Saturday, 3 May 2025
TheStatesTimes

‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ทางรถไฟเอกชนสายแรกของแผ่นดินสยาม จากแผนยุทธศาสตร์ของ ‘ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5’ ในวิกฤตการณ์ รศ.122

(23 ต.ค. 66) นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือห้วงยามที่ฝรั่งเศสกับอังกฤษรุกรานไทย หาเรื่องยึดครองประเทศตลอดเวลา

การล่าอาณานิคมของชาวุโรปในภูมิภาคนี้ ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักความสำคัญของการคมนาคม เวลานั้นการเดินทางข้ามจังหวัดใช้เกวียนและเรือเป็นหลัก ในภาวะฉุกเฉินย่อมใช้รับมือศัตรูไม่ทันการ

ไทยต้องปรับตัวเรื่องการเดินทาง… รถไฟอาจเป็นคำตอบ

ทรงเห็นควรที่จะสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศ เพื่อจะติดต่อกับมณฑลชายแดนง่ายขึ้น ปกครองสะดวกขึ้น และยังสามารถดูแลสอดส่องผู้รุกรานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย

รถไฟสายแรกเป็นของเอกชน กรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพงกับสถานีรถไฟปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 21.3 กิโลเมตร โดย ‘พระยาชลยุทธโยธินทร์’ แม่ทัพเรือคนหนึ่งของกองทัพเรือสยามชาวเดนมาร์ก (ชื่อเดิม ‘อองเดร รีเชอลีเยอ’ (Andreas Richelieu))

ทางรถไฟสายนี้มีวิศวกรเดินรถชื่อ ‘ร้อยเอก ที. เอ. ก็อตเช’ (T.A. Gottsche) ทหารชาวเดนมาร์ก ได้รับการชักชวนจากพระยาชลยุทธโยธิน มาช่วยกิจการทหารเรือในสมัยรัชกาลที่ 5

ก็อตเชเป็นผู้บังคับการป้อมผีเสื้อสมุทรในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ‘ขุนบริพัตรโภคกิจ’ ต้นสกุล ‘คเชศะนันทน์’ (เสียงพ้องกับ Gottsche) เป็นฝรั่งที่อยู่เมืองไทยนานจนกลายเป็นคนไทยไปแล้ว ตั้งรกรากในเมืองไทย

3 เดือนหลังจากเปิดรถไฟสายปากน้ำ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) กองเรือรบฝรั่งเศสแล่นถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ทหารไทยสู้ ฝรั่งเศสจมเรือปืนฝ่ายสยามได้ 1 ลำ แต่เรือฌอง บัปติสต์ เซย์ ถูกปืนใหญ่สยามยิงเกยตื้นที่แหลมลำพูราย ทหารไทยเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 14 คน ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 3 คน

เรือแองกองสตองต์และโกแมตแล่นฝ่าปราการต่างๆ เข้ามาได้ ทั้ง 2 ลำแล่นฝ่ากระสุนไปจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง จ่อปืนใหญ่ไปที่พระบรมมหาราชวัง แล้วยื่นคำขาดหกข้อต่อรัฐบาลสยาม ให้ตอบภายใน 48 ชั่วโมง

1 ใน 6 ข้อคือสยามต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์

สยามจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสก้อนหนึ่งชำระด้วยเหรียญนกจากท้องพระคลังจำนวน 801,282 เหรียญ หนักถึง 23 ตัน

‘เหรียญนก’ ก็คือ ‘เงินถุงแดง’ ที่รัชกาลที่ 3 ทรงสะสมไว้ซื้อเอกราชให้ประเทศ…

เจ้าหน้าที่ขนเหรียญนกออกจากวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือที่ท่าราชวรดิฐตลอดวันตลอดคืน
บันทึกฝรั่งเศสเขียนว่า “ด้วยนายทหารฝรั่งเศสเพียง 50 นาย ทหารญวน 150 นาย และผู้เชี่ยวชาญทางปืนใหญ่อีก 4-5 นาย ก็สามารถยึดสยามทั้งประเทศไว้ได้สำเร็จ”

แต่ฝรั่งเศสไม่พอใจแค่นั้น ขอเพิ่มเติมเงื่อนไขคือ ขอยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายครบ ฝ่ายไทยก็ต้องยอมรับอีก…

สยามสูญเสียดินแดนครั้งใหญ่ รวมเนื้อที่ประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร การเสียดินแดนสยามจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง จนทรงพระประชวร

‘นายช่างเยอรมัน ลูอิส ไวเลอร์’ ที่มาทำงานรถไฟในไทยบันทึกไว้ในอนุทินของเขาว่า เวลานั้นคนไทยเกลียดชาวฝรั่งเศส เพราะคิดกลืนกินดินแดนไทย หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสในตังเกี๋ยเขียนใส่ร้ายคนไทย รวมถึงพฤติกรรมของพวกทูตฝรั่งเศสในสยาม ทำให้ไม่เพียงคนไทยไม่ชอบคนฝรั่งเศส พวกยุโรปชาติอื่นๆ ก็ไม่ชอบเช่นกัน

บันทึกของ ‘ลูอิส ไวเลอร์’ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2451 เขียนว่า “ชาวสยามเป็นชนชาติที่รักสงบมากที่สุดในโลกอย่างไม่น่าสงสัย แต่ทว่าผมจะไม่ประหลาดใจเลย หากชาวสยามจะลุกขึ้นมาจับดาบต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชของตน ภายหลังจากที่ประเทศสยามค่อยๆ ถูกตัดแบ่งออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 15 ปีมาแล้ว” (จากหนังสือ กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย ลูอิส ไวเลอร์ เขียน แปลโดย ถนอมนวล โอเจริญ และ วิลิตา ศรีอุฬารพงศ์)

วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักว่า “ไม่มีผู้ใดช่วยเราได้ มีแต่มหาอำนาจหลายชาติต้องการกินเรา เราต้องมีแผนการที่ดีเพื่อรักษาเอกราชของชาติ”

ทางหนึ่งคือการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เป้าหมายเพื่อหาพันธมิตรมาคานอำนาจศัตรู ก็คือ ‘พระเจ้าซาร์ นิโคลาสที่ 2’ แห่งรัสเซีย

อีกทางหนึ่งคือปรับปรุงทางรถไฟของสยามให้ดีขึ้น พร้อมรับมือกับข้าศึกได้ทุกเมื่อ

เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนแผน เลือกสร้างสายอีสานก่อน เพราะเรื่องยุทธศาสตร์ เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปแม่น้ำโขงจำต้องผ่านโคราช

ฝ่ายไทยโชคดีมากที่ได้ ‘คาร์ล เบธเกอ’ และนายช่างเยอรมันหลายคนมาทำงานนี้ รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปดูการสร้างรถไฟเสมอ

รถไฟสายอีสานแล้วเสร็จในปี 2443 รวมระยะทางทั้งสาย 265 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างทางรถไฟสายอื่นๆ ต่อไป เช่น ทางรถไฟสายเหนือจากชุมทางบ้านภาชีถึงเชียงใหม่ ระยะทาง 661 กม. เสร็จในรัชกาลต่อมา

ทรงมีวิสัยทัศน์ไกล จะต่อสู้กับอำนาจมารนอกประเทศ ต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ทั้งทางทหาร การเมืองระหว่างประเทศ การคมนาคม ไปจนถึงการปฏิรูประบบต่างๆ

“ทหารมีไว้ทำไม?”
“กษัตริย์มีไว้ทำไม?”
… หากไม่มีป่านนี้คนไทยคงพูดภาษาฝรั่งเศสกัน

วินทร์ เลียววาริณ
23 ตุลาคม 2566

ไขรหัส-มองไทม์ไลน์ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ภายใต้แนวคิด ‘Future Ready True’ กับการพิชิตเป้าหมาย ‘บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี’ สู่องค์กรแห่งอนาคต

นับเป็นครั้งแรกสำหรับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้มีการจัดงาน Capital Markets Day ณ ทรูดิจิทัลพาร์ค นับเป็นเวลาราว 7 เดือนหลังจากที่ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการสำเร็จ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุน นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินไทยและต่างชาติเข้ารับฟังทิศทางธุรกิจ ตัวชี้วัดทางการเงิน เป้าหมาย และกลยุทธ์อย่างคับคั่ง

ในโอกาสนี้ True Blog ได้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากคณะผู้บริหาร โดยขอย่อยข้อมูลให้เห็นกันชัดๆ พร้อมกับอธิบายถึงนัยสำคัญของความเคลื่อนไหวจากงาน Capital Markets Day ต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

Capital Markets Day (CMDs) ถือเป็นโอกาสอันดีให้บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนได้พบปะกัน อัพเดทข้อมูลทางธุรกิจเชิงลึก ภาพรวมธุรกิจและเป้าหมายระยะยาว นอกฤดูรายงานข้อมูลการเงินต่อสาธารณะ (off-season) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของบริษัทจดทะเบียน สอดรับกับเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG ซึ่งในที่นี้ มีความเกี่ยวข้องกับมิติธรรมาภิบาล (Governance) ในแง่การส่งเสริมความโปร่งใสการรายงานข้อมูลต่อนักลงทุน นำมาซึ่งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในบริษัทจดทะเบียน

เปิดไทม์ไลน์ ‘Telecom-Tech Company’
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็น ‘ผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคมของไทย ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจ ให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก’ ทำให้การรวมพลังทั้งกำลังเงินและกำลังคน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด” โดย ทรู ได้เผยผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) 2.5 แสนล้านบาท

ทรัพยากรการเงินมูลค่าดังกล่าว จะช่วยเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ให้ถึงฝั่งฝัน ซึ่งสามารถเเบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.) Growth การเติบโตที่มากกว่าบริการโทรคมนาคม รวมถึงพัฒนาบริการต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

2.) Value Creation พัฒนาโครงข่ายให้เหนือระดับด้วยการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณด้วย ‘ระบบโครงข่ายเดียว’ (Single Grid) ตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตลอดจนกำหนดมาตรฐานการบริการให้เกิดประสบการณ์เหนือระดับ

3.) Organization เพื่อให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและพฤติกรรมลูกค้า จึงได้กำหนดให้ทรูเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยีด้วยมิชชั่น Future Ready True

4.) Sustainability เพราะการประกอบธุรกิจมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนและสังคม ด้วยเหตุนี้ ทรู จึงยึดถือแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนตามแนวคิด ESG โดยกำหนดเป้าหมายดังต่อไปนี้

- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) ไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ลดการฝังกลบขยะให้เป็นศูนย์และพิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 พร้อมทั้งตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

- ด้านสังคม (Social: S) ตั้งเป้าขยายโครงข่าย 4G และ 5G ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 99% และ 97% ของประชากรไทยในปี 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังวางเป้าเพิ่มพูนทักษะให้คนไทยผ่านการเรียนออนไลน์ 34 ล้านคน และสร้าง 2,700 สตาร์ทอัพผ่านอีโคซิสเต็มของทรูดิจิทัลพาร์ค

- ด้านธรรมาภิบาล (Governance: G) ได้สร้างการตระหนักรู้และพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรธรรมาภิบาล ขณะที่ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ได้พัฒนาให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการกำกับคู่ค้าที่จะต้องมีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของทรู โดยคู่ค้าระดับที่ 1 จะต้องผ่านการตรวจสอบด้าน ESG ส่วนคู่ค้าโครงข่ายทุกรายจะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมตามฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Target initiative: SBTI)

ไขกลยุทธ์ ‘Beyond Connectivity’
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมโครงการ Single Grid ว่า “โปรเจ็คดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงข่ายและระบบไอทีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (Network and IT Modernization) ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรโครงข่ายและสรรพกำลังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าด้วย นอกจากนี้ ยังได้ก้าวออกจากบริการโทรคมนาคมสู่ vertical services ต่างๆ เช่น API Enablement ระบบไอทีที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์คอมพิวติ้ง อันมีความสำคัญอย่างมากในยุคดิจิทัล ถือเป็นการเปิดฉากทรานสฟอร์มสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี”

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทรานส์ฟอร์มแล้ว ถือเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มธุรกิจจะได้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และนี่ถือเป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโต (Growth Engine) ในยุค 5G โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2569 รายได้จากกลุ่มธุรกิจจะเพิ่มขึ้น ‘เท่าตัว’ จากบริการอื่นๆ ที่ต่อยอดจากโทรคมนาคม เช่น โซลูชันด้านโครงข่าย ไอโอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสมาร์ทโซลูชันต่างๆ ที่ต่อยอดกับอุตสาหกรรมแนวดิ่ง (Vertical Industries) เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการต่อยอดบริการใหม่ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น เศรษฐกิจ API แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอี ระบบคลาวด์รุ่นใหม่ และโซลูชันที่พัฒนาจาก Generative AI

ซินเนอร์ยี่มูลค่า 2.5 แสนล้าน
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า มากกว่า 100 ปัจจัยจะช่วยสร้างผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท โดย 15 อันดับแรกจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการคิดเป็น 85% ของมูลค่ารวม ส่วนค่าใช้จ่ายหลักในการควบรวมจะเกิดขึ้นภายในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทบรรลุผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการสุทธิเป็นบวกในปี 2568 และมีกำไร โดยทรู คอร์ปอเรชั่นคาดว่าจะสามารถรับรู้การประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

มูลค่าเพิ่มจากรวมพลัง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.) เทคโนโลยีและไอที รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการ Single Grid ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและการบรรลุเป้าหมายจากการลงทุน CAPEX การรวมเครือข่ายสองระบบร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างระบบไอที

2.) ผสานองค์กรและการดำเนินงานรวมกัน โดยมุ่งถึงประโยชน์สูงสุดจากการปรับปรุงองค์กรและรูปแบบการดำเนินงานผ่านระบบออโตเมชั่น ดิจิทัล และการลดความซ้ำซ้อน เช่นศูนย์บริการที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การใช้อัตราค่าคอมมิชชั่นที่ดีที่สุดระหว่างดีแทค และทรู รวมถึงแนวทางการดำเนินงานที่ดีที่สุด สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารงานสำหรับการลดความซ้ำซ้อนของสถานที่ทำงาน ลดพื้นที่ และค่าใช้จ่าย รวมถึงยุติการใช้งานแพลตฟอร์มที่ซ้ำซ้อน

3.) การจัดซื้อจัดจ้างด้วยสเกลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ได้ราคาที่ดีที่สุดของดีแทคและทรู รวมถึงการเจรจากับผู้จำหน่ายหลัก (vendors) โดยได้จากประโยชน์ของขนาดและปริมาณการสั่งซื้อของบริษัทใหม่เอีกทั้ง ประโยชน์จากข้อตกลงผู้ผลิตตามข้อเสนอที่ดีที่สุดจากพันธมิตรระดับโลก เช่น เทเลนอร์กรุ๊ป

4.) ปัจจัยอื่นๆ จากผสานรวมกัน โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มโอกาสการนำเสนอการขายแบบ cross-selling ให้กับลูกค้าดีแทคและทรู สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้น

ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างของต้นทุนอย่างต่อเนื่อง การใช้สินทรัพย์เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุด และการเติบโตแบบมีกำไร EBTIDA จะเติบโตเร็วกว่ารายได้จากการให้บริการ โดยคาดว่าอัตรา EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการจะดีขึ้น 11 จุด (Percentage point) ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ด้วยผลประโยชน์จากการรวมการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) รวมถึงการรวมคลื่นความถี่ และความมีวินัยในการบริหารจัดการเงินลงทุนซึ่งฝังอยู่ในวิถีการทำงานของเรา ค่าใช้จ่ายการลงทุน CAPEX ของทรู คอร์ปอเรชั่นหลังจากการรวมเครือข่ายเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงก่อนควบรวม ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำในการให้บริการด้าน เทคโนโลยีที่มีจุดแข็งจากผู้ถือหุ้นของเรา ทรู คอร์ปอเรชั่นพร้อมที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่และส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน

นับหนึ่งเส้นทางแห่งการทรานส์ฟอร์ม
นางสาวศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมว่า “ด้วยเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ทำให้วาระด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่และการทรานส์ฟอร์ม (Culture and Transformation) ถือเป็นพันธกิจหลักของทรู โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยผลงาน (Performance Driven Culture) และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างก้าวกระโดด (Leapfrogging people capability)”

โดยปัจจุบัน มีการดำเนินตาม 4 เสากลยุทธ์ ได้แก่
1.) ขนาดและโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับการทิศทางและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

2.) องค์กรแห่งอนาคตผ่านโมเดลการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ Modernization, Simplification และ Automation โดยเน้นกระตุ้นการทำงานแบบ Cross Functional

3.) พัฒนาศักยภาพพนักงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านโปรแกรมปรับและเพิ่มพูนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ

4.) เพิ่มความแข็งแกร่งของ talent ผ่านการวางแผนผู้สืบทอด (Succession Plan) การรักษาบุคลากร (Retention) ให้สอดรับกับภูมิทัศน์ด้านแรงงานแห่งอนาคต (Future Workforce)

ทั้งนี้ การทรานส์ฟอร์มองค์กรนั้นจะเป็นลักษณะของการ ‘ร่วมสร้าง’ (Co-Creation) จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) กล่าวคือ พนักงานทุกคนมีส่วนในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรม โดยมีเป้าหมายการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาค โดยดำเนินงานผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Organization Health Survey, Mirror Workshop และ Value Workshop นอกจากนี้ การประเมินความพึงพอใจของพนักงานจะยึดความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ยินเสียงความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง พร้อมกับการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อกิจกรรมภายใน

จะเห็นได้ว่า มูฟของทรูฯ หลังการควบรวมกิจการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านความเร็วและประสิทธิภาพ การมีมาสเตอร์แพลนที่ชัดเจน รวมถึงคุณค่าและวัฒนธรรมจากล่างขึ้นบน รับฟังและให้โอกาสในการพูด แนวทางการทำงานที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากนี้ใม่ง่ายเลยสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ด้วยความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความเชี่ยวชาญของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย คือเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ ได้ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น บทใหม่นี้ก้าวสู่ความพร้อมในฐานะองค์กรแห่งอนาคต Future Ready True เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม–เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาคต่อไป

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 78 ปีก่อน องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ จึงถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ นำโดยประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ลงนามให้สัตยาบันรับรอง ‘กฎบัตรสหประชาชาติ’ (United Nations Charter) ซึ่งเป็นธรรมนูญของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ 

ยูเอ็นเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพและความยุติธรรม มีความมั่นคงระหว่างประเทศ พัฒนาสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและประสานงานของชาติต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

‘เศรษฐา’ เรียก รมต.ติดตามงาน ก่อนประชุมช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล พร้อมจับตา!! ‘เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง’ คิกออฟ ‘30 บาทพลัส’ นัดแรก 24 ต.ค.นี้

(23 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้ากระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินความไม่สงบในอิสราเอล-กาซา (RRC)

ก่อนการประชุมดังกล่าวนายกฯ ได้เรียกรัฐมนตรีมาหารือนอกรอบ ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน, นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เพื่อติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล รวมถึงเรื่องการช่วยเหลือตัวประกัน นอกจากนี้จะมีหารือ เรื่องการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน และการเตรียมข้อมูลด้านเอกสารในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่  24 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในวันที่ 24 ต.ค.เวลา 13.00 น. ภายหลังการประชุมครม.นายกฯ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 /2566 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ เข้าร่วมประชุมด้วย

นอกจากนี้ยังมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการฯ เพื่อประชุมพิจารณาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคพลัส ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา

‘ศิริกัญญา’ มอง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น’ อาจถึงทางตัน เหตุกู้ออมสินไม่ได้ ชี้!! ขัดต่อ พ.ร.บ.ก่อตั้งธนาคาร

(23 ต.ค. 66) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันอย่างต่อเนื่อง ที่ทิศทางของโครงการอาจจะไปสู่ทางตัน ว่า…

[หรือว่า Digital wallet จะถึงทางตัน...?]

ธนาคารออมสินที่ยืนหนึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบที่จะใช้สำหรับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 5.6 แสนล้าน อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว

ไม่ใช่แค่ว่าออมสินมีสภาพคล่องไม่พอ แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้

ตามมาตรา 7 ของ พรบ.ออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าให้ทำกิจการใดบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงิน ปล่อยกู้ ซื้อขายพันธบัตร ลงทุน ไม่มีข้อไหนที่ให้รัฐบาลกู้เงินได้ แต่หากจะทำกิจการอื่น ต้องตราเป็น พรฎ.

ซึ่งเมื่อไปดูใน พรฎ. กำหนดกิจการพึงเป็นงานธนาคาร ระบุกิจการไว้ 13 ข้อ ลงรายละเอียด ไปจนถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศ การออกบัตรเครดิต ที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ไม่มีข้อไหนเลยที่เข้าข่ายจะตีความว่านำเงินให้รัฐบาลกู้ยืมได้ ถ้าไม่เชื่อลองถามกฤษฎีกาดูก็ได้ค่ะ

ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ

สมัยประยุทธ์ทำรัฐประหารใหม่ๆ ก็เคยออกคำสั่ง คสช. แก้ พรบ.กสทช. ว่าด้วยวัตถุประสงค์ กองทุนวิจัยและพัฒนา ของ กสทช. ให้เพิ่มว่ากองทุนสามารถให้กระทรวงการคลังกู้ยืมเงินได้ ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังก็มากู้ไปจริงๆ 14,300 ล้านบาท (ที่ตลกก็คือ มีการออกคำสั่ง คสช.อีกฉบับเพื่อแก้ พรบ.กลับไปเป็นเหมือนเดิม พร้อมยกหนี้หมื่นล้านนี้ให้กระทรวงการคลังด้วย) 
เราก็ต้องมาวัดใจกันดูว่าจะถึงขั้นแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐฯ สามารถกู้เงินออมสินได้หรือไม่

**ถ้าไม่แก้กฎหมาย เหลือทางเลือกอะไรอยู่บ้าง**

เหลือแค่ใช้เงินงบประมาณ กับออก พรก.กู้เงิน เหมือนช่วงโควิด

Update ข้อมูลงบ 67 ที่ปรับปรุงใหม่ ตามภาพที่ 2 ถึงจะขยายงบเป็น 3.48 ล้านล้าน แต่ก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม ลงทุนเพิ่มตามไปด้วย เมื่อหักรายจ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย ทั้งเงินเดือนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ งบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เงินชดใช้เงินคงคลัง งบท้องถิ่น และสวัสดิการตามกฎหมาย

งบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริงเพิ่มมาเป็น 476,000 ล้าน ก็จริง แต่ขอย้ำว่านี่คือรายจ่ายประจำที่ต้องแชร์กับพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง ถ้าใช้หมดนี่ก็หมายความว่า แต่ละกระทรวงได้เงินแค่พอจ่ายเงินเดือน กับงบลงทุนโครงการอื่นๆ ไม่ต้องทำกันแล้ว จะตั้งกองทุน Soft Power ก็ไม่ได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มงบไม่ได้ งบอุดหนุนบรรเทาภัยแล้งก็ไม่ได้ งบอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 ก็ไม่ได้ โครงการฝึกอบรม Upskill-reskill อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทน อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็หายหมดเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าทางเลือกนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม

หรือ... จะให้ผู้ประกอบการเก็บเหรียญดิจิทัลไว้ ยังไม่ให้แลกคืน รออีกซักปี 2 ปี ให้มีงบประมาณพอ ก็อาจเป็นอีกทางเลือก แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ

ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็น พรก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตาม รธน.

น่าคิดนะคะ ว่าอาจจะถึงทางตันจริงๆ

4 เคล็ดลับของคุณแม่แดนอาทิตย์อุทัย ที่ทำให้ ‘ญี่ปุ่น’ มีเด็กที่มีสุขภาพดีที่สุดในโลก

(23 ต.ค. 66) ท่ามกลางวัฒนธรรมการบริโภคอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็งที่อุดมด้วยโซเดียม ไขมัน น้ำตาล สารเคมี อันเป็นสาเหตุให้มีเด็ก และเยาวชนทั่วโลกมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินมาตรฐาน เสี่ยงต่อการเป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง แม้อายุยังน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงจะเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สวัสดิการความเป็นอยู่ดี มีอาหารการกินสะดวก สบาย แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่า เด็กๆ ในประเทศเหล่านี้ จะไม่มีปัญหาในการเลือกรับประทานอาหารการที่สมดุลย์ ถูกหลักโภชนาการแต่อย่างใด และดูเหมือนว่า ยิ่งมีอาหารปรุงแต่งให้เลือกสรรมาก เด็กๆ ยิ่งมีปัญหาสุขภาพ และโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

แต่เมื่อมีการสำรวจโภชนาการเด็กขององค์การ ‘UNICEF’ ก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่าในบรรดา 41 ชาติจากสหภาพยุโรป และ กลุ่มประเทศเศรฐกิจชั้นนำในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีเพียง ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศเดียวเท่านั้นที่มีเด็กในอัตราส่วนน้อยกว่า 1 ใน 5 ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน สร้างความแปลกใจให้กับบรรดาพ่อแม่ชาวตะวันตกอย่างมาก ว่าคุณแม่ชาวญี่ปุ่นทำอย่างไร ที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติเด็กมีสุขภาพดีที่สุดในโลก

ซึ่งพบว่า พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นมีเคล็ดลับเพียง 4 ประการ ในการดูแลลูกที่แตกครอบครัวชาวตะวันตกอื่นๆ

1.) ครอบครัวชาวญี่ปุ่นยึดมั่นวิถีการกินอาหารแนว ‘โชคุอิคุ’
วิถีการรับประทานอาหารแนว ‘โชคุอิคุ’ (食育) คิดค้นโดยนายแพทย์ อิชิสุกะ กาเซ็น เมื่อราวปี 1896 ที่เป็นการสอนหลักด้านโภชนาการของชาวญี่ปุ่น

นายแพทย์อิชิสุกะ ถือเป็นผู้บุกเบิกโภชนาการแนว ‘Macrobiotic diet’ หรือ ‘อาหารมหชีวนะ’ เน้นการบริโภคข้าวเป็นหลัก กับ พืชผักท้องถิ่น พืชทะเล ถั่ว ในสัดส่วนที่สมดุลย์ เหมาะสมต่อร่างกาย ซึ่งในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย ข้าวกล้อง 40-60% ผัก 25-30% ถั่ว หรือพืชตระกูลถั่ว 5-10% พืชทะเล หรือสาหร่าย 5-10% และอาหารท้องถิ่นปรุงจากกรรมวิธีธรรมชาติ 5-10% โดยเนื้อสัตว์จะเน้นเป็นปลา หรืออาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่

ประกอบกับการจัดวางเซทอาหารแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘อิชิจู ซันไซ’ (一汁三菜) ที่ต้องประกอบด้วยข้าวสวย 1 ถ้วย ซุปมิโสะ 1 ถ้วย และกับข้าว 3 อย่าง ที่เป็นกับข้าวจานหลัก 1 จาน ที่อาจเป็นปลา ไข่ หรือ เนื้อ กับข้าวจานรอง 1 จาน ที่มักเป็นเต้าหู้ ถั่ว ผักสดท้องถิ่น กับผักดอง 1 ถ้วยเล็ก ใน 1 เซทจะได้สารอาหารครบถ้วนต่อความต้องการของร่างกาย

ซึ่งชาวญี่ปุ่นจริงจังกับการบริโภคอาหารแนว ‘โชคุอิคุ’ อย่างมาก ถึงขั้นตราเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ต้องมีหลักสูตรการสอนโภชนาการแนวญี่ปุ่นในระดับโรงเรียน รวมถึงการปรุงอาหาร ถนอมอาหาร และการเพาะปลูกพืชผักท้องถิ่น ให้กับนักเรียนด้วย ที่ทำให้วิถีการกินอยู่แบบญี่ปุ่น ที่เน้นความสมดุลย์ของสารอาหาร จากวัตถุดิบท้องถิ่นถูกปลูกฝังให้แก่เยาวชนของญี่ปุ่นมานานหลายสิบปี จึงส่งผลดีต่อค่าเฉลี่ยสุขภาพของเด็ก และ เยาวชนในประเทศญี่ปุ่น

2.) ส่งเสริมค่านิยมการทำอาหารกินเอง
95% ของโรงเรียนประถม และมัธยมในญี่ปุ่นมีระบบอาหารกลางวันที่ทำขึ้นเองในโรงเรียน ที่มีการคิดเมนูที่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารแต่ละมื้อ โดยนักโภชนาการอย่างรอบคอบ อีกทั้ง ยังส่งเสริมให้นักเรียนญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการทำอาหาร มีการผลัดเวรทำหน้าที่บริการเสิร์ฟ แจกอาหารให้กับเพื่อนร่วมชั้น

แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กระดับชั้นอนุบาล ผู้ปกครองญี่ปุ่นมักเตรียมข้าวกล่อง ที่เรียกกว่า ‘เบนโตะ’ ให้เด็กไปโรงเรียน ซึ่งครูมักให้เด็กๆ รวมกลุ่มรับประทานข้าวกล่องที่เตรียมมาร่วมกัน มีการพูดคุยเกี่ยวกับข้าวกล่องของนักเรียนแต่ละคน และมีการแลกเปลี่ยน แบ่งปันกับข้าวกับเพื่อน ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการกินอาหารที่ทำเองของชาวญี่ปุ่นที่ให้ประโยชน์ และความสดใหม่มากกว่าอาหารสำเร็จรูป

3.) ชาวญี่ปุ่นวางแผน และเตรียมอาหารล่วงหน้า
ครอบครัวชาวญี่ปุ่นนิยมเตรียมวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารไว้ล่วงหน้า เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการอาหารให้กับสมาชิกในบ้าน ทั้งผักดอง ผักสด ผลไม้ โปรตีน ที่เตรียมไว้โดยคำนึงถึงคุณค่าโภชนาการแบบ ‘โชคุอิคุ’ เช่นกัน อีกทั้งในบางโรงเรียนยังมีกฏ ห้ามจำหน่ายขนมขบเคี้ยวที่มีไขมัน น้ำตาลสูง หรือคาเฟอีน เช่น มันฝรั่งทอด คุกกี้ กาแฟ ภายในโรงเรียนด้วย เป็นการจำกัดโอกาสการรับประทานขนมขบเคี้ยวที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเด็ก

4.) ชาวญี่ปุ่นนิยมดื่มน้ำ หรือน้ำชา มากกว่าน้ำอัดลม
นี่อาจเป็นนิสัยการกินดื่มที่ดีอย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ที่เลือกดื่มน้ำเปล่า น้ำแร่ หรือ ชา มากกว่าน้ำอัดลมที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และเมื่อคนในครอบครัวไม่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำในบ้าน เด็กญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ดื่มน้ำอัดลมตามผู้ปกครองเช่นกัน ซึ่งช่วยลดโอกาสการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มรสหวาน หรือน้ำอัดลมมากเกินไป ที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานแคลอรีส่วนเกินในร่างกาย ที่เป็นสาเหตุของ ‘โรคอ้วน’ นั่นเอง

และนี่ก็คือเคล็ดลับ 4 ประการของครอบครัวชาวญี่ปุ่น จากการบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการวิถีญี่ปุ่น ที่นอกจากจะทำให้เด็กๆมีสุขภาพดีแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญให้ชาวญีปุ่นมีค่าเฉลี่ยอายุที่แข็งแรง และยืนยาวจนชาวตะวันตกต้องทึ่งกันนั่นเอง 

‘ทิพานัน’ ชี้!! ผลงาน ‘บิ๊กตู่’ 9 ปี มีเพียบ ยกผลงานเจรจาการค้าเด่น หนุนเปิดประเทศ-เปิดโอกาส ชู ‘ศักยภาพผู้นำที่ดี’ พาไทยแกร่งรอบด้าน

‘ทิพานัน’ ติงนักวิชาการ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ยกผลงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยุค ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ผลงานเพียบ เปิดประเทศ เปิดโอกาส และเปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาคสุดปัง ชู ‘ภาวะผู้นำที่ดี’ ทำทีมไทยแกร่ง 6 ด้าน

(23 ต.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘อ้น ทิพานัน ศิริชนะ’ ถึงกรณีที่นักวิชาการแสดงความเห็นเปรียบเทียบ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า…

ลุงตู่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ทั้งเปิดประเทศ เปิดโอกาส เปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาค

ที่สำคัญเพราะ ‘ภาวะผู้นำที่ดี’  จึงมีดังนี้

#รัฐบาลลุงตู่ มีผู้แทนการค้าไทยที่แข็งแกร่ง

#รัฐบาลลุงตู่ มีทูตทางการค้าที่เข้าใจลูกค้า

#รัฐบาลลุงตู่ มีนโยบายจากBOIที่ชวนมาลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ มีกฎหมายอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ เดินหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาตลอด 9 ปี

#รัฐบาลลุงตู่ พัฒนาทุกมิติไม่ใช่แค่หิ้วกระเป๋าไปขายของ

สิ่งเหล่านี้คือ ‘รากฐาน’ สำหรับการไปขายของในอนาคต

บทความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จาก รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ว่า…

“เพราะถ้ามีการเปรียบเทียบทั้งสองคน ในแง่การไปเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมัย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการเจรจาพูดคุยอะไรต่างๆ กับต่างชาติติดลบ”

“และการเดินสายต่างประเทศคงเป็นความพยายามหลังจากที่ขาดหายไปนานในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หลากหลาย”

การนำเสนอตรงนี้อาจไม่ครบถ้วน ตรงตามหลักวิชาการ และคนอาจเชื่อตามข้อมูลนั้นไปแบบไม่ครบถ้วน จึงขอนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนอีกด้าน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนทุกมิติ ที่ทำให้เห็นว่า ลุงตู่วางรากฐานการลงทุนที่จับต้องได้ ไม่ขายฝัน และ #มีคนทำงานแต่ละด้านที่เป็นมืออาชีพ จนสำเร็จลุล่วง และเดินหน้าพบปะกับต่างชาติทั่วโลกมาตลอดระยะเวลา 9 ปี และมีผลงานโดดเด่นมากมาย เช่น ซาอุฯ จีน เป็นต้น

การเดินทางพบผู้นำและประชุมระดับโลกและอาเซียน ของลุงตู่ เพื่อการค้าและการลงทุน และมิติอื่นๆ มีอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างดังนี้

- 12-15 ธ.ค. 65 ประชุมสุดยอดอาเซียน–สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ที่บรัสเซลส์ เบลเยียม

- 25-27 พ.ค. 65 ประชุมInternational Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ที่โตเกียว ญี่ปุ่น

- 12-13 พ.ค. 65 การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ วอชิงตันดี.ซี สหรัฐอเมริกา

- 25 ม.ค. 65 เยือนซาอุดีอาระเบีย เป็น ‘ความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย’ ให้กลับมาอยู่ใน ‘ระดับปกติ’ อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเป็นก้าวแรกของ ‘โอกาสอันมากมายมหาศาล’ 9 ด้าน คือ

1.) การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.) พลังงาน (เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของ 2 ประเทศ) ร่วมลงทุน-วิจัยพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน

3.) แรงงานไทย สนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใน ‘วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030’ (Saudi Vision 2030)

4.) อาหาร ผลิต-ส่งออกอาหารฮาลาลให้แก่ซาอุดีฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง GCC

5.) สุขภาพ-การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ของไทย

6.) ความมั่นคง ไทยจะได้รับประโยชน์จากซาอุดีฯ ประเทศมหาอำนาจในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย

7.) การศึกษาและศาสนา ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิม

8.) การค้าและการลงทุน ลู่ทางธุรกิจและหุ้นส่วนทางการค้าในซาอุดีฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการดึงดูดซาอุดีฯ ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของไทยด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

9.) กีฬา เช่น มวยไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

- 1 พ.ย. 64 เข้าร่วมประชุม ‘UN Climate Change Conference’ (COP 26) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ อังกฤษ และประกาศคำมั่นสัญญาใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2065 #จนเป็นที่มานโยบายด้านนี้ในไทย ที่ขับเคลื่อนจริง และนักลงทุนสนใจมาลงทุน

- 24 ก.ย. 64 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 24-27 พ.ย. 62 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 1 ที่ปูซาน เกาหลีใต้

- 21-27 ก.ย. 62 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 28-29 มิ.ย. 62 ในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ที่โอซากา ญี่ปุ่น

- 25 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศส

- 20 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนางเทรีซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ที่อังกฤษ

- 2-4 ต.ค. 60 หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐอเมริกา

- 14-16 ต.ค. 59 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 11 ที่อูลานบาตอร์ มองโกเลีย

- 16-18 มิ.ย. 59 เยือนอินเดีย เพื่อความร่วมมือด้านการค้า-ความมั่นคง

- 17-21 พ.ค. 59 เยือนรัสเซีย ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 11 ปี

- 9-11 พ.ย. 57 เข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 22 ที่ปักกิ่ง จีน

- 16-17 ต.ค. 57 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 10 ที่มิลาน อิตาลี

รัฐบาลลุงตู่ต้อนรับผู้นำที่มาเยือนไทย แสดงให้ต่างชาติเห็นศักยภาพบ้านเมืองไทยที่เจริญ และน่าลงทุนจริงๆ

- 14 ก.พ. 66 นายกฯ มาเลเซีย

- 10 ก.ค. 65 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา และไทยและสหรัฐฯ ลงนามร่วมกันในแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

- 4-5 ก.ค. 65 มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศของจีน

- ส่งเสริมการลงทุนใน EEC

- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง

- รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวกับระบบรางและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนของไทย

- ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

- ลงนาม MOU ด้านการรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

- 13 มิ.ย. 65 รมว.กลาโหมของอเมริกา

- 1-2 พ.ค. 65 นายกฯ ญี่ปุ่น

- 20-23 พ.ย. 62 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

- 8 ส.ค. 60 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา

- 27 ม.ค. 60 ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ

ความสำเร็จที่โดดเด่น และปังที่สุด คือ

- 18-19 พ.ย. 65 ลุงตู่ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอเปค ‘APEC2022’ ต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และได้รับคำชมเชยจาก ผอ.เลขาธิการเอเปค ยกย่องไทย จัดประชุม APEC2022 ได้ยอดเยี่ยม ระดับ world class และผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” สำเร็จในเวทีโลก

- 15 พ.ย. 63 ไทยร่วมก่อตั้งและลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค #RCEP กับ 14 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน (30% ของ GDP โลก) เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 65

- 16 ธ.ค. 62 ‘ประเทศแรกในเอเชีย’ ไทยประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

- ปี 61-66 ไทยคงสถานะอันดับสูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน สำหรับดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index)

- ปี 58-61 ไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับ EU
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ รัฐบาลลุงตู่ วางรากฐานความเชื่อมั่น เปิดประเทศและไปแนะนำประเทศ ให้คนทั่วโลกรู้จักและมาลงทุนในไทย

ดังนั้น อาจมีใครหลายคนที่อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลและวิจารณ์บนพื้นฐานไม่รู้… จะได้รู้เพิ่มเติมค่ะ

ข้อมูลจาก https://www.soc.go.th/?page_id=10338

รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ (1) ปีที่ 1-4 และ (2) ปีที่ 1-3 
#ลองหาอ่านดูเผื่อใครสนใจค่ะ

23 ตุลาคม 2566
Cr. เพจ อ้น ทิพานัน ศิริชนะ

‘กิตติ์ธัญญา’ ชี้ ดิสเครดิต ‘เงินดิจิทัล’ เป็นเรื่องปกติ เหน็บคนไม่เห็นด้วย คงหวั่น ปชช.จะชื่นชอบ ‘พท.’ มากขึ้น

(23 ต.ค. 66) น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีเสียงท้วงติงและบางส่วนอาจมีการด้อยค่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายว่าเป็นการดิสเครดิตหรือไม่ ว่า เป็นธรรมดาของการเมืองที่จะมีการดิสเครดิตกัน แต่อยากให้คนที่คอยดิสเครดิตนโยบายต่างๆ ฟังเสียงประชาชนด้วย ทั้งนี้ จากที่ตนได้ลงพื้นที่ไม่มีใครไม่อยากได้ มีแต่คนบอกว่าอยากได้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเงินจำนวน 10,000 บาท หากรวมคนในครอบครัว บางครอบครัวก็อาจจะสามารถตั้งตัวได้ และเราไม่ทราบเลยว่าส่งผลเสียตรงไหน

น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าวต่อว่า คนที่มาด้อยค่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ถามว่าเขามีเงินเดือนหลักแสน หลักห้าหมื่น หกหมื่นต่อเดือน เขาเคยลำบากหรือไม่ว่าวันนี้หางานหาเงิน กินพรุ่งนี้ คำที่บอกว่าหาเช้ากินค่ำ วันนี้ใช้ไม่ได้แล้วเพราะหาเช้าวันนี้กินเช้าวันพรุ่งนี้ ทุกวันนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนที่มีหนี้นอกระบบ เขาหาเงินตัวเป็นเกลียว หากมีเงิน 10,000 บาทมาซัพพอร์ตเขาบ้าง แม้จะไม่ใช่เงินที่ยิ่งใหญ่ที่อาจจะไม่ได้ทำให้เขารวยเป็นมหาเศรษฐี แต่มันสามารถทำให้เขายืดระยะเวลาในการอดมื้อกินมื้อได้

“เหตุผลหลักที่เขาต่อต้านเป็นเพราะเขากังวลว่าจะเป็นนโยบายที่ประชาชนชอบ แล้วจะดึงความสนใจของประชาชนกลับมาที่นายกรัฐมนตรีและพรรคการเมือง แต่คนที่จำเป็นต้องใช้ไม่มีใครต่อต้านเลย มีแต่ถามว่าแค่นี้หรือ ขยายการซื้อได้หรือไม่ เรื่องนี้มีประเด็นเดียวคือประเด็นเรื่องการเมือง กลัวว่าเราเป็นพรรคที่ประชาชนชื่นชมอยู่แล้ว ประชาชนจะยิ่งเครซี (crazy) ในนโยบายพรรคเพื่อไทยที่จะทำได้มากยิ่งขึ้น” น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าว

เมื่อถามว่า กังวลว่าจะกระทบกับความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อพรรค พท.หรือไม่ น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าวว่า คนที่กังวลไม่ใช่เราแต่เป็นชาวบ้านที่เขารอความหวังจะใช้เงินนี้ ชาวบ้านเขาพูดว่าเห็นคนรวยมาบอกไม่ให้แจก แล้วถ้าคนรวยไม่ยอมให้แจก ส.ส.กับนายกรัฐมนตรีจะกลัวคนรวยไม่เลือกหรือไม่ แล้วจะยังมองเห็นคนจนอยู่หรือไม่ คนจนอยากได้ อย่าฟังแต่เสียงคนรวย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มองว่าไม่สามารถแบ่งคนรวยกับคนจนได้ เพราะเงินที่นำมาให้ก็เป็นเงินภาษีของทุกคน ย้ำว่าเราไม่กังวลเพราะเป็นนโยบายที่เราจะทำ

“ดิฉันมองว่าแม้แต่พระพุทธเจ้ายังถูกวิพากษ์วิจารณ์ แล้วนับประสาอะไรกับพรรคการเมือง นายกรัฐมนตรี หรือนักการเมืองที่จะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียดสี แต่ทั้งนี้หากเรามองแค่คนกลุ่มหนึ่ง แล้วไปแคร์แค่กลุ่มเดียว คนอีกล้านๆ คนที่เขาต้องการ เราจะไม่แคร์เขาหรือ คนที่กังวลในการที่ด้อยค่าหรือบูลลี่ในเงินหมื่นบาท ไม่ใช่เรา ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่เป็นประชาชนตาดำๆ ที่เขารอคอยความหวังกับเงินนี้ เราแคร์และเราฟังทุกเสียง ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อะไรที่มีข้อเสียน้อยที่สุด และเราจะทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์มากที่สุดให้กับประชาชน” น.ส.กิตติ์ธัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า อยากสื่อสารอะไรถึงประชาชนที่ทั้งเห็นด้วยและอาจมีเสียงท้วงติงหรือไม่ น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าวว่า ปัจจุบันถามว่าระหว่างสุขภาพดีกับมีเงินจะเลือกอะไร ฉะนั้น พรรค พท.เราทำควบคู่กันไป เรารื้อเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อจะให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังพยายามลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสให้ประชาชน

‘ญี่ปุ่น’ เปิดผลสำรวจพบ ‘วัยทำงาน’ 45% นอนน้อยกว่า 6 ชม.ต่อคืน ชี้!! เสี่ยงเป็น ‘ซึมเศร้า’ เร่งหาวิธีร่นเวลาทำงาน-เซฟสภาพจิตใจ

(23 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, โตเกียว รายงานว่า ผลสำรวจจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อไม่นานนี้ พบประชาชนที่ทำงานในญี่ปุ่นทั้งหมดร้อยละ 45.5 นอนหลับโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน

สมุดปกขาวที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนนี้ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามสำรวจร้อยละ 10 เผยว่านอนหลับน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน ร้อยละ 35.5 นอนหลับคืนละ 5-6 ชั่งโมง และร้อยละ 35.2 นอนหลับคืนละ 6-7 ชั่วโมง

ผลสำรวจพนักงาน 10,000 คน พบราวร้อยละ 70 ของผู้นอนหลับตามปริมาณเวลาอันเหมาะสม ไม่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 40 ในหมู่ผู้นอนหลับน้อยกว่าปริมาณเวลาอันเหมาะสม 3-5 ชั่วโมง

ผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น พบร้อยละ 27.4 ของคนทำงานที่นอนหลับน้อยกว่าปริมาณเวลาอันเหมาะสม 4 ชั่วโมง และร้อยละ 38.5 ของคนทำงานที่นอนหลับน้อยกว่าปริมาณเวลาอันเหมาะสม 5 ชั่วโมง มีแนวโน้มป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลขั้นรุนแรง

กระทรวงฯ เสริมว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไขชั่วโมงการทำงานอันยาวนานอย่างยิ่ง และช่วยให้คนงานมีเวลานอนหลับพักผ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อพวกเขาสามารถรักษาสภาพจิตใจให้แข็งแรงดีได้

‘นายกฯ อิตาลี’ ประกาศแยกทางสามีสายฟ้าแลบ หลังฝ่ายชายโชว์หื่นออกทีวี ขณะคุยเรื่องเพศกับพิธีกรหญิง

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน่า นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนีของอิตาลี ประกาศเลิกรากับคู่ครองผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากเขาแสดงความเห็นลามกในรายการโทรทัศน์

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเมโลนี วัย 46 ปี ประกาศทางสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันศุกร์ (20 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับนายอันเดรีย จัมบรูโน ที่ดำเนินมาเกือบ 10 ปี ได้ยุติลงแล้ว ขอขอบคุณเขาที่ได้ใช้เวลายอดเยี่ยมร่วมกันมาหลายปี ผ่านพ้นปัญหามาด้วยกัน และให้สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ นั่นคือจีเนวรา บุตรสาววัย 7 ขวบ

ผู้นำอิตาลีประกาศเรื่องนี้ 2 วันหลังจากนายจัมบรูโน วัย 42 ปี ที่ใช้ชีวิตคู่กับเธอโดยไม่ได้แต่งงานกัน แสดงความเห็นลามกและจับของสงวนของตนเองขณะชวนพิธีกรร่วมที่เป็นสตรีคุยเรื่องเพศในช่วงพักโฆษณา ซึ่งยังมีการถ่ายทอดสดทางสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ของรายการ เขาแถลงผ่านตัวแทนในวันศุกร์ว่า ได้ตกลงกับบริษัทผู้ผลิตรายการว่าจะพักการทำหน้าที่พิธีกรหลังเกิดเหตุดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top