Monday, 28 April 2025
TodaySpecial

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 คุณทองแดง ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัว เป็นสุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 9

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรับคุณทองแดง เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

คุณทองแดง เป็นลูกของ ‘แดง’ สุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9 ทรงนำมาเลี้ยงหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศูนย์การแพทย์พระราม 9 และนายแพทย์คนหนึ่งนำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร คุณทองแดงเกิดหลังลูก ๆ ของคุณมะลิไม่กี่วัน และทรงยกให้คุณมะลิเลี้ยงดู ทองแดง มีพี่น้องรวม 7 ตัว ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อให้ว่าทองแดง เพศเมีย, คาลัว เพศเมีย, หนุน เพศเมีย, ทองเหลือง เพศผู้ ได้ไปอยู่บ้านของข้าราชบริพารคนหนึ่ง, ละมุน เพศเมีย, โกโร เพศเมีย, โกโส เพศเมีย

คุณทองแดงมีลักษณะพิเศษต่างจากลูกสุนัขตัวอื่น คือ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา มีหางม้วนขดเป็นวง ปลายหางดอกสีขาว และมีจมูกแด่น ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 วันคล้ายวันเกิด ‘พระยาอนุมานราชธน’ นักปราชญ์ไทย ที่ยูเนสโกยกย่อง

วันที่ 14 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของ พระยาอนุมานราชธน ผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก โดยได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 โดยปีนี้ (พ.ศ. 2565) จะครบรอบวันคล้ายวันเกิด 134 ปี ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย โบราณคดี นิรุกติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศาสนาและประเพณี โดยเฉพาะวิชาวัฒนธรรม

ท่านได้นิพนธ์เรื่องราวทางวัฒนธรรมเป็นภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ Introducing Cultural Thailand in Outline เป็นต้น อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

15 ธันวาคม วันชาสากล วันรณรงค์ให้ตั้งราคาสินค้าใบชาอย่างเป็นธรรม กับเครื่องดื่มที่อยู่คู่มนุษยชาติกว่า 2,000 ปี

‘วันชาสากล’ วันที่เกษตรกรผู้ปลูกชา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการค้าชา และเป็นวันแห่งเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก!!

วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็น ถูกยกให้เป็น ‘วันชาสากล’ (International Tea Day) วันนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2548 จุดเริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ ในเบงกอลตะวันตก และหลายรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชาของตน โดยในช่วงนั้น แม้ว่าชาจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียกลับมีความอ่อนแอและบริหารจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ 

กระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC – Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยได้รับความร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติด้วยอีกทาง ในที่สุดจึงสามารถเข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชาและทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

16 ธันวาคม วันกีฬาแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงพระปรีชาสามารถ ของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น วันกีฬาแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศไทย 

นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว แบดมินตันก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดมากเช่นกัน ในหอประชุมวังจิตรลดารโหฐาน ได้ปรับแต่งเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน ส่วนมากพระองค์จะทรงแบดมินตันในตอนเย็นและวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทางการกีฬานี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่าพระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง และทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด

17 ธันวาคม พ.ศ.2498 วันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

17 ธันวาคม พ.ศ.2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เสด็จสวรรคต

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย รวมทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดล ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบราชสันตติวงศ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

นอกจากนี้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดง อันเป็นชื่อของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งแรกตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว และองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2 และทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้น ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชสัมพันธ์ของพระองค์กับรัชกาลที่ 8 คือพระอัยยิกา (ย่า) และดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระชนม์ชีพยาวนาน 6 รัชกาล ก็ทรงพระประชวรหลังตกจากพระที่นั่งสูง 6 ฟุตกระแทกกับพื้นห้องทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก และต้องรักษานานถึง 3 เดือน ต่อมาอีก 5 ปี ก็ประชวรด้วยมีอาการอักเสบที่พระปับผาสะ

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุมเมื่อเวลาประมาณ 2 ยาม เนื่องจากคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากราบบังคมทูลว่าพระอาการหนักสุดที่จะแก้ไขแล้ว พระชนมชีพคงจะถึงที่สุดในไม่ช้า ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงยืนอยู่ปลายพระบาท พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลที่เฝ้าพระอาการ ส่วนหน้าห้องพระบรรทมนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับอยู่

18 ธันวาคม พ.ศ.2536 ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร

วันนี้ เมื่อ 29 ปีก่อน ดาวเทียมไทยคม ดาวเทียมดวงแรงของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร

18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร จากฐานส่งของบริษัท แอเรียนสเปซ (Arianespace) แห่งฝรั่งเศส ที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) ทวีปอเมริกาใต้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานชื่อ ‘ไทยคม’ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 โดยมาจากคำว่า ไทยคม (นาคม) สร้างโดยบริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ (Hughes Aircraff) สหรัฐอเมริกา สามารถถ่ายทอดได้ทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์ และการสื่อสารข้อมูล ต่อมาได้ชื่อใหม่เป็น ‘ดาวเทียมไทยคม 1A’

ดาวเทียมไทยคม 1A ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2536 ในพิกัดตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก และย้ายไปที่ 120 องศาตะวันออกเมื่อ พฤษภาคม 2540 จากนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537 ดาวเทียมไทยคม 2 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร อยู่ที่ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก แทนพิกัดเดิมของ ดาวเทียมไทยคม 1A ดาวเทียมทั้ง 2 ดวงเป็นดาวเทียมรุ่น HS-376 แบบ Dual Spin ผลิตโดย บริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือบริษัทโบอิ้งในปัจจุบัน

พื้นที่การให้บริการย่านความถี่ C-Band ของดาวเทียมไทยคม 1A และดาวเทียมไทยคม 2 ครอบคลุมประเทศไทยลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น และชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ส่วนพื้นที่การให้บริการในย่านความถี่ Ku-Band ของดาวเทียมไทยคม 1A และดาวเทียมไทยคม 2 ครอบคลุมประเทศไทย และประเทศในแถบอินโดจีน

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 วันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 วันประสูติ ‘เสด็จเตี่ย’ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423

พระองค์ทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น 'พระบิดาของกองทัพเรือไทย' และต่อมาได้แก้ไขเป็น 'องค์บิดาของทหารเรือไทย' เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก

ส่วนกรณีที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า 'เสด็จเตี่ย' นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า 'อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้'

เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”

แต่กรณีนี้ ศรัณย์ ทองปาน มีความเห็นต่างออกไปโดยเห็นว่า “…ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ ๖ ทรงพิโรธ ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ‘…ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตฟุ้งซ่านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนายของทหาร…สมควรลงโทษเป็นตัวอย่าง’

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯ พณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

21 ธันวาคม พ.ศ.2525 พิธีสมโภชน์ ‘พระศรีศากยะทศพลญาณฯ’ องค์พระประธานแห่งพุทธมณฑล

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ เป็นพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ ที่ถูกสร้างขึ้นในโอกาสการเฉลิมฉลองพระพุทธศาสนาครบ 2500 ปี

พระพุทธถูกหล่อด้วยสำริด หนัก 17,543 กิโลกรัม ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลี ซึ่งจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปลีลาที่งดงามที่สุด (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในระเบียงแก้ววัดเบญจมบพิตรฯ) และปรับพระพุทธลักษณะให้เสมือนบุคคลจริง รวมถึงมีรอยพับ หรือ ริ้วจีวรตามธรรมชาติที่สุด นับเป็นพุทธศิลป์ยุคใหม่ที่ได้รับการผสมผสานความงดงามอย่างลงตัว พระพุทธรูปลีลา เป็นการจำลองพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ไม้ปาริฉัตตกะ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลก ซึ่งเรียกว่า เทโวโรหณสมาคม

22 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ‘วันเหมายัน’ หรือ ‘ตะวันอ้อมข้าว’ เวลากลางคืนยาวนานสุดในรอบปี

วันนี้ นับเป็นวัน ‘เหมายัน’ หรือ ‘ตะวันอ้อมข้าว’ เวลากลางวันสั้น ส่วนเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ตะวันอ้อมข้าว’ 

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่แตกต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางวันที่สั้นที่สุด และเวลากลางคืนยาวนานที่สุด สำหรับวันเหมายันในปี 2565 ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:55 น. รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที นอกจากนี้ วันเหมายันยังถือเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวสำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ แต่สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้นั้นจะนับเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูร้อน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top