Friday, 5 July 2024
จตุรมิตร

คำขวัญ ‘สุภาพบุรุษจตุรมิตร’ จาก ‘อภิชาติ ดำดี’

(16 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘Apichat Dumdee’ โพสต์ข้อความระบุว่า..

#จตุรมิตรสามัคคี
#คำขวัญประจำโรงเรียน

สุภาพบุรุษจตุรมิตร

‘กรุงเทพคริสเตียน’ ใช้เตือนตัว ‘จงอย่าให้ความชั่วชนะได้’
พระคัมภีร์เก่าก่อนท่านสอนไว้ ‘ชนะความชั่วใดด้วยความดี’

‘สวนกุหลาบ’ สอนหลักเหล่านักสู้ ‘ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ’ ศรี
‘สุวิชาโน ภวํ โหติ’ นี้ คือวิถีพระราชดำริให้วิชา

‘อัสสัมชัญ’ สืบอยู่มิรู้สิ้น คำละตินปลุกใจให้แกร่งกล้า
ความวิริยะอุตสาหะจะนำมา ซึ่งความสำเร็จ สมปรารถนาทุกคราไป

‘เทพศิรินทร์’ ดีงามด้วยความเห็น ‘ไม่ควรเป็นคนรกโลก’ นั้นยิ่งใหญ่
มีคำขวัญเป็นพรเพื่อสอนใจ บาลีใช้ ‘น สิยา โลกวฑฺฒโน’

สุภาพบุรุษทั้งสี่ครองชีวิต ด้วยหลักคิดสืบสานมานานโข
อยู่เหนือกาลเวลาอกาลิโก จึงเติบโตครองตนเป็นคนดี

กรุงเทพคริสเตียน-สวนกุหลาบ-อัสสัมชัญ เทพศิรินทร์มิ่งขวัญพระทรงศรี
สืบสานงานจตุรมิตรสามัคคี สืบวิถีสุภาพบุรุษจตุรมิตร…

อภิชาติ ดำดี
OSK96 ส.ก.19779
14 พ.ย. 2566

*อ.David Boonthawee รุ่นน้องธรรมศาสตร์ อัสสัมชัญนิก หนึ่งในจตุรมิตรสามัคคี ได้เขียนถึงคำขวัญประจำโรงเรียนอันเป็นหลักคิดของประชาคมทั้งสี่สถาบัน แล้วชวนให้ผมนำเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทกวี สวนกุหลาบจึงรับคำชวนจากอัสสัมชัญ ร่วมขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเรื่องนี้ด้วยความยินดียิ่ง และต่อไปนี้คือข้อเขียนของ อ.เดวิด บุญทวี อันเป็นสารตั้งต้นของบทกวี ‘สุภาพบุรุษจตุรมิตร’

ผมชอบคำขวัญของโรงเรียน ‘จตุรมิตร’ ทั้ง 4 คำขวัญนี้มาก 

ทั้งหมดมีที่มาจากพระคัมภีร์ ภาษาบาลี และภาษาละติน 

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หากนำทั้งหมดมาเรียงร้อยกัน เราจะได้หลักการครองตนและดำเนินชีวิตที่สุดประเสริฐ 

กระทั่งยังทำให้เห็นถึงรากเหง้าและปรัชญาแห่งการก่อกำเนิดของทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งหยั่งลึกแข็งแรงมั่นคงมายาวนานนับร้อยปี 

ทั้งหลายเหล่านี้นำมาสู่สมญานามอันน่าภาคภูมิใจว่า ‘สุภาพบุรุษจตุรมิตร’

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2395 (ปัจจุบันอายุ 171 ปี)
คำขวัญ : อย่าให้ความชั่วชนะเราได้ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี (โรม 12:21)

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2425 (ปัจจุบันอายุ 141 ปี)
คำขวัญ : สุวิชาโน ภวํ โหติ - ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ

โรงเรียนอัสสัมชัญ 
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2428 (ปัจจุบันอายุ 138 ปี)
คำขวัญ : LABOR OMNIA VINCIT - ความวิริยะอุตสาหะ นำมาซึ่งความสำเร็จ

โรงเรียนเทพศิรินทร์
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2428 (ปัจจุบันอายุ 138 ปี)
คำขวัญ : น สิยา โลกวฑฺฒโน - ไม่ควรเป็นคนรกโลก

ในฐานะที่เป็น ‘เด็กอัสสัม’ จะขอเล่าประวัติสั้น ๆ ของโรงเรียน ซึ่งพาดพิงถึงเรื่องการแปรอักษรไว้ด้วย ส่วนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ จากอีกสามโรงเรียน ก็ขอเรียนเชิญมาเติมประวัติของโรงเรียนตัวเองได้ตามสะดวกครับ 

โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นผู้บุกเบิกการแปรอักษรที่ใช้ในการเชียร์ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวคิดของมาสเตอร์เฉิด สุดารา จนในเวลาต่อมา ก็ได้มีการเผยแพร่ไปสู่การแปรอักษรทั้งในงานจตุรมิตรสามัคคี และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

เป็นโรงเรียนชายที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย (ต่อจากกรุงเทพคริสเตียนและสวนกุหลาบ) และเป็นโรงเรียนโรมันคาทอลิกแห่งแรกของประเทศไทย 

มีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 5 หมื่นคน 

คนที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญจะใช้คำว่า ‘อัสสัมชนิก’ (เป็นคำแปลเทียบเสียงมาจากคำว่า Assumptionist ทั้งสองคำบัญญัติโดย เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ มีความหมายว่า ‘ชาวอัสสัมชัญ’ จริง ๆ แล้วคำนี้มีความหมายกว้างขวางมากกว่าแค่ศิษย์เก่า แต่ยังรวมถึงภราดา ครู พนักงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน) 

ศิษย์เก่าจำนวนมากของอัสสัมชัญเป็นผู้ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ อาทิ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 คน, องคมนตรี 15 คน, นายกรัฐมนตรี 4 คน, พระ ศิลปิน ผู้บริหารและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารองค์กรภาครัฐที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

จากการจัดอันดับ ‘มหาเศรษฐีในไทยประจำปี 2016’ ของฟอร์บส์ประเทศไทย เฉพาะใน 10 อันดับแรก มีศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ติดอันดับรวม 3 อันดับ

มือจับกันไว้ อย่าให้ใครมาคอยยุแหย่ สิ่งแน่แท้ มิตรภาพจงยั่งยืน

'ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์' ไม่ทน!! ร้องสอบจริยธรรม 2 สส.ก้าวไกล-แก๊งสามนิ้ว ปั่น!! #เลิกบังคับแปรอักษร สร้างความแตกแยกสามัคคี 'จตุรมิตรสามัคคี'

(16 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร ผู้ร้องเรียน และนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำซึ่งอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ กับ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กว่าจะมีศิษย์จากโรงเรียนจตุรมิตรไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่รัฐสภา เรื่องการบังคับขึ้นสแตนแปรอักษรโดยไม่สมัครใจ จากนั้นได้มีการแพร่ภาพผ่านสื่อและมีข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร โดยมี น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล เป็นผู้แถลงข่าวว่า กมธ.ได้รับข้อมูลจากกลุ่มศิษย์เก่า รร.เทพศิรินทร์ และ รร.สวนกุหลาบ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากกิจกรรม ‘จตุรมิตรสามัคคี’ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีของโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ 4 โรงเรียน คือ รร.เทพศิรินทร์ รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย รร.กรุงเทพคริสเตียน และ รร.อัสสัมชัญ โดยมีชายจำนวน 2 คน อ้างว่าเป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนในเครือจตุรมิตร เป็นผู้ยื่นหนังสือ

ดร.ทันกวินท์ กล่าวต่อว่า ตามข้อบังคับประมวลจริยธรรม พ.ศ. 2563 ได้บัญญัติอุดมคติของการเป็นสมาชิกและกรรมาธิการ รวมถึงจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ที่วางไว้ โดยผู้ร้องเรียนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบข่าวกรณีที่มีบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ประชาคมจตุรมิตรไปแสดงข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร บริเวณหน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ และสนามกีฬาแห่งชาติ สนามศุภชลาศัยแล้ว เห็นว่าการกระทำของบุคคลทั้งสามมีความสอดคล้องกับการกระทำของบุคคลภายนอก แถมมีการนัดหมาย ร่วมกัน วางแผน เพื่อให้เกิดประเด็นข่าวซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และอาจนำไปสู่การแตกความสามัคคียิ่งเป็นการบั่นทอนอุดมการณ์อันสำคัญของการจัดการแข่งจตุรมิตรสามัคคี

ทั้งนี้ เห็นว่าการกระทำของ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 กรุงเทพฯ และโฆษกกรรมาธิการการศึกษาฯ รวมถึงบุคคลตามภาพการแถลงข่าวของกรรมาธิการการศึกษาฯ เป็นการกระทำซึ่งขัดต่อข้อ 8 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 18 และข้อ 22 ของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ จึงเรียกร้องให้ตรวจสอบการกระทำของบุคคลทั้งสามและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อโปรดพิจารณาส่งเรื่องคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘รร.อัสสัมชัญ’ จุดเริ่มต้นการแปรอักษรในงานกีฬาฯ สู่การสานต่อในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

(16 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘David Boonthawee’ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ภาพแรกการแปรอักษรในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2485 ในช่วงเวลาแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แร้นแค้นขาดแคลน สินค้าแทบทุกชนิดหายาก แม้แต่ผ้าตัดเสื้อ ดังนั้นเสื้อผ้าที่สวมใส่กันส่วนมากจึงมีอยู่ไม่กี่สี

วันหนึ่ง มาสเตอร์เฉิด สุดารา ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ สังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง แต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้านั่งกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาคนที่แต่งตัวเหมือน ๆ กัน มานั่งเป็นกลุ่มและจัดให้เป็นสัญลักษณ์อะไรก็คงจะทำได้ 

เวลานั้นโรงเรียนอัสสัมชัญมีการแต่งกายของนักเรียนอยู่ 2 แบบ คือ พวกที่เป็น ‘ยุวชนทหาร’ จะแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารสีเข้ม ส่วนพวกที่ไม่ได้เป็นยุวชนทหารก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อราชปะแตนสีขาว และใส่หมวกกะโล่สีขาวด้วย 

เมื่อถึงการแข่งขันฟุตบอลรุ่นกลางนัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมโรงเรียนอัสสัมชัญ กับทีมโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

มาสเตอร์เฉิดจึงได้นำนักเรียนอัสสัมชัญที่แต่งชุด ‘สีขาว’ ไปรวมกันไว้ที่ตอนบนของอัฒจันทร์ก่อน แล้วค่อย ๆ นำนักเรียนลงมาทีละกลุ่ม จัดให้นั่งเรียงกัน โดยเว้นช่องว่างไว้บางส่วน 

จากนั้นก็ให้พวกแต่งชุดยุวชนทหาร ‘สีเข้ม’ เข้าไปนั่งเติมเต็มในช่องว่าง 

เมื่อมองจากด้านหน้าของอัฒจันทร์ ก็จะเห็นเป็นภาพตัวอักษร ‘อสช’ ขึ้นมาจากสีเสื้อยุวชนทหาร ซึ่งเป็นอักษรย่อของชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ 

นั่นคือปรากฏการณ์ครั้งแรกของการแปรอักษรในประเทศไทย ที่เกิดจากการนำคนที่ใส่เสื้อต่างสี มานั่งเรียงกันเพื่อ ‘แปร’ ให้เป็น ‘ตัวอักษร’

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงและตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก

จากนั้นการแปรอักษรก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จากสีเสื้อผ้า มาสู่การติดริบบิ้น แล้วใช้แผ่นกระดาษ จนกลายเป็น ‘เพลต’ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งมาถึงยุคที่ ‘ลงโค้ด’ ด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน 

การแปรอักษรมาถึงยุครุ่งเรืองสุดขีดเมื่อฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2507 
และสานต่อด้วยการนำมาใช้ในฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’

ซึ่งผู้ที่นำการแปรอักษรไปเผยแพร่ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกก็คือ รศ.ดร. สุรพล สุดารา ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ บุตรชายของมาสเตอร์เฉิด สุดารา นั่นเอง

อาจารย์สุรพล ขณะนั้นเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำการแปรอักษรที่คิดค้นโดยบิดาตนเอง มาปรับใช้กับการเชียร์ฟุตบอลประเพณี

และนั่นเองที่ทำให้การแปรอักษรไม่ได้เป็นเพียงแค่การเชียร์สถาบันตนเองอีกต่อไป แต่ขยายพรมแดนไปถึงการสร้างความบันเทิงสนุกสนานให้แก่ผู้ชมด้วยอารมณ์ขัน การล้อเลียนเพื่อนต่างสถาบัน กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนถึงสถานการณ์ของสังคมโดยรวม

‘เพจดัง’ เปิดภาพพร้อมข้อความหลังเสื้อ ที่น้องๆ สวนกุหลาบฝากถึง ‘คนค้านแปรอักษร’

(19 พ.ย.66) เพจดังการเมือง ‘ปราชญ์ สามสี’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "น้องสวนกุหลาบ #จตุรมิตร เขาบอกแล้วนะ #ก้าวไกล #อย่าเxือกเรื่องแปรอักษร" พร้อมภาพที่น้องๆ สวนกุหลาบ ชูเสื้อที่มีข้อความว่า "อย่าเxือก..!! เรื่องแปรอักษร ของพวกกู"
 

'อ.เดวิด' ชี้!! คุณค่ายาวนานแห่ง 'จตุรมิตร-การร่วมทำงานแปรอักษร' หล่อหลอม 'สังคม-คน' คุณภาพ ยากที่ความแตกแยกจะแทรกแซง

(20 พ.ย. 66) อ.เดวิด บุญทวี นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'David Boonthawee' ระบุว่า...

เห็นภาพนี้แล้วก็นึกถึงสมัยตัวเองเรียนมอปลายนะครับ เคยมีสภาพอย่างที่เห็น 

สมัยผมเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ผมขึ้นสแตนด์แปรอักษรจตุรมิตรตั้งแต่ ป.6 จนถึง ม.3 ขึ้นทุกปี ก่อนที่จะมีการปรับให้เฉพาะนักเรียนมัธยมเป็นผู้ขึ้นแปรอักษร พร้อม ๆ กับเปลี่ยนการจัดงานจากทุกปี เป็น 2 ปีครั้ง ตั้งแต่ปี 2530

ตอนแปรอักษรนี่ผมหยิบขนมกินตลอดนะครับ อาหารน้ำท่าที่โรงเรียนจัดให้นี่บริบูรณ์มาก ไม่นับที่พ่อแม่ให้มาอีก แถมตลอดการแปรอักษรก็คุยเฮฮาบ้าบอกับเพื่อน ๆ จนรุ่นน้องที่นั่งอยู่แถวถัดๆ ไปหัวเราะตามกันเป็นที่ครึ้นเครง

ไม่มีใครมาดุด้วยนะครับ ขอให้แปรไม่ผิดเป็นใช้ได้ แต่ถึงแปรผิด ก็จะถูกตักเตือนเบา ๆ จากรุ่นพี่หน้าสแตนด์ แค่นั้นก็สะดุ้งโหยงแล้วครับ ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะไม่มีใครอยากทำผิดพลาด 

พอขึ้นมอปลาย ก็ไปช่วยเพื่อนเตรียมงานแปรอักษร ไปเองนะครับ ไม่มีใครบังคับ เพื่อน ๆ ที่เป็นทีมงานตัวจริงก็อาสากันเองทั้งนั้น 

ผมจำได้ว่าต้องขนเพลท ขนข้าวของสารพัดไปที่สนาม ถึงผมจะไม่ได้อยู่ค้างคืนเหมือนหลาย ๆ คน แต่กลับถึงบ้านก็สลบเหมือด

วันรุ่งขึ้นก็ไปสนามแต่เช้าเพื่อช่วยงานแปรอักษรต่อ ก่อนจะมาขึ้นอัฒจันทร์ด้านมีหลังคาช่วงบ่าย เพื่อเป็นหน่วยสนับสนุนและรอเชียร์ฟุตบอล 

ปีที่ผมเล่าให้ฟังนี้ อัสสัมชัญได้แชมป์ครั้งแรกร่วมกับสวนกุหลาบ ก่อนจะได้แชมป์เดี่ยวตามมาอีกหลายครั้ง สลับ ๆ กับเพื่อน ๆ อีก 3 โรงเรียนนั่นแหละครับ 

ย้อนกลับมาที่ภาพที่โพสต์ให้ดู 

อันนี้คือล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปนี้เองนะครับ เป็นภาพนักเรียนมอปลายโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ใต้ถุนอัฒจันทร์ สนามศุภชลาศัย 

ภาพแบบนี้มีให้เห็นทั้ง 4 โรงเรียนจนเป็นเรื่องชินตาของพวกเรา 

น้อง ๆ ทุกโรงเรียนช่วยกันทำงานอย่างทุ่มเท ไม่มีใครมานั่งเกี่ยงงอน เรื่องมาก บ้า ๆ บอ ๆ ปัญญาอ่อน อ้างนั่นอ้างนี่หรอกนะครับ

ทุกคนประกาศความเป็น ‘คนจริง’ ของตัวเองผ่านการทำงาน ด้วยความเพียร ความรับผิดชอบ ความเสียสละ ความเหน็ดเหนื่อย 

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้มาจากการอบรมบ่มเพาะของครูบาอาจารย์ชั้นยอด ความร่วมมือร่วมใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง บวกกับความรักในสถาบัน ความรักในมิตรภาพของพี่น้องจตุรมิตรทั้ง 4 โรงเรียน  

ไม่มีใครประกาศตัวตนผ่านการสร้างความแตกแยก หรือต้อง ‘โกหก’ หรอกนะครับ มีแต่ลงมือทำกันจริง ๆ จัง ๆ ให้ปรากฏเป็นผลงาน แล้วผลงานทุกอย่างก็จะประกาศตัวมันเองให้โลกรับรู้ 

ยังไม่ต้องพูดว่า แต่ละคนที่ขึ้นแปรอักษรหรือทำงานเบื้องหลัง ล้วนมีประจักษ์พยานปรากฏรับรองกันทั้งนั้น ไม่ใช่พูดอะไรที ก็หาใครมายืนยันอะไรไม่ได้ 

เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนจะมี ‘เรื่องเล่า’ อันน่าจดจำและภาคภูมิใจ และไม่มีใครจะพรากมันไปได้ 

เชื่อผมเถอะครับ ทุกคนจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคของชีวิตจริงได้ไม่ยาก 

สนามของจตุรมิตร สนามของการทำงานแปรอักษรทั้งกระบวนการ มันหล่อหลอมขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ 

ยังไม่นับความรัก ความสนิทสนมกลมเกลียวที่แต่ละคนมีให้กัน ทั้งกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนตัวเอง และกับพี่น้องโรงเรียนมิตรสหาย

มันคือสายสัมพันธ์หรือ ‘คอนเนกชั่น’ ที่เกิดขึ้นเองจากประสบการณ์ร่วม ที่ทุกคนแค่มองตาก็รู้ถึงหัวจิตหัวใจกันแล้ว และเป็นไปเองโดยธรรมชาติ 

เพราะฉะนั้นมันจึงงดงามครับ

เพื่อนช่วยยัน!! ‘พิธา’ ขึ้นแปรอักษรงานจตุรมิตรจริง ส่วนที่ไปเมืองนอก 11 ขวบ คือไปเรียนแบบซัมเมอร์

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 66 อดีตหัวหน้าห้องช่วยยืนยัน ‘พิธา’ ขึ้นแปรอักษรจริง เช็กชื่อทุกเช้า ส่วนไปเรียนเมืองนอกตอน 11 ขวบ เป็นแบบไปซัมเมอร์ เข้าแคมป์ช่วงปิดเทอม พอพร้อมค่อยไปเรียนต่อเต็มรูปแบบ วอนแยกแยะจบดรามา

จากกรณีดรามาเพจดังจับโป๊ะ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่าได้ขึ้นแปรอักษร 2 ครั้ง สมัยเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แต่เมื่อย้อนไปดูเทปที่เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าไปเรียนต่อนิวซีแลนด์ตั้งแต่ 11 ขวบ จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะได้ขึ้นแปรอักษร กระทั่งมีภาพยืนยันว่าความจริงแล้วนายพิธา ยังเรียน ม.3 ที่กรุงเทพคริสเตียน จึงถูกตั้งคำถามว่าแล้วจะพูดเท็จเรื่องไปเรียนต่อตั้งแต่อายุ 11 ขวบเพื่ออะไร

ล่าสุด ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า ‘Orio Piriyawat’ ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุว่า…

“ในฐานะ อดีตหัวหน้าห้อง ม.2 ห้อง 25 กับ ม.3 ห้อง 35 ผม ‘โอ’ (เพื่อนเรียก ‘เตี้ย’) กท.22718 ‘ทิม พิธา’ เรียนอยู่กับผม ขึ้นแปรอักษรร่วมกัน เป็น BCC145 ตลอดกาล ผมเช็กชื่อนับจํานวนนักเรียนทุกเช้า ประเด็นเรื่องไปเรียนต่อเมืองนอกทับซ้อน โกหก ขออธิบายตรงนี้ เขาไปเรียนจริงแต่เป็นแบบไปเรียนซัมเมอร์ เข้าแคมป์ ตามประสา ปิดเทอม จนพร้อมก็ไปเรียนต่อต่างประเทศเต็มรูปแบบ ดังนั้น แยกแยะนะครับ จบดรามานะครับ #bcc145”

กิจกรรม ‘แปรอักษรจตุรมิตร’ ‘ความภูมิใจ’ สู่กระแสเรียกร้องให้ ‘ยกเลิก’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11-18 พ.ย. 2566 ได้มีการแข่งขันฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ซึ่งเป็นประเพณีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ทั้ง 4 โรงเรียนของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยจะจัดขึ้นประทุก 2 ปี ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ 

นอกจากการแข่งขันฟุตบอลแล้ว ยังมีกิจกรรมร้องเพลงเชียร์ที่ถือเป็นการเพิ่มสีสันและบรรยากาศสนุกสนานให้กับงานแข่งขันด้วย และอีกไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้ก็คือ ‘การแปรอักษร’ ของทั้ง 4 สถาบัน ที่ถูกวางแผนและตั้งใจฝึกซ้อมกันมาอย่างดี จนออกมาเป็นภาพที่ประทับใจ 

สำหรับจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ปี 2566 ก็จะมีหลากหลายภาพที่น่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นภาพสรรเสริญในหลวงกับพระราชินี ให้กำลังใจหมอกฤตไท หรือเป็นศิลปินท่านอื่น ๆ ให้ได้ชมและยิ้มตามกัน

แต่ทว่า งานจตุรมิตรสามัคคีปี 2566 กลับกลายเป็นประเด็นดรามาร้อน หลังมีศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ เดินแปะข้อความ “เลิกบังคับแปรอักษร” ตั้งแต่หน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ไปจนถึงบริเวณโดยรอบสนามศุภชลาศัย ก่อนจะลุกลามเข้าไปในโลกโซเชียลและกลายเป็นดรามาเดือดถึงขั้นติดแฮชแท็ก #เลิกบังคับแปรอักษร บนโลกทวิตเตอร์ (X) ซึ่งมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และเสียงก็แตกออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยว่านักเรียนที่ร่วมงานจตุรมิตรถูกลิดรอนสิทธิมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไปเข้าห้องน้ำ ต้องปลดทุกข์ใส่ขวดแทน รวมถึงการแปรอักษรที่จะมีคะแนนจิตพิสัยให้อีกต่างหาก

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการโรงเรียนในเครือจตุรมิตรในฐานะผู้จัดงานเกิดขึ้นว่าควร ‘ปรับปรุง’ การจัดงาน เช่น เพิ่มเวลาพักให้ชัดเจน เพื่อให้มีเวลากินข้าว พักเข้าห้องน้ำหรือหลบแดด และการขึ้นเชียร์หรือแปรอักษรควรเป็นไปตามความสมัครใจมากกว่าการบังคับกัน

ขณะเดียวกันอีกฝ่ายที่เป็นศิษย์เก่า หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เห็นต่าง ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งไปยังกลุ่มที่ต้องการให้เลิกบังคับแปรอักษร โดยชี้ว่างาน ‘จตุรมิตร’ มาพร้อมกับกิจกรรมแปรอักษร ซึ่งถ้าไม่มีกิจกรรมดังกล่าวก็คงไม่มีงานจตุรมิตร อีกทั้ง เป็นเรื่องที่ทำกันมาจนเป็นประเพณี ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมีความภูมิใจอย่างยิ่ง 

ทางด้าน ‘วัน อยู่บำรุง’ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย และศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า..“การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตร ‘การแปรอักษร’ คือความภาคภูมิใจของนักเรียน อาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้ปกครอง ทั้ง 4 โรงเรียน” 

เช่นเดียวกัน ‘ดู๋ สัญญา คุณากร’ พิธีกรชื่อดัง และเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ ระบุว่า…“คุณไม่เคยรับรู้ถึงเกียรติภูมิของโรงเรียน ความอดทน ความเสียสละ การภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ที่จะสร้างเยาวชนที่มีเกียรติ มีรากเหง้า มีกำลังสติปัญญา และมีความเป็นมนุษย์ …ทั้งหมดต้องถูกหล่อหลอมโดยหลายช่องทาง หลายกิจกรรม มีทั้งยากและง่าย เหน็ดเหนื่อยและลำบาก” กล่าว

แต่ดูเหมือนว่า กระแสเรียกร้อง ‘ยกเลิกแปรอักษร’ จะเป็นเพียงอีเวนต์เล็ก ๆ ชั่วคราวของคนเพียงแค่ไม่กี่คน เพราะเมื่อการแข่งขันฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ครั้งที่ 30 จบลง เสียงเรียกร้องก็เงียบหายไป ตรงข้ามกับความภาคภูมิใจของ ‘ชาวจตุรมิตร’ ที่ยังคงอยู่ และจะอยู่ตลอดไปตลอดกาล

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top