2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ‘ในหลวง ร.9’ เนื่องในวโรกาสครองราชย์ยาวนานที่สุด

พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสทรงครองราชย์สมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งทรงครองราชย์ถึง 40 ปี นานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ของกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่ในวันที่ 11 ถึงวันที่ 18 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 และทรงครองราชย์ต่อมาจนเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมเวลาในรัชสมัยได้ 42 ปี 22 วัน

ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ตามพระราชประเพณีเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ…

ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และทรงถวายเครื่องสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ที่หอพระราชกรมานุสร และพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ที่หอพระราชพงศานุสร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นวันสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก ทรงบวงสรวงสังเวยพระสยามเทวาธิราช ซึ่งอัญเชิญจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ออกประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ดวงพระบรมราชสมภพ พระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย เป็นการสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก เพื่อความไพบูลย์แห่งราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ และอาณาประชาชนทั้งปวง

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟสวนจิตรลดา ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ณ พลับพลาตรีมุข พระราชวังโบราณ ทรงหลั่งทักษิโณทกพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เป็นเสร็จการพระราชพิธี

สำหรับวันประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2531 นี้ มีสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกก็คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งรองรับผู้เข้าชมในอาคารได้ถึง 80,000 คน และบนอัฒจันทร์ได้อีก 49,722 ที่นั่ง เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่อันดับ 55 ของโลก และอันดับที่ 17 ของเอเชีย และรัฐบาลยังได้สร้างโรงเรียนรัชมังคลาภิเษก เป็นโรงเรียนระดับสามัญศึกษา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันมหามงคลนี้อีกกว่า 30 โรงเรียนด้วย

นึกถึงวันนี้แล้วก็คิดถึง ‘พ่อ’ คงไม่มีใครประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว


ที่มา : Mgronline