Tuesday, 6 May 2025
TodaySpecial

1 เมษายน ของทุกปี 'วันเลิกทาส' ครบรอบ 120 ปี ที่ไทยไม่มี ทาส ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5

1 เมษายน ของทุกปี ถูกประกาศให้เป็น 'วันเลิกทาส' เพื่อย้อนระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5 ที่ทำให้ไทย ไม่มีทาส มา 120 ปี

ประวัติความเป็นมา “วันเลิกทาส”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประมาณว่า ไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลง ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัว เมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปี เป็นทาสอีก

เมื่อถึงปี 2448 ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว

ราคาทาส
อายุทาส (ปี)    ชาย                หญิง
แรกเกิด          5 บาท            4 บาท
7- 8               8 ตำลึง           7 ตำลึง
10                 4 บาท             3 บาท 

ทาส มี 7 ประเภท (ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา)
-ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัว หรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน และทาสชนิดนี้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยคือนางสายทอง ซึ่งขายตัวให้กับนางศรีประจันนั่นเอง
-ทาสในเรือนเบี้ย เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้ 
-ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป 
-ทาสท่านให้ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น 
-ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ในกรณีที่บุคคลนั้น เกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้น ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ 
-ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส .
-ทาสเชลย ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้ 

การพ้นจากความเป็นทาส

-โดยการหาเงินมาไถ่ถอน
-การบวชเป็นสงฆ์โดยได้รับความยินยอมจากนายทาส
-ไปการสงครามและถูกจับเป็นเชลย หลังจากนั้น สามารถหลบหนีออกมาได้
-แต่งงานกับนายทาสหรือลูกหลานของนายทาส
-ไปแจ้งทางการว่านายทาสเป็นกบฏ และผลสืบสวนออกมาว่าเป็นจริง
-การประกาศไถ่ถอนจากพระมหากษัตริย์ ในช่วงของการเลิกทาส ปี 2448 ได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 (พ.ศ. 2448) 

ดังนั้น ทุกวันที่ 1 เม.ย. ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันเลิกทาส” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้มีการเลิกทาสนับแต่นั้นมา ไทยจึงเป็น ‘ไท’ จนถึงทุกวันนี้
 

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498

ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ

เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ

พ.ศ. 2520 ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง คะแนนเฉลี่ย 3.98

ระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระดับปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด

ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”

เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอัจฉริยภาพด้านภาษา ด้านดนตรี และด้านพระราชนิพนธ์

ด้านพระราชกรณียกิจ ทรงมุ่งมั่นพัฒนา ในทุกๆ ด้าน อาทิ ด้านการศึกษา ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ด้านการพัฒนาสังคมและการพัฒนาห้องสมุดและการรู้หนังสือ ด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการสาธารณสุข และด้านศาสนา

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

3 เมษายน พ.ศ. 2516 โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น โดย ‘มาร์ติน คูเปอร์’ วิศวกรของ Motorola

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ (mobile or cell phone) คือ อุปกรณ์สำคัญในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก ซึ่งบางคนแทบจะขาดอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้เลย

แต่รู้หรือไม่ว่า โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น โดย มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) วิศวกรและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โมโตโตลา (Motorola) มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973)

คูเปอร์ ได้ทดลองใช้โทรศัพท์มือถือโมโตโรลา DynaTAC ซึ่งเป็นต้นแบบ โทรไปหา โจเอล เอ็งเจล (Joel Engel) หัวหน้านักวิจัยของบริษัท AT&T และ Bell Labs ก่อนที่โทรศัพท์มือถือ Motorola DynaTAC 8000X จะออกวางจำหน่ายในปี 2526 

ไดนาแทค ของ คูเปอร์ จึงเป็นโทรศัพท์มือถือที่ปฏิวัติโลกแห่งการสื่อสารในยุคนั้น

4 เมษายน พ.ศ. 2492 วันก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)” พันธมิตรทางทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจสหภาพโซเวียต

เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2492 ได้มีการรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ และโปรตุเกส โดยร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty) เพื่อก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO)” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2492

วัตถุประสงค์เริ่มแรกก่อตั้ง คือจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหาร ในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

โดยปัจจุบัน “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation : NATO)” มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 32 ประเทศ (ล่าสุดคือ ประเทศสวีเดน - 7 มีนาคม 2567)

8 เมษายน พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนากระทรวงกลาโหม

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2430 นับแต่นั้นจึงถือเป็นวันแห่งการเปิดศักราชใหม่ของกิจการทหารไทยยุคใหม่ โดยในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า ประกาศจัดการทหารเพื่อสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า หรือศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบัน 

โดยมีพระราชประสงค์ที่จะรวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกภาพและศักยภาพในการบังคับบัญชาและบริหารจัดการทหารให้มีรูปแบบเป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกแห่งกิจการทหารไทยที่ทันสมัย ถือเป็นนวัตกรรมของกิจการทหารไทยตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา นอกจากนี้ยังได้ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมถือเป็นสถาบันหลักในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคง และสร้างเสริมพระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงสืบสานพระศาสนาตลอดจนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ และดำเนินกิจกรรมโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และปฏิบัติงานในความรับผิดชอบบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือดูแลประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำลังพลของกระทรวงกลาโหมทุกนายต่างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยยึดถือประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงกลาโหม ได้มีการพัฒนาความพร้อมให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในภาพรวม คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข”

7 เมษายน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี

วันนี้ เมื่อ 128 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยประเทศ รวมเวลา 7 เดือน

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 การเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ เรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกจาก ท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 และในการนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์โดยสมเด็จพระนางเจ้าได้ถูกเรียกขานพระนามในยุคนั้นว่า สมเด็จรีเจนท์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้คือการได้เข้าเฝ้า ฯ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมกับฉายพระรูปเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรปและนอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบแทนที่พระเจ้าซาร์เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อ พ.ศ. 2433 โดยมีบรรดาพระราชโอรสที่เจริญพระชนมายุแล้วรวมถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ร่วมเดินทางไปด้วย

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จนิวัตพระนครพร้อมกับพระราชทานพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 รวมเวลาที่เสด็จประพาสทั้งสิ้น 253 วันหลังจากนั้นพระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย

๖ เมษายน วันจักรี วันที่ ร. 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขี้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี 

ความสำคัญของวันจักรี

วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี 

อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม 

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป

๕ เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

- สร้อยพระนาม ‘สิริ’ มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สร้อยพระนาม ‘วัฒนา’ มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา
- พระนาม ‘อุบลรัตน์’ มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า ‘เป้’ อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่’ ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า ‘พี่หญิง’

พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

9 เมษายน พ.ศ. 2528 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ในขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 71 พรรษา และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมพรรษาได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี 

โดยอัญเชิญพระบรมศพถวายพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ ประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลจำหลักลายประดับรัตนชาติภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสวรรคตเป็นต้นไป นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานที่ราชการต่าง ๆ ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน และให้ข้าราชการไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วันอีกด้วย

สำหรับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ออกแบบโดย นายประเวศ ลิมปรังษี โดยใช้พระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการออกแบบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงแนวทางการออกแบบว่า “ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติย ราชประเพณี และสมพระเกียรติยศพระบรมศพ อีกประการหนึ่ง ฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนักจะเป็นการลำบาก แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งทรงเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์”

พระเมรุมาศ เป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณสำหรับองค์พระเมรุมาศนั้น ส่วนหลังคาประกอบด้วยมุขทิศและเครื่องยอด ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษทองย่นฉลุสาบสี หน้าบันประดับพระนามาภิไธยย่อ ร.พ. องค์พระเมรุเป็นอาคารโถง ตกแต่งด้วยม่านผาตาด มีฉากบังเพลิง ผนังภายนอกประดับลายกระดาษทองย่นฉลุลายสีแบบลงยา ผนังภายในใช้สีชมพูเป็นพื้นส่วนฐานทักษิณมีบันได 4 ทิศ ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา ในท่านั่งบนแท่นเสาพนักลูกกรงระเบียงโดยรอบ ตามคติไตรภูมิตามแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 จึงมีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง หลังจากนั้น จึงมีการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานองค์ซ้าย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเชิญพระราชสรีรางคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

10 เมษายน พ.ศ. 2455 ‘เรือไททานิค’ ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก

ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิค แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิค เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อย ๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ “ผู้หญิงและเด็กก่อน” ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิคแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คนเท่านั้น ที่ถูกช่วยเหลือด้วยเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พา เธีย (RMS Carpathia) อุบัติเหตุในครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาการหลักความปลอดภัยในทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน ค.ศ. 1914 ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้ ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมดและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวของลูกเรือจากเซาแธมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจสาธารณะและการบริจาคของมูลนิธิที่หลั่งไหลเข้ามา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top