Monday, 28 April 2025
TodaySpecial

23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ‘นายพลโตโจ’ อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นถูกแขวนคอ ในความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม

วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 อดีตนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ‘โตโจ ฮิเดกิ’ ถูกประหารชีวิต ด้วยการแขวนคอ ในฐานะอาชญากรสงคราม

โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) คือนักการทหารและนักบริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เขาได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปราบกลุ่มกบฏ 'ยังเติร์ก' ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียในปีต่อมา

ตำแหน่งหน้าที่ของ โตโจ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา ในปี 1938 (พ.ศ. 2481) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม และเขาก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีของกลุ่มอักษะสำเร็จในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ปีเดียวกันกับที่เข้าได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามเต็มตัว จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปี เขาก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ฟูมิมาโระ โคโนเอะ โดยยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามต่อไป

โตโจ นอกจากจะเป็นข้าราชการที่ได้ชื่อเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขายังเป็นนักการทหารที่มีนโยบายก้าวร้าวที่สุดในบรรดาผู้นำญี่ปุ่น เขาคือผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งเบื้องต้นได้ทำให้ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนนานาชาติ

วันนี้สำหรับชาวคริสต์ ถือเป็นวันคริสต์มาสอีฟ แต่สำหรับประเทศไทย ย้อนไปเมื่อ 82 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เป็นวันที่ทางการประกาศให้วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม เป็นครั้งแรก

แรกเริ่มเดิมที เมืองสยามของเรากำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย โดยคำว่าเดือนอ้าย หมายถึงเดือน 1 หากนับตามปฏิทินจันทรคติไทย มักจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดใหม่ให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่แทน กระทั่งเวลาผันผ่านมาจนถึง วันที่ 24 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 มกราคม

25 ธันวาคม ‘วันคริสต์มาส’ ยึดถือเป็นวันประสูติของ ‘พระเยซู’ ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์

วันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคริสต์มาส วันสำคัญของคริสต์ศาสนิกชน ซึ่งยึดถือกันว่าเป็นวันเกิดของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์

วันคริสต์มาส ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี เป็นเทศกาลทางศาสนาเพื่อรำลึกวันประสูติของ พระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์ ที่พวกเขาเชื่อกันว่าพระองค์เป็นโอรสของเทพแห่งพระอาทิตย์ โดยคำว่า คริสต์มาส มาจากคำว่า ‘Mass of Christ’ หรือ ‘พิธีมิสซาของพระคริสต์’

โดยพบคำนี้ครั้งแรกในเอกสารโบราณในปี ค.ศ. 1038 ภายหลังแปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas สำหรับประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันเกิดของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซ่าร์ ออกัสตัสแห่งโรมัน ทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็ขานรับนโยบาย อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุว่าพระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร

 

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ครบรอบ 16 ปี ‘สึนามิถล่มไทย’ หายนะครั้งรุนแรงจากคลื่นยักษ์

26 ธันวาคม 2547 หรือ วันนี้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับหายนะครั้งรุนแรง จากคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’

เริ่มต้นเมื่อเวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ที่ละติจูด 3.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.7 องศาตะวันออก ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ในเวลา 08.30 น. เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้อีกครั้ง ศูนย์กลางอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 200 กิโลเมตร ที่ละติจูด 20.76 องศาเหนือ 98.04 องศาตะวันออก มีขนาดประมาณ 6.4 ริกเตอร์ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นใต้น้ำ ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ (TSUNAMI) ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย อาทิ หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะรน รวมถึงหาดในยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อย่างรุนแรง

27 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ‘แพรวา’ ขับซีวิคชนรถตู้บนโทลล์เวย์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ

ครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์ ‘แพรวา’ สาววัยรุ่นขับฮอนด้า ซีวิค ชนรถตู้บนทางด่วนโทลล์เวย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน หรือคืนวันที่ 27 ธ.ค. 2553  เมื่อเยาวชนหญิงคนหนึ่ง ซึ่งทราบภายหลังว่าชื่อ แพรวา หรือ อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขณะอายุ 16 ปี 6 เดือน ขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิค ชนรถตู้โดยสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต -อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า ช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

และสิ่งที่ทำให้คาใจเป็นภาพที่ติดตาคนไทยมากที่สุด นอกจากจำนวนของผู้เสียชีวิตที่มากถึง 9 รายแล้ว ภาพของวัยรุ่นผู้นี้ กับท่ายืนกดโทรศัพท์หลังเกิดเหตุ ราวกับไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความสูญเสีย หรือเธอกำลังใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ได้กลายเป็นหนึ่งในชนวนที่ก่อให้เกิดกระแสสังคมรุมโจมตีเธออย่างหนัก แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 เปิดใช้ ‘สนามบินสระปทุม’ สนามบินแห่งแรกของไทย

วันนี้เมื่อ 109 ปีก่อน ประเทศไทยได้เริ่มต้นทดลองกิจการการบินเป็นครั้งแรก โดยใช้ ‘สนามบินสระปทุม’ ซึ่งนับเป็น สนามบินแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่สนามม้าสระปทุม (สนามม้าราชกรีฑาสโมสร) ถ.อังรีดูนังต์

วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ได้นำเครื่องบินจำนวน 8 ลำ ที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ เครื่องบินเบรเกต์ (breguet) ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 ลำ โดยรัฐบาลไทยสั่งซื้อจำนวน 3 ลำ, เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สั่งซื้อให้อีก 1 ลำ และเครื่องบินนิเออปอร์ต (nieuport) ปีกชั้นเดียว จำนวน 4 ลำ มาใช้ในการทดลองการบินเป็นครั้งแรก

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากทดลองการบินไปได้ระยะหนึ่ง พบว่า พื้นที่สนามม้าสระปทุมคับแคบเกินไป และเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมในช่วงฤดูฝน รัฐบาลไทยจึงจัดหาพื้นที่ใหม่ในการสร้างสนามบิน

28 ธันวาคม ของทุกปี วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ไทยผู้กอบกู้เอกราชจากพม่า

วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า ‘สิน’ (ชื่อจีนเรียกว่า ‘เซิ้นเซิ้นซิน) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ ‘นายไหฮอง’ ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ’นางนกเอี้ยง’ ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ 3)  ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย 

ต่อมาเมื่ออายุครบ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้น พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช ‘สมเด็จพระบรมราชาที่ 3’ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตากครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น ‘พระยาตาก ปกครองเมืองตาก’ พระราชกรณียกิจสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรี

30 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ญี่ปุ่นเปิดรถไฟใต้ดินสายกินซะ เส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในทวีปเอเชีย

วันนี้ เมื่อ พ.ศ. 2470 ญี่ปุ่นเปิดการจราจรรถไฟใต้ดินสายกินซะในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในทวีปเอเชีย วันที่ 30 ธ.ค.ของทุกปีจึงเป็นวันครบรอบสถานีรถไฟใต้ดินแห่งแรก

วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) - ญี่ปุ่นเปิดการจราจรรถไฟใต้ดินสายกิงซะในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในทวีปเอเชีย

โตเกียวเมโทรสายกินซะ (ญี่ปุ่น: 銀座線 โรมาจิ: Ginza-sen) หรือ สาย 3 กินซะ (ญี่ปุ่น: 3号線銀座線 โรมาจิ: 3-gōsen Ginza-sen) เป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายหนึ่งของบริษัทโตเกียวเมโทร ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีความยาวทั้งสิ้น 14.3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตชิบุยะ มินะโตะ ชิโยะดะ และไทโต

สัญลักษณ์ของโตเกียวเมโทรสายกินซะที่ปรากฏบนแผนที่หรือป้ายบอกทางจะใช้สีส้ม และตัวอักษรภาษาอังกฤษ 'G'

โดยรถไฟใต้ดินสายกินซะเริ่มต้นขึ้น เมื่อนักธุรกิจนามว่า โนะริสึงุ ฮะยะกะวะ ได้เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1914 ได้เห็นกิจการรถไฟใต้ดินลอนดอน จึงเกิดความคิดว่าโตเกียวจะต้องมีรถไฟใต้ดินเป็นของตัวเอง เขาจึงก่อตั้งบริษัทรถไฟใต้ดินโตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京地下鉄道 โรมาจิ: Tōkyō Chika Tetsudō) ขึ้นในปี ค.ศ. 1920 และเริ่มก่อสร้างในอีก 5 ปีต่อมา

เส้นทางระหว่างอุเอะโนะและอะซะกุซะได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1927 ซึ่งถือเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในซีกโลกตะวันออก ทันทีที่เปิดให้บริการได้รับความนิยมจากผู้โดยสารมาก เพราะสามารถลดระยะเวลาในการรอรถไฟจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียงแค่ 5 นาที

ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1930 ได้ขยายเส้นทางออกไปอีก 1.7 กิโลเมตร จนถึงสถานีมันเซบะชิ ซึ่งต่อมาสถานีนี้ถูกยกเลิกในอีก 1 ปีต่อมา เมื่อขยายเส้นทางออกไปอีก 500 เมตร จนถึงสถานีคันดะ การก่อสร้างชะงักลงช่วงหนึ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ แต่สุดท้ายสามารถขยายเส้นทางได้จนถึงสถานีชิมบะชิตามแผนการที่วางไว้

31 ธันวาคม พ.ศ.2549 เหตุระเบิดป่วนกรุง 9 จุด สร้างความแตกตื่นคืนข้ามปี

ย้อนกลับไปคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ต่อเนื่องถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ได้เกิดเหตุระเบิดป่วนเมือง ที่สร้างความแตกตื่นให้กับชาวกรุงเทพในคืนข้ามปี

โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีการวางระเบิดในกรุงเทพถึง 9 จุด ประกอบด้วย

จุดที่ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกิดระเบิด 2 ครั้ง เวลาประมาณ 18.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 คน และเสียชีวิต 2 คน โดยระเบิดถูกวางไว้ที่บริเวณป้ายจอดรถประจำทางหน้าห้างเซนเตอร์วัน

จุดที่ 2. แยก ณ ระนอง คลองเตย ระเบิดถูกซุกไว้ในถังขยะใกล้ศาลเจ้าจีน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน เสียชีวิต 1 คน

จุดที่ 3. แยกสะพานควาย ระเบิดถูกวางไว้ที่ป้อมตำรวจบริเวณสี่แยก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน

จุดที่ 4. ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ เขตประเวศ ระเบิดถูกพบในขณะที่ยังไม่ทำงานบริเวณชั้น 1 ของศูนย์การค้า หลังจากตรวจพบได้ย้ายระเบิดไปยังลานจอดรถและเกิดระเบิดขึ้น แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่สั่งปิดห้างฯชั่วคราว

จุดที่ 5. แยกแคราย บริเวณป้อมตำรวจ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

1 มกราคม พ.ศ. 2552 ครบรอบ 13 ปี ‘ไฟไหม้ซานติก้าผับ’ โศกนาฏกรรมรับปีใหม่ที่ยากจะลืม

เช้าวันแรกของปีที่ควรจะมีแต่ความสดชื่นและเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง แต่ทว่าในวันนี้เมื่อราว 13 ปีก่อน ได้เกิดโศกนาฏกรรมกลางดึกในคืนวันเคาท์ดาวน์ ต่อเนื่องถึงเช้าวันแรกของปี พ.ศ. 2552

เกิดเหตุเพลิงไหม้ ‘ซานติก้าผับ’ ย่านเอกมัย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 66 คน ต้นเหตุของโศกนาฎกรรมครั้งนั้น เกิดขึ้นภายหลังการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ได้ไม่กี่นาที เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ลุกลามไปทั่วอย่างรวดเร็ว ชั่วเวลาไม่นาน ภายในร้านกลายเป็นทะเลเพลิง ผู้คนนับร้อยต่างพากันวิ่งหนีเปลวไฟที่โหมกระหน่ำอย่างรวดเร็ว โชคร้ายที่ทางออกของร้านนั้นคับแคบ และมีประตูทางออกไม่กี่ทาง ส่งผลให้มีผู้คนเบียดเสียดเหยียบล้มทับกัน ในที่สุดก็สำลักควัน และเสียชีวิตอยู่ภายในร้านนับได้ในขณะนั้น 66 ชีวิต

สำหรับซานติก้าผับได้เปิดทำการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 เป็นอาคารเดี่ยวในพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตรปลูกอยู่ในพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ยกระดับ 3 ชั้น เป็น ชั้น1 ชั้น 2 และชั้นใต้ดิน ซานติก้าผับ มีประตูทางออก 4 ประตู โดยแบ่งเป็น ประตูทางออกสำหรับบุคคลสำคัญ และ ประตูทางออกสำหรับออกไปสูบบุหรี่ ประตูทางออกหลัก 2 ประตู


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top