(18 ก.ค. 66) สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ในหัวข้อ ยุทธศาสตร์การปฏิวัติ : ที่พรรค ‘ปฏิวัติประชาน’ จะหยิบมาใช้ โดยระบุว่า…
ตอนนี้ ผมมองข้ามช็อตไปหลายก้าวแล้ว คือมองว่า ‘กุนซือก้าวไกล’ กำลังวางแผนอะไร กำลังคิดอะไรกันแน่ในอีก 4 ปี 8 ปีข้างหน้า ถึงขนาดเดินหมาก ‘ยอมหักไม่ยอมงอ’ เรื่องการผลักดันแก้ ม.112 โดยยอมสละ ‘เบี้ยพิธา’ ไม่ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เก้าอี้นี้อยู่ใกล้แค่เอื้อม
การที่ ‘กุนซือก้าวไกล’ วางแผนอย่างลึกซึ้งถึงขั้นเลือดเย็นแบบนี้ ย่อมมีเหตุผลเดียวเท่านั้น คือพวกเขามี ‘พิมพ์เขียว’ ของยุทธศาสตร์การปฏิวัติประชาชน เพื่อล้มล้างการปกครอง ล้มล้างสถาบัน อยู่ในหัวแล้วนั่นเอง
นักยุทธศาสตร์ได้จำแนก ‘ยุทธศาสตร์การปฏิวัติ’ จากมุมมองของนโยบายทางทหาร ออกเป็น 8 วิธี ดังต่อไปนี้
(1) ยุทธศาสตร์การกบฏแบบดั้งเดิม
-ใช้กองกำลังติดอาวุธขนาดเล็กในการกบฏ
-ยุทธวิธีที่ใช้คือเข้าโจมตียึดคลังอาวุธเพื่อแจกจ่ายให้มวลชนที่ต้องการเข้าร่วมการกบฏ
-เข้ายึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
-ตั้งด่านกีดขวางเพื่อปิดถนนในเมืองใหญ่ ขัดขวางการเคลื่อนตัวของกองกำลังฝ่ายรัฐ
(2) ยุทธศาสตร์การกบฏโดยการประท้วงหยุดงานทั้งประเทศ
- มุ่งทำลายรัฐผ่านการเคลื่อนไหวโดยประชาชนจำนวนมากเพียงครั้งเดียว
- ต้องรอให้เกิดการแตกแยกภายในอำนาจรัฐของชนชั้นปกครองด้วย
(3) ยุทธศาสตร์การก่อการร้ายที่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
- เน้นการลอบสังหารบุคคลสำคัญโดยองค์กรลับ
- มุ่งสร้างความหวาดกลัวในหมู่ศัตรู และต้องการให้ศัตรูโต้ตอบด้วยกำลังหรือความรุนแรง
(4) ยุทธศาสตร์การกบฏของพวกคอมมิวนิสต์
-ให้ความสำคัญที่สุดกับการจัดตั้ง ‘พรรคแนวหน้า’ (Vanguard Party) เพื่อปลุกระดมมวลชนให้มีจิตสำนึกปฏิวัติที่ต้องการล้มล้างการปกครอง ผ่านการให้การศึกษาทุกช่องทาง
-จัดตั้งองค์กรทางการเมืองและทางการของภาคประชาชน
-ยุยงให้ทหารระดับล่างแปรพักตร์มาอยู่ฝั่งผู้ก่อกบฏ
(5) ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนยืดเยื้อ
- ตามแนวทางของเหมาเจ๋อตุง ที่ใช้ชนบทล้อมเมือง
- ต่อสู้ด้วยสงครามจรยุทธ์หรือสงครามกองโจรเป็นหลัก
(6) ยุทธศาสตร์การรัฐประหาร
- การทำรัฐประหารส่วนมากเกิดจากการ ‘ฉกฉวยโอกาส’ มากกว่าเป็นการวางแผนยุทธศาสตร์การปฏิวัติ
- การรัฐประหารเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีมากระหว่างคณะปฏิวัติกับกองกำลังอื่น ๆ ในประเทศ มาเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ
(7) ยุทธศาสตร์ชนะการเมืองเลือกตั้งแบบติดอาวุธ
- ก่อนอื่นมุ่งยึดอำนาจรัฐส่วนหนึ่ง ผ่านวิธีทางกฎหมายโดยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายก่อน
- เมื่อมั่นใจว่าได้มวลชนขนาดใหญ่มากพอแล้ว จึงเอาไปรวมกับทรัพยากรของกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายตน เพื่อปฏิวัติประชานชน ยึดอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จในที่สุด
(8) ยุทธศาสตร์สงครามปฏิวัติแบบผสม (Hybrid Revolutionary Warfare)
- ยุทธศาสตร์นี้ยึดการสู้รบทุกรูปแบบ มาผสมผสานกัน ผ่านการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย, การเคลื่อนไหวประท้วงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวประท้วงเรื่องการศึกษา เป็นต้น
- โดยมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การมี ‘กองกำลังทหาร’ เป็นของตัวเอง โดยพัฒนามาจากการจัดตั้ง ‘กองกำลังกองโจร’ ที่ทำหน้าที่ป่วนเมืองมาก่อน
อ่านแล้ว ท่านผู้อ่านตกผลึกหรือยังว่า ตอนนี้ พรรคปฏิวัติประชาชน อย่างพรรคก้าวไกล กำลังใช้ยุทธศาสตร์การกบฏแบบไหน ในการขับเคลื่อนขบวนการปฏิวัติประชาชนของพวกเขา ?
ผมสรุปให้อีกครั้งก็ได้ว่า…
ยุทธศาสตร์การกบฏของพรรคปฏิวัติประชาชนนั้น จะมีเป้าหมายเพื่อทำให้สถานการณ์บานปลายยิ่งขึ้นจนรัฐบาลคุมไม่อยู่
จะได้โค่นล้มเอาชนะรัฐบาล ยึดอำนาจรัฐใน ‘การต่อสู้ครั้งสุดท้าย’ ได้ด้วย ‘กองกำลังกองโจร’ ของฝ่ายตน ที่พัฒนาไปเป็น ‘กองทัพประจำการ’ ของฝ่ายตนได้สำเร็จ
หรือไม่ก็ต้องใช้ ‘กองกำลังต่างชาติ’ ในการต่อสู้ครั้งสุดท้าย
~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai