Saturday, 26 April 2025
TodaySpecial

๒๘ กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ภายหลังทรงมีพระราชดำรัสตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2559

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ก.ค. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ

ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467

การศึกษา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร

หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ทรงผนวช
วันที่ 6 พ.ย. 2521 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถร วัดราชบพิธ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ถวายพระสมณนามว่า วชิราลงฺกรโณ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครบ 15 วัน ทรงลาผนวช

พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์มาโดยตลอด เพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในการพระราชพิธีสำคัญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรไทย และพระราชพิธีทางศาสนาต่างๆ

นอกจากนี้ได้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปแปรพระราชฐานประทับแรมตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่างๆ และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ส่งให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคล จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกณียกิจ เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

ด้านการศึกษา ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ และในด้านการอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ แทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ

ทรงจัดตั้งโครงการทุนการศึกษาพระราชทานด้วยทรงมีพระราชปณิธานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย และในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น โดยทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนทุนพระราชทานทุกรุ่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 97 โดยผู้ได้รับทุนพระราชทานไม่มีภาระผูกพันที่ต้องใช้ทุนคืน และเมื่อจบการศึกษา ทรงเปิดโอกาสให้สมัครเข้าถวายงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ได้ตามความสมัครใจ

29 กรกฎาคม ของทุกปี ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ ถือเป็นวันที่ระลึกถึงภาษาประจำชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่คนไทยควรตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ 

วันภาษาไทยแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ.1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ "ลายสือไทย" ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่างๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น "อักษรไทย" ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

30 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ‘อังกฤษ’ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก แชมป์ครั้งแรกและครั้งเดียวของทีมสิงโตคำราม

วันนี้ เมื่อ 56 ปีก่อน นับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของทีมชาติอังกฤษ เมื่อสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาได้เป็นครั้งแรกในฐานะเจ้าภาพ และเป็นสมัยเดียวตราบจนวันนี้

การแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ FIFA World Cup 1966 ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าภาพ อยู่ภายใต้การนำของ เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ มีนักเตะแกนหลัก บ๊อบบี้ มัวร์, เจฟฟ์ เฮิร์สท์, มาร์ติน ปีเตอร์ส นอกจากนี้ยังมี กอร์ดอน แบ๊งค์ส นายทวารจอมหนึบ จิมมี่ กรีฟส์ ดาวซัลโวแห่งยุค รวมถึงสองพี่น้องตระกูล แจ็คกี้ ชาร์ลตัน และ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน 

อังกฤษ ได้ลงเล่นในสนามเวมบลีย์ทุกนัดก่อนผ่านรอบแรกไม่ยาก และจัดการ อาร์เจนตินา 1-0 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ส่วนรอบรองชนะเลิศกับโปรตุเกสก็ได้ 2 ประตูของ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน พาทีมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 

ขณะที่ในรอบรองชนะเลิศอีกคู่ เยอรมันตะวันตก สามารถเบียดเอาชนะ สหภาพโซเวียต 2-1 ตีตั๋วเข้าชิงได้สำเร็จ

วันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน เที่ยวบินของคนไทย ประสบอุบัติเหตุทางอากาศครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งเท่าที่มีการจดบันทึก คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือรวม 113 ชีวิต

การบินไทย เที่ยวบินที่ 311 เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศของไทยที่ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาขณะกำลังลดระดับ เตรียมร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติตรีภูวัน กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

โดยผู้โดยสารจำนวน 99 คน และลูกเรือ 14 คน เสียชีวิตทั้งหมดรวม 113 ชีวิต!!

สำหรับสาเหตุ หลังจากนั้นได้มีการสอบวนจนพบว่า เนื่องจากท่าอากาศยานตรีภูวันในสมัยนั้นไม่มีเรดาห์ หอบังคับการจึงไม่ทราบตำแหน่งของเครื่องบิน การจะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินแห่งนี้ ต้องอาศัยการมองด้วยสายตาและการวิทยุประสานงานตำแหน่งเป็นระยะๆ เท่านั้น

ในวันที่เกิดอุบัติเหตุนั้น เป็นวันที่สภาพอากาศปิด นักบินสามารถมองเห็นทัศนียภาพได้เพียงไม่กี่ร้อยเมตร การนำเครื่องบินลงจอดจึงต้องอาศัยการประสานงานทางวิทยุเท่านั้น

จากการสอบสวนพบว่า เมื่อเครื่องบินกำลังลดระดับจากทิศใต้เพื่อลงจอดยังท่าอากาศยานนานาชาติตรีภูวัน หอบังคับการบินแจ้งว่าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการเปิดใช้ทางวิ่ง ทำให้เครื่องบินต้องบินเลยไปเพื่อตัดสินใจว่าจะนำเครื่องลงจอดที่อินเดียหรือกลับกรุงเทพ

วันนี้เมื่อ 198  ปีก่อน เป็นอีกวันสำคัญยิ่งสำหรับพสกนิกรชาวสยาม เพราะวันที่ 1 สิงหาคม 2367 คือวันที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาไลย หรือ “เจ้าจอมมารดาเรียม” ต่อมาได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในขณะที่พระองค์ประสูตินั้น สมเด็จพระราชชนกดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระองค์จึงมีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้าพระนามว่า “หม่อมเจ้าชายทับ”

จนกระทั่ง สมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ”

เมื่อสมเด็จพระราชชนกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ”

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2356 จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

แต่แล้ว ในปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต โดยที่ยังมิได้ตรัสมอบหมายการสืบราชสันตติวงศ์ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ประชุมปรึกษากันและมีสมานฉันท์เป็น “อเนกมหาชนนิกร สโมสรสมมุติ” ให้เชิญเสด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลำดับที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อมา

โดย พระสุพรรณบัฏที่เฉลิมพระปรมาภิไธย ซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายในวันทรงรับพระบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2367 ก็ยังคงใช้พระปรมาภิไธยเช่นเดียวกับรัชการที่ 1 และที่ 2 โดยราษฎรทั่วไปไม่ออกพระนามพระมหากษัตริย์ แต่เรียกว่า “พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 สิ้นพระชนม์

วันนี้ เมื่อ 101 ปีก่อน เป็นวันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิริรวมอายุได้ 61 ปี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระนามเดิม พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ  เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอก เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2403 ทรงศึกษาเบื้องต้นในสำนักเจ้านายฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาบาลีและอักษรขอมกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ  วิชาการสมัยใหม่ตามพระราชดำริในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ 14 ปี  จนพระชนมายุได้ 18 ปี จึงทรงลาผนวช แล้วเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานสารบบฎีกา กรมราชเลขานุการ เมื่อมีพระชนมายุ 20 ปี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดพระชนม์ชีพ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส  มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองเมื่อพ.ศ.2424 ต่อมาพ.ศ.  2449  เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงวชิรญาณวโรรส  ทรงสมณศักดิ์เสมอสมเด็จพระราชาคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย

3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ศาลรธน.วินิจฉัย ‘ทักษิณ’ พ้นผิดคดีซุกหุ้น กับตำนานวลีการเมือง “บกพร่องโดยสุจริต”

วันนี้ในอดีต 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ทักษิณ’ พ้นผิด ‘คดีซุกหุ้น’ ด้วยมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง จนเกิดวลีอันลือลั่น “บกพร่องโดยสุจริต” 

สำหรับ ‘คดีซุกหุ้น’ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่มีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน ตัดสินด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ระบุว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร ’ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540  ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา

จากนั้นกระบวนการไต่สวนก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางฝ่าย ป.ป.ช. มีตัวแทน คือ นายกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น ขณะที่ ‘ทักษิณ’ ต้องเปลี่ยนทนายหลายชุดเพื่อรับมือกับลีลาการซัก-ถาม ของ นายกล้านรงค์ ที่ถึงลูกถึงคน และนายกล้านรงค์ อ้างถึง การตรวจสอบของ ป.ป.ช. พบว่าระหว่างปี 2535, 2536 และ 2539 ‘ทักษิณ’ มีการโอนหุ้นในหลายบริษัทให้กับคนขับรถ แม่บ้านและคนเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นการปกปิดอำพราง 

ส่วนทางฝ่าย ‘ทักษิณ’ ต้องตั้งรับการรุกของ ป.ป.ช. อย่างหนัก จนถึงขั้นต้องเชิญนายประสิทธิ์ ดำรงชัย หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น และกรรมการเสียงข้างน้อย ให้เข้าเป็นพยานและให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุน ‘ทักษิณ’ และยืนยันว่า ‘ทักษิณ’ ไม่น่าจะจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน

กระทั่งวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ‘ทักษิณ’ ก็ถูกแรงกดดันให้ต้องเข้าแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองเกี่ยวกับคดีดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าการให้คนอื่นถือหุ้นแทน เป็นไปตามหลักของธุรกิจและถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องของ ‘แบบฟอร์ม’ การแจ้งทรัพย์สินที่ไม่ชัดเจน พร้อมกับการยกคำพูดที่ลือลั่นมาจนถึงขณะนี้ นั่นก็คือ การกระทำของตนและภรรยานั้น น่าจะถือเป็น ‘การบกพร่องโดยสุจริต’

และระหว่างที่รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ก็มีกระแสกดดันต่างๆ มากมายถาโถมมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งธงเหลือง การออกมาสนับสนุน ‘ทักษิณ’ ของผู้อาวุโสของสังคม การล่าชื่อนับแสนชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยื้อเรื่องนี้ออกไปเพื่อช่วยเหลือ ‘ทักษิณ’ โดยเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับสถานการณ์และผลประโยชน์ของประเทศชาติ

4 สิงหาคม พ.ศ. 2539 ‘สมรักษ์ คำสิงห์’ สร้างประวัติศาสตร์ คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรก

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน แฟนกีฬาชาวไทยได้เฮลั่น เมื่อ ‘สมรักษ์ คำสิงห์’ นักมวยสากลสมัครเล่น สามารถคว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกให้กับประเทศไทยได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ 

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิด 1996 ซึ่งถูกจัดขึ้นที่แอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา สมรักษ์ คำสิงห์ เป็นตัวแทนนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นไทย ในรุ่นเฟเธอร์เวท น้ำหนักไม่เกิน 57 กิโลกรัม เข้าร่วมการแข่งขันภายใต้ความหวังของแฟนกีฬาชาวไทยว่าจะสามารถคว้าเหรียญมองแรกให้ประเทศไทยในกีฬาโอลิมปิกได้สำเร็จ เพราะเจ้าตัวเพิ่งจะคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันในรุ่นเดียวกัน จากการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 1994 มาได้ก่อนหน้านั้น จึงกลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่แฟนกีฬาชาวไทยคาดหวัง

ด้วยผลงานจากรอบแรกไปจนถึงรอบรองชนะเลิศ ที่สมรักษ์ คำสิงห์ สามารถเอาชนะคู่แข่งจากประเทศ เปอร์โตริโก แอฟริกาใต้ รัสเซีย และอาร์เจนตินา ได้สำเร็จอย่างงดงาม ยิ่งทำให้แฟนกีฬาชาวไทยยิ่งเกิดความคาดหวังมากยิ่งขึ้น

ในรอบชิงชนะเลิศ สมรักษ์ คำสิงห์ ต้องพบกับ คู่แข่งขันที่แข็งแกร่งจากประเทศ บัลแกเรีย อย่าง เซราฟิม โทโดรอฟ (Serafim Todorov) ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงแชมป์โลกมวยสากลสมัครเล่น 3 สมัย และที่สำคัญ ในรอบรองชนะเลิศ โทโดรอฟ ก็สามารถเอาชนะยอดมวยเจ้าภาพอย่าง ฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ จูเนียร์ มาได้ จึงนับได้ว่า โทโดรอฟ เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างมาก

และในการแข่งขันในครั้งนั้นใช้กฎกติกาการให้คะแนนแบบหมัดต่อหมัด และยังมีการขึ้นคะแนนแบบเรียลไทม์ให้ผู้ชมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ได้เห็น ยิ่งทำให้การลุ้นการแข่งขันของแฟน ๆ กีฬาชาวไทยตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนนายร้อย

วันนี้ เมื่อ 135 ปี นับเป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายร้อยของไทย โดยถือเอาวันที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับ(กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) โดยเริ่มจากการจัดตั้งทหารมหาดเล็กเด็กที่เรียกว่า "ทหารมหาดเล็กไล่กา" จำนวน 12 คน ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้ขยายกำลังขึ้นโดยฝึกข้าหลวงเดิมให้เป็นทหารมหาดเล็กสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม 24 คน จึงเรียกทหารในชุดนี้ว่า "ทหาร 2 โหล" และต่อมาได้เพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็กเป็น 72 คน แต่งตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด

พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า "กอมปานี" (Company) ถึง 6 กองร้อย จัดตั้งเป็น "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์"

พ.ศ. 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนวิชาการและระเบียบการขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก รวมทั้งให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วย เรียกสถานศึกษาว่า "คะเด็ตทหารมหาดเล็ก" ส่วนนักเรียนเรียกว่า "คะเด็ต" (Cadet)

พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้น (ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ) จึงกำเนิด "คะเด็ตทหารหน้า" ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ได้เร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ เมื่อเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหารสำหรับทหารบกทั่วไปขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่ตั้ง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร) โดยรวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และส่วนที่เป็นทหารสก๊อตเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อรวมว่า "คะเด็ตสกูล" สำหรับนักเรียนเรียกว่า "คะเด็ต" มีนายพันเอกนิคาล วอลเกอร์ (Nical Walger) เป็นผู้บังคับการคนแรก

5 สิงหาคม 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล

14 มกราคม 2431 ได้ตราข้อบังคับขนานนามโรงเรียนคะเด็ตสกูลเสียใหม่ว่า "โรงเรียนทหารสราญรมย์"

6 ตุลาคม 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโรงเรียนนายสิบมาสมทบด้วย เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนสอนวิชาทหารบก"

25 พฤศจิกายน 2441 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนทหารบก" เปิดโอกาสให้รับบุคคลสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ต่อมามีผู้สนใจเข้ารับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนนายสิบไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และ เมื่อ 26 พฤษภาคม 2446 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนนายร้อยทหารบก" เปิดการสอนใน 2 แผนก คือ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม

5 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าสถานที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกคับแคบไปแล้วไม่เพียงพอแก่การที่จะผลิตนักเรียนเพิ่มขึ้นทันกับความต้องการของสถานการณ์ในเวลานั้น ซึ่งขาดแคลนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมยังคงอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เดิม) เสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2452

โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ดำเนินการมาด้วยดี ต่อมาเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ กระทรวงกลาโหมจึงให้รวมโรงเรียนนายร้อยทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเรียกชื่อว่า "โรงเรียนนายร้อยทหารบก " อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธศึกษาทหารบก

26 มีนาคม 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่จบการศึกษาขั้นสูงสุดทุกปี

พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคทหารบกขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อผลิตนายทหารบางเหล่าที่เป็นเหล่าสายเทคนิค

2 ธันวาคม 2485 - 14 มกราคม 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยหญิงขึ้น 1 รุ่นจำนวน 28 คนและมีรุ่นเดียว

14 เมษายน 2485 - พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยสำรองขึ้น 3 รุ่น และได้เปิดหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ 30 เมษายน 2499 อีก 6 รุ่น รวม 9 รุ่น

ในห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรไมตรีกับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อ 21 ธันวาคม 2484 ในปี พ.ศ. 2486 ฝ่ายพันธมิตรได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก ทางราชการจึงคิดแผนการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ในวันที่ 10 มกราคม 2487 นักเรียนนายร้อยทุกหลักสูตรและทุกคน จึงได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จ.พิจิตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 112 ก.ม. เข้าสู่หมู่บ้านป่าแดง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เปิดทำการสอนนักเรียนนายร้อยอยู่ไม่นาน พอต้นปี พ.ศ. 2488 ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งสงครามสงบในเดือน กันยายน 2488 โรงเรียนนายร้อยจึงได้กลับมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งเดิม

พ.ศ. 2489 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปีตามแบบอย่างโรงเรียนนายร้อยทหารบกของสหรัฐอเมริกา

1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนายร้อยแทนชื่อเดิมว่า "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า"

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมือง ฮิโรชิมะ ส่งผลญี่ปุ่นยอมแพ้ นำไปสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่สอง

ในช่วงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เครื่องบิน B-29 ของสหรัฐ อเมริกา ได้ปล่อยระเบิดปรมาณู อาวุธที่คิดค้นขึ้นใหม่ใส่พื้นที่ของเมืองฮิโรชิมะ ของญี่ปุ่น ทำลายเมืองจนราบเป็นหน้ากลอง คร่าชีวิตผู้คนนับแสนคนในพริบตา ก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมยุติสงครามในเวลาต่อมา

การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ เป็นการโจมตีจักรวรรดิญี่ปุ่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ อเมริกา ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฮร์รี เอส. ทรูแมน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ 67 เมืองของญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือน สหรัฐอเมริกาจึงได้ทิ้งระเบิดปรมาณู หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งมีชื่อเล่นเรียกว่า ลิตเติลบอย ใส่เมืองฮิโรชิมะในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ตามด้วย ‘แฟตแมน’ ระเบิดปรมาณูลูกที่สองใส่เมืองนางาซากิ นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top