หนึ่งในความเลวทรามสกปรกของนักการเมืองรุ่นใหม่ คือการสร้าง “ข่าวปลอม” (Fake News) ออกสู่สังคม
(18 มี.ค. 68) หากย้อนกลับไป 30 - 40 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย นักการเมืองถ้าจะสร้าง “ข่าวปลอม” หรือ “Fake News” เพื่อมาดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ก็จะอาศัยช่องทางสื่อต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองของตนเองสนิทสนม หรือแอบมีส่วนในการ “เป็นเจ้าของ” ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ จะใช้ช่องทางที่ตนเองควบคุมบังคับได้เหล่านี้นำเสนอข่าวเท็จ ประเด็น และเรื่องราวที่ไม่จริงของฝ่ายตรงข้ามมาตีแผ่ออกสู่สังคม เพื่อให้ผู้คนเข้าใจผิด เกลียดชัง จนลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามลง
เหยื่อที่เจ็บปวด เสียหาย ถ้าไม่แข็งแรงมากพอก็จะเดินก้มหน้าออกจาก “สนามการเมือง” ไปทันที แต่ที่เป็นขาใหญ่จริง ๆ ก็จะไม่ปล่อยให้ใครมาเหยียบหัวสิงห์ได้ง่าย ๆ ถ้าสิ่งที่ได้ยินเป็นเรื่องถูกใส่ร้ายป้ายความผิด ก็มักจะเล่นกลับแรง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างที่ “คนยุคนี้” นิยมเลือกมาจัดการคู่กรณี
แต่คือการใช้ “ลูกปืน” ย่นเวลาทุกอย่างให้จบง่ายขึ้น
นักการเมืองยุคเก่า แม้จะไม่บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ดี ๆ ชั่ว ๆ ความรักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังมีในจำนวนที่มากกว่านักการเมืองยุคสมัยนี้ และคำว่า “คนใจนักเลง” ยังใช้ได้กับนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนมาก เรียกว่าขอกันได้ แค่แสดงความนอบน้อม นับถือ รักษาสัจจะ ไม่ข้ามหัว ไม่ตีกิน หรือแอบแทงกันลับ ๆ ด้วยการ “สร้างข่าวปลอม” มาทำให้อีกฝ่ายต้องพังพินาศ ถือเป็นเรื่องที่ “คนรุ่นเก่า” ไม่นิยมทำกัน เพราะเป็นเรื่องของ “สวะ” ทั้งเหม็น และน่ารังเกียจ
“ข่าวปลอม” ยุคสมัยก่อน นาน ๆ จะโผล่มาสักเรื่องหนึ่ง ถ้าสังคมจับได้ไล่ทันก็จะไม่คุ้ม เพราะคนปล่อยข่าว รวมถึงตัวการก็จะไร้ที่ยืน ด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ใช่วิถีลูกผู้ชาย ไม่แน่ก็อาจจะไร้ลมหายใจ จึงมักสู้กันแบบลูกผู้ชาย ซึ่งนักการเมืองรุ่นใหม่ที่นิยม “หนีการเกณฑ์ทหาร” ยากที่จะสะกดคำว่า “คนใจนักเลง” เป็น เราจึงมักเห็น “นักการเมืองรุ่นใหม่ขี้หมา” จงใจสร้างข่าวปลอม พอถูกจับได้ก็หายศีรษะไปเงียบ ๆ หนีหน้าไม่มีออกมาขอโทษสังคม หรือสำนึกผิด แล้วก็รอปั้นแต่ง “ข่าวปลอมเรื่องใหม่” มาทำร้ายผู้คนดังเดิม
ขึ้นชื่อว่าเป็น “นักการเมืองไทย” การที่ไร้ความสามารถ ไร้วิสัยทัศน์ และไร้การเป็นแบบอย่างในทางที่ดีให้สังคมเดินตามก็ดูแย่มากแล้ว แต่การที่วัน ๆ สาละวนอยู่กับการ “คิดข่าวปลอม” เพื่อให้สังคมไทยวนอยู่ในวงจรน้ำเน่า คำว่า “เลวทรามต่ำช้า” ก็ถือว่ายังน้อยเกินไป
โดย : แจ็ค รัสเซล