Sunday, 11 May 2025
NewsFeed

PTTEP ผนึก 5 พันธมิตรเดินเครื่องผลิตกรีนไฮโดรเจนในโอมาน  ตั้งเป้าแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ คาด!! เริ่มผลิตปี 73

(22 มิ.ย. 66) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ร่วมมือกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ผลักดันโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย พร้อมด้วย 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศฝรั่งเศส ได้ชนะการประมูลแปลงสัมปทานและลงนามสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) และสัญญาเช่าแปลงสัมปทาน (Sub-usufruct Agreement) กับบริษัท ไฮโดรเจน โอมาน หรือ Hydrom ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลโอมาน เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน ในแปลงสัมปทาน Z1-02 เป็นระยะเวลา 47 ปี

แปลงสัมปทาน Z1-02 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดดูคุม ประเทศโอมาน

การเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จของ ปตท.สผ. ที่มุ่งขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี

หลังจากนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาเชิงเทคนิค (Technical study) ของโครงการดังกล่าว และจะประเมินมูลค่าการลงทุนต่อไป

โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนประกอบด้วย FTEV, กลุ่มบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วยบริษัท POSCO Holdings บริษัท Samsung Engineering Co., Ltd. บริษัท Korea East-West Power Co., Ltd และบริษัท Korea Southern Power Co., Ltd และบริษัท MESCAT Middle East DMCC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ENGIE จากประเทศฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของโลก

โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในประเทศโอมานครั้งนี้ ครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร (Hydrogen Value Chain) ตั้งแต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 กิกะวัตต์ (GW), การพัฒนาโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวในกระบวนการผลิต ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 และการพัฒนาโรงงานที่เปลี่ยนสถานะไฮโดรเจนให้เป็นกรีนแอมโมเนียซึ่งเป็นของเหลว เพื่อสะดวกในการขนส่ง จะตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดดูคุม โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2570 และเริ่มการผลิต (Commercial Operations Date) กรีนแอมโมเนียได้ในปี 2573 ในอัตราประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะส่งออกกรีนแอมโมเนียไปยังประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ส่วนกรีนไฮโดรเจนส่วนที่เหลือ จะใช้ภายในประเทศโอมาน

“ประเทศโอมานเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และมีความคืบหน้าในการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนอย่างเป็นรูปธรรม การที่ ปตท.สผ. และบริษัทพันธมิตรได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและเป็นก้าวที่สำคัญในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพของโลก ซึ่ง ปตท.สผ. จะนำประสบการณ์และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศโอมานที่มีมากว่า 20 ปี มาช่วยเสริมให้การพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ต่าง ๆ ที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตต่อไป รวมทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย” นายมนตรี กล่าว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่ โครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ของประเทศ โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12 และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน

Artificial Intelligence : AI ‘ปัญญาประดิษฐ์’

Artificial Intelligence : AI หรือชื่อเต็ม ๆ ภาษาไทยว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง นั่นเพราะแทบจะทุกอุตสาหกรรมล้วนต้องพึ่งพา AI ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะงานด้านการวิเคราะห์และประมวลผล ที่ทำงานแทนมนุษย์ได้

ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะใน Wall Street มีหุ้นกลุ่ม AI ที่กำลังเติบโตและน่าสนใจหลายตัว และวันนี้นักลงทุนไทย สามารถลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Microsoft (MSFT), Alphabet (GOOGL), Amazon (AMZN), Nvidia (NVDA) ผ่านตลาดหุ้นไทย ด้วยการซื้อขาย DR ซึ่งสามารถซื้อขายด้วยเงินบาท และเทรดผ่าน Streaming

นักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.setinvestnow.com/ อาจจะได้เจอทางออกทางการลงทุน ในจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยยังรอความชัดเจนทางการเมืองไปอีกสักระยะ

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ สั่งดำเนินคดีครูฝึกสอนกระทำอนาจารเด็ก 6 ขวบในโรงเรียน

จากกรณีเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 66 ด.ช.เอ (นามสมมุติ) อายุ 6 ปี พร้อมผู้ปกครอง ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.ด่านทับตะโก ภ.จว.ราชบุรี กรณีถูก นายวัชรพล หรือครูเรด ซึ่งเป็นครูฝึกสอนที่โรงเรียนด่านทับตะโก ได้พาไปกระทำอนาจารในห้องน้ำของโรงเรียน ตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอไปแล้วนั้น 

กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ควบคุมสั่งการในการดำเนินคดีกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงได้สั่งการให้ ผกก.สภ.ด่านทับตะโก รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุโดยเร็ว เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ

กรณีดังกล่าว หลังจากได้ส่งตัว ด.ช.เอ ตรวจร่างกายและสอบปากคำร่วมกับสหวิชาชีพแล้วทราบว่า ผู้ต้องหาซึ่งเป็นครูฝึกสอน ได้หลอกพา ด.ช.เอ ไปเข้าห้องน้ำ แล้วกระทำอนาจารในสถานที่ดังกล่าว จากนั้นได้ข่มขู่มิให้บอกผู้อื่น พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาลจังหวัดราชบุรี และสามารถจับกุมตัว นายวัชรพล หรือครูเรด ส่ง สภ.ด่านทับตะโก ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยจะดำเนินคดีในความผิดฐาน ข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กระทำอนาจารแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล โดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม พาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือดูแลเพื่อการอนาจาร และกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรม ต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นคดีที่เด็กซึ่งอายุเพียง 6 ขวบ ถูกครูที่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นบุคคลใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ พาไปกระทำอนาจาร ภายในห้องน้ำของโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กควรอยู่อย่างปลอดภัยและได้รับความคุ้มครอง

หลังทราบเหตุได้กำชับให้พนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมพยานหลักฐานโดยละเอียดเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายนี้โดยเด็ดขาด และขอประชาสัมพันธ์แจ้งไปยังพี่น้องประชาชน ให้ช่วยกันดูแลบุตรหลาน หมั่นสอบถามและให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของเด็ก และระมัดระวังคนร้ายที่อาจแอบแฝงมาในรูปแบบของคนที่น่าไว้วางใจ หากมีเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวสามารถแจ้งผ่านหมายเลข 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“สร้างอาชีพ สร้างชีวิต”

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง “สร้างอาชีพ สร้างชีวิต” ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ จ.ลำพูน ในโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี

วานนี้ (วันที่ 21  มิถุนายน 2566) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการ นายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก นายชาญกิจ วิทยาวรากรณ์ กรรมการ และนางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ นำทีมลงพื้นที่จังหวัดลำพูน

มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม จำนวน 19 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 285,340 บาท (สองแสนแปดหมื่นห้าพันสามร้อยสี่สิบบาทถ้วน ) เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน โดยมี  นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย คณะศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวฯ จังหวัดลำพูน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน

พร้อมกันนี้ นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมหน่วยแพทย์ฯ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น ฯลฯ โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก

นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ เปิดเผยว่า สำหรับโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมูลนิธิฯ กำหนดมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ รวม 8 ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว

ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สงขลา ศรีสะเกษ ขอนแก่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย และจังหวัดพิษณุโลก ให้ได้มีวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว เพื่อเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสุขสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการลงพื้นที่ในเดือนเมษายนจนถึงในวันนี้ มูลนิธิฯ มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพรวมจำนวน 7 แห่ง 40  ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 662,290 บาท (หกแสนหกหมื่นสองพันสองร้อยเก้าสิบบาทถ้วน)

ตลอดระยะเวลากว่า 113 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” ต่อไป

‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ CEO ปตท. คว้ารางวัลเกียรติยศ ‘THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2023’


เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับรางวัลเกียรติยศ ‘THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2023 ประเภทอุตสาหกรรมพลังงาน’ เป็นการเชิดชูเกียรติผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีความโดดเด่นในแต่ละอุตสาหกรรม ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘สุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี’ จัดโดยนิตยสาร BUSINESS+ โดย บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นุรักษ์ มาประณีต องคมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

รางวัลดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งรางวัลสำคัญในการเสริมสร้างกำลังใจแก่ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งทุกรางวัลผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบด้าน อาทิ ความสามารถในการบริหารองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ความเป็นผู้นำและสร้างความผูกพันในองค์กร การตอบแทนสังคม ชุมชน และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยต่อไป
 

‘ดีอีเอส’ เดินหน้าพัฒนากฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มความปลอดภัย คุ้มครองประชาชน มีผล 21 ส.ค.นี้

‘ดีอีเอส’ ประกาศ กฎหมาย Digital Platform จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลาง อาทิ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ sharing economy บริการสืบค้น (search engine) บริการรวมรวมข่าว โฮสติ้ง คลาวด์ แจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ‘ETDA’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เพื่อรองรับ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ ‘กฎหมาย Digital Platform’ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 5,000 รายต่อเดือน มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร

โดยกฎหมาย Digital Platform จะกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ และกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน 90 วันซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“กฎหมาย Digital Platform กำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้มีมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม มีการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน โดยกฎหมายนี้มุ่งเน้นการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนั้น ขอย้ำว่าผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ หรือคนไลฟ์สด หรือคนทำ content เผยแพร่ บนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาแจ้งให้ ETDA ทราบตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด” นายชัยวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ETDA จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.ฎ. Digital Platform (Public hearing) รวม 4 ครั้ง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาจนถึงครั้งที่ 4 ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 เกี่ยวกับ (ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหลอกลวง การไม่ทราบตัวคนที่ต้องรับผิด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดโต๊ะหารือ 2 ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ‘Pantip – Blockdit’ ถึงวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการผ่าน User ID เร่งดัน ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ สู่การสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) และการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม ภายใต้ กฎหมาย Digital Platform Services ด้วย

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการดูแล ป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ ผ่านกลไกการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งาน เนื่องจาก Pantip และ Blockdit ถือเป็นตัวอย่างผู้ให้บริการ social media ที่มีการใช้กลไกการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการ หรือ User ID ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องและมีบัญชีผู้ใช้บริการที่ยังใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก จากพูดคุยพบว่า ทั้ง 2 ผู้ให้บริการได้มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งานตามความเสี่ยงของการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไปที่มีความเสี่ยงน้อย ก็จะเน้นลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย ชื่อ-สกุล อีเมล หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่ถ้าหากเป็นการใช้งานที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ขายสินค้า ก็จะต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ อย่าง Digital ID ที่ออกโดยแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง ซึ่งจากการให้บริการของ 2 แพลตฟอร์ม พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความตระหนักในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน หรือ สมัครเข้าใช้บริการ โดยเฉพาะการกรอกเลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมครั้งนี้ จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะที่จะนำไปปรับปรุง ‘(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ’ กฎหมายลำดับรองภายใต้ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น Public Hearing ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ลดการฉ้อโกงออนไลน์

โดยเนื้อหาของร่างคู่มือฉบับนี้ จะครอบคลุมทั้ง การจัดประเภทผู้ใช้งานที่ควรพิสูจน์และยืนยันตัวตน กำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน List ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล การแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่าดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว โดย (ร่าง) คู่มือ ฉบับดังกล่าว นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของการสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม สอดคล้องตามเจตนารมณ์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
 

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฟอกเงิน รุ่นที่ 1

วันนี้ (22 มิ.ย.66) เวลา 14.00 น. พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปปง.ตร. เป็นประธานปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 ประจำปีพุทธศักราช 2566 รุ่นที่ 1 ณ ห้องประชุม โรงแรมคลาสสิก คามีโอ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง 

ทั้งนี้ ศปปง.ตร. ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 ประจำปีพุทธศักราช 2566 รุ่นที่ 1ในระหว่างวันที่ 19 – 22 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ข้าราชการตำรวจที่เข้ารับการอบรมมีความรู้ความสามารถ เข้าใจอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมเสริมสร้างทักษะในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และเพื่อให้เกิดระบบที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินคดีด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 , ภาค 2 , ภาค 7 , ภาค 8 , ภาค 9 และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งสิ้นจำนวน 116 นาย โดยผู้เข้ารับการอบรมจากหน่วยต่าง ๆ จะเป็นครูต้นแบบ ที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับข้าราชการตำรวจ ในหน่วยงานสังกัดของตนต่อไป 

ทั้งนี้ ในพิธีปิดโครงการฝึกอบรม ฯ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ ได้มอบประกาศนียบัตร และมอบโอวาทแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้ง 116 นาย โดยกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีผลกระทบต่อภาครัฐและประชาชน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ถ่องแท้ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมเน้นย้ำให้ข้าราชการตำรวจที่เข้ารับการฝึกอบรมทุกนาย นำความรู้ที่ได้รับการโครงการนี้ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับข้าราชการตำรวจในหน่วยของตนต่อไป

ผบ.ตร. นั่งหัวโต๊ะประชุมเข้ม แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง วางระบบป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ 

พัฒนาระบบรับส่งข้อมูล ผ่านระบบBanking เร่งช่วยเหลือผู้เสียหาย เดินหน้าปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า อย่างจริงจัง  พร้อมประชาสัมพันธ์ประชาชนทำข้อสอบ 80 ข้อ ให้ความรู้การป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์ หวังสร้างภูมิคุ้มกันโจร
 
วันนี้ (22 มิ.ย.66) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2566  โดยมีนายเวทางค์  พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธาน  พร้อมผู้แทน สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, ปปง., กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กสทช., สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน เป็นอนุกรรมการ
 
โดยสาระสำคัญในครั้งนี้ ได้วางมาตรการตรวจสอบ พฤติการณ์เหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า ธุรกรรมต้องสงสัย ซิมม้า การสื่อสารที่ใช้หลอกลวงประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ในเชิงรุก และหารือเรื่องระบบ ช่องทาง และ วิธีการ รับส่งข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการทั้งด้านการเงินและโทรคมนาคม และผู้เสียหาย
 
โดยที่มติประชุมได้เร่งให้ กสทช. ธนาคาร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำระบบ กระบวนการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นขั้นตอนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว  พัฒนาระบบ Banking ให้มีช่องทางในการรับแจ้งเหตุฯ เพื่อขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพในการระงับความเสียหาย ป้องกันปราบปราม และดำเนินคดีกับคนร้ายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น
 
หลังจากที่ พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมา สถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีลดลงได้ระดับหนึ่ง  ลดลงโดยเฉลี่ยจาก 790 เรื่อง/วัน ลงไปเป็น 684 เรื่อง/วัน  การอายัดบัญชีจากเดิมอายัดได้ทันโดยประมาณร้อยละ 6.5 มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 15 เป็นต้น  แต่ทั้งนี้ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติ และประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก  จึงต้องเร่งบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในทิศทางเดียวกัน  ทั้งวิธีการรับแจ้งจากผู้เสียหาย  การอายัด การระงับธุรกรรม การส่งต่อข้อมูล  ตลอดจนการดำเนินคดีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
ด้านการปราบปราม ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในห้วงเดือน พ.ค.66 สามารถจับกุมผู้กระผิดได้ 3,366 คดี ผู้ต้องหา 3,262 ราย ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้า 179 คดี ผู้ต้องหา 168 ราย และความผิดเกี่ยวกับซิมม้า 40 คดี ผู้ต้องหา 48 ราย
 
และในด้านการประชาสัมพันธ์ ผบ.ตร. ได้จัดทำข้อสอบ Cyber Vaccine จำนวน 80 ข้อ กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  ให้ประชาชนทดสอบ เป็นการฉีดวัคซีนไซเบอร์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ รูปแบบกลโกงต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถเข้าทดสอบได้ผ่าน QR Code (ที่แนบมาพร้อมนี้)
 
ผบ.ตร. เชื่อว่าหลังจากการประชุมขับเคลื่อนในวันนี้ ทุกหน่วยจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ข้อขัดข้อง จัดวางระบบการส่งต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล การบังคับใช้กฎหมายและการระงับธุรกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ ได้อย่างทันท่วงที และกล่าวอีกว่า “ขอฝากประชาสัมพันธ์ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ติดต่อสายด่วนธนาคารที่ตนเป็นเจ้าของเพื่อระงับบัญชีโดยเร็ว โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน sms และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว  โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุ ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อให้ระงับความเสียหายและดำเนินคดีต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว  หากประสงค์จะแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ทาง https://thaipoliceonline.com  สายด่วน 1441 ปรึกษา-ขอคำแนะนำ 081 866 3000 ตลอด 24 ชั่วโมง”

เปิดปูม ‘ไททัน’ มีคนเตือนเรื่องความปลอดภัย แต่สุดท้าย ตัวคนเตือนกลับโดน ‘ไล่ออก’

สื่อต่างประเทศเผยเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ของบริษัท OceanGate ซึ่งสูญหายระหว่างพาผู้บริหารและนักท่องเที่ยวลงไปสำรวจซากเรือไททานิคเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) เคยถูกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่คนเตือนจะถูก ‘ไล่ออก’

เรือดำน้ำไททันซึ่งมีซีอีโอของ OceanGate เป็นกัปตันผู้ควบคุมเรือ พร้อมผู้โดยสารอีก 4 คน ซึ่งได้แก่ เฮมิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ พอล-อองรี นาร์เจอเลต (Paul-Henri Nargeolet) นักดำน้ำมืออาชีพฝรั่งเศส และ 2 พ่อลูกมหาเศรษฐีปากีสถาน คาดว่าจะยังเหลือออกซิเจนเพียงพอจนถึงเวลา 10.00 GMT วันนี้ (22 มิ.ย.) หรือประมาณ 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย

เรือดำน้ำไททันความยาว 6.7 เมตร ของบริษัท OceanGate ซึ่งมีฐานในเมืองเอเวอเร็ตต์ รัฐวอชิงตัน ถูกส่งลงไปใต้ทะเลลึกครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2018 โดยดำลงไปถึงระดับความลึก 4,000 เมตร ตามข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท และเคยดำลงไปยังซากเรือไททานิคบนพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ความลึก 3,800 เมตร ครั้งแรกในปี 2021

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมหลายคน รวมถึงอดีตพนักงานคนหนึ่งได้เคยแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน เนื่องจาก OceanGate เลือกที่จะไม่ขอการรับรองจากหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยที่ได้รับความเชื่อถือ เช่น American Bureau of Shipping ซึ่งเป็นสมาคมจำแนกประเภทการเดินเรือของอเมริกา หรือบริษัท DNV ของทางยุโรป

วิล โคห์เนน (Will Kohnen) ประธานคณะกรรมการสอบทานด้านยานดำน้ำของ Marine Technology Society ระบุในจดหมายลงวันที่ 27 มี.ค. ปี 2018 ที่ส่งไปถึง สต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ OceanGate ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือดำน้ำที่สูญหาย โดยเขาได้ย้ำเตือนความกังวลของคนในแวดวงอุตสาหกรรมเรื่องที่ OceanGate ไม่ได้นำเรือไททันผ่านกระบวนการรับรองด้านการออกแบบ การผลิต และการทดสอบกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

ก่อนหน้านั้น เดวิด ล็อคริดจ์ (David Lochridge) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของ OceanGate ได้ส่งรายงานด้านวิศวกรรมไปยังผู้บริหารของบริษัท ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการวิจัยและพัฒนายานดำน้ำลำนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวัสดุที่ใช้ผลิตลำตัวเรือ (hull) และการที่บริษัทไม่ได้ดำเนินการทดสอบอย่างเข้มข้นว่าตัวเรือจะสามารถทนต่อแรงดันมหาศาลใต้ทะเลลึกได้หรือไม่

OceanGate ได้เรียกประชุมในวันถัดมาเพื่อหารือข้อกังวลของ ล็อคริดจ์ ซึ่งในตอนท้ายเจ้าตัวยืนยันว่ารับไม่ได้กับการออกแบบยานดำน้ำของทางบริษัท และจะไม่เซ็นอนุญาตให้ส่งคนลงไปกับเรือลำนี้จนกว่าจะมีการทดสอบเพิ่มเติม

จุดยืนของ ล็อคริดจ์ ทำให้เขาถูก OceanGate ไล่ออกในเวลาต่อมา นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ยื่นฟ้องเอาผิดกับเขาในปีเดียวกัน ฐานนำข้อมูลลับภายในบริษัทไปหารือกับบุคคลภายนอกอย่างน้อย 2 คน

ล็อคริดจ์ ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือน ส.ค. ปี 2018 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของ OceanGate และอ้างว่าบริษัทแห่งนี้พยายามข่มขู่ “ผู้เปิดเผยความจริง (whistleblowers) ไม่ให้ออกมาแฉปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้โดยสารที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่”

ขณะเดียวกัน เดวิด พ็อก (David Pogue) ผู้สื่อข่าว CBS ซึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมทดสอบเรือดำน้ำไททัน ก็ออกมาทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (20) ว่า ยานลำนี้เคย “ขาดการติดต่อ” กับเรือแม่หลายชั่วโมงระหว่างที่ดำลงไปใต้ทะเลเมื่อปี 2022 และสิ่งที่ลูกเรือทำในตอนนั้นก็คือการ ‘ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต’ เพื่อไม่ให้นักข่าวแชร์ข้อผิดพลาดนี้ออกไป

“พวกเขายังสามารถส่งข้อความสั้นๆ ไปยังเรือดำน้ำได้ แต่ไม่รู้ว่ามันอยู่ในตำแหน่งไหน” พ็อก ระบุ

“สถานการณ์ตอนนั้นทั้งเงียบและตึงเครียด พวกเขาตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้เราสามารถทวีตข้อมูลออกไปได้”

อ้างอิง : รอยเตอร์, Insider
 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการดูแล ‘หยก ธนลภย์’ เพื่อป้องกันความขัดแย้งบานปลายในสังคม โดยกล่าวว่า…

“สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือการหาตัวผู้ปกครองที่เหมาะสมกับเด็ก ตามกลไลทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเด็ก ตามสิทธิเด็กที่พึงมี โดยไม่อาจปล่อยให้เด็กเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันเห็นว่าบรรดาพรรคการเมือง ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเด็ก และควรหยุดนำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แบบรายบุคคล แต่ควรกลับไปคิดเชิงระบบของการแก้ไขปัญหาเด็ก ว่าควรจะทำอย่างไรให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่ดีมีภูมิคุ้มกันทางสังคม

ทั้งนี้ จะเห็นว่า คำว่า ‘ชุดนักเรียน’ หรือการแต่งกาย ไม่ได้เป็นข้อจำกัดทางการศึกษาอยู่แล้ว บริบทของปัญหามีความหลากหลายไม่มีถูกผิด เช่น ในตามพื้นที่ห่างไกล ยากไร้ การใส่ชุดนักเรียน เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และในโรงเรียนที่ร่ำรวย และเด็กส่วนใหญ่มีเศษสถานะที่ดี การสวมชุดนักเรียน ช่วยให้เด็กอยู่ระเบียบ และลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละครอบครัว”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top