Tuesday, 29 April 2025
ECONBIZ NEWS

“บิ๊กตู่” พอใจ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ให้ Rating ไทยที่ BBB+ อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากข้อมูลจาก Fitch Ratings (Fitch) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สะท้อนความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ที่ได้รายงานไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาโดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ การจัดอันดับของ Fitch Rating มีตัวชี้วัดจากภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ซึ่งสะท้อนภาพความแข็งแกร่งของการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ซึ่งแม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ที่ยังคงมีความเข้มแข็ง และส่งผลต่อการจัดอันดับความเชื่อถือของประเทศไทย โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 10.8 เดือน ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 เดือน นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลที่ร้อยละ 0.5 ต่อ GDP และจะเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนั้น Fitch ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ เดือนเมษายน 2564 มีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity: ATM) ค่อนข้างยาว คือ 9.5 ปี และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินบาทมากกว่าร้อยละ 98 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (BBB peers) เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ฮังการี บัลกาเรีย รัสเซีย และคาซัคสถาน เป็นต้น ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 68.8 นอกจากนั้น สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทย  

ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 52.7 ต่อ GDP จากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และการมีกฎหมายการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันที่ร้อยละ 59.4 
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 Fitch เชื่อมั่นว่า น่าจะเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้ง คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวและรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง 

“รัฐบาลพึงพอใจกับการจัดอันดับ และเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพยายามเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุม รวมถึงการเปิดจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง (Phuket Sandbox) ไปแล้ว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจะเริ่มเปิดพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความพร้อมต่อไป เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ตามนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี” นายอนุชา กล่าว

“รัฐบาล” หนุน ก.พาณิชย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ พบ ไทย อันดับ 1เอเซีย-ติดระดับโลก เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย-ละครรักวัยรุ่น ส่งออกทะลุ พันล้าน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวเด่นที่มีศักยภาพส่งออกสูงและเป็นที่นิยมในภูมิภาค ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ครอบคลุม ภาพยนตร์และซีรีส์ออนไลน์ แอนิเมชั่น เกมส์ การ์ตูน และคาแรคเตอร์ เป็นต้น 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ได้กำหนดแผนดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาผู้ประกอบการทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ การขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขายผลงานและเจรจาผ่านระบบออนไลน์ ที่คาดว่าจะนำไปสู่การซื้อขายผลงานของผู้ประกอบการไทย มูลค่ารวมประมาณ 3.6 พันล้านบาท ตลาดที่มีศัยภาพของผู้ประกอบการไทย คือ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เนื่องจากมีอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ขนาดใหญ่ทั้งด้านแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ และมีแนวโน้มที่จะว่าจ้างผู้ประกอบการต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการจ้างผลิตและร่วมกันผลิต

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย ซึ่งซีรีส์ละครเกี่ยวกับความรักวัยรุ่นเพศเดียวกัน เมื่อ 29 – 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการคอนเทนต์วายของไทยเข้าร่วมจำนวน 10 ราย เกิดการนัดหมายเจรจาธุรกิจรวมกว่า 158 นัดหมาย ทำรายได้ทะลุเป้ากว่า 360 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีวายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328 เปอร์เซ็นต์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกมส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการพัฒนาของเทคโนโลยี และประเทศไทยไทยถือเป็นที่หนึ่งในอาเซียน มีโอกาสขยายสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) รายงานว่า ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเกมในประเทศ ขยายตัวสูงขึ้น14-15 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 29,000 ล้านบาท เนื่องจากวิกฤติโควิด คนอยู่บ้านมากขึ้น เกมเข้ามาช่วยแก้เหงาและคลายเครียด โดยสำนักงานฯ ได้เดินหน้าและจับมือกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมส์ไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาเกมส์ไทย และขับเคลื่อนงานภายใต้แผนการส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมไทย ปี2564- 2565 อาทิ จัดตั้งบริษัทเอเย่นต์ส่งออกเกมส์ไทยไปต่างประเทศ สร้างศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพเกมส์ใน “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” ที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

“อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมาก รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไทยมีพื้นที่ในตลาดระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมือภาครัฐและเอกชน สร้างกลไกส่งเสริมและการพัฒนาบุคลากร เพื่อผู้ประกอบการมีศักยภาพทั้งการผลิตและการเข้าถึงตลาดมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักว่าตนเองมีศักยภาพสามารถไปไกลถึงตลาดระดับโลกได้ เพราะขณะนี้ก็มีศักยภาพสูงเป็นผู้นำในอาเซียนและระดับต้นของภูมิภาค การเจาะตลาดสากลจึงเป็นสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของคนไทยอย่างแน่นอน” น.ส.รัชดา กล่าว

รัฐบาลดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ครอบคลุม ภาพยนตร์/ซี่รี่ออนไลน์ แอนิเมชั่น เกม การ์ตูน และคาแรคเตอร์ โดยกำหนดแผนดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาผู้ประกอบการทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ การขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขายผลงานและเจรจาผ่านระบบออนไลน์ 

ทั้งนี้คาดว่าจะนำไปสู่การซื้อขายผลงานของผู้ประกอบการไทย มูลค่ารวมประมาณ 3,600 ล้านบาท ตลาดที่มีศัยภาพของผู้ประกอบการไทย คือ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เนื่องจากมีอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ขนาดใหญ่ทั้งด้านแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ และมีแนวโน้มที่จะว่าจ้างผู้ประกอบการต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการจ้างผลิตและร่วมกันผลิต

สำหรับในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีวายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

น.ส.รัชดา กล่าวถึงอุตสาหกรรมเกมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการพัฒนาของเทคโนโลยี และประเทศไทยไทยถือเป็นที่หนึ่งในอาเซียน มีโอกาสขยายสู่ตลาดโลก โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) รายงานว่า ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเกมในประเทศ ขยายตัวสูงขึ้น14-15% คิดเป็นมูลค่า 29,000 ล้านบาท 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจ หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 90.5% ต่อ จีดีพี สูงสุดรอบ 18 ปี

ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 สะท้อนสถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อม ๆ ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ และสำหรับแนวโน้มในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบเดิมคาดที่ 89-91% ต่อจีดีพี)

2 มิ.ย. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานผลการศึกษาเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทย พบว่า ปัญหา หนี้สินในภาคครัวเรือนของไทยยังคงมีทิศทางขาขึ้นสวนทางภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ยังคงถูกกดดันจากผลกระทบของวิกฤตโควิด 19 โดยหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ระดับ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพี (สูงสุดในรอบ 18 ปี) ขยับขึ้นจาก 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Quarter on Quarter: QoQ) หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2564 มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นประมาณ 88,138 ล้านบาท โดยหลัก ๆ เป็นผลมาจากการเร่งขึ้นของหนี้รายย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน 

1.) หนี้บ้าน (ยอดคงค้างหนี้บ้านเพิ่ม 5.53 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน) ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ รายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (ไม่ถูกกระทบมากนักจากสถานการณ์โควิด) ซึ่งทำให้ยังคงมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้

2.) หนี้เพื่อประกอบอาชีพ (ยอดคงค้างหนี้ประกอบอาชีพเพิ่ม 4.01 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน) โดยผู้กู้หรือครัวเรือนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อหนุนสภาพคล่อง และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประคับประคองกิจการในช่วงที่โควิด-19 ยืดเยื้อ ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องต่อรายได้และยอดขาย

3.) หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไป (ยอดคงค้างหนี้อุปโภคบริโภคทั่วไป เพิ่ม 3.35 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน) ซึ่งเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ฝืดเคือง รายได้ไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย จนทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในชีวิตประวัน
 
อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิด-19 ระลอกสามของไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/2564 มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประชาชนหลายกลุ่ม โดยผู้กู้รายย่อยมีรายได้ที่ฝืดเคือง และประเมินว่า ตนเองจะมีปัญหาความสามารถในการชำระคืนหนี้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการเปรียบเทียบผลสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดทำขึ้นในเดือนมี.ค. 2564 และเดือนมิ.ย. 2564 ที่เป็นช่วงก่อน-หลังโควิดรอบสาม) พบว่า สถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อยถดถอยลงมากจากผลของโควิด 19 ระลอกที่สาม โดยในผลสำรวจเดือนมิ.ย. 2564 (หลังโควิดรอบสาม) ผู้ตอบแบบสอบถามที่ “มีรายได้ไม่ปกติ” มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59.6% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สูงกว่าสัดส่วน 56.2% ในผลสำรวจเดือนมี.ค. 2564 (ก่อนโควิดรอบสาม) และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามในรอบเดือนมิ.ย. 2564 มี “จำนวนบัญชีสินเชื่อ” และ “สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR” เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจฯ เดือนมี.ค. 2564 โดย DSR จากผลสำรวจฯ เดือนมิ.ย. 2564 ขยับขึ้นมาที่ 46.9% เทียบกับ DSR ที่ 42.8% จากผลสำรวจฯ เดือนมี.ค. 2564  

โดยหากพิจารณาเฉพาะในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความเปราะบางทางการเงิน ซึ่งเป็นประชาชน-ครัวเรือนที่กำลังเผชิญแรงกดดัน 3 ด้านพร้อมกัน ทั้ง “ปัญหารายได้ลด-ค่าใช้จ่ายไม่ลด-DSR สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ต่อเดือน” จะพบว่า สัดส่วนของกลุ่มเปราะบางในผลสำรวจเดือนมิ.ย. 2564 ขยับขึ้นมาที่ 22.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เทียบกับสัดส่วนประมาณ 10.8% ในผลสำรวจเดือนมี.ค. 2564 ภาพสะท้อนดังกล่าวตอกย้ำปัญหาหนี้สินของประชาชนที่มีสัญญาณน่ากังวลมากขึ้นในระดับครัวเรือน 

สำหรับมุมมองต่อสถานการณ์หนี้สินของตัวเองนั้น ผลสำรวจฯ พบว่า ลูกหนี้ห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเดือนมิ.ย. ส่วนใหญ่ราว 79.5% ประเมินว่า ปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยสัดส่วนของผู้ที่ “มองว่าปัญหาหนี้จะแย่ลง” เพิ่มขึ้นมาที่ 26.6% ของผู้ตอบแบบสำรวจในรอบมิ.ย. เทียบกับสัดส่วนเพียง 7.8% ในรอบมี.ค. ซึ่งโควิดระลอกสามมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของครัวเรือนหลายส่วนให้อ่อนแอและเปราะบางมากขึ้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีภาระหนี้อยู่ในปัจจุบันสนใจที่จะสมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินมากขึ้น โดยผู้ที่สนใจมีสัดส่วนประมาณ 62.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะที่ภาพสะท้อนจากมุมของประชาชน-ครัวเรือน บ่งชี้ว่า สินเชื่อที่ต้องการรับความช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต+สินเชื่อส่วนบุคคล (45.3%) สินเชื่อเช่าซื้อ (25.3%) และสินเชื่อบ้าน (14.3%) ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีผลกระทบทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ขณะที่ประชาชน-ครัวเรือนหลายส่วนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานะรายได้จากการทำงานของตัวเอง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนจากการค้นหาช่องทางเพื่อหารายได้เสริมใน Google Trends ที่กลับมาปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่โควิดระบาดรอบสาม ซึ่งเป็นภาพที่คล้ายกับการระบาดของโควิดในรอบแรก สำหรับข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่เข้ารับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์นั้น ขยับขึ้นมาที่ 1.69 ล้านบัญชีในเดือนเม.ย. 2564 (จาก 1.68 ล้านบัญชีในเดือนมี.ค.) คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12.4% ของลูกหนี้รายย่อย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบที่หนักและชัดเจนมากขึ้นของโควิดรอบสาม อาจทำให้จำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยเข้ามาตรการช่วยเหลือฯ มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย. ถึงต้นไตรมาส 3/2564 นี้

ดังนั้น ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในปี 2564 น่าจะเติบโตในระดับที่สูงกว่า หรือใกล้เคียงกับอัตรา 4.1%  ในปี 2563 ตอกย้ำภาพหนี้สินครัวเรือนที่โตกว่าทิศทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับทบทวนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2564 ขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบคาดการณ์เดิมที่ 89-91% ต่อจีดีพี) 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนโตสวนทิศทางเศรษฐกิจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ไม่มีปัญหาโควิด-19 หนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้นๆ ของไทยที่รอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางแก้ไข ซึ่งสำหรับในปีนี้ น่าจะเห็นการเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPLs และ/หรือทบทวนเพดานดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย (เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด) ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมไปถึงการวางแนวทางในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ และดูแลให้การก่อหนี้ของภาคประชาชน สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองมากขึ้น

คลังเปิดผลมาตรการรัฐวันแรกคนใช้จ่าย 1,646 ล้าน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ได้เปิดให้ประชาชนใช้จ่ายวันแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 พบว่า การใช้จ่ายวันแรก มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวมกว่า 7.8 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวม ทั้งหมด 1,646 ล้านบาท

สำหรับสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้  

1.) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 3.5 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายรวม 791.3 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 399.4 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 391.8 ล้านบาท

2.) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 3,428 ราย โดยเป็นยอดการใช้จ่ายรวม 9.1 ล้านบาท  

3.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 4.2 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 826.3 ล้านบาท

และ 4.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิจำนวนกว่า 1 แสนราย มียอดการใช้จ่ายรวม 19.6 ล้านบาท 

“การใช้จ่ายในทุกโครงการ จะต้องเป็นการจ่ายเงินระหว่างประชาชนกับร้านค้าหรือผู้ให้บริการแบบพบหน้าเท่านั้น และจะต้องไม่มีกระบวนการใด ๆ รองรับการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ที่เป็นการหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว เช่น การนำ QR Code ไปคัดลอกส่งต่อแก่บุคคลอื่นเพื่อสแกนจ่ายเงิน และการสแกนจ่ายค่าสินค้าหรือบริการจะต้องระบุยอดเงินให้ตรงตามมูลค่าสินค้าหรือบริการนั้น เนื่องจากไม่สามารถทอนเงินหรือรับแลกสินค้าหรือบริการคืนเป็นเงินสดได้”

รมว.แรงงาน ชื่นชม เชิดชูเกียรติ 1,306 สถานประกอบกิจการดีเด่น ด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564

รมว.แรงงาน ชื่นชม เชิดชูเกียรติ 1,306 สถานประกอบกิจการ ที่มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานที่ดี ฟันฝ่าอุปสรรควิกฤตโควิด-19 ทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินกิจการอยู่ได้ จนได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกาศ

นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดโครงการส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการที่ดีด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการลดปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานที่อาจเกิดขึ้น โดยสนับสนุนให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและมีความสุขในการทำงาน นายจ้างได้ผลผลิตสูงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในและต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยในปี 2564 มีการประเมินในเรื่องของความร่วมมือกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

โดยใช้กลไกของสหภาพแรงงานหรือคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการมาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย จึงขอชื่นชมและขอยกย่องเชิดชูเกียรติสถานประกอบกิจการที่ผ่านการพิจารณาตัดสินได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ทั้ง 1,306 แห่ง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ มีสถานประกอบกิจการทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,339 แห่ง และผ่านเกณฑ์การพิจารณาได้รับรางวัล จำนวน 1,306 แห่ง โดยแบ่งเป็นประเภทรางวัลเกียรติยศสูงสุด 15-19 ปีติดต่อกัน จำนวน 101 แห่ง รางวัลเกียรติยศ 10-14 ปีติดต่อกัน จำนวน 203 แห่ง รางวัลเชิดชูเกียรติ 5-9 ปีติดต่อกัน จำนวน 431 แห่ง รางวัลระดับประเทศ 1-4 ปี จำนวน 530 แห่ง และรางวัลระดับจังหวัด จำนวน 41 แห่ง ซึ่งสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินได้รับรางวัลในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเข้ารับรางวัลในงาน Thailand Labour Management Excellence Award 2021 ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 สำหรับสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินได้รับรางวัลในส่วนภูมิภาค กรมจะจัดส่งโล่รางวัลและเกียรติบัตรให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด มอบให้กับสถานประกอบกิจการต่อไป ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดประกาศผลรางวัลฯ ได้ที่ https://www.labour.go.th หรือ http://relation.labour.go.th

นักศึกษาช้อปกระหน่ำช่วงโควิด พบยอดซื้อออนไลน์พุ่ง 7.5 หมื่นล.

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชน จำนวน 7,499 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภค ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.64) ใน 13 กลุ่มสินค้า ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น โดยพบว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 75,000 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 45.05% จากที่เคยสำรวจช่วงเดือน พ.ย. 63 ที่มีมูลค่า 52,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีการซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น 68.97% จากการสำรวจครั้งก่อน  

ทั้งนี้ สินค้าทั้ง 13 กลุ่ม พบว่า กลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อออนไลน์สูงสุด รองลงมา คือ อาหารและเครื่องดื่ม, สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล, ของใช้ในบ้าน สำนักงาน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ, เครื่องกีฬา เครื่องเขียน, เพลง ภาพยนตร์ และสินค้าบันเทิงอื่นๆ, ซอฟต์แวร์ เกม, การจอง/บริการต่าง ๆ, คอมพิวเตอร์, ของเล่น, หนังสือ นิตยสาร โดยโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด

สำหรับ ผู้ที่เคยซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี เฉลี่ยคิดเป็น 87.00% รองลงมา คือ น้อยกว่า 20 ปี คิดเป็น 85.71% และช่วงอายุ 30-39 ปี คิดเป็น 80.13% โดยกลุ่มผู้ซื้อใกล้เคียงกับผลสำรวจเดือน พ.ย.63 และหากพิจารณาถึงปริมาณการใช้จ่าย พบว่า ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มอายุที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด คือ ช่วงอายุ 20-29 ปี ประมาณ 2,379.30 บาท/เดือน รองลงมา อายุ 50-59 ปี 2,349.00 บาท/เดือน และหากจำแนกตามอาชีพ พบว่า ผู้ที่ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุดมีอาชีพนักศึกษา คิดเป็น 92.88% โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ และกลุ่มคอมพิวเตอร์ รองลงมา คือ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ 84.57% และพนักงานบริษัท 84.36% 

โดยข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ เจ้าของแผงค้า มียอดค่าใช้จ่ายสูงสุด สอดคล้องกับความมั่นคงในอาชีพและการเงิน และหากจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์มากที่สุด 81.62% ตามด้วย ภาคใต้ 71.68% ภาคกลาง 68.25% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 67.86% และภาคเหนือ 64.42%

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หนุน SUSUNN จาก เอสซีจี เซรามิกส์ จัดทำโครงการซื้อขายไฟฟ้าและคาร์บอนเครดิต

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO พร้อมกับ นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ SUSUNN ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของ เอสซีจี เซรามิกส์ ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ระบบการรับรองของ TGO

สำหรับ เอสซีจี เซรามิกส์ ภายใต้แบรนด์ SUSUNN ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ล่าสุดได้คิดค้นพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าให้สามารถเชื่อมโยงกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และแนวทางของ TGO ที่มุ่งพัฒนาและส่งเสริมโครงการและตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก จึงได้ร่วมมือกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแบบแผนในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มของ เอสซีจี เซรามิกส์ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามแนวทางของ TGO ด้วย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของ เอสซีจี ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ ESG ซึ่งครอบคลุมทั้งทางด้าน Environment, Social and Governance อันเป็นเรื่องที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาตลาดกลาง เพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศให้เป็นที่แพร่หลายในอนาคต


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ออมสิน ขยายความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจร้านอาหาร พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน จากเดิมที่ให้สิทธิ์เฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ แจ้งเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 23 ก.ค. นี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง รัฐจำเป็นต้องประกาศยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังมอบนโยบายให้ธนาคารออมสิน ขยายความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารจึงปรับเกณฑ์มาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เงินงวดเป็นศูนย์ ตลอด 6 เดือน โดยเปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่ได้นำเงินกู้ไปประกอบกิจการร้านอาหาร สามารถขอเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ด้วย จากเดิมที่ให้สิทธิ์เฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน สามารถขอเข้าร่วมมาตรการฯ เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มีผลตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 โดยแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้ ที่สาขาธนาคารออมสิน หรือศูนย์สินเชื่อธุรกิจลูกค้า SMEs ที่ได้ติดต่อขอสินเชื่อไว้ หมดเขตแจ้งความประสงค์วันที่ 23 กรกฎาคม 2564

อนึ่ง ที่ผ่านมาธนาคารได้จัดทำมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ SMEs โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะหมดเขตให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เช่นเดียวกัน โดยธนาคารมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เริ่มแล้วภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เที่ยวแรก 24 คนจากยูเออี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เที่ยวบินแรกที่เดินทางเข้ามาถึงภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 คือ เที่ยวบิน EY 430 ของสายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ ซึ่งบินมาจากเมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ลงแตะพื้นท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เวลา 11.09 น. ถือเป็นเที่ยวบินแรกที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไทยโดยไม่ถูกกักตัว ตามโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ที่เริ่มต้นเป็นวันแรก 

สำหรับผู้โดยสารที่มาเที่ยวบินนี้ ได้ถือใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (COE) ตามโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ มีจำนวน 24 คน โดยกลุ่มนี้เมื่อมาถึงจะถูกทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากนั้นจะขึ้นรถไปยังโรงแรม และต้องรออยู่ในห้องพัก หากผลตรวจออกมาเป็นลบหรือไม่ติดเชื้อ จึงจะออกมานอกห้องพักได้ และสามารถเดินทางไปได้ทั่วเกาะภูเก็ต 

ทั้งนี้ในวันแรกของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางมากับ 4 สายการบิน ได้แก่ เอทิฮัด, กาตาร์ แอร์เวย์ส, แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ รวมจำนวน 300 คน ซึ่งได้ COE ทั้งหมด 100% สามารถเข้าพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA PLUS แม้จำนวนนักท่องเที่ยวในวันแรกจะลดลงจากที่เคยประเมินไว้ เพราะออก COE ให้ไม่ทัน ทำให้นักท่องเที่ยวเลื่อนการเดินทางเข้าภูเก็ต แต่หลังจากนี้จะทยอยเข้ามามากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top