Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 

‘บุ๋ม ปนัดดา’ สุดแฮปปี้ ‘สามี’ ยื่นลอตเตอรี่ให้แบบงงๆ  แต่หลังตรวจรางวัลแล้ว ถึงกับกรี๊ดลั่นเลย

เป็นครอบครัวที่น่ารักและอบอุ่นมากๆ สำหรับพิธีกรสาวคนเก่ง บุ๋ม ปนัดดา ที่ตอนนี้พ่วงตำแหน่งคุณแม่ลูกอ่อนเพิ่งคลอดลูกชาย น้องอเล็กซ์ มีโมเมนต์น่ารักๆ ออกมาให้เห็นอยู่เสมอ รวมถึงสามีแสนดีที่คอยช่วยภรรยาเลี้ยงลูกชายและดูแลประคบประหงมภรรยาเป็นอย่างดีอีกด้วย  

ล่าสุด บุ๋ม ปนัดดา ได้เผยภาพความน่ารักของสามีที่ได้ยื่นลอตเตอรี่ปึก 5 ใบแบบที่เจ้าตัวยังๆ แต่หลังจากที่ได้ตรวจผลรางวัลคุณแม่ถึงกับกรี๊ดดังๆ เลยทีเดียว ซึ่ง บุ๋ม ได้เขียนบอกเล่าไว้อย่างแฮปปี้สุดๆ ว่า "ผัวให้โชค 628 คือ 3 ตัวหน้างวด 16 มิ.ย. ที่ผ่านมาตัวเองซื้อไม่เคยถูก แต่เวลาที่พี่เขาถูกเค้าจะโยนมาให้ทุกครั้ง ขอบคุณนะคะ #กรี๊ดสิคะรออะไร"

หลายคนเห็นแล้วถึงกับเข้ามาแสดงความยินดีกันยกใหญ่ พร้อมๆ กับบอกว่า แม่บุ๋ม ถูกรางวัลที่หนึ่งแล้วนะคะ เพราะมีสามีที่แสนดีมากๆ และน่ารักมากเช่นกัน

‘เป้ย ปานวาด’ ปลื้ม ‘น้องโปรด’ ลูกชายคนโต  ที่ได้รับรางวัล iPractise ‘ปู่สนธิ’ ร่วมแสดงความยินดีด้วย

ลูกชายคนโต โปรด-อัษศดิณย์ บุญยรัตกลิน ขึ้นรับรางวัลใหญ่กับทางโรงเรียน คุณแม่คนสวย เป้ย-ปานวาด เหมมณี บุญยรัตกลิน พร้อมทั้ง ป๊อป-นิธิ บุญยรัตกลิน และคุณปู่อย่าง พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ออกอาการปลื้มสุดๆ โดยเป้ยโพสต์ถึงลูกชายว่าไม่เคยกดดันหรือคาดหวังว่าต้องเก่งขอเพียงลูกมีความสุขก็พอ

"แม่ดีใจกับลูกมากๆ นะครับ ที่ได้รับรางวัล iPractise ในวัน Speech day ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ของโรงเรียน ที่ผ่านมาแม่ไม่เคยคาดหวังหรือกดดัน พี่โปรดเลยว่าจะต้องเป็นเด็กที่เก่งหรือต้องได้รับรางวัลอะไร ความรู้สึกของแม่แค่อยากให้ลูกมีความสุขและสนุกกับชีวิตในวัยเรียนให้มากที่สุดเท่านั้นแต่พี่โปรดก็ทำมันได้ดีทุกครั้ง แม่ภูมิใจในตัวลูกมากๆ นะครับ"

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train)

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) พร้อมส่งหัวรถจักรไฟฟ้า “MINE Locomotive” ยกระดับคมนาคมทางราง ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่ นับเป็นโครงการใหญ่ของโรดแมประบบรางไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี และสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มี ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีต่อความร่วมมือว่า สถาบันฯ มุ่งมั่นส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาการขนส่งทางรางให้ทันสมัย สะดวกและปลอดภัย ฉะนั้นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน ระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ตามนโยบาย Thai First และ MoU ความร่วมมือกับ EA เกิดขึ้นมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบราง อันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศและกระทรวงด้าน Green and Safe Transport ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2580

ด้าน ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า สทร. เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมและสร้างอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ที่ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แต่ต้องผลักดันไปสู่การผลิตและใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการส่งออกไปสู่ตลาดโลก หรือห่วงโซ่คุณค่า ของระบบรางในระดับโลก (Global Value Chain) ความร่วมมือกับ EA จึงถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญระดับประเทศและระดับโลกด้วย

“การประกาศลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สทร.และ EA จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบราง ช่วยยกระดับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม การขนส่งทางรางของประเทศไทย และส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้ผลิตและออกเทคโนโลยี ระบบรางที่ทันสมัยสู่ตลาดโลก” ดร.สันติกล่าว

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านเทคโนโลยีระบบราง และพัฒนานวัตกรรมระบบรางไร้มลพิษตอบโจทย์ต่อบริบทของประเทศ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางไปสู่การใช้ไฟฟ้าแทนระบบรถไฟเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ หรือ EV on Train และเริ่มทดลองใช้แล้วในประเทศไทย

EA ได้นำนวัตกรรมหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (MINE Locomotive) มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) ได้เป็นผลสำเร็จ จากการได้รับแรงสนับสนุนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน และได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตพันธมิตรของ EA ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลของการพัฒนา MINE Locomotive จึงนำมาสู่การต่อยอดเส้นทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร ได้แก่

1. ระบบสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping & Charging Station) สำหรับรถไฟแบตเตอรี่ EV on Train ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าเป็นระบบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ มากกว่า 3 MW

2.องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ต้นแบบ ของ EA ที่มีขนาดมากกว่า 3 MW เพื่อเป็นต้นแบบขยายสถานีชาร์จตามแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งใช้เวลาสั้น (เช่น เพียง 10 นาที) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติการของระบบรางสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพัฒนาต้นแบบและทดสอบแล้วจะนำไปสู่การขยายผลใช้งานในระบบรางของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตลอดจนด้านการร่วมมือ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (Local Content) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การทดสอบและรับรองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้นั้น มีมาตรฐานและผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2566 บริษัทฯมั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจาก EV Ecosystem ทั้งธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า รถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยไตรมาส 1/2566 รายได้เติบโตกว่า 80% ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจ EV ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯเริ่มมองหาพันธมิตรเข้าลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพันธมิตรในส่วนของ Battery Management System แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้อีกมาก

ผบ.ตร.พร้อม สมาคมแม่บ้านตำรวจ เร่งช่วยเหลือ สารวัตรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขาดแคลนเงินส่งลูกเรียน ม.ดัง พร้อมนำเข้าโครงการแก้ไขหนี้สินการออม บริหารใช้เงิน กำชับผู้บังคับบัญชาทั่วประเทศดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่ลูกน้องทุกมิติ

วันนี้ (26 มิ.ย.66 ) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า จากกรณีมีกระแสข่าวขอให้ช่วยเหลือสารวัตรที่มีปัญหาด้านการเงิน มีความลำบากในการส่งลูกสาวเรียนมหาวิทยาลัย จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโชเชียลนั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่า ตำรวจนายดังกล่าวคือ พ.ต.ท.วิริยะ เจิมจำนงค์ สว.ฝอ.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีปัญหาทางการเงินจริง จากการค้ำประกันเงินกู้ตำรวจที่ถูกออกจากราชการและเสียชีวิต จนเป็นหนี้สิน สถานะครอบครัว ภรรยามีอาชีพค้าขาย มีบุตรสาว 1 คน  กำลังจะเข้าศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีคณะวิศวกรรมศาสตร์(ไฟฟ้า)  ซึ่งบุตรสาวนายตำรวจผู้นี้ เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี เรียนดี มีความขยันขันแข็ง ช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยว อาหารกล่อง และในช่วงปิดเทอมยังทำถั่วเคลือบแก้ว ส่งตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อหาเงินมาจุนเจือความเป็นอยู่ในครอบครัวมาตลอด

พ.ต.ท.วิริยะฯ รับอัตราขั้นเงินเดือน ส.2  เงินเดือน 45,750 บาท จะต้องถูกหักสหกรณ์ตำรวจ 30,000 กว่า บาท รวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆในครอบครัว ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมา ทางผู้บังคับบัญชาชั้นต้น และเพื่อนร่วมงานก็ได้ช่วยเหลือด้านการเงินมาโดยตลอด   แต่ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับบุตรสาวกำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้ต้องใช้เงินอีกพอสมควร เกิดความเครียด จึงมีการไปขอความเห็นใจจากที่ต่างๆจนเป็นข่าว

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รับทราบเรื่องแล้ว ได้ประสานคุณสุมนา กิติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจเข้าช่วยเหลือด่วนในส่วนของการให้ทุนการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางสมาคมฯ ดำเนินการมาต่อเนื่อง โดยในเบื้องต้น จะสามารถมอบทุนแก่บุตรข้าราชการตำรวจที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในระดับอุดมศึกษา ปีละ 40,000 บาท จำนวน 4 ปี หรือ 6 ปี ตามสาขาที่เรียน ซึ่งในรายนี้ จะได้เข้าไปพูดคุยรายละเอียด เพื่อช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น โดยผู้บังคับบัญชาระดับ ตร.จะเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก หากไม่เพียงพอ

ส่วน พ.ต.ท.วิริยะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะนำเข้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการตำรวจ เพื่อช่วยเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้  และทางสมาคมแม่บ้านตำรวจ จะลงไปช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับการออม การบริหาร การใช้เงิน ตามโครงการ Money Management & Investment พร้อมกับช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัวที่ทำให้เกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  โดยจะมีการเชิญ พ.ต.ท.วิริยะ ครอบครัวและบุตรสาว มาพูดคุยช่วยเหลือเยียวยาในวันนี้ช่วงบ่าย

โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า “การดูแลช่วยเหลือตำรวจและครอบครัวตำรวจเป็นนโยบายที่ดำเนินการมาต่อเนื่องของ ผบ.ตร.และนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ที่ผ่านมามีการช่วยเหลือ มอบทุนมาตลอด  ส่วนตำรวจที่มีปัญหาหนี้สินจะนำเข้าสู่โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และ โครงการ Money Management & Investment ซึ่งสามารถช่วยเหลือ ปรับหนี้ได้หลายราย 

อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร.ได้กำชับไปยังผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ให้สอดส่องดูแลความเป็นอยู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ดูแลสวัสดิการ ช่วยเหลือในทุกมิติ หากรายใดมีปัญหาสามารถร้องขอมาที่ ตร.ร่วมกันหาทางออก เพื่อช่วยกันดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตตำรวจให้ดีขึ้นไป สามารถปฏิบัติหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล”

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมทูตอินโดนีเซีย ร่วมส่งกลับผู้เสียหายค้ามนุษย์หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ NRM

วันนี้ (26 มิ.ย.66) เวลา 08.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) พร้อมด้วยคุณซุกโม ยูโวโน อัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ได้เดินทางมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อมาส่งผู้เสียหายชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 9 ราย หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการของกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ซึ่งดำเนินการที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศอินโดนีเซียอย่างปลอดภัย

หลังจากที่เมื่อประมาณเดือน พ.ค. 66 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับการประสานจากสถานทูตอินโดนีเซีย กรณีมีผู้เสียหายสัญชาติอินโดนีเซียจำนวนหลายราย ถูกหลอกเดินทางไปทำงานที่ประเทศเมียนมา โดยถูกบังคับให้ทำงานหลอกผู้อื่นลงทุนเงินคริปโต ทนไม่ไหวจึงได้พยายามหลบหนีข้ามฝั่งมายังประเทศไทย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ศพดส.ตร., ภ.6 และ สตม. ประสานให้การช่วยเหลือผู้เสียหายชาวอินโดนีเซียให้สามารถข้ามฝั่งมายังประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อเดือน พ.ค.66 สามารถช่วยเหลือข้ามมาได้จำนวน 25 ราย และในเดือน มิ.ย.66 อีกจำนวน 22 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือและนำเข้าสู่กลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) และก่อนหน้านี้ ได้ส่งผู้เสียหายกลับไปแล้วจำนวน 25 ราย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะส่งกลับเพิ่มอีกจำนวน 9 คน ในวันนี้ ยังเหลือผู้เสียหายชาวอินโดนีเซียที่ยังอยู่ในกระบวนการอีกจำนวน 13 ราย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ หลังจากที่ได้รับการประสานข้อมูลจากสถานทูตอินโดนีเซีย ได้สั่งการให้ ภ.6 สตม. และชุด ศพดส.ตร. ประสานช่วยเหลือเหยื่อขาวอินโดนีเซียซึ่งถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศเมียนมา และนำมาเข้ากลไกส่งต่อระดับชาติ (NRM) เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองดูแลและช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จริงแต่ไม่ประสงค์จะดำเนินการตามกฎหมายที่ประเทศไทย จึงได้ประสานกับสถานทูตอินโดนีเซียเพื่อช่วยเหลือส่งกลับผู้เสียหายทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ส่งกลับไปแล้วจำนวน 25 ราย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 อีกจำนวน 9 ราย ขณะนี้ยังเหลือผู้เสียหายสัญชาติอินโดนีเซียที่ยังอยู่ในกระบวนการอีก 13 ราย ซึ่งจะได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น และส่งกลับตามความต้องการของผู้เสียหายต่อไป นับเป็นอีกครั้งที่ความร่วมมือระหว่างประเทศของไทยและอินโดนีเซียในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยดี

ดีอีเอส-ETDA เปิด Public Hearing ‘คู่มือการลงทะเบียนผู้ใช้งาน’ ภายใต้กฎหมาย DPS

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยัน ตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ” พร้อมเปิดเวทีระดมความเห็นต่อแนวทางการออกเครื่องหมาย แสดงการรับรอง ภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services เพื่อเป็นกลไกเสริมในการลด ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดูแลผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ

พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ก่อนที่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นี้ ดีอีเอส ผ่านการดำเนินงานของ ETDA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงได้เดินหน้าศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง ภายใต้กฎหมาย DPS หลังจากนั้นจึงได้มี กระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัด Focus Group สำหรับร่างกฎหมายลำดับรอง จากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ทั้งจากภาครัฐ เอกชน regulator ตลอดจน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ที่ได้มาจัดทำและปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรองให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มี การนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในการพิจารณาไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ ภายใต้กฎหมาย DPS มีความชัดเจน โปร่งใส สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ที่ผ่านมา ETDA จึงได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Hearing ต่อร่างกฎหมายลำดับรองไปแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 9 ฉบับ ผ่านระบบการประชุมทางออนไลน์ และผ่านระบบกลางทางกฎหมาย โดยวันนี้ (26 มิถุนายน 2566) จะเป็นกิจกรรม Public Hearing ครั้งที่ 4 เพื่อรับฟัง

ความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ เพื่อเป็น แนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ในการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้งานที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ลดความเสี่ยงจาก การฉ้อโกงออนไลน์ โดยเนื้อหาของ (ร่าง) คู่มือฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งการจัดประเภทผู้ใช้บริการที่ควร พิสูจน์และยืนยันตัวตน การกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน รายการของ ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล และการแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่า ผู้ใช้บริการรายนั้นได้ดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ เรายังมีกิจกรรมการ ระดมความเห็นต่อ “แนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง” เพื่อนำไปเสริมเป็นแนวคิด ในการจัดทำประกาศ คธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง พ.ศ. .... ภายใต้มาตรา 27 ของ กฎหมาย DPS เพื่อเป็นกลไกช่วยผู้ใช้บริการประกอบการตัดสินใจ เลือกใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับเครื่องหมายรับรองนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ ประกอบธุรกิจ DPS เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย รวมถึงการได้รับความเชื่อมั่นจาก ผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นและการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ จะถูก นำไปเป็นข้อเสนอแนะและข้อมูลสำคัญในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ให้มีความครบถ้วน ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติตามได้จริง

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการ คนทำงานบน แพลตฟอร์ม ผู้บริโภค ผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ พัฒนาคู่มือและแนวทางทั้งสองเรื่องให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถร่วมแสดงความ คิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ และ แนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรองได้ที่ระบบกลางทางกฎหมาย หรือ ที่ลิงก์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/Public-Hearing-DP.aspx ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม 2566

ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 4 เดือน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน

ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 4 เดือน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน โดยในช่วงต้น-กลางสัปดาห์บรรยากาศตลาดในภาพรวมถูกกดดันจากประเด็นเฉพาะของบริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลและแรงขายหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance ประกอบกับยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนในช่วงปลายสัปดาห์หุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศหลังประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ในวันศุกร์ (23 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,505.52 จุด ลดลง 3.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,473.82 ล้านบาท ลดลง 6.38% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.64% มาปิดที่ระดับ 463.22 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้ (26-30 มิ.ย. 2566) มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,490 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. และ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของจีน

ลูกศิษย์เผย อัฐิ ‘หลวงปู่แสง’ เป็นสีขาวบริสุทธิ์  เตรียมส่งมอบแด่วัดที่หลวงปู่เคยจำพรรษา แจกให้ญาติธรรม 

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 66 ที่เมรุชั่วคราววัดป่าดงสว่างธรรม บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เมื่อเช้าตรู่ที่ผ่านมา พระสงฆ์พร้อมด้วยพระอุปัฏฐาก ศิษยานุศิษย์และเจ้าพนักงานจัดเตรียมสถานที่และแปรธาตุอัฐิบนจิตกาธาน พิธีเก็บอัฐิของหลวงปู่แสง ญาณวโร โดยมีประชาชนกว่า 2,000 คนเข้าร่วม ขณะที่พระอุปัฏฐากและพระลูกศิษย์สวดขอขมากรรมก่อน เบื้องต้นพบว่าอัฐิของหลวงปู่แสง มีสีขาวสะอาดบริสุทธิ์

ต่อมาเวลา 07.00 น.นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ประธานในพิธีจุดเครื่องทองน้อย เจ้าพนักงานเชิญโกศบรรจุอัฐิและลุ้งบรรจุอังคารไปยังศาลาบำเพ็ญกุศล จากนั้นเจ้าพนักงานเทียบภัตตาหารสามหาบ มีนายวิรุจ ถวายภัตตาหารสามหาบแด่พระสงฆ์ เจ้าพนักงานเชิญเจ้าภาพรับโกศอัฐิหลวงปู่แสง ญาณวโร เป็นเสร็จพิธี

นายเฉลิมชัย จันทะโคตร อายุ 44 ปี ลูกศิษย์และอดีตโฆษกหลวงปู่แสง กล่าวว่า อัฐิของหลวงปู่แสงจะนำไปประดิษฐานในผอบ จากนั้นเตรียมส่งมอบแด่วัดต่างๆ ที่ หลวงปู่แสง เคยจำพรรษาและเคยสร้างเป็นหลักก่อน ประกอบด้วยวัดป่าอรัญญาวิเวก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ, วัดป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ,วัดป่านาเกิ้งญาณวโร อ.เสนางนิคม จ.อำนาจเจริญ, วัดป่ามโนรมย์สมประสงค์ (สำนักสงฆ์ภูทิดสา) อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ, สำนักสงฆ์บ้านเวินชัย อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร, วัดป่าพุทธรัตนวนาราม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และวัดป่าดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร 

ส่วนวัดใดที่มีศรัทธาต่อหลวงปู่ก็สามารถนำไปประดิษฐานที่วัดได้ ส่วนศิษยานุศิษย์ทางวัดจะมีหลอดใส่ผงอังคารหลวงปู่แสง แจกให้กับญาติธรรมเพื่อนำไปปฏิบัติบูชาต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับเมรุชั่วคราวทางวัดและศิษยานุศิษย์จะทำเป็นอนุสรณ์สถานพระราชทานเพลิง หลวงปู่แสง จะสร้างมณฑปขึ้นมา และทำป้ายประวัติหลวงปู่แสง เพื่อให้ทราบว่า จุดนี้คืออนุสรณ์สถานขององค์หลวงปู่

‘STARK’ เอฟเฟกต์  ความเชื่อมั่น ‘ตลาดทุนไทย’ หดหาย รอลุ้น ‘DSI’ พิสูจน์ฝีมือช่วยกู้วิกฤต

เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ค่อยดีเลยสำหรับ ‘ตลาดหุ้นไทย’ หลังติดอันดับ TOP 3 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนยอดแย่ของโลก

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีทุจริตสะท้านวงการหุ้นซ้ำเติมอีก จากกรณีที่ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) เกิดการทุจริตทั้ง การไม่ยอมส่งงบการเงิน ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างออเดอร์ยอดขายเทียม ลูกหนี้เก๊ ลูกค้าปลอม พร้อมถ่ายโอนเงินออกไปจากบริษัทจริง ส่งผลให้ราคาหุ้นรูดลงมาเหลือเพียง 0.02 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป เหลือเพียง 268 ล้านบาท จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 73,733 ล้านบาท

มหกรรมการโกง ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ได้สร้างหายนะต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ของ STARK เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างหนัก พร้อมมีคำถามขึ้นมากมาย ไปถึงผู้บริหารบริษัท คณะกรรมการ กรรมการตรวจสอบ บริษัทผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหลาย ๆ คำถาม ก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

แน่นอนว่า เมื่อหวังพึ่งหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้แล้ว ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเสียหายกว่า 10,000 คน ได้เริ่มรวมตัวเรียกร้องความยุติธรรม ผ่านช่องทางออนไลน์ www.thaiinvestors.com ของ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ล่าสุดมีการรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องแล้ว จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความจำนงค์ดำเนินคดีรวม 1,759 คน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,063 ล้านบาท แม้โอกาสได้รับเงินกลับคืนนั้นแทบจะไม่มีเลย เมื่อเทียบกับเจ้าหนี่ที่มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของหายนะครั้งนี้ มีสัญญาณผิดปกติมาตั้งแต่การส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า โดยทาง STARK ได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการนับสินค้าคงคลัง อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่บริษัทเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจากบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด มาเป็น บริษัท บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC)

ต่อมา ผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ เช่น การสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น โดยสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้าโดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังพบพฤติกรรมการโยกย้ายถ่ายเทเม็ดเงินเกิดขึ้นภายใน 3 บริษัทย่อยของ STARK ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) เริ่มจาก ‘เฟ้ลปส์ ดอด์จ’ ผู้สอบบัญชีพบว่ามีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย ‘อดิสรสงขลา’ มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ ‘ไทย เคเบิ้ลฯ’ อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในช่วง 2 ปีก่อน (2564-2565) มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทระหว่างกันทั้ง STARK และบริษัทบ่อยรวมถึงบริษัทที่อ้างเป็นคู่ค้าธุรกิจ จนทำให้ STARK มีผลขาดทุนจริงมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

ภายหลังความจริงเริ่มปรากฏชัดออกมาเรื่อย ๆ สังคมตลาดทุนต่างมีคำถามมากมาย มีใครบ้างที่มีเอี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว ทั้งผู้บริหารบริษัท พนักงานและบริษัทตรวจสอบบัญชีมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร รวมถึงแอคชันการทำงานที่ดูเหมือนจะล่าช้า จนเกิดความเสียหายหนักเกินจะเยียวยาแล้ว

ปฏิบัติการกู้คืนความเชื่อมั่น

ล่าสุดมีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความผิดอย่างรวดเร็ว และหากพบความผิด ให้ดำเนินการเอาผิดในทุกกรณีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การดูแลนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับแรก

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของSTARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่า มีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ส่วนกรมสรรพากร ระบุจะตรวจสอบการจ่ายภาษีของ บริษัท STARK อย่างละเอียด หลังพบการปลอมแปลงรายได้ของบริษัท

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน จับมือแถลงข่าวหวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาพรวมตลาดทุน เมื่อช่วงเช้า วันที่ 26 มิ.ย. 66 แต่ในหลาย ๆ ประเด็นยังไม่มีความกระจ่าง โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และบริษัทผู้สอบบัญชี โดยนายธวัชชัย ทิพย์โสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้สอบบัญชีได้ เพราะมีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความเห็นผู้สอบบัญชีเท่านั้น ซึ่งยอมรับว่ามีช่องโหว่ และกำลังอยู่ระหว่างแก้กฎหมาย

ส่วนการตรวจสอบผู้สอบบัญชี สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพบว่ามีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดก็จะมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดทุจริตรายอื่นที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายใด

นายธวัชชัย ย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งการสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก แม้ทาง ก.ล.ต. จะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี แต่พร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่าย และหากช่วยได้ก็จะดำเนินการให้ โดยขอยืนยันว่าทาง ก.ล.ต. ทำเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย

ด้านนางสาวสิริพร สงบธรรม เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่สมาคมฯ ได้เปิดให้ผู้ลงทุนหุ้น STARK ลงทะเบียนเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ 19-25 มิ.ย.66 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท โดยหลังจากนี้สมาคมฯจะนำข้อมูลของผู้เสียหายมาตรวจสอบเบื้องต้น และให้ความรู้ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยจะเป็นคนกลางเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

จากข้อมูลที่แถลงออกมานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีการชี้แจงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK ที่เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหากาพย์ความหายนะในครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการตกแต่งบัญชี คงต้องรอการทำคดีของดีเอสไอ ว่าจะสืบสาวไปจนถึงต้นตอได้หรือไม่ และเชื่อว่าคนที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดคงเริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ อยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน เพราะมีโทษสูงสุดติดคุกถึง 20 ปีเลยทีเดียว 

อ้างอิง
https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/STARK/financial-statement/company-highlights
https://www.thaipost.net/economy-news/403508/
https://www.bbc.com/thai/articles/c3gzkwl1lnro
https://www.infoquest.co.th/2023/312719
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000057779

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top