Monday, 12 May 2025
NewsFeed

ผลสำรวจชี้ ชาวโปแลนด์กว่าครึ่งไม่ต้องการเข้าร่วมการฝึกทหารอดีตหน่วยรบพิเศษ GROM ผิดหวัง เตือนควรตื่นตัวมากกว่านี้

(26 มี.ค. 68) ผลสำรวจโดย Opinia24 สำหรับสถานีวิทยุ RMF FM เผยให้เห็นว่า ประชาชนโปแลนด์มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับโครงการฝึกทหารของรัฐบาล โดยมีเพียง 35% เท่านั้นที่พร้อมเข้าร่วมการฝึกโดยสมัครใจ ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร (54%) ไม่ต้องการเข้าร่วม

สำหรับรายละเอียดของผลสำรวจพบว่า 14% ของผู้ตอบแบบสอบถาม “พร้อมอย่างแน่นอน” 21% “ค่อนข้างพร้อม” 21% “ค่อนข้างไม่พร้อม” 33% “ไม่พร้อมอย่างแน่นอน” และอีก 12% ระบุว่า "ไม่ทราบ/ยากที่จะตอบ" 

โดยโครงการฝึกอบรมทางทหารดังกล่าวเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทุสก์ (Donald Tusk) ประกาศเมื่อต้นเดือนมีนาคม กำหนดให้ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนต้องเข้ารับการฝึก ขณะที่ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมได้โดยสมัครใจ

ด้าน พาเวล มาเตนชุก (Paweł Mateńczuk) อดีตทหารจากหน่วยรบพิเศษ GROM และปัจจุบันเป็นผู้แทนกระทรวงกลาโหมด้านเงื่อนไขการรับราชการทหาร ได้แสดงความผิดหวังต่อผลสำรวจดังกล่าว โดยเขาระบุว่า

“ผมมั่นใจในกองทัพโปแลนด์ในฐานะสถาบันที่พัฒนาตัวเองเพื่อปฏิบัติภารกิจปกป้องประเทศของเรา (แต่ผมรู้สึกเศร้าเมื่อเห็นสถิติเหล่านี้ เพราะผมคิดว่าเมื่อมีโอกาสในการฝึกทหาร และเรามีพรมแดนติดกับประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม สังคมของเราควรมีความกระตือรือร้นมากกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงกระแสต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาจมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาระหน้าที่ ความเสี่ยง และมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับนโยบายด้านกลาโหมของรัฐบาล

ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกระแสต่อต้านจากประชาชน การสำรวจนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงในอนาคต

รางวัลเทพทองพระราชทาน 'สถาบันพระปกเกล้า-ผลิตไฟฟ้าราชบุรี -สภาทนายความ' คว้าองค์กรต้นแบบ ขณะที่ คนดัง-ศิลปิน-นักร้อง-ผู้ประกาศข่าว-นักจัดรายการ แห่รับรางวัลคับคั่ง

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.68) ที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มอบรางวัล เทพทอง ครั้งที่ 23 จัดโดยสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สวทท.) โดยมี นางสาวชุติพันธุ์ ลิมปะพันธุ์ นายกสมาคม นายสมชาย จรรยา อุปนายกฝ่ายโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล นายพลภฤต เรืองจรัส เลขาธิการ พร้อมคณะกรรมการบริหาร ร่วมในพิธี 

ปีนี้มีผู้เข้ารับรางวัลทั้งสิ้น 72 รางวัล ประกอบด้วย องค์กรดีเด่น 26 รางวัล บุคคลดีเด่นด้านโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ 16 รางวัล บุคคลดีเด่นด้านวิทยุกระจายเสียง 11 รางวัล และผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานเทพทองครั้งนี้รับโล่เกียรติยศ จำนวน 19 รางวัล

สำหรับปีนี้ “องค์กรดีเด่น” ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เทิดทูล สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นองค์กรที่มิได้ประกอบกิจการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของบ้านเมือง ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โค้ช เชโรงเรียนสอนเทควันโด้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด ผู้ผลิตเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ มูลนิธิธรรมดี องค์การบริหารส่วนตำบลโพนสว่าง จังหวัดหนองคาย หน่วยทหารพรานกองทัพบก องค์การบริหารส่วนตำบลกุดค้า อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดศรีสะเกษ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี ละครชาตรี คณะเพชรสุมาพร จังหวัดเพชรบุรี มูลนิธิยังมีเรา บริษัท ปิรามิด โซลูชั่น จำกัด จังหวัดภูเก็ต สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4 จังหวัดพิษณุโลก 

วัดต้นพยอม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนบ้านปากช่อง หมู่ที่ 3 อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี สมาคมข้าราชการบำเหน็จบำนาญ กระทรวงสาธารณสุข (สาขากรุงเทพมหานคร) สมาคมสโมสรวัฒนธรรมหญิง ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สโมสรไลออนส์ พัทยา-บางละมุง จังหวัดชลบุรี บริษัท เอ็ม.เจ.บางกอกวาล์วและฟิตติ้ง จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ สถานีข่าวเอทีวี บริษัท ทีวีนิวส์ จำกัด จังหวัดอยุธยา โรงแรมอาร์อัส โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น บริษัท โมเดิร์นโกลด์เยาวราช จำกัน 

สำหรับบุคคลดีเด่นด้านโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ได้แก่ นายสุวิกรม อัมระนันทน์ กรรมการผู้จัดการและพิธีกรรายการ รายการเปอร์-สเปกทิฟ (PERSPECTIVE) สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี หมายเลข 30 นายอดิศักดิ์ ศรีสม ผู้ผลิตและผู้บรรยายสารคดี รายการประวัติศาสตร์นอกตำรา ทางสื่อออนไลน์ (YouTube) นางสาวอุมาพร ธำรงวงศ์โสภณ บรรณาธิการข่าว และผู้ประกาศข่าว รายการสดข่าวเที่ยง สถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 นางสาวประภาศรี สภานนท์ ผู้ช่วยบรรณาธิการออนไลน์ และผู้ประกาศข่าว รายการตลาดข่าว และรายการตลาดข่าวสุดสัปดาห์ สถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้ผลิตรายการและผู้ดำเนินรายการ รายการข่าวเป็นข่าว สถานีโทรทัศน์ ท็อปนิวส์ หมายเลข 18 เจเคเอ็น นางสาวอัจฉรา ชูสว่าง โปรดิวเซอร์และผู้สร้างสรรค์การผลิตรายการ รายการลายกนกยกสยาม สถานีโทรทัศน์ ท็อปนิวส์ หมายเลข 18 เจเคเอ็น นายวารินทร์ สัจเดว พิธีกร ผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการข่าว รายการ TNN World Today สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16 นางสาวตะวันรุ่ง ปริสุทธิธรรม ผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการข่าว รายการ MONO ข่าวเช้า 

สถานีโทรทัศน์โมโน 29 ว่าที่ร้อยตรีภคพงศ์ อุดมกัลยารักษ์ ผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการข่าว รายการข่าวพร้อมบวก สถานีโทรทัศน์โมโน 29 นางรัสรินทร์ ปริยไชยพงศ์ ศิลปินนักแสดงอิสระ ฉายานางเอกหนังตลกร้อยล้าน (ชื่อในวงการ ปิยะมาศ โมนยะกุล) เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม นางสาวจิตรฉรีญา บุญธรรม นักร้องแนวลูกทุ่ง นักร้องหมอลำหญิงชาวไทย (ชื่อในวงการ บิว จิตรฉรีญา) เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม นายสุรพล ทองด้วง นักร้องหมอลำ แชมป์หมอลำไอดอลคนแรกจากรายการหมอลำไอดอล (ชื่อในวงการ อ๊อฟ สุรพล) สถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 นายวีระพงษ์ วงศ์ศรี ศิลปิน หมอลำต้นแบบ และนักประพันธ์ (ชื่อในวงการ บิ๊ก ภูมารินทร์) เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม นายภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ พิธีกร วีเจ ศิลปินนักแสดง นักดนตรี และ เจ้าของเพจท่องเที่ยว Go Went Go นายจิตกร บุษบา ผู้ดำเนินรายการ กู๊ดมอร์นิ่งแนวหน้า ทางแนวหน้าออนไลน์ นางสาวกนกวรรณ ขวัญอ่อน นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการพิเศษและนักจัดรายการสื่อออนไลน์ เพจ “กลุ่มช่วยด้วยใจ” ผู้ให้การปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยา 

บุคคลดีเด่นด้านวิทยุกระจายเสียง ได้แก่ นายวิชัย วรธานีวงศ์ นักจัดรายการวิทยุ รายการ ซีอีโอ วิชชั่น พลัส คลื่นความคิด เอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิรตซ์ นางสาวมลฤดี ลูกอินทร์ นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ และนักจัดรายการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดศรีสะเกษ เอฟเอ็ม 100.25 เมกะเฮิรตซ์ นางสาวปิยาภรณ์ กสิกรรมเมธากุล นักสื่อสารมวลชนปฏิบัติการ และนักจัดรายการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดยโสธร เอฟเอ็ม 90.0 เมกะเฮิรตซ์ 

รองศาสตราจารย์พนิดา จงสุขสมสกุล นักจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร เอฟเอ็ม 107.25 เมกะเฮิรตซ์นางสาวสุพัตรา พรหมศร นักประชาสัมพันธ์เชี่ยวชาญ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เอฟเอ็ม 87.5 เมกะเฮิรตซ์ นายอานันท์ จันทร์ศรี นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เอฟเอ็ม 87.5 เมกะเฮิรตซ์ นางสาวอาทิตยา ปักกะทานัง นักประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เอฟเอ็ม 89.5 เมกะเฮิรตซ์ นางสาวณัชชา โขมพัฒน์ ศิลปินนักร้องลูกทุ่ง ชื่อในวงการ นุจรี ศรีราชา นางสาวอรอุมา เกษตรพืชผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเค แมส จำกัด และผู้ดำเนินรายการวิทยุ รายการไอดอล สตอรี่ ทางสถานีวิทยุกองบัญชาการกองทัพไทย เอฟเอ็ม 101.0 เมกะเฮิรตซ์ นางสาวสาลี่ อินทร์โพธิ์ ศิลปินนักร้อง ชื่อในวงการ สาลี่ ขนิษฐา นายไอยรา อัลราวีย์ บรัศว์ตฤณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวออนไลน์ The States Times และผู้ดำเนินรายการ NAVY TIME สถานีวิทยุกระจายเสียงจากทหารเรือ (ส.ทร.) วังนันทอุทยาน เอฟเอ็ม 93.0 เมกะเฮิรตซ

พระราชทานโล่เกียรติยศ อาทิ นางสุกานดา พันธุ์เสือ เจ้าของกิจการ บริษัท กานตนาทัวร์ จำกัด จังหวัดหนองคาย นางอารยา กุลธัญวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ร้านวีที แหนมเนือง จังหวัดหนองคาย นางสาวนฤมล รักษาภักดี กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นฤมลทัวร์ จังหวัดหนองคาย นายจิรายุ สีกะมุท กำนันตำบลโนนสว่าง จังหวัดหนองคาย ว่าที่พันตรี รุ่งโรจน์ โพธิ์ทอง ข้าราชการบำนาญ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม นายสุรเดช มณีไพศาลสกุล ที่ปรึกษาตลาดมหาชัยเมืองใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร พระครูโสภณสาโรภาส (อภิวัฒน์ บางข่า) เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม นางสาวกนิษฐรินทร์ วามะศิริภัทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกร เดอะ เบสท์ จำกัด นางจริยา รอดเที่ยง ที่ปรึกษาสถานีโทรทัศน์ BMC TV ONLINE และที่ปรึกษาหน่วยเผยแพร่ศีลธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม นางสาวประภารัตน์ เชื้อเวียง ผู้บริหาร บริษัท ดับเบิ้ลเอ็มอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จังหวัดขอนแก่น แพทย์หญิงณัฐฐาภณิตา รพีพงษ์พัฒนา กรรมการ บริษัทเอเบิ้ล ทูบี จำกัด นายพีรณัฐ นาคสุวรรณ์ ประธานบริษัท แพรวาออยล์ จำกัด จังหวัดสุราษฎ์ธานี นายมหพล ฉันทสหวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มณีพาวเวอร์ จำกัด

เรืออากาศตรี กวิน สุยะนันทน์ กรรมการบริหาร บริษัท คิวเอ กรุ๊ป จำกัด นายวสันต์ พัดทอง ผู้ดำเนินรายการมิราเคิลพลังมู และผู้บริหารเพจเดี๋ยวรู้เรื่อง

ญี่ปุ่นยุคใหม่ เตรียมพึ่งพาแรงงานจากต่างแดนมากขึ้น คาด 10% ของประชากรจะเป็นชาวต่างชาติใน 20 ปี

(26 มี.ค. 68) รายงานล่าสุดจากสื่อญี่ปุ่นระบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่มีชาวต่างชาติคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ท่ามกลางวิกฤติประชากรลดลงและแรงงานขาดแคลน

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำและประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงต้องปรับนโยบายเพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ก่อสร้าง และเทคโนโลยี

ข้อมูลจากนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ชี้ว่า หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไป ภายในปี 2045 ชาวต่างชาติอาจมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของประเทศ

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มี วัฒนธรรมแบบเอกลักษณ์และค่อนข้างปิดต่อแรงงานต่างชาติในอดีต แต่สถานการณ์ปัจจุบันบีบบังคับให้ต้องเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น ขยายโครงการวีซ่าทำงาน และผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับแรงงานทักษะสูง เพื่อดึงดูดคนจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้การเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ก็อาจนำไปสู่ความท้าทายด้านการปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการ การศึกษา และการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า หากญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้ดี ประเทศอาจกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

อุตสาหกรรมดิจิทัลจีนพุ่งทะยานในปี 2024 รายได้แตะ 35 ล้านล้านหยวน (ราว 162 ล้านล้านบาท)

(26 มี.ค. 68) อุตสาหกรรมดิจิทัลของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2024 โดยรายได้และกำไรของอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า รายได้จากการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2024 ได้แตะระดับ 35 ล้านล้านหยวน (ราว 162 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ในขณะเดียวกัน กำไรรวม ของอุตสาหกรรมดิจิทัลจีนในปีนี้ก็เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 โดยมีมูลค่าถึง 2.7 ล้านล้านหยวน (ราว 12 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ มูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตรายใหญ่ในกลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์สื่อสาร, และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ขยายตัวถึง ร้อยละ 11.8 ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.4 จุด จากปีที่ผ่านมา

ส่วนในภาคซอฟต์แวร์ของจีน ก็ได้รับการขับเคลื่อนจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), แพลตฟอร์มคลาวด์, และธุรกิจรูปแบบใหม่อื่น ๆ ทำให้รายได้รวมในภาคนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 13.7 ล้านล้านหยวน (ราว 73 ล้านล้านบาท)

จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การยกระดับและปรับปรุงอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประจำปี 2025 ระบุว่า จีนจะเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคการผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตของผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังเดินหน้าผลักดันโครงการ 'เอไอพลัส' (AI Plus) ซึ่งเน้นความร่วมมือในการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับจุดแข็งด้านการผลิตและตลาดภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

‘เอ็กซอนโมบิล’ ขายกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในไทย หลังขายโรงกลั่น - คลังน้ำมัน - ปั๊มน้ำมันให้ ‘บางจาก’ ไปแล้วก่อนหน้านี้

(26 มี.ค.68) เอ็กซอนโมบิล ลงนามขายกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในประเทศไทย ทั้งหุ้นในแหล่งสินภูฮ่อมและการดำเนินการในแหล่งน้ำพอง ให้ฮอไรซอน ออยล์และมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ หลังขายกิจการโรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน และเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันให้ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไปทั้งหมดในปี 2566 โดยฮอไรซอน ออยล์และมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่เตรียมเข้าดำเนินการแหล่งน้ำพองในนามของกลุ่มบริษัทร่วม

บริษัท มาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ (Matahio Energy) ประกาศว่าได้ร่วมมือกับบริษัท ฮอไรซอน ออยล์ ลิมิเต็ด (Horizon Oil Limited) ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น (Exxon Mobil Corporation) เพื่อเข้าซื้อผลประโยชน์ 100% ในบริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพรเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ (ExxonMobil Exploration and Production Khorat Inc. หรือ EMEPKI) โดยสินทรัพย์ดังกล่าวรวมถึงหุ้นในแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม (Sinphuhorm) (ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการโดยตรง) และแหล่งน้ำพอง (Nam Phong) (เป็นผู้ดำเนินการโดยตรง) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบนบกในประเทศไทย ทั้งสองแหล่งมีการจัดการที่ดีและมีรากฐานที่แข็งแกร่ง

ฮอไรซอน ออยล์ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (ASX) และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซิดนีย์ ส่งหนังสือแจ้งต่อ ASX ว่าฮอไรซอน ออยล์ จะเข้าซื้อหุ้น 75% ใน EMEPKI โดยมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ (ดำเนินกิจการในมาเลเซีย สิงคโปปร์ นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์) จะเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลือ 25% และตกลงที่จะจัดการพนักงานของ EMEPKI และการดำเนินการแหล่งน้ำพองในนามของกลุ่มบริษัทร่วม โดยฮอไรซอน ออยล์ ระบุว่า การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เนื่องจากต้องการเงินทุนขั้นต่ำในการเข้าถึงสินทรัพย์ผลิตก๊าซที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนที่ดึงดูดใจและการคืนทุนอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งโอกาสในการเติบโต

ด้านมาตาฮิโอ เอนเนอร์ยี่ ระบุว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์จากเอ็กซอนโมบิลครั้งนี้เป็นการปูทางให้บริษัทเข้าสู่ภูมิศาสตร์ที่สาม นอกเหนือจากนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ และเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตและการกระจายความเสี่ยงของบริษัท อีกทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทในการดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทีมงานของมาตาฮิโอและฮอไรซอนมุ่งมั่นที่จะทำให้การถ่ายโอนการดำเนินการแหล่งน้ำพองเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพรเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ และ กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมลงนามในสัญญาขยายสัมปทานการดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติ ในเขตอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 (นอกพื้นที่โคราช) หรือ แหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง โดยต่อระยะเวลาสัมปทานให้บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพรเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ ออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2564 – 2574 ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในปริมาณ 8  ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน จะจัดจำหน่ายให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนและธุรกิจในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

เดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่ปี 2009 ลดการนำเข้าสินค้าและอาหาร สู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน

(26 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัสเซียได้เริ่มดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Self-sufficient economy) ตั้งแต่ปี 2009 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารและสินค้าภาคการผลิตที่สำคัญตามรายงานจากสำนักวิจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สแตรทฟอร์ (Stratfor)

แผนเศรษฐกิจพอเพียงของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ประเทศได้เผชิญกับผลกระทบจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและความตึงเครียดทางการค้ากับชาติตะวันตก โดยรัฐบาลรัสเซียมุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศและลดการพึ่งพาภายนอกเพื่อเสริมสร้างอำนาจและอิทธิพลของตนเองในเวทีโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เน้นที่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากต่างประเทศ โดยรัสเซียได้เพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรกรรมและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัสเซียยังได้พยายามพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคการผลิตเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมหนัก, ยานยนต์ และเทคโนโลยี

สแตรทฟอร์ รายงานว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เครมลินดำเนินการเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพิงจากการนำเข้าหรือการคว่ำบาตรจากชาติอื่นๆ และเพื่อให้รัสเซียสามารถดำเนินการได้อย่างมีอิสระในระดับภูมิภาคและโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงของรัสเซียได้รับการสนับสนุนจากหลายกลุ่มภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและปรับปรุงนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลรัสเซียยังคงพยายามเสริมสร้างการค้าภายในประเทศและเปิดตลาดการค้ากับพันธมิตรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ รายงานของ สแตรทฟอร์ ระบุอีกว่าแนวทางนี้ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจรัสเซียในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานเป็นหลัก แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองในด้านอื่นๆ ก็เริ่มเห็นผลในบางภาคส่วน

รัสเซียย้ำชัด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ‘ซาปอริซเซีย’ เป็นของมอสโก ยูเครน-ชาติตะวันตก ไม่สามารถอ้างสิทธิ์ได้อีกต่อไป

(26 มี.ค. 68) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียประกาศเมื่อวานนี้ (25 มี.ค.) ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia Nuclear Power Plant - ZNPP) ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัสเซียโดยสมบูรณ์ และย้ำชัดว่า เป็นไปไม่ได้ที่ยูเครนหรือประเทศอื่นๆ จะเข้ามาควบคุมโรงไฟฟ้าแห่งนี้

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียเป็นของสหพันธรัฐรัสเซีย การโอนความเป็นเจ้าของหรือให้ชาติอื่นเข้ามาควบคุมนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้” กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุในแถลงการณ์

สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน และถูกกองทัพรัสเซียเข้าควบคุมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

อย่างไรก็ตาม บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ยูเครน (Energoatom) ยังคงอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และเน้นย้ำว่ารัสเซียไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าควบคุม

ด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เนื่องจากอยู่ในเขตสู้รบ และมีรายงานเหตุการณ์โจมตีใกล้กับโรงไฟฟ้าหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนในเดือนนี้ โดยมีรายงานว่า ทรัมป์ได้เสนอแนวคิดให้สหรัฐฯ เข้าควบคุม หรือแม้กระทั่ง “ครอบครอง” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในยูเครน เพื่อเป็นหลักประกันในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย

แต่เซเลนสกีได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด “เป็นของชาวยูเครน” และย้ำว่ายูเครนจะไม่ยอมให้ประเทศอื่นเข้ามาครอบครองหรือควบคุมโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศ

รายงานระบุว่า ผู้นำยูเครนได้หารือกับทรัมป์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้ามาร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (ZNPP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย

การพูดคุยระหว่างทรัมป์และเซเลนสกีครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงพลังงานของยูเครนยังคงเผชิญแรงกดดันจากรัสเซีย ซึ่งยึดครองโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียมาตั้งแต่ปี 2022 ขณะที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกกำลังมองหาหนทางในการช่วยเหลือยูเครนทั้งในด้านการทหารและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้ลงนามออก กฤษฎีกาประกาศให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย เป็นทรัพย์สินของรัสเซียอย่างเป็นทางการ ตอกย้ำการควบคุมของมอสโกเหนือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้

กกพ. ประกาศตรึงค่าเอฟที 36.72 สตางค์/หน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 68 อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 12/2568 (ครั้งที่ 954) วันที่ 26 มีนาคม 2568 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 คงเดิมที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสอดคล้องกับอัตราที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอมา เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 11 - 24 มีนาคม 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 33 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 29 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 3 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 1 ความเห็น 

โดยสามารถสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเป็นสัดส่วนร้อยละได้ ดังนี้
สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. 
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1 (ค่าเอฟที 137.39 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 21%
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 2 (ค่าเอฟที 116.37 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 18%
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 3 (ค่าเอฟที 36.72 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 49%
- ข้อเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือกรณีศึกษา จำนวน 9%
- ข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟที จำนวน 3%
รวมทั้งสิ้น (33 ความเห็น) เป็น 100%

ในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ้นสุด กลางเดือนพฤษภาคม สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิก ใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย

มุกดาหาร สนพท. เลือก วิลาสินี เจริญสุข สื่อ และนักธุรกิจเก่ง เป็น นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย

สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย โดยนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จังหวัดระยอง โดยนายไตรภพ วงษ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ร่วมเป็นประธาน ซึ่งเป็นสมัยครบวาระเลือกตั้งนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ปี 2568-2570 มีสมาชิกของสมาคมฯ จากทั่วประเทศร่วมประชุมหนาแน่นเข้าร่วมกิจกรรม ด้านวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การมอบทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาสมาชิก สมาคมฯ สนพท. พร้อมคัดเลือกนายกฯ และกรรมการบริหารชุดใหม่ 

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายก สนพท. และคณะกรรมการประกาศสิ้นสุดการทำหน้าที่ พร้อมเสนอชื่อสมาชิกอาวุโสขึ้นเป็นประธานชั่วคราว เพื่อดำเนินการประชุมในการเลือกตั้งตำแหน่งนายก สนพท. คนใหม่ มีสมาชิกเสนอชื่อ นางวิลาสินี เจริญสุข สมาชิกตลอดชีพชาวจังหวัดมุกดาหาร ขึ้นเป็นนายก สนพท. ในที่ประชุมไม่มีผู้ใดเสนอชื่อผู้อื่นเป็นคู่ชิง มติที่ประชุมมีความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์เลือกให้นางวิลาสินี เจริญสุข ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ พร้อมดำเนินการเลือกคณะกรรมการจนครบตามระเบียบของสมาคมฯ 

นางวิลาสินี เจริญสุข เป็นนักธุรกิจที่ประชาชนชาวมุกดาหารรู้จักกันดี เป็นอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมุกดาหาร เป็นกรรมการหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร และเป็นนายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดมุกดาหาร กระทั่งล่าสุด ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) และเป็นนายกหญิงคนแรกของสมาคมที่ก่อตั้งมากว่า 53 ปี 

นางวิลาสินี เจริญสุข กล่าวยืนยันพร้อมที่จะทำงานบริหารสมาคมฯ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่สืบทอดต่อกันมา โดยยึดหลักเพื่อสมาชิกทุกคน หลังการประชุมนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล อดีต นายกฯ และนายบรรหาร บุญเขต ที่ปรึกษาสมาคมฯ นายอำนาจ จงยศยิ่ง พร้อมคณะร่วมกันแสดงความยินดีกับนางวิลาสินี  เจริญสุข นายกฯ สื่อและ นักธุรกิจหญิงจากจังหวัดมุกดาหาร ได้รับตำแหน่งในครั้งนี้

Huawei สานต่อพันธกิจ ‘TECH4ALL’ ปลดล็อกโอกาสการศึกษา ขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้โรงเรียนประถมในเคนยา 21 แห่ง

(26 มี.ค. 68) หัวเหวย (Huawei) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศความสำเร็จของโครงการ “เชื่อมต่อดิจิทัลระยะที่สอง” ในโรงเรียนประถมศึกษาของเคนยาจำนวน 21 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลเคนยาและองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มระยะยาว “TECH4ALL” ของหัวเหวย ซึ่งมุ่งเน้นการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดย สตีเวน จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกิจการสาธารณะของหัวเหวยในเคนยา กล่าวว่า “การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน แต่ยังเปิดโอกาสให้ครูและผู้บริหารสามารถเข้าถึงระบบการจัดการออนไลน์ได้ง่ายขึ้น”

ก่อนหน้านี้ หัวเหวยได้ดำเนินโครงการดิจิสคูล (DigiSchool) ในระยะที่หนึ่ง โดยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กับ 13 โรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนและครู กว่า 6,000 คน ได้รับประโยชน์ โดยมีการสำรวจพบว่า 98% ของนักเรียนเห็นว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตช่วยตอบสนองความต้องการทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะที่สองนี้ โครงการ “เคนยา ดิจิสคูล คอนเน็กต์วิตี้” (Kenya DigiSchool Connectivity) ได้ขยายการเชื่อมต่อไปยัง 6 โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการลดช่องว่างทางดิจิทัลของประเทศ

“ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนคือหัวใจสำคัญของการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน” หลุยส์ แฮ็กซ์เฮาเซน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกของยูเนสโก กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top