Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

14 พฤษภาคม ของทุกปี ครม.มีมติกำหนดให้เป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ สัตว์ที่มีส่วนช่วยในการดำรงชีพของคนไทยมายาวนาน

ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วการเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

สถานการณ์ควายไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะควายป่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจากจำนวนประชากรที่เหลือเพียงน้อยนิด ควายป่าในประเทศไทยพบได้แค่ที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพียงแห่งเดียว ซึ่งควายป่าจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงและชอบอาศัยอยู่ใกล้ลำห้วยเพราะจะได้แช่ปลักโคลนเพื่อระบายความร้อน

ควายป่าจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายควายบ้าน แต่รูปร่างดูโตกว่า เขาโค้งไปข้างหลังเหมือนควายบ้าน แต่ขนาดของวงเขาจะกว้างกว่า บริเวณฐานคอมีสีขาวเป็นรูปตัววี ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวเทาคล้ายสวมถุงเท้า

โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัส ถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค กระบือ เป็นครั้งแรก

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวง ร.4’ กษัตริย์ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

วันนี้ในอดีต 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า…

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> 1. ด้านวรรณคดีศาสนา
1.1 พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงเป็นอย่างดี พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทร้อยแก้ว บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่
1.1.1 มนุมพระบรมราโชบาย 4 หมวด คือ หมวดวรรณคดี โบราณคดี ธรรมคดี และตำรา
1.1.2 ตำนานเรื่อง พระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์
1.1.3 ทรงริเริ่มให้มีการค้นคว้าศิลาจาลึกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ จารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง และจารึกหลักที่ 4 ของพระยาลิไทย

>> 2. ด้านวิทยาศาสตร์ 
2.1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทย ทรงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ล่วงหน้า 2 ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ยังทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชาอาณาจักรอีกด้วย
2.2. วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสุลานนท์ ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

>> 3.ด้านดาราศาสตร์
3.1. ทรงเป็นนักโหราศาสตร์อีกด้วย ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ‘เศษพระจอมเกล้า’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำและทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย’

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนภูมิพล’ เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เดิมเรียก ‘เขื่อนยันฮี’ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อน และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า อาคารโรงไฟฟ้า และองค์ประกอบต่าง ๆ

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล ถือเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย รองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนอกจากจะใช้ระบายไปเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดจนคมนาคมขนส่งแล้ว ยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 นอกจากจะช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรกว่า 10 ล้านไร่ ส่งเสริมอาชีพประมงเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทต่อปี ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 64,000 ล้านหน่วย ยังเป็นเขื่อนที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ‘หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ’ ละสังขาร สิ้นตำนาน เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด

วันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คือวันที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ ด่านขุนทด ได้ละสังขารจากโลกนี้ไป เหลือไว้แต่คำสอนอมตะ ให้จารึกจดจำและปฏิบัติไปตลอดกาล

พระเทพวิทยาคม นามเดิม คูณ ฉัตร์พลกรัง หรือที่รู้จักในนาม หลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ดัง อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่ลูกศิษย์ยกย่องเป็น ‘เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด’

หลวงพ่อคูณ ถือกําเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 2466 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณเสียชีวิตลงในขณะที่ลูก ๆ ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ยังได้สั่งสอนวิชาคาถาอาคมให้ด้วย

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอําเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า 'ปริสุทโธ' หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สํานักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หลวงพ่อคูณได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หลังจากนั้นหลวงพ่อคูณได้ออกธุดงค์ จาริกอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา รวมทั้งธุดงค์ไปไกลถึงประเทศลาว และกัมพูชา

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่ จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดําเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยรอบดีขึ้นด้วย

หลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งท่านได้สร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา โดยเริ่มทําวัตถุมงคลซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคํา "ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" เป็นคํากล่าวของท่าน

เมื่อปี 2556 หลวงพ่อคูณเคยอาพาธด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการหลอดลมอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจนอาการดีขึ้นก่อนจะกลับไปรักษาตัวที่วัดบ้านไร่ โดยมีคณะแพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณมีทั้งทรงตัวและแย่ลง จนกระทั่งมีอาการหมดสติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 10.00 น. คณะแพทย์รายงานผลว่าการเฝ้าตรวจติดตามอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงานได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง จนกระทั่งเวลา 11.45 น. หลวงพ่อคูณ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ

18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 วันเกิด ‘อิศรา อมันตกุล’ นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก แบบอย่าง ‘นักหนังสือพิมพ์’ ผู้เคร่งครัดหลักจริยธรรมของวิชาชีพ

‘อิศรา อมันตกุล’ เดิมชื่อ อิบรอฮีม อะมัน ผู้มีฉายาว่า ‘นักบุญ’ เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย และเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

โดย อิศรา อมันตกุล มักจัดหน้าและเขียนเองเป็นส่วนมาก เขามีความสามารถในการเขียนคอลัมน์และภาพประกอบได้อย่างดีพอสมควร เรื่องที่เขียนไม่ว่าเรื่องเล็กน้อย กระจุกกระจิกประการใด สำนวนโวหารมีเสน่ห์ชวนอ่านเสียทั้งสิ้น เขียนได้หลายแบบ ไม่เฉพาะนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว สารคดีและคอลัมน์ต่าง ๆ ได้คล่องเท่ากัน

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 10 คน ของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน เรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบำรุงวิทยา และจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับคณะมิชชันนารี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 2 ปี จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร

อิศรา อมันตกุล มีความถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีคะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาอังกฤษในระดับประเทศ ผลงานคอลัมน์การใช้ภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกา ‘แฟรงค์ ฟรีแมน’ นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว เขานิยมเสนอความคิดทางการเมืองในรูปแบบงานประพันธ์และวรรณกรรม

ผลงานด้านการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวหลายชิ้นมีการนำเสนอความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, นาถยาและสถาพรผู้กลับมา และข้าจะไม่แพ้

อิศรา อมันตกุล ชอบทำงานอิสระของตนเองมากกว่าที่จะเข้าสังกัด ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ประชามิตร ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และมาลัย ชูพินิจ และได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ ร่วมกับทองเติม เสมรสุต เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวในครั้งนั้น), วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร, เสนีย์ เสาวพงศ์ และวิตต์ สุทธเสถียร

ภายหลังได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์

อิศรา อมันตกุล ถูกอำนาจเผด็จการยุคนั้นจับกุมไปคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยไม่มีการฟ้องร้องศาลแต่อย่างใด ภายหลังได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ชีวิตการต่อสู้เป็นแบบอย่างการทำข่าวเจาะ และเขาเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมวิชาชีพ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นำชื่อมายกย่องตั้งเป็นชื่อ   ‘รางวัลอิศรา’ ให้กับผลงานข่าว ภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี

“หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขายเจ๊ก ถึงอย่างไร ผมอยากจะกล่าวว่าหนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์สั้นต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี นั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัย” เป็นคำพูดของ อิศรา อมันตกุล

อิศรา อมันตกุล ถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 ด้วยโรคมะเร็ง แต่แบบอย่างที่งดงามในความหนักแน่นต่อหลักจริยธรรม ความรักในเสรีภาพ และการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการแม้แลกด้วยอิสรภาพของตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมวงการหนังสือพิมพ์ เสริมศรี เอกชัย (เรือใบ) เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม โดยชื่อบทความ อิศรา ตัวตายแต่ชื่อยัง

สำหรับมูลนิธิ อิศรา อมันตกุล นั้นก่อตั้งขึ้นมาได้สำเร็จด้วยความเสียสละร่วมกันของบุคคลต่าง ๆ มากมายหลายฝ่าย โดยมีความประสงค์ต้องตรงกันอยู่ที่เป้าหมายเดียวกันคือ ปณิธานที่จะเชิดชูเกียรติคุณของคุณอิศรา อมันตกุล ไว้ให้ปรากฎ เพื่อจะได้เป็นพลังให้แก่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรุ่นหลัง และต่อมามูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้มอบหมายให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ต่อมายุบรวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543) ดำเนินการจัดการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อให้รางวัลแก่ผลงานข่าว และภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี โดยเริ่มต้นการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 และมีพิธีมอบรางวัลครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2516

19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ หรือ ‘เสด็จเตี่ย’ ผู้วางรากฐานกองทัพเรือไทย-ได้รับการยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งกองทัพเรือไทย’

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล ‘อาภากร’ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’

พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า ‘เสด็จเตี่ย’ หรือ ‘หมอพร’ และ ‘พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย’ ต่อมาใน พ.ศ. 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า ‘พระบิดาของกองทัพเรือไทย’ และใน พ.ศ. 2544 แก้ไขเป็น ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’

พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคประจำพระองค์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11 นาฬิกา 40 นาที สิริพระชันษา 42 ปี 151 วัน โดยมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้มีการจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือที่พระตำหนักที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จเปิด ‘อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง’ หนึ่งในปราสาทหินศิลปะแบบขอมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร โดยประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ทั้งนี้ คำว่า ‘พนมรุ้ง’ นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า ‘วนํรุง’ แปลว่า ‘ภูเขาใหญ่’

ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้ดำเนินการบูรณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2531 โดยมีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี ในครั้งนั้นอีกด้วย

ปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา โดยปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอีกด้วย

20 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 'คิวบา' ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ  แต่ยังคงถูกแทรกแซงกิจการภายในมาโดยตลอด

'ประเทศคิวบา' ในอดีตเป็นอาณานิคมของสเปนร่วม 400 ปี และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่รบชนะสเปนแล้วเข้ายึดครองคิวบาและหมู่เกาะฟิลิปปินส์จากสเปนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้เอกราชแก่คิวบาเมื่อ พ.ศ.2445 แต่ยังไว้สิทธิในการแทรกแซงกิจการภายในของคิวบามาโดยตลอด ต่อมาได้เกิดกบฏนายสิบที่นำโดยสิบเอกฟุลเคนเซียว บาติสตา ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2476 ซึ่งบาติสตาได้ครองอำนาจในคิวบาอยู่นานถึง 25 ปี เนื่องจากมีนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเข้มงวด

รัฐบาลของบาติสตาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนของบริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาและบรรดากลุ่มมาเฟียต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ขยายการปฏิบัติการมาที่เกาะคิวบา ซึ่งอยู่ห่างจากมลรัฐฟลอริดาเพียง 144 กิโลเมตรเท่านั้น จึงสร้างความมั่งคั่งให้กับบาติสตาอย่างมหาศาลด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนกระทั่งนายฟิเดล คาสโตร ทนายความหนุ่มได้ก่อตั้งขบวนการใต้ดินออกหนังสือพิมพ์โจมตีรัฐบาลบาติสตาและได้รวบรวมสมาชิกตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธเข้าต่อสู้กับทหารเพื่อปลุกเร้าประชาชนคิวบาให้ลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลบาติสตาตามแบบการต่อสู้ของชาวคิวบาในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากสเปนในอดีตใน พ.ศ.2495 โดยคาสโตรได้นำกองกำลัง 165 คน เข้าโจมตีค่ายทหารมอนคาดา ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของเกาะในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2496 แต่กลับถูกตีโต้กลับแตกพ่ายไป และคาสโตรถูกจับจำคุก 1 ปี และเนรเทศไปอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก

ที่ประเทศเม็กซิโกนี่เองที่คาสโตรได้พบกับเช กูวารา นายแพทย์หนุ่มชาวอาร์เจนตินาผู้มีอุดมการณ์ตรงกัน ดังนั้น ทั้ง 2 คนได้รวบรวมกลุ่มสมัครพรรคพวกชาวคิวบาตั้งเป็นขบวนการ 26 กรกฎาคม แล้วลักลอบกลับมายังคิวบาพร้อมกำลังพล 85 คนอีกใน พ.ศ.2499 หลังจากความพ่ายแพ้ในช่วงแรก ๆ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนยุทธวิธีการรบเป็นรูปแบบทำสงครามกองโจรต่อสู้กองทัพของบาติสตาอย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นผลให้บาติสตาต้องหนีออกนอกประเทศคิวบาใน พ.ศ.2502

ฟิเดล คาสโตร ได้มาเป็นผู้ปกครองคิวบาแบบเผด็จการและเริ่มแสดงท่าทีเอนเอียงไปมีความความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตผู้นำกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาโดยหน่วยงานซีไอเอได้จัดการฝึกและติดอาวุธให้กับกองทัพชาวคิวบาพลัดถิ่นที่อยู่ในอเมริกากลับไปบุกยกพลขึ้นบกที่อ่าวหมู คิวบาใน พ.ศ.2504 เพื่อล้มรัฐบาลคาสโตร แต่ต้องล้มเหลวโดยสิ้นเชิง รัฐบาลอเมริกันต้องเสียศักดิ์ศรีและต้องจ่ายเงินและรถแทรกเตอร์เป็นจำนวนมาก เพื่อไถ่ตัวทหารคิวบาพลัดถิ่นกลับมายังสหรัฐอเมริกา แต่หน่วยซีไอเอยังคงพยายามลอบสังหารคาสโตรอีกนับครั้งไม่ถ้วน และสหรัฐอเมริกายังลงโทษทางเศรษฐกิจต่อคิวบาด้วยการไม่ค้าขายด้วย รวมทั้งแช่แข็งทรัพย์สินของคิวบาที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อการตอบโต้การที่ทางการคิวบายึดทรัพย์สินของชาวอเมริกันที่ทำธุรกิจอยู่ในคิวบาเป็นเวลายาวนานร่วม 5 ทศวรรษ

เพื่อเป็นการป้องกันตัว คาสโตรได้อนุญาตให้สหภาพโซเวียตติดตั้งฐานยิงจรวดหัวรบนิวเคลียร์และเก็บอาวุธนิวเคลียร์บนเกาะคิวบาซึ่งอยู่ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง 144 กิโลเมตร สามารถที่ยิงขีปนาวุธเข้าใส่สหรัฐอเมริกาอย่างง่ายดาย จึงนำไปสู่เหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาใน พ.ศ.2505 เกือบจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นเลยทีเดียว แต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธสงบลงได้ โดยทางสหรัฐอเมริกาต้องยอมให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้กำลังทหารบุกโจมตีคิวบาโดยเด็ดขาด และสหภาพโซเวียตก็ยอมถอนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากคิวบา

คาสโตรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองคิวบาให้เป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ใน พ.ศ.2504 ใน พ.ศ.2508 คาสโตรได้เป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งตั้งขึ้น ขณะที่พรรคการเมืองอื่นถูกยุบ จากนั้นเขานำการเปลี่ยนแปลงคิวบาสู่สาธารณรัฐสังคมนิยม ยึดอุตสาหกรรมไปเป็นของรัฐและนำสาธารณสุขถ้วนหน้าและการศึกษาแบบให้เปล่า เช่นเดียวกับการปราบปรามการต่อต้านภายใน คาสโตรได้ริเริ่มคณะแพทย์คิวบาผู้ซึ่งทำงานทั่วโลกกำลังพัฒนา และช่วยเหลือกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติต่างประเทศหลายกลุ่มด้วยการส่งทหารคิวบาไปช่วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์หลายประเทศรบ ด้วยหวังว่าจะโค่นทุนนิยมโลก

ซึ่งก่อนหน้านี้สหายของเขาคือ 'เช กูวารา' ก็ได้ไปปฏิบัติการทางทหาร เพื่อช่วยการปฏิวัติของประเทศโบลิเวียและถูกสังหารที่นั่นอีกด้วย

เมื่อประเทศสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงเมื่อ พ.ศ.2534 ทำให้เศรษฐกิจของคิวบาเกือบล่มสลายทำให้คิวบาต้องผ่อนปรนการใช้การบริหารเศรษฐกิจทั้งหมดโดยรัฐบาลกลางผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ซึ่งมีต้นแบบมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งก็ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยก็ได้ต้นแบบมาจากสหภาพโซเวียตด้วย) และเริ่มมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ ยิ่งกว่านั้นคิวบายังได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินจากจีนและเวเนซุเอลา

ใน พ.ศ.2549 คาสโตรต้องเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เขาจึงส่งต่ออำนาจให้กับราอูล คาสโตร น้องชายผู้ร่วมรบกับเขามาโดยตลอด และใน พ.ศ.2558 สหรัฐอเมริกาได้ตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคิวบาอีกครั้งภายหลังที่ตัดสัมพันธ์กันมา 54 ปี ในสมัยของประธานาธิบดีราอูล คาสโตร นี่เอง

การจากไปของฟิเดล คาสโตร เป็นการจากไปของนักปฏิวัติที่อยู่ยั้งยืนยงและสามารถต้านทานการโจมตีอย่างหนักและต่อเนื่องจากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ถึง 11 คน นับได้ว่าเป็นชายชาตรีโดยแท้

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ‘คสช.’ ปฏิบัติการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.30 น. ได้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของนายทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย

ก่อนหน้านั้นสองวัน คือ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 สภาฯ มีมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีผู้ปกป้องเมืองถลาง จากทัพข้าศึกพม่าในสงครามเก้าทัพ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และปิดทอง เจิมช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) เมื่อครั้งเสด็จประพาส จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2510

โดยในปัจจุบัน รูปอนุสาวรีย์นำไปใช้เป็นตราประจำจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นรูปอนุสาวรีย์สองวีรสตรี อยู่ในวงกลมล้อมด้วยลายกนก ซึ่งแสดงถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร 

ทั้งนี้ ท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร นามเดิมว่าคุณหญิงจันและคุณมุกตามลำดับ เป็นสองวีรสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีบทบาทในการป้องกันเมืองถลาง เกาะภูเก็ต จากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพเมื่อปี พ.ศ. 2328


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top