Monday, 28 April 2025
TodaySpecial

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ย้อนรอยข่าวร้ายเหตุการณ์วิปโยคเขมร เหยียบกันตายงานลอยกระทงเกือบ 400 คน

23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โลกต้องตื่นขึ้นมาพร้อมข่าวร้าย ที่สะเทือนใจคนไปทั่วโลก เมื่อคนเขมรเหยียบกันตายหลายร้อยศพ ในคืนสุดท้ายของงานลอยกระทง!

เช้าของวันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน ทุกคนล้วนอยู่ในอาการเศร้าสลด เมื่อได้รับทราบข่าวว่ามีการเหยียบกันตายในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในคืนก่อนหน้านั้น ซึ่งมีรายงานในเบื้องต้นว่ามีประชาชนอย่างน้อย 347 คน!!! ถูกเหยียบจนเสียชีวิตในงานฉลองเทศกาลลอยกระทงคืนสุดท้าย!!

สำหรับที่เกิดเหตุ คือ บนสะพานที่เชื่อมระหว่างเกาะเพชร ที่ทอดตัวยาวตามแนวทะเลสาบเขมร หรือ โตนเลสาบ กับแผ่นดินใหญ่ โดยเป็นสะพานแคบ ๆ ความยาวประมาณ 80 เมตร เท่านั้น!!!

เหตุสลดเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ  21.30 น. ของช่วงค่ำวันที่  22 พ.ย. 2553 และต่อเนื่องมาจนข้ามมาถึงวันที่ 23 พ.ย. 2553  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานเทศกาลลอยกระทง วันประเพณีประจำปีของประเทศกัมพูชา ในช่วงวันเพ็ญเดือน  12 

สำหรับสาเหตุนั้น มีคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์มากมาย เช่นว่าในขณะที่มีผู้คนอัดแน่น อยู่บนเกาะและสะพานดังกล่าวก็มีผู้ร้องตะโกนว่า มีคนถูกไฟฟ้าช็อตหลายคน

และยังมีกลุ่มที่ตะโกนด้วยความคึกคะนองว่า สะพานใกล้จะพัง จนทำให้ผู้คนพากันตื่นตกใจ ก่อนจะพากันวิ่งหนีจนเกิดเหตุการณ์สลดขึ้น ขณะที่บางส่วนก็หนีตายด้วยการกระโดดลงไปยังทะเลสาบด้านล่าง

24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ครบรอบ 12 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

ครบรอบ 12 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รวมถึง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2

วันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญของเมืองไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รวมถึง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ทั้งหมดเป็นโครงการในพระราชดำริที่ทรงตั้งใจแก้ปัญหาให้กับประชาชน

เวลา 16.30 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นประทับบนเรือพระที่นั่งอังสนา ซึ่งกองทัพเรือจัดถวาย ไปยังบริเวณปากคลองประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยเรือพระที่นั่งแล่นผ่านท่าช้าง ปากคลองตลาด วัดอรุณราชวราราม พระราชวังเดิม สะพานพุทธ สะพานตากสิน สะพานกรุงเทพ และสะพานพระราม 9 ซึ่งมีประชาชนริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

25 พฤศจิกายน ‘วันวชิราวุธ’ น้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันวชิราวุธ’ เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 8 พระองค์ ซึ่งมีพระอนุชาองค์เล็กคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7    

เมื่อพระชนมพรรษาเจริญครบเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ" ในปี พ.ศ.2431 เมื่อมีพระชนมพรรษา 8 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้า "กรมขุนเทพทวาราวดี" ให้ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และได้มีพระราชพิธีโสกันต์ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2435           

ขณะทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงศึกษาความรู้จาก พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) และหม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทั้งในพระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนสวนกุหลาบ จนเมื่อมีพระชนมพรรษา 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ก่อตั้ง โรงเรียนเกษตราธิการ ต้นกำเนิดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ วังประทุมวัน โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452

ต่อมาโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการจึงย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ. 2456 โดยใช้ วังวินด์เซอร์ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน)

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ในหลวง ร. 9 - พระราชินี เสด็จฯ ม.รามคำแหง ทรงเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันนี้ เมื่อ 47 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พร้อมทั้ง พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ณ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลางฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงถือ เอาวันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต
ความตอนหนึ่งว่า... 

27 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’ สืบเนื่อง ร.6 ทรงก่อตั้ง ‘กรมสาธารณสุข’

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นแทนกรมประชาภิบาล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย แทนกรมประชาภิบาล โดยให้รวมกองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข องค์แรก นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' จึงถือว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น 'วันสถาปนาการสาธารณสุข'

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 เสด็จทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พร้อมทั้งทรงดนตรีเป็นครั้งแรกร่วมกับ 'อ.ส.วันศุกร์'

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา 15.30 น. นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ในดวงจิตของชาวเกษตรศาสตร์อย่างไม่มีวันลืม 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทรงปลูกต้นนนทรี ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย จำนวน 9 ต้น บริเวณหน้าอาคารหอประชุม มก. 

ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น มีพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีที่หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรกด้วย อันนำมาสู่การเสด็จ 'เยี่ยมต้นนนทรี' ที่ทรงปลูก และ 'ทรงดนตรี' สืบเนื่องอีกหลายครั้งในปีต่อ ๆ มา 

การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นนนทรี ทรงเยี่ยมต้นนนทรี และทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปได้ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ทรงปลูกต้นนนทรีจำนวน 9 ต้น และทรงดนตรี

ครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507

ครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2508

ครั้งที่ 4 วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ‘พอล วอล์คเกอร์’ พระเอกตำนาน The Fast and The Furious เสียชีวิต

หากนึกถึงหนังสายความเร็วระดับตำนาน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ The Fast and The Furious และหากให้นึกต่อไป ภาพที่หลายคนจดจำได้ดี คือ 2 นักแสดงนำของเรื่อง วิน ดีเซล และ พอล วอล์คเกอร์

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน มีเหตุการณ์ช็อกแฟนหนัง เมื่อมีข่าวว่า พอล วอล์คเกอร์ เกิดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามรายงานข่าวแจ้งว่า เขากับเพื่อนได้ขึ้นไปทดลองรถ Porsche Carrera GT เพื่อทดสอบหมุนรถ แต่รถเกิดเสียหลักพุ่งชนกับต้นไม้ข้างทาง เพลิงลุกไหม้ทำให้พอลและเพื่อนเสียชีวิตทั้งคู่

จากข่าวช็อกนี้ ทำเอาแฟนหนังของเขาพากันเศร้าสลด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวละคร ‘ไบรอัน โอคอนเนอร์’ ในหนังฟาสต์ฯ นั้น เป็นตัวละครที่คนดูรักและติดตามกันมาตลอด การจากไปของเขาอย่างกระทันหัน จึงทำให้หนังที่ถูกสร้างภาคต่ออีกหลายภาคนั้น ต้องถูกนำมาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

1 ธันวาคม ‘วันดำรงราชานุภาพ’ รำลึกถึง ‘กรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

วันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลไทยพระองค์แรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. และเป็นองค์ต้นราชสกุลดิศกุล ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารและพลเรือน เช่น เจ้าพนักงานใหญ่ ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ (ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี) องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร นายกราชบัณฑิตยสภา องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และอภิรัฐมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านการศึกษา การปกครอง การต่างประเทศ การสาธารณสุข หลักรัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ทรงได้รับพระสมัญญานามเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย" และ "พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย" 

ทรงเป็นองค์ผู้อำนวยการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 

2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย – มัชฌิมาธิปไตย’

วันนี้ เมื่อ 14 ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย – มัชฌิมาธิปไตย’ ปมทุจริตการเลือกตั้งปี 2550

เวลา 12.00-13.32 น. วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 โดยศาลฯ มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรคสามารถสรุปได้ดังนี้

สำหรับกรณีของพรรคพลังประชาชน นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ

ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง

นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้

ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top