Wednesday, 23 April 2025
TodaySpecial

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดเดินรถไฟสายปากน้ำ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์กสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์กจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

จากนั้น วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ

และในวันที่ 11  เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

รถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร โดยรัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานก่อสร้างและดำเนินกิจการโดย บริษัทรถไฟปากน้ำ ของชาวเดนมาร์ก มีสัญญาสัมปทาน 50 ปี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2434 แล้วเสร็จในปี 2436 ค่ารถไฟในสมัยนั้น ไปกลับ 1 บาท มี 10 สถานี สถานีละ 1 เฟื้อง สถานีต้นทางคือสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งคนโดยสารที่ ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้) บ้านนางเกรง มหาวง แล้วก็ถึงปากน้ำสมุทรปราการ สิ้นอายุสัมปทานเมื่อเวลาเที่ยงคืน วันที่ 12 กันยายน 2479 รัฐบาลได้รับซื้อทรัพย์สินไว้มอบให้กรมรถไฟจัดการเดินรถ  

ต่อมา รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งเลิกกิจการรถไฟสายนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 จึงสร้างอนุสรณ์แห่งทางรถไฟสายแรกของไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ตกลงจัดทำหมุดหลักฐานเป็นแท่งคอนกรีต ติดแผ่นโลหะจารึกข้อความติดตั้งไว้ในบริเวณถนนพระรามที่ 4 หน้าสถานีกรุงเทพอันเป็นจุดปลายทางตันของสถานีหัวลำโพง-ปากน้ำ

12 เมษายน พ.ศ. 1839 'พญามังราย' พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา ทรงสถาปนาเมือง ‘นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่’

วันนี้ เมื่อ 729  ปีก่อน ‘พญามังราย’ พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา ทรงสถาปนากรุงเวียงเชียงใหม่ (เชียงใหม่ในปัจจุบัน) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

‘พญามังราย’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเริ่มต้นรวบรวมเมืองหรือแคว้นขนาดเล็กที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่อกัน ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนพัฒนาเป็นรัฐขนาดใหญ่ขึ้น โดยในระยะแรกพญามังรายทรงรวมแคว้นโยนกก่อน แล้วพยายามขยายอำนาจสู่หัวเมืองขนาดเล็กอื่น ๆ เป็นบริเวณกว้าง จากนั้นเริ่มขยายอำนาจสู่แคว้นหริภุญไชยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

เมื่อพญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยแล้วได้ผนวกเข้ากับแคว้นโยนก หลังจากนั้นได้เข้ายึดเมืองเขลางค์นคร พญามังรายจึงครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของภาคเหนือ และสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนา นอกจากนี้ ทรงได้ทำสัญญาระหว่างพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ใน พ.ศ. 1830 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในการขยายอำนาจสู่แม่น้ำปิงนั้นจะไม่ถูกพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงขัดขวาง

หลังจากยึดเมืองหริภุญไชยได้แล้ว ทรงครองแคว้นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วย้ายมาสร้างอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม โดยมีพระประสงค์ให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร แต่ที่ตั้งของเวียงกุมกามเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก พญามังรายจึงพยายามหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ จนพบพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงดอยสุเทพ เป็นบริเวณที่มีชัยภูมิดีเหมาะแก่การสร้างราชธานีถาวรและเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พระองค์ได้เชิญพระสหาย คือ พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง มาร่วมพิจารณาการสร้างเมือง พญามังรายทรงสร้างเมืองแห่งใหม่นี้โดยให้ชื่อว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ใน พ.ศ. 1839 ซึ่งถือเป็นปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ โดยวันสร้างเมืองเชียงใหม่ได้กำหนดฤกษ์ยามดวงเมืองไว้ คำนวณตามปีสุริยคติ ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839

16 เมษายน พ.ศ. 2550 โศกนาฏกรรมกราดยิง ‘เวอร์จิเนียเทค’ คร่าผู้บริสุทธิ์ 32 ชีวิต กลายเป็นจุดเปลี่ยนระบบสุขภาพจิตและกฎหมายอาวุธปืนสหรัฐฯ

เหตุกราดยิงมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ 32 ราย ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญและร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2550 ผู้ก่อเหตุคือ โช ซึงฮุย (Cho Seung-Hui) นักศึกษาชาวเกาหลีใต้ อายุ 23 ปี ซึ่งศึกษาอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

เหตุการณ์เริ่มขึ้นเวลา 07.15 น. เมื่อโชยิงนักศึกษาและพนักงาน 2 รายเสียชีวิตภายในหอพัก จากนั้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมงต่อมา เขาย้ายไปยังอาคารเรียนนอร์ริส ฮอลล์ และเปิดฉากยิงแบบไม่เลือกเป้าหมาย โดยใช้อาวุธปืนพก 2 กระบอก ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างหนักภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ก่อนที่จะปลิดชีพตนเอง

แม้โชจะไม่ได้ทิ้งจดหมายลาตายอย่างเป็นทางการ แต่มีการพบเทปวิดีโอและเอกสารจำนวนมากที่เขาส่งไปยังสถานีโทรทัศน์ NBC News ในระหว่างพักการก่อเหตุ ซึ่งแสดงถึงอาการจิตใจไม่มั่นคง ความเครียด ความโกรธแค้น และความรู้สึกว่าถูกสังคมทอดทิ้ง

โช ซึงฮุย ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนหน้านี้ และเคยถูกสั่งให้เข้ารับการบำบัด อย่างไรก็ตาม ระบบการควบคุมอาวุธปืนของสหรัฐฯ ในขณะนั้นยังมีช่องโหว่ ทำให้เขาสามารถซื้อปืนได้ตามกฎหมาย

เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศสหรัฐฯ และทั่วโลก จุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างจริงจังเกี่ยวกับ การควบคุมอาวุธปืน, ระบบสุขภาพจิต, และความปลอดภัยในสถานศึกษา 

เริ่มที่ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคมีการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้หน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐเวอร์จิเนีย ได้ดำเนินการปิดช่องว่างของกฎหมายเกี่ยวกับการขายอาวุธให้ผู้ที่มีประวัติด้านสุขภาพจิต อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และในการกำหนดแผนฉุกเฉินของสถานศึกษาทั่วประเทศ

13 เมษายน ของทุกปี ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ และ ‘วันสงกรานต์’ ร่วมสืบสานประเพณีไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่าวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี คือวันมหาสงกรานต์ ตามประเพณีไทยที่สืบทอดมายาวนาน ขณะเดียวกันในวันนี้ ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2525 ได้มีการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ (World Assembly on Aging) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา พร้อมกำหนดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุ (Elderly) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

ดังนั้น ทางคณะรัฐมนตรีไทยจึงได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น วันผู้สูงอายุแห่งชาติ พร้อมทั้งได้กำหนดให้ “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวน หรือ หอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง เป็นพืชยืนต้นที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรม คุณงาม ความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป

14 เมษายน พ.ศ. 2520 ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง จ. นครราชสีมา

วันนี้เมื่อ 48 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

ทรงประทับบ้านพักรับรองบนเขื่อนลำตะคอง ของกรมชลประทาน สร้างความปลาบปลื้ม ปิติให้กับข้าราชการ และพสกนิกรที่มารอรับเสด็จในครั้งนั้น โดยในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง ในครั้งนั้น พระองค์ท่านทรงชี้แนะเรื่องการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำตะคอง ให้ทางกรมชลประทาน นำไปจัดการบริหารน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ของเขื่อนลำตะคอง และชาวจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับเขื่อนลำตะคอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี 2512 โดยกรมชลประทาน ได้มีโครงการทดและส่งน้ำลำตะคอง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งลำตะคอง ในพื้นที่อำเภอเมือง กับบางส่วนของอำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็น 1 ใน 16 แห่ง ที่กรมชลประทานได้เลือกไว้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

15 เมษายน พ.ศ. 2567 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ‘พลังงานไทย’ กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก'

ครบรอบ 1 ปี กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!!

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันที่ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลกนั่นเอง

17 เมษายน พ.ศ. 2518 เขมรแดงยึดพนมเปญ สิ้นสุดสงครามกลางเมือง แต่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่แสนเจ็บปวดของประเทศกัมพูชา

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) กองกำลังเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งนำโดย พอล พต (Pol Pot) ได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา และสามารถเข้ายึดครองเมืองได้สำเร็จ นับเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองกัมพูชาที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 หลังการโค่นล้มพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ

สงครามกลางเมืองในกัมพูชาเป็นการสู้รบระหว่างรัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐเขมร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา กับกองกำลังคอมมิวนิสต์เขมรแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและเวียดนามเหนือ ความขัดแย้งทวีความรุนแรงโดยมีพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากได้รับผลกระทบ

หลังยึดครองพนมเปญได้ กองกำลังเขมรแดงได้ดำเนินนโยบายรุนแรงทันที โดยสั่งอพยพประชาชนทั้งหมดออกจากเมืองหลวงภายในไม่กี่วัน ด้วยข้ออ้างว่าเป็นมาตรการทางยุทธศาสตร์และเพื่อเริ่มต้น “การปฏิวัติทางเกษตรกรรม” ประเทศถูกรีเซ็ตสู่ 'ปีศูนย์' (Year Zero) ซึ่งเป็นแนวคิดในการล้มล้างทุกสิ่งจากอดีต เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีชนชั้น

ประชาชนในเมืองหลวงต่างออกมาต้อนรับกองกำลังด้วยความโล่งใจ หวังว่าสงครามจะสิ้นสุดลงและความสงบสุขจะกลับมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นกลับกลายเป็น จุดเริ่มต้นของหนึ่งในโศกนาฏกรรมทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20

ภายใต้การปกครองของเขมรแดงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518–2522 กัมพูชาต้องเผชิญกับระบอบเผด็จการสุดโต่ง ประชาชนถูกบังคับให้ทำงานในไร่นาและถูกแยกออกจากครอบครัว โรงเรียน โรงพยาบาล และศาสนสถานถูกปิด ผู้ที่ถูกมองว่าเป็น 'ศัตรูของรัฐ' ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ ปัญญาชน พระสงฆ์ หรือแม้แต่ผู้ใส่แว่นตา ถูกประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากความอดอยาก การถูกทรมาน หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากถึง 2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 8 ล้านคนในขณะนั้น

บทสรุป เหตุการณ์วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 เป็นจุดจบของสงครามกลางเมือง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความโหดร้าย ที่เขมรแดงนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมกัมพูชาอย่างรุนแรง การยึดครองพนมเปญของเขมรแดงไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอินโดจีน แต่ยังทิ้งร่องรอยลึกในจิตใจของชาวกัมพูชาหลายชั่วอายุคน

18 เมษายน พ.ศ. 2398 ‘รัชกาลที่ 4’ ลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ เปิดประตูการค้าสู่โลกตะวันตก จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจยุคใหม่ของสยาม

ในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรสยาม หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการทูตระหว่างประเทศ คือการลงนามใน “สนธิสัญญาเบาว์ริง” (Bowring Treaty) กับสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ก่อนการลงนามในสนธิสัญญา สยามยังมีระบบการค้าแบบผูกขาดภายใต้การควบคุมของพระคลังสินค้า โดยการค้าระหว่างประเทศถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับบางชาติ และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งด้านภาษีและระเบียบราชการ

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลของโลกในขณะนั้น ได้เร่งขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้าไปทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะหลังจากที่อังกฤษประสบความสำเร็จในการเปิดประเทศจีนให้ทำการค้ากับชาติตะวันตกผ่าน “สงครามฝิ่น” ซึ่งนำไปสู่การลงนามใน “สนธิสัญญานานกิง” กับจีน ทำให้อังกฤษมองเห็นโอกาสในการขยายเครือข่ายการค้าไปยังภูมิภาคอื่น ๆ

สยามในขณะนั้นถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงและเป็นอิสระจากการตกเป็นอาณานิคม แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง อีกทั้งยังตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างอินเดีย จีน และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงมีความสนใจที่จะสานสัมพันธ์กับสยามในเชิงเศรษฐกิจและการทูต เพื่อให้สามารถเข้าถึงทรัพยากร ท่าเรือ และตลาดการค้าในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยบริบทของการล่าอาณานิคมและการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจในยุคนั้น การทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยามจึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของอังกฤษในการสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร

สนธิสัญญาเบาว์ริง มีชื่อเรียกตาม เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้แทนของอังกฤษในการเจรจา มีสาระสำคัญหลายประการ ได้แ

1.  ยกเลิกการผูกขาดการค้า โดยพระคลังสินค้า เปิดโอกาสให้พ่อค้าต่างชาติสามารถค้าขายกับเอกชนในสยามโดยตรง
2. กำหนดอัตราภาษีนำเข้า-ส่งออกแบบคงที่ ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศมีความแน่นอนและโปร่งใส
3. อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษตั้งถิ่นฐานและมีสถานกงสุลในกรุงเทพฯ
4. กำหนดสิทธิ “เอกสิทธิ์ทางกฎหมาย” (extraterritoriality) ที่ให้อังกฤษมีอำนาจพิจารณาคดีความของชาวอังกฤษในสยามด้วยตนเอง

การรลงนามในสนธิสัญญาครั้งนั้น ช่วยให้สยามเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ สามารถส่งออกสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาล และไม้สัก ไปยังตลาดโลก รวมถึงการปฏิรูประบบราชการและเศรษฐกิจ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษี การศึกษา และระบบเงินตราให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเป็นการเปิดประตูสู่โลกตะวันตก สนธิสัญญานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศ และการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น

ทั้งนี้ สนธิสัญญาเบาว์ริงไม่เพียงแต่เป็นข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญ แต่ยังเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสยาม แม้ว่าสนธิสัญญานี้จะถูกวิจารณ์ในภายหลังว่าเอื้อประโยชน์ต่อชาติตะวันตกมากกว่าสยาม แต่ในบริบทของยุคสมัย ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกของการปรับตัวเพื่อธำรงเอกราชและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างสง่างาม

19 เมษายน พ.ศ. 2318 เสียงปืน 1 นัด ปลุกเปลวเพลิงแห่งเสรีภาพ จุดเริ่มต้น ‘สงครามปฏิวัติอเมริกา’ ณ เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด

สงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War) ถือเป็นเหตุการณ์พลิกประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การถือกำเนิดของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ การปะทะกันระหว่างกองกำลังอาณานิคมและกองทหารอังกฤษที่เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2318 (ค.ศ. 1775) เป็นเหตุการณ์จุดไฟแห่งความไม่พอใจที่สะสมมายาวนาน จนกลายเป็นเปลวไฟแห่งการปฏิวัติ

ในช่วงศตวรรษที่ 18 ดินแดนอาณานิคมอเมริกาอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ อาณานิคมเหล่านี้มีความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดเก็บภาษีและการจำกัดการค้าขาย อาทิ กฎหมายแสตมป์ (Stamp Act) และ กฎหมายชาน้ำชา (Tea Act) ซึ่งทำให้ชาวอาณานิคมรู้สึกว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบโดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการออกกฎหมาย จนเกิดคำกล่าวว่า “No taxation without representation” หรือ “ไม่ยอมเสียภาษีหากไม่มีสิทธิ์ออกเสียง”

การเผชิญหน้า ณ เล็กซิงตัน (Lexington) เกิดขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 กองทหารอังกฤษประมาณ 700 นายได้รับคำสั่งให้เดินทางจากเมืองบอสตันไปยังคองคอร์ด เพื่อยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองกำลังอาณานิคม (เรียกว่า Minutemen) ซุกซ่อนไว้ อย่างไรก็ตาม ข่าวการเคลื่อนไหวของทหารอังกฤษรั่วไหล ทำให้ผู้นำฝ่ายอาณานิคมเช่น พอล รีเวียร์ (Paul Revere) และ วิลเลียม ดาวส์ (William Dawes) ออกเดินทางกลางดึกเพื่อเตือนชาวเมืองว่า ทหารอังกฤษกำลังมา! "The British are coming!"

เมื่อกองกำลังอังกฤษมาถึงเล็กซิงตัน พบว่ามี กองกำลังติดอาวุธอาสาสมัคร ของอาณานิคมอเมริกา ประมาณ 70 นาย ตั้งแนวรออยู่ในลานกว้างกลางเมือง แม้จะไม่ได้ตั้งใจเปิดฉากยิง แต่กระสุนปืนลึกลับหนึ่งนัด ได้จุดชนวนให้เกิดการยิงกันขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และถือเป็นการนองเลือดครั้งแรกของสงคราม

หลังจากนั้น ทหารอังกฤษได้เคลื่อนไปยังคองคอร์ดและเริ่มค้นหาอาวุธ และเมื่อกองทหารพยายามเผาสิ่งปลูกสร้าง ก็จุดความไม่พอใจในหมู่ชาวอาณานิคม ฝ่ายอาณานิคมซึ่งมีกำลังเสริมจากเมืองใกล้เคียงเริ่มตั้งแนวรบตอบโต้ การรบแบบกองโจร (Guerrilla Warfare) ถูกนำมาใช้ ขณะที่ทหารอังกฤษต้องล่าถอยกลับบอสตันภายใต้การลอบโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 250 คน

จากนั้นสงครามปะทุอย่างเต็มรูปแบบ ฝ่ายอาณานิคมเริ่มจัดตั้งกองทัพทวีป (Continental Army) โดยมี จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เป็นผู้บัญชาการ และการประกาศเจตจำนงแยกตัวจากอังกฤษก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

วอชิงตันมีความสามารถในการนำทัพอย่างยอดเยี่ยมในการวางแผนการรบ แม้ว่าเขาจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนทรัพยากรและอุปกรณ์การรบมากมาย แต่เขาก็สามารถรักษากำลังใจและสร้างความมุ่งมั่นให้กับทหารของเขาได้ พร้อมทั้งไดรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ จนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 

เหตุการณ์สู้รบกันในครั้งนั้นกินระยะเวลาสงครามปฏิวัติที่ยาวนานถึง 8 ปี จากปี 1775 และสิ้นสุดในปี 1783 เมื่ออังกฤษยอมรับความเป็นอิสระของสหรัฐอเมริกาภายใต้ สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris 1783) ส่งผลให้เกิดการตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐประชาธิปไตยแห่งแรกๆ ของโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนการปฏิวัติในฝรั่งเศส (French Revolution), ละตินอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย

20 เมษายน พ.ศ. 2535 50,000 เสียงตะโกนต้านอำนาจนอกระบบ ประชาชนรวมพลังค้านผู้นำเผด็จการ จุดไฟปะทุสู่การเปลี่ยนแปลง ปฐมบทชุมนุมใหญ่ก่อน ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่ไทยไม่มีวันลืม

หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดยกลุ่มนายทหารระดับสูง ได้มีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อบริหารประเทศ และในเวลาต่อมา มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เสียงข้างมาก แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับตกเป็นของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเคยให้สัญญากับประชาชนก่อนหน้านี้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง

การแต่งตั้งเช่นนี้จุดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา และภาคประชาสังคม โดยมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2535 มีประชาชนประมาณ 50,000 คน รวมตัวกันที่ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการแต่งตั้ง พล.อ. สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี การชุมนุมครั้งนี้นำโดยหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน นักศึกษา และกลุ่มการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แม้การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบ แต่ก็เป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ที่สะท้อนถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในขณะนั้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่ลุกลามกลายเป็น เหตุการณ์ 'พฤษภาทมิฬ' ในเดือนถัดมา ซึ่งรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การลาออกของ พล.อ. สุจินดา ในที่สุด และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ยังคงเป็นที่กล่าวถึงในฐานะจุดเปลี่ยนที่ฝากร่องรอยไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นเครื่องเตือนใจว่าพลังของประชาชนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อเสียงแห่งความหวังถูกเปล่งออกอย่างพร้อมเพรียง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top