Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

“บิ๊กตู่” ชื่นชม นักออกแบบไทยสามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่าง ๆ สร้างสรรค์ อุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ยก MV ลิซ่า โชว์งานหัตถศิลป์ไทย ทั่วโลกแห่ชมกว่า 100 ล้านวิว

13 ก.ย. 64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความชื่นชมและภูมิใจนักออกแบบไทยสามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ร่วมกับอุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ตรงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งคือการผลักดัน "Soft Power" ไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐบาลเร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา คือ 

1.) งานฝีมือและหัตถกรรม 
2.) ดนตรี 
3.) ศิลปะการแสดง 
4.) ทัศนศิลป์ 
5.) ภาพยนตร์ 
6.) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 
7.) การพิมพ์ 
8.) ซอฟต์แวร์ 
9.) การโฆษณา 
10.) การออกแบบ 
11.) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 
12.) แฟชั่น 
13.) อาหารไทย 
14.) การแพทย์แผนไทย 
15.) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 

นายธนกร กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ 1.) อาหาร (Food) 2.) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4.) มวยไทย (Fighting) และ 5.) การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) เชื่อว่ายังจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด -19 ที่สำคัญของไทยด้วย

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กำหนดโมเดล BCG ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย "ปัญญา สร้างสรรค์" และมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากไทยมีจุดเด่นและความพร้อมด้านทุนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งศิลปหัตถกรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ชุมชนที่มี "อัตลักษณ์" ของตนเอง นำมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของคนไทย ก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แล้วล่าสุด จากกระแสความชื่นชมเอ็มวีของศิลปินลิซ่า ที่มีการสอดแทรกงานหัตถศิลป์ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย มียอดผู้ชมกว่า 100 ล้านวิวแล้ว เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงและออกแบบแฟชั่นไทย ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ ไทยมีตลาดประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาครองรับอยู่แล้ว 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จของศิลปินไทย ทุกสาขาศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ ออกแบบดีไซน์ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น ทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนัก จนประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ในการนำศิลปวัฒนธรรมไทยมาสร้างสรรค์เป็น Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ในระดับโลก  

คลังปิดจ๊อบ พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เตรียมกู้เงินเติมให้ครบ 7.2 หมื่นล้านคลังปิดจ๊อบ พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เตรียมกู้เงินเติมให้ครบ 7.2 หมื่นล้าน

กระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในช่วงที่เหลือของเดือนก.ย.64 กระทรวงการคลังมีแผนจะเร่งกู้เงินในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มเติมอีก 72,313 ล้านบาท เพื่อให้มีวงเงินกู้ครบถ้วนตามกรอบโครงการที่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.วงเงิน 980,826 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากในเดือนก.ย.นี้ จะเป็นเดือนสุดท้ายที่คลังมีอำนาจกู้เงินได้ตามที่กฎหมายระบุไว้ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะต้องมีหน้าที่กู้ให้ครบตามโครงการที่อนุมัติไว้ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้  โดยวิธีการกู้เงินจะไม่มีการเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ แต่จะใช้เครื่องมือการกู้เป็นพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น)

ส่วนการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท คลังได้เริ่มทยอยกู้ไปแล้ว 7.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่การเบิกใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 849,466 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณเยียวยา แต่หลังจากนี้โครงการต่าง ๆ ทั้งเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือด้านสาธารณสุข ยังมีเวลาที่จะสามารถเบิกใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.64  ซึ่งได้ยินว่ามีอีกหลายโครงการที่เตรียมจะเบิกใช้ในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะงบด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้การดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลัง สามารถกู้เงินได้จนถึง 30 ก.ย.นี้ และให้โครงการที่จะขอใช้เงินจะต้องผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ส่วนโครงการที่ผ่าน ครม.ไปแล้ว ยังมีสิทธิเบิกใช้เงินได้ไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน อย่างไรก็ตามกรณีมีบางโครงการที่ล่าช้าเบิกจ่ายงบไม่ทัน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือทำไม่ได้ตามแผนนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะมีการทบทวนปรับปรุงการใช้จ่าย หรือตัดงบบางโครงการให้เกิดความเหมาะสมได้

เว็ปไซต์ สบน. เผย ตัวเลขหนี้สาธารณะพุ่งเฉียด 9 ล้านล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซด์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เผยแพร่ รายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 พบว่า มียอดหนี้จำนวน 8,909,063.78ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท โดยยอดหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 8,825,097.81ล้านบาท หรือ 55.20% ของจีดีพี

สำหรับหนี้สาธารณะเดือน ก.ค. 2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการกู้โดยตรงของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,836,723.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2564 ที่ 7,760,488.76 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 7,071,423.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. โควิด-19 จำนวน 817,726.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 732,726.05 ล้านบาท และเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกด้วยอย่างไรก็ดี หนี้ของรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 781,052.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งอยู่ที่ 772,090.49 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน อยู่ที่ 399,141.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 398,843.56 ล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน อยู่ที่ 381,911.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 373,246.93 ล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) อยู่ที่ 284,141.61 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 285,356.96 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อยู่ที่ 7,146.04 ล้านบาท

พาณิชย์ รับธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตดาวเด่น รายพุ่งแสนล้าน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกิจในช่วงเดือนก.ค. 2564 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในการเข้าสู่การค้าออนไลน์ พบว่า ธุรกิจที่กลายเป็นดาวเด่นประจำเดือนนี้คือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต (e-Commerce) ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 3,525 ราย และตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2564 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ภายใน 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) จำนวน 794 ราย ซึ่งมีจำนวนเกือบเท่ากับปี 2563 ตลอดทั้งปี ที่มีจำนวน 798 ราย 

แต่หากเปรียบเทียบในช่วงเดือนก่อนหน้าพบว่า ในเดือนก.ค. 2564 มีจำนวน 112 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. 2564 ที่มีจำนวน 106 ราย คิดเป็น 5.66% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค. 2563 ที่มีจำนวน 79 ราย ก็แสดงให้เห็นว่าการจัดตั้งธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคิดเป็น 41.77% เป็นที่น่าจับตามองถึงยอดจดทะเบียนในครึ่งปีหลังที่จะสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจนี้กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นของปี 2564 

นายสินิตย์ กล่าวว่าธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตถือเป็นธุรกิจที่มีการรายได้ภายในประเทศสูงถึงระดับแสนล้านบาทต่อปี โดยในปี 2563 ธุรกิจนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 111,670.15 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สามารถใช้บริการได้แบบใกล้ตัวผ่านโทรศัพท์มือถือ ชำระค่าบริการสินค้าได้ทันทีผ่าน Mobile Banking และระบบการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ยังผลักดันครั้งใหญ่ให้ผู้บริโภคลดการเดินทางออกจากบ้าน จึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าผ่านทางโลกออนไลน์เป็นหลัก ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับผลเชิงบวกตามไปด้วย 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งหนักสุดรอบ 23 ปี 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน ส.ค.2564 ว่า ดัชนีฯ ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 39.6 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ ต่ำสุดในรอบเกือบ 23 ปี นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2541 เป็นผลมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นจนรัฐบาลต้องขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศแย่ลง และมีความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ยังล่าช้าเข้ามากระทบด้วย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 33.8 โอกาสในการหางานทำ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.3 และรายได้ในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.6 โดยผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ได้จัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลดูแล คือ การเร่งจัดทำแผนการเปิดเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนเตรียมความพร้อม เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ให้แพร่ระบาดในประเทศไทย มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาเข้าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ และต้องสร้างแผนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นอีกด้วย

ชงศบค.ไฟเขียว สมุย เปิดรับต่างชาติไม่ต้องกักตัว 

นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเกาะสมุยได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะผ่อนปรนและปรับรูปแบบการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของโครงการสมุย พลัส โมเดล ซึ่งประกอบด้วย เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จากเดิมในช่วง 7 วันแรก ต้องกักตัวหรือจำกัดพื้นที่ มาเป็นไม่ถูกกักตัวทันทีที่ผลการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ออกมาว่าไม่ติดเชื้อ เหมือนกับที่ภูเก็ต แซนด์บีอกซ์ ทำอยู่ โดยจะเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ให้พิจารณาเริ่มได้ในเดือนต.ค.นี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเกาะสมุยมากขึ้น 

ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่เปิดโครงการมาเมื่อวันที่ 15 ก.ค.7 ก.ย.2564 เพิ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 628 คน เพราะมีข้อเปรียบเทียบกับ ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ที่ไม่ต้องถูกกักตัว จึงเลือกไปภูเก็ตมากกว่า โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-7 ก.ย.2564 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าภูเก็ต 29,363 คน จึงเสนอให้ผ่อนปรนเงื่อนไข ซึ่งในด้านระบบสาธารณสุขรองรับตอนนี้มีความพร้อมแล้ว 

ส่วนเป้าหมายหลังการปรับรูปแบบเป็นไม่กักตัว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) 4,500 คน หรือเดือนละ 1,500 คน สร้างรายได้ประมาณ 90 ล้านบาท รวมทั้งยังส่งเสริมให้คนไทยมาเที่ยวเกาะสมุยมากขึ้นด้วย  

กระทรวงอุตฯ เชื่ออุตสาหกรรมอาหารไทย 5 เดือนหลัง โตสวนทางโควิด ชี้ Bubble and Seal ช่วยรันสายพานธุรกิจให้ไม่ขาดช่วง

อุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตและการส่งออก แม้เผชิญการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอย่างต่อเนื่อง ภาพรวม 7 เดือนแรกการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 การส่งออกมีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชี้ปัจจัยหลักมาจากภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal คาดอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลังโตแกร่งสวนโควิด-19 ประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ว่าได้พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวลงในปีก่อน โดยการผลิตที่วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 

ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ต่าง ๆ จำพวกสับปะรด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns หลังจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ธุรกิจบริการร้านอาหารต่าง ๆ มีการฟื้นตัว โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน 

ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง จำพวกกุ้ง ปลา ปลาหมึก สับปะรดกระป๋อง ที่มีการขยายตัวตามช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหารที่กำลังฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ Pent up demand หรือความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 5 เดือนหลังยังจะโตแกร่งสวนทางโควิด-19 โดยคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563 

สำหรับปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง มองว่ามาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการกลับมาเปิดเมือง (Reopening) ทำให้สินค้าที่มีช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม จัดเลี้ยง (HORECA) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ากุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มะพร้าว และกะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน 

ประกอบกับสต็อกสินค้าอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เริ่มลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ส่วนใหญ่เน้นใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง อาทิ การแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่สถานประกอบการ จะกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งมอบสินค้า การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้หลายประเทศอาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด จะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าชะลอตัวลง 

ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Commodity เช่น ข้าว น้ำตาล ธัญพืชต่าง ๆ ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำ รวมถึงทางการจีนอาจชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากการที่เร่งนำเข้ามาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

แนะผู้ประกอบการปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ให้เหมาะสมกับขนาดกิจการ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดในโรงงาน พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

กระทรวงอุตสาหกรรมรวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำ (Coaching) การทำ Bubble and Seal ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งจะมีการปรับเกณฑ์ Good Factory Practice (GFP) เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก รถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 

นอกจากนี้ จะเร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเชิงรุก ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าฟันวิกฤตและรักษาสถานภาพโรงงานทั้งในด้านการผลิตและส่งออก เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารสามารถทำรายได้จากการส่งออกและเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทย

“ทิพานัน” ชี้นายกฯ ห่วงใยประชาชนผู้มีรายได้น้อย-อาชีพอิสระ ดันโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.99% นาน 4 ปี

คนอยากมีบ้านเฮ “ทิพานัน” ชี้นายกฯ ห่วงใยประชาชนผู้มีรายได้น้อย-อาชีพอิสระ ให้มีที่พักอาศัย ดันโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อัดเม็ดเงินกว่า 2,909 ล้านบาท ใน 10 จังหวัด เชื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็ว เข้มแข็ง ยั่งยืนจากภายใน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ  เพื่อให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงผลักดันให้มีการสานต่อโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ หรือโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 

ซึ่งที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ดำเนินการให้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก 1.99% ต่อปี ทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA ของ ธอส. และยังผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อช่วยให้ประชาชนมีโอกาสได้รับวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม รวมถึงกลุ่มที่ประกอบอาชีพประจำหรืออาชีพอิสระ สามารถนำหลักฐานการชำระค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนชำระเงินดาวน์บ้านไม่น้อยกว่า 12 เดือนมาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และหากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ให้ธนาคารพิจารณาได้ ให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ Financial Literacy และออมอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าเงินงวดผ่อนชำระเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาสินเชื่อกับธนาคารได้ต่อไป 

จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเองอย่างครบวงจร โดยพี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถรับรหัสเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ได้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ผ่าน Mobile Application : GHB ALL ( https://www.ghbank.co.th/electronic-services/application/ghb-all) และทำนิติกรรมได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือ ก่อนเต็มกรอบวงเงินของโครงการ

“บ้านเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ทุกอย่างเริ่มจากบ้าน ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคมประเทศไทยของเราทุกคนที่มีความรักความสามัคคี รัฐบาลจึงเดินหน้าตั้งแต่โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 1 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2561 ต่อมาเมื่อต้นปี 2564 ก็มีโครงการบ้านเคหะสุขประชาที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด วางรากฐานเพื่อให้เป็นชุมชน “เศรษฐกิจสุขประชา” สร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยให้มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและตามความสนใจและความถนัดที่มีให้เลือก 

รัฐบาลจึงอนุมัติโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 เพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามกรอบเวลายุทธศาสตร์ชาติ โดยรัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและทำเพื่อประชาชนให้มากที่สุด” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ประชุมครม. ได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 จำนวน 1,766 โครงการ วงเงินรวม 2,909 ล้านบาทดำเนินการ ใน10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ อยุธยา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ใน 4 กลุ่มโครงการ ประกอบด้วยกลุ่มพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า, กลุ่มยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร, กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และกลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน 

ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 29,765 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 3.54 ล้านคน พร้อมเตรียมโครงการนี้ครั้งที่ 4 อีกจำนวน 1,434 โครงการ วงเงินรวม 3,753 ล้านบาท ดำเนินการในอีก 14 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เลย นครพนม บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ลพบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครนายก และยะลา โดยจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด กระจายงบประมาณลงไปในกลุ่มเป้าหมาย

“เชื่อว่าเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าว จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีความแข็งแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว จากการส่งเสริมความเข้มแข็งภายใน และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้” น.ส.ทิพานัน กล่าว

รัฐบาลเล็งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล็อตใหม่เริ่มต.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือน ก.ย.นี้อย่างใกล้ชิด หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังทรงตัว และไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพิ่มอีก ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ เบื้องต้นอาจจะเริ่มในเดือน ต.ค.เป็นต้นไป โดยจะใช้ทั้งนโยบายใหม่ และนโยบายเดิม เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ยังมีอยู่และมีการขยายระยะเวลาออกไปก็ยังเดินหน้าต่อ

“นโยบายทุกอย่างอยู่ในลิ้นชักอยู่แล้วรอเวลาที่เหมาะสมที่จะเอาขึ้นมาใช้ได้ หากสถานการณ์ในตอนนี้เป็นไปด้วยดี ประชาชนดูแลตัวเองดี ก็คิดว่าถึงเวลาที่เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนเศรษฐกิจในปีนี้จะยังขยายตัวได้หรือไม่นั้น ประเมินดูแล้ว ก็น่าจะยังขยายตัวได้ เพราะยังมีบางส่วนของเศรษฐกิจที่เติบโตได้อยู่”

ส.อ.ท. ดันสินค้า Made in Thailand ขายภาครัฐ เผย 6 เดือน สร้างมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำผู้ประกอบการไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 เดินหน้าโครงการ Made in Thailand โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถผลักดันสินค้า Made in Thailand : MiT เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้แล้วกว่า 68,000 ล้านบาท คาดสิ้นปี 64 จะมีมูลค่าการค้าทะลุ 100,000 ล้านบาท พร้อมทั้งจับมือเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป นำผู้ประกอบการในเครือข่ายขึ้นทะเบียนเพิ่ม และต่อยอดส่งออก นำร่องเจรจาการค้ากับบาห์เรน จีน อินเดีย ขยายตลาดต่างประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในภาวการณ์  แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง และการออกมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ ดังนั้นจึงมีเพียงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้นที่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านสภาวะที่ยากลำบาก 

โดยแนวทางที่สำคัญในการเจาะตลาดภาครัฐของเอกชน คือ โครงการ Made in Thailand ที่ ส.อ.ท. ได้ผลักดันร่วมกับภาครัฐในการปรับกฎระเบียบเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่เข้ามาขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand : MiT ได้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงเม็ดเงินการจัดจ้างภาครัฐมีมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ให้กับผู้ประกอบการแล้วกว่า 2,000 ราย 

โดยล่าสุดข้อมูลจากกรมบัญชีกลางพบว่ามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ 52 สามารถยื่นเสนองานต่อภาครัฐได้แล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากหลายทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมไปถึงผู้ประกอบการ SMEs

ทั้งนี้คาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนกว่า 5,000 ราย มีจำนวนสินค้ากว่า 50,000 รายการ โดยที่ผ่านมามีสินค้าที่มาขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1.) อุปกรณ์งานก่อสร้าง
2.) ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
3.) เครื่องปรับอากาศ 
4.) สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 
และ 5.) สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม

“จากการดำเนินโครงการ Made in Thailand ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากหน่วยราชการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่ผู้บริหารต่างผลักดันนโยบายร่วมกัน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่สอบถามเพื่อสืบค้นส่วนของที่หน่วยงานมีความต้องการในฐานของ MiT เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ท่าอากาศยาน, กรมทางหลวง, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, กรมที่ดิน, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งต้องขอขอบคุณแทนผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ถือว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถเดินต่อไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงาน Made in Thailand ของสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่ค้าสำคัญที่ตอบรับสินค้า Made in Thailand เป็นอย่างดีแล้ว โอกาสทางการตลาดอื่น ๆ ของสินค้า Made in Thailand ก็มีมากเช่นเดียวกัน โดย ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเอกชนในส่วนของการขายปลีกและขายส่ง ซึ่งในปัจจุบันได้มีพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่กำลังผลักดันผู้ค้าในเครือข่ายมาขึ้นทะเบียน Made in Thailand โดยกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เช่น ไทวัสดุ บีทูเอส และ ออฟฟิศเมท ได้เข้ามาเจรจาธุรกิจกับเอสเอ็มอี ที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand เพิ่มเติมด้วย และหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะหารือกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ ให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, สมาคมค้าปลีกไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในภาวะที่ยากลำบาก 

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ส.อ.ท. ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างโอกาสทางการค้าในต่างประเทศ โดยนำร่องกลุ่ม SMEs เจรจาธุรกิจที่ตลาดบาห์เรน, ตลาดอินเดียและตลาดจีน ที่นิยมสินค้าไทยอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็ยังจะสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็จะได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ๆ โดยหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะมีการผลักดันโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาขึ้นทะเบียน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top