Friday, 9 May 2025
TheStatesTimes

หนึ่งในความเลวทรามสกปรกของนักการเมืองรุ่นใหม่ คือการสร้าง “ข่าวปลอม” (Fake News) ออกสู่สังคม

(18 มี.ค. 68) หากย้อนกลับไป 30 - 40 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย นักการเมืองถ้าจะสร้าง “ข่าวปลอม” หรือ “Fake News” เพื่อมาดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ก็จะอาศัยช่องทางสื่อต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองของตนเองสนิทสนม หรือแอบมีส่วนในการ “เป็นเจ้าของ” ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ จะใช้ช่องทางที่ตนเองควบคุมบังคับได้เหล่านี้นำเสนอข่าวเท็จ ประเด็น และเรื่องราวที่ไม่จริงของฝ่ายตรงข้ามมาตีแผ่ออกสู่สังคม เพื่อให้ผู้คนเข้าใจผิด เกลียดชัง จนลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามลง 

เหยื่อที่เจ็บปวด เสียหาย ถ้าไม่แข็งแรงมากพอก็จะเดินก้มหน้าออกจาก “สนามการเมือง” ไปทันที แต่ที่เป็นขาใหญ่จริง ๆ ก็จะไม่ปล่อยให้ใครมาเหยียบหัวสิงห์ได้ง่าย ๆ ถ้าสิ่งที่ได้ยินเป็นเรื่องถูกใส่ร้ายป้ายความผิด ก็มักจะเล่นกลับแรง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างที่ “คนยุคนี้” นิยมเลือกมาจัดการคู่กรณี 

แต่คือการใช้ “ลูกปืน” ย่นเวลาทุกอย่างให้จบง่ายขึ้น 

นักการเมืองยุคเก่า แม้จะไม่บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ดี ๆ ชั่ว ๆ ความรักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังมีในจำนวนที่มากกว่านักการเมืองยุคสมัยนี้ และคำว่า “คนใจนักเลง” ยังใช้ได้กับนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนมาก เรียกว่าขอกันได้ แค่แสดงความนอบน้อม นับถือ รักษาสัจจะ ไม่ข้ามหัว ไม่ตีกิน หรือแอบแทงกันลับ ๆ ด้วยการ “สร้างข่าวปลอม” มาทำให้อีกฝ่ายต้องพังพินาศ ถือเป็นเรื่องที่ “คนรุ่นเก่า” ไม่นิยมทำกัน เพราะเป็นเรื่องของ “สวะ” ทั้งเหม็น และน่ารังเกียจ

“ข่าวปลอม” ยุคสมัยก่อน นาน ๆ จะโผล่มาสักเรื่องหนึ่ง ถ้าสังคมจับได้ไล่ทันก็จะไม่คุ้ม เพราะคนปล่อยข่าว รวมถึงตัวการก็จะไร้ที่ยืน ด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ใช่วิถีลูกผู้ชาย ไม่แน่ก็อาจจะไร้ลมหายใจ จึงมักสู้กันแบบลูกผู้ชาย ซึ่งนักการเมืองรุ่นใหม่ที่นิยม “หนีการเกณฑ์ทหาร” ยากที่จะสะกดคำว่า “คนใจนักเลง” เป็น เราจึงมักเห็น “นักการเมืองรุ่นใหม่ขี้หมา” จงใจสร้างข่าวปลอม พอถูกจับได้ก็หายศีรษะไปเงียบ ๆ หนีหน้าไม่มีออกมาขอโทษสังคม หรือสำนึกผิด แล้วก็รอปั้นแต่ง “ข่าวปลอมเรื่องใหม่” มาทำร้ายผู้คนดังเดิม 

ขึ้นชื่อว่าเป็น “นักการเมืองไทย” การที่ไร้ความสามารถ ไร้วิสัยทัศน์ และไร้การเป็นแบบอย่างในทางที่ดีให้สังคมเดินตามก็ดูแย่มากแล้ว แต่การที่วัน ๆ สาละวนอยู่กับการ “คิดข่าวปลอม” เพื่อให้สังคมไทยวนอยู่ในวงจรน้ำเน่า คำว่า “เลวทรามต่ำช้า” ก็ถือว่ายังน้อยเกินไป 

นายกฯ ฮุน มาเนต โต้กลุ่มฝ่ายค้านปลุกปั่นความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ท้าพิสูจน์ความรักชาติ ส่งประจำการแนวหน้า 6 เดือน

(17 มี.ค. 68) นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ได้แสดงความไม่พอใจต่อกลุ่มฝ่ายค้านที่อ้างตัวว่าเป็นผู้รักชาติ แต่กลับพยายามปลุกปั่นความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับประเทศไทยในประเด็นปราสาทตาเมือนธม ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศ

ในแถลงการณ์ที่ออกมา นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้ท้าทายกลุ่มฝ่ายค้านที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศให้หยุดการปลุกปั่นความขัดแย้ง โดยกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยแย่ลงเท่านั้น แต่ยังขัดขวางความสงบและการพัฒนาในภูมิภาค

“ตอนนี้ถ้าคุณต้องการพิสูจน์ความรักชาติของคุณ อย่าเพียงแค่พูดลอยๆ ถ้าคุณต้องการมาจริงๆ ผมรับรองว่าคุณจะไม่ถูกจับกุม ผมจะจัดกลุ่มทหารให้คุณ คุณจะประจำอยู่ที่ฐานทหาร พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นทั้งหมด และถูกส่งไปประจำการเพื่อเฝ้าแนวหน้าเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่ทหารของเราต้องเผชิญ” นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต กล่าว 

นายกฯ ฮุน มาเนต ระบุว่า ปัญหาการพิพาทเรื่องปราสาทตาเมือนธมควรได้รับการแก้ไขผ่านช่องทางทางการทูตและการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศ ไม่ควรให้กลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองมาพยายามทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศพยายามร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาค โดยกลุ่มฝ่ายค้านในต่างประเทศบางกลุ่มได้ใช้ประเด็นปราสาทตาเมือนธมเพื่อกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมและปลุกระดมความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าอาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการทูตระหว่างกัมพูชาและไทย

ทั้งนี้ ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทย เคยเป็นประเด็นข้อพิพาททางด้านอาณาเขตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมีการอ้างสิทธิ์และการตัดสินของศาลระหว่างประเทศหลายครั้ง แต่ยังคงมีการเรียกร้องจากทั้งสองฝ่ายในการรักษาความเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ฮุน มาเนต ยืนยันว่า กัมพูชาจะยืนหยัดในความถูกต้องของตนเอง และจะไม่ยอมให้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความสงบสุขในภูมิภาค

“สำหรับคนที่บอกว่าเราอ่อนแอ โดยเฉพาะนักการเมืองบางคนในต่างประเทศที่กล่าวหาว่าทหารเราไม่กล้าเผชิญหน้ากับทหารไทย ผมขอบอกว่า ตอนที่เกิดความขัดแย้งในปี 2551 ไม่มีใครในพวกคุณออกมาให้การสนับสนุน แต่กลับกล่าวหารัฐบาลว่าจัดฉากความขัดแย้งและโง่เขลา” โดยคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต มีขึ้นหลังจากอดีตผู้นำฝ่ายค้าน สม รังสี และผู้สนับสนุนพยายามปลุกปั่นความขัดแย้งที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย โดยหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเกาะกูดและปราสาทตาเมือนธมขึ้นมา 

กองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 4 ลำ ประจำการออสเตรเลีย เพื่อถ่วงดุลจีนในอินโด-แปซิฟิก

(17 มี.ค. 68) กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนการส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนีย จำนวน 4 ลำ เข้าประจำการที่ฐานทัพเรือ HMAS Stirling รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ภายในปี 2570 โดยภายใต้ข้อตกลง AUKUS ซึ่งเป็นความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

ขณะนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือดำน้ำ USS Minnesota (SSN-783) เข้าร่วมการฝึกซ้อมนำร่องที่ฐานทัพเรือในออสเตรเลียแล้ว โดยการฝึกซ้อมดังกล่าวจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เหลือเข้าประจำการในอนาคต นอกจากนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังเตรียมส่งกำลังพล 50-80 นาย เข้าประจำการที่ฐานทัพเรือ HMAS Stirling ภายในกลางปี 2568 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือดำน้ำเหล่านี้

สำหรับที่ตั้งของ HMAS Stirling ตั้งอยู่ใกล้เอเชียและมหาสมุทรอินเดียมากกว่าที่ตั้งกองบัญชาการกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่ฮาวาย มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ “การปกป้องมหาสมุทรอินเดียจากศักยภาพและอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นสิ่งสำคัญ” ปีเตอร์ ดีน ผู้อำนวยการด้านนโยบายต่างประเทศและการป้องกันของศูนย์ศึกษาสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าว

การส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และกำลังพลดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคในการขยายอิทธิพลทางทะเล เพื่อเสริมสร้างการป้องกันและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะการถ่วงดุลอิทธิพลของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ดังกล่าว

การประจำการของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในออสเตรเลียตามข้อตกลง AUKUS จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติการทางทะเลของพันธมิตรในภูมิภาค และส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนพันธมิตรในออสเตรเลียและภูมิภาคนี้ในการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ชี้แนวทางการใช้ AI วงการข่าวอย่างมีจริยธรรม พร้อมสร้างความเข้าใจงานสื่อในงานสัมมนา ‘FUTURE JOURNALISM 2025’

เมื่อวันที่ (14 มี.ค.68) ณ อาคาร Student Center มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “AI กับสื่อวารศาสตร์ยุคใหม่” ภายใต้งาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นวิทยากรหลักในการบรรยายเกี่ยวเรื่อง “ทิศทางการนำเสนอข่าวยุค AI”

โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษา อาจารย์ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับแนวโน้มของวงการข่าวในอนาคต ซึ่ง AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อมวลชนอย่างรวดเร็ว

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้กล่าวถึงบทบาทของ AI ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงานข่าวในหลายมิติ ตั้งแต่ การสรุปข่าว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) ไปจนถึงการสร้างผู้ประกาศข่าวเสมือนจริง (AI Anchors) ซึ่งช่วยให้กระบวนการนำเสนอข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมที่มาพร้อมกับ AI เช่น Deepfake, ข่าวปลอม (Fake News), และอคติของอัลกอริทึม (Algorithmic Bias) ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข่าวสารได้ นักข่าวและองค์กรสื่อจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อรักษามาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน

“ในยุคที่ AI ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการสื่อมวลชน นักข่าวและสำนักข่าวต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี AI สามารถช่วยให้การสืบค้น วิเคราะห์ และนำเสนอข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หัวใจสำคัญของวารสารศาสตร์ยังคงอยู่ที่ 'ความจริง' และ 'จรรยาบรรณ' ของผู้สื่อข่าว” ผศ.อนุสรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.อนุสรณ์ได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสายงานสื่อ เช่น การใช้ AI เพื่อช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก (Big Data Journalism) การพัฒนา Chatbot เพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน การใช้ AI ตรวจสอบแหล่งข่าว รวมถึงการใช้ AI สร้างเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะบุคคล (Personalized News)

วิทยากรเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่นักข่าว แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสื่อมวลชน นักข่าวควรพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบข่าวปลอม การทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ และการนำเสนอข่าวที่เจาะลึกและสร้างคุณค่าให้กับสังคม

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับ การปรับตัวของวงการข่าวในยุค AI รวมถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดย ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้เน้นให้เห็นว่าการผสมผสาน AI เข้ากับการทำข่าวอย่างเหมาะสม จะช่วยให้วงการสื่อสารมวลชนสามารถก้าวเข้าสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“แม้ว่า AI จะช่วยเขียนข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ คือ วิจารณญาณของมนุษย์ การตั้งคำถาม และความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น นักข่าวยุคใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ละทิ้งจริยธรรมของวิชาชีพ” ผศ.อนุสรณ์ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ การสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของงาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาวงการข่าวในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาเข้าร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของแวดวงสื่อสารมวลชนไทยในการก้าวสู่อนาคตของข่าวสารในปี 2025 และต่อไป

‘ดร.ชาย’ เจาะงบลงทุน ในธุรกรรม skyy9 ของ สปส. ชี้ เป็นการลงทุนเพียง 7 พันล้าน แบ่งเป็นหุ้น 5 พันล้าน - ให้กู้ 2 พันล้าน

(17 มี.ค. 68) จากกรณี สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการด้านการเงินและปัญญาชนสาธารณะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ประกันสังคม น่าจะจ่ายเงิน 9 พันล้าน ในธุรกรรม skyy9 ไม่ใช่ 7 พันล้าน? วันนี้ลองโหลดงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม ประกันสังคม ตั้งกองทรัสต์ไปตั้งบริษัทใหม่ ไปซื้อบริษัทเจ้าของตึก skyy9 (ซับซ้อน 55) มาดูเล่นๆ ก็พบว่า ประกันสังคมน่าจะออกเงินทั้งหมด 9 พันล้านบาท ไม่ใช่ 7 พันล้านบาท ตามที่เป็นข่าวมาหลายสัปดาห์

ล่าสุด ดร.ชาย ทวนชัย นิยมชาติ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตจอมทอง – บางบอน - หนองแขม พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้าไปคอมเม้นต์ ในโพสต์ของ อ.สฤณี ว่า เรียนอาจารย์ครับ ผมกระทบยอดได้ตามนี้ ไม่น่าจะผิดพลาด อาจารย์อาจจะไม่เห็นข้อมูลตัวนึงจากงบของ บจก. แคส แคปปิตอล ครับ ตอนขายหุ้น ไพร์ม ไนน์ ทาง บจก. แคส แคปปิตอล ขายหุ้น 50% ไปในราคา 1,054 ล้านบาท ครับ เท่ากับผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด ได้เงินไป 2,108 ล้านบาท ถ้าเห็นข้อมูลตัวนี้ ที่เหลือกระทบยอดตามปกติเลยครับ

ต่อมาเพิ่มทุนอีก 3,050 ล้านบาท รวมลงไปกับส่วนทุน 5,158 ล้านบาท (เท่า เงินลงทุนในบริษัทย่อยในงบ) เกินกว่าทุนจดทะเบียนที่ลงที่ ไพร์ม เซเว่น 5,000 ล้าน อยู่ 158 ล้านบาท เงินนี้ก็เอามาจากเงินกู้ที่ ทรัสต์ ปล่อยให้ 2,000 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินกู้คงเหลือ 1,842 ล้านบาท

ดูหมายเหตุประกอบงบของ ไพร์ม ไนน์ จะพบว่ามีการเบิกเงินกู้รวม 1,842 ล้านบาท พอดี ก็คือเบิกไปเต็มแล้ว (ตัวเลขทั้งหมดปัดเศษนะครับ) ตัวเลขชนกันหมดครับ ลงทุน 7,000 ล้านบาท หุ้น 5,000 ให้กู้ 2,000 ครับ "

สรุปสั้นๆ ดร.ชาย ยืนยันข้อมูลตรงตามที่หนูนำเสนอว่า " สปส ลงทุน 7,000 ล้าน เป็นหุ้น 5,000 ล้าน และ เป็นเจ้าหนี้ให้กู้ 2,000 ล้าน "

ขณะที่ อ. สฤณี ได้กล่าวขอบคุณ ดร.ชาย พร้อมแชร์ คลิปอธิบายให้ลูกเพจได้ฟัง และระบุว่าเข้าใจแล้วทำไมถึงลงทุน 7,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทาง ดร.ชาย ยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า แต่เราต้องไม่หลงประเด็นว่าถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะลงทุนด้วยเงินเท่าไหร่ แต่เมื่อสังคมยังคงสงสัย เค้าอาจจะไม่ได้สงสัยตัวเลขแล้ว แต่ก็ยังสงสัยการลงทุน ประสังคมก็ยังต้องอธิบายการลงทุนนี้อยู่ดี ว่า 7,000 ล้านนี้ คิดยังไง ตัดสินใจยังไงว่าคุ้มค่า การที่ สส. มาตรวจสอบก็ถูกต้องแล้ว

นักการเมืองฝรั่งเศส จี้สหรัฐฯ คืนรูปปั้น ‘เทพีเสรีภาพ’ หลังมองว่าอเมริกาเปลี่ยนไปจากอุดมการณ์เดิม

(17 มี.ค. 68) ราฟาเอล กลุกส์มันน์ (Raphaël Glucksmann) นักการเมืองฝ่ายกลางซ้ายจากพรรค Place Publique และสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament) ได้กล่าวระหว่างการประชุมพรรคว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรคืนเทพีเสรีภาพให้กับฝรั่งเศส โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่ได้เป็นตัวแทนของค่านิยมประชาธิปไตยและเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ฝรั่งเศสยึดถือเมื่อครั้งที่มอบอนุสาวรีย์ดังกล่าวให้กับอเมริกา

“เราควรนำเทพีเสรีภาพกลับคืนมา เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้สะท้อนคุณค่าที่ทำให้เราตัดสินใจมอบอนุสาวรีย์นี้ให้พวกเขาอีกต่อไป” กลุกส์มันน์ กล่าวในที่ประชุม พร้อมระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทิศทางทางการเมืองของสหรัฐฯ มีแนวโน้มถดถอยจากแนวคิดประชาธิปไตยและความเป็นเสรีนิยม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการมอบเทพีเสรีภาพให้เป็นของขวัญแก่สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1886

เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) เป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งฝรั่งเศสได้มอบให้แก่สหรัฐฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างทั้งสองชาติ และเป็นอนุสรณ์ถึงอุดมการณ์เสรีภาพที่ทั้งสองประเทศเคยมีร่วมกัน

การเรียกร้องของกลุกส์มันน์สะท้อนถึงความกังวลของนักการเมืองบางส่วนในยุโรปที่มองว่า บทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลกกำลังเปลี่ยนไป และอาจไม่ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตยเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของเขาก็อาจกลายเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในฝรั่งเศสและในสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานะของเทพีเสรีภาพในฐานะสัญลักษณ์ของเสรีภาพระดับโลก

อย่างไรก็ตามยังไม่มีปฏิกิริยาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อคำเรียกร้องของกลุกส์มันน์ แต่แน่นอนว่าความคิดเห็นดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำประชาธิปไตยของโลกในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ กลุกส์มันน์ เคยออกมาโจมตี การตัดงบประมาณด้านวิจัยของสหรัฐฯ ในยุครัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุว่าการลดงบสนับสนุนสถาบันวิจัยและโครงการทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกาทำให้เกิด ความเสียหายต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก

“การตัดงบประมาณในสถาบันวิจัยของสหรัฐฯ เป็นการทำลายรากฐานของนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขัดแย้งกับคุณค่าของความก้าวหน้าทางปัญญาที่เราควรปกป้อง” กลุกส์มันน์กล่าว

ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มเดินหน้าดึงดูดนักวิจัยจากสหรัฐฯ ให้เข้ามาทำงานในฝรั่งเศส โดยมีการริเริ่มโครงการให้ เงินทุนสนับสนุนและโอกาสด้านการวิจัยที่มั่นคงมากขึ้น สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบจากการลดงบประมาณในอเมริกา

แผนการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของฝรั่งเศสที่ต้องการยกระดับบทบาทของประเทศในฐานะศูนย์กลางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่บางประเทศกำลังลดการลงทุนในภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นโยบายดึงดูดนักวิจัยต่างชาติของฝรั่งเศสไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุครัฐบาลปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ก็เคยประกาศโครงการ "Make Our Planet Great Again" เพื่อเชิญชวนนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก โดยเฉพาะนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ ให้มาทำงานในฝรั่งเศส

ขณะที่การตัดงบประมาณด้านวิจัยของสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายวงการ กลุกส์มันน์ชี้ว่า ฝรั่งเศสควรฉวยโอกาสนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ของตัวเอง และต้อนรับนักวิจัยที่กำลังมองหาสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานอย่างแท้จริง

รู้จัก DF-21D และ YJ-21 ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบของกองทัพจีน ที่พร้อมต่อกรกองเรือสหรัฐฯและพันธมิตรในทะเลจีนใต้

(17 มี.ค. 68) ในขณะที่กองเรือสหรัฐฯและพันธมิตรเสริมกำลังทางเรืออย่างเข้มข้นในทะเลจีนใต้ กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนก็ได้เผยแพร่ข้อมูลของขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ 2 แบบซึ่งน่าจะเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อกองเรือสหรัฐฯและพันธมิตร

(1) DF-21D หรือที่รู้จักกันในชื่อ Dongfeng-21D เป็นขีปนาวุธพิสัยกลางของจีนที่ออกแบบมาเพื่อปฏิบัติการต่อต้านเรือรบโดยเฉพาะ โดยมีพิสัยการโจมตีประมาณ 1,500 กิโลเมตร (ประมาณ 930 ไมล์) ขีปนาวุธรุ่นนี้ใช้ระบบนำทางขั้นสูงที่ผสมผสานระบบนำทางเฉื่อย (INS) เข้ากับระบบนำทางขั้นสุดท้ายโดยใช้เรดาร์หรือวิธีการทางแสง ทำให้สามารถโจมตีเป้าหมายทางทะเลที่กำลังเคลื่อนที่ได้อย่างแม่นยำ ขีปนาวุธรุ่นนี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วประมาณ 10 มัค เช่นเดียวกับขีปนาวุธพิสัยกลางทั่วไป ความเร็วปลายทางของขีปนาวุธรุ่นนี้คาดว่าจะอยู่ระหว่างมัค 3 ถึง มัค 5 ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถบรรทุกหัวรบระเบิดแรงสูงแบบธรรมดาหรือหัวรบนิวเคลียร์ได้ ทำให้มีขีดความสามารถในการโจมตีที่หลากหลาย 

DF-21D ซึ่งยิงจากแท่นเคลื่อนที่สามารถนำไปใช้งานและเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีความสามารถในการเอาตัวรอดจากการถูกโจมตีตอบโต้ ขีปนาวุธรุ่นนี้ใช้งานโดยกองกำลังจรวดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเป็นหลัก และถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ของจีนในการต่อต้านปฏิบัติการทางเรือของศัตรูที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ขีปนาวุธรุ่นนี้มีการออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะในการ "ทำลายล้างเรือบรรทุกเครื่องบิน" เป็นการเฉพาะ โดยถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบขนาดใหญ่อื่น ๆ โดยใช้ความเร็วและความคล่องตัว โดยรวมแล้ว DF-21D ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านความสามารถในการต่อต้านการเข้าถึง/ปฏิเสธพื้นที่ (A2/AD) ของจีน 

จีนมีทรัพยากรในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองที่จำเป็น รวมถึงเรดาร์ช่องรับแสงสังเคราะห์ (SAR) บนดาวเทียมในวงโคจรแบบซิงโครนัส เพื่อระบุตำแหน่งของเป้าหมายทางทะเล ส่งต่อพิกัดไปยังเครื่องยิง เมื่อทำการยิงขีปนาวุธ และแจ้งตำแหน่งอัปเดตของขีปนาวุธจะถูกส่งต่อไปผ่านลิงก์การสื่อสารผ่านดาวเทียมในระยะกลาง ขีปนาวุธมีเรดาร์ค้นหาของตัวเองสำหรับระยะสุดท้าย ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับยุทโธปกรณ์เหล่านี้

(2) YJ-21 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Yingji-21 เป็นขีปนาวุธร่อนต่อต้านเรือรบของจีนที่มีความสามารถในการโจมตีทางทะเลขั้นสูง ด้วยระยะประมาณ 1,500 กิโลเมตร (ประมาณ 930 ไมล์) ทำให้สามารถโจมตีเป้าหมายทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพจากระยะไกล ขีปนาวุธนี้ได้รับการออกแบบมาให้ยิงจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ และเครื่องบิน จึงช่วยเพิ่มความหลากหลายในสถานการณ์ปฏิบัติการที่แตกต่างกัน YJ-21 ซึ่งติดตั้งระบบนำทางขั้นสูง ใช้เรดาร์และระบบนำทางเฉื่อยเพื่อกำหนดเป้าหมายเรือที่กำลังเคลื่อนที่ได้อย่างแม่นยำ การออกแบบของ YJ-21 เน้นที่ความเร็วสูงและความคล่องตัว ทำให้สามารถหลบเลี่ยงการสกัดกั้นได้ในขณะที่เข้าใกล้เป้าหมาย ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถบรรทุกหัวรบระเบิดแบบธรรมดาได้ จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการโจมตีเรือของศัตรูได้ 

ขีปนาวุธ YJ-21 (Eagle Strike 21) เป็นขีปนาวุธต่อต้านเรือรบความเร็วเหนือเสียงที่พัฒนาโดยจีน ขีปนาวุธรุ่นนี้โดดเด่นด้วยความสามารถด้านความเร็วที่น่าประทับใจ YJ-21 มีความเร็วเดินทางเกินมัค 6 ในระยะกลางของการเคลื่อนที่ในระดับความสูงมาก (~30 กม.) ที่อากาศเบาบาง ในระยะสุดท้าย ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถพุ่งดิ่งลงสู่พื้นด้วยความเร็วถึงมัค 10 จากพลังงานของจรวดเสริมกำลังขั้นสุดท้าย ความเร็วสูงเหล่านี้จะลดความสามารถในการติดตามและสกัดกั้นของระบบป้องกันขีปนาวุธ (BMD) AEGIS/SM-6 ของเรือรบสหรัฐฯ ลงเป็นอย่างมาก โดยการออกแบบ YJ-21 นั้นเป็นการผสมผสานระบบอากาศพลศาสตร์และระบบขับเคลื่อนขั้นสูงที่ปรับให้เหมาะสมสำหรับการบินความเร็วเหนือเสียง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการโจมตีเป้าหมายทางทะเลที่มีความสำคัญสูง

กองทัพจีนประกาศเฝ้าระวังขั้นสูง พร้อมรบทุกเวลา หากไต้หวันแยกตัว อาจเกิดสงครามทันที

(17 มี.ค. 68) พลเอก หลิน เซี่ยงหยาง (Lin Xiangyang) ผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ประกาศว่า กองทัพจีนอยู่ในภาวะเฝ้าระวังขั้นสูง และมีความพร้อมเต็มที่ในการทำสงครามได้ทุกเวลาหากจำเป็น เพื่อสกัดกั้นความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน

“กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมีความสามารถในการตอบโต้ภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที และพร้อมใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ” หลิน เซี่ยงหยาง กล่าว

คำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลาง สถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน โดยจีนได้เพิ่มกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ใกล้เกาะไต้หวันมากขึ้น เช่น การซ้อมรบทางทะเล การส่งเครื่องบินรบเข้าสู่เขตป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน และการเสริมกำลังทางยุทธศาสตร์รอบพื้นที่

ด้านไต้หวัน รัฐบาลไทเปยืนยันว่าตนเป็นประชาธิปไตยที่ปกครองตนเอง และไม่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งยังคงย้ำว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และ พร้อมใช้ทุกวิถีทาง รวมถึงกำลังทหาร เพื่อรวมไต้หวันกลับสู่แผ่นดินใหญ่

การประกาศของหลิน เซี่ยงหยาง ได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของไต้หวัน โดยสหรัฐฯ ได้แสดงท่าที คัดค้านการใช้กำลังทหารเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะของไต้หวัน และยังคงให้การสนับสนุนด้านอาวุธและความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไทเป

ความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตึงเครียดมากยิ่งขึ้น โดยหลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่าจีนจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างไรในการเผชิญหน้ากับไต้หวันและพันธมิตรตะวันตก

18 มีนาคม พ.ศ. 2528 วันเกิดของ ‘ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน’ พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2528 ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีโดยมีพี่สาวและพี่ชาย คือ ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และคุณพุ่ม เจนเซน ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา หรือ คุณใหม่ ได้ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเอิร์ลวอร์เรนจูเนียร์ (Earl Warren Junior High School) และโรงเรียนมัธยมศึกษาทอร์เรย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) ก่อนที่สำเร็จการศึกษาด้านวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก

หลังสำเร็จการศึกษา ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ทำงานด้านการออกแบบ โดยเริ่มฝึกงานกับ โยจิ ยามาโมโตะ นักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น และทำงานกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่างแอร์เมส กระทั่งกลับมาเมืองไทย จึงได้เข้าฝึกงานในกลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ของกรมศิลปากร

ในปี พ.ศ. 2561 ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นผู้อำนวยการในโครงการ ‘วังน่านิมิต’ ซึ่งเป็นผลงานการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านเทคโนโลยีสื่อในรูปแบบภาพ (Visual Language) ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ต่อมายังมีผลงานอันน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของท่านผู้หญิงสิริกิติยา กับการตามรอยเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ที่นอร์เวย์ ในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - นอร์เวย์ พ.ศ.2563

ด้วยเจตนารมย์ในการสืบสานประวัติศาสตร์ไทยในหลากหลายบริบท เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ท่านผู้หญิงสิริกิติยา มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ได้รับความสนใจ และถูกสานต่ออย่างถูกต้องและดีงามต่อไป

‘อัครเดช’ ชี้แก้ไข รธน.ต้องทำประชามติ 3 รอบ ย้ำจุดยืน รทสช. ห้ามแตะหมวด 1 – 2 และการปราบทุจริต

‘อัครเดช’ อธิบายชัดจะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3 รอบ ขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสิ้นข้อสงสัยแก่ทุกฝ่าย จี้หาหลักประกันไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 การปราบปรามทุจริตหากมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

(17 มี.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ว่า 

การแก้รัฐธรรมนูญสำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ มีจุดยืนที่ชัดเจนคือจะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้จะต้องไม่มีการแก้ไขในบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 

กรณีมีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น จะเป็นกรณีที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ และไม่มีการแก้ไขในบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 

สำหรับการสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการจัดทำประชามติกี่ครั้งนั้น ก่อนหน้านี้มีวุฒิสมาชิกท่านหนึ่งได้มีความเห็นว่าการเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำได้หรือไม่เพียงใด เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(8) ได้บัญญัติไว้ว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 หมวดที่ 2 หรือเกี่ยวกับหมวด 15 จะต้องมีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 256(7) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การเพิ่มหมวด 15/1 เป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการจัดทำประชามติจากพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจก่อนที่จะมีการแก้ไข จึงเป็นที่มาว่าในครั้งนั้นรัฐสภาจึงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 

สำหรับในครั้งนี้ได้มีการตีความคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนั้นแตกต่างกันออกไป สำหรับความเห็นส่วนตัวของตนนั้นเชื่อว่าไม่ต้องมีการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มหมวด 15/1 ต้องมีการทำประชามติก่อน 1 ครั้ง เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติอีก 1 ครั้ง ก่อนที่เมื่อรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดย ส.ส.ร. แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงต้องมีการทำประชามติทั้งสิ้น 3 ครั้ง ตามรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้

จากระเบียบวาระครั้งที่ผ่านมา ได้สร้างความหวาดหวั่นใจให้กับเพื่อนสมาชิกรัฐสภาหลายท่านทำให้หลายท่านลาประชุม หรือไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม เนื่องจากเกรงว่าจะมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเพื่อให้สิ้นกระแสความ เพื่อให้สิ้นข้อสงสัย จึงเป็นอันดีและไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ต่อประเทศชาติแต่อย่างใด 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top