Sunday, 27 April 2025
TodaySpecial

4 กันยายน พ.ศ. 2480 กองทัพเรือ รับมอบเรือดำน้ำ 2 ลำแรกจากญี่ปุ่น กำหนดเป็น ‘วันเรือดำน้ำ’ แห่งกองทัพเรือไทย

วันนี้ เมื่อ 85 ปีก่อน กองทัพเรือไทย มีพิธีรับมอบเรือดำน้ำจากบริษัทญี่ปุ่น 2 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 จึงถือเอาเป็นวันเรือดำน้ำไทย

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2480 บริษัท มิตซูบิชิ โชยีไกชา จำกัด แห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาการว่าจ้างต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ ให้กับกองทัพเรือ ได้สร้างเรือดำน้ำ 2 ลำแรก เสร็จสมบูรณ์ ได้แก่ เรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ และได้ทำพิธีส่งมอบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ ให้แก่กองทัพเรือ นับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์กองทัพเรือ ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2481 บริษัท มิตซูบิชิฯ สร้างเรือดำน้ำอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพลเสร็จสมบูรณ์

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำได้ออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2481 และเดินทางถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2481 ตามลำพังโดยปราศจากเรือพี่เลี้ยง ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันเป็นอันมาก

เพราะเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ต่างประเทศย่อมมีเรือพี่เลี้ยงทั้งสิ้น นี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความกล้าหาญและความสามารถของกำลังพลประจำเรือดำน้ำของกองทัพเรือ และเข้าประจำการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2481 ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2

6 กันยายน ของทุกปี วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ปลุกจิตสำนึกคนไทยไม่ทนการทุจริต

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (แห่งประเทศไทย) ได้กำหนดให้วันที่ 6 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชัน’ เพื่อปลุกจิตสำนึกคนไทยไม่ทนต่อการทุจริต

ในปีพ.ศ.2554 ประเทศไทยมีอันดับการคอร์รัปชันแย่ลงจาก 78 เป็น 80 จาก 183 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังมีคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นเพียง 3.4 จาก 10 คะแนนเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

7 กันยายน พ.ศ. 2445 ไทยประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ แบบแรกอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 120 ปีที่แล้ว ประเทศไทย ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยร.4

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 หรือเมื่อ 120 ปีก่อน ประเทศไทย ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

และต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ติดต่อไปยังบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444 และใช้ต่อเนื่องมา จนได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2445 นั่นเอง โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1000 บาท

8 กันยายน พ.ศ. 2482 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ออกประกาศ ให้คนเคารพธงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี

วันนี้ เมื่อ 83 ปีที่แล้ว รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ออกประกาศให้คนเคารพธงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ชี้ สิ่งเป็นสิ่งสำคัญประจำชาติพึงได้รับการเชิดชูเคารพ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 4 เรื่องการเคารพ ธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2482 มีเนื้อหาใจความว่า (หัวข้อประกาศและเนื้อหาในประกาศสะกดตามต้นฉบับ)

“ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติพึงได้รับการเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

๑. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับหรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

๒. เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางการเชิญผ่านมาหรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม

9 กันยายน พ.ศ. 2528 เกิดกบฏ 9 กันยา พยายามยึดอำนาจ ‘พล.อ.เปรม’ ฝีมือ ‘กลุ่มทหารนอกราชการ’ อ้างศก.แย่

วันนี้ในอดีต 9 ก.ย. 2528 เกิด ‘กบฏ 9 กันยา’ ขึ้นในช่วงที่ พล.อ.เปรม นายกฯ(ในขณะนั้น) และ พล.อ. อาทิตย์ ผบ.ทบ (ในขณะนั้น) เดินทางไปราชการต่างประเทศ

เช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน 2528 ราว 03.00 น. กลุ่ม “ทหารนอกราชการ” ได้นำกำลังทหารราว 500 นายก่อการยึดอำนาจ โดยการรัฐประหารเริ่มที่กำลังทหารจากกรมอากาศโยธินได้เข้าจับกุมตัวพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเพื่อใช้เป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งพร้อมรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ได้เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร

พร้อมกับได้เข้ายึด ทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยมี พันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) นายทหารที่เคยถูกให้ออกจากราชการเนื่องจากก่อกบฏเมษาฮาวายเมื่อ 4 ปีก่อนหน้าเป็นผู้นำ พร้อมด้วยนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร น้องชาย โดยกำลังทหารที่ใช้รัฐประหารมาจากหน่วยทหารม้าที่พันเอกมนูญเคยเป็นผู้บังคับบัญชา และทหารอากาศของน้องชาย (ขาดหน่วยทหารราบซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง?)

นอกจากพันเอกมนูญแล้วยังมีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่อย่าง พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำรงจ้อย และนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของแชร์ชาร์เตอร์ ผู้เสียประโยชน์จากการปราบปรามเงินนอกระบบและทรัสต์เถื่อนของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ร่วมก่อการ

คณะผู้ก่อการฉวยโอกาสยึดอำนาจในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ที่สวีเดน

ส่วนสาเหตุที่ผู้ก่อการใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งยังล้มเหลวในการรักษาความเป็นเอกภาพและบูรณภาพของประเทศ (รายงานของ The New York Times)

การปะทะกันระหว่างฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยฝ่ายกบฏได้ระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และบริเวณวังปารุสกวัน ที่ตั้งของกรมประมวลข่าวกลาง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติในปัจจุบัน) ทำให้ นีล เดวิส (Neil Davis) และวิลเลียม แลตช์ (William Latch) สองนักข่าวชาวต่างชาติเสียชีวิต

ถึงเวลาราว 15 นาฬิกา กองกำลังฝ่ายกบฏก็ยอมจำนน ความสูญเสียถึงชีวิตที่เกิดขึ้นนอกจากสองนักข่าวต่างประเทศแล้วยังมีทหารอีก 2 ราย และประชาชนอีก 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย

ในช่วงต้นของเหตุการณ์ ฝ่ายกบฏได้ประกาศชื่อของ พลเอกเสริม ณ นคร ว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารแต่เมื่อการยึดอำนาจล้มเหลว พลเอกเสริม กลับอ้างว่าตนรวมถึง พลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกยศ ล้วนถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม

น้อมเกล้าแสดงความอาลัย 'ควีนเอลิซาเบธ' สิ้นกษัตริย์ครองราชย์ยาวนานสุดของสหราชอาณาจักร

บรรดาผู้นำทั่วโลก น้อมเกล้าแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคต สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 องค์พระประมุขที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร สิริพระชนมายุ 96 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 70 ปี

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ระบุว่า "ในฐานะประมุขแห่งรัฐที่ครองราชย์นานที่สุดและพระชนมายุยืนที่สุดของสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่ชื่นชมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ต่อความกรุณา อุทิศตัวและความสง่างามของพระองค์ พระองค์สร้างความอุ่นใจตลอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หลายทศวรรษ ในนั้นรวมถึงการปลดปล่อยอาณานิคมในแอฟริกาและเอเชีย และวิวัฒนาการของเครือจักรภพ"

"สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เป็นมิตรที่ดีกับสหประชาชาติ ทรงเสด็จเยือนสำนักงานใหญ่ของเราในนิวยอร์ก 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันกว่า 50 ปี พระองค์มุ่งมั่นอย่างหนักแน่นต่องานด้านการกุศลและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และตรัสสร้างแรงบันดาลใจแก่บรรดาคณะผู้แทน ณ ที่ประชุมโลกร้อน COP26 ในกลาสโกว์ เกล้ากระหม่อมของแสดงความชื่นชมสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ต่อความมั่นคงของพระองค์ การอุทิศตนตลอดชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชนของพระองค์ โลกจะจดจำการอุทิศตัวและความเป็นผู้นำของพระองค์"

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ระบุในถ้อยแถลงว่า "ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง พระองค์ทรงยืนหยัดอย่างมั่นคง และเป็นบ่อเกิดแห่งความอุ่นใจและความภาคภูมิใจของชาวสหราชอาณาจักรหลายชั่วอายุ ในนั้นจำนวนมากไม่รู้ว่าประเทศของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางไหนหากปราศจากพระองค์ มรดกของเธอจะเป็นส่วนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร และในเรื่องราวของโลกของเรา"

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่า "สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 จะถูกจดจำในฐานะผู้กล้าหาญในช่วงเวลาของเรา พระองค์มอบแรงบันดาลใจผู้นำของประเทศและประชาชนของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่มีความสง่างามและมีทำนองคลองธรรมในชีวิตสาธารณะ ข้าพเจ้าของส่งความคิดคำนึงถึงครอบครัวของพระองค์และประชาชนชาวสหราชอาณจักร ในชั่วโมงอันน่าเศร้านี้"

เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ระบุในถ้อยแถลงว่า "ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ปากีสถานขอร่วมกับสหราชอาณาจักรและบรรดาชาติต่างๆ ในเครือจักรภพ ในการไว้อาลัยต่อการสวรรคตของพระองค์ กระผมขอน้อมเกล้าแสดงความอาลัยด้วยความจริงใจถึงเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ประชาชนและรัฐบาลของสหราชอาณาจักร"

จันติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ระบุว่า "มันเศร้าสลดใจอย่างที่สุด หลังเราได้ทราบข่าวการจากไปของกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของแคนาดา สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงยืนหยัดอย่างมั่นคงในช่วงชีวิตของเรา และการรับใช้ชาวแคนาดาของพระองค์ จะยังคงเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศของเราไปตลอดกาล"

จาซินดา อาร์เดิร์น นายรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ น้อมเกล้าแสดงความอาลัยว่า "ฉันรู้ว่าฉันต้องพูดแทนประชาชนทั่วนิวซีแลนด์ แสดงความเห็นใจอย่างสุดซึ้งถึงสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ ต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินี สำหรับเราพระองค์ทรงเป็นชื่นชมและเป็นกษัตริย์ที่เราให้ความเคารพอย่างสูง พระองค์ทรงเป็นเหมือนแม่และยายของพวกเรา"

แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุว่า "ด้วยการจากไปของ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 การครองราชย์ครั้งประวัติศาสตร์และการอุทิศทั้งชีวิตในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ครอบครัว ความศรัทธาและการรับใช้ได้มาถึงจุดจบ หัวใจของชาวออสเตรเลียขอยืนเคียงข้างประชาชนชาวสหราชอาณาจักรผู้โศกเศร้าในวันนี้ เรารู้ดีว่าพวกรู้สึกอย่างไรที่ต้องสูญเสียส่วนสำคัญที่สร้างประเทศของพวกเขาขึ้นมา คำปลอบโยนสามารถพบได้ในคำตรัสของสมเด็จพระราชินีเองที่ว่า ความเศร้าคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความรัก"

นอกจากไบเดนแล้ว ในส่วนของสหรัฐฯ มีบุคคลสำคัญหลายคนที่ร่วมน้อมเกล้าแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ในนั้นรวมถึง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มิตช์ แม็คคอนเนลล์ ผู้นำรีพับลิกันในวุฒิสภา อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยา เช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน

10 กันยายน พ.ศ. 2463 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ อภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พันเอก(พิเศษ) จอมพลเรือ นายแพทย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (1 มกราคม พ.ศ. 2435 – 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบรมราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน[4] ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ

11 กันยายน พ.ศ. 2544 ครบรอบ 21 ปี เหตุการณ์ ‘9/11’ เหตุวินาศกรรมที่โลกไม่ลืม

วันนี้ เมื่อ 21 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ เมื่อผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกต่างๆ ในสหรัฐ อเมริกา คร่าชีวิตผู้คนกว่า 3 พันคน

เหตุการณ์วินาศกรรม ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ นับเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ จากฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ที่ได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ เพื่อก่อเหตุ

- ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 1 ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมา

- ลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 2 ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น.

12 กันยายน พ.ศ. 2565 เปิดตัว ‘ศูนย์สิริกิติ์’ โฉมใหม่ ใหญ่กว่าเดิมกว่า 5 เท่า

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดบริการใหม่อีกครั้งวันที่ 12 กันยายน 2565 หลังปิดปรับปรุงกว่า 3 ปี ใช้งบลงทุนไปกว่า 15,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ได้ฤกษ์กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากปิดปรับปรุงไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดย บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ใช้งบลงทุนไปกว่า 15,000 ล้านบาทในการพลิกโฉมใหม่ทั้งหมด

โดยศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ ได้ขยายพื้นที่รวม (Total Space) เพิ่มขึ้น จากเดิม 65,000 ตารางเมตร เป็น 300,000 ตารางเมตร หรือเกือบ 5 เท่า ขยายพื้นที่จัดงาน (Event Space) จากเดิม 25,000 ตารางเมตร เป็น 78,500 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนห้องประชุมจากเดิม 13 ห้อง เป็น 50 ห้อง มีศักยภาพรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ นอกเหนือจากงานประชุมและงานไมซ์
 

13 กันยายน พ.ศ.2425 วันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้นิพนธ์บทเพลงอมตะ ‘ลาวดวงเดือน’

ครบรอบ 140 ปี ประสูติกาล ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสกุลเพ็ญพัฒน เป็นผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชันษา 20 ปี กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top