Tuesday, 29 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘จุรินทร์’ ปลื้ม!! ส่งออกเดือนพฤษภาคม ตัวเลขดีดบวก 41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี ‘สินค้าเกษตร-อาหาร’ ยืนหนึ่ง พร้อมสั่งพาณิชย์ฯ ลุยต่อ ‘5 แผนบุกตลาด’

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยข่าวดีตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี (หักน้ำมัน, ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 45.87%) โดยหากคิดเป็นมูลค่ารวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 64) จะขยายตัวรวมกัน 10.78% (หักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวก 17.13%)

เหตุผลสำคัญ จุรินทร์ เผยว่ามี 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่

1.) เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ, จีน, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น เป็นต้น และ

2.) เพราะแผนการส่งออกและภาคปฏิบัติจริงที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาโดยต่อเนื่องในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ จึงทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้รวดเร็วทันท่วงที ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดทำแผนเชิงรุกร่วมกันในปี 2564 ที่มีเป้าหมายและรายละเอียดชัดเจนแต่ต้น ทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ค่อยๆ เป็นบวกตามลำดับ

จุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของตลาดจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น ,เกาหลี, ไต้หวัน และเอเชียใต้อาเซียนนั้น มีกลุ่มสินค้าที่สำคัญอย่างสินค้าเกษตรและอาหารเป็นแม่เหล็ก เฉกเช่นเดียวกันกับอาหารเฉพาะผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคบริเวณด่านชายแดนและด่านข้ามแดนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งเป็นบวกถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียนบวกถึง 95% และสินค้า Work from Home เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันโควิด, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก, อาหารสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ เป็นต้น

“สำหรับรถยนต์หลังจากที่ผมและกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจากับเวียดนามมาหลายครั้งตั้งแต่การประชุม RCEP และส่งผลให้ต่อมาเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้ารถยนต์จากที่ต้องตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยทุกล็อตที่ตรวจทั้งสองฝั่ง ทางเวียดนามยอมเปลี่ยนเป็นตรวจฝั่งใดฝั่งหนึ่งและสุ่มตรวจเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามขยายตัวถึง 922% และส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวถึง 170%” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวต่อว่า แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าต่อไปประกอบด้วย…

1.) เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยเร็วทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา

2.) รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไป โดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่าน ที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่าน ให้เปิดด่านเพิ่มขึ้นเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน วันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ ตนจะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาวซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทะลุไปเวียดนามและไปจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น ที่จะเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น

3.) เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป และเมื่อไหร่ที่ทำระบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นได้จะเร่งดำเนินการให้ผสมผสานในรูปแบบไฮบริด

4.) เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม

5.) เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทย เพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า นโยบายกระทรวงพาณิชย์ผลักดันในทุกทางช่องทางสำคัญทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นรูปธรรมและจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและภาพรวมตลาดสำคัญมีการขยายตัวในหลายประเทศ ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 39.9 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 44.9 ร้อยละ 25.5 ร้อยละ 27.4 ตามลำดับ

ตลาดสหภาพยุโรป และ CLMV ขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 54.9 และร้อยละ 46.8 ตามลำดับ ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาขยายตัวร้อยละ 51.0 โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนั้น คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้าสำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายประเทศเริ่มมีอัตราลดลง ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น และสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เช่น ยางพารา ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์กับส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และทีม กรอ.พณ. จะได้กำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากต้องเดินหน้าผลักดันการส่งออกโดยแก้ไขปัญหาตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมและผลักดันการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ MRA ของอาเซียนตามนโยบายต่อไป


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“สมาคมภัตตาคารไทย” ชง “รัฐ” จัดเงินช่วยร้านอาหารประคองตัวรอดจากโควิด

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เข้าหารือกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากกไวรัสโควิด-19 โดยยอมรับว่า ตั้งแต่ต้นปี 63 ที่ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด 19 ร้านอาหารเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ถูกสั่งล็อคดาวน์ ลดพื้นที่การขาย จำกัดเวลา ปิด เปิด ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน 

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน มีการสำรวจพบว่า จำนวนร้านอาหารพื้นที่ 200 ตร.ม.ขึ้นไปที่มีจำนวน 150,000 ราย ปิดกิจการ ประมาณ 2 หมื่นราย ร้านขนาดพื้นที่ไม่ถึง 200 ตร.ม. ปิดกิจการประมาณ 3 หมื่นราย และหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจจะต้องปิดกิจการอีกประมาณ 5 หมื่นรายในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานของแรงงานประมาณ 1 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อห่วงใช่อีกจํานวนมากในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการขนาดย่อมอีก3 แสนราย ที่เป็นสตรีทฟู้ดด้วย 

ทั้งนี้ สมาคมภัตตาคารไทยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการร้านอาหารขอเสนอมาตรการเร่งด่วนที่ขอให้สภาพัฒน์ พิจารณาเพื่อนำข้อเสนอนี้ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถประคองธุรกิจผ่านภาวะ เศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในขณะนี้ไปได้ โดยขอนำเสนอดังนี้

1.) ขอตั้งวงเงินเป็นโครงการพิเศษจำนวน 30,000 ล้านบาท โดยใช้บสย. 100 % รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท พิจารณาจากรายได้ในปี 2561-2562 โดยมีนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) จำนวน 15,000 ราย ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า กระทรวงพาณิชย์ และการจ่ายภ.ง.ด.90 ประเภทบุคคล จำนวน 100,000 ราย 

2.) ตั้งคณะทํางานร่วมแก้ปัญหาธุรกิจอาหารเพื่อเสนอแนวทางฟื้นฟูทั้งวงจรธุรกิจอาหาร เนื่องจากธุรกิจอาหารมีความ แตกต่างที่หลากหลาย รัฐบาลสามารถติดตามให้การช่วยเหลือและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งยังไม่เคยมี คณะทํางานชุดนี้เกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย โดยสภาพัฒน์เป็นผู้ดําเนินการหลัก เชิญทุกภาคส่วนร่วมเป็นคณะทํางาน 

3.) ในระยะเวลาอันเร่งด่วน ขอเสนอให้ใช้ศูนย์ บสย.FA Center ภายใต้การกํากับของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นที่ ปรึกษาแก่ร้านอาหาร ทําบัญชี ภาษีให้ถูกต้อง และมีโอกาสยกระดับจากบุคคลเป็นนิติบุคคลต่อไป

"ศักดิ์สยาม" เผย คมนาคม พร้อมรับมือ เปิด ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ทั้ง 3 มิติ เชื่อเป็นผลดี ต่อเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง สวท.กทม. ยืนยัน พร้อมรับนโยบายการเปิดประเทศ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้ความมั่นใจด้านขนส่งคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ และอากาศคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใน 120 วัน นำร่องจังหวัดภูเก็ต หรือ Phuket Sandbox 1 ก.ค.นี้ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ นำร่องจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกของไทยที่มีการดำเนินการตามแผนของโครงการ "แซนด์บ็อกซ์"  

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้จัดเตรียมความพร้อมด้านคมนาคม เพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ดังกล่าวครบถ้วนทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ทั้ง 3 มิติ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ  

โดยมิติทางอากาศ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมความพร้อมตรวจการจราจรทางอากาศ และมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐาน ICAO ซึ่งขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมีการจองมาแล้วกว่า 300 เที่ยวบิน ทางหน่วยงานได้มีการจัดการบริหาร SLOT การบิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไว้แล้ว 

ด้านสนามบินท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต มีการเตรียมความพร้อมให้กับกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์คัดกรองโควิด-19 จะมีการตรวจหาเชื้อแบบ Swab ซึ่งจะทราบผลภายใน 2-3 ชั่วโมง พร้อมเตรียมแผนฉุกเฉิน หากมีการตรวจพบเชื้อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะนำตัวไปรักษาในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ 

มิติทางน้ำ กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยดูแลนักท่องเที่ยว เฝ้าระวังไม่ให้นักเที่ยวเดินทางไปสถานที่อื่น 

ส่วนมิติทางบก ได้มีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย ในการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้เส้นทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ทางจังหวัดได้มีการตั้งด่านจุดคัดกรอง ทั้งขาเข้า-ออก และได้มีการประสานกับภาคเอกชนในบูรณาการเรื่องมาตรการการป้องกันการแพร่เชื้อระบาด

"หากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทำสำเร็จ จะสามารถขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นได้ ทั้งจังหวัด กระบี่ พังงาเชียงใหม่ พัทยา บุรีรัมย์ จะเกิดการเชื่อมั่นจากประชาชน เกิดการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศได้" นายศักดิ์สยาม กล่าว 

“โฆษกศบศ.” เผยบิ๊กตู่ สั่งเดินหน้าช่วย SMEs เต็มสูบ แจง “ออมสิน" พักหนี้ SMEs ท่องเที่ยวทั้งเงินต้นและดอก 6 เดือน พ่วงเสริมสภาพคล่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่ต้องมีหลักประกัน ต่อลมหายใจให้โรงแรม-รีสอร์ต-เกสต์เฮาส์-เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมหารือนโยบายช่วยเหลือ SMEs โดยมีสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเข้าร่วม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดใช้จ่ายภาครัฐและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการต่างๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรม และที่พัก ซึ่งล่าสุดธนาคารออมสินออกมาตรการยกเว้นการชําระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน แก่ผู้ประกอบการ SMEs โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมา มีรายได้อีกครั้ง

นายธนกร กล่าวต่อว่า มาตรการยกเว้นการชําระเงินต้นและดอกเบี้ย ทําให้เงินงวดเป็นศูนย์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชําระไม่เกิน 90 วัน สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้ ที่สาขาธนาคารออมสิน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความช่วยเหลือตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้จัดทํามาตรการเสริมสภาพคล่องโดยการให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยว อีกหลายมาตรการ โดยปัจจุบันมี 2 มาตรการที่ยังคงเปิดรับลงทะเบียน ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินให้กู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท และมาตรการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สําหรับธุรกิจ ท่องเที่ยว ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.1% วงเงินให้กู้สูงสุดสําหรับบุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สําหรับนิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอกู้ได้ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ เชื่อว่าทุกมาตรการที่ออกมาจะสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ในภาวะวิกฤติโควิด-19 เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน 

“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องคมนาคม “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” ประเดิมบิ๊กโปรเจ็กต์ “Land Bridge” ดันไทยสู่ฮับการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน

“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องคมนาคม “บก-น้ำ-ราง-อากาศ” ประเดิมบิ๊กโปรเจ็กต์ “Land Bridge” ดันไทยสู่ฮับการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเดินเครื่องมอเตอร์เวย์ “โคราช-อุบล” และ “หนองคาย-แหลมฉบัง” พ่วงวงแหวนรอบที่ 3 คาดเห็นผลรูปธรรมภายในปี 65 พร้อมเผยความพร้อม 100% คมนาคมรับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ระบุแอร์ไลน์จอง Slot แล้วกว่า 80-90% หวังไทยกลับมาเป็นเสือเศรษฐกิจ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทย ด้วยการลงทุน” วันนี้ (23 มิ.ย. 2564) ว่า กระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำนั้น ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน โดยเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทุกโหมดการขนส่งครบมิติ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงการให้สอดรับกับการศึกษาโครงการ MR-MAP เพื่อพัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยถนน และรถไฟ 

สำหรับ MR-MAP นั้น จะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยเล็งเห็นถึงการพัฒนาเชิงบูรณาการ และลดผลกระทบต่อประชาชนจากการเวนคืนที่ดินไปพร้อมกันเบื้องต้นจะนำร่อง 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่

1.เส้นทางเชียงราย (ด่านเชียงของ)-สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) ระยะทาง 1,680 กม.

2.เส้นทางหนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม. และ

3.เส้นทางบึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กม. ขณะที่ อีก 6 แนวเส้นทางที่เหลือ ระยะทางรวม 2,380 กม. นั้น จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ขณะที่ ในส่วนของทางน้ำนั้น ซึ่งยอมรับว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีทะเลอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางกับมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมต่อโลจิสติกส์จากภาคใต้สู่ภาคกลาง โดยใช้ต้นแบบของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) เชื่อมจากท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง (ชุมพร-ระนอง) เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่ง และจะเป็นเส้นทางการขนส่งที่สั้นและตรงที่สุด ไม่ต้องผ่านไปยังช่องแคบมะละกา โดยเส้นทางดังกล่าว จะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาคด้วย 

ในส่วนของโครงการ Land bridge ยังสามารถเชื่อมให้ประเทศไทยเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือของโลก รวมถึงเพื่อเชื่อมฐานการผลิตจาก EEC เข้าสู่ Land bridge เพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ทั้งนี้ โครงการ Land bridge จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต สำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยจะเชื่อมโยงประเทศไทยกับเส้นทางการค้าของเอเชียและของโลก 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือ 50% ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในโครงการ Land bridge ที่จะต้องเร่งดำเนินการเป็นโครงการแรก ตามด้วยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี และเส้นหนองคาย-แหลมฉบัง รวมถึงโครงการวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่ ลดปัญหาการขนส่งผ่านพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2565 จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจน

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในส่วนของนโยบาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใน 120 วัน โดยจะนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นที่แรก (ภูเก็ตแซนดบ็อกซ์) ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด มีสายการบินจองตารางการบิน (Slot) แล้วประมาณ 80-90% โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อม 100% ในทุกระบบการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป

“ขอให้มั่นใจว่า หากประเทศไทยดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ได้ตามแผนประเทศไทยจะกลับไปเป็นเสือเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างแน่นอน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50% รับโควิดระบาด

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วย ผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยง จึงเห็นว่า การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด 

ทั้งนี้ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 1.8% และขยายตัว 3.9% ในปี 2565 โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิมตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สาม ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและข้อจำกัดด้านอุปทานมีผลจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยแผนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 5 ปี สนับสนุน BCG Model สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มั่นใจปี 64 ลดมลพิษได้เกินเป้าที่ตั้งไว้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ภายใต้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแผนวิสาหกิจ กนอ. (พ.ศ.2561-2565) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน (Green Strategy) โดย กนอ. ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ได้ 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ภายใน 5 ปี (2564-2568) หรือปีละ 500,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)

สำหรับปี 2564 กนอ. ได้จัดทำแนวทางเพิ่มค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือประมาณกว่า 700,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) จากการให้บริการสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง รวมทั้ง กนอ. สำนักงานใหญ่ โดยเป็นการดำเนินงานผ่านแผนงานการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของ กนอ.

อาทิ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปูและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง การติดตั้งโซล่าเซลล์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การสนับสนุนให้โรงงานเก็บสถิติก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นและขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กนอ. ยังมีโครงการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และโครงการส่งเสริมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อีกด้วย

“แนวคิดการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากร พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งทั้งหมดต้องก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมาก ส่งเสริมการเกิดเครือข่ายในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาสินค้าและบริการ การนำของเสียที่อยู่ท้ายสุดของห่วงโซ่อุปทานมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ และปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด สร้างสมดุลระหว่างวัตถุดิบ การนำไปใช้ และผลผลิตในกระบวนการที่ก่อให้เกิดของเสียในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ระหว่างโรงงานทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สร้างการเกื้อกูลพึ่งพากันและกันในรูปแบบเครือข่ายได้ในที่สุด” นายวีริศ กล่าวทิ้งท้าย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

กระทรวงเกษตรฯ เร่งฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด ‘เฉลิมชัย’ เห็นชอบพิมพ์เขียววิสัยทัศน์ฮาลาล (Thailand Halal Blueprint) พร้อมเสนอ ครม. ดันไทยฮับฮาลาลโลก หวังเจาะตลาดฮาลาล 48 ล้านล้านบาท

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) แถลงวันนี้ (23 มิ.ย.) ที่กระทรวงเกษตรฯ ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามเห็นชอบ “วิสัยทัศน์ นโยบายและแผนพัฒนาสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล” แล้วโดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปโดยเร็ว นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนและโครงการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบครบวงจร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาลของไทยสู่เป้าหมายฮับฮาลาลโลก

โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า “ในยุคโควิด เราต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติและตลาดฮาลาลคืออนาคต” ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48 ล้านล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท) และประเมินว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (68 ล้านล้านบาท) ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ยังไม่รวมตลาดที่ไม่ใช่มุสลิม (non-Muslim market)

“ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 2 ของเอเชียและอันดับ 11 ของโลกในปี 2562 และภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บนความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สถาบันฮาลาล มอ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า ศูนย์ AIC (Agritech and Innovation Center) และทุกภาคีภาคส่วนจะเป็นฐานการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีพลังและพลวัตร เมื่อเป้าหมายชัด นโยบายชัด ความร่วมมือแข็งแกร่ง”

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” กล่าวว่า วิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล มีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570 ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่

(1) การเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล

(2) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

(3) การเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค

(4) การเพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์

(5) การยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) โครงการและงบประมาณเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก

นายอลงกรณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาล 3 โครงการ และตั้งเป้าหมายจะขยายอีก 5 โครงการ ในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยความร่วมมือกับ ศอบต. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นฮับของอุตสาหกรรมฮาลาลภายใต้แนวทางระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล (Halal Economic Corridor)

“ที่ประชุมยังให้ขยายการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาลในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่าน เช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก กาญจนบุรี เป็นต้น โดยประสานกับโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์ AIC เพื่อขยายฐานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำ ปลายน้ำไปทุกภาคทั่วประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด สร้างงานสร้างอาชีพสร้างผลิตภัณฑ์สร้างตลาดใหม่ๆ ให้มากที่สุดเร็วที่สุด

รวมทั้งเห็นควรขยายความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล ตลอดจนการขยายผลการเรียนการสอนหลักสูตรการบริหารจัดการฮาลาล และโครงการโรงเชือดแพะต้นแบบมาตรฐานฮาลาลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.-หาดใหญ่) สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกร นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบรายงานผลการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอม ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และได้มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค นับเป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามประสบผลสำเร็จแต่ก็ต้องเฝ้าระวังต่อไป”


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกลุ่มอินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดสัมมนา Cabling & Networking for Residence

งานสัมมนา Cabling & Networking for Residence คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกลุ่มอินเตอร์ลิ้งค์ฯ นำทีมวิทยากรชั้นนำมา Update กลยุทธ์ และเทคนิคการเลือกใช้สายสัญญาณ และอุปกรณ์เชื่อมต่อให้เหมาะสมกับอาคารขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้กับกลุ่มลูกค้าหน้าร้านไฟฟ้า ไอที และกล้องวงจรปิด กว่า 70 ท่าน เพื่อให้กลุ่มลูกค้าต่อยอดเทคนิคการขาย และเป็นไอเดียเลือกซื้อสินค้าสำหรับงาน Midyear Sale ที่กำลังจะมาถึง

???? LIVE จากสำนักงานใหญ่ อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

เร่งแก้ปัญหากล้วยไม้ไทยช่วยเหลือเกษตรกรเจอพิษโควิด

กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ จัดประชุมหารือคณะอนุกรรมการฯ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ผลผลิตราคาตกต่ำ

นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกกล้วยไม้และผู้ส่งออก 4 แนวทาง ตามที่คณะทำงานฯ เสนอ ได้แก่

1.) การจัดกล้วยไม้สัญจร โดยสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย จำกัด ได้จัดทำแผนการจัดการกล้วยไม้สัญจรในปี 2564 ทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง  

2.) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเจรจาลดค่าขนส่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  

3.) การดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม โดยประสานงานกับกรมชลประทานในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มและบริหารจัดการน้ำต้นทุนในการผลักดันน้ำเค็ม พร้อมสนับสนุนรถบรรทุกน้ำในการบริการช่วยเหลือเกษตรกร และ

4.) การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการส่งเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกปี 2565 เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2565

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเพิ่มเติมให้มีคณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ โดยใช้งบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานฯ และมอบหมายฝ่ายเลขาฯ จัดทำคำสั่งคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต่อไป

"การดูแลครั้งนี้ เป็นเพราะที่ผ่านมาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นวงกว้าง ในขณะที่ต้นกล้วยไม้ยังคงให้ผลผลิตในแปลงปลูกได้ตามปกติ สวนทางกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกและราคาจำหน่ายในภาพรวมลดลงตามไปด้วย"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top