Thursday, 15 May 2025
TheStatesTimes

‘นายกฯ เศรษฐา’ ลั่น ‘การเมืองไทย’ มีเสถียรภาพ พร้อมต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก เข้ามาลงทุนในไทย

(16 พ.ย. 66) (เวลา 13.30 น. วันที่ 15 พ.ย. 66 ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ Summit Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) เน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และ ยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ ไทยจะเร่งเดินหน้าเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น’ ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป

'ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์' ไม่ทน!! ร้องสอบจริยธรรม 2 สส.ก้าวไกล-แก๊งสามนิ้ว ปั่น!! #เลิกบังคับแปรอักษร สร้างความแตกแยกสามัคคี 'จตุรมิตรสามัคคี'

(16 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร ผู้ร้องเรียน และนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำซึ่งอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ กับ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กว่าจะมีศิษย์จากโรงเรียนจตุรมิตรไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่รัฐสภา เรื่องการบังคับขึ้นสแตนแปรอักษรโดยไม่สมัครใจ จากนั้นได้มีการแพร่ภาพผ่านสื่อและมีข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร โดยมี น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล เป็นผู้แถลงข่าวว่า กมธ.ได้รับข้อมูลจากกลุ่มศิษย์เก่า รร.เทพศิรินทร์ และ รร.สวนกุหลาบ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากกิจกรรม ‘จตุรมิตรสามัคคี’ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีของโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ 4 โรงเรียน คือ รร.เทพศิรินทร์ รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย รร.กรุงเทพคริสเตียน และ รร.อัสสัมชัญ โดยมีชายจำนวน 2 คน อ้างว่าเป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนในเครือจตุรมิตร เป็นผู้ยื่นหนังสือ

ดร.ทันกวินท์ กล่าวต่อว่า ตามข้อบังคับประมวลจริยธรรม พ.ศ. 2563 ได้บัญญัติอุดมคติของการเป็นสมาชิกและกรรมาธิการ รวมถึงจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ที่วางไว้ โดยผู้ร้องเรียนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบข่าวกรณีที่มีบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ประชาคมจตุรมิตรไปแสดงข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร บริเวณหน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ และสนามกีฬาแห่งชาติ สนามศุภชลาศัยแล้ว เห็นว่าการกระทำของบุคคลทั้งสามมีความสอดคล้องกับการกระทำของบุคคลภายนอก แถมมีการนัดหมาย ร่วมกัน วางแผน เพื่อให้เกิดประเด็นข่าวซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และอาจนำไปสู่การแตกความสามัคคียิ่งเป็นการบั่นทอนอุดมการณ์อันสำคัญของการจัดการแข่งจตุรมิตรสามัคคี

ทั้งนี้ เห็นว่าการกระทำของ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 กรุงเทพฯ และโฆษกกรรมาธิการการศึกษาฯ รวมถึงบุคคลตามภาพการแถลงข่าวของกรรมาธิการการศึกษาฯ เป็นการกระทำซึ่งขัดต่อข้อ 8 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 18 และข้อ 22 ของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ จึงเรียกร้องให้ตรวจสอบการกระทำของบุคคลทั้งสามและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อโปรดพิจารณาส่งเรื่องคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘รร.อัสสัมชัญ’ จุดเริ่มต้นการแปรอักษรในงานกีฬาฯ สู่การสานต่อในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

(16 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘David Boonthawee’ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ภาพแรกการแปรอักษรในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2485 ในช่วงเวลาแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แร้นแค้นขาดแคลน สินค้าแทบทุกชนิดหายาก แม้แต่ผ้าตัดเสื้อ ดังนั้นเสื้อผ้าที่สวมใส่กันส่วนมากจึงมีอยู่ไม่กี่สี

วันหนึ่ง มาสเตอร์เฉิด สุดารา ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ สังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง แต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้านั่งกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาคนที่แต่งตัวเหมือน ๆ กัน มานั่งเป็นกลุ่มและจัดให้เป็นสัญลักษณ์อะไรก็คงจะทำได้ 

เวลานั้นโรงเรียนอัสสัมชัญมีการแต่งกายของนักเรียนอยู่ 2 แบบ คือ พวกที่เป็น ‘ยุวชนทหาร’ จะแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารสีเข้ม ส่วนพวกที่ไม่ได้เป็นยุวชนทหารก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อราชปะแตนสีขาว และใส่หมวกกะโล่สีขาวด้วย 

เมื่อถึงการแข่งขันฟุตบอลรุ่นกลางนัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมโรงเรียนอัสสัมชัญ กับทีมโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

มาสเตอร์เฉิดจึงได้นำนักเรียนอัสสัมชัญที่แต่งชุด ‘สีขาว’ ไปรวมกันไว้ที่ตอนบนของอัฒจันทร์ก่อน แล้วค่อย ๆ นำนักเรียนลงมาทีละกลุ่ม จัดให้นั่งเรียงกัน โดยเว้นช่องว่างไว้บางส่วน 

จากนั้นก็ให้พวกแต่งชุดยุวชนทหาร ‘สีเข้ม’ เข้าไปนั่งเติมเต็มในช่องว่าง 

เมื่อมองจากด้านหน้าของอัฒจันทร์ ก็จะเห็นเป็นภาพตัวอักษร ‘อสช’ ขึ้นมาจากสีเสื้อยุวชนทหาร ซึ่งเป็นอักษรย่อของชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ 

นั่นคือปรากฏการณ์ครั้งแรกของการแปรอักษรในประเทศไทย ที่เกิดจากการนำคนที่ใส่เสื้อต่างสี มานั่งเรียงกันเพื่อ ‘แปร’ ให้เป็น ‘ตัวอักษร’

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงและตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก

จากนั้นการแปรอักษรก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จากสีเสื้อผ้า มาสู่การติดริบบิ้น แล้วใช้แผ่นกระดาษ จนกลายเป็น ‘เพลต’ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งมาถึงยุคที่ ‘ลงโค้ด’ ด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน 

การแปรอักษรมาถึงยุครุ่งเรืองสุดขีดเมื่อฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2507 
และสานต่อด้วยการนำมาใช้ในฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’

ซึ่งผู้ที่นำการแปรอักษรไปเผยแพร่ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกก็คือ รศ.ดร. สุรพล สุดารา ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ บุตรชายของมาสเตอร์เฉิด สุดารา นั่นเอง

อาจารย์สุรพล ขณะนั้นเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำการแปรอักษรที่คิดค้นโดยบิดาตนเอง มาปรับใช้กับการเชียร์ฟุตบอลประเพณี

และนั่นเองที่ทำให้การแปรอักษรไม่ได้เป็นเพียงแค่การเชียร์สถาบันตนเองอีกต่อไป แต่ขยายพรมแดนไปถึงการสร้างความบันเทิงสนุกสนานให้แก่ผู้ชมด้วยอารมณ์ขัน การล้อเลียนเพื่อนต่างสถาบัน กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนถึงสถานการณ์ของสังคมโดยรวม

'พิมพ์ภัทรา' ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ทดสอบฯ มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ด้าน 'ยานยนต์-ชิ้นส่วน'

(16 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ 

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสมัยมาเป็นรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงมีการสานต่อ พัฒนา และต่อยอด นโยบายได้เป็นอย่างดี โดยท่านนายกเศรษฐาก็ได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์สอบฯ แห่งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยางรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นในความสำเร็จของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน ขณะนี้ศูนย์ทดสอบอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2569 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบด้านมาตรฐานยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 55 ของวงเงินงบประมาณ โดยดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบแล้วเสร็จจำนวน 5 สนาม ได้แก่ 1) สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และทางวิ่ง 2) สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรกมือ / สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง / สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบพลวัต

ยังเหลือการก่อสร้างอีก 1 สนาม คือ สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์ สู่สนามทดสอบยางล้อ รวมทั้งก่อสร้างทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 และสถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ตลอดจนจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสาร เมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2566 - 2568 ซึ่งคาดว่าศูนย์แห่งนี้จะสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2569

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการดำเนินงานศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว จำนวน 18 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถบรรทุก เข็มขัดนิรภัย และกระจกนิรภัย เป็นต้น ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ แล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ลดระยะเวลาและช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ ไปทดสอบที่ต่างประเทศ 30 - 50% สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี เพิ่มปริมาณการผลิตและการแปรรูปยางพารา รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตยางล้อ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รองรับ MRA ของอาเซียนด้านยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อ ให้เป็น Super Cluster สู่อุตสาหกรรม 4.0 ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ประชาชนในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย นายวันชัยฯ กล่าว

‘ปตท.’ ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการ ระดับดีเลิศ 15 ปีซ้อน สะท้อนการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ ดีเลิศ (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ตราสัญลักษณ์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 และติดหนึ่งใน Top Quartile ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในโครงการสำรวจการกำกับการดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ประจำปี 2566 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 

ทั้งนี้ ปตท. ได้ผ่านหลักเกณฑ์ที่สำคัญด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงครอบคลุมทั้งในด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) สะท้อนการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศสู่การยอมรับในระดับสากล

ก.อุตฯ ผุด 8 มาตรการรองรับกระแส ‘ฮาลาล’ คาด!! ดัน GDP โต 2.0%

เทรนด์ ‘ฮาลาล’ กำลังมาแรง รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับกระแสนี้อยู่ไม่น้อย โดยได้ออกมาตรการ 8 ข้อเพื่อขับเคลื่อนอาหารฮาลาล หวังดันไทยสู่ศูนย์กลางการผลิต นอกจากนี้ยังเตรียมก่อตั้ง ‘กรมฮาลาล’ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลมาตรฐาน ประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยอีกด้วย

ส่วนมาตรการทั้ง 8 ข้อที่กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศออกมาจะมีอะไรบ้าง วันนี้ THE STATES TIMES สรุปรวมมาให้แล้ว มาดูกัน!!

17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 วันจดสิทธิบัตร ‘เมาส์’ ครั้งแรกของโลก โดย ‘ดร.ดักลาส อิงเกิลบาร์ต’ ชาวสหรัฐฯ

มีอุปกรณ์มากมายที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น ‘คอมพิวเตอร์’ แต่หนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น และเกิดมาคู่กัน นั่นคือ ‘เมาส์’

‘เมาส์’ ไม่ใช่ปาก แต่เมาส์ทำหน้าที่คล้าย ๆ ปาก คือคอยคลิกคำสั่งการ เพื่อให้โปรแกรมต่าง ๆ ปฏิบัติงานได้ตามใจเรา 

หากย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 53 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ถือเป็นวันที่มีการจดสิทธิบัตรเจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘เมาส์’ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

‘US3541541’ คือรหัสสิทธิบัตรของมัน แต่คงไม่จดจำเท่าที่มาของการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถูกเริ่มสร้างขึ้นมาในช่วงปี 1963 โดยนักประดิษฐ์ที่ชื่อ ดร. ดักลาส อิงเกิลบาร์ต ณ สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา

แรกเริ่มเดิมที มันถูกออกแบบเป็นเฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน และเคลื่อนที่ไปแบบ 2 มิติ ก่อนที่ต่อมาจะแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอล จึงทำให้สามารถหมุนไปได้รอบทิศทาง

‘เมาส์’ กลายเป็นอุปกรณ์ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกร่วมกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ และกลายเป็น ‘ของที่ต้องมี’ บนโต๊ะคอมพิวเตอร์ทุกบ้าน วันนี้เมาส์มีอายุ 53 ปี ก็สุดจะเดาว่าอนาคตข้างหน้า เมาส์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือไม่

มันอาจจะเป็นอะไรที่มากกว่าเมาส์ไปแล้วก็ได้เมื่อถึงวันนั้น

‘กระทรวงพาณิชย์’ ประกาศหมัดเด็ด ‘5 ด้าน’ ดันยอดส่งออกไทยปี 67 ทะลุ 10 ล้านล้าน

(16 พ.ย.66) ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำแผนการผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2567 โดยภายหลังการหารือ ที่ประชุมได้รับทราบการตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยปีหน้า

เบื้องต้น ประเมินว่า จะขยายตัว 1.99% หรือประมาณ 2% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นายภูมิธรรม ระบุว่า ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จะรักษารับการเติบโตในปีที่ผ่านมาให้เป็นบวกต่อไป หลังจากเห็นสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนน่าจะมาจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล น่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติมีความเสี่ยงเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศแผนการเร่งรัดการส่งออกของไทย โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้ 

1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ ควบคู่การรักษาตลาดเดิม 

โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 6 กิจกรรม 

พร้อมทั้งจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม เช่น แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก โมซัมบิก) จีน (กว่างซีจ้วง เจ้อเจียง ซานซี เฮยหลงเจียง ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน’ และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่าง ๆ 

2.ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก

โดยร่วมทำงานกับพาณิชย์จังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย 

รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs ‘พาณิชย์คู่คิด SMEs’ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก 

ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท 

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 

สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select, เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 

โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็นรัฐสนับสนุน โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน 

ส่วนแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 - 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น 

การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี 

ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ทั้ง การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแพลตฟอร์มพันธมิตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม 

โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศ

‘เกาหลีใต้’ หวั่น!! 20 ปีข้างหน้า ‘AI’ แย่งงาน 4 ล้านตำแหน่ง ‘นักเคมี-แพทย์-ทนายความ-บัญชี-ผู้จัดการทรัพย์สิน’ เสี่ยงสุด

(16 พ.ย.66) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างอิงผลการศึกษาของธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea) ที่ระบุว่า AI อาจเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานในเกาหลีใต้มากถึง 4 ล้านตำแหน่ง หรือ 14% ในอีก 20 ปีข้างหน้า ส่งผลต่อความกังวลของตลาดแรงงานทั่วโลก

นายโอ ซัมอิล (Oh Sam-il) ตัวแทนจากธนาคารกลางแห่งเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า นักเคมี แพทย์ ทนายความ นักบัญชี และผู้จัดการทรัพย์สิน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะถูกคุกคามมากที่สุด ในขณะที่ผู้เผยแพร่ศาสนา งานด้านบริการ การสอน และการร้องเพลง จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

“บุคคลที่มีรายได้สูงและวุฒิการศึกษาดีจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่มากขึ้น เนื่องจาก AI สามารถจัดการงานต่าง ๆ และวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว”

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของธนาคารกลางแห่งเกาหลีใต้ ยังระบุด้วยว่า AI จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ด้าน STEM หรือวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ เช่น การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของธนาคารกลางแห่งเกาหลีใต้ ยังสอดคล้องกับรายงานของ Goldman Sachs ในปีนี้ที่ประเมินว่า งานกว่า 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลกถูกแทรกแซงโดย Generative AI แม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ 7% ในระยะเวลา 10 ปีก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้หุ่นยนต์สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) แต่อันดับการใช้งาน AI ยังคงต่ำกว่าอีกหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ เป็นต้น 

'พีระพันธุ์' จ่อเสนอ นายกฯ รื้อระบบกองทุนน้ำมัน เข้าใจทุกข์ประชาชน เจอราคาไม่นิ่ง 'ขึ้น-ลง' เหมือนตลาดหุ้น

(16 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความกังวลประชาชนที่ห่วงว่า ราคาอาจจะกลับไปอยู่ที่ราคาเดิมแม้รัฐบาลจะประกาศปรับลดราคาน้ำมันลงมาถึง 2 บาท ว่า เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาซึ่งต้องเข้าใจผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเข้าใจประชาชนกับรัฐบาลด้วยคิดว่าราคาพลังงานตอนนี้ มันไม่ใช่หุ้นที่ปรับขึ้นลงทุกวินาที ปรับทุกวัน แต่ยอมรับว่า ราคาพลังงานโลกก็เป็นแบบเดียวกันมีขึ้นลงตามสถานการณ์ ตนเองคิดว่า จะให้ประชาชนมารับภาระราคาที่วิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวันแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องจึงควรต้องมีระบบมาวางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชน

ส่วนการปรับราคาขึ้นลงเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐจะต้องมาหารือกันจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่ว่า ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ แล้วรัฐก็คำนวณ และควบคุมไม่ได้ ตนเองจึงเห็นว่าเป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาแก้ไขปัญหานี้อยู่ จะทำยังไงให้ราคาซื้อขายน้ำมันที่ประชาชนซื้อจากปั๊มมีเสถียรภาพ มีราคาที่แน่นอน

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นลงประจำวันแต่ละวันแต่ละนาทีก็ให้เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการไปว่ากัน ซึ่งตนเองกำลังคิดระบบนี้อยู่เพื่อประชาชนไม่ต้องมาแบกรับเหมือนอย่างที่ทุกวันนี้ พร้อมย้ำว่าทั้งหมดต้องศึกษาโครงสร้างกันใหม่ โครงสร้างที่มีก็ใช้มา 30 ปี จึงถึงเวลาต้องปรับปรุง

"อย่างอื่นยังปรับปรุงได้แล้วเรื่องนี้ทำไมไม่ปรับปรุง เอะอะก็มาอ้างเรื่อง เรื่องการค้าเสรีแต่ประชาชนมีปัญหาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบนี้ก็อย่ามีรัฐจะดีกว่า ผมเห็นว่าควรจะมานั่งคิดระบบที่จะให้ประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยลงและปัญหาก็ให้เป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ"

ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุดเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนตนเองคิดเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันก็เห็นว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันประจำวันแบบนี้เหมือนราคาหุ้น แล้วกองทุนน้ำมันก็มานั่งประชุมกันทุกวันแบบนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย วัน ๆ มานั่งประชุมคิดแต่ว่าต้องปรับราคาขึ้นกี่สตางค์ งานก็มีตั้งเยอะ ไม่ใช่มานั่งคิดแต่เรื่องเดียว ซึ่งไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้องแบบนี้ต้องปรับปรุงแก้ไข

ขณะเดียวกันก็ได้รายงานปัญหาทั้งหมดให้กับนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ รวมถึงปัญหาเรื่องไหนบ้างที่ต้องแก้ไข ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็แสดงความคิดเห็นมา และก็สนับสนุนทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องที่ตนเองทำล้วนเป็นเรื่องที่ทำเพื่อประชาชนซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ว่าทุกอย่างต้องคิดด้วยความรอบคอบ มันไม่ใช่คิดแล้วทำทันที แต่ต้องเริ่มคิด เพราะประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่เคยมีระบบแบบนี้มานาน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เคยชินกับระบบแบบนี้ถ้าจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงก็ค่อย ๆ ดูรูปแบบว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จะให้นั่งเฉย ดูประชาชนเดือดร้อน ซึ่งแบบนี้ทำไม่ได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top