Sunday, 27 April 2025
TodaySpecial

25 สิงหาคม พ.ศ. 2565 มุมน่ารักๆ สบายๆ ใจดี ของ 'ลุงป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์แทน วันแรก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี วัย 77 ปี นั่งเก้าอี้รักษาการนายกรัฐมนตรี แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างรอวินิจฉัยอยู่ในตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5:4 รับคำร้อง วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี และ สั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยในระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทนไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ‘ลุงป้อม’ กับภาพลักษณ์ผู้ใหญ่ใจดี ยิ้มง่าย มีใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา

พล.อ.ประวิตร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 เพิ่งอายุครบ 77 ปีไปหมาดๆ เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนศึกษาต่อยังโรงเรียนเตรียมทหาร ในรุ่นที่ 6 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 พร้อมกับจบการศึกษาหลักสูตรประจำ ชุดที่ 56 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี 2521

26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 บรรจุอัฐิ ‘พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์’ ณ สวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรมฯ อ.เมือง จ.สงขลา

26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 วันคล้ายวันเกิดครบรอบ 102 ปี พล.อ.เปรม ติณสูลานน์ และเป็นวันบรรจุอัฐิพล.อ.ณ สวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรมฯ อ.เมือง จ.สงขลา หลังจากถึงแก่อสัญกรรมมาแล้ว 3 ปี

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565 คือวันคล้ายวันเกิดของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ อีกทั้งยังเป็นวันจัดพิธีบรรจุอัฐิของพล.อ.เปรม ณ สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา หลังจากได้ถึงแก่อสัญกรรมไปกว่า 3 ปี ซึ่งวันที่ 26 สิงหาคมนี้ เป็นวันครบรอบอายุ 102 ปีอีกด้วย

พล.อ.เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 6 ของ อำมาตย์โท หลวงวินิจฑัณทกรรม กับ นางออด ติณสูลานนท์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบ่อยาง และศึกษาต่อที่โรงเรียนวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทคนิคทหารบก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า โรงเรียนยานเกราะ กองทัพบกสหรัฐอเมริกา ฟอร์ทน๊อกซ์ เคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา วิทยาลัยกองทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9

เริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมวด ที่กรมรถรบ จากนั้นมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการมาตามลำดับ กล่าวคือ ปี 2502 ได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ปี 2506 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า เลื่อนยศเป็นพลตรีในตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าและเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2516 ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2517 เลื่อนยศเป็นพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2520 และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521

27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถึงแก่อสัญกรรม ปิดตำนานเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม

วันนี้ เมื่อ 100 ปีก่อน เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม ถึงแก่อสัญกรรม 

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2404 จ.พระตะบอง สมัย ร.4 เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) และท่านผู้หญิงทิม ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง

เมื่อถึงอายุที่เข้ารับราชการได้ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) บิดา ได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์ ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นนายรองเล่ห์อาวุธ รองหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอภัยพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองพระตะบองอยู่กับเจ้าคุณบิดา ครั้นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง สืบแทนบิดา

พ.ศ. 2439 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองฝ่ายเขมร 4 เมือง คือ เมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ เข้าเป็นมณฑล เรียกว่า “มณฑลบูรพา” โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) เป็นสมุหเทศาภิบาลคนแรก

ต่อมาปี พ.ศ. 2446 พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑลเขมรถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นทั้งสมุหเทศาฯ มณฑลบูรพา ควบกับผู้สำเร็จฯ เมืองพระตะบองทั้งสองตำแหน่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สกุลพันธ์ ยุตธรรม์สุรภาพอัธยาศรัย อภัย พิริยบรากรมพาหุ”

28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สวรรคต สิ้น ‘วังหน้า’ หรือ พระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ทรงเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ได้สวรรคต ในวันนี้ เมื่อ 137 ปีก่อน นับเป็น ‘วังหน้า’ องค์สุดท้าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ประสูติแต่ ‘เจ้าคุณจอมมารดาเอม’ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 คำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 6 กันยายน 2381

เมื่อแรกประสูติพระองค์มีพระอิสริยยศที่ ‘หม่อมเจ้า’ โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า ‘ยอร์ช วอชิงตัน’ ตามชื่อของ ‘จอร์จ วอชิงตัน’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก

คนทั่วไปออกพระนามว่ายอด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า ‘พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร’ และได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อปี 2404 และได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้วด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4  ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์เพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เสนอให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็น ‘กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ’ เมื่อ พ.ศ. 2410 แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้า

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง ที่ประชุมจึงตกลงที่จะแต่งตั้ง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น ‘วังหน้า’ พระองค์ที่ 6 และพระองค์สุดท้าย ทรงเป็นวังหน้าพระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง

ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี โดยคบค้าสนิทสนมกับ โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ

ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษคุกคามสยาม ถึงขั้นเรียกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง จนทำให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง

ประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2484 หลังจากสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ผ่านกฎหมายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2493

เดิมการนับปีปฏิทินของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติทางพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติ คือ การนับวันเดือนปีโดยใช้การโคจรของพระจันทร์เป็นเกณฑ์ และจากหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเปลี่ยนมาใช้จุลศักราช โดยใช้วันเถลิงศก (วันขึ้นจุลศักราชใหม่) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งยังคงใช้ปฏิทินจันทรคติ ถึงแม้ว่าปฏิทินราชการจะใช้จันทรคติ แต่ทางคณะสงฆ์ยังนิยมใช้เทียบปีในรูปแบบพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ

จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า ไทยได้มีการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวก เพราะวันไม่ตรงกับปฏิทินสากล พระองค์จึงทรงได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ คือ การนับวันเดือนปี โดยใช้การโคจรของพระอาทิตย์เป็นเกณฑ์ ตามแบบสากลปฏิทินเกรโกเรียนแทน โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี 12 เดือน และในแต่ละเดือนจะมี 28-31 วัน ตามปฏิทินสากล พระองค์ทรงให้กรมพระยาเทววงศ์วโรปการเป็นผู้ตั้งชื่อเดือน ได้แก่ เดือนแรกของปี คือ เดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปี คือ เดือนมีนาคม เริ่มใช้วันที่ 1 เมษายน 2432

ต่อมาในพุทธศักราช 2483 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่า การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยไม่เหมาะสม เพราะประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต่างถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเพื่อสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องปีปฏิทิน ทำการศึกษาค้นคว้าและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐบาล โดยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ จึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติปีปฏิทิน พ.ศ. .... ในวันที่ 1 สิงหาคม 2483 โดยมีเหตุผลว่า เพื่ออนุโลมตามปีประเพณีของไทยแต่โบราณที่ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่และให้ตรงกับที่นิยมใช้ในต่างประเทศที่เจริญแล้ว จากนั้น ที่ประชุมรับหลักการวาระที่ 1 และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปีปฏิทิน พศ... จำนวน 9 คน ประกอบด้วย พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร หลวงวิจิตรวาทการ หม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยยันต์ นายเดือน บุนนาค นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายฟื้น สุพรรณสาร นายเตียง ศิริขันธ์ นายชอ้อน อำพล และนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล รำลึกถึงบุคคลที่ถูกอุ้มหายทั่วโลก

30 สิงหาคม วันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances)

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับสูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การบังคับให้สูญหาย หรือที่เรารู้จักทั่วไปว่า “การอุ้มหาย” ถูกพิจารณาเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” และถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CPED) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้กำหนดนิยามของ “การอุ้มหาย” ไว้ว่า หมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 วันสิ้นพระชนม์ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ กรุงปารีส

ครบรอบ 25 ปี การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่าเจ้าหญิงแห่งเวลส์ เจ้าหญิงที่ขึ้นชื่อว่าทรงเป็นที่รักของประชาชนทั่วโลก

เจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงเเห่งเวลส์ หรือ เลดี้ไดอาน่า ฟรานเซส สเปนเซอร์ ประสูติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1961 ที่ปาร์กเฮาส์ เมืองซานดริงแฮม นอร์ฟอล์ก ประเทศอังกฤษ โดยไดอาน่าเป็นบุตรคนที่ 3 ของ จอห์น สเปนเซอร์ ไวเคานต์อัล ธอร์พ กับ ฟรานเซส โรซ เมื่อวัยเข้าปีที่ 14 ไดอาน่าได้รับบรรดาศักดิ์ เป็นเลดี้ เมื่อบิดาของเธอได้สืบทอดฐานันดรศักดิ์ เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ 

เลดี้ไดอาน่า สเปนเซอร์ เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อเข้าพิธีหมั้นหมายกับเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ใน ค.ศ. 1981 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 ได้มีการจัดงานพระราชพิธีอภิเษกสมรส ระหว่าง เลดี้ไดอาน่า สเปนเซอร์ กับ เจ้าชายแห่งเวลส์ ณ วิหารนักบุญเปาโล เลดี้ไดอาน่าได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ดัชเชสแห่งรอธเซย์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ หลังจากเข้าพิธีสมรสได้ไม่นาน เจ้าหญิงไดอาน่ามีพระประสูติกาลเจ้าชายพระองค์แรกมีนามว่าเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายเเฮร์รี่ ในอีก 2 ปีถัดมา  

ในช่วงชีวิตของการเป็นเจ้าหญิงและพระชายาของเจ้าฟ้าชายส์ พระองค์ทรงทำหน้าที่ในสมาชิกเชื้อพระวงศ์ การเป็นพระชายาและพระมารดาได้อย่างดีเยี่ยม และ ด้วยความอ่อนหวานและความเป็นกันเองต่อสาธารณชน จึงทำให้เจ้าหญิงไดอาน่าทรงเป็นที่รักของประชาชนในเวลาอันรวดเร็ว

ในชีวิตคู่ของพระองค์และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่ค่อยราบรื่นนัก ด้วยมีข่าวลือว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้เป็นพระสวามีได้สานสัมพันธ์รักกับนางคามิล่า พาร์กเกอร์ คนรักเก่า นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าเจ้าหญิงไดอาน่าเองก็มีความสัมพันธ์ลับกับ เจมส์ ฮิววิตต์ อดีตครูสอนขี่ม้าของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ จึงทำให้ทั้งสองพระองค์ได้ตัดสินใจหย่ากันในที่สุด

วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี วันสืบ นาคะเสถียร รำลึกถึง ชายผู้รักผืนป่ายิ่งชีพ

วันที่ 1 กันยายน 2533 ‘สืบ นาคะเสถียร’ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี แลกชีวิตของตนเอง เพื่อปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้ตระหนักถึงสถานการณ์ป่าไม้ และ สัตว์ป่าเมืองไทย

สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อนุรักษ์ป่าไม้ยิ่งชีพ โดยได้จบชีวิตของตนเองเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 เพื่อประกาศให้สังคม และปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้ตื่นขึ้น ให้รับทราบความเป็นไปของสถานการณ์ป่าไม้ และ สัตว์ป่าเมืองไทย 

สืบ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นจริงจังใน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายหลังการเสียชีวิต 18 วัน มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 วันเดียวกับการครบรอบ 94 ปีของกรมป่าไม้ หน่วยงานต้นสังกัดของนักอนุรักษ์ผู้นี้

สำหรับ ‘สืบ นาคะเสถียร’ หรือนามเดิมชื่อ "สืบยศ" เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อ นายสลับ นาคะเสถียร เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ปราจีนบุรี  มารดาชื่อ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร สืบ นาคะเสถียรมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยสืบ นาคะเสถียร เป็นบุตรชายคนโต น้องชายและน้องสาวอีก 2 คนคือคุณกอบกิจ นาคะเสถียรและคุณกัลยา รักษาสิริกุล คุณสืบมีบุตรสาว 1 คน ชื่อชินรัตน์ นาคะเสถียร ในวัยเด็ก สืบ นาคะเสถียร ได้ช่วยงานในนาของมารดา ทำงานอยู่กลางแจ้งทั้งวันโดยไม่ปริปากบ่น บุคลิกประจำตัว คือเมื่อเขาสนใจหรือตั้งใจทำอะไรแล้วก็จะมีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ ครั้นเรียนจบชั้นประถม 4 ต้องจากครอบครัวไปเรียนอยู่ที่ โรงเรียนเซนหลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

พ.ศ. 2511 เข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบมีความตั้งใจในการศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพและเข้าร่วมกิจกรรมนิสิต โดยเป็นที่ทราบกันดีระหว่างผู้ใกล้ชิดว่า สืบ นาคะเสถียร เป็นผู้มีใจรักศิลปะ และสูงส่งในเชิงมนุษยสัมพันธ์ มีระเบียบในการดำเนินชีวิตในสมัยเรียนอย่างมีแบบแผน พ.ศ. 2514 จบการศึกษาจาก คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมา พ.ศ. 2516 สืบ นาคะเสถียรเข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ 

พ.ศ. 2517 สืบเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา และในปีพ.ศ. 2518 ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ และเริ่มชีวิตข้าราชการกรมป่าไม้

เมื่อปี พ.ศ. 2518 ใน กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น เขาตัดสินเลือกกองนี้เพราะต้องการทำงาน เกี่ยวกับสัตว์ป่ามากกว่างานที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ ป่าไม้โดยตรง สืบ เริ่มงานครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ได้ผลักดันให้สืบ ต้องเข้าไปทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย อย่างเลี่ยงไม่พ้น ที่นั่นเขาได้จับกุม ผู้บุกรุกทำลายป่าโดยไม่เกรงอิทธิพลใดๆ ผู้ต้องหาล้วนได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพนิ่มนวล และที่นี่ สืบเริ่มเรียนรู้ว่า การเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ซื่อสัตย์ นั้นเจ็บปวดเพียงไหน

สืบทำงาน อยู่ 3-4 ปี ในปี พ.ศ. 2522 สืบก็ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนระดับปริญญาโท สาขาอนุรักษ์วิทยาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากนั้น พ.ศ. 2524 กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขต ห้ามล่าสัตว์ป่า บางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงาน พิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น จนกระทั่ง พ.ศ. 2526 สืบได้ขอย้ายตัวเอง เข้ามาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว “ผมหันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคน เพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆ จับไม่ได้ก็เลย อึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรมเรารังแกชาวบ้าน

2 กันยายน พ.ศ. 2488 สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ หลังญี่ปุ่นลงนามยอมจำนน บนเรือรบมิสซูรี

มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ในนามของพระจักรพรรดิลงนามในเอกสารยอมจำนน เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

ในวันที่ 2 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ในนามของพระจักรพรรดิลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกลุ่มสัมพันธมิตรเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดลงของ สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

การลงนามมีขึ้นบนเรือรบมิสซูรีของกองทัพสหรัฐฯ ที่ลอยลำอยู่เหนืออ่าวโตเกียว โดยพิธีลงนามใช้เวลาเพียง 20 นาที เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงนามทั้งสิ้น 12 รายชื่อ

3 กันยายน พ.ศ. 2655 วันเกิด ‘โดราเอมอน’ หุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากโลกอนาคต

วันนี้ ในอีก 90 ปีข้างหน้า เป็นวันเกิด โดราเอมอน (Doraemon) การ์ตูนหุ่นยนต์แมวที่มาจากโลกอนาคต

โดราเอมอน (Doraemon) เป็นตัวละครจากการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แมวสีฟ้า ที่มาจากโลกอนาคตในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 22 เกิดวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2655 (ค.ศ.2112) ลักษณะตัวอ้วนกลมสีฟ้า (เมื่อแรกเกิดมามีสีเหลือง) ไม่มีใบหู เนื่องจากถูกหนูแทะ ถูกส่งย้อนเวลามาคอยช่วยเหลือดูแลโนบิตะ โดยใช้ของวิเศษที่หยิบจากกระเป๋า 4 มิติ

โดราเอมอนเคยได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เอเชีย ให้เป็น 1 ในวีรบุรุษของทวีปเอเชีย และในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2551 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแต่งตั้งให้โดราเอมอนเป็นทูตสันถวไมตรีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศ โดยนับเป็น "ทูตแอนิเมชั่น" ตัวแรกของประเทศญี่ปุ่น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top