Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

กนอ. ดึงความเชื่อมั่นเอกชน 'สมาร์ทปาร์ค' เกิดแน่ปี 67 พร้อมเดินหน้าดูดนักลงทุน ชี้ EEC มาแรง เกิด 4 นิคมใหม่

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดึงความเชื่อมั่นเอกชน คาดปี 67 'สมาร์ทปาร์ค' (Smart Park) พร้อมเดินหน้าดึงดูดนักลงทุน เผยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ดำเนินการตามแผน ชี้!! EEC ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ เนื้อหอม!! ปี 64 มีนิคมอุตสาหกรรมใหม่จัดตั้งในพื้นที่ 4 แห่ง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC (อีอีซี) ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กนอ.ได้เร่งเดินหน้าโครงการสำคัญ ๆ อาทิ โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ที่คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 ตามแผนที่วางไว้ เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) แบ่งพื้นที่รองรับการลงทุน ดังนี้... 

>> อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 301.70 ไร่
>> อุตสาหกรรมการแพทย์ 182.84 ไร่
>> อุตสาหกรรมดิจิทัล 163.93 ไร่ 
>> และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 75.17 ไร่ 

โดยผลประโยชน์ทางตรงที่จะคาดว่าเกิดขึ้นหลังเริ่มมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสร้างมูลค่าของจีดีพีในประเทศต่อปีอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ในระยะก่อสร้างประมาณ 200 คน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ในระยะดำเนินการคาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 7,500 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กนอ. ยังได้เดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่มีการสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อเดือน ส.ค.2564 ที่ผ่านมา และจะเปิดดำเนินการตามแผนในปี 2569

โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ เพื่อเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับภูมิภาค และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า ในปี 2564 มีนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งในพื้นที่อีอีซีทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่... 

1.) นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จ.ระยอง พื้นที่ 621 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ 

2.) นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,987 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ

3.) นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 2,191 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

และ 4.) นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,181 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ. 

โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่จะดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและโลหะภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และ ปิโตรเคมี เป็นต้น

“การลงทุนในพื้นที่อีอีซี จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานตามมาจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 40 แห่ง มีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่กว่า 2.04 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน กนอ.ได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไว้รองรับการขยายตัวด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การเติบโตด้านอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน” นายวีริศ กล่าวปิดท้าย

'สวอพ แอนด์ โก' เริ่มบริการสลับเปลี่ยนแบตฯ มอเตอร์ไซค์ กระตุ้นไทยใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า หรือ EV

การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในทิศทางกระแสโลกสืบเนื่องจากที่ผ่านมากิจกรรมของมนุษย์ได้ก่อมลพิษจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมัน ซึ่งพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ “ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)” แต่ก็มีความท้าทายโดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์จพลังงานที่ยังไม่แพร่หลายเหมือนสถานีบริการน้ำมัน หรือแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาชาร์จนานกว่าการเติมน้ำมัน ซึ่งมีความพยายามในการแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ดังกรณีของ “สวอพ แอนด์ โก (Swap & Go)” ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม ปตท. ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

นายชยุตม์ จัตุนวรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด เผยว่า สวอพ แอนด์ โก เป็นบริการสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งปกติผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะต้องคอยชาร์จแบตเตอรี่อยู่เป็นระยะ ๆ โดยการชาร์จแต่ละครั้งอาจต้องรอเวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะเต็ม ดังนั้นบริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้สามารถใช้รถได้ต่อเนื่องมากขึ้น เพราะการสลับแบตเตอรี่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

อีกทั้งเป็นบริการที่ใช้งานง่าย เพียงใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกน QR Code เพื่อแสดงตนที่ตู้แบตเตอรี่ ก็จะสามารถเปิดออกให้สลับแบตที่ใช้งานแล้วกับแบตก้อนใหม่ได้ทันที ทั้งนี้ EV หรือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และไม่มีการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นมลภาวะ ซึ่งพาหนะที่ใช้น้ำมันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งยังทำให้เมืองเงียบสงบด้วยเพราะไม่มีเสียงเครื่องยนต์รบกวน โดย สวอพ แอนด์ โก มีสถานีให้บริการ หรือ สวอพสเตชั่นอยู่มากกว่า 20 จุดทั่วกรุงเทพฯ และมีแผนที่จะขยายเพิ่มเติมอีกในอนาคต

“ในไอเดียของเราคร่าว ๆ เราอยากจะให้ขั้นต่ำของจำนวนสวอพสเตชั่นของเราเท่ากับสถานีบริการน้ำมัน นั่นหมายถึงประสบการณ์ของผู้ใช้ในการใช้งานรถไฟฟ้าจะไม่ต่างจากใช้น้ำมันเลย ความสะดวกสบายจะต้องเทียบเคียงกัน เพราะเราอยากให้การใช้พลังงานเป็นเรื่องง่าย ๆ” นายชยุตม์ กล่าว

นายชยุตม์ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญของ สวอพ แอนด์ โก คือผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นอาชีพ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถหยุดรออะไรได้นานเพราะเวลาที่มีอยู่คือโอกาสการสร้างรายได้ เช่น กลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร ที่มีบทบาทเด่นในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ลำพังการไปต่อคิวซื้ออาหารก็ใช้เวลามากแล้ว คงไม่อยากเสียเวลาไปกับการชาร์จแบตเตอรี่อีก ทำให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม

อนึ่ง ข้อดีอีกอย่างของ EV คือประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการชาร์จพลังงานนั้นถูกกว่าการเติมน้ำมัน และยังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเมื่อดูกรณีศึกษาในต่างประเทศ จะพบบางประเทศถึงขั้นใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันสู่รถใช้ไฟฟ้า และมีอย่างน้อย 20 ประเทศที่มีแผนยุติการจำหน่ายรถใช้น้ำมันในอนาคต หรือมีบางเมืองไม่อนุญาตให้นำรถใช้น้ำมันเข้าไปในบางพื้นที่แล้ว จึงหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะไปในทิศทางนั้นเพื่อให้เมืองมีความสะอาดต่อไป

แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นายชยุตม์เล่าถึงสารพัดคำถามเมื่อไปนำเสนอในองค์กรต่าง ๆ เช่น EV วิ่งได้ระยะทางไกลเท่าไร ทำความเร็วได้เท่าไร ชาร์จพลังงานได้ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีคำถามเหล่านี้ ไม่ต่างจากเมื่อร้อยปีก่อนที่คนเริ่มเปลี่ยนจากการใช้รถม้ามาเป็นรถยนต์ ส่วนปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันรถยนต์มีทั่วไปแล้ว ก็จะต้องขยายสถานีชาร์จสำหรับรถใช้ไฟฟ้าให้มีมากขึ้น เพื่อคลายความกังวลของลูกค้า

“จริง ๆ องค์ประกอบหลัก ๆ ของการเปลี่ยนผ่านมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คือ 1.) เรื่องของข้อมูล ถ้าเขาไม่เข้าใจก็คงไม่หันมาใช้อยู่แล้ว 2.) ราคารถ ถ้าดูราคาของรถ EV บ้านเรากับรถที่เป็นน้ำมัน ถ้าเป็นรถ 4 ล้ออาจจะยังมี Gap ค่อนข้างเยอะ ทางฝั่งรถ 2 ล้อ Gap มันเริ่มน้อยลงก็จริง แต่ก็ยังมี 3.) โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถานีชาร์จ สถานีสลับแบตเตอรี่ ที่ปัจจุบันไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนก็พยายามช่วยกันเพื่อขยายให้ครอบคลุมการใช้งาน

ส่วนเรื่องสุดท้าย ผมคิดว่ามันยังขาดตัวกระตุ้นอยู่ ถ้าเราเห็นความสำเร็จหลาย ๆ ประเทศที่เปิดรับการใช้ EV จะต้องมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดในช่วงปีแรก ๆ พอหลังจากนั้นคนก็จะเริ่มใช้เป็นนิสัยกันแล้ว ตอนนี้ผมคิดว่าถ้าประเทศของเรามีตัวกระตุ้นพวกนี้เข้ามาเสริม ก็จะทำให้การรับรู้ การใช้งานเกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดเราไม่กระตุ้นวันนี้ เขาไปซื้อรถน้ำมัน ก็แปลว่ากว่าที่เขาจะกลับมาซื้อรถคันใหม่อีกรอบหนึ่ง ก็ประมาณ 5-10 ปี ถ้าอยากจะเปลี่ยนก็ต้องมีคนกดคลิกให้มันเริ่ม” นายชยุตม์ ระบุ

กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สวอพ แอนด์ โก ทิ้งท้ายในประเด็นมาตรการกระตุ้นเพื่อเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันเป็นรถใช้ไฟฟ้าว่าต้องเริ่มจากหลายฝ่าย เช่น ผู้ผลิตยานพาหนะอาจจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องจัดให้มีโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานอย่างเพียงพอ ส่วนภาครัฐสามารถใช้กลไกภาษีสนับสนุนได้ ดังที่เคยใช้มาแล้วกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายต่าง ๆ

ส่วนเป้าหมายของ สวอพ แอนด์ โก คือการส่งเสริมให้คนใช้ EV หรือยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ที่ใช้งานได้สะดวกไม่ต้องกังวลทั้งสถานที่ชาร์จและเวลารอชาร์จ สามารถสลับแบตเตอรี่แล้วใช้รถต่อได้อย่างรวดเร็ว ตามนิยามการดำเนินงานของบริษัทคือ “สลับแบตไว..ไปได้เร็ว” เพราะหากการใช้พลังงานสะอาดเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ในอนาคตผู้คนย่อมเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น นำไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน ไม่ส่งต่อผลกระทบให้กับคนรุ่นหลัง


ที่มา : https://www.naewna.com/business/600130

ชงกระทรวงแรงงานขยายเวลาหักเงินสมทบประกันสังคมอีก 3 เดือน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ได้จัดทำหนังสือข้อเสนอเป็นการเร่งด่วนไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2564 หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประคองการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาข้อเสนอของหอการค้าไทยไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 1.มาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าว 2.มาตรการเร่งรัดจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน 3.มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้างได้รับความช่วยเหลือในพื้นที่ 29 จังหวัด 4.มาตรการ Factory Sandbox 

5.มาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่มมติ 20 สิงหาคม 2562 และกลุ่มมติ 4 สิงหาคม 2563 ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้ และ  6.มาตรการลดหย่อนการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง ลูกจ้างกลุ่มผู้ประกันตน ตั้งแต่มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงานจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 
……….

กอช. เผย สร้างผลตอบแทนการลงทุนใน 7 เดือนให้สมาชิกได้มากกว่าฝากแบงก์

6 ก.ย. 64 นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานล่าสุดในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ถึง 31 กรกฎาคม 2564) โดย กอช. สร้างผลตอบแทนการลงทุนให้สมาชิกได้ร้อยละ 1.14 ต่อปี ซึ่งยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 0.59 ต่อปี

การบริหารเงินลงทุนของ กอช. ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของเงินลงทุน โดยที่ผ่านมา กอช. สร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ตั้งกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 2.90 ต่อปีโดยประมาณ ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.30 ต่อปีโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การลงทุนของ กอช. ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเน้นการลงทุนไปที่สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก และหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือด้านเครดิตที่ดี ถึงแม้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ทาง กอช. เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลายประการ อันบ่งบอกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายทางการคลังของรัฐบาลที่พยายามจะกระตุ้นและประคับประคองเศรษฐกิจ 

ดังนั้น สินทรัพย์ที่มีการเติบโตสูงและให้รายได้ที่สม่ำเสมอ อาทิ ตราสารทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จึงมีความน่าสนใจ และเป็นโอกาสที่ กอช. น่าจะเข้าสะสมลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิกมั่นใจได้ว่า จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่เป็นเงินออมสะสมของสมาชิก และเงินสมทบเพิ่มจากรัฐบาล พร้อมผลตอบแทนการลงทุนของเงินทั้งหมดได้รับการค้ำประกัน ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร วันที่สมาชิกครบอายุ 60 ปี


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/115757

รมว.เฮ้ง ย้ำ ผู้ประกันตน ม.39,40 กลุ่มตกหล่น 29 จังหวัด เร่งเช็คสิทธิรับเงินเยียวยา ตั้งแต่ 1-31 ต.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานประกันคม (สปส.) ได้ทยอยโอนเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 29 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ตามกำหนดไทมไลน์ของแต่ละกลุ่มจังหวัด

พบว่า ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามเงื่อนไข ส่วนใหญ่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีผู้ประกันตนบางส่วนที่พบว่าตนเองมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ครบถ้วน คือ สัญชาติไทย ประกอบอาชีพ หรือพักอาศัยอยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ใน 29 จังหวัด แต่เข้าไปตรวจสอบสถานะตนเองในระบบเว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม แจ้งว่า “ไม่ได้รับสิทธิ” จึงพลาดการโอนเงินเยียวยาที่ผ่านมา โดยขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้โอกาสให้ “กลุ่มผู้ประกันตนที่ตกหล่น” สามารถยื่นทบทวนสิทธิรับเงินเยียวยาได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยกลุ่มพี่น้องแรงงานที่ได้รับความลำบากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้กำชับให้ตนเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่ผู้ประกันตน ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูล เพื่อโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มที่มีสิทธิแต่ยังตกหล่นอยู่ ให้ยื่นแบบทบทวนสิทธิ สำหรับขั้นตอนผู้ทบทวนสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอทบทวนสิทธิเยียวยา ได้ที่ www.sso.go.th พร้อมกรอกแบบ ลงลายมือชื่อ ระบุเลขบัตรประชาชนให้ชัดเจน หรือแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี) พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมติดต่อกลับได้ นำแบบที่กรอกครบถ้วนแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานประกันสังคมที่สะดวก 29 จังหวัดสีแดงเข้ม (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์เป็นสำคัญ) ทั้งนี้ เพื่อลดการเดินทางมาติดต่อยังสำนักงานประกันสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึง 31 ตุลาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

มาตรการรัฐช่วยรายจ่ายประชาชนหนุนเงินเฟ้อเริ่มลดลง

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.ลดลง 0.02 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด 

ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่น ๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับลดลง ส่วน เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ขยายตัว 0.07 %  ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.14 % เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.73 %

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า ยังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ยังประเมินว่า เงินเฟ้อในเดือนก.ย.นี้ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนส.ค.นี้ อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย ซึ่ง ราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐเป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนก.ย. โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 – 1.7 % 

สคบ.รื้อกฎหมายช่วยลูกหนี้เงินผ่อนไม่เจอรีดเงินเกินจริง

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ได้รายงานที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบแนวทางช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน โดยสคบ. กำลังปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ในสัญญาเช่าซื้อ โดยเฉพาะสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และจักรยานยนต์ หลังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 รายได้ลดลงจนหมดกำลังในการผ่อนจ่ายค่าสินค้าต่าง ๆ ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้น่าจะได้ข้อสรุปในเดือนก.ย.นี้ 

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือแบ่งออกเป็นการช่วยเหลือเรื่องของสัญญาเช่าซื้อในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานใดเข้ามากำกับดูแลในเรื่องดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อเป็นการเฉพาะ ทำให้ไม่มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ จึงเป็นช่องให้มีการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงจนเป็นภาระต่อผู้บริโภค สคบ. จึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมออกกฎหมายภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ประกาศเรื่องของเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมออกมา 

ขณะที่การพิจารณาอัตราเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้บริโภคผิดสัญญา โดยจะกำหนดอัตราของเบี้ยปรับให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 224/1 และมาตรา 7 ซึ่งกำหนดแนวทางในเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งการปรับปรุงแนวทางในการขายทอดตลาด เช่น การกำหนดให้ผู้เช่าซื้อมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาด หรือในกรณีที่มีการยึดและขายทอดตลาดแล้วหากได้จำนวนเงินน้อยกว่ามูลหนี้ที่ค้างชำระ เดิมกำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบในส่วนที่ขาด แต่แนวทางใหม่ที่ออกมา เบื้องต้นอาจเปิดทางให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ หลังจากถูกยึดรถไปแล้ว เพราะถือว่าสิ้นสุดสัญญา 

นอกจากนี้ยังให้สิทธิกับผู้บริโภคในการคืนรถยนต์ และจักรยานยนต์ กับผู้ให้เช่าซื้อได้เพื่อเป็นการยกเลิกสัญญาในทันที แต่ก็ต้องมาตกลงเรื่องของหนี้ที่ค้างชำระต่าง ๆ เช่น ค่างวด ค่าปรับ และค่าทวงถาม ให้เสร็จสิ้น หรือในกรณีรถเสื่อมค่า มีรอย หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียหาย ผู้ให้เช่าซื้อก็อาจพิสูจน์ความเสียหาย และสามารถเรียกค่าเสียหายจากส่วนนี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

จับตาธุรกิจเอสเอ็มอีสายป่านไม่พอเสี่ยงถูกฮุบกิจการ

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำลังจับตามองผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี  หลังพบการควบรวมธุรกิจ โดยมีกว้านซื้อธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ ทำให้โอกาสการแข่งขันเอสเอ็มอีรายย่อย และรายกลางลดลง ไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากไม่มีอำนาจทางการค้าที่มากพอ อาจจะตามมาซึ่งการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ จากธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย

ทั้งนี้ จากการจับตามองผลกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น นอกจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากต้องล่มสลายแล้ว ยังพบปัญหาโครงสร้างทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการมีแพลทฟอร์มออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อีเซอร์วิส อีโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซเข้ามาแข่งขันทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และถูกแย่งพื้นที่ตลาดไปมากเช่นกัน

ทั้งนี้ สำนักงานฯ ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตนเอง พร้อมกับศึกษาความท้าทายจากเทคโนโลยี รวมถึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับแข่งขันทางการการค้าเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายอื่น โดยจะเร่งสร้างบรรยากาศทางการค้าให้เป็นธรรม ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ผ่านการเร่งออกแนวปฏิบัติที่จะใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นธรรมกับทุกราย

สคบ.เตือนซื้อสินค้ากันโควิดผ่านออนไลน์ ระวังเจอโกง

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งหน้ากากอนามัยชนิดต่าง ๆ ปืนฉีดพ่นแอลกอฮอล์ ยาฟ้าทะลายโจร รวมทั้งชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิท ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนทำการสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ เพราะที่ผ่านมามีผู้บริโภคหลายรายเจอการหลอกลวงโอนเงินซื้อสินค้าแล้วไม่ได้สินค้า และในด้านการติดตามตรวจสอบกับทางผู้ขายนั้นก็ทำได้ยากอีกด้วย 

ทั้งนี้ สคบ. ได้มีการตรวจสอบการลักลอบขายผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ผ่านออนไลน์ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีเจ้าของบริษัทหลายแห่งที่ตัดสินใจซื้อแอนติเจนเทสจากช่องทางออนไลน์เพื่อเอาไปใช้ตรวจให้กับพนักงานในบริษัทของตัวเอง ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งจะเป็นล็อตใหญ่ เมื่อตกลงซื้อ-ขายกันเสร็จแล้วก็โอนเงินไปยังผู้ขายบางรายเป็นเงินหลายหมื่นบาท ปรากฏว่า ผู้ขายกลับไม่ส่งสินค้าให้ จึงทำให้เกิดปัญหาการหลอกลวง หรือฉ้อโกงเกิดขึ้น ขณะเดียวกันในบางรายตกลงซื้อ-ขายกันเสร็จ ได้รับสินค้าเรียบร้อย แต่สินค้ากลับไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีมาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หากผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าเกี่ยวกับโควิดหลาย ๆ ชนิด รวมไปถึงชุดตรวจแอนติเจน ผู้บริโภคควรไปเลือกซื้อในสถานที่ที่รัฐกำหนด ทั้งสถานพยาบาล หรือร้านขายยาต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ แทนการไปซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ และสามารถตรวจสอบข้อมูลของสินค้าที่เข้าข่ายเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิดได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ซึ่งนำข้อมูลทั้งหมดมาแสดงไว้ให้ผู้บริโภคตรวจสอบแล้ว โดยเฉพาะรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำสินค้านี้มาขายให้กับผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง เพราะปัจจุบันมีสินค้าปลอมเกี่ยวกับโควิดเกิดขึ้นจำนวนมาก หากผู้บริโภคไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก็อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาทั้งสุขภาพและเงินที่ต้องจ่ายไปด้วย 
 

แบงก์ชาติ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เน้นให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างระยะยาว ตรงจุดและเหมาะสม แทนการพักชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64

สำหรับมาตรการต่าง ๆที่ออกมา ทั้ง มาตรการแก้ไขหนี้เดิมให้ยั่งยืน เช่น ให้ลูกหนี้จ่ายชำระแบบต่ำก่อน และค่อย ๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น หากลูกหนี้มีรายได้กลับมา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ลูกหนี้ได้เข้ามาตรการได้มากและรวดเร็วผ่านโมบายแบงก์กิ้ง หรือเครื่องมือออนไลน์ ซึ่ง ธปท. ได้มีแรงจูงใจเอื้อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการคงจัดชั้นสำรองได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.65 และใช้เกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นจนถึงสิ้นปี 66 แต่ถ้าความช่วยเหลือลูกหนี้ยาวกว่าปี 66 ธปท.จะนำมาพิจารณาเรื่องเกณฑ์นี้อีกครั้ง

ส่วนมาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูซึ่งปัจจุบันเหลืออีก 150,000 ล้านบาทให้เอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่ม ทั้งขยายวงเงินสินเชื่อลูกค้าใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกค้าเก่าเดิมจะได้รับไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิม เป็นได้รับสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือรับสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท.ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 64 ขณะที่ความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 98,316 ล้านบาท จำนวน 32,025 ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้เข้ามา 82 ราย วงเงิน 11,696.79 ล้านบาท

นอกจากนี้การเติมเงินให้ลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่า และไม่จำกัดสถาบันการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งคงผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ไปจนถึงสิ้นปี 65 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาทจากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมขยายเวลาชำระคืนจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64 จนถึงสิ้นปี 65


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top