Wednesday, 30 April 2025
ECONBIZ NEWS

“บิ๊กตู่” เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยว Samui Plus Model เย็นนี้ ต่อยอดพื้นที่นำร่องจาก Phuket Sandbox 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้รูปแบบ Samui Plus Model (ผ่านระบบ Video Conference) ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยเป็นกิจกรรมการเปิดพื้นที่นำร่องเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ภายใต้  Samui Plus Model  ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อยอดจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งได้เปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และจะขยายในพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพด้วย  

“สำหรับการเปิด Samui Plus Model วันนี้ ช่วงเช้ามีพิธีต้อนรับ Experimental FAM Trip เที่ยวบินปฐมกฤษ์ PG 5125 BKK-USM ซึ่งเป็นตัวแทนเอเย่นต์และสื่อมวลชนต่างประเทศ  (ลอนดอน ปารีส แฟรงค์เฟิร์ต และฮ่องกง) ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเชิญมาในรูปแบบแฟมทริปด้วย และในช่วงเย็นเวลาประมาณ 19.00 น. ณ SEEN BEACH CLUB SAMUI อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายกรัฐมนตรี จะทำพิธีเปิด Samui Plus Model ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมร่วมชมการแสดง 3D Mapping Performance ชุด Samui+ Top of Mind ซึ่งการเปิดกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของหมู่เกาะทะเลใต้ทั้งเกาะสมุย เกาะพงันและเกาะเต่า รวมถึงพื้นที่อื่นๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ” นายอนุชากล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า Samui Plus Model และ Phuket Sandbox เป็นการเดินหน้าอย่างเป็นขั้นตอนตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางเปิดประเทศไทยภายใน 120 วัน เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข็มงวดอีกด้วย ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox ตั้งแต่วันที่1-14 ก.ค.นี้ รวมแล้ว 5,473 คน

‘โฆษกแรงงาน’เผยมาตรการเยียวยา 10 จังหวัด 9 กิจการ ช่วยบรรเทาภาคแรงงานให้กิจการฟื้นตัวโดยเร็ว

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 เห็นชอบมาตรการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน รวมทั้งอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เป็นเวลา 1 เดือนนั้น 

ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ จากเดิม 4 สาขา ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมเป็น 9 สาขาโดยเพิ่มเติมสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1) ลูกจ้างมาตรา 33 จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้สัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน ไม่เกิน 10,000 บาท

2) นายจ้างมาตรา 33 จ่าย 3,000 บาทต่อคน ลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน

3) ผู้ประกันตนมาตรา 39,40 จ่ายรายละ 5,000 บาท

4) ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะได้รับ 5,000 บาท

5) ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 33 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามการเยียวยาลูกจ้างมาตรา 33 และนายจ้างมาตรา 33 ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะที่ไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท

สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนในครั้งนี้ เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล และตรวจสอบข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงนายจ้างในกิจการเจ้าของคนเดียวที่มีชื่อระบุตามทะเบียนพาณิชย์ ขอให้ท่านรีบดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนให้เรียบร้อย ส่วนนายจ้างที่มีสถานะนิติบุคคล สำนักประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลที่แจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคมไว้
 
“ในเรื่องนี้ ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ จึงได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมประชุมหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งกำหนดรายละเอียดให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวต่อไป” นางเธียรรัตน์ กล่าวในท้ายสุด

‘ผอ.สศค’ เผย! เตรียมคุยออนไลน์ฟู้ดเดลิเวอรี่ ดึงร่วม ‘คนละครึ่ง’ ภายใน ก.ค.นี้ ด้าน ‘ร้านอาหาร-ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ประสานเสียงหนุนรัฐปลดล็อก จ่ายคนละครึ่งผ่านแอปฯ ซื้ออาหาร-เครื่องดื่ม

‘ผอ.สศค’ เผย! เตรียมคุยออนไลน์ฟู้ดเดลิเวอรี่ ดึงร่วม ‘คนละครึ่ง’ ภายใน ก.ค.นี้ ยกเว้น! รายที่มีปัญหา ระบุ! รอเจรจาค่า GP เหตุมีการโปรโมทให้ร้านค้าและไรเดอร์ ด้าน ‘ร้านอาหาร-ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ประสานเสียงหนุนรัฐปลดล็อก จ่ายคนละครึ่งผ่านแอปฯ ซื้ออาหาร-เครื่องดื่ม

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงกรณีฟู้ดเดลิเวอรี่ต้องการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลว่า ล่าสุด ได้หารือกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) อย่างไม่เป็นทางการ 2 ราย จากผู้ให้บริการทั้งหมด 4 ราย โดยผู้ให้บริการยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งอย่างไม่มีปัญหา ยกเว้นผู้ให้บริการหนึ่งรายที่กระทำผิดกฎหมายอยู่ในขณะนี้ ไม่ตอบข้อหารือของสศค. หลังจากที่ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ‘ไม่ว่าง’

“สศค.จะไม่ตัดสิทธิผู้ให้บริการรายใดออกไป แต่ต้องการทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขของโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการชำระเงินระหว่างกันโดยตรงไม่ผ่านตัวกลาง (Face to Face)” น.ส.กุลยา ย้ำว่าภายในเดือนนี้จะเชิญผู้ประกอบการมาหารือผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสรุปแนวทางการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ โดยในระหว่างนี้ สศค.ได้หารือกับธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ให้บริการ ‘เป๋าตัง’ ในประเด็นการชำระเงินจากภาครัฐไปสู่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ และจากฟู้ดเดลิเวอรี่ไปยังผู้ค้า เป็นต้น

ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องคำนึงถึงความโปร่งใส และไม่มีปัญหาเรื่องทุจริต ที่ผ่านมาสศค.ได้ตรวจพบการทุจริตโครงการคนละครึ่ง และได้ดำเนินการเข้มงวดแล้ว จึงไม่ต้องการเห็นเกิดช่องโหว่ของการทุจริตกลับมาอีก

ส่วนกรณี การลดค่าธรรมเนียม หรือ Gross Profit (GP) นั้น สศค. อยู่ระหว่างพิจารณาถึงความเหมาะสม และเตรียมหารือกับผู้ประกอบการฯ ทั้งนี้ อยากเห็นการมีส่วนร่วมของฟู้ดเดลิเวอรรี่ต่อประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการเคยให้ข้อมูลว่า มีการจัดโปรโมชันให้กับร้านค้า ไรเดอร์ และผู้สั่งซื้ออาหารอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น โรบินฮู้ด ไม่เก็บค่าขนส่งลูกค้า เป็นต้น โดยมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายช่วยเหลือสังคมในช่วงที่ล็อกดาวน์

ด้านนายวรพจน์ พูลถนอมสุข เจ้าของร้านอาหาร ‘เป่าซิงสุกี้’ ย่าน ถ.เจริญลาภ กล่าวว่า เดิมร้านมี 5 สาขา ปัจจุบันเหลือ 3 สาขาและกำลังจะปิดอีก 1 สาขา เหลือเพียง 2 สาขาเพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายสุกี้ฯ โดยหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด และรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้รายได้จากยอดขายลดลงมากกว่า 35%

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะปลดล็อก เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการของรัฐ โดยเฉพาะ ‘คนละครึ่ง’ สามารถจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มผ่านแอปฯ ของฟูดเดลิเวอรี่แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ซบเซาจากนโยบายของรัฐ พอจะกระเตื้องขึ้นมาได้ โดยอยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินในทันที ข้ามกฎระเบียบและขั้นตอนใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้โครงการดังกล่าวเกิดความล่าช้า เนื่องจากเวลาที่ทอดยาวออกไป ยิ่งเป็นการทำลายโอกาสของผู้ประกอบการร้านอาหารฯ

ขณะที่ น.ส.รัตนาภรณ์ เวชสวรรค์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่ ‘ป.เจริญชัยไก่ตอน’ ย่าน ถ.ประชาราษฎร์ ห้วยขวาง กล่าวว่า ร้านได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดและมาตรการของรัฐ ทำให้ยอดขายหายไปราว 30-40% ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ที่สำคัญคือ ประชาชนไม่ออกจากบ้าน เพราะการประกาศล็อกดาวน์ของรัฐ ทำให้โอกาสที่ร้านฯ จะขายอาหารแก่ลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่งยิ่งน้อยลงไปอีก

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐคลายล็อก และเปิดให้มีการใช้จ่ายค่าอาหารฯ ในโครงการคนละครึ่ง ผ่านแอปฯ เป๋าตังโดยเร็ว และเปิดให้ทุกแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สามารถรับเงินแทนร้านอาหารได้ ส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งนี้จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติได้อย่างแน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารในตอนนี้คือ การกระตุ้นให้เกิดยอดขาย ไม่ว่าจะจากทั้งรัฐบาล หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ร้านต่าง ๆ ยังมีสภาพคล่องและรักษาธุรกิจต่อไปได้

ส่วนผู้บริหารระดับสูงของแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่รายหนึ่ง (ค่ายสีชมพู) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่หลายแห่ง ได้ใช้เวทีการประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เสนอแนวทางการชำระเงินค่าอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่มาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากภาครัฐจะเปิดให้มีการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่จริง เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่บริษัทเจ้าของแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่เท่านั้น เพราะผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ผู้บริโภคและร้านอาหาร รวมถึงระบบเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะกระเตื้องตามกันไป

ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผอ.ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บเฝ้าติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้ หากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่สามารถเข้าร่วมได้ ทางแกร็บก็พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน และพร้อมให้ภาครัฐตรวจสอบตรวจสอบความโปร่งใส

ส่วนในทางปฏิบัติ หากภาครัฐปลดล็อกให้มีการใช้จ่ายเงิน (สิทธิ) ในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่ แกร็บก็พร้อมร่วมหารือในรายละเอียดกับธนาคารกรุงไทย ที่ดูแลแอปฯ เป๋าตัง ถุงเงิน และระบบการชำระเงินในโอกาสต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“คกก.กองทุนฟื้นฟูฯ” อนุมัติเงิน 163 ล้านบาท คาดช่วยปลดหนี้เกษตรกร280 ราย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงงบประมาณจากงบดำเนินการ ประจำปี 2564 ที่คาดว่าจะเหลือจ่าย จำนวน 103 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณ หมวดงบเพื่อการจัดการหนี้  จำนวน 60 ล้านบาท จากกองทุนจัดการหนี้เกษตร รวม 163 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายในการชำระหนี้เกษตรกร คาดว่าจะช่วยเหลือได้ 280 ราย

นอกจากนั้น เห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิก ที่ทางกองทุนฟื้นฟูฯจะเข้าไปซื้อทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาด (NPA) จำนวน 40 ราย ยอดเงินรวม 34 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มรายชื่อสถาบันการเงินที่กองทุนฯสามารถเข้าไปซื้อหนี้สมาชิกกองทุนได้ คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บริษัทบริหารสินทรัพย์แอคนรีทีพี่(ไทยแลนด์) บริษัทเงินทุนศรีสวัสดิ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์พหลโยธิน

'เฉลิมชัย'​ เดินหน้าโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ฝ่าวิกฤตโควิด19 ผนึก 'พาณิชย์'​ เติมทรัพย์สินประชาชนเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เริ่มขับเคลื่อน​ 15​ ก.ค.64

'เฉลิมชัย'​ เดินหน้าโครงการธนาคารสีเขียว  (Green Bank) ฝ่าวิกฤตโควิด19 ผนึก 'พาณิชย์'​ เติมทรัพย์สินประชาชนเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เริ่มขับเคลื่อน​ 15​ ก.ค.

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน​ (Sustainable Agriculture) แถลงวันนี้​ (14​ ก.ค.) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ​ ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว​ (Green Bank) ภายใต้นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนบนแนวทางศาสตร์พระราชาและโมเดลเศรษฐกิจ​ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อต่อยอดขยายผลนโยบายของรัฐบาลภายใต้วิกฤตโควิด19​ ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ​ ให้กับประชาชนและประเทศชาติและเป็นการสร้างแรงจูงใจในการปลูกไม้เศรษฐกิจตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน   

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ6ประการ ได้แก่... 

1.เพื่อเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 

2.เพื่อเพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพและธุรกิจใหม่ๆให้กับประชาชน

3.เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ

4.เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนและเมือง แก้ปัญหา​ PM 2.5

5.เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน(Global Warming)และเพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศ

6.เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ​ (SDG) และยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตรและเศรษฐกิจ

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์รายงาน (ณ วันที่ 5 ก.ค. 2564) ว่าตั้งแต่ปี​ 2562​ ถึงปัจจุบันมีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 87​ สัญญา จำนวน 119,498 ต้น วงเงิน​ 134,375,912.00 บาทโดยแบ่งเป็นกลุ่มให้สินเชื่อรายย่อย​ (พิโกไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อวงเงิน​5​หมื่นถึง​ 1​ แสนบาท) 80 สัญญา คิดเป็น 92%ของสัญญารวมวงเงินค้ำประกัน​ 4​ ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน​ (ธนาคารกรุงไทยและธกส.) 7​สัญญา คิดเป็น 8 %ของสัญญา รวมวงเงินค้ำประกัน 130 ล้านบาท

ซึ่งแสดงว่าระบบการให้สินเชื่อโดยสถาบันการเงินได้ทำงานแล้วและมีโอกาสในการขยายสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อีกมาก​ เพราะที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่มากนัก​ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดขยายผลให้เร่งขับเคลื่อน​ จึงให้กระทรวงเกษตรฯ​ เป็นแกนกลางในการเร่งส่งเสริมปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเอง สร้างหลักประกัน ให้กับครอบครัว และความมั่นคงในอนาคตควบคู่ไปกับการใช้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินและเป็นหลักประกันสินเชื่อในการเข้าถึงแหล่งเงินทั้งรายย่อยและรายใหญ่

โดยเกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย​ 50,000-100,000 บาทต่อรายและวงเงินสินเชื่อรายใหญ่จากสถาบันการเงินเช่นธนาคารเป็นต้น

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผนึกความร่วมมือในการขับเคลื่อนขยายผลต่อยอดโครงการนี้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงไทย, กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การยางแห่งประเทศไทย​ (กยท.) ภาคการวิจัย เช่นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สวก. ภาควิชาการเช่นสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม​ (AIC) ภาคเอกชนเช่นหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธนาคาร, สภาเอสเอ็มอี, ภาคเกษตรกรเช่นสภาเกษตรกรแห่งชาติ, สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย, สมาคมเกษตรกร, กลุ่มเกษตรกร, เกษตรกรภาคท้องถิ่นเช่นอบจ. เทศบาล, อบต. กทม. เมืองพัทยา ภาคีเครือข่ายมูลนิธิ องค์กรเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

โดยในวันพรุ่งนี้​ (15ก.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียวทันที

ก่อนหน้านี้​ เมื่อวันที่​ 7 ก.ค.​ 64​ ที่ผ่านมานายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนและประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองได้จัดประชุมหารือกับ​ นางสาวจรรยา ชื่นสิริพัฒนกุล ผู้อำนวยการกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์, นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายจิรพันธ์ ศรีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน 12 สำนักงานโครงการบริหารจัดการหนี้นอกระบบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินและสินเชื่อ​ โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันรวมทั้ง ประเด็นการกำหนดมาตรฐานผู้ประเมินหลักทรัพย์ (ไม้ยืนต้น) การกำหนดมูลค่ามาตรฐานของหลักทรัพย์​ (ไม้ยืนต้น) และประเด็นพันธบัตรต้นไม้รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต​ (Carbon Credit)

สำหรับเรื่องนี้​ ด้าน​ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน​ ได้เตรียมการล่วงหน้าโดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project) ต่อยอดนโยบาย Green City เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองภายใต้ 5 แนวทางของเกษตรยั่งยืนได้แก่วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบครอบคลุม 77 จังหวัด​ ซึ่งเป็นอีกกลไกหลักอีกกลไกหนึ่ง รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ​ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำฐานข้อมูลทะเบียนไม้ยืนต้นของเกษตรกรทั่วประเทศไว้แล้ว​ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารโครงการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงร่วมกับทุกภาคีภาคส่วนต่อไป

“ปัจจุบันรัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายป่าไม้มาตรา​ 7​ โดยยกเลิกไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้เหมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป ทำให้เป็นโอกาสของประชาชนโดยมีไม้เศรษฐกิจทั้งไม้กลุ่มผลไม้กลุ่มสมุนไพรไม้กลุ่มยางไม้ตระกูลกลุ่มไผ่และไม้ยืนต้นอื่นๆ​ เช่น... 

1.สัก 2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20. ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25.ยมหอม 26. นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล 30.พฤกษ์

31.ปีบ 32.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กระทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม ฯลฯ​ 

โดยสามารถนำไม้ยืนต้นมาใช้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้รวมถึงการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ" นายอลงกรณ์​ กล่าวในตอนท้าย

จับตาเปิดเกาะสมุยรับต่างชาติเที่ยว 15 ก.ค.นี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานความคืบหน้าโครงการสมุย พลัส โมเดล ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่15 ก.ค.นี้ โดยจะเปิดพื้นที่นำร่อง 3 เกาะดังใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้ามาท่องเที่ยว ล่าสุดยอดจองเส้นทางบิน กรุงเทพฯ-สมุย ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่รับเฉพาะผู้โดยสารต่อเครื่องจากต่างประเทศเป็นการเฉพาะแบบไป-กลับ วันละ 3 เที่ยวบิน ในช่วง 4 เดือนนี้ ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2564 มีจำนวนผู้โดยสารจองตั๋วเครื่องบินเฉพาะขาเข้าสมุยแล้ว 80 คน และจากนี้จะต้องประเมินอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ในวันแรกของการเปิดโครงการสมุย พลัส โมเดล ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามามีจำนวนรวม 11 คน ทั้งหมดเป็นสื่อมวลชนที่เดินทางร่วมแฟมทริปทัศนศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวของโครงการฯ แบ่งเป็นจากเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของโครงการฯ เส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย ของบางกอกแอร์เวย์ส จากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี สิงคโปร์ ไต้หวัน  

นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีการเตรียมความพร้อมรองรับแล้วทุกอย่าง แต่ในช่วงแรกจะขอทดสอบระบบต่าง ๆ เชื่อว่าจะเข้าที่เข้าทางในระยะต่อไป เพราะตอนนี้กระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งเปิดระบบให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลงทะเบียนขอใบอนุญาตการเดินทางเข้าประเทศไทย (ซีโออี) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเดินทางเข้าโครงการสมุย พลัส โมเดล  

ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศไทย 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ เพื่อกำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนกิจการอวกาศ กำหนดหลักเกณฑ์และให้บริการรับคำขอและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาตด้านอวกาศ เพื่อให้ดำเนินการกิจการอวกาศเป็นไปด้วยความเหมาะสม สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศได้เพิ่ม 

โดยสาระสำคัญ กำหนดให้มีนโยบายและแผนกิจการอวกาศ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ และกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายกิจการอวกาศ ตามขอบเขตของพระราชบัญญัติ และสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่เลขานุการให้กับคณะกรรมการฯกำกับดูแล ส่งเสริมกิจการอวกาศ เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์จากการดำเนินกิจการอวกาศก่อนประสานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนั้นกำหนดลักษณะและประเภทการอนุญาต รวมถึงมาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ดำเนินกิจการอวกาศ เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ โดยใช้ทรัพยากร เทคโนโลยี และองค์ความรู้จากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ขับเคลื่อนผ่านธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจให้บริการนำส่งดาวเทียม ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ธุรกิจสำรวจอวกาศให้กำหนดโทษผู้ดำเนินกิจการอวกาศ โดยไม่ได้แจ้งหรือไม่มีใบอนุญาตดำเนินกิจการอวกาศ เป็นต้น 

ทั้งนี้ให้ ครม. จัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติระยะเริ่มแรกตามความจำเป็น และให้นายกรัฐมนตรี เสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ มาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่ ครม. กำหนด และกำหนดให้รายได้ของสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติเป็นของหน่วยงาน ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน 

รมว.แรงงาน เผยความคืบหน้าช่วยเหลือแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารคนงานแคมป์ก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 12 -27 ก.ค. 64 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยมีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง และที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง ห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน นั้น 

“ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ต่างห่วงใยทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากการให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาล จึงกำชับให้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับฟังปัญหาหลายด้าน ทั้งจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และสมาคมภัตตาคารไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน จึงได้ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และสมาคมภัตตาคารไทยทำข้าวกล่องเพื่อส่งแคมป์คนงานที่ถูกกักตัวช่วงที่มีการปิดสถานที่ก่อสร้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่แรงงานภายในแคมป์ไปพร้อมกับช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และสมาคมภัตตาคารไทยให้มีรายได้ โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นผู้สนับสนุนค่าอาหาร จนครบกำหนดตามประกาศ ซึ่งในระหว่างวันที่ 12 – 27 กรกฎาคม 2564 ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานรับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนาย ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน รับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง ด้านอาหาร โดยล่าสุดได้มอบหมายสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ซึ่งมีแคมป์คนงาน จำนวน 520 แห่ง และสำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี สำนักงานจัดหางานจังหวัดนนทบุรี สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม และสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีแคมป์คนงานรวม 797 แห่ง เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ระหว่างกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และสมาคมภัตตาคารไทย ที่เป็นผู้จัดทำอาหาร และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นผู้ดูแลแจกจ่ายอาหารให้แก่แรงงานในแคมป์ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมการจัดหางานหวังอย่างยิ่งว่า ระหว่างวันที่ 12 – 27 กรกฎาคม 2564 ที่ดำเนินการโครงการฯ นี้ จะได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ค่าอาหารแก่แรงงานในแคมป์ก่อสร้าง ทำให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ต้องหยุดงานได้จนครบกำหนด

แบงก์ชาติ รับโควิดรอบนี้กระทบศก.หนักเกิดคาด

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์ ว่า ขณะนี้พบว่า การล็อกดาวน์รอบล่าสุดที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 64 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ ซึ่งตอนนี้จะประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยขอรอดูผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจริงก่อน จากนั้นจึงมาสรุปอีกครั้งว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบมากแค่ไหน 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด ก็ได้หารือถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยที่ประชุมได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.0% ในเดือนมี.ค. โดยเหตุผลสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามที่มีความรุนแรงและกระจายในวงกว้าง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดในระลอกสาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาด จากการระบาดที่รุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 7 แสนคน จากประมาณการเดิม 3 ล้านคน 

พร้อมกันนี้ยังประเมินความเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ การระบาดที่อาจรุนแรงขึ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด ความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง ปัญหาฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหาการชะงักของห่วงโซ่การผลิตที่อาจรุนแรงกว่าคาด

รัฐหาทางแก้หนี้สัญญาเงินผ่อนช่วยเหลือผู้บริโภค

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.กำลังหาทางช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน โดยเตรียมปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เกี่ยวกับกรณีการขายทอดตลาดที่ไม่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ในสัญญาเช่าซื้อทุกประเภท โดยเฉพาะการเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งล่าสุดคณะอนุกรรมการกำลังไปศึกษาแนวทางการช่วยเหลือ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอให้ทางคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาพิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้ในแนวทางการช่วยเหลือ สคบ. ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือแก้ปัญหาด้วย เช่น กรณีของการคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อนั้น ที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนดอัตราไว้อย่างชัดเจน ล่าสุดได้ขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางปรับปรุงและออกข้อกำหนดมารองรับให้ครอบคลุมถึงส่วนนี้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในกรณีที่ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยเกินจริง 

ส่วนการติดตามทวงถามหนี้ ที่ผ่านมาสคบ.ได้หารือเบื้องต้นกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีกฎหมายดูแลเป็นการเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยสคบ.จะประสานแนวทางการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มเติม เช่น การติดตามทวงถามหนี้จะผ่อนปรนได้อย่างไรบ้าง การติดตามทวงถามรายวันทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไรบ้าง และสามารถปรับลดลงได้อย่างไร เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้บริโภคที่เป็นหนี้ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง 

เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ที่ผ่านมา สคบ. เคยเชิญผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่มีสัญญาเช่าซื้อกับผู้บริโภคมาหารือ ถึงแนวทางการผ่อนปรนในช่วงวิกฤตโควิดครั้งนี้จะช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง เช่น การลดค่าธรรมเนียม การพักชำระหนี้ หรือการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top