Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

จับตารัฐบาลเลื่อนเปิด 5 จังหวัดรับต่างชาติไป 1 พ.ย.นี้ รอฉีดวัคซีนครบ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าททท.เตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก ศบค.) ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ถึงการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หลังจากการประชุมร่วมกับคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองแผนเสร็จสิ้น และมีแนวโน้มว่าการเปิดจังหวัดเพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้ง 5 พื้นที่ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่(อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) ชลบุรี(พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เพชรบุรี(ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) จากวันที่ 1 ต.ค. 2564 อาจต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 พ.ย. เพื่อให้ทุกพื้นที่ระดมฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ก่อน 

ทั้งนี้ยอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังไม่แน่นอน คณะทำงานจากกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นควรให้เลื่อนกำหนดการอย่างน้อย 1 เดือน จากกำหนดเดิม ซึ่ง ททท.ไม่มีความกังวลในการเลื่อนครั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นการดีกว่าหากทุกพื้นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่พร้อมมากกว่านี้ เท่าที่ตรวจสอบยังมีอีกหลายแห่งที่รอการจัดสรรวัคซีนอีกจำนวนมาก 

ผู้ว่าจังหวัดระยอง จับมือกับโครงการ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste ขยายโมเดลจัดการพลาสติกใช้แล้ว สู่ 68 เทศบาล มุ่งเป็นต้นแบบจังหวัดจัดการพลาสติกยั่งยืน

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ร่วมลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือ โครงการ “Rayong Less-Waste” (ระยอง เลสเวสท์) ร่วมกับ PPP Plastics กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท้องถิ่นจังหวัดระยอง และพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชนและให้ความรู้ในโรงเรียน 

ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ครอบคลุมครบทั้ง 68 เทศบาล เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าและพัฒนาคุณภาพของพลาสติกใช้แล้วให้สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น เป็นการสร้างอาชีพ ลดปริมาณขยะไปหลุมฝังกลบ รวมถึงสนับสนุน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% คาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณพลาสติกใช้แล้วและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1,000 ตันต่อปี

โครงการ “Rayong Less-Waste” ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alliance To End Plastic Waste ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทในห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก โครงการนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการระยองโมเดล ซึ่ง PPP Plastics และจังหวัดระยองได้ร่วมกับ 18 อปท. สร้างโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชน โดยในปี 2562 และ 2563 สามารถเพิ่มปริมาณพลาสติกสะอาดที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 700 ตัน

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภค คือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ครัวเรือนในชุมชน เพื่อให้ขยะแต่ละชนิดสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ขอขอบคุณกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย PPP Plastics และ Alliance to End Plastics Waste รวมถึง ทุกเทศบาลทุกหน่วยงานและทุกคนที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าจังหวัดระยองของเรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะผนึกกำลังสร้างและยกระดับให้บ้านของพวกเราเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน”

ครม. เห็นชอบ ปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ของ SME D Bank ขยายเวลากู้สูงสุด 10 ปี ช่วยผู้ประกอบการช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบ ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 (มาตรการด้านการเงิน) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) (SME D Bank) เป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก สำหรับหลักเกณฑ์ที่ขอปรับปรุง ได้แก่ 

1.) ปรับระยะเวลากู้ยืมเป็นสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 2 ปี  จากเดิมกำหนดระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน 

2.) อัตราดอกเบี้ยคงเดิม แต่ปรับระยะเวลาให้เป็นไปตามที่ขยายถึง 10 ปี กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา ปีที่ 1 - 3 คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR - 1.875 ต่อปี ปีที่ 4 - 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ปีที่ 1 - 3 คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR – 3.875 ต่อปี ปีที่ 4 - 10 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด และ 3.หลักประกัน ปรับให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน หรือ ใช้หลักประกันตามที่ธนาคารกำหนดได้

“จุรินทร์” ปราศรัยงาน ”ดัชนีนวัตกรรมโลก" นำประเทศไทย"ครองอันดับที่ 9" ของประเทศที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเวลาท้องถิ่นของนครเจนีวา 13.30 น.  20 กันยายน 2564  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมกล่าวปราศรัยในงานเปิดตัวรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (GII 2021) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)

โดยนายจุรินทร์ ได้กล่าวขอบคุณองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ที่ให้เกียรติเชิญประเทศไทยเป็นตัวแทนกล่าวปราศรัยในงานเปิดตัวรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index หรือ  GII ประจำปี พ.ศ. 2564 จากนั้นนายจุรินทร์ กล่าวว่า การจัดทำดัชนีนวัตกรรมระดับโลก ถือเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาของ แต่ละประเทศทั่วโลก โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรม ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจและยกระดับการพัฒนาประเทศ เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยได้ดำเนินการส่งเสริมการสร้างสรรค์ การใช้ประโยชน์ การให้ความคุ้มครอง และการบังคับใช้สิทธิ ให้กับนักคิด นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภารกิจที่สำคัญ อีกประการหนึ่ง ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน คือ การส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น

จากนโยบายข้างต้น กระทรวงพาณิชย์ ได้พัฒนาระบบการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญ ดังนี้

1. การเร่งรัดการขึ้นทะเบียนสินค้า GI จนครบทั้ง 77 จังหวัด
2. นำระบบจดทะเบียนออนไลน์ (e-Filing) มาใช้กับทุกงานบริการ
3. ออกหนังสือสำคัญสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร
ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate)
4. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบบ Fast Track จากเดิม 12 เดือน เหลือเพียง 6 เดือน
5. ลดระยะเวลาการต่ออายุเครื่องหมายการค้าจากเดิม 60 วัน เหลือ 60 นาที
6. ลดระยะเวลาการจดแจ้งลิขสิทธิ์ จาก 30 วัน เหลือเพียง 3 วัน
7. ให้บริการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ODR)
8. จัดทำบริการแจ้งเตือนข้อมูลด้านสิทธิบัตรที่ใกล้หมดอายุ  เพื่อผู้ผลิตยาไทยจะได้เตรียมการผลิตยาทิ่หมดสิทธิบัตรแล้วเป็นการล่วงหน้าได้

“ ขอแสดงความขอบคุณต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกและผู้ร่วมเผยแพร่ที่ได้ทำงานอย่างหนักในการจัดทำรายงาน GII พ.ศ. 2564 และกระตุ้นให้โลกเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป " นายจุรินทร์ กล่าว

มีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยนางนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก แจ้งว่า VDO การปราศรัยของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จากประเทศไทย ถูกฉายในรอบ Head of State ที่มีประธานาธิบดีของโคลอมเบีย และนายกรัฐมนตรีของเคปเวิร์ด กล่าวเป็น 2 ท่านแรก ตามด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จากประเทศไทย แล้วจึงตามด้วยรัฐมนตรีของประเทศอื่น อาทิ จีน อินเดีย ตุรกี เกาหลี และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

ทางด้าน กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยปีนี้เป็นที่น่าพอใจ โดยคว้าอันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งยังเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุด โดยรายงาน GII 2021 ระบุว่า ไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงขึ้น แม้เป็นช่วงแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยยังครองอันดับ 1 ของประเทศที่เอกชนมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเป็นอันดับที่ 42 ด้านการพัฒนา ความรู้และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม จากเดิมอันดับที่ 86 เมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังเป็นอันดับที่ 51 ที่ภาครัฐให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ จากเดิมอันดับที่ 81 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่ง WIPO เห็นว่า มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมอย่างมาก

รัฐบาลเคาะขยายกรอบหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นไม่เกิน 70%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกิน 60% เป็น ต้องไม่เกิน 70% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี

 

สมาพันธ์ SME ไทย แนะรัฐเข้มมาตรการโควิด หนุนเปิดเมือง - คลายล็อกดาวน์เพิ่ม

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหนุนรัฐคลายล็อกดาวน์ และเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นแต่ต้องมีมาตรการดูแลและป้องกันที่ชัดเจน วิตกหากกลับมาระบาดรอบ 5 จะยิ่งซ้ำเติม ศก.และเอสเอ็มอีวิกฤตหนักขึ้น แนะเร่งฉีดวัคซีน ควบคุมราคา ATK ไม่เกิน 100 บาทต่อชุดเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการป้องกันดูแลตนเอง ขณะที่มาตรการเร่งด่วนช่วยเอสเอ็มอีต้องลดดอกเบี้ย พักเงินต้น พักดอกเบี้ย 6 เดือนทั้งระบบ

ทั้งนี้ แม้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะส่งผลดีต่อเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจภาพรวม แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าอัตราการติดเชื้อใหม่ของไทยรายวันก็ยังคงอยู่ระดับสูงกว่าหมื่นคนแม้จะลดลงจากก่อนหน้าไปบ้างก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นสุดคือการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนครบ 2 เข็มโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการควบคุมราคาชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK ไม่ให้สูงกว่า 100 บาทต่อชุดและเป็น ATK ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่ายที่จะนำมาดูแลป้องกันตนเอง ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาควรนำบทเรียนจากภูเก็ตแซนด์บอกซ์มาปรับใช้ ซึ่งมีข้อกังวลว่าต่างชาติอาจนำเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาได้ จำเป็นต้องมีมาตรการที่ป้องกันอย่างรัดกุม

'ดีพร้อม' เร่งปั๊มภูมิคุ้มกันหมู่ สู่ธุรกิจรายย่อย ผ่านยุทธศาสตร์รวมกลุ่ม 'คลัสเตอร์'

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' (DIPROM) เผยความสำเร็จจากการดำเนินมาตรการการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ หรือคลัสเตอร์โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน มีจำนวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่พัฒนามาแล้วอย่างต่อเนื่องจำนวน 123 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นคลัสเตอร์ทั่วไป 112 กลุ่ม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S - Curve 11 กลุ่ม พร้อมชี้ในปี 2564 ได้ดำเนินการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 29 กลุ่ม แบ่งเป็นคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 25 กลุ่ม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 4 กลุ่ม สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกกว่า 1,200 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมยกระดับการดำเนินงาน ผ่านการเป็นศูนย์กลางหรือ HUB ด้านการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในทุก ๆ กลุ่มสาขาอุตสาหกรรมด้วยการใช้ศักยภาพของหน่วยงาน โดยมีเครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือศูนย์ ITC 4.0 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ Thai-IDC เครือข่าย RISMEP และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือ SSRC

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้เป็นผู้ริเริ่มมาตรการขับเคลื่อนการสร้างและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม หรือ คลัสเตอร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ.  2549 - ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเชื่อมโยงการช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองทางการซื้อ การตลาด และสามารถเติบโตได้ในลักษณะกลุ่ม 

ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ปัจจุบันมีจำนวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่พัฒนามาแล้วอย่างต่อเนื่องจำนวน 123 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทั่วไป 112 กลุ่ม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S - Curve) 11 กลุ่ม มีกระบวนการพัฒนาตั้งแต่การทำความความเข้าใจด้านเศรษฐกิจแบบพึ่งพา หรือ Sharing Economy การพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งในด้านการผลิต การตลาด การแบ่งปันเทคนิคและองค์ความรู้ ตลอดจนการผลักดันให้เข้าใจถึงนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ

สำหรับในปี 2564 ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ ดีพร้อม เร่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์ไปแล้ว จำนวน 29 กลุ่ม แบ่งเป็นคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 25 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ คลัสเตอร์น้ำผึ้ง กาแฟ เกษตรแปรรูป ผลไม้แห่งขุนเขา เกลือไอโอดีน สมุนไพรและสปา มันสำปะหลัง อาหารเพื่อสุขภาพ ขนมหวาน ผลไม้ภาคตะวันออก ไม้ยางพารา ผลไม้แปรรูป อาหารแห่งอนาคต อาหารพร้อมทาน เป็นต้น 

ส่วนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล โดยผลสำเร็จจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวยังสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกกว่า 1,200 ล้านบาท

ไอแบงก์ ขยายวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนฟื้นฟูธุรกิจ  

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) แจ้งว่า ธนาคารได้ขยายวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนฟื้นฟูธุรกิจสำหรับลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ คิดอัตรากำไรพิเศษ 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจฝ่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและภัยโควิด-19

สำหรับโครงการสินเชื่อซอฟต์โลนฟื้นฟูธุรกิจ ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นโครงการที่ไอแบงก์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อรวมที่มีอยู่กับธนาคาร แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท (ไม่รวมภาระผูกพันและวงเงินสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค) และลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด จะได้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท (ไม่รวมวงเงินสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค)

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเติมความช่วยเหลือลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ธนาคารได้ปรับเพิ่มวงเงินการให้สินเชื่อ โดยกรณีเป็นลูกค้าที่มีวงเงินกับธนาคารอยู่แล้ว วงเงินสูงสุดที่จะได้รับพิจารณาไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อเดิม หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 50 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงิน) โดยลูกค้าบางรายอาจต้องใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือ หลักทรัพย์อื่นตามที่ธนาคารกำหนด 

โดยสินเชื่อซอฟต์โลนฟื้นฟูธุรกิจ คิดอัตรากำไรพิเศษเพียง 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก (ยกเว้นกำไร 6 เดือนแรก) ปีที่ 3-5 คิดกำไรไม่เกิน 7% ต่อปี ผ่อนได้นานสูงสุด 5 ปี พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม ค่านิติกรรมสัญญา และยกเว้นค่าธรรมเนียมชำระคืนเสร็จสิ้นก่อนครบกำหนดอายุสัญญา

ดันพัทยาศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมครม. ได้มีมติรับทราบ การรายงาน เรื่อง มิติวัฒนธรรมกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามที่ วธ. เสนอ โดยการพัฒนาเมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลก รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการเพื่อใช้ทุนวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของถิ่น ในการผลิตภาพยนตร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับจังหวัดทั่วประเทศ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564)

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมมือกับ จ.ชลบุรี และเมืองพัทยา รวมทั้ง จ.นครราชสีมา สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติและสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย จัดโครงการสัมมนาสัญจรส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประจำปีงบประมาณ 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยนำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี วันที่ 21 ก.ย. เวลา 09.30-16.00 น. และนครราชสีมา วันที่ 23 ก.ย. เวลา 09.30-16.00 น. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับท้องถิ่น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อเครือข่ายความร่วมมือระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การมีส่วนร่วมของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ 

รวมทั้งการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่กับผู้ผลิตภาพยนตร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและผลักดันให้เกิดแหล่งเงินทุนในการผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ของผู้ประกอบการไทยด้วยกัน รวมทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์เข้ามาใช้พื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดนำร่อง ทำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ก่อให้เกิดกระจายรายได้สู่ระดับภูมิภาคจากการท่องเที่ยว ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศไทย หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย

'กนอ.' เดินตามนโยบายรัฐ พัฒนา BCG โมเดล โชว์ผลงานยกระดับนิคมฯ สู่เมืองอุตฯ เชิงนิเวศ ปี’64

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยผลตรวจประเมินการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับต่าง ๆ ประจำปี 2564 ย้ำทุกนิคมฯ มีส่วนร่วมพัฒนาเมืองฯ ผ่าน 5 มิติ 22 ด้าน สอดคล้องตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.นำแนวคิด “นิเวศอุตสาหกรรม”(Industrial Ecology) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้ข้อกำหนด คุณลักษณะ และเกณฑ์ตัวชี้วัด การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 มิติ 22 ด้าน ได้แก่ 

1.) มิติกายภาพ 
2.) มิติเศรษฐกิจ 
3.) มิติสังคม 
4.) มิติสิ่งแวดล้อม 
และ 5.) มิติการบริหาร 
โดยจัดทำแผนแม่บทการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ เช่น การนำน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยทิ้งมาบำบัดแล้วนำมาผลิตน้ำ RO (Reverse Osmosis) และนำกลับมาใช้ใหม่แทนน้ำประปา ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการโรงงานไปเพิ่มมูลค่าด้วยการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น นำเศษขยะทั่วไปในนิคมอุตสาหกรรมไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือนำตะกอนจากโรงงานไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพจากวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาดัดแปลงให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมกลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มีการประกอบกิจการที่มีผลกำไร โดยที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนสามารถทำรายได้เป็นเงินหมุนเวียนให้กับสมาชิกในกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม

“แนวคิดหลักของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือ การสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนท้องถิ่น โดย กนอ.กำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน แบ่งการยกระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ Eco-World Class / Eco-Excellence และ Eco-Champion ตามลำดับ ซึ่งหากนิคมฯ ที่ผ่านเกณฑ์และยกระดับเป็น Eco-World Class แล้ว ต้องรักษาระดับการเป็น Eco-Excellence และ Eco-Champion อย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วม” นายวีริศ กล่าว

สำหรับในปีงบประมาณ 2564 กนอ.พัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ดังนี้ ระดับ Eco-World Class จำนวน 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย และนิคมอุตสาหกรรมหนองแค ระดับ Eco-Excellence จำนวน 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน  นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) และนิคมอุตสาหกรรมผาแดง ระดับ Eco-Champion จำนวน 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) และนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี ทำให้ปัจจุบันความสำเร็จของนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ. ระดับ Eco-Champion มีจำนวน 36 แห่ง ระดับ Eco-Excellence จำนวน 16 แห่ง และระดับ Eco-World Class จำนวน 5 แห่ง 

ทั้งนี้ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายถึงรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี กนอ.ดำเนินการขับเคลื่อนการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาอย่างต่อเนื่อง และกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ของ กนอ.ภายใต้แผนงาน 5G+ ซึ่งแผนงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อยู่ในยุทธศาสตร์ Green ที่มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน ได้แก่ Eco Team, Eco Committee, และ Eco Green Network เพื่อร่วมวางแผนและยกระดับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศร่วมกัน

“กนอ.ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล และให้ความสำคัญกับการผลิต การบริโภคสินค้า และการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment) ตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล ด้วยการส่งเสริมปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปี (2564-2568) จะต้องมีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกระดับเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 39 แห่ง” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top