Thursday, 24 April 2025
TodaySpecial

12 มีนาคม พ.ศ. 2553 พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา 'วีรบุรุษแห่งเทือกเขาบูโด' ถูกกลุ่มคนร้ายลอบวางระเบิดเสียชีวิต

ย้อนกลับไปในวันนี้ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เป็นวันจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ 'จ่าเพียร ขาเหล็ก' พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้ที่ถูกยกย่องว่าเป็น 'วีรบุรษแห่งเทือกเขาบูโด มือปราบแห่งบันนังสตา'

พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2513 และเป็น ผบ.หมู่ สภ.บันนังสตา มาตลอด ขณะปฏิบัติราชการนั้น พ.ต.อ.สมเพียร ผ่านสมรภูมิรบ กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนับร้อยครั้ง วิสามัญคนร้ายได้นับร้อยศพ จนเป็นที่กลัวเกรงของกลุ่มคนร้าย และทำให้ พ.ต.อ.สมเพียร มีชื่อเสียงในแวดวงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ในปี พ.ศ.2519 พ.ต.อ.สมเพียร ซึ่งยศในขณะนั้นคือ จ.ส.ต.สมเพียร ถูกกับระเบิดที่ขาซ้ายจนเกือบขาด ขณะต่อสู้กับกลุ่มโจรก่อการร้าย แต่ก็เอาชีวิตรอดมาได้ นี่จึงเป็นที่มาของฉายา 'จ่าเพียร ขาเหล็ก'

ต่อมาในปี พ.ศ.2526 พ.ต.อ.สมเพียร ถูกคนร้ายยิงในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จนได้รับบาดเจ็บกระสุนฝังใน ด้วยความฉกาจฉกรรจ์ และจัดเป็นตำรวจชั้นฝีมือเยี่ยม ส่งผลให้ พ.ต.อ.สมเพียร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดี และเหรียญมาลาเข็มกล้ากลางสมร..

จนกระทั่งกรมตำรวจ (ในสมัยนั้น) อนุมัติให้ พ.ต.อ.สมเพียร เข้าอบรมหลักสูตร นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก และได้เลื่อนขั้นเป็น ร.ต.ต. ก่อนจะย้ายให้ไปประจำการอยู่ที่ จ.สงขลา

กระทั่งในปี พ.ศ. 2550 พ.ต.อ.สมเพียร ถูกเรียกตัวกลับมาเป็น ผกก.สภ.บันนังสตา เพื่อปราบปรามกลุ่มโจรใต้ ที่ก่อเหตุรายวัน ซึ่ง พ.ต.อ.สมเพียร ก็ใช้ประสบการณ์ที่มี พร้อมกับพรสวรรค์บวกพรแสวงปราบคนร้าย และวิสามัญได้ถึง 19 ราย และยึดอาวุธสงครามได้อีกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.สมเพียร ก็ถูกกลุ่มคนร้ายลอบโจมตีมาโดยตลอดเช่นกัน 

กระทั่งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 คนร้ายได้วางแผนลอบวางระเบิดหลายจุด เพื่อล่อให้ พ.ต.อ.สมเพียร นำกำลังเดินทางเข้าไปที่เกิดเหตุ ก่อนที่คนร้ายจะลอบวางระเบิดรถกระบะที่นั่งอยู่ แต่เดชะบุญ ครั้งนั้น พ.ต.อ.สมเพียร ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

จากเหตุการณ์นั้นเอง ทางครอบครัวของ พ.ต.อ.สมเพียร เกิดความหวั่นวิตกกังวล ถึงความปลอดภัยต่อชีวิต จึงได้ถือเคล็ดเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น 'ภูวพงษ์พิทักษ์' เพื่อความแคล้วคลาดจากภัยและอันตราย และเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ พ.ต.อ.สมเพียร ก็ขอกลับมาใช้นามสกุลเดิม

ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 พ.ต.อ.สมเพียร จึงตัดสินใจเดินทางมา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร้องเรียนกับ 'นายกรัฐมนตรี' โดยขอความเป็นธรรม จากใบคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง เพื่อขอย้ายเป็น ผกก.สภ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างอยู่ ในปีสุดท้าย ก่อนจะเกษียณอายุราชการ แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา....

และในที่สุดวันที่ 12 มีนาคม 2553 ตำนาน 'จ่าเพียร ขาเหล็ก' มือปราบแห่งเทือกเขาบูโด ก็ต้องรูดม่านลงอย่างน่าเศร้า เมื่อถูกคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม จำนวน 5-8 คน ลอบวางระเบิด รถกระบะ 4 ประตู สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียน กข 9302 ยะลา พร้อมลูกน้อง 3 นาย และ อส.คนสนิท อีก 1 นาย

ส่งผลให้ พ.ต.อ.สมเพียร ขาหักทั้งสองข้าง ได้รับบาดเจ็บสาหัส และไปเสียชีวิตที่ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ในที่สุด โดยสิริอายุ 59 ปี ท่ามกลางความเสียใจของ ประชาชนชาวบันนังสตา และความเสียใจจากครอบครัว

หลังจาก พล.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เลื่อนให้ขั้น 7 ขั้นยศ เป็น พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา และมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พร้อมเงินสวัสดิการตำรวจอีก 3 ล้านบาท

14 มีนาคม พ.ศ. 2422 วันเกิด ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ สุดยอดนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะของโลก

14 มีนาคม พ.ศ. 2422 เป็นวันเกิด อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพและสูตรอันโด่งดัง E=mc2 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2465 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) หรือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และนักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ไอน์สไตน์เป็นชาวยิวที่เกิดในเยอรมนี เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจตัดสินใจอพยพจากเยอรมนีไปอเมริกา และคัดค้านการขยายอิทธิพลของลัทธินาซี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้สหรัฐสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม กลศาสตร์สถิติ และจักรวาลวิทยา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน 2464 จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก และจาก 'การทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี'

หลังจากที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ในปี 2458 เขาก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ในปีต่อ ๆ มา ชื่อเสียงของเขาได้ขยายออกไปมากกว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ ไอน์สไตน์ ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของความฉลาดหรืออัจฉริยะความนิยมในตัวของเขาทำให้มีการใช้ชื่อไอน์สไตน์ในการโฆษณา หรือแม้แต่การจดทะเบียนชื่อ 'อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์' ให้เป็นเครื่องหมายการค้า

ตัวไอน์สไตน์เองมีความระลึกถึงผลกระทบทางสังคม ซึ่งมีผลมาจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ในฐานะที่เขาได้เป็นปูชนียบุคคลแห่งความบรรลุทางปัญญา เขายังคงถูกยกย่องให้เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์ที่สุดในยุคปัจจุบัน ทุกการสร้างสรรค์ของเขายังคงเป็นที่เคารพนับถือ ทั้งในความเชื่อในความสง่า ความงาม และความรู้แจ้งเห็นจริงในจักรวาล (คือแหล่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจในวิทยาศาสตร์ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่) เป็นสูงสุด ความชาญฉลาดเชิงโครงสร้างของเขาแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของจักรวาล ซึ่งงานเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านผลงานและหลักปรัชญาของเขา ในทุกวันนี้ ไอน์สไตน์ยังคงเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังที่สุด ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และนอกวงการ

13 มีนาคม ของทุกปี กำหนดเป็นวันช้างไทย ยกย่องสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์และผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโบราณ ช้างเป็นพระราชพาหนะเคียงคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยเลยทีเดียว แต่สมัยปัจจุบัน คนไทยกลับเห็นคุณค่าและความสำคัญของช้างไทยลดลงไปทุกขณะ จนช้างถูกนำไปเร่ร่อนหาผลประโยชน์.โดยควาญช้าง และล้มตายเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที 

ดังนั้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และการดำรงอยู่ของช้างไทย รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทุกคนหันมาช่วยกันอนุรักษ์ช้าง ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้ทุก ๆ วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย ทั้งนี้ วันช้างไทยริเริ่มขึ้นจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการ เอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันช้างไทย" และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

ความสำคัญของช้างไทย

- ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ช้างเป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศเคยใช้ธงชาติเป็น รูปช้างเผือก ชาวไทยเชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ช้างเผือกจึงได้รับการยกย่องเสมือนเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า

- ช้างเป็นผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ จารึกไว้ว่าช้างได้เข้ามามีส่วนในการปกป้องเอกราชและความเป็นชาติให้แก่ชาวไทยหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทำยุทธหัตถี จึงทรงประกาศเอกราชและความเป็นชาติ ซึ่งช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวรนับว่าเป็นช้างไทยที่ได้รับเกียรติอันสูงสุด โดยได้รับพระราชทานยศให้เป็นถึง "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี"

- ช้างสร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ และเบตาเวีย (จาการ์ตา) ประเทศอินโดนีเซีย ได้พระราชทานช้างสำริดให้แก่ทั้ง 2 ประเทศนี้

- ช้างใช้เป็นพาหนะในการคมนาคม ในยุคสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเทียบเท่ากับในปัจจุบัน มนุษย์ยังไม่ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆ สำหรับนำมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อการขนส่งของ ช้างคือพาหนะที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่มีความเฉลียวฉลาดและมีพละกำลังมหาศาล ช้างจึงสามารถขนส่งสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในปริมาณมากได้อย่างอดทน

15 มีนาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้เลิกเล่นการพนัน

วันนี้ เมื่อ 110 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการเลิกเล่นการพนัน ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2458 โดยถือว่าการเล่นการพนันเป็นของต้องห้ามและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 

จากพระบรมราชโองการดังกล่าว ทำให้มีการลดจำนวนโรงหวยและเบี้ยให้ลดน้อยลง ในการพนันกลุ่มที่ถูกยกเลิกนี้ รวมถึงอากรหวยจีน หรือ หวย ก ข ที่เป็นการเสี่ยงโชค เป็นความหายนะสู่ผู้มัวเมาหลงเล่นนำความเสื่อมโทรมแห่งราษฎร

ทั้งนี้ ก่อนปีพุทธศักราช 2459 ประชาชนพลเมืองโดยมากได้พากันลุ่มหลงในการเสี่ยงโชคลาภด้วยหวย ก.ข. ในคราวเทศกาลออกพรรษาปีหนึ่งๆ จะได้เห็นชาวชนบทพากันหลั่งไหลนำเงินเข้ามาโปรยปรายแทงหวย ก.ข. ในกรุงเทพมหานครอย่างล้นหลาม แต่การเสี่ยงโชคด้วยหวย ก.ข. และบ่อนเบี้ยนั้นนำความหายนะสู่ผู้มัวเมาหลงเล่นโดยไม่ค่อยรู้สึกเลย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาถึงความเสื่อมโทรมแห่งราษฎรของพระองค์ดำเนินไปในทำนองนี้จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศยกเลิกอากรหวยเสีย และเลิกอากรบ่อนเบี้ยที่ยังมีอยู่ในพระนครในปี พ.ศ. 2460 รายได้ในอากรบ่อนเบี้ยและหวย ก.ข. จากขุนบาล 2 ประเภทนี้นำเงินเข้าสู่ท้องพระคลังได้ปีหนึ่งๆ นับจำนวนร่วม 10 ล้านบาท แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังได้ทรงสละเสียอย่างง่ายดาย ซึ่งพระองค์ได้ทรงเห็นภยันตรายแก่ทวยราษฎร์สยามนั่นเอง

16 มีนาคม พ.ศ. 2424 งานออกพระเมรุพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมี พระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์พระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์พระเจ้าลูกเธอจนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกันทั้ง 2 พระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงหวั่นพระทัย แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนขบวนเรือต่าง ๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดย พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ประทับบนเรือเก๋งกุดัน โดยมีเรือปานมารุต ซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จพระราชกิจแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้น นำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวาร ซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชของกรมหลวงวรศักดาพิศาล ซึ่งจูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก” ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรีก็ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล 

หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่น ๆ ดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็สวรรคตพร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์  เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม” พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวชภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันสวรรคต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ให้ทรงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ซึ่งถือเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งที่มา - พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ 24 : เกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

17 มีนาคม ของทุกปี ‘วันมวยไทยแห่งชาติ’ ระลึกวีรกรรม ‘นายขนมต้ม’ บิดามวยไทย

วันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันมวยไทยแห่งชาติ’ หรือ วันนักมวย (National Muay Thai Day) :ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อย้อนรำลึกถึง ‘นายขนมต้ม’ บิดามวยไทย ที่ได้ขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317

โดยวีรกรรมครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317 โดยที่ นายขนมต้ม นักมวยชาวกรุงศรีอยุธยา สามารถล้มคู่ชกได้ถึง 10 คน บนสนามมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ ส่งผลให้มวยไทยโด่งดังขจรไปไกล และมีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

จากวีรกรรมความกล้าในครั้งนี้ ทำให้มีการกำหนดให้วันที่ 17 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันมวยไทยแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและฝีมือเชิงมวยของ นายขนมต้ม และยังเป็นการยกย่องให้เกียรติแก่นักมวยไทย ทั้งนี้ ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ที่สนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

18 มีนาคม พ.ศ. 2528 วันเกิดของ ‘ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน’ พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2528 ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีโดยมีพี่สาวและพี่ชาย คือ ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และคุณพุ่ม เจนเซน ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา หรือ คุณใหม่ ได้ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเอิร์ลวอร์เรนจูเนียร์ (Earl Warren Junior High School) และโรงเรียนมัธยมศึกษาทอร์เรย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) ก่อนที่สำเร็จการศึกษาด้านวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก

หลังสำเร็จการศึกษา ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ทำงานด้านการออกแบบ โดยเริ่มฝึกงานกับ โยจิ ยามาโมโตะ นักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น และทำงานกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่างแอร์เมส กระทั่งกลับมาเมืองไทย จึงได้เข้าฝึกงานในกลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ของกรมศิลปากร

ในปี พ.ศ. 2561 ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นผู้อำนวยการในโครงการ ‘วังน่านิมิต’ ซึ่งเป็นผลงานการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านเทคโนโลยีสื่อในรูปแบบภาพ (Visual Language) ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ต่อมายังมีผลงานอันน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของท่านผู้หญิงสิริกิติยา กับการตามรอยเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ที่นอร์เวย์ ในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - นอร์เวย์ พ.ศ.2563

ด้วยเจตนารมย์ในการสืบสานประวัติศาสตร์ไทยในหลากหลายบริบท เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ท่านผู้หญิงสิริกิติยา มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ได้รับความสนใจ และถูกสานต่ออย่างถูกต้องและดีงามต่อไป

19 มีนาคม พ.ศ. 2534 ในหลวง ร. 9 มีพระราชดำริทำฝายในลำน้ำปาย ก่อกำเนิด 4 โครงการชลประทาน จ.แม่ฮ่องสอน

วันนี้เมื่อ 34 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากเรือนประทับแรม ศูนย์พัฒนาปางตอง โครงการตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังศูนย์โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

ทั้ง 3 พระองค์ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรมของสำนักงานประมงน้ำจืดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ โครงการเพาะขยายพันธุ์เขียดแลว ซึ่งได้ทดลองการเพาะขยายพันธุ์เขียดแลวโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติและโดยวิธีผสมเทียม นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยในแม่น้ำปาย ได้แก่ ปลาพลวงหิน ปลาช่อนงูเห่า ปลาสะแงะ ปลากดหัวเสียม ปลาหม่นสร้อย และปลาสลาด ตลอดจนหาวิธีแพร่ขยายพันธุ์ปลาดังกล่าวเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของราษฎรท้องถิ่นในอนาคต 

จากนั้น ทอดพระเนตรแผนงานโครงการปรับปรุงพันธุ์โค พันธุ์สัตว์ปีก พันธุ์แพะ โครงการฝึกอบรมเกษตรด้านการเลี้ยงสัตว์ โครงการธนาคารโค – กระบือ และโครงการปรับปรุงพืชอาหารสัตว์ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์โครงการปลูกกุหลาบตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อทอดพระเนตรงานของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ เรือนเพาะชำกล้าไม้ และแปลงรวบรวมและศึกษาพันธุ์แมคคาเดเมียนัท ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปลูกพืชไร่ล้มลุกอื่นๆ แซมระหว่างแถวแมคคาเดเมีย ซึ่งจะทำให้บริเวณนั้นสวยงามมากขึ้น และเมื่อทรงทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทรงรับสั่งให้กรมชลประทานหาน้ำมาให้ และเมื่อมีน้ำพอเพียงแล้วให้กรมวิชาการเกษตรนำไม้ผลไปปลูกบริเวณเชิงเขาด้วย จะทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมกันนี้ทรงขอให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการให้เป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานราชการอื่น และเกษตรกรต่อไป จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปลูกต้นมะคาเดเมีย ไว้หนึ่งต้นด้วย 

จากนั้นทอดพระเนตรงานกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ วิธีอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นลาดเขาโดยวิธีทางพืช กับแผนที่แสดงชุดดินเพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังริมฝั่งแม่น้ำปาย ในโอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำในลำน้ำปาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทดน้ำขึ้นระดับสูง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าพลังน้ำทั้งทางด้านฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของลำน้ำ เพื่อสูบน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการเร่งรัดการปลูกป่าทดแทนบนภูเขาบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามพระราชดำริต่าง ๆ ในบริเวณนั้น 

นอกจากนั้น ฝายดังกล่าวยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งานภายในศูนย์ท่าโป่งแดง ตลอดจนใช้ในกิจกรรมสูบน้ำส่งขึ้นไป บนพื้นที่สูง 

ต่อจากนั้นได้ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาล่วงหน้า พร้อมด้วยในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมของกลุ่มศิลปาชีพ ตลอดจนทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ บริเวณนั้น ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานถุงของขวัญแก่นายอำเภอและหัวหน้ากิ่งอำเภอ เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ราษฎรที่ยากจนต่อไป 

*หมายเหตุ ในวันที่ 19 มีนาคม 2534 แนวพระราชดำริที่พระราชทานให้กับกรมชลประทานนั้นทำให้เกิดโครงการชลประทานเพิ่มอีก 4 โครงการคือ 
1)ฝายแม่สร้อยเงินพร้อมระบบส่งน้ำบ้านนาป่าแปก 2) ฝายบ้านห้วยเดื่อ 3) อ่างเก็บน้ำนากระจงบ้านห้วยเดื่อ 4) ฝายแก่นฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ตําบลห้วยโป่ง 

20 มีนาคม พ.ศ. 2280 วันเสด็จพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือ ทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ครั้น พ.ศ. 2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา 

ทั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า ‘กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ หรือเรียกอย่างสังเขปว่า ‘กรุงเทพมหานคร’

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า ’สงครามเก้าทัพ‘ นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า ’กฎหมายตราสามดวง‘ สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงรับการยกย่องเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่าเป็น มหาราช เพราะทรงได้รับชัยชนะจากสงครามเก้าทัพนั่นเอง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน  พ.ศ. 2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา

21 มีนาคม พ.ศ. 2497 วันเกิด ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คนไทยยังคงคิดถึง

‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักในนาม ‘ลุงตู่’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย และเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และยังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่คนไทยยังคงคิดถึงอยู่เท่าทุกวันนี้

ทั้งนี้ ‘ลุงตู่’ เกิดที่ จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยคนหนึ่งคือ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

สำหรับประวัติการศึกษาของ ‘ลุงตู่’ ได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จ.ลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จ.ลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออก เนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ‘ลุงตู่’ เคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และในปี พ.ศ. 2519 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และหลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 ในปีเดียวกัน และในปี พ.ศ. 2524 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 และในปี พ.ศ. 2528 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 และเป็นศิษย์เก่า และในปี พ.ศ. 2550 เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 2

สำหรับเส้นทางทางการเมือง ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ภายหลังจากได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. กระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (สมัยที่ 2)

แม้จุดเริ่มต้นของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะมาจากการทำรัฐประหาร แต่ ‘ลุงตู่’ ก็พิสูจน์ให้พี่น้องคนไทยทั้งประเทศเห็นแล้วว่าตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยได้มุ่งมั่นทำงานแรงกาย สร้างความเจริญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างให้แก่ประเทศไทย ตลอด 9 ปีที่ทำหน้าที่ ‘ผู้นำประเทศ’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top