Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งสมอ. ออกมาตรฐาน ‘เรือไฟฟ้า’ ปีหน้า หลังออกมาตรฐาน EV ไปแล้วกว่า 90 มาตรฐาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการ สมอ. เร่งออกมาตรฐาน EV อย่างเต็มที่ เพื่อขานรับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ล่าสุด สั่ง สมอ. ไปดำเนินการจัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าเพิ่มเติม หลังจากที่ได้มีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว กว่า 90 เรื่อง

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กมอ. (บอร์ด สมอ.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า บอร์ด สมอ. ขานรับนโยบาย EV ของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สั่ง สมอ. จัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2565 ด้วย 

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติม ว่า มาตรฐานเรือไฟฟ้าฉบับนี้ จะครอบคลุมเรือสำหรับใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าต่อไป 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งเข้มนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จับตาสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการงานร่วมกันหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ และติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ร่วมกับชุมชนในการขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำโดยรอบของนิคมฯ ด้วย

“สำหรับนิคมฯ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนิคมฯ 3 แห่ง คือ บางปะอิน บ้านหว้า และนครหลวง โดยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการขุดลอกคูคลองรอบนิคมฯ สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายวีริศ กล่าว

โรงหนังพร้อมกลับมาเปิดบริการ หลังเจอปิดนาน 158 วัน

น.ส.พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีมติผ่อนคลายมาตรการให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ หลังจากถูกปิดไปเป็นเวลานานถึง 158 วัน โดยการกลับมาเปิดให้บริการครั้งนี้ ยังได้ยกระดับตามมาตรการเพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้ดูหนังอย่าง มั่นใจ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเตรียมความพร้อมด้านพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว รวมถึงมีการตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit ก่อนเริ่มปฏิบัติงานในส่วนของโรงภาพยนตร์ได้รับการประเมินผ่านมาตรฐาน THAI STOP COVID PLUS (TSC+) ของกรมอนามัย

พร้อมทั้งได้ติดตั้งอุปกรณ์หลอด UVC ภายในระบบปรับอากาศ และอบ Ozone เพื่อฆ่าเชื้อโรคภายในโรงภาพยนตร์ทั้งหมด นอกจากนี้ มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศฆ่าเชื้อโรค ที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ได้มากกว่า 99.99% ที่โรงภาพยนตร์ The Bed Cinema by Omazz เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

‘สุริยะ’ สั่ง กรอ. เดินหน้า ‘พัฒนา-ยกระดับ’ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม

สุริยะ สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้านโยบายส่งเสริมการจัดการของเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ ดันผู้ประกอบการน้ำดีเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI) หวังสร้าง มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีแก่ผู้รับบำบัดและกำจัดของเสีย เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวไปสู่การพัฒนาและสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รวอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการพัฒนามาตรฐานการจัดการหรือการให้บริการกำจัดและบำบัดสิ่งปฏิกูลของผู้ให้บริการให้ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการและถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด และสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกระดับการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความ เป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รมว.คลัง หวังเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นพร้อมอัดนโยบายหนุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตอยู่ในระดับ 1.3% และในปี 2565 จะรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอยู่ที่ระดับ 4-5%  โดยภายหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง หลังจากรัฐบาลได้นำนโยบายการเงินการคลัง  มาช่วยเหลือภาคธุรกิจและลูกจ้าง  ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาการบริโภคในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และยังวางแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตต่อไปด้วย

ทั้งนี้ยังยอมรับว่า การรักษาฟื้นตัวระยะยาวมีแนวทางสำคัญ คือ ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยการเน้นโมเดลบีซีจี เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เช่นเดียวกับ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ 12 เป้าหมาย รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่ในอนาคตจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย 

จุรินทร์ ดันส่งออก ข้าว-ลำไย พร้อมชวนอินโดนีเซียซื้อสินค้าไทยกว่า 1,860 รายการผ่านช่องทางออนไลน์

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจําประเทศไทย H.E. Mr.Rachmat Budiman เข้าเยี่ยมคารวะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 11 สำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์ โดยวาระนี้มีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย 

จากนั้น นายจุรินทร์ ได้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยกล่าวว่า สำหรับภาพรวมระหว่างการค้าไทย อินโดนีเซีย อินโดนิเซียถือว่าเป็นคู่ค้าลำดับ 3 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับ 7 ในโลกของไทย รองจากจีน ญี่ปุ่น อียู สหรัฐฯ มาเลเซีย เวียดนาม มูลค่าการค้า 8 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าการค้าร่วมกัน 347,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% สินค้าที่ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียที่สำคัญ เช่นรถยนต์และส่วนประกอบ +65.4% เม็ดพลาสติก +74.7% ผลิตภัณฑ์ยาง +97% อาหารสัตว์เลี้ยง +52% ลำไย +91.8% เครื่องดื่ม +30.9 % ยางพารา +27.6% เป็นต้น ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากอินโดนีเซียที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.น้ำมันดิบ +328% 2.เคมีภัณฑ์ +91.6% และ 3.เหล็กกับผลิตภัณฑ์เหล็ก +251%โดยนำเข้ามาเพื่อภาคการผลิตส่งออกต่อไปในปี 64 หรือ ช่วง 8 เดือนแรก ไทยยังได้ดุลการค้าอินโดนิเซียอยู่ 3,248 ล้านบาท 

ประเด็นที่ตนได้หยิบยกมาหารือแล้วก็แจ้งให้ท่านทูตช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไปประกอบด้วย

1. ขอให้ท่านทูตช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าไทยที่เราพึ่งนำขึ้นขายบนแพลตฟอร์ม blibli.com ของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 22 กันยายน 64  ที่ผ่านมา สินค้าทั้งหมดมี 1,863 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นอาหารสุขภาพ ความงามและไลฟ์สไตล์

2.ตนได้ขอเชิญเอกชนและประชาชนอินโดนิเซียหรือผู้นำเข้ามาร่วมกิจกรรม OBM (Online Business Matching ) ของประเทศไทย อย่างน้อย 2 งานสำคัญช่วงนี้ 1.งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ THAIGROOVE วันที่ 23 ถึง 26 พฤศจิกายนปีนี้ 2.งาน Phuket Gems Fest วันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 3 ธันวาคม 64

3.ตนขอให้ท่านทูต ช่วยรีบรับนัดกรมการค้าต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ในการเจรจาเรื่องข้าวเพื่อจะได้เร่งรัดการส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซียต่อไปในอนาคต

4.ตนได้ขอให้ท่านทูตเร่งรัดการออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ไทยที่จะไปประจำที่สำนักงานใหญ่อาเซียนของไทยที่จาการ์ตา

นอกจากนี้การส่งออกลำไยของไทยไปยังอินโดนีเซีย 3-4 ปีนี้ติดขัดปัญหาเรื่องของการออกมาตรการของอินโดนีเซียที่จะต้องมี 1.จีเอพีคือสวนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน 2.ต้องมีจีเอสพีซึ่งเป็นมาตรฐานด้านสุขอนามัยและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และ3.จะต้องผ่านความเห็นชอบ 2 กระทรวงของอินโดนีเซีย คือกระทรวงเกษตรและกระทรวงการค้า ตนได้ขอให้ท่านทูตได้รับทราบข้อมูล เพื่อหาทางคลี่คลายให้ลำไยไทยสามารถไปสนองความต้องการของผู้บริโภคอินโดนิเซียได้มากขึ้น

สุดท้ายในเรื่องการส่งออกแอร์คอนดิชั่นเนอร์จากประเทศไทยไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปีที่แล้วอินโดนิเซียได้ออกมาตรการพิเศษ 2 ข้อ 1.จะต้องมีการยื่นขออนุญาตนำเข้าอินโดนิเซียก่อน 2.จะต้องให้อินโดนิเซียตรวจโรงงานในประเทศไทยก่อนจึงจะส่งออกไปได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมกังวลว่าอาจจะขัดกับหลักของ WTO และหลักการของอาเซียนในเรื่องของการสร้างอุปสรรคการค้า 

แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นต่างๆทั้งหมดนี้ยังสามารถที่จะไปหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกันได้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commitee:JTC )ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียซึ่งเรามีข้อตกลงกันมาตั้งแต่ปี 54 แต่ยังไม่เคยมีการประชุม จึงเสนอว่าขอให้ร่วมมือกันจัดการ JTC ครั้งแรกขึ้นโดยประเทศไทยยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพ เสนอว่าควรจะเป็นช่วนธันวาคมปีนี้ เพื่อคลี่คลายปัญหาระหว่างกันด้านการค้าการลงทุนและในเรื่องอื่นๆ ซึ่งตนจะไทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีการค้าอินโดนิเซียต่อไป 

ส่วนอินโดนิเซียมี 3-4 ประเด็น ที่ท่านได้หยิบยกขึ้นมาหารือ ประเด็นแรก อินโดนิเซียประสงค์จะส่งออกกุ้งสดมายังประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกของไทย ขณะนี้มีอุปสรรคอยู่บางประการ ตนรับว่าจะไปหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งเสริมตัวเลขการส่งออกของเราต่อไปด้วย

คปภ. สั่ง 'เอเชียประกันภัย' หยุดรับทำประกันชั่วคราว ชี้ ฐานะการเงินทรุด หลังซมพิษยอดเคลมโควิดพุ่ง

24 ก.ย. 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากปรากฏพฤติการณ์และหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีประมาณการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัท มีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัท ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน 

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน เพื่อให้การกำกับดูแล และติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทให้เป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและธุรกรรมการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใส อันจะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนในอนาคต 

คลังเข็นเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจหวังดันเศรษฐกิจปีนี้ขยับ

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค. 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเบิกจ่ายลงทุน โดยพยายามปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากสถานการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน ทั้ง การปรับแก้ไขสัญญาเรื่องค่าปรับที่ส่งผลกระทบต่อเอกชน การเร่งรัดการเบกจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าตามสัญญาให้แก่เอกชน การปรับแผนเบิกจ่ายในส่วนงานจัดซื้อพัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักร เพื่อทดแทนงานก่อสร้างที่ไม่สามารถดำเนินการได้ การปรับรูปแบบการดำเนินงานจากการใช้แรงงานคนเป็นการใช้ระบบอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ 

ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายลงทุนในระดับที่ดีและเป็นไปตามแผน โดยการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังคงเป็นเครื่องมือที่ช่วยพยุงและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีและเป็นไปตามแผน อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อบางโครงการหรือแผนงานเนื่องจากบุคลากรไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างหรือตรวจรับงานได้ ขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ 

ยานแม่ใหม่ 'SCBX' ก้าวสำคัญของ 'ธ.ไทยพาณิชย์' แปรสภาพธุรกิจ สู่บริษัทเทคโนโลยีเต็มตัว

หลังจากมีข่าว SCB หรือธนาคารไทยพาณิชย์เกี่ยวกับการนำบริษัทออกจากตลาด และจะมีการแลกหุ้นบริษัทใหม่ ชื่อว่า 'SCBX' ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า SCB ทำเช่นนี้ไปเพื่ออะไร? 

เรื่องนี้ เพจ 'ลงทุนแมน' ได้สรุปประเด็น SCBX ยานแม่ใหม่ของ SCB ไว้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า... 

ทางบริษัทได้ให้เหตุผลว่าการจัดตั้ง SCBX ขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ โดย SCB ให้คำนิยามกับ SCBX ว่าเป็น Mothership หรือ “ยานแม่”

เพราะปัจจุบัน แม้ว่า SCB จะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน เช่น SCB10X ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 

แต่ด้วยความที่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของแบงก์ จึงทำให้มีข้อจำกัดและดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่

โดยโครงสร้างใหม่ภายใต้บริษัทแม่อย่าง SCBX จะทำให้บริษัทสามารถแบ่งรูปแบบของธุรกิจได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ... 

1.) ธุรกิจ Cash Cow ซึ่งก็คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน
2.) ธุรกิจ New Growth

จากการแบ่งกลุ่มธุรกิจ จะเห็นได้ว่า SCB พยายามแยกธุรกิจแบงก์กับธุรกิจอื่นออกจากกัน
ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจใหม่ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบและกฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคารเดิม

และจากการแถลงเกี่ยวกับธุรกิจ New Growth
สิ่งที่เห็น ก็คือ SCB จะย่อยแต่ละธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อย ซึ่งแต่ละบริษัท ก็จะมีทีมและมีผู้บริหาร ซึ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เช่น... 

- Card X บริษัทที่โอนกิจการออกมาจาก SCB (Spin-Off) ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โดยน่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในเร็ว ๆ นี้

- Alpha X บริษัทที่ร่วมมือกับ Millennium Group ปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของรถหรูและยานพาหนะทางน้ำ เช่น เรือยอช์ต

- Tech X ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทำธุรกิจเทคโนโลยี

- AISCB ร่วมมือกับ AIS ทำสินเชื่อ Digital

โดยบริษัท ก็ได้ตั้งเป้าหมายให้แต่ละบริษัทย่อย สามารถเติบโตและ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วยตัวเอง

ซึ่งการเติบโตที่ว่านั้น ก็จะรวมไปถึงการรุกธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับฐานลูกค้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14 ล้านราย ให้เป็น 200 ล้านราย

โดยบริษัททั้งหมดในเครือ มีมูลค่ารวมกันราว “1 ล้านล้านบาท” ในอนาคต

ในขณะเดียวกัน SCB ก็ได้ประกาศจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600 - 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20,100 - 26,800 ล้านบาท) ร่วมกับเครือซีพี โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน, สินทรัพย์ดิจิทัล, Decentralized Finance, FinTech และเทคโนโลยีอื่น ๆ

โดยกองทุน Venture Capital นี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จะลงทุนเป็นจำนวนเงิน ฝ่ายละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือจะระดมทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (Accredited Investor)

สำหรับทีม SCB10X เดิม บางส่วนก็จะเข้ามาร่วมทำงานใน Venture Capital ใหม่นี้

นอกจากนั้น SCBX ที่เป็นยานแม่ที่ทำตัวเป็นบริษัทโฮลดิงก็ยังถือหุ้นในอีกหลายธุรกิจ เช่น... 

- Auto X ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ลีสซิ่ง เน้นกลุ่มรากหญ้า

- SCB Securities ทำธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่ง SCB Securities จะถือหุ้นใน Token X ที่ดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล

- Purple Ventures ที่ทำธุรกิจส่งอาหารชื่อ Robinhood ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี

- SCB ABACUS ที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อออนไลน์ “เงินทันเด้อ” โดยใช้เทคโนโลยี AI ที่เพิ่งคว้าเงินระดมทุน 400 ล้านบาท

คปภ.เปิดยอดจ่ายค่าสินไหมโควิดเกือบหมื่นล.

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้เอาประกันภัยยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนปริมาณรายวันเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสถิติการรับประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงเดือนส.ค. 2564 พบว่า มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 11,250 ล้านบาท ขณะที่มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสมถึง 9,428.63 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงเดือนก.พ. 2564 อยู่ในอัตราคงที่ แต่นับจากเดือนเม.ย. – ส.ค. 2564 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนส.ค. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีอัตราผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นและมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top