ เดินลงทะเล เพราะว่ากลัวไม่กล้าลงทะเลไป แต่เมื่อเดินลงไปแล้วคุณปู่ก็มีความสุขมาก ยิ้มตลอด

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณปู่แข็งแรงมาก ไม่เคยป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลเลย มาวันนี้ได้สานฝันให้คุณปู่ ลูกหลานก็รู็สึกปลื้มและประทับใจกันทุกคนที่ได้พาปู่ไปในบั้นปลายชีวิต เพราะปู่ยังไม่เคยไปทะเลสักครั้งในชีวิต

อีกทั้งปู่เคยบอกว่า “ชีวิตนี้ขอให้ได้ไปทะเลสักครั้งเถอะ” พอได้ไปแล้วก็บอกว่า “สมใจแล้ว เดี๋ยวก็แก่ตายแล้ว” แต่ตนเชื่อว่าปู่แข็งแรงยังอยู่กับลูกหลานได้อีกนาน

ทั้งนี้ หลังจากกลับมาจากทะเลคุณปู่ก็พูดแล้วพูดอีกว่า “ดีใจจริง ๆ เนาะได้ไปทะเล ทะเลมันก็สวย กว้างก็กว้าง ของกินก็อร่อย” หลาน ๆ ก็เลยถามปู่ว่าอยากไปอีกไหม ปู่ก็บอกว่า “อยากไป ถ้ามีโอกาสพาไปใหม่นะ” ตนคิดว่าเพราะปู่ไม่เคยไป พอได้ไปก็ติดใจ

ส่วนสาเหตุที่ปู่ไม่เคยไปทะเล เพราะลูกหลานไปทำงานกันหมด แต่พอได้ไปเห็นโลกกว้าง เลยอยากพาปู่ไปบ้าง อีกทั้งปู่เคยบ่นว่าอยากไป เลยอยากพาปู่ไปสักครั้ง

สุดท้ายนี้ อยากฝากบอกลูกหลานทุกคนว่าถ้ามีโอกาส ให้พาไปเถอะ บางทีเขาอยากไปแต่ไม่รู้จะเอ่ยขอลูกหลานยังไง เพราะคิดว่าลูกอาจจะไม่มีเงิน แต่พอได้พาไป ถือว่าคุ้มมากจริง ๆ

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดกิจกรรมน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดกิจกรรม น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อคนพิการ พระราชทานชื่อดอกไม้ประดิษฐ์  “ดอกแก้วกัลยา” เพื่อเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ และทรงมีพระดำรัสให้ฝึกอบรม  การประดิษฐ์ "ดอกแก้วกัลยา" ให้คนพิการ เพื่อให้มีอาชีพมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว

กิจกรรมที่จัดขึ้นภายในงานประกอบด้วย พิธีบำเพ็ญพระกุศลถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  การวางพานพุ่มดอกแก้วกัลยาถวายหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ พิธีมอบทุนการศึกษาให้คนพิการ / บุตรคนพิการ โดยมอบให้ประธานกรรมการประสานงานส่วนภูมิภาค ภาค 1 – 12 ของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ นำไปมอบให้แก่คนพิการ / บุตรคนพิการ  ดังกล่าว และมอบทุนประกอบอาชีพให้คนพิการ จำนวน 10 ทุน  โดยมี ร้อยตำรวจโท ดร.มนัส   โนนุช  ประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ เป็นประธานในพิธี  ในวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 ตึกนวมหาราช สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

‘รมว.ปุ้ย’ อัปเดตปมขนย้าย ‘กากแคดเมียม’ ชี้ ดำเนินการถึง จ.ตากแล้ว จำนวน 8 คัน

(7 พ.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวพิมพ์ภัทรา​ วิชัยกุล​ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม​ กล่าวถึงการขนย้ายกากแคดเมียม​ ว่า​ ตนเป็นห่วงเรื่องฝน​ ขณะนี้พยายามขนกากแคดเมียมที่อยู่นอกอาคารเข้าไปเก็บในอาคาร​ และพยายามให้เป็นไปตามแผน​อันไหนที่ปรับเพื่อคลายความกังวลของประชาชนก็ทำ​ เช่น​ เรื่องรถขนส่ง เปลี่ยนมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์​ทั้งหมด​ โดยเมื่อวานนี้ออกจากจังหวัดสมุทรสาครไปแล้ว​ 8 คัน ถึงที่หมายจังหวัดตากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว​ และตอนนี้กำลังเคลื่อนถุงลงจากรถ​

ส่วนจำนวนรถเพียงพอต่อการขนย้ายหรือไม่​ นางสาวพิมพ์​ภัทรา​ กล่าวว่า​ เราพยายามทำตามกำหนดการ ถ้ามีรถเพิ่มขึ้นก็จะดีที่สุด​

เมื่อถามถึงกรณีเหตุไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม​บ่อยครั้ง​ นางสาวพิมพ์​ภัทรา​กล่าวว่า​ ส่วนหนึ่งมาจากอากาศ​ ซึ่งตอนนี้มีการเฝ้าระวัง​ ล่าสุดคณะกรรมการ​สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ​ ที่มีพลตำรวจเอกพัชรวาท​ วงษ์​สุวรรณ​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ทรัพยากรธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​ เป็นประธาน​ โดยได้สั่งการให้แต่ละจังหวัด​ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง​ ออกสำรวจพื้นที่​โรงงานที่มีความเสี่ยง​ ภายใน​ 20 วัน​ และนำรายชื่อเข้าคณะกรรมการ​และกระทรวง​อุตสาหกรรม​เอง​โดยทางกรมโรงงานได้แบ่งคณะไปตรวจเหมือนกัน​ แต่เรื่องนี้คงต้องระมัดระวัง​ ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือหน่วยงานต้องช่วยกัน​

ส่วนที่กรรมาธิการ​การอุตสาหกรรม​สภาผู้แทนราษฎร​ วิเคราะห์ว่าเป็นการวางเพลิง​ เพื่อเลี่ยงกฎหมายใหม่ที่จะมาบังคับใช้​ นางสาวพิมพ์​ภัทรา​ กล่าวว่า​ คิดได้หลายมุม​ อันดับแรกกฎหมายบังคับแล้ว​ว่าจะต้องเคลียร์กากตะกอนสารเคมีออกจากโรงงาน​ ถ้าคิดในมุมไม่ดี​ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่​ การเผาไม่ต้องเสียค่ากำจัด​ ซึ่งผู้ประกอบการต้องยอมรับด้วยว่าการกระทำแบบนี้มีผลกระทบต่อประชาชน​โดยรอบจำนวนมาก​ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องการวางเพลิงไม่ได้​ จะต้องยกระดับความรุนแรง​ ปฏิบัติการแบบนี้หมายถึงความมั่นคงแล้ว​ ตนจึงขอความช่วยเหลือจากฝ่ายความมั่น​คง​ ไม่ว่าตำรวจหรือดีเอสไอ​ เข้าไปดูแลเรื่องนี้ด้วย​

นางสาวพิมพ์​ภัทรา​ ยังกล่าวอีกว่า​ โรงงานที่ถูกศาลสั่งให้คืนพื้นที่และต้องจัดการ กับการสารเคมีทราบว่ามีกี่เจ้า​ เพียงแต่เวลาทำไม่ดีทำได้ง่ายกว่า​ คนที่ไม่รับผิดชอบทำง่ายกว่าคนที่รับผิดชอบ​ ซึ่งขณะนี้มีโรงงานในลักษณะ​ดังกล่าว​ 6-10 โรงงาน​

ส่วนจะเอาผิดโรงงานเหล่านี้ได้หรือไม่​ นางสาวพิมพ์​ภัทรา​ กล่าวว่า​ วันนี้ที่ทำควบคู่กันไปคือ​กรมโรงงานอุตสาหกรรม​เสนอแก้กฎหมายเพิ่มโทษ​ พร้อมย้ำว่า​ เรื่องนี้เป็นภัยความมั่นคง​ ที่ชาวบ้านโดยรับได้รับผลกระทบ​ เราไม่ได้มองแค่เรื่องไฟไหม้​ แต่ยังมองไปถึงสภาพอาการที่ชาวบ้านต้องเจอ​ ส่วนที่เริ่มเข้าฤดูฝน​ขณะนี้มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​มามอร์​นิเตอร์เรื่องสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ​ ตนเข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่เจอปัญหามากที่สุด​ พร้อมระบุว่า ยืนยันได้ลำบากว่าน้ำจะปนเปื้อนสารเคมีจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่​ อย่างที่จังหวัดระยองและพระนครศรีอยุธยา​ ขณะนี้ได้ขอให้กรมป้องกัน​และ​บรรเทา​สาธารณภัย​ หรือ​ ปภ.​สร้างพนังกั้นน้ำ​ แต่ต้องดูว่าจะสามารถทำได้หรือไม่​ พร้อมยอมรับว่ามีความกังวล

นางสาวพิมพ์​ภัทรา​ กล่าวทิ้งท้ายว่า​ ช่วงนี้ กรธ.การอุตสาหกรรมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงไปชี้แจงทุกสัปดาห์​ ซึ่งสัปดาห์นี้หาไม่ติดธุระ​ ตนก็จะไป

‘หนุ่ม กรรชัย-อ.อ๊อด’ ประกาศยุติความบาดหมาง 17 เดือน หลังมีผู้ใหญ่ช่วยเป็นกาวใจ พร้อมกลับมาเป็นพี่น้องกันดังเดิม

(7 พ.ค. 67) หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง ได้แชร์โพสต์ อ.อ๊อด วีรชัย ซึ่งโพสต์ภาพครั้งเคยร่วมเฟรมด้วยกัน พร้อมโพสต์ข้อความ ประกาศเซ็ตซีโรจบปมทะเลาะ 17 เดือน ขอถอนทุกคดีที่มีต่อกัน โดยมีผู้ใหญ่เข้ามาช่วยประสานความเข้าใจ

โดยข้อความอ.อ๊อด ระบุว่า “Set Zero กลับมาเป็นพี่น้องกัน รักกัน เหมือนเดิม ไม่รู้จะทะเลาะกันไปทำไม!

อาจารย์อ๊อดเขียนกระทู้นี้ จากหัวใจ หลังจากที่เข้าใจผิดพี่หนุ่ม กรรชัย และเข้าใจผิดรายการ ข่าวเที่ยงวันทันเหตุการณ์ช่อง 3 ตั้งแต่ เหตุการณ์ วันที่ 25 ตุลาคม 2565 และเหตุการณ์ วันที่ 19 มกราคม 2566 
เราทั้งสองคนทะเลาะกันมา 17 เดือน นั่นคือเวลาที่สูญเสียไป เกือบ 2 ปี เพราะไม่มีโอกาสได้คุยกันแบบเปิดอกลูกผู้ชาย จนในที่สุดอาทิตย์ที่แล้ว เราได้มีโอกาสนั่งคุยกันมากขึ้นต่อเนื่อง จากการประสานงานของ คุณ ปองพล สะสมทรัพย์ นักธุรกิจชื่อดัง และเมื่อวานนี้เองวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ก็ได้มีโอกาสนั่งกินข้าวกันอีกครั้ง ผู้ใหญ่ช่อง 3 ให้เกียรติมาพูดคุย พี่หนุ่มกรรชัยก็มาพูดคุย อาจารย์อ๊อดก็รายงานความคืบหน้าให้ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทราบเป็นระยะ 

พี่หนุ่มก็ยังคงเป็นพี่ชายที่น่ารักเหมือนเดิม ต้องขอบคุณ คุณปองพล สะสมทรัพย์ เจ้าของ สถานที่ สนามกอล์ฟ Nikanti Golf Club อำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม อย่างสูง บรรยากาศและวิวสวยมาก ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส และอารมณ์ดีกันหมด 

อาจารย์อ๊อดต้องบอกว่า เสียใจมากที่เข้าใจผิด ในหลายเรื่อง เพราะรับทราบว่าผู้ใหญ่ช่อง 3 เองและพี่หนุ่มเองว่า ทั้งสองท่านไม่ได้คิดในทางที่ไม่ดีกับอาจารย์อ๊อดเลย เราทำความเข้าใจกัน อาจารย์อ๊อดขอโทษทั้งสองฝ่าย และผู้ใหญ่และพี่หนุ่มกรรชัยเองก็ได้ขอโทษอาจารย์อ๊อดเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการเซ็ตซีโร่กลับมา เป็นพี่น้องกันเหมือนดังเคยเป็น มาในอดีตอย่างยาวนาน ต้องขอโทษแฟนคลับ ของทุกฝ่าย ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ตลอดเวลาเกือบ 2 ปี

อาจารย์อ๊อดและพี่หนุ่มกรรชัย ขอถอนทุกคดี ที่มีต่อกัน แล้วจะไม่มีวันกลับมาฟ้องร้องกันอีกครับ ในส่วนคดีที่ได้ฟ้องช่อง 3 อาจารย์อ๊อดก็ขออนุญาตถอนเองโดยไม่ขอเรียกร้องสิ่งของเงินทองใด ๆ เพราะเข้าใจทุกเรื่องราวดีหมดแล้ว มันเสียเวลาที่จะต้องมา ทะเลาะกันอีกหลายปีในศาล ขอใช้เวลาดังกล่าวมาทำประโยชน์เพื่อสังคมร่วมกันต่อไปครับ

ชีวิตต้องเดินต่อไปครับ FC ทั้งหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นดีเสมอ อาจารย์อ๊อดและพี่หนุ่มกรรชัยกลับมารักกันเหมือนเดิมแล้ว ก็อยากจะให้ แฟนคลับ FC ที่ไม่สบายใจและที่อาจจะเข้าใจผิด ได้โปรดเข้าใจ / เราเสียเวลาที่ต้องมาทะเลาะกันมากแล้ว เวลานับแต่นี้ ไป จะใช้เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม 

ขอแสดงความนับถือ
เขียนวันที่ 7 พฤษภาคม 2567”

ขณะที่ หนุ่ม กรรชัย แชร์โพสต์ พร้อมเขียนข้อความระบุว่า “ยินดีครับอาจารย์ อาจารย์เขียนซะยาวเลย ผมเลยไม่รู้ว่าจะต้องเขียนอะไรเลย ผมเองก็ต้องขอบคุณอาจารย์ด้วยนะครับ ที่รับฟังและเข้าใจในมุมของผม ยินดีที่เราได้คุยกันและปรับความเข้าใจกันนะครับ และถ้ามีสิ่งไหนที่ทำให้อาจารย์ไม่สบายใจก็ขออภัยอาจารย์เช่นกันนะครับ”

'มาริษ' ไม่รู้ 'ทักษิณ' คุยตัวแทนชนกลุ่มน้อย ชี้!! เป็นสิทธิของเขา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย

(7 พ.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานว่า ในเรื่องการทำงานขอพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศก่อน เพื่อให้ทุกอย่างมันเดินไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่ต้องการอย่างเดียวคือ การรับโจทย์จากนายกรัฐมนตรีมาว่าอยากเห็นนโยบายการต่างประเทศและประชาชนในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

เมื่อถามถึงกรณีสื่อโซเชียลระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ไปพูดคุยกับตัวแทนชนกลุ่มน้อยหลังเกิดปัญหาในเมียนมา ได้มีการตรวจสอบแล้วหรือยัง นายมาริษ กล่าวว่า ตนเองก็ได้ทราบข่าวมาเช่นกัน และต้องยอมรับว่านายทักษิณเป็นคนที่กว้างขวางและมีเพื่อนฝูงมาก ซึ่งทางเมียนมาก็คงเห็นว่านายทักษิณจะสามารถช่วยได้ คงเป็นเรื่องที่ทางเมียนมาคุยกับนายทักษิณ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย อย่างที่ตนบอกไปว่าเพิ่งจะทราบเรื่องดังกล่าว 

เมื่อถามย้ำว่า จุดยืนของรัฐบาลไทยคือ ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในเมียนมาหรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ถูกต้อง ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น และที่ผ่านมาไทยเองพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจา อีกทั้งไทยก็ดำเนินการตามกรอบของอาเซียนด้วย ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น บางอย่างกำลังดำเนินการอยู่ ขอยังไม่เปิดเผย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไทยต้องการเห็นความสมานฉันท์ปรองดองเกิดขึ้นในเมียนมา เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปอยู่อย่างนี้ประเทศไทยก็ลำบาก ในฐานะที่เรามีพรมแดนเชื่อมติดต่อกันกับเมียนมายาวมาก อะไรที่เกิดขึ้นก็จะกระทบกับไทย ฉะนั้น ใครที่ช่วยอะไรได้ก็ควรจะช่วย และไม่จำเป็นต้องทำอย่างเป็นทางการ อีกทั้งทางการเมียนมา รัฐบาล ชนกลุ่มน้อย ขอให้นายทักษิณมาช่วย ก็เป็นเรื่องของเขา

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางที่นายทักษิณไปช่วย ตรงกับแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ยังไม่เห็น เพราะเพิ่งได้ยินจากข่าว จึงไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร และอย่างที่บอกว่าการดำเนินการตรงนี้ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ทางการเมียนมาไปว่ากันเอง ถือเป็นสิทธิของเขาที่จะไปปรึกษาหารือกับใคร ย้ำว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ในส่วนของรัฐบาลก็ดำเนินการในส่วนของเรา ร่วมกับอาเซียน ขณะเดียวกัน ในการช่วยเหลือสิทธิมนุษยธรรมไทยก็ดำเนินการต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน

เมื่อถามถึงคณะกรรมการฉุกเฉินด้านชายแดนไทยเมียนมา นายกฯ ได้มอบหมายให้นายมาริษเป็นหัวหน้าชุด หรือมอบหมายให้รองนายกฯ นายมาริษ กล่าวว่า เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ขอไปพูดคุยกับทางกระทรวงให้เกิดความเหมาะสมก่อนว่ารายละเอียดควรเป็นอย่างไร และยืนยันว่ายังไม่ได้พูดคุยกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ส่วนที่มีการพูดคุยกันก่อนหน้ากับหน่วยงานด้านความมั่นคงนั้น ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด เพียงแต่นายกฯ ได้ให้นโยบายกว้าง ๆ ย้ำว่าขอหารือในรายละเอียดกับทางกระทรวงการต่างประเทศก่อน ซึ่งวันนี้นายกฯ ได้มอบนโยบายลงมาเรียบร้อย แต่ตนขอไปพูดคุยกับฝ่ายปฏิบัติก่อนว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งกับหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยว่าจะแบ่งงานอย่างไร เป้าหมายชัดเจนแล้วว่าเราต้องกำหนดวัตถุประสงค์ก่อนว่าเราต้องการอะไร และค่อยกำหนดว่าใครควรจะมีหน้าที่และเล่นบทบาทอย่างไร

เมื่อถามว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายรัฐกันชนแล้วใช่หรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า เดี๋ยวขอกลับไปคุยในรายละเอียดก่อน 

‘สุริยะ’ ยัน!! พร้อมสานต่อโครงการโคล้านตัว เล็งศึกษารายละเอียด-พูดคุยกับกองทุนหมู่บ้าน

(7 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางเข้าทำเนียบในเวลา 08.15 น. โดยขึ้นไปสักการะพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่จะลงมาไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลตายาย โดยระหว่างไหว้ บรรยากาศฟ้ามืดครึ้ม มีเสียงฟ้าร้องเป็นระยะ และเมื่อไหว้เสร็จ นายสุริยะได้ก้มลงกราบศาลพระภูมิและศาลตายาย ซึ่งถือเป็นคนแรกที่ก้มลงกราบ 

จากนั้น นายสุริยะให้สัมภาษณ์ว่า งานที่กำกับดูแลส่วนใหญ่ เป็นงานที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยกํากับดูแล

เมื่อถามว่า นายกฯ ได้ฝากฝังเรื่องอะไรบ้าง นายสุริยะ กล่าวว่า นายกฯ ได้สนับสนุนให้ตนมาทำงานตรงนี้ ขณะเดียวกัน ก็จะมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตนดูแลเพิ่มเติม ซึ่งนายกฯ ได้ให้กำลังใจ และแบ่งเวลาดูแลงานที่ตนรับผิดชอบ ให้เกิดประสิทธิภาพ และผลประโยชน์กับประชาชน

เมื่อถามว่า ภายหลังจากรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความไว้วางใจ ก็ต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถให้เต็มที่ ทำงานเหมือนนายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ต้องทำอย่างนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงาน

เมื่อถามว่า งานของกระทรวงคมนาคมก็เยอะอยู่แล้ว เมื่อมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มเข้ามา ก็ไม่น่ามีปัญหา ใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า เมื่อเราเป็นนักบริหารที่ดี ก็สามารถบริหารจัดการไปได้ งานในกระทรวงก็มีปลัดฯ ช่วยงานอยู่ ส่วนงานของรองนายกรัฐมนตรี ก็มีเจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ ช่วยเหลืออยู่

เมื่อถามว่า จะต้องสานต่อโครงการโคล้านตัวที่ต้องสานงานต่อจากนายสมศักดิ์หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเข้าไปดูรายละเอียดว่าจะเดินหน้าอย่างไร และจะต้องมีการพูดคุยกับกองทุนหมู่บ้านอีกครั้ง 

เมื่อถามว่า จะกำกับดูแลในส่วนของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ด้วยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ในส่วนรายละเอียด ต้องรอให้มีการสั่งการอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตนจะต้องรับผิดชอบส่วนใดบ้าง ต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้ง

'ปชป.’ เหน็บ!! 'ภูมิธรรม' กินข้าวโชว์ก็เปลี่ยนคำพิพากษาไม่ได้ ถาม? ช้อนซื้อที่ไหน ตักติดแต่กับไม่ค่อยติดข้าว 

(7 พ.ค.67) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ออกมายืนยันว่า โกดังข้าว 10 ปียังกินได้ว่า...

เรื่องนี้คงไม่มีใครขัดข้องถ้าข้าวที่เก็บไว้ในโกดังยังมีคุณภาพดี สามารถบริโภคได้ หุงได้ กินได้ แต่ดูจากข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่นำข้าวสารไปเตรียมการหุง ก่อนหุงข้าว ซาว 13-15 น้ำ นั้น น้ำซาวข้าวมีมอดลอยอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมแสดงให้เห็นว่าข้าวไม่ได้คุณภาพอย่างแท้จริง นายภูมิธรรมควรเอาข้าวในโกดังดังกล่าวไปหุงให้รัฐมนตรีได้กินกันทั้งคณะในทุกวันอังคารที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ต้องแนะนำแม่บ้านที่หุงข้าวไม่อยากให้ซาวน้ำหลายครั้งเพราะถ้าซาวน้ำมากกว่า 3 ครั้ง อาจจะทำให้สูญเสียสารอาหารและกลิ่นหอมในข้าวได้ ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและประหยัดค่าใช้จ่ายได้

นายราเมศกล่าวต่อไปว่า กระบวนการตรวจคุณภาพของข้าวว่ามีคุณภาพสามารถบริโภคได้หรือไม่ มีกระบวนการหลักการอยู่ มีหลายหน่วยงานที่สามารถเข้ามาช่วยกันได้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่าบริโภคได้แน่ เพราะถ้าหากข้าวที่ไม่มีคุณภาพหลุดออกไปประชาชนผู้บริโภคคือผู้รับกรรม การตักข้าวใส่ปากกินโชว์ของรองนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่มาตรฐานการตรวจวัดคุณภาพข้าว และภาพมันฟ้องว่าแม้แต่ตัวรองนายกเองก็ไม่มีความกล้าเต็มร้อย เพราะเน้นกับไม่เน้นข้าว มีคนฝากถามช้อนซื้อที่ไหนตักติดแต่กับไม่ค่อยติดข้าว และอีกอย่างที่รองนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะสื่อสารคือโครงการรับจำนำข้าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งการมากินข้าวโชว์ก็เช่นกันที่ไม่สามารถมาลบล้างเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีทุจริตรับจำนำข้าวได้แม้แต่บรรทัดเดียว 

'ขุนคลัง' รับ!! 'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' มีอิสระในเรื่องนโยบายการเงิน  แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

(7 พ.ค.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่ และศาลตายายประจำทำเนียบรัฐบาล ภายหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

จากนั้น นายพิชัย ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้เป็นวันเข้าทำงานอย่างเป็นทางการของตน ซึ่งจะเข้าทำงานทั้งสองที่ คือที่ทำเนียบรัฐบาล และที่กระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีการหารือเป็นการภายใน แต่ตนทราบอยู่แล้วว่าภารกิจเร่งด่วนคืออะไร ซึ่งตนจะใช้หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ในการสะสาง และจัดการปัญหาที่คิดว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และดีต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตนจะทำอย่างสุดความสามารถ

เมื่อถามว่า สัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นงานประจำไปแล้ว ซึ่งต้องมีการพูดคุย และมีการรายงานความคืบหน้าอยู่ตลอด

เมื่อถามว่า จะมีการแถลงข่าวหรือรายงานความคืบหน้าอย่างไรเมื่อมีการแบ่งงานให้กับรมช.คลัง นายพิชัย กล่าวว่า ตนขอหารือในช่วงบ่ายนี้ก่อน ซึ่งตนมีข้อมูลอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงโปรเจกต์ของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจจากนี้จะมีอะไรหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกคนทราบผลลัพธ์ และเห็นปัญหาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใด เพียงแต่ทุกคนมองปัญหา และมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ฉะนั้น เราคงต้องหาข้อยุติที่ตกผลึกแล้ว และพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันมากที่สุดเพื่อนำมาซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า จะต้องมีการพูดคุยปัญหากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ร่วมกับธปท. ที่เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่องทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก่อนจะเดินทางได้เราต้องตกผลึก และทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

เมื่อถามว่า หากมีโอกาสจะพูดคุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท.หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า แน่นอน เป็นหน้าที่ที่ต้องพูดคุยอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มองเป็นเรื่องยากหรือไม่ที่จะพูดคุยกับผู้ว่าธปท. นายพิชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าผู้ว่าธปท. จะคุยด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ประกอบกับในอดีตตนเคยสัมผัสกันอยู่แล้วบ้างในช่วงที่ทำงานด้านการธนาคาร ฉะนั้น จึงคิดว่าจะพูดคุยกัน และไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันได้

เมื่อถามถึงกระแสข่าวการแก้ไขกฎหมายให้ธปท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล นายพิชัย กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องนี้มาดูกันอีกทีดีกว่าว่าใช่ปัญหาหรือไม่

เมื่อถามถึงกระแสต่อต้านเนื่องจากมองว่าธปท.ควรเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า ก็เป็นธรรมชาติ และทุกคนต้องมีความเห็นต่าง แต่ถ้าคุยกันแล้วตกผลึกได้ ตนก็เชื่อว่าความเห็นต่างก็จะค่อย ๆ แคบลง และนำมาซึ่งข้อสรุปที่ดี

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจมองว่าธปท. ควรอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาลหรือเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า จริง ๆ ท่านก็อิสระอยู่แล้วในเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งตนมองว่าความอิสระนั้นก็มีมาตลอด และสามารถกำหนด และตัดสินได้ด้วยวิจารณญาณ รวมถึงคนที่เข้ามาร่วมกันตัดสินนโยบาย ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

เมื่อถามว่า เมื่อเข้ามาเป็นรมว.คลัง ปัญหาที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยพูดถึงจะหมดไปหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ขอตอบ ขอให้ได้หารือกับท่านก่อน ส่วนจะมีโปรเจกต์อื่น ๆ มาดูแลประชาชนในช่วงนี้หรือไม่นั้น ก็จะเป็นเรื่องคู่ขนานในการที่เราจะหาเครื่องมือมาผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่พร้อมกับแก้ปัญหาเดิม ซึ่งคนร่วมผลักดันจริง ๆ คือประชาชนจริง และหน่วยงานทั้งหมด ฉะนั้น หากเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็จะมีแรงขับเคลื่อน ก็น่าจะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด

‘อนุทิน’ ชี้ ‘แบงก์ชาติ’ ต้องมีอิสระในการทำงานเพื่อบ้านเมือง ยัน!! พรรคร่วมพร้อมหนุนทุกนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(7 พ.ค. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสวิจารณ์ถึงความเป็นกลางของแบงก์ชาติ ระบุว่า “ทุกหน่วยงานต้องมีอิสระในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานใดก็ตาม เราก็ต้องทำตามสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมือง และทำตามนโยบายของรัฐบาล ตราบใดที่นโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และประชาชน หลักการมีแค่นี้”

“ในฐานะพรรคร่วม ย้ำว่านโยบายของรัฐบาล อย่าง เงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น เป็นนโยบายหรือไม่ อยู่ในสมุดปกขาวใช่หรือไม่ ก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาล คือการที่จะทำนโยบายนี้ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ แน่นอนจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าหลักสำคัญเรื่องนี้ถูกพิสูจน์ได้ เช่นได้รับคำยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลหรือจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ่งเหล่านี้ก็ต้องถือว่าพรรคร่วม ก็ต้องสนับสนุน” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวเสริมว่า “ทั้งนี้ตนไม่ใช่นักกฎหมาย เราก็ต้องให้คนที่มีความชำนาญด้านกฎหมาย เป็นผู้ชี้แจงต่อรัฐบาล และประชาชน ในกรณีนี้รัฐบาลทุกรัฐบาล เรามีสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นที่ปรึกษากฎหมายแห่งรัฐ เราต้องฟังความเห็น”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top