คำขวัญ ‘สุภาพบุรุษจตุรมิตร’ จาก ‘อภิชาติ ดำดี’
(16 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘Apichat Dumdee’ โพสต์ข้อความระบุว่า..
#จตุรมิตรสามัคคี
#คำขวัญประจำโรงเรียน
สุภาพบุรุษจตุรมิตร
‘กรุงเทพคริสเตียน’ ใช้เตือนตัว ‘จงอย่าให้ความชั่วชนะได้’
พระคัมภีร์เก่าก่อนท่านสอนไว้ ‘ชนะความชั่วใดด้วยความดี’
‘สวนกุหลาบ’ สอนหลักเหล่านักสู้ ‘ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ’ ศรี
‘สุวิชาโน ภวํ โหติ’ นี้ คือวิถีพระราชดำริให้วิชา
‘อัสสัมชัญ’ สืบอยู่มิรู้สิ้น คำละตินปลุกใจให้แกร่งกล้า
ความวิริยะอุตสาหะจะนำมา ซึ่งความสำเร็จ สมปรารถนาทุกคราไป
‘เทพศิรินทร์’ ดีงามด้วยความเห็น ‘ไม่ควรเป็นคนรกโลก’ นั้นยิ่งใหญ่
มีคำขวัญเป็นพรเพื่อสอนใจ บาลีใช้ ‘น สิยา โลกวฑฺฒโน’
สุภาพบุรุษทั้งสี่ครองชีวิต ด้วยหลักคิดสืบสานมานานโข
อยู่เหนือกาลเวลาอกาลิโก จึงเติบโตครองตนเป็นคนดี
กรุงเทพคริสเตียน-สวนกุหลาบ-อัสสัมชัญ เทพศิรินทร์มิ่งขวัญพระทรงศรี
สืบสานงานจตุรมิตรสามัคคี สืบวิถีสุภาพบุรุษจตุรมิตร…
อภิชาติ ดำดี
OSK96 ส.ก.19779
14 พ.ย. 2566
*อ.David Boonthawee รุ่นน้องธรรมศาสตร์ อัสสัมชัญนิก หนึ่งในจตุรมิตรสามัคคี ได้เขียนถึงคำขวัญประจำโรงเรียนอันเป็นหลักคิดของประชาคมทั้งสี่สถาบัน แล้วชวนให้ผมนำเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทกวี สวนกุหลาบจึงรับคำชวนจากอัสสัมชัญ ร่วมขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเรื่องนี้ด้วยความยินดียิ่ง และต่อไปนี้คือข้อเขียนของ อ.เดวิด บุญทวี อันเป็นสารตั้งต้นของบทกวี ‘สุภาพบุรุษจตุรมิตร’
ผมชอบคำขวัญของโรงเรียน ‘จตุรมิตร’ ทั้ง 4 คำขวัญนี้มาก
ทั้งหมดมีที่มาจากพระคัมภีร์ ภาษาบาลี และภาษาละติน
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หากนำทั้งหมดมาเรียงร้อยกัน เราจะได้หลักการครองตนและดำเนินชีวิตที่สุดประเสริฐ
กระทั่งยังทำให้เห็นถึงรากเหง้าและปรัชญาแห่งการก่อกำเนิดของทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งหยั่งลึกแข็งแรงมั่นคงมายาวนานนับร้อยปี
ทั้งหลายเหล่านี้นำมาสู่สมญานามอันน่าภาคภูมิใจว่า ‘สุภาพบุรุษจตุรมิตร’
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2395 (ปัจจุบันอายุ 171 ปี)
คำขวัญ : อย่าให้ความชั่วชนะเราได้ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี (โรม 12:21)
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2425 (ปัจจุบันอายุ 141 ปี)
คำขวัญ : สุวิชาโน ภวํ โหติ - ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ
โรงเรียนอัสสัมชัญ
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2428 (ปัจจุบันอายุ 138 ปี)
คำขวัญ : LABOR OMNIA VINCIT - ความวิริยะอุตสาหะ นำมาซึ่งความสำเร็จ
โรงเรียนเทพศิรินทร์
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2428 (ปัจจุบันอายุ 138 ปี)
คำขวัญ : น สิยา โลกวฑฺฒโน - ไม่ควรเป็นคนรกโลก
ในฐานะที่เป็น ‘เด็กอัสสัม’ จะขอเล่าประวัติสั้น ๆ ของโรงเรียน ซึ่งพาดพิงถึงเรื่องการแปรอักษรไว้ด้วย ส่วนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ จากอีกสามโรงเรียน ก็ขอเรียนเชิญมาเติมประวัติของโรงเรียนตัวเองได้ตามสะดวกครับ
โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นผู้บุกเบิกการแปรอักษรที่ใช้ในการเชียร์ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวคิดของมาสเตอร์เฉิด สุดารา จนในเวลาต่อมา ก็ได้มีการเผยแพร่ไปสู่การแปรอักษรทั้งในงานจตุรมิตรสามัคคี และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
เป็นโรงเรียนชายที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย (ต่อจากกรุงเทพคริสเตียนและสวนกุหลาบ) และเป็นโรงเรียนโรมันคาทอลิกแห่งแรกของประเทศไทย
มีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 5 หมื่นคน
คนที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญจะใช้คำว่า ‘อัสสัมชนิก’ (เป็นคำแปลเทียบเสียงมาจากคำว่า Assumptionist ทั้งสองคำบัญญัติโดย เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ มีความหมายว่า ‘ชาวอัสสัมชัญ’ จริง ๆ แล้วคำนี้มีความหมายกว้างขวางมากกว่าแค่ศิษย์เก่า แต่ยังรวมถึงภราดา ครู พนักงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน)
ศิษย์เก่าจำนวนมากของอัสสัมชัญเป็นผู้ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ อาทิ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 คน, องคมนตรี 15 คน, นายกรัฐมนตรี 4 คน, พระ ศิลปิน ผู้บริหารและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารองค์กรภาครัฐที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
จากการจัดอันดับ ‘มหาเศรษฐีในไทยประจำปี 2016’ ของฟอร์บส์ประเทศไทย เฉพาะใน 10 อันดับแรก มีศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ติดอันดับรวม 3 อันดับ
มือจับกันไว้ อย่าให้ใครมาคอยยุแหย่ สิ่งแน่แท้ มิตรภาพจงยั่งยืน