14 พฤษภาคม ของทุกปี ครม.มีมติกำหนดให้เป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ สัตว์ที่มีส่วนช่วยในการดำรงชีพของคนไทยมายาวนาน

ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วการเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

สถานการณ์ควายไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะควายป่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจากจำนวนประชากรที่เหลือเพียงน้อยนิด ควายป่าในประเทศไทยพบได้แค่ที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพียงแห่งเดียว ซึ่งควายป่าจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงและชอบอาศัยอยู่ใกล้ลำห้วยเพราะจะได้แช่ปลักโคลนเพื่อระบายความร้อน

ควายป่าจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายควายบ้าน แต่รูปร่างดูโตกว่า เขาโค้งไปข้างหลังเหมือนควายบ้าน แต่ขนาดของวงเขาจะกว้างกว่า บริเวณฐานคอมีสีขาวเป็นรูปตัววี ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวเทาคล้ายสวมถุงเท้า

โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัส ถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค กระบือ เป็นครั้งแรก