‘รร.อัสสัมชัญ’ จุดเริ่มต้นการแปรอักษรในงานกีฬาฯ สู่การสานต่อในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
(16 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘David Boonthawee’ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…
ภาพแรกการแปรอักษรในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2485 ในช่วงเวลาแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แร้นแค้นขาดแคลน สินค้าแทบทุกชนิดหายาก แม้แต่ผ้าตัดเสื้อ ดังนั้นเสื้อผ้าที่สวมใส่กันส่วนมากจึงมีอยู่ไม่กี่สี
วันหนึ่ง มาสเตอร์เฉิด สุดารา ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ สังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง แต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้านั่งกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาคนที่แต่งตัวเหมือน ๆ กัน มานั่งเป็นกลุ่มและจัดให้เป็นสัญลักษณ์อะไรก็คงจะทำได้
เวลานั้นโรงเรียนอัสสัมชัญมีการแต่งกายของนักเรียนอยู่ 2 แบบ คือ พวกที่เป็น ‘ยุวชนทหาร’ จะแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารสีเข้ม ส่วนพวกที่ไม่ได้เป็นยุวชนทหารก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อราชปะแตนสีขาว และใส่หมวกกะโล่สีขาวด้วย
เมื่อถึงการแข่งขันฟุตบอลรุ่นกลางนัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมโรงเรียนอัสสัมชัญ กับทีมโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
มาสเตอร์เฉิดจึงได้นำนักเรียนอัสสัมชัญที่แต่งชุด ‘สีขาว’ ไปรวมกันไว้ที่ตอนบนของอัฒจันทร์ก่อน แล้วค่อย ๆ นำนักเรียนลงมาทีละกลุ่ม จัดให้นั่งเรียงกัน โดยเว้นช่องว่างไว้บางส่วน
จากนั้นก็ให้พวกแต่งชุดยุวชนทหาร ‘สีเข้ม’ เข้าไปนั่งเติมเต็มในช่องว่าง
เมื่อมองจากด้านหน้าของอัฒจันทร์ ก็จะเห็นเป็นภาพตัวอักษร ‘อสช’ ขึ้นมาจากสีเสื้อยุวชนทหาร ซึ่งเป็นอักษรย่อของชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ
นั่นคือปรากฏการณ์ครั้งแรกของการแปรอักษรในประเทศไทย ที่เกิดจากการนำคนที่ใส่เสื้อต่างสี มานั่งเรียงกันเพื่อ ‘แปร’ ให้เป็น ‘ตัวอักษร’
เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงและตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก
จากนั้นการแปรอักษรก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จากสีเสื้อผ้า มาสู่การติดริบบิ้น แล้วใช้แผ่นกระดาษ จนกลายเป็น ‘เพลต’ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งมาถึงยุคที่ ‘ลงโค้ด’ ด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
การแปรอักษรมาถึงยุครุ่งเรืองสุดขีดเมื่อฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2507
และสานต่อด้วยการนำมาใช้ในฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’
ซึ่งผู้ที่นำการแปรอักษรไปเผยแพร่ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกก็คือ รศ.ดร. สุรพล สุดารา ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ บุตรชายของมาสเตอร์เฉิด สุดารา นั่นเอง
อาจารย์สุรพล ขณะนั้นเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำการแปรอักษรที่คิดค้นโดยบิดาตนเอง มาปรับใช้กับการเชียร์ฟุตบอลประเพณี
และนั่นเองที่ทำให้การแปรอักษรไม่ได้เป็นเพียงแค่การเชียร์สถาบันตนเองอีกต่อไป แต่ขยายพรมแดนไปถึงการสร้างความบันเทิงสนุกสนานให้แก่ผู้ชมด้วยอารมณ์ขัน การล้อเลียนเพื่อนต่างสถาบัน กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนถึงสถานการณ์ของสังคมโดยรวม