Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ‘ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์’ คว้านางงามจักรวาลเป็นคนที่ 2 ของไทย สร้างประวัติศาสตร์-ชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ประเทศไทยได้กลายเป็นที่รู้จักของชาวโลกอีกครั้ง กับการขึ้นไปคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 37 ของ ‘ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก’ ตัวแทนสาวงามจากประเทศไทย

ซึ่งเธอถือเป็นตัวแทนชาวไทยคนที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล หลังจาก ‘อาภัสรา หงสกุล’ นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรกที่ชนะการประกวดนางงามจักรวาลในปี ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508

สำหรับการประกวดนางงามจักรวาล ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ. 2531 จัดขึ้น ณ เมืองไทเป เกาะไต้หวัน โดยมีผู้เข้าประกวด 66 คน ซึ่งตัวเก็งการประกวดในสายสื่อมวลชน คือ นางงามสหรัฐอเมริกา นางงามเม็กซิโก นางงามสาธารณรัฐโดมินิกัน นางงามนิวซีแลนด์ และนางงามของไทย รวมถึงนางงามจากไอซ์แลนด์ ที่เคยได้รับตำแหน่งรองอันดับ 2 มิสเวิลด์ 1987 ที่ อังกฤษ มาแล้ว ซึ่งก็พ่ายให้กับสาวในแถบเอเชีย ในการประกวดรอบแรก

ทั้งนี้ ภรณ์ทิพย์ สามารถทำคะแนนในชุดว่ายน้ำได้ลำดับที่ 11 แต่เมื่อรวมคะแนนจากชุดราตรีและการสัมภาษณ์แล้ว สามารถเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายมาในลำดับที่ 4 โดยมีคะแนนตามหลัง นางงามสหรัฐอเมริกา นางงามสาธารณรัฐโดมินิกัน และนางงามเกาหลีใต้ ซึ่งในการประกวดรอบ 10 คน เธอได้สร้างความประทับใจให้กับกรรมการอย่างมาก ระหว่างช่วงการประกวดรอบสัมภาษณ์ซึ่งทำให้เธอกวาดชัยชนะทั้ง 3 รอบ และกลายเป็นผู้ชนะอย่างขาดลอยของการประกวดนางงามจักรวาลในปีนั้น และนอกจากได้รับมงกุฏนางงามจักรวาลแล้วยังได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมอีกตำแหน่งเพิ่มด้วย

นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักธุรกิจ และได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนองค์การสหประชาชาติ สำหรับโครงการช่วยเหลือเด็กและสตรีในระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นประธานตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กอีกหลายแห่ง

25 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดเป็น 'วันเด็กหายสากล' (International Missing Children’s Day) รณรงค์ให้สังคมร่วมตระหนักถึง ‘สวัสดิภาพ-ความปลอดภัย’ ของเด็ก

ความเป็นมาของ ‘วันเด็กหายสากล’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อเด็กชายอีตัน แพตซ์ วัย 6 ขวบ ชาวเมืองแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สูญหายไประหว่างเดินออกจากอพาร์ตเมนต์เพื่อไปขึ้นรถโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่มีองค์กรช่วยเหลือในการตามหาเด็กหาย มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครเท่านั้นที่ร่วมมือกันค้นหา 

จากคดีดังกล่าวส่งผลให้เริ่มมีการวางระบบติดตามหาเด็กหายที่ถูกลักพาตัวอย่างจริงจัง โดยภาพของอีตันที่ใช้ในการประกาศหาตัวอยู่บนกล่องนมที่วางจำหน่ายทั่วสหรัฐฯ กลายเป็นต้นแบบของการประกาศหาคนหายบนกล่องนมจนถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่ถึงแม้จะมีความพยายามเป็นอย่างมาก สุดท้ายแล้วก็ไม่พบเด็กชายคนนี้ 

ต่อมาในปี 2526 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันเด็กหายสากล (International Missing Children’s Day) เพื่อให้ทั่วโลกร่วมกันตระหนักถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก รวมถึงมีความหวังที่จะตามหาเด็กให้กลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างปลอดภัย 

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ในหนึ่งวันมีเด็กหายไม่น้อยกว่า 3 คน โดยที่ 2 ใน 3 ของเด็กที่หายไป มีอายุน้อยกว่า 15 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก และอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายไป หรือถูกลักพาตัวออกจากบ้านคือ 4 ขวบ โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจาก สถิติศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา และแน่นอนว่าปัญหาเด็กหายจากบ้านนั้น จะต้องเจอกับความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งการคุกคาม หาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ถูกล่อลวง รวมไปถึงกระทำความรุนแรง

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 วันคล้ายวันเกิด ‘ท่านพุทธทาสภิกขุ' บุคคลสำคัญของโลก อุทิศตนเพื่อการเผยแพร่แก่นพระธรรมที่มีความร่วมสมัย

‘พระธรรมโกศาจารย์’ มีนามเดิม ‘เงื่อม พานิช’ ฉายา ‘อินทปญฺโญ’ หรือรู้จักในนาม ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้มาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาพุทธได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น ‘พุทธทาส’ เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และท่าน บ.ช. เขมาภิรัตน์

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น ‘พุทธทาส’ เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา

และเมื่อปี 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ณ สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ประชุมมีมติประกาศยกย่องพระธรรมโกศาจารย์หรือ ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

เหตุผลที่ยูเนสโกได้ประกาศยกย่อง ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นบุคคลสำคัญของโลกก็คือ การที่ท่านได้อุทิศตนเพื่อการเผยแพร่แก่นพระธรรมที่มีความร่วมสมัยและประยุกต์ใช้ได้กับระดับสังคมและปัจเจกบุคคล รวมถึงการผสานส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อความสันติภาพ ความเป็นธรรมของสังคมและบุคคล

26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ‘เลาดาแอร์’ สายการบินออสเตรีย เกิดอุบัติเหตุตก ในจ.สุพรรณบุรี คร่าชีวิตไป 223 คน หลังบินสู่ท้องฟ้าได้เพียง 16 นาทีเท่านั้น

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 767 ของสายการบิน เลาดาแอร์ ประเทศออสเตรีย เส้นทางบิน ฮ่องกง-กรุงเทพฯ-เวียนนา บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือรวม 223 คนทะยานออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

หลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพียง 16 นาทีเศษ ก็เกิดเสียงระเบิดกึกก้องเหนือท้องฟ้าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ พุเตย หมู่ 7 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลา 23.20 น. ชาวบ้านแถวนั้นเห็นดวงไฟขนาดใหญ่ตกจากท้องฟ้าพุ่งลงสู่พื้นดิน ทั้ง 223 คน เสียชีวิต เป็นชาวต่างชาติ 184 คน ชาวไทย 39 คน

จากการตรวจพิสูจน์กล่องดำ พบสาเหตุสำคัญที่สุดคือกลไกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ รีเวิร์สเซอร์’ (Thrust Reverser) ที่เครื่องยนต์หมายเลข 1 ซึ่งทำหน้าที่ชะลอความเร็วของเครื่องบินขณะบินลงเกิดทำงานขึ้นกะทันหันอย่างไม่รู้สาเหตุ ขณะที่เครื่องบินยังอยู่สูงบนท้องฟ้าที่ระดับความสูง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ประกอบกับนักบินที่ 1 ไม่เชื่อไฟสัญญาณเตือนภัยที่กะพริบขึ้นมาในระยะที่เครื่องบินกำลังบินสูงราว 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วไม่ตรวจสอบแก้ไข จึงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมสลดครั้งนี้

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 วันคล้ายวันก่อตั้ง ‘ม.ศรีปทุม’ เดิมชื่อ ‘วิทยาลัยไทยสุริยะ’ 1 ใน 5 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย

‘วิทยาลัยไทยสุริยะ’ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 เป็น 1 ใน 5 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรก ๆ ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดย ดร.สุข พุคยาภรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2515 วิทยาลัยไทยสุริยะ ได้รับพระราชทานนามใหม่จาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น ‘วิทยาลัยศรีปทุม’ (กระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2515) และพระราชทานความหมายว่า ‘เป็นบ่อเกิดแห่งวิชาที่เบิกบานเช่นดอกบัว’ พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดป้ายนาม ‘ศรีปทุม’ และพระราชทานปริญญาบัตร อนุปริญญา และประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 1,2 และ 3

ทั้งนี้ ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปลี่ยนประเภทเป็น ‘มหาวิทยาลัยศรีปทุม’ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530

โดย มหาวิทยาลัยฯ ได้ขยายวิทยาเขตออกไปในปีการศึกษา 2530 โดยได้จัดตั้งวิทยาเขตที่สมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2530

ในปี พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขออนุมัติทบวงมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) จัดตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาคารพญาไท เปิดสอนในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อพัฒนานักบริหาร โดยเปิดสอนครั้งแรก ณ อาคารเอ็กซิม (อาคารบุญผ่องเดิม) ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท ต่อมาได้ย้ายสำนักงานมาเปิด ณ อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ชั้น 17 และชั้น 20 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท เพื่อเปิดสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาสำหรับนักบริหาร (ปัจจุบันไม่มีการสอนที่วิทยาคารพญาไทแล้ว)

ในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ขยายการเรียนการสอนไปยังจังหวัดขอนแก่น ภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

29 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ’ เพื่อขอบคุณเจ้าหน้าที่ ‘ผู้อุทิศตน-กล้าหาญ’ ในการปฏิบัติภารกิจ

‘วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ’ (International Day of United Nations Peacekeepers) ตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคมของทุกปี โดยเป็นวันที่แสดงความขอบคุณต่อชายและหญิง ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ด้วยความเป็นมืออาชีพ การอุทิศตน และความกล้าหาญในระดับสูง เพื่อสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง บรรเทาความทุกข์ยากของผู้อื่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ วันดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 57/129 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2545 และเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 วันที่ 29 พฤษภาคม เป็นวันครบรอบการจัดตั้งองค์การตรวจตราการพักรบของสหประชาชาติ (UNTSO) ในปี พ.ศ. 2491 เพื่อดูแลการหยุดยิงหลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปีนั้น

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 วันคล้ายวันสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ กษัตริย์ผู้ทรงได้รับการยกย่องเป็น 'นักประชาธิปไตย'

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประพาสยุโรป เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่าง ๆ และทรงรับการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกัน กับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการ และทรงพิจารณาแล้วว่า ไม่ทรงสามารถประสานกับรัฐบาล

เพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ อันเนื่องมาจากพระพลานามัยของพระองค์ ทรงไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตันโดยรัฐบาลอังกฤษ ตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ เรือ Willem Ruys นำเสด็จฯ สู่สิงคโปร์ และเรือภาณุรังษีของบริษัทอีสต์เอเชียติก ได้นำเสด็จฯ เข้าสู่ประเทศไทยถึงเกาะสีชัง รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรือหลวงแม่กลองไปรับเสด็จที่เกาะสีชัง มาถึงท่าราชวรดิฐ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฝ้าฯ รับเสด็จฯ และอัญเชิญพระบรมอัฐิ โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ เข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐาน ร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า ‘พระไตรปิฎกสยามรัฐ’ เป็นต้น

นอกจากนี้ พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็น ‘กษัตริย์นักประชาธิปไตย’ เนื่องจากทรงยินยอมสละพระราชอำนาจของพระองค์ให้เป็นของประชาชน และลดพระราชฐานะของพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรก

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันพระปกเกล้า จึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่า สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 โดยให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

31 พฤษภาคม ของทุกปี ‘องค์กรอนามัยโลก’ กำหนดเป็น ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ สร้างสังคมตระหนักรู้ถึง 'พิษภัย-อันตราย' ที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 ‘องค์กรอนามัยโลก’ ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวัน ‘งดสูบบุหรี่โลก’ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศ ตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยได้ประกาศให้มีการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า ‘World Spidemic’ หรือการสูบบุหรี่เป็นโรคระบาดยู่ทั่วโลก

ดังนั้นรัฐบาลไทย ได้ตระหนักถึงความสูญเสียในชีวิตของประชากร ที่เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ให้รับทราบถึงอันตราย โทษของการสูบบุหรี่ซึ่งก็เป็นที่รู้กัน แต่จะให้เลิกสูบเลย เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้ที่ติดบุหรี่แล้ว

จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ พยายามเลิกสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเลิกได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดังเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้มีการพิมพ์คำเตือนโทษของการสูบบุหรี่ที่ข้างซอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 นับเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกและทันสมัยที่สุดของสยาม

รู้หรือไม่? ประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทยประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ในสมัยรัชกาลที่ 5 

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายใหม่นี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยมีนักกฎหมายชั้นนำของไทยและของต่างประเทศ ได้เลือกร่างกฎหมายลักษณะอาญาก่อนกฎหมายฉบับอื่น โดยร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงค่อยแปลเป็นภาษาไทยเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2450

จากนั้นก็ได้พิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส เมื่อเสร็จแล้วคณะกรรมการก็นำขึ้นทูลเกล้าถวาย และได้ทรงประกาศใช้เป็นประมวลกฎหมายฉบับแรก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ทรงเรียกประมวลกฎหมายฉบับแรกนี้ว่า ‘กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127’

ซึ่งว่ากันว่าประมวลกฎหมายฉบับแรกนี้ เป็นกฎหมายที่ทันสมัยในสมัยนั้น เพราะได้นำเอาหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมกันในประเทศต่าง ๆ มาพิจารณาดัดแปลง ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมไทยขณะนั้น และเพื่อเป็นการยกระดับประเทศขึ้นสู่ระดับอารยประเทศ

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประมวลกฎหมายที่แท้จริงฉบับแรกของไทย มีทั้งสิ้นรวม 340 มาตรา และได้ใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ. 2486 จึงได้มีการปรับปรุงใหม่ ฉบับใหม่เรียกว่า ‘กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2486’ และได้ใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2499 จึงได้มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง คือประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

2 มิถุนายน ของทุกปี ‘วันส้มตำสากล’ ตอกย้ำเมนูสุดแซ่บจากแดนสยาม ที่สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนโลก พร้อมสถานะสำคัญ ภายใต้บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ใน 'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

‘ส้มตำไทย’ อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริง ๆ อร่อยจนนานาชาติยกย่องให้เป็นอาหารสากล และให้วันที่ 2 มิถุนายน กำหนดเป็น ‘วันส้มตำสากล’ หรือ International Somtum Day อีกด้วย

ทั้งนี้ ‘ส้มตำ’ เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวเรียกว่า ’ตำหมากหุ่ง‘ โดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศลูกเล็ก, มะเขือสีดา, มะเขือเปราะ, พริกสดหรือพริกแห้ง, ถั่วฝักยาว กระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และมะนาว

โดยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว โดยในภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน ซึ่งนิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยในบางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู

ซึ่งร้านส้มตำส่วนใหญ่มักขายอาหารอีสานอื่นด้วย เช่น ซุบหน่อไม้, อ่อม, ลาบ, ก้อย, แจ่ว, ปลาแดกบอง, น้ำตก, ซกเล็ก, ตับหวาน, ไก่ย่าง, คอหมูย่าง, พวงนม, กุ้งเต้น (ก้อยกุ้ง) และข้าวเหนียว

นอกจากนี้ ‘ส้มตำ’ ยังเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองขึ้นใน ปี พ.ศ. 2513 โดยมี ‘อ.ประยงค์ ชื่นเย็น’ เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี

ต่อมาเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำได้ถูกอัญเชิญมาขับร้องโดย ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ราชินีเพลงลูกทุ่งไทยในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งก็ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ก่อนที่จะถูกนำมาขับร้องบันทึกเสียงโดย ‘สุนารี ราชสีมา’ ที่เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันอมตะของบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำเพลงนี้ นอกจากนี้ทางวงคาราบาวก็เคยอัญเชิญเพลงส้มตำไปร้องในคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง ‘ต่าย อรทัย’ ที่ก็มีการอัญเชิญเพลงนี้มาขับร้องด้วย

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ส้มตำใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีเนื้อร้องดังนี้

ต่อไปนี้จะเล่า            ถึงอาหารอร่อย
คือส้มตำกินบ่อย        รสชาติแซ่บจัง
วิธีการก็ง่าย            จะกล่าวได้ดังนี้
มันเป็นวิธี            วิเศษเหลือหลาย

ไปซื้อมะละกอ            ขนาดพอเหมาะเหมาะ
สับสับเฉาะเฉาะ        ไม่ต้องมากมาย
ตำพริกกับกระเทียม        ยอดเยี่ยมกลิ่นอาย
มะนาวน้ำปลาน้ำตาลทราย    น้ำตาลปีปถ้ามี

ปรุงรสให้เยี่ยมหนอ        ใส่มะละกอลงไป
อ้อ อย่าลืมใส่            กุ้งแห้งป่นของดี
มะเขือเทศเร็วเข้า        ถั่วฝักยาวเร็วรี่
เสร็จสรรพแล้วซี        ยกออกจากครัว

กินกับข้าวเหนียว        เที่ยวแจกให้ทั่ว
กลิ่นหอมยวนยั่ว        น่าน้ำลายไหล
จดตำราจำ            ส้มตำลาวเอาตำรามา
ใครหม่ำเกินอัตรา        ระวังท้องจะพัง

ขอแถมอีกนิด            แล้วจะติดใจใหญ่
ไก่ย่างด้วยเป็นไร        อร่อยแน่จริงเอย...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top