Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

3 มิถุนายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2551 ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป

ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน)

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงนำทำการแสดงทางทหารประกอบดนตรี ‘ราชวัลลภ เริงระบำ’ (Hop to the Bodies Slams) ในงานวันราชวัลลภได้อย่างสง่างามและเข้มแข็ง ในฐานะผู้บังคับการกองผสม
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจตุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ให้แก่ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา อีกทั้งได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น ท่านผู้หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น ‘สมเด็จพระราชินีสุทิดา’ ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดาขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระบรมราชินี’ ทรงพระนามว่า ‘สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี’

4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 วันสถาปนา ‘คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ คณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของไทย ที่ถือกำเนิดจาก ‘ในหลวง ร.8’

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยสังกัดอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2510 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ถือกำเนิดจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8

การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้เริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเพียงแปดเดือนเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย ประสบความยากลำบากทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายจากการทิ้งระเบิด คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก 3 สาขา ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือด้านแพทยศาสตรศึกษา ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยและฝึกอบรมด้านไวรัสและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

5 มิถุนายน ของทุกปี ‘องค์การสหประชาชาติ’ กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ ปลุกสังคมให้ตื่นตัวในเรื่องวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้น จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า ‘การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์’ หรือ ‘UN Conference on the Human Environment’

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก

6 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ‘วันดี-เดย์’ (D-Day) ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี เพื่อปลดปล่อยประเทศที่ถูกนาซียึดครอง ใน WW2

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2487 เป็นวันที่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรจากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ชายฝั่งตอนเหนือของฝรั่งเศส เพื่อปลดปล่อยประเทศในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตกให้หลุดพ้นจากการยึดครองของกองทัพนาซี ในสงครามโลกครั้งที่สอง

โดยวันดังกล่าวถูกเรียกว่าวัน ‘ดี-เดย์’ (D-Day) ซึ่งย่อมาจาก ‘Deliverance Day’ มีความหมายว่าวันแห่งการปลดปล่อย ยุทธการในวันดีเดย์ถือเป็นการร่วมของทหารเรือ ทหารบก และทหารอากาศ ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด และมีรหัสที่ใช้เรียกยุทธการนี้ว่า ‘Overload’

ยุทธการในวันดีเดย์ใช้กำลังพลถึง 156,000 นาย พร้อมกับยานพาหนะ 10,000 คัน และเรืออีก 7,000 ลำขึ้นไปยังหาดทั้ง 5 แห่งตามแนวชายฝั่งนอร์มังดี ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดการสนับสนุนจากกองกำลังทางอากาศและทางเรือที่มีความแข็งแกร่งกว่าฝ่ายเยอรมันอยู่มาก สุดท้ายฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถยกทัพจากแคว้นนอร์มังดีเข้าไปปลดปล่อยกรุงปารีสได้สำเร็จในช่วงปลายเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน

ซึ่งยุทธการในครั้งนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องสูญเสียกำลังพลไปถึง 4,400 นาย และบาดเจ็บหรือสูญหายกว่า 9,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันมีตัวเลขการสูญเสียอย่างไม่แน่ชัดอยู่ที่ประมาณ 4,000-9,000 นาย นอกจากนี้ยังมีพลเรือนชาวฝรั่งเศสที่โดนลูกหลงจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรอีกหลายพันคนเช่นกัน

การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่สอง และยังเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์สงครามที่โด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้เหตุการณ์วันดีเดย์ยังถูกนำมาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่น Saving Private Ryan, The Longest Day และ D-Day เป็นต้น

7 มิถุนายน พ.ศ. 2197 วันขึ้นครองราชย์ ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 14’ กษัตริย์ผู้ทรงวางรากฐานแฟชั่นในฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือ หลุยส์มหาราช ทรงมีพระสมัญญานามว่า สุริยกษัตริย์ อีกทั้ง ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2197 อีกทั้งยังเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก 

อย่างไรก็ตาม เดิมทีในอดีต…ศูนย์กลางความมั่งคั่งและแฟชั่นไม่ได้อยู่ที่ฝรั่งเศส แต่กลับอยู่ที่สเปนและอิตาลี สินค้าแฟชั่นหลายอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราชประสงค์ที่จะให้ฝรั่งเศสเป็นที่เชิดหน้าชูตาและได้รับการมองว่ายอดเยี่ยมที่สุด จึงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระราชวังแวร์ซายที่มีความสวยงามอลังการ แต่ก็มาพร้อมกฎระเบียบต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องมารยาท พิธีการ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมราชสำนัก’ ที่กำหนดสถานภาพและเกียรติภูมิของบุคคลนั้น ๆ

สิ่งนี้นำมาซึ่งแฟชั่นการแต่งกายที่แตกต่างกันไปในแต่ละพิธีการ โดยในทุก ๆ วัน เหล่าขุนนางและข้าราชบริพารจะเข้าเฝ้าเพื่อชื่นชมการแต่งกายของพระองค์ อีกทั้งขุนนางแต่ละคนยังต้องแต่งตัวเพื่อให้เป็นที่โดดเด่นจนต้องพระเนตรและได้รับการชื่นชมหรือจดจำจากพระองค์

การแข่งขันในการแต่งกายของเหล่าขุนนางต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าแฟชั่นเพิ่มสูงขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และรัฐมนตรีคลังจึงได้ปฏิรูปและส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องประดับ น้ำหอม ให้ยกระดับคุณภาพ จนกลายเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน

8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ‘ถนนรัชดาภิเษก’ บรรเทาความเดือดร้อนด้านการจราจรให้แก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุง โดยถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบในของกรุงเทพฯ ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2519 สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่จะต้องประสบปัญหาการจราจร

ทั้งนี้ ความเป็นมาของถนนรัชดาภิเษก ปี พ.ศ. 2514 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) โดยรัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี

แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นแทน ให้เป็นถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ และมีถนนออกจากศูนย์กลางไปรอบตัวตัดกับวงแหวนเหล่านั้น เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน...”
ทั้งนี้ ถนนรัชดาภิเษกสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 23 ปี ถนนเส้นนี้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สัญจรเข้า-ออกระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนถึงผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ออกไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันสวรรคต ‘ในหลวงรัชกาลที่ 8’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์ไทย

‘วันอานันทมหิดล’ ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้สร้างคุณูปการไว้อเนกอนันต์โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการศึกษา รัฐบาลจึงถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันอานันทมหิดล’

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 12 ปีที่ทรงครองราชย์ ( 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปกครอง การศาสนา การแพทย์และการศึกษา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 พระองค์ได้มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยจึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบันคือ ‘คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ นั่นเอง

>> พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมือง ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชนก (องค์พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระองค์ได้ทรงศึกษาจากต่างประเทศและได้เสด็จนิวัตประเทศไทยภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่7) ทรงสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท

คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงมีการลงมติเห็นชอบอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ทรงได้รับการเฉลิมพระนามใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล’ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียงราว 9 พรรษา จึงทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

ในระหว่างการศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เสด็จนิวัตเมืองไทย เพื่อกลับมาเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎร ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษาทรงเสด็จนิวัตเมืองไทยอีกครั้งด้วยทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะประมุขของประเทศ ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 12 ปี

ปวงชนชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านโดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปีเป็น ‘วันอานันทมหิดล’ โดยในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่หน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป

10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 วันกำเนิด ‘ภาพยนตร์’ ในประเทศไทย จัดฉายครั้งแรก ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ

วันนี้ในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์ในรูปแบบมหรสพเป็นครั้งแรกของไทย โดยปรากฏหลักฐานจากโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ‘บางกอกไตม์’ ฉบับประจำวันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2440 ว่า ‘นายเอส. จี. มาคอฟสกี’ ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำภาพยนตร์มาฉายในคืนวันที่ 10, 11 และ 12 มิถุนายน ซึ่งจัดฉายในรูปแบบมหรสพที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ นับว่ามีชาวไทยกว่า 600 คน ทั้งชายและหญิงได้เป็นผู้ชมภาพยนตร์เป็นกลุ่มแรก

โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2440 หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ ได้เขียนบรรยายถึงปฏิกิริยาของคนดูไว้ว่า “การเล่นที่เรียกว่า ‘ปาริเซิน ซีเนมาโตรแครฟ’ อันได้เล่นที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการแปลกปลาดน่าดูจริง รูปประดาน้ำกับรูปศรีต่อยมวยทำเห็นจริงมีคนชอบมาก แล้วตัวละครที่ชำนาญในการเล่นได้ออกมาแสดงการเล่นต่างเป็นที่เห็นจริงน่าชมทุกอย่าง มีเจ้านายขุนนางแลประชาชนชายหญิงได้ไปชมประมาณ 600 กว่า…”

ซึ่ง ‘ปาริเซิน ซีเนมาโตรแครฟ’ คุณชลิต เอื้อบำรุงจิต ได้อธิบายว่า ‘ประดิษฐกรรมของพี่น้องลูมิแอร์ และหนังที่ฉายก็น่าจะเป็นชุดมีหลายเรื่อง แต่จากหลักฐานระบุชื่อของหนังได้เพียง 2 เรื่อง คือ ประดาน้ำ และ ศรีต่อยมวย ซึ่งตรงกับชื่อหนังในบัญชีของลูมิแอร์’

จึงถือได้ว่าเหตุการณ์ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 คือ วันกำเนิดภาพยนตร์ในสยาม

13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 สิ้น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' นักร้องขวัญใจคนไทย เจ้าของฉายา ‘ราชินีลูกทุ่ง’ ในความทรงจำ

‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ มีชื่อจริงว่า ‘รำพึง จิตร์หาญ’ โดยมีชื่อเล่นว่า ‘ผึ้ง’ เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ราชินีลูกทุ่ง' โดยพุ่มพวงเกิดที่จังหวัดชัยนาท ต่อมาเติบโตที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวเป็นชาวไร่ฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’

ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ พุ่มพวงทดลองร้องเพลงหน้าเวที ครั้งแรกในงานประจำปี ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์แต่งเพลง 'แก้วรอพี่' ให้พุ่มพวงร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า ‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’ และที่นี้อีกเช่นกันที่พุ่มพวงได้พบรักกับ ‘ธีระพล แสนสุข’ สามีคนแรกซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวง

ต่อมา ‘รุ่ง โพธาราม’ นักร้องรุ่นพี่ชักชวนให้แยกมาตั้งวงดนตรีเอง ด้วยการสนับสนุนของมนต์ เมืองเหนือ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก ‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’ เป็น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกไปในที่สุด แต่พุ่มพวงไม่ถอดใจ เธอตั้งวงดนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ขาดทุนจนเลิกกิจการไป พุ่มพวงจึงหันมาเป็นนักร้องประจำวงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด

พุ่มพวง เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อไปทำงานกับบริษัท เสกสรรค์ จำกัด ของประจวบ จำปาทอง แต่ที่เรียกว่า 'โด่งดัง' คือ พ.ศ. 2525 เมื่อมาอยู่บริษัท อโซน่าโปรโมชั่น โดยมี ลพ บุรีรัตน์ (ชื่อจริง วิเชียร คำเจริญ) ครูเพลงชื่อดังแต่งเพลงให้, ประยงค์ ชื่นเย็น และอเนก รุ่งเรือง เรียบเรียงดนตรี ทำให้เพลง สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, กระแซะเข้ามาซิ, อื้อหือ…หล่อจัง, ห่างหน่อยถอยนิด ฯลฯ ดังระเบิดไปทั่วประเทศ

กล่าวได้ว่า เพลงที่พุ่มพวงเป็นร้อง, ลพแต่ง, ประยงค์/อเนกเรียบ เพลงไหนเพลงนั้น 'ดัง' ติดหูคนฟังหมด ผลงานของทั้งสามคนจึงทยอยออกมาอีกมากมาย เช่น ตั๊กแตนผูกโบว์, เงินน่ะมีไหม, ขอให้รวย, หนูไม่รู้, คนดังลืมหลังควาย ฯลฯ

จังหวะนี้เองพุ่มพวง ตั้งวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ อีกครั้ง คราวนี้เธอประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพลงและวงดนตรี ทุกอย่างไปด้วย ยกเว้นชีวิตครอบครัว ประมาณปี 2526 พุ่มพวงตัดสินใจแยกทางกับ ธีระพล แสนสุข ในปีเดียวกันนี้เองที่พุ่มพวงเริ่มอาชีพ ‘นักแสดง’ ผลงานเรื่องแรกของเธอคือ ‘สงครามเพลง’ ของฉลอง ภักดีวิจิตร มีเพลงประกอบชื่อ ‘ดาวเรืองราวโรย’ ที่ลพ บุรีรัตน์เป็นผู้แต่งให้พุ่มพวงร้องในเรื่อง

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่อง เช่น ผ่าโลกบันเทิง (พ.ศ. 2526), สาวนาสั่งแฟน (พ.ศ. 2527), มนต์รักนักเพลง (พ.ศ. 2528), อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง (พ.ศ. 2528) ฯลฯ การเข้าวงการแสดงทำให้พุ่มพวงได้พบกับ ‘ไกรสร แสงอนันต์’ สามีคนที่ 2 (ที่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ ชื่อ ‘น้องเพชร’) ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้พุ่มพวง เขาได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพุ่มพวง ด้วยการนำวงดนตรีของพุ่มพวง เปิดคอนเสิร์ตการกุศลหน้าพระพักตร์พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เมื่อปี 2529 ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการลูกทุ่งไทย

พุ่มพวง ยังเป็นนักร้องลุกทุ่งหญิงคนเดียว ที่เดินทางไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของแฟนเพลงแดนไกลบ่อยที่สุด สถิติจากร้านจำหน่ายเพลงของคนไทยในลอสแอนเจลิส ปี 2533-34 แจ้งว่ามียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 1 ล้านตลับ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่พุ่มพวงกำลังโด่งดังเรื่องการงาน สุขภาพเธอกลับย่ำแย่

ต่อมาเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 พุ่มพวงป่วยเป็นโรคไต อาการรุนแรงจนต้องส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ต่อมามีการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ตรวจพบว่า พุ่มพวงป่วยเป็นโรค 'เอสแอลดี' หรือโรคลูปัส

โรคเอสแอลอี เป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทําให้ร่างกายสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งต่อต้านเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายตนเองและเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษต่ออวัยวะขึ้น (แพ้ภูมิตนเอง) ทําให้มีอาการและอาการแสดงได้กับทุกระบบในร่างกาย

ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พุ่มพวงที่มีอาการป่วยเรื้อรัง และญาติ ๆ เดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พุ่มพวงเกิดหมดสติกะทันหันจนต้องนำส่งโรงพยาบาล แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น...สุดท้ายเธอก็เสียชีวิตลงในค่ำคืนนั้น

ทั้งนี้ งานศพของพุ่มพวง จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีแฟนเพลงนับแสนเดินทางจากทั่วประเทศมาอำลานักร้องในดวงใจของพวกเขา ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ คงเหลือแต่ผลงานเพลงของเธอที่ฝากไว้ให้แฟน ๆ ชาวไทยได้จดจำและหวนคิดถึงอยู่ร่ำไป

12 มิถุนายน ของทุกปี ‘ILO’ กำหนดเป็น ‘วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก’ กระตุ้นสังคมตระหนักรู้และยุติบังคับใช้แรงงานเด็ก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก’ (World Day Against Child Labour) เพื่อให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของแรงงานเด็ก และช่วยกันยุติการกระทำเหล่านี้ โดยความร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐบาล ลูกจ้าง องค์กรผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกที่จะร่วมหารือถึงการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้และทำให้แรงงานเด็กลดจำนวนลง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานเด็กที่ทั่วโลกต้องรับรู้…หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษที่โลกมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการลดการใช้แรงงานเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้ง วิกฤตการณ์ และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ครอบครัวจำนวนมากต้องตกอยู่ในความยากจน และบังคับให้เด็กอีกนับล้านกลายเป็นแรงงานเด็ก

การเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอหรือครอบคลุมเพียงพอเพื่อลดแรงกดดันที่ครอบครัวและชุมชนจำนวนมากรู้สึก และนั่นทำให้พวกเขาหันไปใช้แรงงานเด็ก ทุกวันนี้เด็กกว่า 160 ล้านคนยังคงใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเท่ากับจำนวนเด็กเกือบ 1 ใน 10 ของเด็กทั่วโลก

ทวีปแอฟริกาอยู่ในอันดับสูงสุดในการใช้แรงงานเด็ก ทั้งในด้านเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ถูกใช้แรงงาน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 และจำนวนเด็กทั้งหมดที่ใช้แรงงานเด็กเท่ากับ 72 ล้านคน เอเชียและแปซิฟิกอยู่ในอันดับ 2 สูงสุดในมาตรการทั้งสองนี้ โดยนับเป็น 7% ของเด็กทั้งหมด หรือ 62 ล้านคนที่อยู่ในการใช้แรงงานเด็กในภูมิภาคนี้

ภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียและแปซิฟิกรวมกันมีเด็กเกือบ 9 ใน 10 คนที่ถูกใช้แรงงานทั่วโลก ประชากรแรงงานเด็กที่เหลืออยู่แบ่งเป็นทวีปอเมริกา (11 ล้านคน) ยุโรปและเอเชียกลาง (6 ล้านคน) และรัฐอาหรับ (1 ล้านคน) ในแง่ของอุบัติการณ์ เด็ก 5% ตกเป็นแรงงานเด็กในอเมริกา 4% ในยุโรปและเอเชียกลาง และ 3% ในประเทศอาหรับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top