Sunday, 11 May 2025
NewsFeed

‘สีจิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน พบปะกับ ‘แอนโทนี บลิงเคน’ รมว. ต่างประเทศของสหรัฐฯ ณ อาคารมหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง

(ซินหัว) -- วันจันทร์ (19 มิ.ย.) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พบปะกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ณ อาคารมหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน

สีจิ้นผิงชี้ว่าโลกต้องการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่มีเสถียรภาพในภาพรวม และการที่ทั้งสองประเทศแสวงหาหนทางอันถูกต้องเพื่ออยู่ร่วมกันได้นั้นจะส่งผลต่ออนาคตของมนุษยชาติ พร้อมเสริมว่าชาวจีนเป็นผู้มีเกียรติศักดิ์ศรี ความมั่นใจ และพึ่งพาตนเองได้เช่นเดียวกับชาวอเมริกัน โดยประชาชนทั้งสองประเทศมีสิทธิแสวงหาชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตนด้วยสำนึกของการรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ ประชาชน และโลก รวมถึงจัดการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งควรให้คุณค่ากับผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองประเทศ และความสำเร็จของอีกฝ่ายถือเป็นโอกาสมากกว่าภัยคุกคามต่อกัน โดยวิธีนี้ จีนและสหรัฐฯ อาจมีส่วนส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนให้มีเสถียรภาพ ความแน่นอน และความสร้างสรรค์มากขึ้น

สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าการแข่งขันของประเทศขนาดใหญ่ไม่สะท้อนกระแสธารแห่งยุคสมัย และยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาของอเมริกาเองหรือความท้าทายต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญได้ โดยจีนเคารพผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และไม่ได้แสวงหาการท้าทายหรือแทนที่สหรัฐฯ

ทำนองเดียวกัน สหรัฐฯ จำเป็นต้องเคารพจีน และต้องไม่ละเมิดสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน โดยทั้งสองฝ่ายไม่ควรมุ่งกดดันอีกฝ่ายตามความประสงค์ของตัวเอง หรือลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมในการพัฒนาของอีกฝ่าย

สีจิ้นผิงกล่าวว่าจีนหวังเห็นความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่แข็งแรงและมั่นคงมาโดยตลอด และเชื่อว่าประเทศขนาดใหญ่ทั้งสองสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ และแสวงหาหนทางอันถูกต้องเพื่ออยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่าย พร้อมเรียกร้องฝ่ายสหรัฐฯ ใช้ท่าทีที่มีเหตุผลและปฏิบัติได้จริง รวมถึงทำงานกับจีนในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ สีจิ้นผิงชี้ว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องยึดมั่นความเข้าใจร่วมกันที่เขาและประธานาธิบดีโจ ไบเดน บรรลุในจังหวัดบาหลีของอินโดนีเซีย และปฏิบัติตามแถลงการณ์เชิงบวกเพื่อสร้างเสถียรภาพและปรับปรุงความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ต่อไปด้วย
 

‘เอวาเรสต์’ โพสต์คลิป อธิบายวิธีการทิ้งขยะ ที่เกาหลีใต้ ถ้าทิ้งไม่ดี มีโทษ โดนปรับ หลายล้านวอน

ผู้ใช้ TikTok ที่ชื่อว่า avarest เอวาเรสต์ ได้โพสต์คลิปสั้น อธิบายถึงการทิ้งขยะของประชาชน ผู้ที่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ระบุวิธีการทิ้งขยะไว้ มีใจความว่า ...

ประเทศที่ทิ้งขยะยากที่สุด ทิ้งผิดโดนปรับเป็นล้านวอน ทิ้งหน้าบ้านคนอื่นก็ไม่ได้ ที่นี่คือเกาหลีใต้ ขยะเขาจะมีการแยกอย่างชัดเจน อันนี้กระดาษ อันนี้โฟมและจะต้องทำความสะอาดด้วยนะ แม้ว่าประเทศเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่ใช้พลาสติกมากติดอันดับโลก แต่ประเทศของเขาก็สะอาดมาก เพราะประเทศของเขามีการแยกขยะมากถึง 6 ประเภท พร้อมมีการติดตั้ง กล้องวงจรปิด จะทิ้งผิดก็ไม่ได้ แถมถุงขยะที่ใช้ก็จะต้องมาจากรัฐบาลเท่านั้น เพราะจะมีการระบุเขต ซื้อที่โซลจะเอาไปใช้ที่ปูซานไม่ได้ และแต่ละเขตก็จะมีวันเก็บขยะที่ต่างกัน ดังนั้นถ้าทิ้งผิดวันก็จะโดนปรับ

แล้วถ้าเรา แอบเอาขยะไปทิ้งที่บ้านอื่นจะได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ บางบ้านก็มีกุญแจล็อคถังขยะที่หน้าบ้านเลย เพราะว่าขยะบางอย่างต้องเสียเงินทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น เศษอาหารหรือเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ แต่ละบ้านก็เลยต้องติดตั้งกล้องและคอยดู

ดีขึ้นทุกด้าน!! ‘IMD’ เผย อันดับขีดสามารถในการแข่งขันไทย ปี 66 ดีขึ้น ไต่จากอันดับที่ 64 มาอยู่ที่ 30 ของโลก ที่ 3 ของอาเซียน

ภาพรวมผลการจัดอันดับระดับโลก ในปี 2566 IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก (ประเทศรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ร่วมการจัดอันดับในปี 2566 นี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศคูเวต ได้เข้าร่วมการจัดอันดับในปีนี้เป็นปีแรก) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2565 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่างๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ภาพรวมของผลการจัดอันดับในปี 2566 นี้ พบความแตกต่างของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการค้าเสรี (Open-trade economies) และเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionist economies) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง (Politics) ด้านเศรษฐกิจ (Economics) และด้านสังคม (Social) ซึ่งผู้บริหารองค์กรที่จะสามารถนำพาธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบันได้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเงินเฟ้อ (Inflation) ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และโลกที่มีความแบ่งแยกแตกต่างกัน (Fragmented world) มากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาของปี 2566 ยังแสดงให้เห็นว่าเขตเศรษฐกิจอย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปีนี้ จากการกลับมาเปิดประเทศ หลังดำเนินนโยบายปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างยาวนาน

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 เดนมาร์กยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากความแข็งแกร่งในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงการปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยของปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ไอร์แลนด์ อันดับ 2 ในปีนี้ ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว จากความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการปรับตัว (Resilient economies) สูง อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ จากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ปรับอันดับดีขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่อันดับ 18 จากอันดับ 30 ในปีก่อน
.
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller Economies) ที่มีกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional frameworks) ที่ดี รวมถึงมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong education systems) และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาด (Access to markets) และพันธมิตรทางการค้า (Trading partners) ได้ดี เช่น เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับในอันดับ 4-10 ตามลำดับ ในปี 2566 ได้แก่ อันดับ 4 สิงคโปร์ ซึ่งหล่นจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 6 ไต้หวัน ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 7 ฮ่องกง ปรับอันดับลง 2 อันดับจากปีก่อน อันดับ 8 สวีเดน ร่วงลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 และอันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
.
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่า ประเทศที่มีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง (Stable indigenous energy production) ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง (Robust supply chains) และดุลการค้าที่ดี (Favorable trade balances) เป็นของตนเอง เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จะสามารถรักษาหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ได้ จากผลกระทบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
.
ผลการจัดอันดับของไทย


ปี 2566 ในภาพรวม ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นจาก 68.67 มาอยู่ที่ 74.54 ในปีนี้

เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 18 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ที่ต่างขยับอันดับดีขึ้น 7 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ขยับดีขึ้น 1 อันดับ โดยมีประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้

- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ จากการที่ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติ มีการลงทุนในไทยรวม มูลค่ากว่า 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 46,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 56 โดยมีการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดถึง 39,515 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 เนื่องจากตัวชี้วัด 1.2.12 Exports of commercial services ($bn) และ 1.2.13 Exports of commercial services (%) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมูลค่าการส่งออกบริการเชิงพาณิชย์ ที่เป็นการขนส่ง เดินทาง รวมถึงบริการและรายได้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จากการที่ไทยกลับมาเปิดประเทศ หลังวิกฤตโควิด 19 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว

- ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 41 และ 38 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 34 และ 31 ตามลำดับในปีนี้ โดยในปีนี้ ตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.3.02 Cost of capital อันดับ 11 และตัวชี้วัด 2.3.05 Central bank policy อันดับ 11 และภายใต้ปัจจัยย่อยกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.4.16 Labor regulations อันดับ 6 ตัวชี้วัด 2.4.17 Unemployment legislation อันดับ 12 และตัวชี้วัด 2.4.06 Investment incentives อันดับ 14

- ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ
(Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 47 ในปี
2565 มาอยู่ที่อันดับ 38 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ได้แก่ ตัวชี้วัด 3.1.08 Large corporations อันดับ 11

- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): ภาพรวมอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological
Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 34 ในปี 2565 มาอยู่ที่
อันดับ 25 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี
(Technological Infrastructure) ได้แก่ ตัวชี้วัด 4.2.08 Internet bandwidth speed และตัว
ขี้วัด Investment in Telecommunications ที่ต่างอยู่ในอันดับ 5 ตัวชี้วัด 4.2.15 High-tech
exports (%) อันดับ 11 ตัวชี้วัด 4.2.03 Mobile telephone costs อันดับ 15 ตัวชี้วัด 4.2.04
Communications technology อันดับ 15 และตัวชี้วัด 4.2.11 Public-private partnerships
อันดับ 18

มีรายละเอียดของผลการจัดอันดับในแต่ละปัจจัย ดังนี้

สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)


ในปี 2566 ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไทย มีพัฒนาการของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมากจากปีก่อนถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 จากอันดับที่ดีขึ้นของทุกปัจจัยย่อย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่อันดับดีขึ้น 7 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 44 ในปีนี้ การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่อันดับดีขึ้น 8 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 การจ้างงาน (Employment) ที่อันดับดีขึ้น 1 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 3 และระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 4 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 27

‘คุณปลื้ม’ ชี้ ‘หยก’ ต้องเรียนวิชา ‘จริยศาสตร์’ มองเป็นสิ่งที่ขาดอยู่ ในหมู่นักเคลื่อนไหว ไม่เคารพกติกา-ไร้มรรยาท

วันที่ 20 มิ.ย. 2566-หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกร และผู้ดำเนินรายการข่าว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก M.l. Nattakorn Devakula แสดงความคิดเห็น กรณี “หยก ธนลภย์” ระบุว่า ไม่ต้องการเรียนวิชาศีลธรรมเพราะผู้ใหญ่เรียนกันมาก็ยังทุจริตคอรัปชั่น? เป็นบทสรุปที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ การศึกษาทุกยุคทุกสมัย ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างให้ความสำคัญในการสอนวิชาในกลุ่ม “จริยศาสตร์” (Ethics) กันทั้งนั้น

เด็กซึ่่งเรียนในระบบการศึกษาไทยนั้นโชคดีที่ได้มีหลักสูตรด้านนี้ตั้งเเต่ช่วงมัธยมทั้งที่ในหลายประเทศกว่าจะได้มีโอกาสเลือกวิชาประเภทนี้คือช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเเล้วบังเอิญอาจได้เลือกเรียนวิชาทางด้านปรัชญาหรือศาสนา เอาจริงๆเเล้วมันคือหนึ่งในเเขนงวิชาที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กที่ต้องเติบโตขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมมีเเต่ผู้ใหญ่ที่พร้อมใช้โอกาสเเสวงหาอำนาจเเละความนิยมให้กับตนเอง

จริยศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด สิ่งที่ควรเว้นสิ่งที่ควรทำ

เอาง่าย ๆ มันคือวิทยาศาสตร์เเห่งความผิดชอบชั่วดี ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ขาดอย่างมากในหมู่นักเคลื่อนไหวซึ่งไม่เคารพกติกาเเละไร้มรรยาทอยู่ ณ เวลานี้ มันคือศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรมหลักศีลธรรมเเละกฎที่ว่าด้วยความประพฤติและพฤติกรรม

นอกเหนือไปจากนั้น ถึงเเม้ว่าผู้ใหญ่ทางการเมืองเเละเอ็นจีโอหลายท่านไม่ได้มีโอกาสสอนเด็กๆเรื่องนี้ เยาวชนควรมองให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมในการจะช่วยจรรโลงโลก จรรโลงศีลธรรม จริยธรรม ด้วยหัวใจสำคัญที่เราเรียกกันว่า “รสนิยม” รสนิยมสะสมคือผลพวงจากการปลูกฝังทางด้าน ศิลปะวัฒนธรรม (ศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลายในทุกแขนง) รสนิยมสะสมนี้จะช่วยชี้ทางผิดชอบชั่วดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ รสนิยมสะสมนี้ จะช่วยบอกเราเรื่อง “กาลเทศะ” และ “อะไรควร อะไรไม่ควร” และ “ความพอเหมาะพอดี” สิ่งเหล่านี้เป็น อัตวิสัย (Subjectivity) ที่จะใช้กำกับกรอบแห่งความพอเหมาะพอดี ที่เราจะต้องมีสำนึกขึ้นมาเพื่อควบคุมตนเองให้อยู่ในความพอเหมาะได้

ในชีวิตนี้จะมีแต่คำว่าสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ กรุณาหากรอบความคิดที่ครบถ้วนกระบวนความเเละรอบด้านกว่านี้ ที่เหมาะสมเสียกว่า เเล้วร่วมกันถ่ายทอดสิ่งนั้นถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน การรู้ดีเเละเฮ้าเลี่ยนด้าน “เสรีภาพ” เพียงอย่างเดียวมันไปไม่รอด ทั้งในตัวบุคคลเเละสังคม นี่ผมไม่ได้เทศนาเด็กวัย 15 ปีอยู่เเต่กำลังสื่อสารถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเเต่ในวันนี้กลับคิดไม่เป็นเพราะไม่กล้าเสียสิ่งที่เรียกว่า ‘Personal Popularity’ เเละ ‘Political Convenience’

เคยสงสัยกันมั้ย

🔍เคยสงสัยกันมั้ย ว่าทำไมร้านค้าที่ขายของคล้ายๆ กัน ถึงชอบเปิดร้านใกล้กัน ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ทั้งนี้ หากมองในมิติเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี ‘Hotelling's law’ 

แต่ถ้าจะมองในมิติที่ไม่ซับซ้อน อาจกล่าวได้ว่า การที่ธุรกิจประเภทเดียวกัน เปิดร้านอยู่ใกล้กัน ในบางธุรกิจถือว่าเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความคึกคักน่าสนใจและเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ไปลองดูตัวอย่างธุรกิจประเภทเดียวกันที่มักพบเห็นเปิดในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ว่ามีอะไรบ้าง
 

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานเปิดการเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการตำรวจ

วันนี้ (20 มิ.ย.66) เวลา 09.00 น. พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 ประจำปีพุทธศักราช 2566 รุ่นที่ 1 ณ ห้องประชุม โรงแรมคลาสสิก คามีโอ จังหวัดระยอง โดยมี นาย นพดล อุเทน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและพัฒนา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. , รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ,รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 , รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 , รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 , รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และรองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , ผู้แทนจากสำนักงาน ปปง. และผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1 , 2 , ,7 , 8 , 9 และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จำนวน 116 คน เข้าร่วมพิธี 

ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 ประจำปีพุทธศักราช 2566 เป็นโครงการที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดขึ้น จำนวน 2 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน 2566 และรุ่นที่ 2 ในวันที่ 27-30 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมเสริมสร้างทักษะในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด อีกทั้งเพื่อให้เกิดระบบที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินคดีด้วยความโปรงใสและยุติธรรม

สำหรับการอบรมในครั้งนี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. และสำนักงานอัยการสูงสุด มาให้ความรู้แก่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พุทธศักราช 2542 อาทิ การดำเนินคดีฟอกเงินและขั้นตอนในกระบวนการของศาล แนวปฏิบัติที่ถูกต้องในทุกมิติ การประสานงานกับ ปปง. เทคนิคการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำไปสู่คดีอาญาฐานฟอกเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินให้มีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

9 กรกฎาคม เลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ จับตา เฉลิมชัย-เดชอิศม์-ชัยชนะ อยู่ฝั่งใคร คนนั้นมีสิทธิ์เข้าวิน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีการเคลื่อนไหวเตรียมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ ส.ส.มาแค่ 24 คน จากเดิมมีอยู่ 52 คน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนพ้นจากหน้าที่ไปด้วย

พรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่า จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค
สำหรับองค์ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ตามระเบียบพรรค ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด, อดีตส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค, กก.บห.ชุดรักษาการ, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด, สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ทั้งหมดนี้คือโหวตเตอร์ที่จะออกเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ในแต่ละกลุ่มจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โดย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาใหม่ จะมีน้ำหนักมากกว่า มากถึง 70% ส่วนที่เหลือมีน้ำหนักแค่ 30#

สำหรับสมาชิกพรรคที่น่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่น่าจะมีหลายคน ทั้งคนเก่า และคนใหม่ คนเก่าเช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะย้อนกลับมาลงชิงอีกหรือไม่ แต่แรงเชียร์มีแน่นอน

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยลงชิงมาแล้ว แต่พ่ายแพ้ไป แต่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้จะเอาอีกรอบหนึ่งหรือไม่

ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่ปรากฏชื่อ อย่างนายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ (ไม่รู้ว่าจะนับเป็นคนใหม่ หรือคนเก่า) มี ดร.เด้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือใหม่เลยก็จะมีมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ในวัยแค่ 37 ปี

มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เริ่มมีปัญหากับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค (วันหลังจะเขียนให้อ่านกัน) แต่ยังไม่รู้ว่สจะกลับคืนรังหรือไม่ และจะลงชิงหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่

กล่าวสำหรับการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างจากพรรคอื่น มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ใครลงสมัครก็ต้องออกแรงแสดงวิสัยทัศน์ต่อบรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ง่ายๆคือต้องไปหาเสียง หาคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

อย่างที่บอก ส.ส.ใหม่ 24 คน เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุด ใครลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ใหม่ โอกาสได้รับเลือกตั้งจึงมีอยู่สูงมาก

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มา 24 คน ส่วนใหญ่ 16-17 คนเป็น ส.ส.จากภาคใต้ และเป็น ส.ส.ภาคใต้ที่อยู่ภายใต้สังกัดของเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าสองคนนี้ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นจึงมีโอกาสชนะ ยิ่งถ้าได้บวกรวมกับพลังของเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคด้วย ยิ่งจะฉิวเข้าป้าย
 
วิเคราะห์โดยภาพรวม ส.ส.ใหม่ 16-17 คน อยู่ภายใต้การดูแลของ เดชอิศม์ ขาวทอง และชัยชนะ เดชเดโช ส่วนประธานสาขาพรรค และตัวแทนพรรค น่าจะอยู่ในการดูแลของนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่เคยดูแลสาขาพรรค และเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะอดีตแม่บ้านพรรค

ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ก็น่าจะไม่แตกต่างจากประธานสาขา ตัวแทนพรรค ที่น่าจะฟังนิพนธ์ และเฉลิมชัย

ส่วนอดีตนายก อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.คงจะมีความเป็นอิสระสูง ขึ้นอยู่กับการล๊อบบี้ของผู้อาวุโส มากบารมี เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้อาวุโสมากบารมีทั้งสองคนจึงเป็นตัวชีเวัดเหมือนกันว่า ใครจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ถ้าวิเคราะห์กันบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ คนที่จะชนะการเลือกตั้ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากเดชอิศม์ ขาวทอง ชัยชนะ เดชเดโช เฉลิมชัย ศรีอ่อน นิพนธ์ บุญญามณี รวมถึงชวน-บัญญัติ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมดนี้จะเทคทีมกัน และช่วยดันคนใดคนหนึ่ง

โดยสรุป แต่เฉลิมชัย เดชอิศม์ และชัยชนะ ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นก็มีสิทธิ์สูงมากแล้ว แต่ถ้าได้นิพนธ์มาเสริมทีมเดียวกัน ยิ่งฉลุยเลย

นายหัวไทร

DELTA ร่วง 15% หลัง ตลท. จับติด Cash Balance โบรกฯ ชี้!! เสี่ยงหลุด SET50 ของรอบครึ่งแรกปี 67

(20 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ล่าสุด ณ เวลา 10:12 น. อยู่ที่ระดับ 100.00 บาท ลบไป 17.50 บาท หรือ 14.89% สูงสุดที่ระดับ 103.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 99.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 805.66 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้น DELTA ปรับตัวลงเกิดจากแรงเทขายทำกำไร หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้หลักทรัพย์ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 : ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2566 สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ค. 66

ขณะที่ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า วานนี้ตลาดประกาศให้ติด Cash Balance มีผล 20 มิ.ย. - 10 ก.ค. 66 ทำให้ DELTA เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุด SET50 สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 67  เพราะถ้าตั้งแต่เกิดกรณี ในเดือน ส.ค. -พ.ย. 66 ไปติด Cash Balance อีก 1 ครั้ง จะทำให้หลุด SET50 รอบที่จะมีผล 1 ม.ค. 67 ทันที

 

ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมบริหารราชการ ตร. ครั้งที่ 6/2566

วันที่ 20 มิ.ย.66 เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เป็นประธานการประชุมบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2566 ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และกำหนดแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อาทิ การดำเนินการตามแนวทางการยกระดับการบริการประชาชนของสถานีตำรวจ, การตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด, การสำรวจการก่อสร้างที่ทำการศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ร่วมถึงอาคารที่ทำการ และอาคารที่พักอาศัย และการคัดเลือกตำรวจดีเด่น เป็นต้น โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมการประชุมฯ

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการประชุม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งยังได้มีการกำชับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับผู้บัญชาการ หรือผู้บังคับการ ต้องหมั่นดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ระวังอย่าให้ทำผิดกฎหมาย ระเบียบ วินัย ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ ที่ไม่ดีกับองค์กร
 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน สร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนและสังคม

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่มุ่งให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทุกประเภท ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอันมาก สมควรที่จะแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมบูรณาการปฏิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน ในระดับพหุภาคีและระดับสากล
 
จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.ท.สรร พูลศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร., พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ผบก.ตท., พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พร้อมผู้แทนจาก บช.ก., สตม., บช.ปส., บก.ปคม., บก.ปทส., ตท. และ ป.ป.ส. เดินทางไปร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 23 (The 23rd ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crimes) (SOMTC) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 23 มิถุนายน 2566 ณ เมืองยอร์กยากาตาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ร่วมกับนายไมเคิล เทเน รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน พร้อมทั้งผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และประเทศคู่เจรจา

ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้(ประเทศคู่เจรจา SOMTC+3) สหภาพยุโรป(EU) ออสเตรเลีย รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยมี พล.ต.อ.ลิสติโย ซิกิต ปราโบโว ผบ.ตร.อินโดนีเซีย และ พล.ต.ท.อกุส อันเดรียนโต ผู้บัญชาการตำรวจฝ่ายสอบสวนคดีอาญา         
และประธานคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ให้การต้อนรับ

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ในการทำหน้าที่เป็นกลไกและหน่วยงานในการกำกับนโยบายของอาเซียนในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว ยังเป็นการดำเนินการภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งเป็นเสาหลักที่ 1 จาก 3 เสาหลักของอาเซียน โดยจะร่วมดำเนินการ ประสานงาน ดำเนินกลยุทธ์และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ และเน้นการติดตามผลตามแผนงานความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับปรุง การประสานงานข้ามภาคส่วนและระดับพหุภาคี การยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาข้างต้นและประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ใน 10 สาขา

ได้แก่ การลักลอบค้าอาวุธ(Arms smuggling) การก่อการร้าย(Terrorism) การฟอกเงิน(Money laundering) การละเมิดลิขสิทธิ์ทางทะเล (Sea piracy) การลักลอบขนคนโดยผิดกฎหมาย (Human smuggling) การค้ามนุษย์ (Trafficking in persons) อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(International economic crime) การลักลอบค้ายาเสพติด (Illicit drug trafficking) และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า (Illicit wildlife and timber trafficking) โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการป้องกันปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งทุกประเทศที่ร่วมประชุมได้ร่วมติดตามผลการปฏิบัติและพร้อมดำเนินการตามแผนความร่วมมือ ผลการประชุมหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า จากการเปิดประเทศภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด - 19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ ในประเทศไทย มีการฉ้อโกงออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา ศปอส.ตร.(PCT) ได้รับแจ้งเหตุแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กว่าหมื่นราย สร้างความเสียหาย กว่า 400 ล้านบาท ภายใน 1 สัปดาห์ โดย บช.สอท. ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ

โดยเชิญชวนผู้ใช้โทรศัพท์รายงานหมายเลขต้องสงสัย และผู้ให้บริการให้ความร่วมมือสืบสวนหมายเลขต้องสงสัยและบล็อคหมายเลขคนร้าย แล้วส่งข้อมูลมายังตำรวจไซเบอร์ ส่งผลให้การสืบสวนจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการค้ามนุษย์ ในห้วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ร่วมกับกัมพูชา ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในเมืองสีหนุวิลล์ และช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ถูกหลอกผ่านทางโซเชียลมีเดียไปทำงาน แล้วถูกกักขัง บังคับใช้แรงงานกว่า 800 คน สำหรับการลักลอบค้ายาเสพติด ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านยาเสพติดเพื่อประชาคมที่มั่นคงของอาเซียนฯ และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนด้านยาเสพติด(ASEAN-NARCO)

โดยในครั้งนี้ได้พิจารณาความร่วมมือในโครงการต่อต้านยาเสพติดร่วมกับออสเตรเลีย สำหรับการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า มีการนำเทคโนโลยีระบบนิติวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม DNA มาใช้เพื่อระบุตัวตนและจำแนกแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งนี้ การบริหารจัดการชายแดนแบบเชิงรุก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปฏิบัติตามแผนความร่วมมือ การเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือกุญแจสำคัญในการปราบปราม สกัดกั้นและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดในทุกรูปแบบ  
  
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันอาชญากรรมข้ามชาติพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานความมั่นคงทั้งในและระหว่างภูมิภาคจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับสากล นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทในภาพรวม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top