‘ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังเร็วเกินไปที่ ‘พม่าจะแตกเป็นเสี่ยงๆ-รัฐบาลทหารแพ้หมดรูป’ เตือน ‘ไทย’ ระวังตัวแปรกระทบ ‘ราคาพลังงานไทยพุ่ง-พม่าอพยพข้ามแดน’

ศึก 3 ก๊กใน ‘เมียนมา’ ระอุ ‘สหรัฐฯ’ อนุมัติงบหนุน ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ถล่มรัฐบาลทหาร ขณะที่สภาบริหารฯ ยอมรับถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดพื้นที่ไปแล้วกว่าครึ่งประเทศ และกำลังบุกเข้าโจมตีเขตเศรษฐกิจ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังไม่ถึงขั้นพม่าแตกเป็นเสี่ยง ด้วยมี 6 ปัจจัยหนุน เกรงสู้รบยืดเยื้อกระทบ ศก.ไทย การค้าชายแดนหดตัว หวั่นระเบิดท่อส่งก๊าซ ทำราคาแก๊ส-ราคาพลังงานในไทยพุ่งสูง อีกทั้งผู้อพยพทะลักเข้าไทย แนะรัฐบาลพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คัดแรงงานฝีมือเข้าสู่ระบบ ดึงนักธุรกิจเมียนมาลงทุน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

(8 ธ.ค. 66) การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่า ที่นำโดย ‘พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย’ กับบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ กำลังขยายวงออกไปเรื่อยๆ และดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารพม่าจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ถึงขั้นที่นักวิชาการบางสำนักฟันธงว่า “เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ” และรัฐบาลทหารพม่าใกล้ถึงคราล่มสลาย!!

ส่วนว่า สถานการณ์จะเดินไปถึงจุดนั้นหรือไม่? เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง และไทยควรจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้

‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การสู้รบในเมียนในขณะนี้มา ว่า ตอนนี้เมียนมาแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่

ก๊กแรก คือ ‘ทหารพม่า’ ซึ่งจะปักหลักสร้างฐานที่มั่นยึดเมืองใหญ่ๆ อย่าง เนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ไว้ ตอนนี้กำลังระดมกำลังพลเพื่อปกป้องเมืองเศรษฐกิจ ส่วนเมืองเล็กๆ ก็คงจะตัดใจปล่อยไป โดยสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ ‘SAC’ ออกมายอมรับว่า รัฐบาลทหารพม่าเสียพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ไปกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะผู้คนจะอพยพหนีออกจากพื้นที่อิทธิพลเพื่อหาที่ปลอดภัย ขณะที่การสู้รบจะดุเดือดยิ่งขึ้น

ก๊กที่สอง คือ ‘กองกำลังฝ่ายประชาธิปไตย’ ได้แก่ PDF และ NUG ของ ‘อองซาน ซูจี’ ซึ่งจะรุกคืบเข้าไปในเมืองใหญ่ดังกล่าว กลุ่มนี้มีรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และมีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก โดยว่ากันว่าเขาได้เงินสนับสนุนจำนวนมาก มีเอ็นจีโอนับร้อยให้การสนับสนุน ช่วยพาคนเหล่าไปยังประเทศที่สามและมีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย เช่น ที่เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมาก ซึ่งว่ากันว่ากลุ่มนี้มีการนำโดรนที่ใช้ในการเกษตรมาติดตั้งอาวุธเพื่อใช้บินโจมตีทหารพม่า

ก๊กที่สาม คือ ‘กองกำลังชนกลุ่มน้อย’ ซึ่งบางครั้งก็รวมตัวกับก๊กที่สอง บางครั้งก็รวมตัวกับก๊กทหารพม่า ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เป็นหลัก โดยมีการเจรจาต่อรองอยู่ 2-3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการตั้งสหพันธรัฐเมียนมา หรือ ‘Federal State’ ซึ่งชนกลุ่มน้อยต้องการให้รัฐบาลเมียนมาตั้งประเทศในระบบใหม่ ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์ ต้องคืนอำนาจให้แก่รัฐต่างๆอยู่กันอย่างอิสระ ดังที่ปรากฏในข้อตกลงปางหลวง ซึ่งถ้าทหารเมียนมาอ่อนกำลังลงข้อตกลงนี้จะมีน้ำหนักขึ้น อย่างเช่น รัฐฉานก็มีความพร้อมมากเพราะเขามีกำลังเยอะ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย มีจุดผ่านแดนเป็นร้อย และมีการค้าขายกับจีน ซึ่งจีนให้การสนับสนุนรัฐฉานอย่างมาก ที่ผ่านมากองกำลังชนกลุ่มน้อยก็จะจัดกองกำลังร่วมกับ PDF เพื่อจัดการทหารพม่าอยู่เป็นระยะ

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า นี่คือ ‘จุดเริ่มต้นของหายนะ’ ของรัฐบาลทหารพม่า เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยงเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถต้านทานการโจมตีของบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ และทหารพม่าจำนวนไม่น้อยเริ่มแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านประชาชนก็ไม่ให้การสนับสนุนทหาร ขณะที่การสนับสนุนเงินและอาวุธจากต่างประเทศไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองกำลัง PDF มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณผ่านสภาเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้

ขณะที่บางฝ่ายมองว่ายังเร็วไปที่จะสรุปผลการสู้รบ เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าอ่อนแอลงก็จริง แต่ก็ยังสามารถรักษาฐานที่มั่นในเมืองใหญ่ไว้ได้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพม่าจะแตกเป็นเสี่ยง รัฐบาลทหารจะแพ้หมดรูป ซึ่งกองกำลังติดอาวุธที่เคยรบกับทหารพม่ามองว่ายากที่จะถึงขั้นนั้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.) ในบรรดา 17-18 กลุ่มติดอาวุธในพม่า ทหารพม่าก็ยังเข้มแข็งที่สุดเนื่องจากมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า ทั้งเครื่องบินรบ รถถัง

2.) รัฐบาลทหารพม่าสามารถเกณฑ์กำลังพลมาสู้รบได้เป็นแสนคน

3.) แม้จะมีทหารที่ยอมแพ้ ใน 7-8 สมรภูมิ เช่น แถวภาคสกาย ภาคพะโค แต่จำนวนดังกล่าวอยู่ที่หลักพัน

4.) รัฐบาลทหารพม่ามีพันธมิตรทางการทหารที่เข้มแข็ง อย่าง จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ซึ่งพร้อมสนับสนุน โดยมีรายงานจากผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ว่าประเทศเหล่านี้ส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า

5.) ปัจจัยที่สำคัญคือรัฐบาลทหารพม่าไม่รู้จะหนีไปไหน ดังนั้นคงสู้หัวชนฝา

6.) รัฐบาลทหารพม่าและเครือข่าย มีผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจต่างๆ ในเมียนมา จึงต้องปกป้องผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หลังจากนี้ เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลทหารพม่าจะสามารถกลับมาควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้เหมือนเดิม

“นี่เป็นโอกาสครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ที่ทำให้ทหารพม่าเพลี่ยงพล้ำได้ขนาดนี้ ถ้าไม่ตีเหล็กตอนกำลังร้อน รัฐบาลทหารพม่าก็อาจจะตั้งหลักได้ ช่วงนี้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จึงบุกโจมตีอย่างหนัก โดยกองกำลัง PDF กองกำลังรัฐฉาน กองกำลังจากรัฐยะไข่ สนธิกำลังกันชั่วคราวเพื่อโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารพม่า โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและพันธมิตร มีอาวุธส่งไปจากสิงคโปร์ อินเดีย แต่ทหารพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างสูง อีกทั้งยังมีจีนและรัสเซียหนุนหลัง การที่จะทำให้รัฐบาลทหารพม่าแพ้ราบคาบจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปที่กลุ่มชาติพันธุ์จะทำก็คือ โจมตีเขตเศรษฐกิจ ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นเยอะๆ หรือให้ทหารพม่าแตกกันเองและเกิดการยึดอำนาจจาก พล.อ.อ มิน อ่อง หล่าย น่าจะเป็นความหวังของกลุ่ม PDF มากกว่า” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยนั้น รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่าในปีหน้าสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และจะกระทบเศรษฐกิจหนักกว่าเดิม เนื่องจากขณะนี้กองกำลังต่อต้านทหารพม่า ร่วมมือกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในหลายพื้นที่โจมตีทหารพม่า โดยกำลังรุกเข้าไปโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงถล่มท่อส่งก๊าซและบริเวณที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกไปยังไทย จีน อินเดีย ในส่วนของท่อก๊าซนั้นเชื่อว่า ถ้าหากมีการระเบิดท่อส่งก๊าซในพม่าจะสร้างปัญหาให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งใช้พลังงานจากก๊าซเกือบ 20% ของปริมาณพลังงานที่ใช้ทั้งหมด จะทำให้ราคาก๊าซและราคาพลังงานของไทยพุ่งสูงขึ้น

ถ้ามีการโจมตีตัดเส้นทางที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกมายังไทย ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในไทย หรือหากการสู้รบขยายวงและเป็นไปอย่างยาวนาน ก็จะมีชาวเมียนมาอพยพเข้ามาในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีแรงงานพม่าอยู่ในไทยประมาณ 1.5 แสนคน โดยชาวเมียนมาที่อพยพออกนอกประเทศจะมี 4 ช่องทาง คือ หนีไปอินเดีย ซึ่งมีไม่มากเนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียไม่ดี, หนีไปบังกลาเทศเพื่อรออพยพตามข้อตกลงของ UN, หนีไปจีน ซึ่งจีนจะตรึงไว้ให้อยู่กับพวกชานซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยแต่ทำธุรกิจสีเทา และเข้ามาประเทศไทย ซึ่งไทยได้ทำค่ายพักผู้ลี้ภัย 8-9 แห่งไว้รองรับอยู่แล้ว เพื่อดูแลให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าไม่ไหลเข้ามาในเมือง

นอกจากนั้น หากเมียนมามีการสู้รบยาวนานก็จะกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งอาจจะทำให้ขนส่งสินค้าลำบาก และเมื่อกำลังซื้อของชาวเมียนมาลดลง ก็จะส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าของไทยตกลงตามไปด้วย

“รัฐบาลไทยต้องไปคุยกับประเทศสมาชิกอาเซียนว่า หากมีชาวเมียนมาอพยพหนีภัยสงครามออกมา แต่ละประเทศจะช่วยรับผู้ลี้ภัยไว้ได้เท่าไหร่ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระอยู่ประเทศเดียว อย่างไรก็ดี นี่อาจจะเป็นโอกาสของไทยที่จะได้แรงงานฝีมือชาวเมียนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้นักธุรกิจเมียนมาเข้ามาลงทุนในไทยมาก ขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยได้ไม่น้อย เนื่องจากชาวเมียนมาที่จะอพยพออกจากพื้นที่เศรษฐกิจ ที่ถูกโจมตีนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และเป็นนักธุรกิจที่มีกำลังเงิน โดยปัจจุบันนักธุรกิจที่มาซื้อคอนโดในไทยอันดับต้น ๆ ก็คือชาวเมียนมา” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

รศ.ดร.ปณิธาน ระบุว่า ทางออกที่จะสามารถยุติการสู้รบในเมียนมาได้ ก็คือ ‘การตั้งโต๊ะเจรจา’ ที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์เรื่องยุติการสู้รบ ข้อตกลงปางหลวง และการปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง จากทั้งหมด 17 กลุ่ม แต่ยังไม่มีการพูดคุยในข้อตกลง ซึ่งมีรายละเอียดเยอะที่ต้องหารือกันว่าหากเป็นสหพันธรัฐจริงรูปแบบการปกครองจะเป็นแบบไหน อย่างไรก็ดีกลุ่ม PDF ไม่ยอมเจรจา จึงยังหาทางออกไม่ได้ เพราะการที่กลุ่มชาติพันธุ์จะกำจัดกองกำลังทหารให้สิ้นซากนั้น ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ หรือหากสามารถทำได้ ก็จะเกิดการสู้รบระหว่างกลุ่ม PDF กับกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ อีกเพราะขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังไม่มีการเจรจาสงบศึกกันอย่างแท้จริง ยังไม่มีการตกลงกันว่าใครจะปกครองตรงไหน จังหวะที่จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียจะเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลพม่าก็ยังมีอยู่

“สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือ อย่าให้ไทยถูกดึงเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับเมียนมา เนื่องจากอาจมีผู้อพยพชาวเมียนมาที่เข้ามาในไทยนัดหมายซ่องสุมกำลังกัน ซึ่งจะทำให้ไทยถูกมองว่าให้การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก รัฐบาลจึงต้องควบคุมให้ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลไทยก็อาจใช้โอกาสนี้ ในการเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในพม่า เพราะหากพม่าสงบก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว