Friday, 25 April 2025
TodaySpecial

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ‘คณะราษฎร’ ยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย จากระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ สู่ ‘ประชาธิปไตย’

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี คณะราษฎรอันประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำกำลังทหารและพลเรือนมาชุมนุม ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพ ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือและส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า…

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

โดยวันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า…

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”

ต่อมาในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน

ทั้งนี้ คณะราษฎรนับเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งสิ้นสุดบทบาทในปลาย พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหาร ของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ เสด็จฯ เปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ สถานีที่คนไทยเรียกติดปากว่า 'หัวลำโพง'

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า ‘หัวลำโพง’

หากย้อนกลับไป ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ ได้เปิดเดินรถครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 จากสถานีกรุงเทพ-กรุงเก่า (ปัจจุบันคือสถานีอยุธยา) โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ทรงเป็นประธานในการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ นับเป็นการเริ่มต้นรถไฟของรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ ทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพกลายเป็นสถานีรถไฟสายหลักของประเทศไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ ภายหลังมีการขยายทางรถไฟไปตามมณฑลต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปริมาณรถไฟเพิ่มขึ้นจนสถานีกรุงเทพเริ่มคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กรมรถไฟหลวงขยายสถานีรถไฟกรุงเทพให้ใหญ่โต เพื่อรองรับการเดินรถโดยสารและสินค้าที่มีมากขึ้นในปี พ.ศ. 2453

โดยสถานีกรุงเทพใหม่ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามกับโรงเรียนสายปัญญา เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเป็นสัญญาณให้รถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสู่สถานีกรุงเทพ

ส่วนสาเหตุว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ เป็น ‘สถานีหัวลำโพง’ เป็นเพราะก่อนที่จะมีสถานีกรุงเทพ ยังมีทางรถไฟสายแรกที่วิ่งจากกรุงเทพไปสมุทรปราการ เรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ซึ่งเป็นทางรถไฟที่ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก และเดินรถครั้งแรกในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 ก่อนหน้าสถานีกรุงเทพถึง 3 ปี มีสถานีต้นทางอยู่ที่ริมคลองหัวลำโพงตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม สถานีนี้จึงมีชื่อว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ ตามชื่อคลองที่ทางรถไฟขนานไป

หลังจากที่สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงมาอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ทั้งสองสถานีจึงห่างกันเพียงแค่ข้ามถนน ทำให้คนส่วนใหญ่เรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ ว่า ‘สถานีรถไฟหลวงที่หัวลำโพง’ ภายหลังการเดินทางไปปากน้ำสะดวกมากขึ้นทำให้กิจการรถไฟสายปากน้ำได้รับความนิยมลดลง จึงมีการยกเลิกกิจการของรถไฟสายนี้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา เหลือเพียงสถานีกรุงเทพ ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า สถานีหัวลำโพงมาจนถึงปัจจุบัน

26 มิถุนายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 

พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2483 โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

27 มิถุนายน พ.ศ. 2510  ถือกำเนิด ‘ตู้ถอนเงิน' (ATM) เครื่องแรกของโลก ติดตั้ง ณ หน้าธนาคารบาร์เคลย์ส ประเทศอังกฤษ

เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) กำเนิดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ซึ่งถือเป็นการให้บริการเครื่องถอนเงินครั้งแรกของโลก โดยตั้งอยู่ด้านนอกของธนาคารบาร์เคลย์ส (Barclays) สาขาเอ็นฟิลด์ ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

โดยนายจอห์น เชพเพิร์ด บาร์รอน (John Shepherd-Barron) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอ ลา รู ของอังกฤษ เป็นผู้ประดิษฐ์ ซึ่งเขาได้แนวคิดจากเครื่องขายช็อกโกแลตแบบหยอดเหรียญ แต่ในขณะนั้นเรียกเครื่องถอนเงินนี้ว่า ‘Hole in The Wall’ ลูกค้าจะต้องสอดบัตรกระดาษเข้าไปแทนบัตรพลาสติกในปัจจุบัน และต้องกดเลขรหัส 4 ตัวเหมือนกัน ซึ่งจะถอนเงินได้ครั้งละ 10 ปอนด์ แต่ปัจจุบันเรารู้จักเครื่องถอนเงินในชื่อ Automated Teller Machine (ATM)

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าแรกที่นำเครื่องฝากและถอนเงินอัตโนมัติ หรือเอทีเอ็ม มาใช้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2526 เรียกว่า ‘บริการเงินด่วน’ ให้บริการนำฝาก ถอน โอนเงิน และสอบถามยอดบัญชี โดยยุคแรกเบิกใช้ได้เฉพาะบัญชีธนาคารนั้น ๆ จนกระทั่งมีระบบเอทีเอ็มพูล เพียงมีบัตรเอทีเอ็มก็สามารถถอนเงินหรือฝากเงินจากตู้ของธนาคารใดก็ได้

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันเปิดประชุม ‘สภาผู้แทนราษฎร' ชุดแรก-ครั้งแรกของไทย ใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปีพ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ประเทศไทย (สยาม) ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมาประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เรียกว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ ทำหน้าที่ใช้สิทธิออกเสียงในการบริหารปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน

ทั้งนี้ เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดห้องประชุมเป็นลักษณะครึ่งวงกลมตามระนาบพื้นห้อง การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อ่านรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 70 คน และเป็นผู้กล่าวนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุม จากนั้น เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านเปิดประชุม เสร็จแล้วจึงได้ดำเนินการประชุมต่อไป จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อกำเนิดของ ‘รัฐสภาไทย’ มาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนั้น ที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเห็นชอบให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก รวมทั้งมีมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะล่วงเลยผ่านตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา รัฐสภาชุดต่าง ๆ ยังคงทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยออกกฎหมายมาใช้บังคับในสังคม ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศ รวมทั้งแสดงบทบาทในฐานะผู้แทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ และเป็นสิทธิเป็นเสียงแทนประชาชนทั้งประเทศต่อเนื่องตลอดมา

22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ (โต พรหมรังสี) มรณภาพ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์

วันนี้ในอดีต สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือนามที่นิยมเรียก ‘สมเด็จโต’, ‘หลวงปู่โต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มรณภาพ สิริอายุรวม 84 ปี

ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง

สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในฉบับของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า ‘พฺรหฺมรํสี’ เนื่องจากเป็นเปรียญธรรม จึงเรียกว่า ‘พระมหาโต’ มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ ‘พระธรรมกิติ’ และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ ‘พระเทพกระวี’ หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า ‘สมเด็จโต’ หรือ ‘สมเด็จวัดระฆัง’ ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า ‘ขรัวโต’

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ‘สเปน’ ผ่านร่างกฎหมายอนุญาต ‘สมรสเพศเดียวกัน’ กลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลก หลังเนเธอร์แลนด์-เบลเยียม

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน นำโดยนายกรัฐมนตรี นายโฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร ได้เริ่มการรณรงค์การรับรองสิทธิในการ ‘สมรสเพศเดียวกัน’ รวมถึงสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมโดยคู่ครองเพศเดียวกัน ภายหลังจากการอภิปรายอย่างกว้างขวาง รัฐสภาสเปนได้ผ่านร่างกฎหมายอนุญาตการสมรสเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 และมีผลใช้บังคับในวันถัดไป ทำให้สเปนกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่การสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม และก่อนหน้าประเทศแคนาดา 17 วัน

ทั้งนี้ แม้ว่าการรับรองกฎหมายฉบับนี้จะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนกว่า 66% ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะปราศจากความขัดแย้งแต่อย่างใด บุคคลผู้มีตำแหน่งในศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้คัดค้านอย่างแข็งขัน โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้ความหมายของการสมรสนั้นเสื่อมลง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ก็ได้แสดงความห่วงใยต่อประเด็นเรื่องการรับบุตรบุญธรรมของคู่ครองเพศเดียวกัน การออกมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนและคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ได้มีผู้เข้าร่วมเป็นหลักพันจากทั่วประเทศสเปน และภายหลังจากที่ได้มีการรับรองสิทธิดังกล่าวแล้ว ‘พรรคประชาชน’ ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายขวาของประเทศ ได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนเพื่อวินิจฉัย

โดยในปีแรกของการประกาศใช้กฎหมาย คู่ครองเพศเดียวกันกว่า 4,500 คน ได้ทำการสมรสในประเทศสเปน ไม่นานหลังจากการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ประเด็นสถานะของการสมรสกับบุคคลต่างชาติ ซึ่งประเทศเจ้าของสัญชาติยังไม่รับรองการสมรสเพศเดียวกันก็ได้เป็นที่กล่าวถึง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวว่า กฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันของสเปนอนุญาตให้ชาวสเปนสามารถสมรสกับบุคคลต่างชาติ แม้ว่าประเทศเจ้าของสัญชาติจะไม่รับรองความเป็นคู่ครองทางกฎหมายก็ตาม อย่างไรก็ตาม คู่ครองหนึ่งคนนั้นจะต้องมีสัญชาติสเปนจึงจะสามารถสมรสได้ แต่บุคคลต่างชาติสองคนอาจสมรสกันได้หากทั้งคู่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสเปนโดยชอบด้วยกฎหมาย

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 พรรคประชาชนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย นายมาเรียโน ราฆอย หัวหน้าพรรคดังกล่าวได้คัดค้านการสมรสเพศเดียวกัน แต่การตัดสินใจว่าจะยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวหรือไม่นั้นจะกระทำขึ้นได้ภายหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสเปน และเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ศาลรัฐธรรมนูญสเปนได้รับรองกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 3 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายอัลเบร์โต รุยซ์-กัลยาร์ดอนได้ประกาศว่ารัฐบาลจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและจะไม่ยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าว

29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 วันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ’ พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม ต้นสำเนาตำนาน 'โหมโรง'

จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 36 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 โดยพระองค์ทรงมีพระนามลำลองว่า ‘ทูลกระหม่อมชาย’ หรือ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เป็นอดีต​ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ อดีตเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ อดีตเสนาธิการทหารบก อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เป็นอดีต​องคมนตรีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น ‘พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม’ ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่ง และเพลงไทยเดิมไว้มากมาย อย่างเช่น วอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์, เพลงพญาโศก และพระองค์ยังทรงเป็นต้นสำเนาตำนานของเพลง ‘โหมโรง’ อีกด้วย

อีกทั้ง พระองค์ได้ทรงบุกเบิกและวางรากฐานความเจริญในด้านต่าง ๆ ให้แก่ กองทัพเรือ เป็นอันมาก อาทิ…

- จัดระเบียบราชการในกองทัพเรือให้รัดกุม
- จัดทำข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยหน้าที่ราชการในเรือหลวง
- วางรากฐานการจัดระเบียบการเรียนการสอนในโรงเรียนนายเรือใหม่
- ขยายและปรับปรุงอู่หลวง
- วางรากฐานกองดุริยางค์ทหารเรือ
- จัดทำโครงสร้างกำลังทางเรือ
- เสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยทรงสั่งซื้อเรือรบจากต่างประเทศเข้าประจำในกองทัพเรือ เป็นจำนวนมาก อาทิ เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 2) เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์
- สนับสนุนการก่อตั้งราชนาวิกสภา
- กำหนดรูปแบบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ปรับปรุงการเห่เรือและการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่
- กำหนดระยะเวลาและวิธีรับคนเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ
- วางแบบแผนการยิงสลุต
- กำหนดเครื่องแต่งกายทหารเรือ
- จัดให้มีพระธรรมนูญศาลทหารและกรมพระธรรมนูญทหารเรือ
- ปรับปรุงการสหโภชน์ และก่อตั้งโรงเรียนสูทกรรม
- ตั้งคลังแสงทหารเรือ
- ปรับปรุงการแพทย์ทหารเรือ
- ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่น่านน้ำสยามขึ้นใหม่ โดยกองแผนที่ทะเลซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกรมอุทกศาสตร์ ขณะทรงรับราชการในกองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พากย์เสียงโดย จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร อีกด้วย

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงสถาปนากิจการ ‘ลูกเสือไทย’ พร้อมพระราชทานคติพจน์ ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานกำเนิดเสือป่าได้ 2 เดือน ซึ่งในระยะเวลานั้นกิจการเสือป่าได้ดำเนินไปอย่างเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เห็นได้จากการเพิ่มจำนวนสมาชิกของเสือป่าที่มากขึ้น และกิจการเสือป่าถูกจำแนกออกไปเป็นกองเสือป่าประเภทต่าง ๆ อีกมาก แม้จะทรงพอพระราชหฤทัยเพียงใด พระองค์ก็ไม่เคยที่จะยุติในพระราชดำริที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการเสือป่านั้นแม้จะประสบผลสำเร็จเพียงใด แต่สมาชิกนั้นเป็นผู้ใหญ่แต่ฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองนั้นประกอบด้วยพลเมืองหลายช่วงวัย เด็กผู้ชายทั้งหลายก็เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการฝึกฝน และปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนให้มีความรู้ และทักษะในทางเสือป่าด้วย เพื่อว่าในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นจะได้ประพฤติตัวให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอน

ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชทานกำเนิดกิจการเสือป่าสำหรับเด็กชาย ที่ทรงพระราชทานชื่อว่า ‘ลูกเสือ’

ในกิจการนี้พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่ให้เด็กชายจดจำหลักสำคัญ 3 ประการคือ 

1. ความจงรักภักดีต่อผู้ทรงดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามนิติธรรมประเพณี 
2. ความรักชาติบ้านเมือง และนับถือพระศาสนา 
3. ความสามัคคีในคณะ และไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ การก่อตั้งกิจการลูกเสือในครั้งแรกนั้น พระองค์ทรงตั้งกองลูกเสือให้มีในโรงเรียนก่อน และกองลูกเสือกองแรกของสยามประเทศคือ ‘กองลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง’ หรือ ‘โรงเรียนวชิราวุธ’ ในปัจจุบันและถูกเรียกว่ากองลูกเสือหลวง หรือกองลูกเสือกรุงเทพที่ 1 และลูกเสือในโรงเรียนนี้ก็ถูกเรียกว่าลูกเสือหลวงเช่นกัน ก่อนที่กิจการลูกเสือจะขยายไปสู่โรงเรียนเด็กชายทั่วประเทศในเวลาไม่นาน โดยลูกเสือคนแรก คือ นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ชื่อ ชัพน์ บุนนาค การเป็นลูกเสือของนายชัพน์ บุนนาค นั้นเกิดจากการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ และกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ที่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่า…

ร.6 : “อ้ายชัพน์ ดอกหรือ เอ็งกล่าวคำสาบานของลูกเสือได้หรือเปล่า” 
ชัพน์ : “ข้าพระพุทธเจ้าท่องมาแล้วว่า 
        1. ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว 
        2. ข้าจะประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย 
        3. ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนของลูกเสือ” 
ร.6 : ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเป็นลูกเสือคนแรก”

จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเพียงสั้น ๆ ว่า “อ้าย ชัพน์ เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว" และแล้วกิจการลูกเสือ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ

ต่อมาพระองค์ก็ทรงพระราชทานคติพจน์ให้กับลูกเสือ ที่ภายหลังลือลั่นไปทั่วทั้งแผ่นดินและเป็นที่กล่าวขาน รำลึก พูดสอนกันอย่างติดปากในสังคม อีกทั้งยังปรากฏอยู่บนเครื่องหมายสำคัญต่าง ๆ ของลูกเสือว่า ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

สำหรับคำว่า ‘ลูกเสือ’ ที่พระองค์ทรงพระราชทานชื่อนั้น มีนัยว่าพระองค์ทรงเล่นล้อคำกับคำว่า ‘เสือป่า’ ที่บางครั้งทรงเรียกว่า ‘พ่อเสือ’ และเมื่อมีกิจการแบบเดียวกันที่มีเหล่าสมาชิกเป็นเด็กชาย พระองค์จึงทรงใช้คำว่าลูกเสือ แต่ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์ถึงที่มาของชื่อลูกเสืออย่างเป็นทางการเอาไว้ว่า…

“ลูกเสือ บ่ ใช่สัตว์เสือไพร    เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน
ใจกล้ามิใช่กล้าอาธรรม์    เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล
ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร    กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตคน"

เป็นเวลา 6-7 เดือน หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือในสยามประเทศ หากย้อนกลับไปที่ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นกำเนิดกิจการลูกเสือโลกขณะนั้น ก็กำลังคึกคักและแพร่ขยายความนิยมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเกาะอังกฤษ เด็ก ๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ต่างให้ความสนใจในกิจการนี้มาก โดยนายซิดนีย์ ริชเชส ซึ่งอดีตเคยเป็นครูสอนศาสนาวันอาทิตย์ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจกิจการลูกเสือ และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้กำกับกองลูกเสือที่ 8 แห่งลอนดอนตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งบิดาของเขาได้เคยทำงานอยู่ในสถานกงศุลไทย ซึ่งภายหลังได้เป็นถึงกงศุลใหญ่ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอนนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร สมัยที่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

และเมื่อความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือในอังกฤษนั้น ควบคู่ไปกับการเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ข่าวคราวของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ก็แพร่กระจายเข้าสู่เกาะอังกฤษอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายริชเชส เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทราบข่าวนั้น และประกอบกับความสัมพันธ์ของผู้เป็นบิดากับพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามประเทศ เขาจึงได้ทำหนังสือมากราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์กองลูกเสือที่เขาเป็นผู้กำกับอยู่ และขอพระบรมราชานุญาตให้ชื่อลูกเสือกองนี้ว่า ‘King of Siam ’s own boy scout group’ ซึ่งแปลว่า กองลูกเสือในพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือรักษาพระองค์พระเจ้าแผ่นดินสยาม โดยมีชื่อย่อว่า K.S.O.

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งกองลูกเสือแห่งชาติขึ้นเพียง 5 เดือนเท่านั้น ก็ปรากฎว่า มีกองลูกเสือทั่วราชอาณาจักรอยู่ถึง 61 กอง

การดำเนินกิจการลูกเสือทั่วทั้งโลกมักมีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เริ่มจากกิจการลูกเสือสำหรับเด็กชายก่อนที่จะเริ่มแพร่เข้าไปในหมู่เด็กหญิง และสำหรับกิจการลูกเสือในไทยก็เช่นกัน เมื่อถึงระยะเวลาอันควร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะให้สตรีและเด็กหญิงได้มีส่วนร่วมในกิจการลูกเสือ โดยทรงเห็นว่าสามารถที่จะเป็นกำลังให้กับชาติบ้านเมืองได้ แม้จะไม่ใช่กองกำลังหลักก็ตามที ดังนั้นจึงทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งพระองค์เรียกว่าสมาชิกแม่เสือ ส่วนใหญ่เป็นบุตรและภรรยาเสือป่า โดยแม่เสือมีหน้าที่หลักในการจัดหาเสบียงและเวชภัณฑ์ให้กับกองเสือป่า ในขณะเดียวกันก็ทรงจัดตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กหญิง และพระราชทานชื่อว่า ‘เนตรนารี’ ซึ่งเนตรนารี กองแรก คือ กองเนตรนารี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาได้เป็นชื่อ ‘โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย’

ทั้งนี้ นางสาวหนุ่ย โชติกเสถียร 1 ในเนตรนารีกองแรก ได้เขียนถึงกิจกรรมสำหรับเนตรนารีในสมัยนั้น ไว้ว่า…

“ในปี พ.ศ. 2457 โรงเรียนกุลสตีรวังหลัง จัดตั้งกองเนตรนารีขึ้น และให้เราเป็นกลุ่มแรกที่รับการฝึกหัด ข้าพเจ้ายังจำและรู้สึกถึงความสนุกสนานของเวลานั้นได้จนบัดนี้ เราช่วยกันจัดข้าวของและห้องหลับ ห้องนอน ตลอดจนช่วยครัว ห้าโมงเย็นก็ลงมือรับประทานอาหาร สองทุ่มก็เข้านอนกันหมด เข้าเรียนเวลา สามโมงเช้า และเรียนกันตามใต้ร่มไม้ วิชาที่เรียนคือ…

1. วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่พวกเราชอบมาก เพราะได้ลงมือเพาะเมล็ดพืช ผัก ดอกไม้ มันฝรั่งและหัวหอม

2. วิชาปฐมพยาบาล หัดช่วยคนเป็นลม วิธีพันผ้าพันแผล และเข้าเฝือก เราจับเด็กชาวนามาชำระล้างและพันแผลให้

3. วิธีทำกับข้าว หุงข้าว วิชานี้เป็นงานไปในตัว เพราะเราต้องผลัดเวรกันไปตลาดและทำกับข้าว เวลาบ่ายๆ เราต้องเรียนและฝึกซ้อมกฎของเนตรนาร คือพยายามหาความงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประพฤติ โดยมีความสุภาพอ่อนโยน อารีอารอบ ต้องพยายามหาความรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และส่วนตัว อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เวลาเรียกเข้าประชุมอาจารย์มักจะกู่ว่า โว วิลโล่ (คำที่ใช้เป็นเสียงร้องเรียก แทนการใช้สัญญาณนกหวีด) หลาย ๆ ครั้ง พวกเราก็รีบวิ่งมาทันที”

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ‘ในหลวง ร.9’ เนื่องในวโรกาสครองราชย์ยาวนานที่สุด

พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสทรงครองราชย์สมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งทรงครองราชย์ถึง 40 ปี นานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ของกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่ในวันที่ 11 ถึงวันที่ 18 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 และทรงครองราชย์ต่อมาจนเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมเวลาในรัชสมัยได้ 42 ปี 22 วัน

ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ตามพระราชประเพณีเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ…

ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และทรงถวายเครื่องสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ที่หอพระราชกรมานุสร และพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ที่หอพระราชพงศานุสร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นวันสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก ทรงบวงสรวงสังเวยพระสยามเทวาธิราช ซึ่งอัญเชิญจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ออกประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ดวงพระบรมราชสมภพ พระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย เป็นการสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก เพื่อความไพบูลย์แห่งราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ และอาณาประชาชนทั้งปวง

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟสวนจิตรลดา ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ณ พลับพลาตรีมุข พระราชวังโบราณ ทรงหลั่งทักษิโณทกพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เป็นเสร็จการพระราชพิธี

สำหรับวันประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2531 นี้ มีสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกก็คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งรองรับผู้เข้าชมในอาคารได้ถึง 80,000 คน และบนอัฒจันทร์ได้อีก 49,722 ที่นั่ง เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่อันดับ 55 ของโลก และอันดับที่ 17 ของเอเชีย และรัฐบาลยังได้สร้างโรงเรียนรัชมังคลาภิเษก เป็นโรงเรียนระดับสามัญศึกษา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันมหามงคลนี้อีกกว่า 30 โรงเรียนด้วย

นึกถึงวันนี้แล้วก็คิดถึง ‘พ่อ’ คงไม่มีใครประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top