สหรัฐฯ หมายตาลงทุนฐานผลิต EV ในไทย หวังใช้ทานกระแส ‘รถยนต์ EV’ สัญชาติจีน

รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจสกัดการไหลบ่าของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เข้าตลาดสหรัฐฯ ด้วยกำแพงภาษีนำเข้าสูงถึง 100% ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะ Tesla ที่ยอดขายตกหนักจากการแย่งชิงตลาดของรถยนต์แบรนด์จีนด้วยกลยุทธ์การตัดราคาสู้ จนยอดจองรถยนต์รุ่นใหม่ของ Tesla ชะลอตัวลงอย่างมากทั้งในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป 

ซึ่งล่าสุด Tesla เพิ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกลงอีก 10% และชะลอการลงทุนในแผนกพัฒนาการชาร์จประจุไฟ  และดูเหมือนสถานการณ์ก็ยังไม่ฟื้นตัวนัก ส่งผลให้หุ้นของ Tesla ตกลงไปแล้วถึง 30% ช่วงเวลาแค่ 4 เดือนของปีนี้ (2567) 

หากปล่อยไว้เช่นนี้ ธุรกิจของผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับรถยนต์ราคาประหยัดของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ จึงตัดสินใจสกัดการเข้าตลาดของ สินค้าพลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีถึง 100% โดยเฉพาะรถยนต์ EV ในรุ่นที่ราคาต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ (3.68 แสนบาท) ที่ตอนนี้มีให้เห็นล้นตลาดสหรัฐฯ 

แต่ว่าสถานการณ์ของ Tesla ซับซ้อนกว่านั้น เนื่องจาก Tesla มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศจีนด้วย ที่ผลิตรถยนต์ป้อนทั้งตลาดจีน และต่างประเทศ ที่ทำให้ Tesla ถูกกดดันหนักทั้ง 2 ด้าน จากมาตราการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลถึงต้นทุนราคาชิ้นส่วนอุปกรณ์ของ Tesla ที่ผลิตในจีน และการต้องปรับตัวแข่งขันอย่างดุเดือดกับผู้ผลิตรถยนต์จากจีนด้วย 

ดังนั้น Tesla จำเป็นต้องมองหาตลาดใหม่ในเอเชีย นอกเหนือจากจีน ที่มีศักยภาพการเติบโตไม่แพ้กัน ที่ตอนนี้มีอยู่ 2 แห่งที่เข้าตาอีลอน มัสก์ ประเทศแรกคือ อินเดีย ที่อยู่ในความสนใจของ Tesla มานานแล้ว ส่วนอีกประเทศหนึ่งก็คือ ไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ที่กระแสเครื่องยนต์สะอาดกำลังมาแรงมาก

ทางการไทยเคยมีการพูดคุยกับ Tesla มาได้ 2-3 ปี แล้วในช่วงที่ อีลอน มัสก์ กำลังมองหาทำเลที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ระดับ Gigafactory ในเอเชีย ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่อยู่ในใจของอีลอน มัสก์ และเคยวางแผนที่จะมาสำรวจทำเลถึงในประเทศไทยแต่ต้องยกเลิกการเดินทางไปก่อน 

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากสำหรับ Tesla ทั้งในแง่ฐานลูกค้า ที่จะช่วยให้ Tesla พึ่งพาตลาดยุโรป และ อเมริกา น้อยลง และยังเหมาะที่จะเป็นฐานการผลิตทางเลือกใหม่ นอกเหนือจากจีน ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งไทยเป็นที่รู้จักในฉายา ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ มานานหลายปี จากแรงงานที่ทักษะเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และความสามารถในการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ที่จะช่วยให้ Tesla สามารถลดการพึ่งพาแหล่งผลิตในจีนได้ และยังมีความพร้อมในการรองรับความต้องการในตลาดเอเชีย และ ทวีปอื่น ๆ ได้ด้วย

เคร็ก เออร์วิน นักวิเคราะห์การวิจัยอาวุโสของ Roth Capital ซึ่งดูแล Tesla กล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยต้นทุนที่ต่ำได้เหมือนอย่างจีน แถมยังสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการควบคุมจากรัฐบาลปักกิ่ง นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีงบประมาณอุดหนุน และสิ่งจูงใจทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้และดึงดูดผู้ผลิตจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ เซท โกลด์สตีน นักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นของ Morningstar ซึ่งดูแล Tesla ยังกล่าวถึงข้อดีของไทยอีกว่า “การส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปมีผลกระทบทางการเมืองน้อยกว่าจีน และถึงแม้ว่ารถยนต์ที่ผลิตในไทย ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินสนับสนุนจาก Inflation Reduction Act กฎหมายที่ช่วยเหลือด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แต่โอกาสที่รถยนต์จากไทยจะเจอกำแพงภาษีสูงลิ่วแบบที่จีนต้องเจอมีน้อยมาก ๆ”

และต่อให้ไม่เข้าตลาดสหรัฐฯ ก็ยังมีตลาดในอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 650 ล้านคนรองรับอยู่ และยังเป็นตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งไทยก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ที่มีค่ายรถยนต์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด จีเอ็ม และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่างก็มาตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคอยู่ที่ไทย 

เป้าหมายของไทย คือ การเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตระดับโลก ด้วยข้อเสนอด้านภาษีที่จูงใจ และยังตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปในประเทศ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดรถยนต์ EV ที่สำคัญมากทั้งจากมุมมองของผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอย่าง ฮอนด้า และ โตโยต้า ก็วางแผนที่จะลงทุนกว่า 4.1 พันล้านเหรียญในการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยแล้ว

ยังไม่นับเรื่องการค้นพบแหล่งแร่ลิเธียมเกือบ 15 ล้านตันในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่จะทำให้ไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในเอเชียมากขึ้นไปอีก 

เซท โกลด์สตีน ยังเสริมว่า “หากประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่สามารถผลิตรถยนต์ EV และ รวมถึงส่วนประกอบได้ในราคาถูกและยังสามารถส่งออกได้อย่างอิสระ ก็ไม่แปลกใจที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ รวมทั้ง Tesla จะพิจารณาการสร้างฐานผลิตใหม่ในประเทศไทย ที่เป็นทางเลือกที่ดีนอกเหนือจากจีน”

และยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของรถยนต์ค่ายอื่น ๆ ต่อยุทธศาสตร์การบุกตลาดอย่างหนักของรถยนต์ EV จากจีนได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการรักษาตำแหน่ง ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ไว้ให้ได้ เพราะกำลังถูกท้าทายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และ อินโดนิเซีย ที่ต้องการแย่งบัลลังก์เจ้าแห่งการผลิตรถยนต์จากไทยด้วยเช่นกัน 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: CNBC