Monday, 19 May 2025
TheStatesTimes

อาหารไทยสุดยอด!! ติด 1 ใน 5 ประเทศ ที่มี 'อาหารดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก' ประจำปี 2566

‘ไทย’ คว้าที่ 5 ประเทศที่มีอาหารดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก ปี 2566 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Insider Money ภายใต้หลักเกณฑ์ 3 ประการ ประกอบด้วย การวัดคุณค่าอาหารในท้องถิ่นว่ามีสุขอนามัยที่ดีเพียงใด, อัตราโรคอ้วน และเบาหวานโดยรวมในแต่ละประเทศ ซึ่งอ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

สำหรับเหตุผลที่จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 นั้น เพราะส่วนใหญ่อาหารไทยมีรสชาติเผ็ดร้อน และเครื่องเทศบางชนิดที่โดดเด่นสำหรับการปรุงอาหาร ได้แก่ ขมิ้น, กระเทียม, หัวหอม และตะไคร้ เป็นที่รู้กันว่า มีคุณสมบัติ 'ต้านการอักเสบ' และ 'ต้านมะเร็ง' 

นอกจากนี้ ไทยยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยผักสีเขียว และอาหารทะเล อีกด้วย

‘มาดามเดียร์’ ขอโอกาสสมาชิก ปชป.นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค วอน!! ขอเลือกคนที่ความสามารถ ไม่ใช่เพราะระบบอุปถัมภ์

(8 ธ.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคปชป. ในฐานะผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคปชป. แถลงว่า จุดยืนที่ตั้งใจเสนอตัวเองเป็นทางเลือก เพราะเชื่อมั่นและศรัทธาในพรรคปชป. ทางเดียวที่จะทำให้พรรคกลับมาเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชน คือการทำจุดยืนและอุดมการณ์ให้กลับมาชัดเจน ดังนั้น พรรคต้องเสนอทางออก เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเอง ตนตั้งใจและศรัทธาในวิถีอุดมการณ์ ไม่เปลี่ยนแปลงคำพูดใด ๆ ไม่เปลี่ยนจุดยืน แต่จะขอสู้ให้ถึงที่สุด

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ 21 สส. ปชป. มีมติสนับสนุนให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป ทั้งที่นายเฉลิมชัยเคยประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมือง น.ส.วทันยา กล่าวว่า ไม่รู้สึกอย่างไร ยิ่งมีจำนวนผู้สมัครมากเท่าใดสมาชิกจะมีโอกาสที่ดี 

เมื่อถามอีกว่า การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ยังมีความหวังหรือไม่ เพราะดูแล้วผลโหวตจะเทไปในทางนายเฉลิมชัย น.ส.วทันยา กล่าวว่า วันที่ตนตัดสินใจ เพราะศรัทธาวิถีของพรรคเช่นนี้ ดังนั้นจึงตัดสินใจลงมือทำ ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น จะขอทำตามความฝันและสู้ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า กรณีที่มีการระบุว่านายเฉลิมชัยดูแลสส.พรรคมาตลอด 4 ปี คิดเห็นอย่างไร น.ส.วทันยา กล่าวว่า คงต้องเป็นการตัดสินใจของสมาชิกพรรค ตนเคารพความเห็นที่แตกต่าง ไม่สามารถตอบแทนสมาชิกอื่น ๆ ได้ 

ส่วนหากผลการเลือกตั้งออกมาว่า ตนแพ้แล้ว ยังจะอยู่กับพรรค ปชป. ต่อหรือไม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ขอกลับมาประเมินอีกครั้งว่าทิศทางจะยังเป็นเหมือนเดิมกับวันแรกที่ตนเดินเข้ามาสมัคร และเหมือนวันแรกที่เราศรัทธาหรือไม่ ตนศรัทธาพรรคในสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ ประชาชนเป็นเจ้าของ สมาชิกทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด ไม่มีเจ้าของมาชี้นิ้วสั่ง 

ถามย้ำว่าหากไม่เป็นไปตามที่หวังจะออกจากพรรคใช่หรือไม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ ต้องขอประเมินก่อน ไม่ได้เป็นความผิดใคร พรรคเป็นเรื่องของพรรค สมาชิกก็เป็นเรื่องของสมาชิก แต่แนวอุดมการณ์ของตนเป็นเรื่องของตน ถ้าเราไม่เหมาะสมกับองค์กรใด ก็เป็นเรื่องของตัวเองที่ต้องพิจารณา

ถามอีกว่าการสมัครหัวหน้าพรรคครั้งนี้ เป็นการเทหมดหน้าตักหรือไม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นการเทหมดหน้าตัก แต่มีความฝันในการเมืองแบบนี้ และเห็นว่าสิ่งที่พรรคต้องแพ้พ่ายในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะเราไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ ไม่ใช่เฉพาะปัญหาภายใน แต่เกิดจากการทำหน้าที่ของพรรคและนักการเมืองที่ต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ทำงานเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

ถามด้วยว่าก่อนเลือกตั้งที่จะถึงนี้ อยากฝากบอกไปยังเพื่อนสมาชิกอย่างไร น.ส.วทันยา กล่าวว่า หลายคนบอกตนเป็นเลือดใหม่ประชาธิปัตย์ แต่วันนี้ในฐานะคนคนหนึ่งเชื่อวิถีอุดมการณ์ ฉะนั้น การให้โอกาสครั้งนี้ไม่ใช่ให้โอกาสตนได้เลือกตั้งหัวหน้าพรรคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการให้โอกาสพรรคเติบโตเปลี่ยนแปลง 

ถามถึงความชัดเจนเรื่องกก.บห.ชุดใหม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ยังไม่มี และที่ทราบกันอยู่แล้วคือมาด้วยตัวเอง หากวันนี้ต้องการฟื้นฟูต้องเลิกที่จะเลือกจากความสัมพันธ์ และจากระบบอุปถัมภ์ ต้องก้าวข้าม เลือกคนที่คุณสมบัติและความสามารถ หากเลือกเพราะความสัมพันธ์และระบบอุปถัมภ์จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งของคนในพรรค ท้ายที่สุดประชาชนและพรรคจะต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถออกไป

‘ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังเร็วเกินไปที่ ‘พม่าจะแตกเป็นเสี่ยงๆ-รัฐบาลทหารแพ้หมดรูป’ เตือน ‘ไทย’ ระวังตัวแปรกระทบ ‘ราคาพลังงานไทยพุ่ง-พม่าอพยพข้ามแดน’

ศึก 3 ก๊กใน ‘เมียนมา’ ระอุ ‘สหรัฐฯ’ อนุมัติงบหนุน ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ถล่มรัฐบาลทหาร ขณะที่สภาบริหารฯ ยอมรับถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดพื้นที่ไปแล้วกว่าครึ่งประเทศ และกำลังบุกเข้าโจมตีเขตเศรษฐกิจ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังไม่ถึงขั้นพม่าแตกเป็นเสี่ยง ด้วยมี 6 ปัจจัยหนุน เกรงสู้รบยืดเยื้อกระทบ ศก.ไทย การค้าชายแดนหดตัว หวั่นระเบิดท่อส่งก๊าซ ทำราคาแก๊ส-ราคาพลังงานในไทยพุ่งสูง อีกทั้งผู้อพยพทะลักเข้าไทย แนะรัฐบาลพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คัดแรงงานฝีมือเข้าสู่ระบบ ดึงนักธุรกิจเมียนมาลงทุน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

(8 ธ.ค. 66) การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่า ที่นำโดย ‘พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย’ กับบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ กำลังขยายวงออกไปเรื่อยๆ และดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารพม่าจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ถึงขั้นที่นักวิชาการบางสำนักฟันธงว่า “เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ” และรัฐบาลทหารพม่าใกล้ถึงคราล่มสลาย!!

ส่วนว่า สถานการณ์จะเดินไปถึงจุดนั้นหรือไม่? เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง และไทยควรจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้

‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การสู้รบในเมียนในขณะนี้มา ว่า ตอนนี้เมียนมาแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่

ก๊กแรก คือ ‘ทหารพม่า’ ซึ่งจะปักหลักสร้างฐานที่มั่นยึดเมืองใหญ่ๆ อย่าง เนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ไว้ ตอนนี้กำลังระดมกำลังพลเพื่อปกป้องเมืองเศรษฐกิจ ส่วนเมืองเล็กๆ ก็คงจะตัดใจปล่อยไป โดยสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ ‘SAC’ ออกมายอมรับว่า รัฐบาลทหารพม่าเสียพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ไปกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะผู้คนจะอพยพหนีออกจากพื้นที่อิทธิพลเพื่อหาที่ปลอดภัย ขณะที่การสู้รบจะดุเดือดยิ่งขึ้น

ก๊กที่สอง คือ ‘กองกำลังฝ่ายประชาธิปไตย’ ได้แก่ PDF และ NUG ของ ‘อองซาน ซูจี’ ซึ่งจะรุกคืบเข้าไปในเมืองใหญ่ดังกล่าว กลุ่มนี้มีรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และมีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก โดยว่ากันว่าเขาได้เงินสนับสนุนจำนวนมาก มีเอ็นจีโอนับร้อยให้การสนับสนุน ช่วยพาคนเหล่าไปยังประเทศที่สามและมีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย เช่น ที่เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมาก ซึ่งว่ากันว่ากลุ่มนี้มีการนำโดรนที่ใช้ในการเกษตรมาติดตั้งอาวุธเพื่อใช้บินโจมตีทหารพม่า

ก๊กที่สาม คือ ‘กองกำลังชนกลุ่มน้อย’ ซึ่งบางครั้งก็รวมตัวกับก๊กที่สอง บางครั้งก็รวมตัวกับก๊กทหารพม่า ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เป็นหลัก โดยมีการเจรจาต่อรองอยู่ 2-3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการตั้งสหพันธรัฐเมียนมา หรือ ‘Federal State’ ซึ่งชนกลุ่มน้อยต้องการให้รัฐบาลเมียนมาตั้งประเทศในระบบใหม่ ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์ ต้องคืนอำนาจให้แก่รัฐต่างๆอยู่กันอย่างอิสระ ดังที่ปรากฏในข้อตกลงปางหลวง ซึ่งถ้าทหารเมียนมาอ่อนกำลังลงข้อตกลงนี้จะมีน้ำหนักขึ้น อย่างเช่น รัฐฉานก็มีความพร้อมมากเพราะเขามีกำลังเยอะ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย มีจุดผ่านแดนเป็นร้อย และมีการค้าขายกับจีน ซึ่งจีนให้การสนับสนุนรัฐฉานอย่างมาก ที่ผ่านมากองกำลังชนกลุ่มน้อยก็จะจัดกองกำลังร่วมกับ PDF เพื่อจัดการทหารพม่าอยู่เป็นระยะ

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า นี่คือ ‘จุดเริ่มต้นของหายนะ’ ของรัฐบาลทหารพม่า เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยงเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถต้านทานการโจมตีของบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ และทหารพม่าจำนวนไม่น้อยเริ่มแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านประชาชนก็ไม่ให้การสนับสนุนทหาร ขณะที่การสนับสนุนเงินและอาวุธจากต่างประเทศไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองกำลัง PDF มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณผ่านสภาเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้

ขณะที่บางฝ่ายมองว่ายังเร็วไปที่จะสรุปผลการสู้รบ เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าอ่อนแอลงก็จริง แต่ก็ยังสามารถรักษาฐานที่มั่นในเมืองใหญ่ไว้ได้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพม่าจะแตกเป็นเสี่ยง รัฐบาลทหารจะแพ้หมดรูป ซึ่งกองกำลังติดอาวุธที่เคยรบกับทหารพม่ามองว่ายากที่จะถึงขั้นนั้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.) ในบรรดา 17-18 กลุ่มติดอาวุธในพม่า ทหารพม่าก็ยังเข้มแข็งที่สุดเนื่องจากมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า ทั้งเครื่องบินรบ รถถัง

2.) รัฐบาลทหารพม่าสามารถเกณฑ์กำลังพลมาสู้รบได้เป็นแสนคน

3.) แม้จะมีทหารที่ยอมแพ้ ใน 7-8 สมรภูมิ เช่น แถวภาคสกาย ภาคพะโค แต่จำนวนดังกล่าวอยู่ที่หลักพัน

4.) รัฐบาลทหารพม่ามีพันธมิตรทางการทหารที่เข้มแข็ง อย่าง จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ซึ่งพร้อมสนับสนุน โดยมีรายงานจากผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ว่าประเทศเหล่านี้ส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า

5.) ปัจจัยที่สำคัญคือรัฐบาลทหารพม่าไม่รู้จะหนีไปไหน ดังนั้นคงสู้หัวชนฝา

6.) รัฐบาลทหารพม่าและเครือข่าย มีผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจต่างๆ ในเมียนมา จึงต้องปกป้องผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หลังจากนี้ เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลทหารพม่าจะสามารถกลับมาควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้เหมือนเดิม

“นี่เป็นโอกาสครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ที่ทำให้ทหารพม่าเพลี่ยงพล้ำได้ขนาดนี้ ถ้าไม่ตีเหล็กตอนกำลังร้อน รัฐบาลทหารพม่าก็อาจจะตั้งหลักได้ ช่วงนี้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จึงบุกโจมตีอย่างหนัก โดยกองกำลัง PDF กองกำลังรัฐฉาน กองกำลังจากรัฐยะไข่ สนธิกำลังกันชั่วคราวเพื่อโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารพม่า โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและพันธมิตร มีอาวุธส่งไปจากสิงคโปร์ อินเดีย แต่ทหารพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างสูง อีกทั้งยังมีจีนและรัสเซียหนุนหลัง การที่จะทำให้รัฐบาลทหารพม่าแพ้ราบคาบจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปที่กลุ่มชาติพันธุ์จะทำก็คือ โจมตีเขตเศรษฐกิจ ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นเยอะๆ หรือให้ทหารพม่าแตกกันเองและเกิดการยึดอำนาจจาก พล.อ.อ มิน อ่อง หล่าย น่าจะเป็นความหวังของกลุ่ม PDF มากกว่า” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยนั้น รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่าในปีหน้าสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และจะกระทบเศรษฐกิจหนักกว่าเดิม เนื่องจากขณะนี้กองกำลังต่อต้านทหารพม่า ร่วมมือกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในหลายพื้นที่โจมตีทหารพม่า โดยกำลังรุกเข้าไปโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงถล่มท่อส่งก๊าซและบริเวณที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกไปยังไทย จีน อินเดีย ในส่วนของท่อก๊าซนั้นเชื่อว่า ถ้าหากมีการระเบิดท่อส่งก๊าซในพม่าจะสร้างปัญหาให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งใช้พลังงานจากก๊าซเกือบ 20% ของปริมาณพลังงานที่ใช้ทั้งหมด จะทำให้ราคาก๊าซและราคาพลังงานของไทยพุ่งสูงขึ้น

ถ้ามีการโจมตีตัดเส้นทางที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกมายังไทย ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในไทย หรือหากการสู้รบขยายวงและเป็นไปอย่างยาวนาน ก็จะมีชาวเมียนมาอพยพเข้ามาในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีแรงงานพม่าอยู่ในไทยประมาณ 1.5 แสนคน โดยชาวเมียนมาที่อพยพออกนอกประเทศจะมี 4 ช่องทาง คือ หนีไปอินเดีย ซึ่งมีไม่มากเนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียไม่ดี, หนีไปบังกลาเทศเพื่อรออพยพตามข้อตกลงของ UN, หนีไปจีน ซึ่งจีนจะตรึงไว้ให้อยู่กับพวกชานซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยแต่ทำธุรกิจสีเทา และเข้ามาประเทศไทย ซึ่งไทยได้ทำค่ายพักผู้ลี้ภัย 8-9 แห่งไว้รองรับอยู่แล้ว เพื่อดูแลให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าไม่ไหลเข้ามาในเมือง

นอกจากนั้น หากเมียนมามีการสู้รบยาวนานก็จะกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งอาจจะทำให้ขนส่งสินค้าลำบาก และเมื่อกำลังซื้อของชาวเมียนมาลดลง ก็จะส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าของไทยตกลงตามไปด้วย

“รัฐบาลไทยต้องไปคุยกับประเทศสมาชิกอาเซียนว่า หากมีชาวเมียนมาอพยพหนีภัยสงครามออกมา แต่ละประเทศจะช่วยรับผู้ลี้ภัยไว้ได้เท่าไหร่ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระอยู่ประเทศเดียว อย่างไรก็ดี นี่อาจจะเป็นโอกาสของไทยที่จะได้แรงงานฝีมือชาวเมียนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้นักธุรกิจเมียนมาเข้ามาลงทุนในไทยมาก ขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยได้ไม่น้อย เนื่องจากชาวเมียนมาที่จะอพยพออกจากพื้นที่เศรษฐกิจ ที่ถูกโจมตีนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และเป็นนักธุรกิจที่มีกำลังเงิน โดยปัจจุบันนักธุรกิจที่มาซื้อคอนโดในไทยอันดับต้น ๆ ก็คือชาวเมียนมา” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

รศ.ดร.ปณิธาน ระบุว่า ทางออกที่จะสามารถยุติการสู้รบในเมียนมาได้ ก็คือ ‘การตั้งโต๊ะเจรจา’ ที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์เรื่องยุติการสู้รบ ข้อตกลงปางหลวง และการปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง จากทั้งหมด 17 กลุ่ม แต่ยังไม่มีการพูดคุยในข้อตกลง ซึ่งมีรายละเอียดเยอะที่ต้องหารือกันว่าหากเป็นสหพันธรัฐจริงรูปแบบการปกครองจะเป็นแบบไหน อย่างไรก็ดีกลุ่ม PDF ไม่ยอมเจรจา จึงยังหาทางออกไม่ได้ เพราะการที่กลุ่มชาติพันธุ์จะกำจัดกองกำลังทหารให้สิ้นซากนั้น ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ หรือหากสามารถทำได้ ก็จะเกิดการสู้รบระหว่างกลุ่ม PDF กับกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ อีกเพราะขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังไม่มีการเจรจาสงบศึกกันอย่างแท้จริง ยังไม่มีการตกลงกันว่าใครจะปกครองตรงไหน จังหวะที่จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียจะเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลพม่าก็ยังมีอยู่

“สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือ อย่าให้ไทยถูกดึงเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับเมียนมา เนื่องจากอาจมีผู้อพยพชาวเมียนมาที่เข้ามาในไทยนัดหมายซ่องสุมกำลังกัน ซึ่งจะทำให้ไทยถูกมองว่าให้การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก รัฐบาลจึงต้องควบคุมให้ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลไทยก็อาจใช้โอกาสนี้ ในการเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในพม่า เพราะหากพม่าสงบก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ยัน!! ‘รทสช.’ ยึดมั่น 3 สถาบันหลัก ‘ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์’ ลั่น!! พร้อมเดินหน้าต่อแม้ไร้ ‘ลุงตู่’ ปัดตอบ ปม ‘ปชป.’ บางส่วนจ่อย้ายซบอก

(8 ธ.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงานของพรรค รทสช. ที่จะยึดเหนี่ยวฐานเสียงเดิมของพรรคเป็นอย่างไรต่อไป หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นองคมนตรี ว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นพรรคก็ไม่ได้มีท่านอยู่ และท่านได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเป็นเวลาพอสมควรแล้ว แต่พรรคยังเดินหน้าไปตามปกติ ทุกคนทำงานทางการเมือง ส่วนตนในฐานะหัวหน้าพรรค พยายามทำหน้าที่ให้ดีทั้งการดูแลพรรคและ ดูแลประชาชนในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหากจะต้องเปลี่ยนจุดขายจะเปลี่ยนอย่างไร นายพีระพันธุ์ กล่าวยืนยันว่า “ไม่ครับ จุดขายของเราคือเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่คือจุดขายหลัก”

เมื่อถามถึงการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ถูกจับตามองว่า อาจจะมีสมาชิกบางส่วนไหลมาอยู่กับพรรค รทสช. นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ไม่ทราบ อันนี้ไม่ทราบ ไม่มีความเห็น”

เมื่อถามย้ำว่า พรรค รทสช.พร้อมที่จะเปิดรับหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ยังไม่มีความเห็นใดๆ อะไรยังไม่เกิด ก็ไม่พูด”

‘อี้-แทนคุณ’ กระตุกมุมคิด!! ทิศทางข้างหน้า ‘ประชาธิปัตย์’ อุดมการณ์แห่งพรรคที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์ ต้องหวนคืน

(8 ธ.ค.66) จากรายการ ‘ถลกข่าว ถลกปัญหา’ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.66 ดำเนินรายการโดย สถาพร บุญนาจเสวี ได้พูดคุยกับ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อ ‘ประชาธิปัตย์ What's next?’ มีเนื้อหา ดังนี้...

หากให้พูดถึง ทิศทางในอนาคตของ ‘ประชาธิปัตย์’ คงต้องมองที่ ‘เอกภาพทางความคิด’ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดมากกว่า โดยส่วนตัวของผมเองมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ ได้บทเรียนหลายประการจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือแม้แต่การเลือกตั้งก่อนหน้านั้นก็ดี ว่า การที่เราไม่สามารถสร้าง ‘เอกภาพ’ หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันใน ‘ทางความคิด’ ได้ อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต 

แน่นอนว่า เราอาจจะภูมิใจว่า เราเป็นพรรคการเมืองที่มีเสรีภาพในการคิดหรือพูดได้อย่างมากมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ในวันที่เราต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน การมีเอกภาพทางความคิดสำคัญมากจริง ๆ เพราะเสรีภาพจากจำนวนคนในพรรค รวมถึงสมาชิกพรรคเรือนแสนคนนั้น มันอาจทำให้เราหลงทิศ 

เราฟังความคิดที่หลากหลายได้ครับ!!

แต่สุดท้าย!! เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องใด ทุกคนที่เป็นเลือด ปชป.ควรมุ่งมั่นและมีวินัย ในการเดินหน้าตามครรลองของความเป็นพรรคแห่งที่มีความเชื่อมั่นจากประชาชนในด้าน ‘ความซื่อสัตย์’ ใช่หรือไม่? เรื่องนี้สำคัญ!! 

คุณอี้ กล่าวต่อว่า 77 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้ คือ ใหญ่มาก และสิ่งที่สำคัญต่อพวกเรามาก ๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ‘ป่า’ ซึ่งป่าในที่นี้ก็คือ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ประชาชน’ ที่สร้างเราให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคแห่งความซื่อสัตย์ ฉะนั้นต่อให้เราจะยืนหยัดมานานแค่ไหน แต่เราจะลืม ‘ประชาธิปไตย-ประชาชน’ ที่ปลุกปั้นให้เรามีตัวตนไม่ได้ 

ผมเชื่อว่า ‘ความสุจริต’ ประชาธิปไตยที่สุจริต จะเป็นจุดแข็งที่สุดของประเทศไทย เพียงแต่วันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่า มันจะหายไปเพียงเพราะความเห็นแก่ผลประโยชน์เพียงชั่วขณะแค่ไหน 

ทั้งนี้ คุณอี้ ยังกล่าวอีกว่า การได้อยู่กับพรรคที่มีอุดมการณ์ในแง่ของความรักชาติบ้านเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคอื่น ๆ ใช่ว่าจะไม่มีอุดมการณ์ที่กล่าวมานั้น สะท้อนให้เห็นผ่านการทำงานทั้งการเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ไม่เคยมีข้อครหาในเรื่องของคอร์รัปชัน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดแข็งและเป็นอุดมการณ์ที่มั่นคงของพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน และหวังให้ประเทศไทยใช้สิ่งนี้เป็นจุดแข็งของประเทศด้วยในอนาคต

อย่างตอนที่สมัยรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนั้นพอเกิดปัญหาแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ปัญหาปลากระป๋องเน่า ท่านอภิสิทธิ์ก็ให้รัฐมนตรีที่ดูแลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกทันที ซึ่งภาพแบบนี้เราคงเคยเห็นที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นกันมาบ้าง ทั้ง ๆ ที่บางทีปัญหานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับคน ๆ นั้นโดยตรง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นในความรับผิดชอบของเขา ก็ต้องพร้อมจะโค้งคำนับและลาออกทันที ไม่ใช่โค้งคำนับแล้วก็ไม่ลาออกเหมือนนักการเมืองไทย นี่คือประชาธิปัตย์

ดังนั้น ส่วนตัวของผมเอง ก็อยากเห็น ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่หล่อหลอมเรื่องเหล่านี้มายาวนาน จนกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคที่ชัดเจน ไม่ปล่อยให้ ‘ความซื่อสัตย์’ นี้ เลือนหายไปในวันข้างหน้า

ผมขออนุญาตทิ้งท้ายไว้ด้วยคำกล่าวของ ท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า...

“ถนนทุกสายในเมืองไทย สามารถปูด้วยทองคําได้ ถ้าไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณี ตำรวจไทย-ตำรวจมาเลเซียชิงถ้วย “รุจิรวงศ์” ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค.66 ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี

วันที่ 8 ธ.ค.66 เวลา 11.30 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารการกีฬาประเภทรักบี้ฟุตบอล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานแถลงข่าวการแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลประเพณีตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ชิงถ้วย "รุจิรวงศ์" ครั้งที่ 34 โดยมี พล.ต.ต.เทอดศักดิ์ รุจิรวงศ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานการจัดการแข่งขันฯ และพ.ต.อ.เศรษฐสิริ นิพภยะ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

สำหรับการแข่งขันกีฬารักบี้ประเพณีระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์
เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีระหว่างตำรวจไทยกับตำรวจมาเลเซียอย่างเน้นเฟ้น ในการบูรณาการทำงานร่วมกัน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติที่จะมาคุกคามประชาชนระหว่างสองประเทศ โดยการจัดการแข่งขันครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2504 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในยุคสมัยของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ได้ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานกว่า 62 ปี มีการจัดการแข่งขันมาแล้วถึง 34 ครั้ง โดยจะมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในการแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลชิงถ้วย "รุจิรวงศ์" ครั้งที่ 34 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 12 - 15 ธ.ค.66 และจะมีการแข่งขันจริงในวันที่ 14 ธ.ค.66 ณ สนามกีฬาราชนาวี สัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

การแข่งขันกีฬารักบี้ประเพณีระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ครั้งที่ 34 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การแข่งขันชิงถ้วย "รุจิรวงศ์" ประเภทอายุไม่เกิน 45 ปี
2. การแข่งขันชิงถ้วย "สุวิมล" ประเภทอาวุโส อายุเกิน 45 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชน และข้าราชการ
ตำรวจ ร่วมรับชมผ่านและส่งกำลังใจแก่นักกีฬาตำรวจไทยในการแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลประเพณี ระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ชิงถ้วย "รุจิรวงศ์" ครั้งที่ 34 ในวันที่ 14 ธ.ค.66 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ณ สนามกีฬาโรงเรียนนานาชาติรักบี้ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

‘สว.อุปกิต’ แฉ!! ‘โรม’ ตั้ง ‘สามีทนายแจม’ นั่งเลขา กมธ.ความมั่นคงฯ โยงใช้อำนาจทำลายตน ตีชิ่ง รบ.ก่อน เพื่อเรียกเรตติงทางการเมือง

(8 ธ.ค.66) นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่ตามสื่อมวลชนถึงผลการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานกมธ. โดยมีวาระพิจารณาปัญหาตั๋วตำรวจที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทยนั้น มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว แต่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนคือ การที่ พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล เพื่อนรักของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท นายตำรวจชุดจับกุมคดี ตุน มิน ลัต ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะ กมธ. แสดงบทบาทอย่างสำคัญในการอภิปรายซักถามเรื่องตั๋วตำรวจในการประชุม กมธ.ด้วย

นายอุปกิต กล่าวว่า ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ได้เห็นการเชื่อมโยงที่ชัดเจนมากขึ้นจากที่ตนเคยชี้แจงไปว่า ความแปดเปื้อนที่เกิดขึ้นกับตน มีมูลเหตุจูงใจจากสิ่งซึ่งตนใช้คำว่า ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.มานะพงษ์ กับ พ.ต.ท.ธีรวัตร์ เพื่อนรักและสามี นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ‘ทนายแจม’ สส.กทม.พรรคก้าวไกล และนายรังสิมันต์ โรม พยายามใช้คดีจับกุม ตุน มิน ลัต เชื่อมโยงมาถึงตน พยายามออกหมายจับตนโดยมิชอบ เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่ผ่านมา และหาคะแนนนิยมทางการเมือง

“นอกจากยืนยันทฤษฎีสมคบคิดแล้ว วันนี้สิ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่ทำยังย้อนแย้งกับสิ่งที่เคยวิจารณ์เรียกร้อง เคยโจมตีสภาผัวเมีย สภาฝากเลี้ยง แต่ตัวเองทำยิ่งกว่า” นายอุปกิตระบุ

นายอุปกิต กล่าวว่า ตำแหน่ง สส.ควรทำสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ประชาชน แต่กลไกสภา กลับถูกใช้เพื่อเหตุผลทางการเมือง ดังจะเห็นว่า อีกวาระสำคัญในการประชุม กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ วานนี้ มีการเรียกตัวแทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาชี้แจงปัญหาไฟฟ้าขัดข้องในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยอ้างว่าเป็นความเดือดร้อนประชาชนแต่ความจริงแล้ว นายรังสิมันต์ต้องการใช้กลไก กมธ. เรียกเอกสารที่ กฟภ.ทำสัญญาซื้อขายไฟกับ บริษัทอัลลัวร์ พีแอนด์อี เพื่อจะหาช่องโจมตีตน ทั้งๆ ที่ได้ยืนยันไปหลายครั้งแล้วว่า ก่อนมารับตำแหน่ง สว.ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในเครือบริษัทอัลลัวร์แล้ว

“ขณะที่เรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวเอง และยังเป็นที่เคลือบแคลงกรณี “ตั๋วปารีส” กลับไม่มีความคืบหน้าว่า กมธ.จะสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้อย่างไร ผมอยากถามว่า อนุ กมธ.ตั๋วปารีสจะตั้งได้กี่โมง” นายอุปกิต กล่าว

ระบบการศึกษาเวียดนาม ความคล้ายคลึงที่อาจไม่ต่างจากไทย เน้นสอนให้ท่องจำไว้ เพื่อดันผลคะแนนสอบ PISA ให้ได้สูงๆ

(8 ธ.ค.66) จากเพจ ‘Mr Strategist’ ได้โพสต์ข้อความชวนคิดในหัวข้อ ‘เด็กเวียดนามเรียนเก่งกว่าไทยจริงไหม?’ ความว่า...

เด็กเวียดนามเรียนเก่งกว่าไทยจริงไหม? วัดกันยากครับ ผมเคยไปพูดคุยกับคณะทำงานของฝั่งเวียดนาม เจ้าหน้าที่ระดับล่างและระดับกลางบ้านเขาก็ไม่ได้พูดอังกฤษเก่งนะ (จากการประเมินของผม)

ภาษาอังกฤษเขาก็ติดสำเนียงท้องถิ่น พูดแบบไม่แม่นแกรมม่าเหมือนบ้านเรานี่แหละ แต่เขาดูมีความพยายามมากๆ ในการพูด ถามว่าการแข่งขันเขาสูงไหม สูงมากครับ

สูงไม่ต่างจากจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น เขาแข่งกัน ในแบบที่บ้านครอบครัวเด็กยากจนยังวิ่งหาเงิน เพื่อจ่ายค่าติวเตอร์/ส่งลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนน่ะ…

เรื่องคะแนนคณิตศาสตร์เนี่ย แน่นอน พูดกันในเรื่องการออกแบบหลักสูตรแล้ว มันไม่ค่อยซับซ้อนอะไรมาก รัฐบาลเวียดนามสั่งกระทรวงศึกษาฯ ไปว่าอยากได้คะแนนสอบ PISA เยอะๆ

ทางโรงเรียนก็ไปเร่งสอน ไปบีบเด็กให้ท่องจำ ไปเน้นอัดความรู้ให้เด็กๆ แค่นี้เองครับ คนแวดวงการศึกษาของเวียดนามเคยเล่าให้ผมฟัง คะแนนคณิตศาสตร์บ้านเขาดี ก็เพราะหลักสูตรมันเน้นอัดทุกอย่างให้เด็กท่องจำไม่ต่างจากบ้านเรา

ดังนั้น ผมว่าแค่คะแนนอะไรพวกนี้มันน่าจะวัดความเก่ง หรือสติปัญญาไม่น่าจะได้ และคะแนนที่เก็บสถิติมามันก็แค่ค่าเฉลี่ย ไม่สะท้อนภาพรวมทั้งประเทศ อย่างมากอาจจะวัดภาพรวมคุณภาพและการบริหารจัดการระบบการศึกษา

(เพราะท้ายที่สุด กลุ่มตัวอย่างที่ดึงให้คะแนนภาพรวมของประเทศขึ้นหรือลง มันคือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการกระจายทรัพยากรการศึกษาที่ดีพอ ทำยังไงคะแนนภาพรวมในประเทศก็ไม่ขึ้นครับ)

แต่จุดเด่นหนึ่งที่เวียดนามเขาดีกว่าเราในตอนนี้คือ บ้านเขาประชากรยังหนุ่มสาวเยอะ มีวัยรุ่นพร้อมเป็นแรงงานราคาถูกมากกว่าประเทศไทย

เขาผลิตเด็กออกไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมได้ แต่ไทยเราควรเลิกหวังเรื่องผลิตเด็กออกไปเป็นแรงงานพวก Semi Skilled หรือ Unskilled ได้แล้ว

ค่าแรงบ้านเราแพงครับ ยังไงก็แข่งไม่ได้ โรงงานของบริษัทข้ามชาติยังไงก็ชอบเวียดนามกับอินโดนีเซียมากกว่าบ้านเราในระยะยาว

ยังไงไทยก็ควรปรับ Position ตัวเองให้พร้อมกับการผลิตแรงงานป้อน Service Sector และ IT Sector ที่มันซับซ้อนกว่าแค่การเป็นแรงงานประกอบชิ้นส่วนครับ

ปิดทาง ‘มรดกเลือด’ คงสัมพันธ์ครอบครัวให้เหนียวแน่น แค่ทายาททุกฝ่าย หันหน้ามาคุยกันด้วยความเข้าใจ

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว มักจะมีที่มาจากเรื่องของทรัพย์สินหรือปัญหาการแบ่งมรดก ไม่ลงตัว 

ปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจลุกลามไปเป็นปัญหาใหญ่ จนไม่สามารถแก้ไขได้ทันเวลา หากทุกคนเข้าใจและยอมรับกติกาที่กฎหมายได้ระบุไว้ ปัญหาดังกล่าวอาจจะสามารถคลี่คลายลงได้

โดยเมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่ทายาท

หากผู้ตายมีหนี้ ผู้รับมรดกไม่ต้องรับผิดชอบหนี้เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนเองได้รับ

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก มี 2 ประเภทคือ ทายาทโดยธรรม และทายาทตามพินัยกรรมเรียกว่า ‘ผู้รับพินัยกรรม’

ทายาทโดยธรรมมี 6 ชั้น ได้แก่ 1.ผู้สืบสันดาน 2.บิดามารดา 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 5.ปู่ ย่า ตา ยาย 6.ลุง ป้า น้า อา 

คู่สมรสของเจ้ามรดกก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดก

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนาของบุคคลในเรื่องทรัพย์สินของตน ว่าหากตายไปแล้วทรัพย์สินนั้นจะยกให้ใคร อาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือบุคคลที่ไม่ใช่ทายาทก็ได้

ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไปและเป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย

พินัยกรรมต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด เช่น ทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน, พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ, พินัยกรรมฝ่ายเมืองซึ่งต้องไปทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ, พินัยกรรมแบบเอกสารลับ 

ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือบางส่วนในเวลาใดก็ได้

การแบ่งทรัพย์มรดกนั้น หากผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ก็ให้แบ่งตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพินัยกรรม หากไม่มีพินัยกรรมก็แบ่งให้ทายาทโดยธรรม ตามลำดับชั้น หากทายาทลำดับก่อนยังอยู่ ลำดับถัดมาจะไม่มีสิทธิได้รับมรดก เรียกว่า ญาติสนิทตัดญาติห่าง เช่น หากผู้ตายยังมีบุตรและพ่อแม่ที่มีชีวิตอยู่ พี่น้องของผู้ตายจะไม่มีสิทธิรับมรดก 

การแบ่งมรดกให้ทายาทแต่ละคนที่มีสิทธิได้รับมรดกในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยพิจารณาจากมูลค่าของทรัพย์มรดกทั้งหมด แต่ทายาทอาจตกลงกันเองในการแบ่งมรดกได้ โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งมรดกให้เท่าเทียมกันทุกประการ

ถ้าบุคคลใดตายโดยไม่มีทายาทรับมรดก ให้ทรัพย์มรดกนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ในการแบ่งปันทรัพย์มรดก แม้อาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่หากทายาททุกฝ่าย หันหน้ามาคุยกัน โดยยึดถือความสัมพันธ์อันดีในสถาบันครอบครัวเป็นสำคัญ ปัญหามรดกเลือดจะไม่มีทางเกิดขึ้น และจะยังสามารถรักษาครอบครัวไว้ได้ต่อไปอีกยาวนาน 

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ‘แบงก์ชาติ’ จะมี ‘คำอธิบาย-แก้ตัว’ ใด?

(9 ธ.ค.66) ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflaion) จริงๆ' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อ 7 ธันวาคม ได้ติดลบ 0.44% แบบ Year on Year ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากให้กับประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หลายท่านอาจจะคิดว่าระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าภาวะเงินเฟ้อเสียอีก ระดับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้ครัวเรือนและธุรกิจชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องด้วยคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ภาระหนี้ (Debt Burden) จะสูงขึ้น เพราะมูลหนี้ที่แท้จริงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ได้ ขณะนี้หนี้ของประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็อาจถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

ภาวะเงินฝืดไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากกว่าเงินเฟ้อ อย่างประเทศญี่ปุ่น ตอนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดราวปี 1990 หลังฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตก ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 25 ปีจึงเริ่มที่จะเห็นสัญญาณหลุดพ้นในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำ ไม่ขึ้นตามธนาคารกลางอื่น และปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก 

ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ก็เคยประสบปัญหาเงินฝืดจนต้องลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ เท่านั้นยังไม่พอต้องใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ จีนก็ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมาสักระยะแล้วหลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกและมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลายไปหลายบริษัท

ผมได้เคยเตือนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วว่า ประเทศไทยอาจเดินตามจีนเข้าสู่ Deflation แต่กลับตกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ Delay การขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเกรงใจรัฐบาลก่อนที่แต่งตั้งผู้ว่าการฯ เข้ามา จนทำให้ประเทศไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และหลุดกรอบ Inflation Targeting ไปกว่าเท่าตัว 

แต่พอมาปีนี้กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงแรงจนหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความผิดพลาด แต่ก็ไม่วายโทษรัฐบาลว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก 

การที่ CPI ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันครั้งนี้ ก็เชื่อว่าคงจะไม่ยอมรับผิด แล้วก็คงจะโทษคนอื่นตามฟอร์ม ว่ามีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

อยากขอให้สำนึกว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเป้าหมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top