Thursday, 24 April 2025
โรงเรียนอัสสัมชัญ

‘บิ๊กตู่’ ปูทาง!! สร้างเด็กไทย ก้าวทันทิศทางโลก ผุดแหล่งบ่มเพาะวิทยาการแห่งอนาคตใน EEC

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ เช้าวันนี้ (27 ก.ค. 65) ผมได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับคณะผู้บริหารและนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการประกวดแข่งขันประดิษฐ์ดาวเทียมจำลองขนาดจิ๋ว (CanSat Competition 2022) ที่เป็นรายการระดับโลก ได้รับรางวัล 2 ทีม คือ ทีม Descendere คว้ารางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 และทีม Gravity ได้อันดับที่ 7 จากผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 49 ทีม ทั่วโลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นับว่าสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับโลก และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน

ผมเชื่อว่าความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากความสามารถในการตกผลึกความรู้จากตำรา ในห้องเรียน หรือห้องปฏิบัติการ มาประยุกต์ ดัดแปลง สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในโลกแล้ว การทำงานเป็นทีม ที่สมาชิกมาจากหลากหลายทักษะความเชี่ยวชาญก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก เพื่อให้บรรลุภารกิจและเป้าหมายเดียวกันได้ โดยการประดิษฐ์ดาวเทียมจำลองขนาดจิ๋วนี้ ทราบว่าจะต้องอาศัยหลักการทำงานทาง Mechanic, Electronic และ Programming ที่ใช้หลัก Coding ชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ด้วย ในขณะเดียวกัน ผมก็ขอยกเครดิตให้ครูผู้สอน ครูที่ปรึกษา ที่ช่วยผลักดันความสำเร็จดังกล่าว เพราะศิษย์จะดีได้ ก็ต้องมีครูดีด้วย ตลอดจนครอบครัวที่คอยส่งเสริม ให้กำลังใจอยู่เบื้องหลัง

‘นร.อัสสัมชัญ’ แชร์ความรู้สึกหลังร่วมแปรอักษร แม้อากาศร้อน-แดดแรง แต่ภูมิใจที่ได้ทำเพื่อโรงเรียน

เมื่อวานนี้ (12 พ.ย. 66) เพจ ‘Assumption College • โรงเรียนอัสสัมชัญ’ ได้โพสต์ข้อความความรู้สึกของเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณี 'จตุรมิตรสามัคคี' ระบุว่า…

บางอารมณ์จากความรู้สึกของการร่วมแปรอักษรฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ของเด็กอัสสัมชัญ

"สนุกมากครับ ถึงจะเหนื่อย เเต่ถ้ามาทำเพื่อโรงเรียน ไม่ว่าจะเเปลอักษร ร้องเพลงเชียร์ ผมพร้อมหมดครับ เพราะผมภูมิใจในความเป็นอัสสัมครับ หลังจากนี้จะทำเพื่อโรงเรียนต่อไป"
ภัทรพล หังสพฤกษ์ ม.3/1

"แปรอักษรสนุกดี แต่วันนี้อากาศร้อน เป็นประสบการณ์ที่ต้องกินข้าวบนสแตนด์แปรอักษร แต่โดยรวมสนุกมากครับ ผมนั่งเกือบริมที่อยู่ใกล้เพื่อน ๆ จากโรงเรียนเทพศิรินทร์"
ปัณณเชษฐ์ สุรสรณเศรษฐ์ ม.3/7

"ผมนั่งสแตนด์ส่วนของสำรอง โดนแดดเผาจนผิว แต่ได้ร่วมตะโกนร้องเพลงเชียร์พี่ ๆ น้องฟุตบอล ก็รู้สึกดีมากครับ"
ชัยพฤกษ์  ปัญญาใส ม.2/4

"ผมบอกเลยว่ามันเป็นการเชียร์และแปรอักษรที่สนุก ผมร้องเพลงแบบสุดเสียง แต่ก็มีช่วงที่ท้อแท้ เพราะต้องทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แต่ก็เป็นช่วงเวลาในชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับผมแล้วครับ"
ภัทรพล เจริญบุตร ม.1/5

‘รร.อัสสัมชัญ’ จุดเริ่มต้นการแปรอักษรในงานกีฬาฯ สู่การสานต่อในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

(16 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘David Boonthawee’ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ภาพแรกการแปรอักษรในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2485 ในช่วงเวลาแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แร้นแค้นขาดแคลน สินค้าแทบทุกชนิดหายาก แม้แต่ผ้าตัดเสื้อ ดังนั้นเสื้อผ้าที่สวมใส่กันส่วนมากจึงมีอยู่ไม่กี่สี

วันหนึ่ง มาสเตอร์เฉิด สุดารา ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ สังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง แต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้านั่งกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาคนที่แต่งตัวเหมือน ๆ กัน มานั่งเป็นกลุ่มและจัดให้เป็นสัญลักษณ์อะไรก็คงจะทำได้ 

เวลานั้นโรงเรียนอัสสัมชัญมีการแต่งกายของนักเรียนอยู่ 2 แบบ คือ พวกที่เป็น ‘ยุวชนทหาร’ จะแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารสีเข้ม ส่วนพวกที่ไม่ได้เป็นยุวชนทหารก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อราชปะแตนสีขาว และใส่หมวกกะโล่สีขาวด้วย 

เมื่อถึงการแข่งขันฟุตบอลรุ่นกลางนัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมโรงเรียนอัสสัมชัญ กับทีมโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

มาสเตอร์เฉิดจึงได้นำนักเรียนอัสสัมชัญที่แต่งชุด ‘สีขาว’ ไปรวมกันไว้ที่ตอนบนของอัฒจันทร์ก่อน แล้วค่อย ๆ นำนักเรียนลงมาทีละกลุ่ม จัดให้นั่งเรียงกัน โดยเว้นช่องว่างไว้บางส่วน 

จากนั้นก็ให้พวกแต่งชุดยุวชนทหาร ‘สีเข้ม’ เข้าไปนั่งเติมเต็มในช่องว่าง 

เมื่อมองจากด้านหน้าของอัฒจันทร์ ก็จะเห็นเป็นภาพตัวอักษร ‘อสช’ ขึ้นมาจากสีเสื้อยุวชนทหาร ซึ่งเป็นอักษรย่อของชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ 

นั่นคือปรากฏการณ์ครั้งแรกของการแปรอักษรในประเทศไทย ที่เกิดจากการนำคนที่ใส่เสื้อต่างสี มานั่งเรียงกันเพื่อ ‘แปร’ ให้เป็น ‘ตัวอักษร’

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงและตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก

จากนั้นการแปรอักษรก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จากสีเสื้อผ้า มาสู่การติดริบบิ้น แล้วใช้แผ่นกระดาษ จนกลายเป็น ‘เพลต’ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งมาถึงยุคที่ ‘ลงโค้ด’ ด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน 

การแปรอักษรมาถึงยุครุ่งเรืองสุดขีดเมื่อฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2507 
และสานต่อด้วยการนำมาใช้ในฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’

ซึ่งผู้ที่นำการแปรอักษรไปเผยแพร่ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกก็คือ รศ.ดร. สุรพล สุดารา ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ บุตรชายของมาสเตอร์เฉิด สุดารา นั่นเอง

อาจารย์สุรพล ขณะนั้นเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำการแปรอักษรที่คิดค้นโดยบิดาตนเอง มาปรับใช้กับการเชียร์ฟุตบอลประเพณี

และนั่นเองที่ทำให้การแปรอักษรไม่ได้เป็นเพียงแค่การเชียร์สถาบันตนเองอีกต่อไป แต่ขยายพรมแดนไปถึงการสร้างความบันเทิงสนุกสนานให้แก่ผู้ชมด้วยอารมณ์ขัน การล้อเลียนเพื่อนต่างสถาบัน กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนถึงสถานการณ์ของสังคมโดยรวม

‘อัสสัมชัญ’ แจง ปม นร.ลาไปแข่งสนุกเกอร์ แต่ให้ติด 0 พลศึกษา พบ!! กรอกข้อมูลพลาด ล่าสุดเตรียมนัดหมายแก้ไขคะแนนแล้ว

(15 ม.ค. 67) จากกรณีนายสมฤกษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา หรือ ‘ปูเป้ ฟุตบอล 108’ ผู้สื่อข่าวกีฬารุ่นใหญ่ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ด.ช.ลมหนาว อิศรางกูร ณ อยุธยา ลูกชาย เป็นตัวแทนไปแข่งกีฬาสนุกเกอร์เยาวชนแห่งชาติ รอบคัดเลือก ก่อนคว้ามา 2 เหรียญทอง สร้างชื่อให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่กลับติด 0 ในวิชาพลศึกษาและสุขศึกษาในการสอบกลางภาค

ล่าสุดที่โรงเรียนอัสสัมชัญ นายสมฤกษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา พร้อมภรรยา ผู้ปกครองน้องลมหนาว เข้าพบ ภารดา ดร.อาวุธ ศิลาเกษ ผอ.รร.อัสสัมชัญ เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ก่อนชี้แจง

นายสมฤกษ์ เผยว่า ลูกชายมีวิชาเรียนทั้งหมด 15 วิชา ช่วงสอบกลางภาคได้เข้าสอบไปแล้ว 13 วิชา แต่ยังเหลือวิชาพลศึกษากับสุขศึกษาที่ยังไม่ได้สอบ เพราะลูกต้องไปแข่งกีฬา และทำหนังสือขอตัวไปแข่งขัน ส่งไปขออนุญาตกับโรงเรียนอย่างชัดเจนแล้ว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้รับผลการสอบและทราบว่าผลการสอบติด 0 น้องลมหนาวกับครอบครัวก็รู้สึกงง วันนี้จึงมาพบกับผู้อำนวยการโรงเรียนและได้รับการชี้แจงที่ชัดเจนแล้ว จึงไม่ติดใจอะไรอีก

มาสเตอร์โสภณ สกุลเรือง หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน ชี้แจงว่า โรงเรียนขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงหารือกับผู้ปกครองกระทั่งได้ข้อสรุปว่า คะแนนที่ผู้ปกครองได้รับ เป็นคะแนนสอบกลางภาค ไม่ใช่เกรด และโรงเรียนพบข้อผิดพลาดของระบบการลงคะแนนผ่านคอมพิวเตอร์ว่า แท้จริงแล้วการลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องระบุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น แต่สามารถระบุสาเหตุอื่นได้ เช่น ยังไม่ได้สอบหรือเหตุผลอื่นๆ

ทั้งนี้ การลงคะแนนดังกล่าวมีระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้ครูต้องรีบกรอกข้อมูล จึงอาจเกิดข้อบกพร่องขึ้นได้ ก่อนมอบหมายให้ครูประจำชั้น ดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลไม่เพียงแต่ให้ครูประจำวิชาคอยดูแลเท่านั้น แต่ขณะนี้โรงเรียนยังไม่ได้พูดคุยกับครูประจำวิชาดังกล่าว เนื่องจากมีภารกิจส่งนักเรียนไปแข่งขันวอลเลย์บอลที่ต่างจังหวัด และหลังจากนี้จะนัดหมายน้องลมหนาวเข้ามาแก้ไขคะแนนต่อ

มาสเตอร์โสภณ กล่าวอีกว่า โรงเรียนมีแนวทางการส่งเสริมนักเรียนในด้านกีฬา ดนตรีและอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับใด จะมีคะแนนให้เพิ่มเติมตามเกณฑ์ของโรงเรียนที่สนับสนุนนักเรียนที่สร้างชื่อเสียงในด้านต่างๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top