Saturday, 18 May 2024
WORLD

สหรัฐฯ อาจดัน THAAD ระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำสมัย หลังรัสเซียโชว์ถล่มยูเครนตอบโต้ระเบิดสะพานที่ไครเมีย

เพจ The World Echo ได้โพสต์ข้อความการตอบโต้ยูเครนแบบจัดหนักจากรัสเซีย พร้อมโอกาสในการขายอาวุธชุดสำคัญจากสหรัฐฯ ระบุว่า...

โหดสัสรัสเซียที่แท้ทรู

ฝ่ายยูเครนเพิ่งแลบลิ้นปลิ้นตาใส่รัสเซีย พลางหัวเราะเอิ๊กอ๊ากเย้ยเรื่องสะพานเชื่อมไครเมียระเบิดตูมไปหมาดๆ ส่วนหมีขาวนั้นกัดกรามกรอดๆ ลูกผู้ชายฆ่าได้ หยามไม่ได้ ยกเว้นเมีย ตดยังไม่ทันหายเหม็น ความโหดสัสรัสเซียก็ปรากฏให้โลกร้อง อั้ยหยา...

เฮียปูตินทุบโต๊ะชี้นิ้วใส่ยูเครนว่า ไอ้การที่ยูระเบิดสะพานที่ไครเมียถือเป็นการก่อการร้ายโว้ย แล้วระบายอารมณ์ด้วยการยิงจรวดใส่อาคารในเมืองซาปอริซเซีย 

ชาวโลกจับตามองว่าไอ้หมีขาวจะทำยังไงต่อ เช้าวันจันทร์ตามเวลายูเครน คือตั้งแต่หกโมงเช้ามาเลย ปูตินก็ยิงจรวดแทนคำทักทาย ปูพรมถล่มเคียฟประมาณ 75 ลูก เล่นเอาชาวเคียฟแตกตื่นหนีเอาตัวรอดกันสุดชีวิต 

รัสเซียถล่มตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเที่ยง แต่ความเสียหายในเคียฟนั้นเรียกได้ 'บรรลัย' ตายไป 5 ราย บาดเจ็บอีก 12 ราย ไฟดับทั้งเมือง ระบบประปาและก๊าซให้ความร้อนได้รับความเสียหายหนัก ไม่อยากจะคิดเลยว่าจะหนาวขนาดไหน ตอนนี้เริ่มหนาวแล้วด้วยในซีกโลกฝั่งนั้น

เปลี่ยนแม่ทัพปุ๊บโหดปั๊บ แถมปูตินยังโผล่หน้ามาในช่วงบ่าย ขู่ว่า ถ้าเคียฟไม่หยุด พี่ปูตินจะหยุดเคียฟเอง จากนั้นก็ร่ายยาวว่าได้ออกคำสั่งให้โจมตีจากระยะไกล ชนิดที่เรียกว่าอภิมหามหึมาใส่เป้าหมายต่างๆ ทั้งทางด้านพลังงาน, หน่วยสั่งการบังคับบัญชา, และการสื่อสารของยูเครน โดยใช้ขีปนาวุธซึ่งมีทั้งที่ยิงจากทางอากาศ, ทางทะเล, และภาคพื้นดิน 

สรุปง่ายๆ สั้นๆ คือมีเท่าไหร่ถวายประเคนหมด  ระดมยิงปูพรมถล่มเมืองเคียฟนั่นแหละ ทั้งนี้เพื่อตอบโต้การโจมตีแบบผู้ก่อการร้ายของยูเครนที่เพิ่งระเบิดสะพานไปหมาดๆ ในไครเมีย

'จีน' เดินหน้า!! พร้อมใช้ 'ดิจิทัลหยวน' หลังทดสอบธุรกรรมจริงระหว่างประเทศผ่านฉลุย

รัฐบาลจีนมั่นใจ พร้อมใช้ 'ดิจิทัลหยวน' หลังผ่านช่วงทดสอบการทำธุรกรรมจริงเป็นเวลา 40 วัน ร่วมกับสถาบันการเงินกว่า 20 แห่งของพันธมิตรทั้งฮ่องกง, ไทย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

ธนาคารแห่งชาติจีน ได้ทำการทดสอบการใช้ดิจิทัลหยวนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 23 กันยายน 2565 บนแพลตฟอร์ม mBridge ซึ่งเป็นระบบที่ใช้สำหรับการทำธุรกรรม ชำระเงินข้ามประเทศ ริเริ่มโดยสถาบันการเงินของฮ่องกง Hong Kong Monetary Authority ร่วมกับ Bank for International Settlement (BIS) และธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2019 และต่อมา ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ได้เข้าร่วมโปรเจกต์นี้ด้วยในปี 2564 

ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงทดสอบขั้นสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านที่มีการทำธุรกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนจริง และแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากกว่า 160 รายการ รวมมูลค่าการทำธุรกรรมสูงถึง 150 ล้านหยวน อีกทั้งยังทดสอบออกเงินดิจิทัลหยวน ผ่านระบบของ mBridge ไปแล้วไม่น้อยกว่า 80 ล้านหยวน จนสามารถสรุปได้ว่า โครงการนำร่องทดสอบการใช้ ดิจิทัลหยวนบนแพลตฟอร์มใหม่นี้ช่วยลดขั้นตอน ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และยังลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมต่างประเทศได้จริงๆ

ธัญธร คุณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านเงินดิจิทัล จากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นผ่าน LinkedIn ว่า นี่เป็นโครงการนำร่องรายแรกของโลกที่ใช้ เงินสกุลดิจิทัลมูลค่าจริง ที่ออกโดยธนาคารกลางของจีน สำหรับการชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และยังกล่าวอีกว่า "เป็นความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่ได้สร้างความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้ เราเพิ่งเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ของ CBDC ในการเชื่อมโยงพรมแดน และอำนวยความสะดวกด้านการค้า/การเติบโตทางเศรษฐกิจ”  

ทั้งนี้ จีนไม่ได้มองเพียงแค่การใช้ดิจิทัลหยวน หรือ e-CNY เพื่อซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไปเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงโอกาสในการลงทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และ สินเชื่อในรูปแบบดิจิทัล ที่จะทำให้การใช้ e-CNY อย่างแพร่หลาย และ แข็งแกร่งไม่ต่างจากเงินหยวนแบบดั้งเดิม

เจ้าของ TikTok รวยแซงหน้า 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 49,500 ล้านดอลลาร์

Zhang Yiming นักธุรกิจชาวจีน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ TikTok รวยแซงหน้า Mark Zuckerberg ซีอีโอ และผู้ถือหุ้นใหญ่ Meta แล้ว หลังจาก Meta เจอมรสมระลอกใหญ่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นร่วงหนัก ขณะที่ Elon Musk ยังครองแชมป์รวยที่สุด ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 219,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัท Meta บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram โดนปัญหาเศรษฐกิจและพิษสงครามรุมเร้า จนทำให้ต้องประกาศลดพนักงาน และปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ความมั่งคั่งของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอ และผู้ถือหุ้นใหญ่ Meta ลดลงตามไปด้วย

ขณะที่มาร์ก ชักเคอร์เบิร์ก กำลังประสบปัญหา ในทางตรงกันข้าม Zhang Yiming นักธุรกิจชาวจีน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok กลับมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก้าวขึ้นเป็นคนที่ร่ำรวยในอันดับที่ 22 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 49,500 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก อันดับตกลงอยู่ที่ 24 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 48,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนบุคคลที่ร่ำรวยอันดับ 1 คือ Elon Musk ผู้ก่อตั้ง 'เทสลา' และ 'สเปซเอ็กซ์' มูลค่าทรัพย์สิน 219,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย Bernard Arnault & family มูลค่าทรัพย์สิน 142,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 3 Jeff Bezos ซีอีโอ แอมะซอน (Amazon) มูลค่าทรัพย์สิน 138,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลอ้างอิงจาก Forbes


ที่มา : https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000097279

ยุโรปสะท้าน เมื่อหนาวเยือนยาม 'แก๊ส-ไฟฟ้า' สะดุด ส่งผลราคา 'ฟืน' สูงลิ่วและมีค่าเหมือนทองคำ

ท่ามกลางสงครามที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แต่ความซวยหล่นใส่กบาลชาวโลกทั่วหน้า น้ำมันแพง ก๊าซแพง สินค้าอาหารแพง ทั้งที่เพิ่งรอดตายจากโควิดกันมาแท้ ๆ ล่าสุดชาวอังกฤษแห่ตุนฟืน เพื่อให้ผ่านหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

บรรดายามเฝ้าโกดังต่างยืนยามขันแข็ง เพราะตอนนี้ชาวอังกฤษแอบบุกโกดังเข้าไปขโมยฟืน ซึ่งในวันนี้ราคาสูงลิ่วและมีค่าเหมือนทองคำ อย่าว่าแต่อังกฤษเลย ทั่วยุโรปนั่นแหละที่กังวลว่าอาจเกิดไฟดับเป็นวงกว้างและยาวนาน เพราะวิกฤติด้านพลังงาน ทั้งนี้สืบเนื่องจากท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีมรั่ว เชื่อกันว่าน่าจะเป็นการลอบก่อวินาศกรรม นี่คือสัญญาณว่าทั้งยุโรปหนาวแน่ และหนาวนานไปจนถึงปีหน้า

บรรดาผู้นำสหภาพยุโรปสุมหัวกัน แต่ยังตกลงไม่ได้ เรื่องการกำหนดเพดานราคาก๊าซรัสเซีย ไม่ว่าจะหันทางไหนก็เหมือนหยิกเล็บเจ็บเนื้อ บีบไข่เขาเราเจ็บเอง 

กว่า 70% ของการทำความร้อนในยุโรป มาจากแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าของรัสเซีย ถ้าไม่มีก๊าซจากรัสเซีย ต้องหาแหล่งทดแทนอื่นมาใช้แทนเพื่อไม่ให้หนาวตายทั้งยุโรป นาทีนี้ฟืนจึงกลายเป็นสิ่งที่ล้ำค่า 

ที่ผ่านมา มีประชาชนใช้ฟืนสำหรับทำความร้อนอยู่ก่อนแล้วราว ๆ 40 ล้านคน

ทูตจีนประจำสหรัฐฯ ขอบคุณ 'อีลอน มัสก์' หลังแนะ ‘ไต้หวัน’ ยอมเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน

เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ กล่าวขอบคุณ ‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก ที่อุตส่าห์แนะนำให้ไต้หวันยอมเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ขณะที่ผู้แทนไทเปประจำวอชิงตันโต้เดือด ‘เสรีภาพและประชาธิปไตยซื้อขายกันไม่ได้’

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ‘เทสลา’ และ ‘สเปซเอ็กซ์’ ได้ออกมาเสนอแผนสันติภาพ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ และเปิดโพลให้ชาวทวิตเตอร์โหวตจนโดนทัวร์ลงยับ ทว่าผ่านมาไม่กี่วันเขาก็เรียกแขกอีกครั้ง ด้วยการให้สัมภาษณ์กับสื่อไฟแนนเชียลไทม์สว่า ไต้หวันควรยอมสละอำนาจปกครองดินแดนบางส่วนให้ปักกิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม

“สิ่งที่ผมแนะนำก็คือ... ลองคิดหาวิธีจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ (special administrative zone) สำหรับไต้หวันที่พอจะยอมรับได้ แม้จะไม่ทำให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ก็ตาม” มัสก์ กล่าว

ข้อเสนอของ มัสก์ ดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจจีนอย่างมาก โดย ฉิน กัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ออกมาทวีต “ขอบคุณ” มัสก์ เมื่อวันเสาร์ (8 ต.ค.) ที่ช่วยเสนอทางออกสำหรับความขัดแย้ง และเอ่ยย้ำข้อเรียกร้องของปักกิ่งที่ต้องการ ‘รวมชาติกับไต้หวันโดยสันติ’ ภายใต้การปกครอง ‘หนึ่งประเทศ-สองระบบ’

“ผมขอขอบคุณ @elonmusk ที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน และเสนอแนวคิดในการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษของจีนขึ้นในไต้หวัน” ฉิน ระบุ

“อันที่จริงแล้ว การรวมชาติอย่างสันติและการปกครองแบบหนึ่งประเทศ-สองระบบ คือหลักการขั้นพื้นฐานของเราในการแก้ไขปัญหาไต้หวันอยู่แล้ว และเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้การรวมชาติเป็นจริงได้”

“เมื่ออธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีนถูกรับรอง ไต้หวันภายหลังการรวมชาติจะได้รับสิทธิปกครองตนเองขั้นสูงในฐานะเขตปกครองพิเศษ และมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน”

จ่ายมาสิ!? แล้วเธอจะได้นั่งแถวหน้า ในงาน Fashion Week สุดหรู

เวลาดูแฟชั่นโชว์แบรนด์ดังระดับโลก เคยสงสัยไหมว่าใครกันนะที่นั่งแถวหน้า ถ้าให้เดา คนที่นั่งแถวหน้าน่าจะเป็นเจ้าของแบรนด์หรือบรรดานางแบบ รวมทั้งคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ที่จัดแสดงในวันนั้น 

แต่แท้จริงแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่า ที่นั่งสองแถวหน้านั้นมีไว้ให้เศรษฐีเงินถุงเงินถังที่อยากนั่งกระทบไหล่นางแบบและคนดังในวงการแฟชั่นจ่ายเงินก้อนโตเพื่อได้นั่งตรงนั้นด้วย

ข้อมูลจากนิตยสาร Vogue เปิดเผยว่า หากใครก็ตามที่อยากนั่งแถวหน้า ซึ่งเป็นแถวที่เหล่าดารานางแบบและไฮโซทั้งหลายนั่ง ในงานมิลานแฟชั่นวีกนั้นทำได้ไม่ยาก หากมีเงินก้อนโตฟาดจ่ายค่าที่นั่งแถวหน้า เพื่อได้กระทบไหล่คนดังนางแบบทั้งหลายสมใจ

อัตราค่าที่นั่งสองแถวหน้า ซึ่งสำรองไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องกับแบรนด์ดังอย่างเฟนดิ จิออจิโอ อาร์มานี หรือพราด้า ในงานมิลานแฟชั่นวีกช่วงใบไม้ร่วง-ฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงจะไม่ใช่คนในแวดวงแฟชั่น แต่อยากนั่งแถวหน้า ต้องจ่ายถึง 101,155 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 2,430,862 บาท สำหรับคนรวย ขนหน้าแข้งคงไม่ร่วงหรอกใช่มั้ยล่ะ แพงกว่านี้ก็มีจ่าย

สหรัฐฯ ทุ่ม $290 ล้าน ตุนยาต้านรังสีนิวเคลียร์ ก่อนไบเดนเตือน 'วันโลกาวินาศ' อาจเกิดขึ้น

รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทุ่มเงิน 290 ล้านดอลลาร์ สั่งซื้อยาต้านรังสีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางคำเตือนของผู้นำรายนี้เกี่ยวกับ 'แนวโน้มของวันโลกาวินาศ' อันมีชนวนเหตุจากท่าทีของผู้กระหายสงคราม วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์

กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ (HSS) ยืนยันว่าการจัดซื้อจัดหายา Nplate (เอ็นเพลท) ครั้งใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว สำหรับยกระดับเตรียมพร้อมปกป้องชีวิตประชาชนจากสถานการณ์ฉุกเฉินทางรังสีและนิวเคลียร์

ยาตัวนี้ ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาอาการบาดเจ็บทางเม็ดเลือด ที่เกิดพร้อมกับความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน (Acute Radiation Syndrome, ARS) ในคนไข้ผู้ใหญ่และเด็ก ถ้อยแถลงของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ ระบุ

อาการป่วยจากรังสีลักษณะดังกล่าว "เกิดขึ้นเมื่อทั้งร่างกายของบุคคลรายหนึ่งๆ สัมผัสกับรังสีทะลุทะลวงในปริมาณที่สูงมาก เข้าถึงอวัยวะภายในภายในเวลาไม่กี่วินาที" คำเตือนของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ "อาการบาดเจ็บของการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน ในนั้นรวมถึงเลือดไม่แข็งตัวตามปกติ ผลจากปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะเลือดออกไม่หยุุดไม่สามารถควบคุมได้และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต"

ยา Nplate ผลิตโดยบริษัทเอ็มเจน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย จะทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตเกล็ดเลือด เพื่อลดภาวะเลือดออกอันมีต้นตอจากรังสี

งบประมาณ 290 ล้านดอลลาร์ มาจากโครงการป้องกันอาวุธชีวภาพ Project BioShield กฎหมายปี 2004 ที่มอบเงินลงทุนสนับสนุนบริษัทต่างๆ สำหรับพัฒนามาตรการตอบโต้ทางการแพทย์ที่มีความสำคัญยิ่งกับความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะมีการแจกจ่ายยาต้านรังสีนี้อย่างไรหรือที่ไหน

โฆษกรายหนึ่งของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า การลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมทางนิวเคลียร์ที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว และไม่ได้เร่งรัดขึ้นสืบเนื่องจากสถานการณ์ในยูเครน

'สหรัฐฯ' เตรียมยื่นข้อเสนอให้ 'เวเนซูเอลา' หลุดพ้นมาตรการคว่ำบาตร แลกบ่อน้ำมันให้ Chevron

สำนักข่าว Wall Street Journal รายงานว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน ประกาศพร้อมที่จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซูเอลา หากรัฐบาลเวเนซูเอลาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ โดยที่ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ต้องเจรจาสมานฉันท์กับฝ่ายค้าน และจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2024 

แต่ทั้งนี้ สื่อต่างชาติมองว่า การที่รัฐบาลไบเดน ยื่นข้อเสนอในการปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซูเอลา เพราะต้องการเปิดทางให้ Chevron บริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีสัมปทานบ่อน้ำในเวเนซูเอลา สามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันของรัสเซีย

สำหรับต้นเหตุของมาตรการคว่ำบาตรรอบล่าสุดต่อเวเนซูเอลาของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่ของเวเนซูเอลาในปี 2018 ซึ่ง ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร สามารถคว้าชัยชนะได้เป็นสมัยที่ 2 แต่กลับถูกสภานิติบัญญัติกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม มีการโกงการเลือกตั้ง และซื้อสิทธิ์ขายเสียง จนนำไปสู่การประท้วงให้ นิโคลัส มาดูโร ลาออก 

ต่อมา ฮวน กุยโด ประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้านได้ออกมาประกาศตัวเป็นผู้นำเวเนซูเอลาแทน นิโคลัส มาดูโร ซึ่งได้รับการรับรองโดย โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2019 

แต่ทว่า ด้าน ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ยังคงได้รับการสนับสนุนจากอีกหลายชาติ ทั้งจีน, เม็กซิโก, คิวบา, ตุรเคีย ด้วยเหตุผลว่า นิโคลัส มาดูโร เป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้มาดูโร ยังคงรักษาฐานอำนาจในเวเนซูเอลาได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการคว่ำบาตรเวเนซูเอลาอีกครั้งในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้ Chevron ที่ทำสัมปทานขุดเจาะน้ำมันอยู่ในเวเนซูเอลาไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้จนถึงตอนนี้ 

แต่ในวันนี้ รัฐบาลไบเดนเล็งเห็นว่า สมควรแก่เวลาที่จะเริ่มปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซูเอลาได้แล้ว ท่ามกลางวิกฤติพลังงานโลกที่เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่า ในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ประเทศในแถบซีกโลกเหนืออาจต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก 

อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่าง OPEC+ เพิ่งประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าทางสหรัฐฯ จะพยายามกดดันให้มีการเพิ่มการผลิตน้ำมันก็ตาม

เวเนซูเอลา มีแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของโลก และมีศักยภาพการผลิตได้สูงสุดถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เจอการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทำให้ทุกวันนี้เวเนซูเอลาจำกัดการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 5 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น 

ออกพรรษาในเมียนมา 'เข้าวัดทำบุญ-ขอขมาผู้ใหญ่' รากเหง้าที่คงอยู่ แต่ดูเลือนลางห่างจากสังคมไทย

ในเดือนตุลาคมนี้เป็นเดือนที่มีวันสำคัญในเมียนมา ซึ่งก็คือ 'วันตะดิงจุด' (Thadingyut) หรือ วันออกพรรษา นั่นเอง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม ในขณะที่วันออกพรรษาของไทยคือ วันที่ 10 ตุลาคม  

เอย่าเชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามว่าทำไมวันพระพม่ากับวันพระไทยไม่ตรงกัน?

เหตุผลที่แท้จริงนั้นไม่แน่ชัด แต่เท่าที่เอย่าเคยได้ยินมา เนื่องจากเมียนมาและไทยอยู่คนละเส้นเวลา ทำให้การคำนวณวันตามจันทรคติไม่ตรงกันด้วย แต่บางข้อมูลบอกว่าพม่านั้นใช้การดูวันที่พระจันทร์เต็มดวงจริงไม่ได้คำนวนตามจันทรคติ ดังนั้นทำให้วันพระของพม่าไม่ตรงกับของไทยที่ใช้ระบบการคำนวนตามจันทรคติ ซึ่งทั้ง 2 แหล่งที่เอย่าได้ยินมาก็ถือว่ามีเหตุผลทั้งคู่ตามแต่ทุกท่านแล้วว่าจะเชื่อใคร

ย้อนกลับมาที่ วันตะดิงจุด หรือ วันออกพรรษาของคนเมียนมานั้น ตอนเช้าทุกคนจะเดินทางไปวัดทำบุญ ซึ่งสังเกตุได้ว่าตามเจดีย์ทุกที่ในวันนี้จะมีคนแน่นตลอดทั้งวัน และในยามค่ำจะมีการจุดเทียนหรือประทีบที่เจดีย์ และที่บ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต้อนรับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมาจากดาวดึงส์ โดยประเพณีการจุดดวงประทีปนี้ไม่ได้มีแค่ในเมียนมาเท่านั้น แต่มีในประเทศรอบข้างบ้านเราด้วยเช่น ลาว เป็นต้น

ในวันที่ 15 ค่ำเดือน 11 นี้ในเมียนมาไม่ได้มีตำนานพญานาคพ่นดวงไฟเหมือนที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง แต่นอกจากการจุดดวงประทีปที่พื้นแล้ว หลายพื้นที่ก็มีการลอยประทีปบนอากาศเช่นกัน เช่น ในรัฐฉาน และบางแห่งก็ลอยดวงประทีปในน้ำเหมือนกับการลอยกระทงของบ้านเราก็มี

นอกจากกิจกรรมทางศาสนาแล้วในวันที่ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ วันนี้ยังเป็นวันที่ผู้น้อยไปเยี่ยมผู้หลักผู้ใหญ่และมีพิธีกรรมที่น่ารักอันหนึ่ง คือ พิธีขอขมา โดยพิธีนี้ผู้น้อยหรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะขอขมาผู้ที่มีอายุมากกว่าแลละผู้อาวุโสนอกจากจะอโหสิกรรมให้ในสิ่งที่ผู้น้อยทำผิด ทั้งมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม แล้วผู้ใหญ่บางที่ก็แจกเงิน แจกทองให้ผู้น้อยด้วย ซึ่งพิธีนี้นอกจากทำกันในบ้านแล้วยังกระทำกันในที่ทำงานด้วย

ยูเครนเย้ย 'แฮปปี้เบิร์ธเดย์ปูติน' หลังเหตุรถบรรทุกบึ้มสะพานในไครเมีย

ยูเครนยังไม่กล่าวอ้างความรับผิดชอบเหตุรถบรรทุกระเบิดตูมสนั่น ก่อความเสียหายร้ายแรงแก่สะพานรถไฟที่คู่ขนานไปกับถนน ซึ่งเชื่อมจากรัสเซียไปยังไครเมียเมื่อวันเสาร์ (8 ต.ค.) เล่นงานสัญลักษณ์แห่งการผนวกแหลมแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมอสโก และเส้นทางลำเลียงเสบียงหลักของกองกำลังรัสเซียที่กำลังสู้รบในดินแดนยึดครองทางภาคใต้ของยูเครน แต่ทางหัวหน้าสภาความมั่นคงเคียฟโพสต์คลิปร้องเพลง "แฮปปี้เบิร์ธเดย์ ปูติน" ส่วนที่ปรึกษาประธานาธิบดีเซเลนสกี บอก "นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

เหตุระเบิดสะพานที่ทอดข้ามช่องแคบเคิร์ช ในส่วนของรัสเซียเบื้องต้นยังไม่ได้กล่าวโทษฝ่ายไหน แต่มันกระตุ้นการส่งสารด้วยความยินดีปรีดาจากบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครน แม้จะไม่ได้กล่าวอ้างความรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม

คณะสืบสวนของรัสเซียเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และสันนิษฐานว่าน่าจะรวมถึงพวกคนที่อยู่ในรถยนต์คันหนึ่งซึ่งกำลังแล่นอยู่ใกล้ ๆ ตอนที่รถบรรทุกเกิดระเบิด

รัสเซียยึดไครเมียมาจากยูเครนในปี 2014 และสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ชความยาว 19 กิโลเมตร ที่เชื่อมไครเมียกับโครงข่ายการขนส่งของรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ทำพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ในอีก 4 ปีต่อมา พร้อมขับรถบรรทุกก่อสร้างข้ามสะพานเป็นคันแรก

เวลานี้มันทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดหลักสำหรับกองกำลังรัสเซีย ซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นเคอร์ซอน ทางภาคใต้ของยูเครน และเป็นที่ตั้งของท่าเรือกองทัพเรือในเมืองเซวาสโตโพล

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เป็นการโจมตีโดยตั้งใจหรือไม่ แต่ความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัสเซียประสบความปราชัยในหลายสมรภูมิ และอาจเป็นการกัดกร่อนความเชื่อมั่นต่อสารจากฝ่ายรัสเซีย หลังจากก่อนหน้านี้ทางเครมลินออกมารับประกันกับประชาชนว่าสงครามกำลังเป็นไปตามแผน

นอกจากนี้ มันยังเกิดขึ้นหลังจากผ่านพ้นวันครบรอบวันเกิดอายุ 70 ปีของปูติน เพียงแค่วันเดียว

โอเลกซีย์ ดานิลอฟ ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติและกลาโหมของยูเครน โพสต์วิดีโอภาพที่สะพานกำลังลุกไหม้บนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมกับวิดีโอที่ มาริลีน มอนโร กำลังร้องเพลง "แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ มิสเตอร์ประธานาธิบดี"

นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดฉากรุกรานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ บรรดาเจ้าหน้าที่ยูเครนมักพาดพิงอยู่เป็นประจำ แสดงความปรารถนาทำลายสะพานเคิร์ช ซึ่งทางยูเครนมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์แห่งการยึดครองไครเมียของรัสเซีย

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในถ้อยแถลงว่ากองกำลังของพวกเขาในทางภาคใต้ของยูเครน จะยังคงได้รับป้อนเสบียงอย่างเต็มรูปแบบเหมือนเดิม ผ่านเส้นทางทางภาคพื้นที่มีอยู่และทางทะเล ขณะที่กระทรวงคมนาคมบอกว่าการขนส่งทางรถไฟข้ามสะพานแห่งนี้ จะกลับมาขนส่งได้อีกครั้งตอนเวลาราว 17.00 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 24.00 น.)

มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่าปฏิกิริยาตอบสนองของเคียฟของเหตุการณ์ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนครั้งนี้ "เป็นหลักฐานพยานสันดานก่อการร้ายของยูเครน"

คณะกรรมาธิการต่อต้านก่อการร้ายของรัสเซียเผยว่า รถบรรทุกสินค้าระเบิดบนถนนของสะพาน ตอนเวลา 6.07 น.(ตรงกับเมืองไทย 10.07 น.) เป็นเหตุให้โบกี้บรรทุกถังน้ำมัน 7 ตู้ของรถไฟขบวนหนึ่งซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่แหลมไครเมีย บนรางที่แล่นขนานกัน เกิดไฟลุกไหม้

นอกจากนี้ มันยังทำให้สะพานพังลงมาบางส่วน แต่ส่วนโค้งของสะพานที่ทอดข้ามช่องแคบเคิร์ช น่านน้ำที่บรรดาเรือใช้เดินทางระหว่างทะเลดำกับทะเลอาซอฟ ไม่ได้รับความเสียหาย

ภาพที่โพสต์โดยคณะกรรมการสืบสวนแห่งรัสเซีย เป็นภาพสะพานถนนขาดไปเลนหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งยังคงอยู่สภาพเดิมอยู่ แต่มีรอยร้าว ส่วนภาพอื่น ๆ ที่บันทึกจากระยะไกลพบเห็นกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นจากสะพาน

มีคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน โพสต์ทางทวิตเตอร์ภาพส่วนหนึ่งของสะพานที่กำลังจมน้ำ และเขียนข้อความว่า "ไครเมีย สะพาน จุดเริ่มต้น" แต่ไม่ได้ระบุว่ากองกำลังยูเครนอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดกฎหมายต้องถูกทำลาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกขโมยไปต้องกลับคืนมาสู่ยูเครน ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัสเซียยึดครองเอาไว้ต้องถูกขับไล่ออกไป” โปโดลยัคเขียน

มอสโกอ้างอิงไครเมีย ซึ่งคนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย ในฐานะส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์และของรักของหวงของรัสเซีย โดยเฉพาะในปีนี้ คาดหมายว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวรัสเซียจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อว่ามันมีความปลอดภัยจากสงคราม

คิริล สเตรมูซอฟ รองผู้บริหารแคว้นเคอร์ซอน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย เชื่อว่าเหตุระเบิดสะพาน "จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสบียงทหารมากเท่าไหร่ แต่จะก่อปัญหาต่าง ๆ ด้านโลจิสติกส์สำหรับไครเมีย"

อย่างไรก็ตาม มีโคลา เบไลสคอฟ จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์แห่งยูเครน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกรุงเคียฟ กล่าวว่าสะพานเคิร์ช เป็นสิ่งที่กองกำลังผู้รุกรานรัสเซียไม่อาจหาอะไรมาทดแทนได้ และหากมันถูกตัดขาด "แนวหน้าทางใต้ทั้งหมดของรัสเซียจะถูกบดขยี้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย"

แม้กองกำลังรัสเซียยึดชายฝั่งยาวเหยียดของยูเครนที่เชื่อมต่อแคว้นเคอร์ซอนและไครเมียกับรัสเซีย แต่ทาง เบไลสคอฟ มองว่าการเชื่อมโยงด้านการขนส่งดังกล่าวไม่ค่อยดีนัก และทางรัสเซียคงอยากส่งกำลังเสริมไปยังเคอร์ซอน ข้ามสะพานแห่งนี้ผ่านทางแหลมไครเมียมากกว่า

ศึกชิงประธานาธิบดีบราซิล สองสิงห์ชิงตั่งนั่ง อาจซ้ำรอยประธานาธิบดีผมเป๋แห่งสหรัฐฯ

อย่าเพิ่งมองบน คิดว่าแอดมินเอาข่าวเก่ามาเสนอ เรื่องนี้ยังไม่จบนะ ช่วยจำชื่อแบบบราซิลหน่อย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจอมเบียว ชอบทำเก่ง ไม่ใส่หน้ากากอนามัยช่วงโควิดระบาด จนติดโควิดเองนี่ชื่อ 'ฌาอีร์ โบลโซนารู'

ส่วนคนที่เข้ามาชกชิงแชมป์เข็มขัดประธานาธิบดีคนใหม่ที่คะแนนสูสีนี้ชื่อ 'ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา' จำง่าย ๆ ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันมี “รู” เดียว ส่วนผู้ท้าชิงนั้นมีดีกรีเป็นอดีตประธานาธิบดีมีสอง “ลู” 

ผลการเลือกตั้งคือ พี่สองลู อดีตประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาได้คะแนน 48.4% แต่ยังไม่ถึงครึ่ง จนสามารถคว่ำพี่รูเดียว ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  

จะว่าไปไม่รู้ว่าคนไหนดีกว่ากัน เพราะอดีตประธานาธิบดีสองลู ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถูกจำคุกในข้อหาคอร์รัปชัน

ส่วนพี่รูเดียวก็ใช่ย่อย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือโบลโซนารูถูกกล่าวหาว่าทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและจัดการวิกฤตโควิด-19 ผิดพลาดขั้นร้ายแรง จนคนบราซิลตายเป็นเบือถึง 700,000 คน  เพราะ ขัดขวางโครงการวัคซีนโควิด-19 

รัฐประหารเงียบในพรรครัฐบาลอังกฤษ เมื่อ 'ลิซ ทรัสส์' กำลังจะโดนยึดอำนาจ

ดูเหมือนว่า รัฐบาลอังกฤษจะยังอยู่ในสภาพง่อนแง่น หาหลักยึดยังไม่ได้จริง ๆ เมื่อมีกระแสข่าวลือที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ภายในพรรคอนุรักษ์ แกนหลักของรัฐบาลอังกฤษว่า ลูกพรรคอนุรักษ์เริ่มจับกลุ่มกดดัน ลิซ ทรัสส์ หัวหน้าพรรคหญิงคนใหม่ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในแผ่นดินพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จนถึงขั้นวางแผนยึดอำนาจของเธอ หากจำเป็น!!

สาเหตุเกิดจากความไม่ลงรอยกันในนโยบายของลิซ ทรัสส์ ที่เธอเคยสัญญาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งภายในพรรค หนึ่งในนั้นคือนโยบาย "45p rate" หรือการลดอัตราภาษี 45% ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งนโยบายนี้ของเธอกลับถูกต่อต้านจากทีมรัฐบาลของเธอเองจนเสียงแตก ที่อาจขั้นจะโหวตคว่ำในสภาเลยทีเดียว 

ข่าวการแตกแยกของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ ที่ยังไม่ทันได้เริ่มทำงานอะไรเลย ยิ่งชัดเจนขึ้นอีก หลังงานประชุมพรรคอนุรักษ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮม เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ข่าววงในบอกว่าเสียงแตกหนักมาก จน ซูเอลลา เบรฟเวอแมน รัฐมนตรีมหาดไทยหญิง พันธมิตรคนสนิทของลิซ ทรัสส์ ถึงกับออกมาบ่นว่า เธอผิดหวังมาก ๆ ที่ทีมรัฐบาลบางคนมากลับลำกับนโยบายที่คุยกันไว้แล้ว และยังบอกด้วยว่า มีกลุ่ม สส.ของพรรคอนุรักษ์หลายคน วางแผนจะโค่น ลิซ ทรัสส์ ให้ได้

และยังบอกถึงลูกพรรคอนุรักษ์ ที่คิดจะก่อหวอดเพื่อล้มนโยบาย 45p rate นั้นไม่ต่างจากการก่อรัฐประหารเงียบภายในรัฐบาล ซึ่งนโยบายเจ้าปัญหาที่อาจกลายเป็นประเด็นรัฐนาวาแตก คือ 45p Rate หรืองดภาษี 45% สำหรับบุคคล หรือองค์กรที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี 

โดยปกติ อังกฤษจะมีอัตราภาษีระดับขั้นบันได โดยคำนวนจากรายได้ต่อปี ในอัตราเรทดังนี้...

- รายได้ต่ำกว่า 12,570 ปอนด์/ปี ไม่ต้องเสียภาษี
- รายได้ตั้งแต่ 12,571 - 50,270 ปอนด์ต่อปี จะเริ่มเก็บภาษีที่ 20%
- รายได้ตั้งแต่ 50,271 - 15,000 ปอนด์ต่อปี เก็บภาษีที่ 40%

แต่ถ้ามีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี เมื่อไหร่ จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 45% ซึ่งเป็นเรทสูงสุด

สื่ออังกฤษได้ไปหาข้อมูลพบว่ามีชาวอังกฤษราวๆ 5 แสนคนทั่วประเทศที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี คิดเป็น 1% ของประชากรอังกฤษทั้งประเทศ

และหากรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจไม่เก็บภาษีเพิ่ม 45% จากรายได้ที่เกินมาของคนกลุ่มนี้ เท่ากับรัฐจะเสียรายได้จากภาษีถึง 6 พันล้านปอนด์ต่อปี และเมื่อรายได้หายไป หมายถึงต้องการลดรายจ่ายของภาครัฐลงด้วย ซึ่งก็คือแผนค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการสังคมบางส่วนอาจต้องถูกตัดไป 

แต่ทั้งนี้ ลิซ ทรัสส์ มองว่า นโยบายการลดภาษี 45p Rate จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของกลุ่มคนที่มีศักยภาพในสังคม ที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ และการแก้ปัญหาด้วยการแจก จ่าย ในรูปแบบสวัสดิการก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป ซ้ำยังเป็นเหมือนกับดักประชานิยม ที่ทำให้ผู้คนคาดหวังแต่สวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ

ซึ่งลิซ ทรัสส์ เคยบอกว่านโยบายนี้ อาจเป็นเหมือนยาขม และเป็นหนทางที่ยาก แต่อังกฤษต้องลองหาทางแก้ปัญหาที่ต่างไปจากเดิม ถ้าต้องการที่จะ "change" เธอเชื่อว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน 

แต่ต่อมา นโยบายนี้ของเธอ ถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้าน ว่าเป็นการอุ้มคนรวยเพียงแค่ 1% ของประเทศ แต่กลับรีดเลือดกับปูจากประชาชนส่วนใหญ่อีก 99% ที่ยังต้องจ่ายภาษีในอัตราเกือบเท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนเกือบจะรวย ในระดับฐานรายได้ 50,271 - 150,000 ปอนด์ คือโดนเต็มๆ 40% โดยไม่มีการลดหย่อน

หนี้สหรัฐฯ พุ่งทะลุ 31 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและความไม่แน่นอนทางศก.

หนักหนา!! หนี้สาธารณะสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 31 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก ท่ามกลางเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราดอกเบี้ยระดับสูงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง

ข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (4ต.ค.) ที่ผ่านมา พบว่า หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ไต่ระดับอยู่ใกล้ ๆ 31.1 ล้านล้านดอลลาร์

รายงานข่าวของซีเอ็นเอ็น ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เร่งกู้เงินในช่วงการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศ ในขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ตลาดแรงงานและห่วงโซ่อุปทาน หนี้ค้างชำระของสหรัฐฯพุ่งเกือบ 8 ล้านล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี 2020 และพุ่งขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเพียง 8 เดือน

การกู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บริหารประเทศ และในระยะแรกๆ ของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ปัจจุบันต้นทุนการกู้ยืมเงินเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายระลอกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

คณะกรรมการฝ่ายบริหารงบประมาณแผ่นดินสหรัฐฯ (CRFB) ประมาณการณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า นโยบายต่างของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจทำให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2021 - 2031

“การกู้ยืมเงินมากจนเกินไปจะทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อแบบต่อเนื่อง จะผลักให้หนี้สาธารณะพุ่งแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่อย่างเร็วที่สุดในปี 2030 และทำให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเป็นสามเท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรืออาจเร็วกว่านั้น หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็วขึ้น หรือมากว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้” CRFB ระบุ

โลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย หนักกว่า '2008 และ โควิด19' หวั่น!! ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกระทบรุนแรง

สำนักข่าว CNBC ได้เผยแพร่รายงาน Trade and Development Report 2022 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นโยบายการเงินและการคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะผลักดันให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและหยุดชะงัก

ทั้งนี้ UN เตือนว่า การชะลอตัวทั่วโลกอาจสร้างความเสียหายที่เลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 และวิกฤตของโรคโควิด-19 ในปี 2020 

พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า ทุกภูมิภาคจะได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง แต่ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยหลายประเทศในกลุ่มนี้ใกล้จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะในเอเชียใต้และเอเชียตะวันตกที่มีปัญหาหนี้มีเพิ่มขึ้น เช่น ศรีลังกา, อัฟกานิสถาน, ตุรกี และปากีสถาน

ทั้งนี้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกกำลังเดินหน้าเต็มที่สู่ภาวะถดถอย หากธนาคารกลางยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่คำนึงถึงการใช้เครื่องมืออื่น ๆ และไม่ได้พิจารณาเศรษฐกิจในฝั่งอุปทาน พร้อมกับเตือนว่า ไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อีลอน มัสก์ เตรียมซื้อ Twitter ครั้งใหม่ในราคาเดิม พร้อมขอให้ยุติการดำเนินคดีทางกฎหมาย

'อีลอน มัสก์' ตัดสินใจเดินหน้าซื้อ Twitter อีกครั้ง หลังเคยประกาศยกเลิกแผนการซื้อกิจการก่อนหน้านี้ โดยอ้างว่าบริษัทไม่เปิดเผยจำนวนที่แท้จริงของผู้ใช้งานปลอมและสแปม จนเกิดการฟ้องร้อง

เมื่อวันที่ (4 ต.ค. 2565) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า อีลอน มัสก์ ส่งจดหมายถึงบริษัท Twitter โดยระบุว่า มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์เทสลา บริษัท สเปซเอ็กซ์ และอีกหลายกิจการคนนี้ ตัดสินใจจะซื้อกิจการทวิตเตอร์อีกครั้งตามข้อตกลงเดิม ในราคาที่เคยเสนอไปครั้งแรก

ในจดหมายฉบับนี้ ทนายความของมัสก์ ระบุว่า มัสก์ตั้งใจที่จะดำเนินธุรกรรมนี้ให้เสร็จสิ้น และขอให้ยุติการดำเนินคดีทางกฎหมาย หลังจากก่อนหน้านี้มัสก์ระบุว่าจะยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว จนเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้อง

ทั้งนี้โฆษกบริษัท Twitter เปิดเผยว่า มัสก์ตั้งใจที่จะควบรวมกิจการที่หุ้นละ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top