Thursday, 15 May 2025
TheStatesTimes

กฟผ. ทช. เมืองพัทยา สานพลังร่วมฟื้นฟูอ่าวไทย พร้อมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการประมง สร้างรายได้กระตุ้นเศษฐกิจ

วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2566) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ เมืองพัทยา จัดกิจกรรมจัดวางฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า โครงการบ้านปลา กฟผ. โดยมี นางจินตนา บำรุง ผู้แทนปลัดเมืองพัทยา พร้อมด้วย นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ทช.)  นางสาวสุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชลบุรี ชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำแบบเดินใต้ทะเล (Sea Walker) นักดำน้ำอาสาสมัคร เข้าร่วมกิจกรรมนำฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า กฟผ. กว่า 230 ชุด ไปวางบริเวณแนวปะการังพื้นที่เกาะสาก อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

นางจินตนา บำรุง ผู้แทนปลัดเมืองพัทยา เผยว่า ทช. และ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นของประเทศไทย โดยฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าจะเป็นแหล่งยึดเกาะปะการัง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศใต้ทะเลได้รับการฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและการประมงที่จะช่วยสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ชลบุรี ต่อไป  

นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ทช.) กล่าวว่า ทช. และ กฟผ. ได้ร่วมมือกันในการฟื้นฟูท้องทะเลไทยทั่วประเทศให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์แก่สิ่งมีชีวิตบริเวณแนวปะการังในโครงการบ้านปลา กฟผ. โดย กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานมาทำเป็นฐานลงเกาะปะการังและนำไปวางในท้องทะเล เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ทะเล และเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ในหลายพื้นที่ของ จ.ชลบุรี

นางสาวสุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. เปิดเผยว่า ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเป็นหนึ่งอุปกรณ์สำคัญในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ในแต่ละปีจะมีลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานเป็นจำนวนมาก กฟผ. ได้พิจารณาหาวิธีนำอุปกรณ์นี้มาใช้ประโยชน์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำมาทำเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล พร้อมประสานกับหน่วยงานทางทะเล และสถาบันการศึกษา เพื่อยืนยันลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ทั้งยังเกิดปะการังตามธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา กฟผ. ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตร นำปะการังธรรมชาติจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ไปวางไว้ใต้ทะเลไทยทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2554 โดยวางครั้งแรกที่ ต.แสมสาร  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 ชุด พร้อมเดินหน้าโครงการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ได้แก่  ทช. กองทัพเรือ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 โดยร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์ทะเล เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ทะเลตามแนวชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

‘จีน’ มุ่งส่งเสริม ‘อุตสาหกรรมการประหยัดน้ำ’ พร้อมวิจัย-พัฒนาอุปกรณ์ประหยัดน้ำในครัวเรือน

(17 พ.ย. 66) หลี่กั๋วอิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่า จีนได้ปรับปรุงอุตสาหกรรมประหยัดน้ำของประเทศให้ดีขึ้น และได้จัดตั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา การผลิตอุปกรณ์ การก่อสร้างโครงการ และการบริหารจัดการบริการ

หลี่กล่าวว่าอุตสาหกรรมการประหยัดน้ำเริ่มเป็นรูปร่างและครอบคลุมสาขาต่าง ๆ เช่น การชลประทานแบบประหยัดน้ำเพื่อการเกษตร การบำบัดน้ำเสียทางอุตสาหกรรม อุปกรณ์ประหยัดน้ำในครัวเรือน การควบคุมการรั่วไหลของท่อส่งน้ำ การรีไซเคิลสิ่งปฏิกูล การแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และเทคโนโลยีประหยัดน้ำอัจฉริยะ

หลี่ระบุว่าประสิทธิภาพการใช้น้ำของจีนถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยมีการใช้น้ำต่อ 10,000 หยวน (ราว 49,000 บาท) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการใช้น้ำต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรม 10,000 หยวน (ราว 49,000 บาท) ในปี 2022 ลดลงร้อยละ 46.5 และร้อยละ 60.4 จากปี 2012 ตามลำดับ

ทั้งนี้ จีนได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่นวัตกรรมในภาคส่วนดังกล่าว ผ่านการเพิ่มการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และอุปกรณ์ประหยัดน้ำ

เมื่อใต้ร่มไม้ใหญ่-ผืนป่า-ลำธาร ก่อกำเนิด 'ชีวิต-ทอแสงส่องให้ทั่วหล้า' แล้วเหตุไฉน จึงมีผู้ชี้นำว่า 'ความมืดมิด' คิดว่าเกิดจากร่มไม้ใหญ่

“ถูกปลูกฝังว่าเราควรอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ จนสุดท้ายเรามองไม่เห็นแสงเลย #แล้วเมื่อไหร่เราจะเติบโตสักที” คำคมจากศิลปินท่านหนึ่ง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าหมายถึงอะไร ศิลปินท่านนั้นหิวแสง หรือกำลังพูดถึงการเติบโตแบบไหน 

ที่ผมเกริ่นมาข้างต้นนั้นช่างมันเถอะ คำคมของศิลปินท่านนั้นก็ช่างมันเถอะ!!!

สำหรับผมต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ร่มไม้ที่มีอยู่คือความร่มเย็น การอยู่ใต้ร่มไม้เราก็เห็นแสงได้ ซึ่งข้อนี้คงขัดกับสิ่งที่ศิลปินท่านนั้นแสดงความคมแบบทื่อ ๆ ไว้

ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุมช่วยทำให้พืชพรรณเบื้องล่างชุ่มชื้นไม่โดนแสงแดดแผดเผา ประเทศไทยเราต้องการต้นไม้ใหญ่จำนวนมากเพื่อช่วยฟอกอากาศ ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ในผืนดิน ช่วยอุ้มชูต้นไม้เล็กให้ค่อย ๆ โตเป็นต้นไม้ใหญ่ 

ร่มไม้ใหญ่ที่ผมนึกถึงและอยากเล่าเรื่องราวคงจะเป็นเมื่อครั้งที่ได้ไปทำฝายทดน้ำที่เรียกว่า ‘ฝายแม้ว’ ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๔๙ 

ครั้งนั้นผมเริ่มต้นด้วยการสำรวจที่พื้นที่ป่าตามเส้นทางชมธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งในวันนั้นผมได้มีโอกาสสัมผัส ‘ป่า’ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ โดยการนำทางของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เส้นทางธรรมชาติที่คุณห้ามออกนอกทางเป็นอันขาดไม่งั้นหลงป่าแน่นอน 

เราเดินกันมาได้ราว ๆ ครึ่งชั่วโมง เดินพูดคุยกันแบบสบาย ๆ แม้จะเส้นทางจะมีความลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นทางขึ้น ๆ ลง ๆ แคบบ้าง กว้างบ้าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป ด้วยร่มไม้จากป่าที่ปกคลุม พร้อมกับการได้รู้จักพันธุ์ต้นไม้ไม่คุ้นหู อย่าง น้ำเต้าพระฤาษี แต่ที่สำคัญกว่าผมได้พบกับความจริงที่สำคัญอย่างนึง

เจ้าหน้าที่อุทยานถามผมขณะเดินว่าสังเกตเห็นอะไรในป่าบ้างไหม ? คุณเห็นต้นไม้ที่หนาแน่นมีลักษณะยังไงบ้าง ? ผมนี่งงเลย มันก็ป่า มีต้นไม้แน่น แล้วมันยังไง ? 

ต้นไม้ที่หนาแน่นนั้น หากสังเกตดี ๆ มันมีความเป็นระเบียบเป็นบางส่วน คำว่า ‘บางส่วน’ ที่ว่ามันกินพื้นที่ ‘บางส่วน’ ของภูเขาที่ผมกำลังมองเห็นไม่ใช่บางส่วนเล็ก ๆ แต่มันเป็นบางส่วนที่ค่อนข้างกว้าง ป่าที่เห็นรวม ๆ จะเป็นป่าไม้เต็ง ส่วนที่เป็นระเบียบแทรกอยู่เป็นต้น ‘สัก’ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะแถวๆ ริมห้วย

ป่าไม้ ‘สัก’ ที่เห็นเป็นระเบียบแต่ปกคลุมไปอย่างกว้างขวางนั้น เจ้าหน้าที่บอกผมว่าแต่เดิมมันเคยเป็นที่ ‘หัวโล้น’ เป็นวง ๆ อยู่ท่ามกลางภูเขา เพราะเกิดจากแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ลักลอบตัดไม้ และน่าจะขยายวงไปมากกว่านี้ แต่พื้นที่ ‘หัวโล้น’ เหล่านี้ค่อย ๆ หายไปเพราะได้รับการปลูกป่าทดแทน จากการสังเกตของบุคคลผู้หนึ่งที่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปเมื่อประมาณสัก ๑๐ กว่าปีก่อน

ป่าที่ถูกปลูกขึ้นเพื่อทดแทนป่าที่หายไป โดยเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้รบกวนระบบนิเวศเดิม ช่วยรักษาความชุ่มชื้นหน้าดิน และตลอดทางที่เดินผ่านจะเห็นทางน้ำขนาบไปด้วย แม้จะไม่มีน้ำแต่ก็มีความชุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด

บางส่วนที่มีลำน้ำไหลผ่านผมก็จะเห็นฝายแม้วที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่และก้อนหิน ขนาบสองฝั่งลำน้ำเล็กๆ ด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุม 

‘ในหลวงรัชกาลที่๙’ คือบุคคลผู้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปในวันนั้น พระองค์ทรงสังเกตเห็นความแหว่งของป่า สีของป่าที่ดูเหมือนคนป่วย พระราชดำริในการปลูกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผสมกับการสร้างฝายแม้วเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นบอกกับผม 

นอกจาก ‘ป่าไม้’ จริง ๆ ที่พระองค์ทรงปลูกแล้ว พระองค์ยังทรง ‘ปลูกป่าในใจ’ ให้เกิดขึ้นใจของปวงชนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งคนที่จดจำความร่มเย็นจากป่าที่พระองค์ทรงปลูกไว้ได้อย่างเต็มหัวจิตหัวใจ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ที่ว่า

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” 

เรื่องออกจากร่มไม้ใหญ่หรือเรื่องการเติบโต หากยังไม่รู้จัก และจะออกจากร่มไม้ก็ช่างมันเถอะนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ได้พูดคุยกับผมมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเพื่อนกัน และส่งข่าวคราวหากันอยู่บ่อย ๆ และเราเห็นตรงกันครับว่า...

บ้านเราต้องมีต้นไม้ มีป่า มีน้ำ แล้วเราถึงจะมี ‘ชีวิต’ ครับ

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566

‘ศีลธรรม’ คือเครื่องคุ้มครอง
ถ้าศีลธรรมจากเราไป
เราก็ขาด ‘หลักประกัน’
เหมือนอยู่บ้านที่ไม่มี ‘หลังคา’

-พระพรหมมังคลาจารย์
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ-

18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิด ‘มิกกี้ เมาส์’ ตัวการ์ตูนชื่อดังแห่งวอลต์ ดิสนีย์

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ‘มิกกี้ เมาส์’ ตัวการ์ตูนชื่อดังขวัญใจของเด็ก ๆ และคนทั่วโลกแน่นอน และวันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิดของหนูการ์ตูนชื่อดังแห่งวอลต์ ดิสนีย์

‘มิกกี้ เมาส์’ เป็นตัวการ์ตูนของค่ายวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) โดยวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ และอับ ไอเวิร์กส เดิมทีพวกเขาเรียกมันว่า ‘มอร์ติเมอร์ เมาส์’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อตัวการ์ตูนนี้ใหม่เป็น ‘มิกกี้ เมาส์’ จากการแนะนำของภรรยาวอลต์ ดิสนีย์ เนื่องจากเธอเห็นว่ามันเป็นชื่อที่ดูจริงจังจนเกินไป

จุดกำเนิดของมิกกี้ เมาส์ เกิดขึ้นขณะที่วอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ (ขณะนั้นอายุ 27 ปี) นั่งอยู่บนรถไฟระหว่างทางมุ่งสู่ลอสแอนเจลิส เขาลงมือสเกตช์ภาพคาแรกเตอร์หนูเล็ก ๆ สวมกางเกงสีแดงขึ้นมา โดยมี อับ ไอเวิร์กส ออกแบบรูปร่างลักษณะ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ‘มิกกี้ เมาส์’ ก็ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังการ์ตูนเงียบที่ชื่อว่า ‘Plane Crazy’ แต่ก่อนที่การ์ตูนเรื่องนี้จะออกฉาย ก็เริ่มมีการนำเสียงมาใส่ในภาพยนตร์ ทำให้มิกกี้ เมาส์ เป็นหนังการ์ตูนที่มีการใส่เสียงเรื่องแรกในโลก ในชื่อเรื่องว่า ‘Steamboat Willie’

การเปิดตัวครั้งแรกของมิกกี้ เมาส์ ในเรื่อง ‘Steamboat Willie’ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ทำให้ ‘มิกกี้ เมาส์’ กลายเป็นขวัญใจของเด็ก ๆ จวบจนปัจจุบัน โดยทางนิวยอร์กไทมส์ เคยเขียนชื่นชมว่า ‘มิกกี้ เมาส์’ เป็นผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์เยี่ยมยอดและสนุก เพราะการ์ตูนเรื่องนี้มีจุดเด่นตรงเพลงประกอบที่ไพเราะ มีภาพและฉากที่สวยงาม

ลักษณะเด่นของ ‘มิกกี้ เมาส์’ เป็นเพียงหนูตัวเล็ก ๆ หูกลมใหญ่สีดำ แขนขาเล็กมาก สวมกางเกงเอี๊ยมสีแดง รองเท้าสีเหลือง มีบุคลิกที่มีความอดทนอดกลั้น ฉลาดหลักแหลม มองโลกในแง่ดี และกล้าหาญ ที่สำคัญ ‘มิกกี้ เมาส์’ มีสัญชาตญาณพิเศษในเรื่องของการสืบสวนสอบสวน และด้วยบุคลิกที่โดดเด่นในแง่นี้เองทำให้ตัวการ์ตูนตัวนี้ชอบที่จะใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าสู้ จนสามารถเอาชนะศัตรูที่มีร่างกายที่แข็งแรงกว่า ทำให้ ‘มิกกี้ เมาส์’ สามารถเป็นที่รักและครองหัวใจของเด็ก ๆ และผู้คนทั่วโลกมาเกือบ 100 ปี

แม่ทัพภาคที่ 4 ตรวจเยี่ยมหน่วยฝึก ร.5 พัน 2 และพบปะให้โอวาทแก่ กองกำลังป้องกันชายแดน ในพื้นที่ จ.สตูล

วันนี้ 17 พฤศจิกายน 2566 พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4, พันเอกทวีพร คณะทอง เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 5, พ.อ.ชัยวุฒิ  พรมทอง ผบ.ร.5 พัน.2 ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ จ.สตูล,และคณะเดินทางตรวจเยี่ยมหน่วยฝึก ร.5 พัน 2 และเดินทางไปยังชุดเฝ้าตรวจชายแดน4301 ต.ตำมะลัง อ.เมืองสตูล เพื่อพบปะกำลังพล และมอบสิ่งของบำรุงขวัญ ซึ่งจุดดังกล่าวมีกำลังตชด.436 จำนวน  22 นาย ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าตรวจแนวชายแดน และพลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4 เดินทางไปสักการะ กรมหลวงชุมพร ต.ตำมะลัง อ.เมืองสตูล หลังจากนั้นเดินทางไปยัง มว.ปล.ที่ 1 ร้อย.ร.5021 อ.ควนโดน จ.สตูล เพื่อเน้นย้ำการปฏิบัติงานตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา และมอบแนวทางการสกัดกั้นและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายบริเวณแนวชายแดน พร้อมทั้งได้มอบของบำรุงขวัญแก่กำลังพลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน 

นอกจากนี้พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4 ท่านเดินทางมาที่จังหวัดสตูล บ่อยครั้ง และท่านพร้อมคณะเข้าไปกราบไหว้สักการะ กรมหลวงชุมพร ที่จัดตั้งศาลาให้ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ มากราบไหว้ขอพร บางคนมาบ่นบานสานกล่าวไว้ และพบร่องรอยประทัดกองเต็มไปหมด เป็นสิ่งที่ศักดิ์ที่ทุกคนมาบูชากราบไหว้ ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 มาจังหวัดสตูล ครั้งใดก็จะมาสักการะกราบไหว้ ขอพร และจุดประทัน 10,000 นัดอีกด้วย

ตร.ไซเบอร์จับขบวนการหลอกให้เดตสาว พบเชื่อมโยงอีก 12 คดี ความเสียหายรวมกว่า 1 ล้าน

สืบเนื่องจาก ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้เสียหายได้รู้จักกับคนร้ายผ่านแอปทวิตเตอร์ ต่อมาได้เปลี่ยนมาพูดคุยกันผ่านทางแอปไลน์ โดยคนร้ายใช้ชื่อบัญชี “ติวเตอร์'จีจี้” อ้างว่าเป็นติวเตอร์ ได้ชักชวนผู้เสียหายทำภารกิจนัดเดทสาวในแอปหาคู่ (Bumble) โดยออกอุบายว่า ให้ผู้เสียหายสร้างโปรไฟล์ในแอปหาคู่ดังกล่าว หากมีผู้หญิงในแอปสนใจแล้วกดแมทช์ ผู้เสียหายก็จะได้รับเงินค่าคอมมิชชั่น โดยผู้เสียหายต้องโอนเงินลงทุนกับคนร้ายไปก่อน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามอุบายดังกล่าว โดยครั้งแรกได้เงินคืนกลับมาจริง จึงได้ลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในยอดที่สูงขึ้น สุดท้ายหลงเชื่อโอนเงินไปจำนวน 6 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งหมด 76,115 บาท สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินออกจากระบบได้ จึงรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้วได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 ส่งเจ้าหน้าที่สืบสวนเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย พบว่าคดีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับคดีอื่นอีก 12 คดี ซึ่งมีลักษณะในการหลอกโอนเงินทำภารกิจเหมือนกัน มีความเสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านบาท สุดท้ายสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องหลายราย

ต่อมา เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 พ.ย.66 พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 ได้นำกำลังชุดสืบสวนร่วมกันลงพื้นที่ติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการ จนสามารถนำหมายจับศาลอาญาเข้าควบคุมตัว นางบุญธรรม อายุ 36 ปี ชาวอุบลราชธานี ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคืนอื่น, โดยทุจริตหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” โดยจับกุมตัวได้ในพื้นที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นำตัวส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พ.ต.อ.ศุภรฐโชติ จำหงษ์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 สั่งการให้ พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

19 พฤศจิกายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันส้วมโลก’ หรือ ‘วันสุขาโลก’ รณรงค์ให้ตระหนักถึงสุขอนามัยการใช้ส้วม

‘วันส้วมโลก’ (World Toilet Day) หรือวันสุขาโลก ได้ถูกตั้งขึ้นโดยองค์การส้วมโลก (World Toilet Organization หรือ WTO) เป็นองค์การไม่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 กับประเทศสมาชิก 15 ประเทศ เพื่อดำเนินการปรับปรุงส้วมและสุขอนามัยทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ห้องส้วมมากกว่าด้านประปา ซึ่งต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของสุขาภิบาล ความสำคัญของความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วม และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสาธารณสุขมากขึ้น เนื่องจากยังมีผู้คนทั่วโลกอีกมากมายที่ยังใช้ส้วมที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ โดยใช้ความพยายามกว่า 12 ปี ในการดำเนินงาน

จนกระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ในที่ประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุวันส้วมโลกอยู่ในวันของสหประชาชาติ และ กำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี เป็นวันสุขาโลก เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกช่วยกันส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และออกนโยบายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาล และหยุดการถ่ายอุจจาระในที่เปิดโล่ง และวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ได้มีมติอย่างเป็นทางการ เพื่อเน้นย้ำแสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของผู้คนถึง 2.5 พันล้านคน ที่ยังไม่มีห้องน้ำขั้นพื้นฐาน ตามที่สหประชาชาติเคยกล่าวไว้ว่า ในบรรดาประชาชน 7 พันล้านคนของโลก มีเพียง 4.5 พันล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงห้องสุขาหรือส้วมได้ และมีอีก 1,100 ล้านคน ที่ยังขับถ่ายในที่สาธารณะ ซึ่งคุกคามต่อการสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังมีรายงานขององค์กรการกุศลวอเตอร์เอด (WaterAid) ที่เผยแพร่ออกมาก่อนวันส้วมโลกประจำปี 2018 ระบุว่า ‘เอธิโอเปีย’ ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ขาดแคลนห้องน้ำมากที่สุดในโลก ปัจจุบันชาวเอธิโอเปียส่วนใหญ่ต้องถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระในพื้นเปิดข้างทาง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำ และคุกคามต่อระบบสาธารณสุขท้องถิ่น ทั้ง ๆ ที่การเข้าถึงห้องน้ำเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน 

พร้อมทั้งแสดงให้เห็นด้วยว่า ประชากร 2.3 พันล้านคนทั่วโลกยังคงขาดแคลนห้องน้ำที่บ้าน มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งข้อมูลน่าตกใจจากรายงานคือ เกือบ 1 ใน 5 ของโรงเรียนประถม และ 1 ใน 8 ของโรงเรียนมัธยมทั่วโลกก็ปราศจากห้องน้ำเช่นกัน ทำให้เด็กนักเรียนจำนวน 620 ล้านคน ต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตราย

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสุขอนามัยของห้องส้วมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของห้องน้ำห้องส้วมภายในบ้าน และในที่สาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน วัด โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่ราชการ ฯลฯ เพื่อสกัดไม่ให้การขับถ่ายที่ไร้สุขอนามัยส่งผลเสียกับแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรโดยตรง เพราะหวั่นกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะหวนกลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีก แต่ในปัจจุบันจากการดำเนินงานพัฒนาส้วมและการจัดการสิ่งปฏิกูลในประเทศไทยของกรมอนามัยตลอดหลายปี ก็เผยให้เห็นว่า ในประเทศไทย ครัวเรือนมีส้วมใช้และถูกสุขลักษณะ จำนวน 20.3 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 99.8% อีก 0.2% หรือ จำนวน 40,729 ครัวเรือน ยังไม่มีส้วม หรือเป็นส้วมที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากในการเข้าถึงเท่านั้น

20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 กำเนิด ‘วงดนตรีสุนทราภรณ์’ ก่อตั้งโดย ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’

บุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการยกย่อง โดยยูเนสโก และเป็นบุคคลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นเวลายาวนานตราบจนวาระสุดท้ายของบุคคลผู้นี้ คือ ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ หรือที่รู้จักกันในนามของ ‘สุนทราภรณ์’ ผู้ก่อตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ อันโด่งดัง ซึ่งทุกวันนี้แม้ตัวคุณครูเองจะจากไปหลายปีแล้ว แต่วงดนตรีของท่านก็ยังคงอยู่ รวมทั้งเพลงต่าง ๆ ที่คุณครูแต่งหรือร่วมแต่งไว้กว่า 2,000 เพลง ก็ยังคงความไพเราะและเป็นอมตะ ได้รับการบรรเลงขับร้องจากนักร้องรุ่นหลัง ๆ เรื่อยมา โดยไม่มีวี่แววว่าประชาชนจะหลงลืมเพลงเหล่านี้แต่อย่างใดเลย

ครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 และได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2552

ท่านก่อตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ครูเอื้อไม่ประสงค์จะใช้วงดนตรีของทางราชการไปรับงานแสดงส่วนตัว จึงได้ดำริจัดตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ ขึ้น เพื่อรับบรรเลงตามสถานที่ต่าง ๆ ในเวลานอกราชการ 

คำว่า ‘สุนทราภรณ์’ ได้มาจากการนำนามสกุลท่อนแรกของท่าน คือ ‘สุนทร’ มาสนธิกับชื่อสุภาพสตรีอันเป็นที่รักของท่าน ได้แก่ ‘อาภรณ์’ (กรรณสูต) กลายเป็น ‘สุนทราภรณ์’ ซึ่งเป็นทั้งชื่อวงดนตรีและนามแฝงในการขับร้องเพลงของท่านควบคู่กันไป เพลงของสุนทราภรณ์มีทุกแนว นับตั้งแต่เพลงปลุกใจ, เพลงสดุดีเทิดพระเกียรติ, เพลงประจำสถาบันต่าง ๆ, เพลงรัก, เพลงคติธรรมชีวิต ไปจนถึงเพลงรำวงและลีลาศอันสนุกสนาน หลาย ๆ เพลงยังคงความอมตะ และได้รับความนิยมสืบเนื่องจนกลายเป็นสมบัติของชาติเคียงคู่สังคมไทยตราบเท่าทุกวันนี้ ได้แก่ เพลงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เริงสงกรานต์, รำวงสงกรานต์, รำวงลอยกระทง, สวัสดีปีใหม่, รื่นเริงเถลิงศก, รำวงปีใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

ไม่เพียงแต่จะเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่านั้น เพลง ‘รำวงลอยกระทง’ ของท่านยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะเพลงสัญลักษณ์เพลงหนึ่งของประเทศไทย และเล่ากันว่าในการเสนอชื่อท่านต่อยูเนสโก เพื่อให้ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกนั้น หากผลงานของบุคคลสำคัญเป็นที่รู้จักในต่างประเทศด้วย ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ทางฝ่ายไทยจึงแนบเทปเพลง ‘รำวงลอยกระทง’ ไปด้วย เมื่อเปิดขึ้นคณะกรรมการพิจารณาก็ยิ้มทันที เพราะรู้จักเพลงนี้กันทุกคน

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ ‘มหามงคล’ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเพลงเปิดวงในโอกาสฉลองครบรอบปีที่ 20 แห่งการตั้งวง เมื่อพ.ศ. 2502 และทางวงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ได้อัญเชิญบรรเลงเป็นเพลงเปิดวงแม้จนทุกวันนี้

เมื่อครั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์มีอายุครบ 30 ปี ใน พ.ศ. 2512 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำนักร้อง นักดนตรี และนักเรียนจากโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และพระราชทานเหรียญเสมาทองคำ ‘ภปร.’ แก่หัวหน้าวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นแก่ครูเอื้อ

ในงานฉลอง 70 ปี ของการตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2552 นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังใน พ.ศ.ดังกล่าว ได้กล่าวไว้ว่า “วงดนตรีสุนทราภรณ์ถือเป็นวงในพระราชสำนัก เพราะได้บรรเลงดนตรีถวายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี” 

เมื่อครูเอื้อถึงแก่กรรม ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง ณ วัดเทพศิรินทราวาส นับเป็นศิลปินคนที่ 2 และคนสุดท้ายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์

'ดร.หิมาลัย' เอือม!! ก๊วนการเมือง 'ตีรวน-มุ่งทำลาย' ประเพณีดีงามนับร้อยปี ยก 'จตุรมิตรสามัคคี' สายใยแห่งความรักของคนต่างโรงเรียนที่ไม่มีวันขาด

(17 พ.ย. 66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'จตุรมิตรสามัคคี สายใยแห่งความรัก สวนกุหลาบต้องไว้ลาย' ความว่า...

ในช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาของการแข่งขัน ฟุตบอล จตุรมิตร ซึ่งเป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ของ รร.มัธยมชายล้วนทั้ง 4 คือ สวนกุหลาบวิทยาลัย, เทพศิรินทร์, กรุงเทพคริสเตียน และ อัสสัมชัญ กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ความสามัคคี ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง ไม่ได้จำกัดแค่ในโรงเรียนเดียวกันเท่านั้น แต่ยังขยายเครือข่ายไปในกลุ่มจตุรมิตรด้วย

ในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรนั้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ กองเชียร์และการแปรอักษรประชันกัน ซึ่งแต่ละโรงเรียน ไม่มีใครยอมแพ้ใคร ต่างคนต่างปล่อยฝีไม้ลายมือกันเต็มที่ ภาพที่ปรากฏออกมาแต่ละครั้งจึงสวยงามสมกับการรอคอย เบื้องหลังความสำเร็จที่น่าทึ่ง คือ ผลงานเหล่านี้ เกิดจากการสร้างสรรค์ของเยาวชนอายุประมาณ 11-17 ปีเท่านั้น 

ในปีนี้ มีข่าวขึ้นมาว่ามีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่มีความเข้าใจในกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการรณรงค์ชักชวนให้ยกเลิกการแปรอักษร ถึงขนาดไปถือโทรโข่งประกาศโฆษณาชวนเชื่อให้น้อง ๆ และผู้ปกครอง ต่อต้านกิจกรรมดังกล่าว ดูถ้อยคำกล่าวอ้าง กริยาที่ไปแสดงออกตามคลิปที่มีผู้ส่งให้ผมดูแล้ว ดูครั้งแรกก็โมโหแต่พอระลึกถึง สุภาษิตคติพจน์ประจำโรงเรียนสวนกุหลาบที่ว่า “สุวิชา โน ภวํ โหติ อ่านว่า สุ-วิ-ชา โน พะ-วัง โห-ติ แปลความว่า ผู้รู้ดี เป็น ผู้เจริญ“ ก็ให้อภัยถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจของบุคคลเหล่านี้

ย้อนไปในวัยเด็ก การได้ปักอักษร ส.ก. บนหน้าอกเสื้อนักเรียนนั้นเป็นความภาคภูมิใจของผม (สวนฯ103) และน้องชาย (สวนฯ106) เป็นอย่างมาก ที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนแห่งนี้ ดังมีพระราชดำรัสที่สำคัญของพระองค์ท่าน เมื่อครั้งพระราชทานรางวัลนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ พ.ศ.2427 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า "เจ้านายตั้งแต่ราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอกัน"

ดังนั้น โรงเรียนสวนกุหลาบ จึงมีนักเรียนที่หลากหลาย มีตั้งแต่ลูกรัฐมนตรียันลูกภารโรง ลูกนักธุรกิจพันล้านจนถึงลูกคนกวาดถนน ลูกตำรวจ ทหาร จนถึงลูกผู้ต้องหา เมื่อพวกเราได้สวมเสื้อ ปักอักษร ส.ก. บนหน้าอกแล้ว พวกเราเท่าเทียมกัน พวกเรารักและผูกพันเหมือนเป็นพี่น้องคลานตามกันมา เราทะเลาะ เราหัวเราะ เราร้องไห้ ชกต่อย ปลอบโยน ให้กำลังใจกัน อย่างบริสุทธิ์ใจ ทุก ๆ อย่าง เกิดจากการหล่อหลอม จากการเรียน จากการทำกิจกรรม และใช้ชีวิตร่วมกัน

กิจกรรมในโรงเรียนสวนกุหลาบ ในสมัยของผม มีหลากหลาย แต่ละกิจกรรม ล้วนสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนและประเทศชาติ เช่น การเข้าค่ายนักเรียนใหม่ เหมือนการให้กำเนิดพวกเราอีกครั้งในสายเลือดชมพูฟ้า ชมรมดนตรีไทย มีการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง ชมรมดุริยางค์และวงโยธวาทิต มีการประกวดและได้รับรางวัลอยู่เสมอ กองร้อยลูกเสือเกียรติยศ เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน ได้มีโอกาสไปร่วมรักษาความปลอดภัยของงานกิจกรรมต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการอยู่เนือง ๆ ชมรมวิชาการต่าง ๆ ที่มักมีการส่งนักเรียนของเราออกไปกวาดรางวัลการแข่งขันทางวิชาการอยู่ตลอดเวลา และในหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่หล่อหลอมให้พวกเรามีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การแปรอักษรในงานจตุรมิตรสามัคคี ยังจำความตื่นเต้นในตอนนั้นได้ พวกเราตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้ถึงเวลาของงานนี้ ดีใจที่จะได้เป็นส่วนร่วมสำคัญของประวัติศาสตร์ในยุคของเรา มีความรู้สึกเหมือนว่า ถ้าผ่านงานนี้ไป เราจะได้เป็นลูกสวนเต็มตัว เป็นที่ยอมรับของพี่ ๆ เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่เข้าหอประชุม ซ้อมร้องเพลงเชียร์ต่าง ๆ ของโรงเรียน หลายครั้งก็ซ้อมที่สนามฟุตบอล หรือสนามไพศาล เราไม่เคยมีความรู้สึกว่าร้อนหรือเหนื่อย เราไม่เคยรู้สึกว่าโดนทรมานหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้นเราก็ต้องมาเรียนรู้และจดจำโค้ดหรือรหัสในการแปรอักษร ซึ่งสอนและควบคุมโดยรุ่นพี่ ม.4, ม.5 เท่านั้น พี่ ๆ ม.6 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ เชื่อไหมครับ กิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศนี้ การจัดแบ่งหน้าที่ ประสานงานและควบคุมการปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการทำงานร่วมกันของเด็กนักเรียนชั้น ม.1 - ม.5 เท่านั้น มันน่าทึ่งไหมครับ

แล้วเวลาแห่งความภาคภูมิใจก็มาถึง พวกเราได้ร่วมกันแสดงออกถึงความรักความสามัคคีในหมู่คณะ การอดทนท่านกลางอากาศร้อนหรือบางครั้งก็ฝนตก การช่วยเหลือกันในหมู่เพื่อนฝูง การเอื้ออาทรดูแลกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เสียงเชียร์เสียงตบมือให้กำลังใจจากพี่ ๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นหนุ่มน้อยที่เพิ่งจบ บรรยากาศแบบนี้ มันเป็นความประทับใจครับ ผมถึงนึกภาพไม่ออกว่าคนที่พยายามมาต่อต้านหรือมายุยงปลุกปั่นน้อง ๆ ให้ต่อต้านกิจกรรมนี้ เอาอวัยวะส่วนไหนคิด หลังเลิกงาน ไม่ว่ากีฬาจะแพ้หรือชนะ สิ่งที่ได้คือ ความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมสำคัญในจิตวิญญาณของความเป็นสวนกุหลาบ หยาดเหงื่อที่เสียไป ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจที่ได้เสียสละให้กับสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ผมว่าความรู้สึกนี้ น่าจะเป็นเหมือนกันทุกโรงเรียนครับ 

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่า "ไปเล่นการเมืองที่อื่นเถอะครับ อย่ามาทำลายความรัก ความภาคภูมิใจของพวกเรา ที่สืบต่อกันมาอย่างบริสุทธิ์ใจเป็นร้อยปีเลย ผมไม่โกรธ และให้อภัยพวกคุณครับ เพราะพวกคุณไม่รู้และไม่ใช่เรา จึงไม่มีวันเข้าใจ"

"กุหลาบสวย หนามแหลมคม เปลี่ยนกระถาง ไม่จางสี"

#ดรหิมาลัยผิวพรรณ #drhimalai #ยามเฝ้าแผ่นดินไทย #ไตรรงค์ผิวพรรณ #จตุมิตร #สวนกุหลาบ #osk103 #osk106


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top